เราทำตัวยังไงดี เมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรมจากฝีมือมนุษย์?
เมื่อเกิดเหตุรูปแบบดังกล่าวขึ้น ทุกภาคส่วนของสังคมล้วนหยุดนิ่ง และตกอยู่ในภาวะความแตกตื่นตกใจแบบกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่จะมีบาดแผลทั้งกายหรือใจต่อไปในระยะยาว ในพื้นที่ข้างเคียงของจุดเกิดเหตุ บทสนทนาในบ้านของเรา ไปจนถึงความกังวลที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย อย่างหลังสุดน่าจะเป็นพื้นที่ที่วุ่นวายกว่าที่ใด เสียงของผู้คนนับล้าน และความต้องการที่แตกต่างหลากหลายกระทบกันไปมา เพราะต้องการอัปเดตความคืบหน้า ต้องการสรุปเหตุการณ์ หรือต้องการตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือเท็จ ฯลฯ ไปพร้อมๆ กับเสียงภายในอีกเสียงที่ถามเสมอว่า สิ่งที่เรากำลังทำเป็นประโยชน์ต่อใครนะ?
มนุษย์อดไม่ได้ที่จะอยากรู้ เพราะมันผูกติดกับสัญชาตญาณของเรา ความกลัวเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ คือความกลัวในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ นอกจากเราจะอยากรู้ว่าทุกอย่างเป็นยังไงบ้างแล้ว เรายังอยากรู้ว่าคนก่อเหตุคือใคร แรงจูงใจคืออะไร พ่อแม่เป็นใคร ถูกเลี้ยงดูมายังไง ฯลฯ บางคำถามก็มีเหตุผลที่จะถาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคำถามที่เป็นประโยชน์ ทว่ามนุษย์ก็อดไม่ได้อยู่ดีที่จะถามมันออกไป และในโลกของเราก็พร้อมจะมีผู้หยิบยื่นข้อมูลเหล่านั้น มาแลกกับความสนใจของสาธารณชน ภายใต้หน้ากากว่ามันคือข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด และการกระทำเช่นนั้นเองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ไม่ว่าเราจะยืนอยู่จุดไหนของบทสนทนาดังกล่าว สิ่งที่เราควรมีร่วมกันในฐานะมนุษย์ คือปลายทางว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก แน่นอนว่าคำตอบคงไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากเรากำลังพูดถึงพฤติกรรมมนุษย์ แต่ในบทความนี้เราจะพูดถึงหนึ่งแง่มุมสำคัญคือ พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุโศกนาฏกรรมอาจสามารถแพร่เชื้อได้ และพาหะของมันอาจเป็นการนำเสนอผ่านสื่อบางรูปแบบ
การนำเสนอผ่านสื่อที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงการดูหนังที่รุนแรง หรือการเล่นวิดีโอเกมอย่างที่ผู้ใหญ่บางคนบอก การเสพสื่อเป็นเพียงหนึ่งในแง่มุมที่ก่อร่างคนคนหนึ่งขึ้นมา แต่เรากำลังหมายถึงการนำเสนอเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งหนึ่ง ด้วยท่าที่เติมเต็มความต้องการของผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ก่อเหตุเหล่านั้น โดยในสหรัฐอเมริกาได้รวบรวมสถิติ ถอดบทเรียน และวิจัยเกี่ยวกับเหตุกราดยิงมากมาย ซึ่งเราอาจหยิบยืมมาใช้เป็นตัวช่วย เพื่อกรุยทางไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และสู่ปลายทางของการหยุดยั้งเหตุการณ์แบบดังกล่าวได้
หนึ่งในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้คือ Mass Shooting and the Media Contagion Effect โดยเจนนิเฟอร์ จอห์นสโตน (Jennifer Johnston) และแอนดรูว์ จอย (Andrew Joy) นักวิจัยคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นนิวเม็กซิโก พวกเขาพาไปมองภาพกว้างจากเหตุกราดยิง พาเราไปดูความถี่ของการเกิดเหตุ รูปแบบของผู้ก่อเหตุ การนำเสนอโดยสื่อ และจุดตัดของ 3 ปัจจัย เพื่อทำความเข้าใจว่า
การนำเสนอที่เรามองว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย
อาจเป็นเหมือนเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำได้
เหตุผลหลักหนึ่งที่ผู้วิจัยเริ่มรวบรวมข้อมูลงานชิ้นนี้ คือการเกิดเหตุเลียนแบบ (Copycat) ของผู้ก่อเหตุกราดยิง โดยผู้วิจัยวิเคราะห์การเลียนแบบ มาจากความต้องการที่มีจุดร่วมระหว่างกันและกันของผู้ก่อเหตุ นั่นคือความต้องการชื่อเสียง ทั้งยังเสนอว่าความต้องการรูปแบบดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนคนหนึ่งเลือกลงมือก่อเหตุ
ส่วนหัวข้อเกี่ยวกับลักษณะร่วมของผู้ก่อเหตุ ผู้วิจัยพบว่าคนเหล่านี้มักมีลักษณะตัดขาดจากสังคม มีประวัติของการถูกขับออกจากสังคมในบางรูปแบบ และมีนิสัยหลงตัวเอง ส่วนผสมของทั้ง 3 อย่างนี้พอจะวาดภาพให้เราเห็นได้ว่า อะไรนำมาซึ่งเหตุที่ทำให้พวกเขาลงมือ นั่นเพราะความต้องการคงไว้ของอำนาจผ่านพฤติกรรมที่รุนแรงในที่แจ้ง ถูกปลุกขึ้นมาในตัวพวกเขา ด้วยการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมบางรูปแบบผ่านสื่อ
แน่นอนว่าการรายงานข่าวเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคม แต่ผู้วิจัยชี้ว่า หนึ่งในสิ่งที่กระตุ้นให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนความต้องการที่จะฆ่า (ผู้วิจัยบอกว่าอยู่ในตัวมนุษย์เกือบทุกคน) ให้กลายเป็นการลงมือทำ คือเมื่อสื่อนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุด้วยรายละเอียดชัดเจนเกินไป ซึ่งทำให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงว่าจะกลายเป็นผู้ก่อเหตุ จะได้เห็นตัวเองปรากฏอยู่บนหน้าจอ แล้วจึงเลียนแบบการกระทำเหล่านั้น
“การเห็นตัวเองในผู้ก่อเหตุก่อนหน้าที่โด่งดังได้ เพราะการนำเสนอโดยสื่อมีผล
การบอกชื่อ การเปิดหน้า การเปิดเผยข้อเขียน
การเผยกิจวัตรประจำวันและปูมหลังนั้น
เป็นแรงผลักดันไปสู่ความรุนแรงที่ทรงพลัง
ยิ่งกว่าปัญหาสุขภาพจิต หรือแม้แต่การเข้าถึงอาวุธปืน”
ข้อความข้างต้นกล่าวโดยผู้วิจัย และหากอ้างอิงถึงทฤษฎีการแพร่ระบาดผ่านสื่อ (Media Contagion Effect) ซึ่งถูกศึกษามาตั้งแต่ปี 1983 โดยนักวิชาการเดวิด ฟิลลิปส์ (David Phillips) ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถิติหลังการฆ่าตัวตายของคนมีชื่อเสียงสักคน ก็มักตามมาด้วยสถิติการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสาธารณชน
เราไม่ได้ยกสถิติข้างต้นขึ้นมาเฉยๆ เนื่องจากสถิติรูปแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับในกรณีเหตุกราดยิง โดยมีหลักฐานอยู่ในงานวิจัย News coverage and mass shootings in the US โดยไมเคิล เจตเตอร์ (Michael Jetter) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งพบว่าเหตุการณ์กราดยิงมีโอกาสเกิดขึ้นสูงขึ้น หลังวันครบรอบเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ อีกหนึ่งงานวิจัยในปี 2015 ที่ได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันชื่อ Contagion in Mass Killings and School Shootings โดยเชอร์รี่ ทาวเวอรส์ (Sherry Towers) จากมหาวิทยาลัยรัฐอาริโซนา ก็พบว่ามีความเป็นไปได้เมื่อเกิดเหตุกราดยิงหนึ่งครั้ง จะมีอีกเหตุตามมามากกว่าปกติในเวลา 13 วัน โดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ตาม ทาวเวอรส์ก็ยังไม่สามารถผลิตงานวิจัยที่พิสูจน์เรื่องนี้ซ้ำได้ และมีบางเสียงจากนักอาชญาวิทยาของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น คือเจมส์ อลัน ฟ็อกซ์ (James Alan Fox) กล่าวว่าไม่พบเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการนำเสนอของสื่อกับการแพร่ระบาดของเหตุกราดยิงในงานวิจัยของเขา โดยเขาเชื่อว่าสื่อไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้การเกิดเหตุเหล่านี้ กระจุกตัวอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน แต่เป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า เช่น เศรษฐกิจ
แล้วสรุปทั้งหมดที่เล่ามา เราต้องการจะบอกอะไรกันแน่? มีการเผยแพร่พฤติกรรมเลียนแบบผ่านสื่อจริงไหม? ก็อย่างที่บอกไปตั้งแต่แรกว่าเรากำลังพูดถึงพฤติกรรมมนุษย์ แน่นอนอยู่แล้วว่ามันต้องมีความซับซ้อน และยากจะหาคำตอบ ไม่มีใครฟันธงได้เต็มร้อยว่า หากเกิดเรื่องหนึ่งขึ้น อีกเรื่องต้องตามมาเสมอ แต่จากข้อมูลทั้งหมดที่เราหามา สิ่งที่บอกได้แน่ๆ คือ ปัญหาเรื่องการก่อเหตุกราดยิงไม่ได้มีมิติเดียว
เมื่อมีผู้ก่อเหตุคนใหม่ที่เลียนแบบผู้ก่อเหตุคนก่อนหน้า อาจทำให้เรามีหลักการและมุมมอง เพื่อการสื่อสารเกี่ยวกับการรายงานข่าวที่จะไม่ทำให้เกิดการเลียนแบบ แต่นั่นไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด ย้อนกลับไปที่งานวิจัยแรกข้างต้น ลักษณะของผู้ก่อเหตุอย่างการถูกผลักออกจากสังคม การต้องการอำนาจ และความรู้สึกว่าความรุนแรงเป็นทางออกของความต้องการเหล่านั้น ในขณะที่สื่ออาจมีผลอย่างมากต่อการลดเรื่องราวเหล่านี้ เราก็ต้องตั้งคำถามให้กว้างออกไปด้วยเช่นกันว่า สังคมและสภาพแวดล้อมแบบใด สร้างคนรูปแบบนี้ออกมามากพอที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบกันได้?
ทุกอย่างที่เราเจอในชีวิตล้วนหล่อหลอมเรา ทั้งสื่อที่เสพ สังคมที่อาศัยอยู่ ฐานะ ค่านิยมที่ได้รับมาตลอด ฯลฯ เช่นนั้นแล้วคนที่ถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นผู้ก่อเหตุก็ไม่ต่างกัน ปัจจัยบางอย่างก็ทำให้เขากลายเป็นแบบนั้น นี่ไม่ใช่การเห็นใจ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มมาจากการทำความเข้าใจ การเลือกไม่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับพวกเขาที่มากเกินไป ในส่วนที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบอาจช่วยได้ การเผยแพร่ข่าวเพียงในส่วนที่จำเป็นจากข้อเท็จจริงที่ไม่เร้าอารมณ์ก็ช่วยได้ แต่การจะแก้ไขปัญหาการเกิดโศกนาฏกรรมนี้อย่างยั่งยืน คือการต้องยอมรับว่าสังคมของเรากำลังผุพังในส่วนใดส่วนหนึ่ง
แล้วเราต้องเดินหน้าซ่อมแซมมันด้วยความเข้าใจให้ครบทุกแง่มุม
อ้างอิงจาก