ภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้จักเป็นยังไง?
หลายคนคงคิดถึง ความรุนแรง ระเบิด ทหาร ความสูญเสีย ความยากลำบาก การก่อการร้าย แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากบอกว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีความงาม มีวิถีชีวิต มีเรื่องราวสนุกๆ ให้ทุกคนมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง
พวกเขาคือ Melayu Living กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองเห็นความเป็นไป และเชื่อว่าเรามีเรื่องดีๆ ให้พูดถึงกันมากมาย แค่ต้องพูดกันให้มากขึ้น โดยพวกเขารวมตัวกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน และได้ทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่มากมายไม่ว่าจะเป็นการจัด Halal tourism ที่เน้นให้ชาวบ้านได้ออกมาค้าขายอาหารพื้นถิ่นที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์บริเวณกรือเซะ
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบพื้นที่ ‘อารมย์ดี’ เพื่อนำเสนอย่านเมืองเก่าของปัตตานีผ่านถนน 3 เส้นคือ อารูเนาะ – ปัตตานีภิรมย์ – ฤาดี ที่เต็มไปด้วยชุมชนมุสลิม-ไทย-จีน ซึ่งพวกเขาอาศัยร่วมกันและพึ่งพากันและกันมาตั้งแต่อดีต นอกจากนี้ยังมี ‘มลายูรามา’ กิจกรรมฉายหนังอยู่หลายครั้ง
รวมไปถึงงานใหญ่อย่าง PATTANI DECODED เทศกาลถอดรหัสปัตตานี ที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่ ตีความใหม่ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
หรือล่าสุดกับ BLOOM DEEP SOUTH IDENTITY PRODUCT ที่เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมไปถึงจัดนิทรรศการนำเสนอของดีสามจังหวัดชายแดนใต้
เราลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปคุยกับทีม Melayu Living ซึ่งประกอบไปด้วย ราชิต ระเด่นอาหมัด, ส้ม – ดวงตา ระเด่นอาหมัด, ดี้ – สมโภช เจ๊ะอาลีม, อลิศ – อัลอลิศ หะยีอาแว, จ้ำ – บศกร บือนา และ กอบ – ประกอบ กาซันการัดชอ ถึงการรวมตัวกัน และอนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พวกเขาอยากเห็น
จุดเริ่มต้นของ Melayu Living
ราชิต : เราเริ่มตอนเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 ที่ตอนนั้นทางกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ที่ขึ้นตรงกับสมาคมสถาปนิกสยาม เขาดูแลภาคใต้ แล้ว อ.วิวัฒน์ จิตนวล ที่เป็นประธานภาคใต้ เขามีนโยบายว่าอยากให้ภาคใต้มีการทำงานที่กระจายศูนย์ออกไป มีสมุย, ภูเก็ต, 3 จังหวัดฯ ซึ่งของเราก็จะดูแล 3 จังหวัดฯ ภายใต้กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ทุกคนมีแนวคิดเดียวกันคืออยากทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่กับ 3 จังหวัดฯ แต่ว่าสถานที่ที่ทุกคนอยู่ จะอยู่ใน จ.ปัตตานีเป็นหลัก ก็เลยโฟกัสว่าตอนนั้นเราคงไม่ได้ทำกลุ่มที่เป็นแค่งานสถาปัตย์อย่างเดียว เราอยากทำงานหลากหลาย ที่มันเชื่อมกับศิลปิน ช่างภาพ นักเขียน ก็เลยเกิดเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาตอนนั้น ก็ผ่านมา 6-7 ปีแล้ว ก็มีกิจกรรมเยอะแยะที่ผ่านมา
กอบ : เราสนับสนุนศิลปินในพื้นที่ ปราชญ์ในพื้นที่ที่มีอยู่ บางคนเขามีความคิด มีผลงาน แต่ไม่มีเวที ทีนี้เราก็เหมือนเวทีหนึ่งที่จะสนับสนุนเขาแล้วตั้งแต่นั้นก็เริ่มมีหลายๆ งาน ไม่ว่าจะเป็น ตากล้อง กวี หรือแม้แต่งานผ้า
ราชิต : ตอนนั้นเราคุยกันว่าเราอยากมี creative space ใน จ.ปัตตานี คุยกับเจ้าของบ้านตรงนี้ ซึ่งก็คือ พี่ปั๊ม-ปิยวัชร วัฒนายากร เขาอยู่กรุงเทพฯ เราก็ขึ้นไปพร้อมกับมีข้อเสนอว่าเราอยากจะทำอะไรในที่นี่ อยากจะมีกิจกรรมพวกนิทรรศการ มีทอล์ก เวิร์กช็อป อะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องของงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม
ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยความงาม ด้วยศิลปะ
ราชิต : คือตั้งแต่แรกเราตั้งคาแรกเตอร์ของเราคือห้องรับแขกของมลายูใช่ไหมฮะ จึงเป็นชื่อ ‘มลายู ลีฟวิ่ง’ แสดงว่าเราจะไม่พยายามสร้างอะไรที่มันดูสร้างความขัดแย้ง ไปหยิบประเด็นเรื่องที่มันแบบ โห เท่แน่เลยถ้าเอาเรื่องความรุนแรงมาทำ เพราะก็มีคนอื่นที่ทำอยู่แล้ว เราอยากเป็นแบบทุ่งดอกไม้ ทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ทำเนื้อหาให้ย่อยง่ายๆ แล้วชวนเขาดูไป แล้วก็ซึมซับด้วยอะไรที่เราพยายามซ่อนเอาไว้ ทุกคนก็จะได้รู้สึกว่า เออที่นี่ทุกกลุ่มสามารถเข้ามาแจมได้ มันไม่มีขั้วตรงข้าม ไม่มีแบบ เฮ้ย พวกเราแอนตี้กลุ่มนู้นนะ
เหมือนงาน PATTANI DECODED คือเราชวนทุกกลุ่มที่อยู่ใน 3 จังหวัดมาทำงานด้วยกัน แล้วถ้ามีความขัดแย้งอะ ก็คงมีกลุ่มที่เขาไม่ชอบ แต่นี่คือทุกคนมาหมดด้วยความยินดี ทั้งที่เป็นงานแบบไม่ได้มีรายได้ แต่ทุกคนรู้ว่า เออพวกเรา มัน…
ดี้ : ไม่มีเงินอยู่แล้ว
ราชิต : (หัวเราะ) ไม่มีพิษมีภัยสิ
ถ้าพูดถึงเอกลักษ์ความงามของที่นี่มันคืออะไร
กอบ : จริงๆ แล้วสถาปัตย์ ถ้าเรามองเป็นรูปธรรมจริงๆ เลย จ.ปัตตานีจะมีความชัดในเรื่องของรากเหง้าที่ยังสื่อถึงด้านสถาปัตย์ ส่วน จ.ยะลานี่ก็เป็นเมืองใหม่ไปเลย พอเป็นเมืองใหม่ก็ไม่มีอะไรให้โชว์มากมายในด้านสถาปัตย์ เพราะวัฒนธรรมมันก็เพิ่งเกิด ใช่ไหมครับ จ.นราธิวาสก็พอๆ กัน แล้ววังมันก็จะอยู่ริมทะเลมากกว่า พวกวังเก่าอะไรพวกนั้น เพราะฉะนั้นตัวที่จะเล่าเรื่องว่าความงาม สถาปัตย์ ความโบราณ มันคงจะอยู่ในด้านของ จ.ปัตตานีมากกว่า เพราะฉะนั้นที่เราจะเห็นเมื่อก่อน วัฒนธรรมหลักๆ คือวัฒนธรรมจีนกับมุสลิมนะครับ
ราชิต : จุดเด่นของที่นี่ผมว่าเป็นความธรรมดามากกว่า ความธรรมดาที่แบบเป็นความดิบ ที่ยังไม่ได้ถูกปรุงแต่ง ตอนแรกมาใหม่ๆ เรารู้สึกว่า ทำไมเขาไม่ซ่อมให้มันกลับไปเหมือนเดิม หรือกลับไปเป็นตามสูตรอนุรักษ์ ใช่ไหมฮะ แต่พอมาคิดอีกทีนึง เอ้ย มันคือชีวิตประจำวันของเขาอ่ะ มันไม่มีถูกผิด แต่ข้อดีคือมันไม่ถูกใครมาเซ็ตอะไรให้ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้นะ เพราะบางจังหวัด บางประเทศมันถูกเซ็ตไปแล้ว แล้วเราเซ็ตเพื่ออะไร เพื่อให้คนมาเที่ยว ใช่ไหมฮะ สุดท้ายเจ้าของบ้านก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน แต่ที่นี่มันเหมือนกับว่าคุณมายังไง คุณเห็นแบบนั้นแหละ
พอมาทำ creative space แล้วคนในพื้นที่เขาคิดยังไงบ้าง
จ้ำ : แรกๆ เขาก็ยังไม่เข้าใจว่าที่นี่มันคืออะไร อาจจะเพราะเราเริ่มด้วยการเป็นคาเฟ่ ก็เหมือนจะมีเหมือนลูกค้ามาเยอะ เขาก็อาจจะมองลบไปก่อน เพราะแบบพอลูกค้าเยอะ รถก็ติด เขาก็อาจจะรู้สึกว่าสร้างความเดือดร้อนอะไรแบบนี้ค่ะ แต่พอเราเริ่มงานครั้งต่อไป ก็เริ่มเข้าหาชาวบ้านด้วย ไปเชิญชวนกันว่าเรามีกิจกรรมนี้นะ คือแรกๆ เขาอาจจะมองว่ามันคืองานศิลปะที่ไม่ได้เกี่ยวกับเขา มันไม่ได้ใส่งานของพวกเขา แต่พอครั้งต่อไปก็ ที่ชัดเจนก็น่าจะเป็นงานเปิดบ้าน ที่เราก็อยากให้เปิดพื้นที่นี้ด้วย เพื่อทำให้หลายๆ คนรู้จัก ก็เดินเข้าไปพบปะชาวบ้าน เชิญชวนมาร่วมงาน บอกให้แต่งตัวสวยๆ มาร่วมกิจกรรมกันนะ หลังจากนั้นก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนมุมมองของเขาว่า เริ่มเข้าใจเรามากขึ้นว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร
ราชิต : เปิดบ้านเป็นกิจกรรมที่เราตั้งใจอยากจะเชิญเจ้าของบ้านมาเห็นงานของเรา เพราะเจ้าของบ้านเขาก็เป็นคนตระกูลเก่าแก่ในพื้นที่อยู่แล้ว เป็นคนจีน เราก็เชิญมาเพื่อพูดคุย มาเล่าประวัติศาสตร์ของบ้าน พร้อมทั้งเชิญคนในชุมชนมาทั้งชุมชนจีน ชุมชนมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่มาพูดคุยกันแลกเปลี่ยน แล้วก็มาให้เห็นว่าเราทำอะไรกันอยู่ ซึ่งก็มีผลตอบรับที่ดี เขาก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ากลุ่มเราก็ไม่ใช่วัยรุ่นที่จะมาแค่แบบจัดเท่ๆ อะไรแบบนี้ มันคือเรื่องของการที่เรามองชุมชน มองสังคมว่า ความแบบจีน มุสลิม สมัยก่อน มันอยู่กันอย่างปกติ เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกัน เราก็อยากให้ภาพแบบนั้นมันกลับมา
ตอนเราคุยกับผู้ใหญ่กับ พี่ป้อง-พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร แกก็จะเล่าว่าสมัยก่อนที่นี่เป็นยังไง เวลามีงานการเมือง มีงานบุญ งานของชุมชน ก็จะมีคนมุสลิมมาร่วมงาน มาแจมกัน มานั่งกินน้ำชาด้วยกัน มันคือการให้เกียรติอย่างหนึ่งที่สมัยก่อนเขารู้สึกโอเค แม้จะมีความต่างกันเรื่องความเชื่อ แต่เขามีระยะบางอย่างที่อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มันเพี้ยนไปจนกลายเป็นว่าคนนอกจะมองว่าพวกเขาทะเลาะกัน
กอบ : คือเหมือนเราจะไปพยายามอธิบายทุกเรื่องคงเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งเดียวที่เราจะพูดก็คือพูดเรื่องความงาม พูดเรื่องวิถีที่ดีๆ
เพราะเรื่องความงาม ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่
แต่ความงามสามารถที่จะสื่อถึงคนกรุงเทพ หรือพื้นที่ต่างๆ ได้
คนรุ่นใหม่ที่นี่มีกิจกรรมอะไรที่เขาอินกันบ้าง
ราชิต : คนที่ออกมาเดินเที่ยว ทำกิจกรรมจะเป็นทหารซะเยอะ เมื่อก่อนวัยรุ่นไม่กล้าออกมาบนถนน จะโดนตรวจนู่นนี่นั่น แต่ว่าถึงตอนนี้ยังตรวจอยู่ แต่ว่าความกล้าของคนมันเริ่มมากขึ้น เมื่อก่อนคือต่อให้ไม่ปิดแต่ก็ไม่กล้า แต่ตอนนี้พอไม่ปิดก็เริ่มที่จะกล้าออกมาร่วมทำกิจกรรม ไม่ใช่แค่กับกลุ่มเรานะ หลังๆ จะมีหลายกลุ่มที่ทำกิจกรรมขึ้นมา ซึ่งสามจังหวัดมันมีข้อดีที่ว่า ไม่ได้พูดถึงว่ายะลา หรือปัตตานี เมื่อไรที่จัดกิจกรรมนี้ สมาชิกทั้งสามจังหวัดก็มาร่วมกัน ซึ่งเป็นอะไรที่วิเศษมาก
เคยจัดกิจกรรมที่มีรัฐมาเกี่ยวข้องไหม เป็นยังไงบ้าง?
กอบ : ผมอยู่ จ.ยะลา ทำงานเป็นสถาปนิกของรัฐบาล ก็สังเกตว่าคนยะลาจะถูกเสิร์ฟกิจกรรมโดยรัฐ ซึ่งมันจะเป็นระบบแบบราชการ ก็จะมีทั้ง ศอ.บต. แล้วก็เทศบาล สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นระบบของการตรวจรับงาน ซึ่งบางทีก็อาจจะแค่ทำให้ครบหรือเปล่า มันต่างจากที่ต้องคิดตั้งแต่ต้น อาจจะทำเกิน ก็ไม่เป็นอะไร ซึ่งกลุ่มของเราเมื่อไรที่เกี่ยวกับราชการ ก็จะมีความกดดันนิดนึง เพราะเรากลัวว่าสิ่งเราคิด เดี๋ยวไม่โดนใจเขาบ้าง เพราะวิธีคิดของเราก็ไม่จำเป็นที่จะอยู่แค่ในระเบียบ เพราะบางระเบียบมันปิดกั้นไอเดียด้วยซ้ำไป
ราชิต : เราเคยคุย ตั้งแต่แรกๆ ที่พอเราจัดกิจกรรมปีสองปี แล้วเราคุยว่าถ้าเราทำแบบนี้ เดี๋ยวหน่วยงานราชการต้องเข้ามาหาแน่เลย คือเราไม่อยากทำงานกับราชการ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีนะฮะ มันแค่ทำงานกันคนละวิธี เอาตั้งแต่ร่าง TOR บูธขนาดเท่าไร คือเรายังไม่ทันคิดอะไรเลย คุณมากำหนดแล้ว แต่เรามองว่า ถ้าเราต้องทำงานกับเขา เราจะมีวิธีการยังไง เพราะเราคิดว่าเดี๋ยว ศอ.บต. ต้องมาแน่ๆ ถ้าเราทำอะไรที่เป็นงานสร้างสรรค์ แล้วก็มาจริงๆ ทาง ศอ.บต.ก็มาคุยว่าอยากจะจัด Halal tourism ที่ (มัสยิด) กรือเซะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราก็คุยกันว่า กรือเซะมันเป็นพื้นที่ที่เราอยากทำมาก แต่เราไม่ได้มีงบประมาณ
พอทาง ศอ.บต.เขามาคุย เราก็คุยกับเขาตรงๆ เลยว่าถ้าให้พวกเราทำ เราจะทำแบบเรานะ เราไม่เอาวิธีของคุณนะ รับได้ไหม เขาก็โอเค
อลิซ : คือทุกคนมองกรือเซะปั๊บ ก็มองเรื่องความมั่งคงทันทีเลย แต่จริงๆ กรือเซะมีความงามหลากหลาย
ดี้ : เหมือนกรือเซะกลายเป็นสัญลักษณ์ทางความรุนแรงไปแล้ว
กอบ : จริงๆ กลุ่มเราก็พยายามเข้าไปอยู่จุดนั้น แต่เราก็เกรงว่าหลายๆ คนอาจจะมองเราไปอีกแบบนึง เนื่องด้วยว่าเรายังเป็นวัยรุ่น ก็จะคิดว่ามีเจตนาอะไรที่จะเข้าไป เพราะพื้นที่ตรงนั้นถูกเพ่งเล็งอยู่แล้ว ใครเข้าไปปั๊บ แสงก็จะส่องทันที เราจะไปช่วยใครรึเปล่า หรือเราเป็นสายของใครรึเปล่า แต่พอหน่วยงานราชการมาเนี่ย ก็เลยให้เขานำหน้าไป
แล้วพอได้จัดงาน ทุกอย่างเป็นยังไงบ้าง?
ราชิต : เราก็ทลายความเป็นงานพิธีการแบบหน่วยงาน คือเปิดแถลงข่าวกันแบบริมทะเล เพื่อให้เห็นว่าที่นั่นมันคืออ่าวปัตตานียุคก่อน สมัยที่มันเคยรุ่งเรือง เห็นสุสานเจ้าแม่(ลิ้มกอเหนี่ยว) คือด้วยความที่มันเป็นพื้นที่ขัดแย้งสูง ในชุมชนเองก็มีความขัดแย้งอยู่ ภายนอกก็ยังมองเรื่องความรุนแรง เราก็พยายามไปจูนให้ทุกอย่างมันดูแบบ เฮ้ย เรามาคุยถึงอนาคตกันดีกว่า
กอบ : สิ่งที่เราจะทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรือวิถีวัฒนธรรมอะไรต่างๆ คือการทำให้พวกเขามีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อเราเปิดแบบนี้ พอจัดงานอีกทีนึง คนก็เต็ม คือทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่เขาได้สนุกกัน ได้มีความสุขกัน เพราะเมื่อก่อนมันถูกกำหนดด้วยความกลัวมากกว่า
ดี้ : จริงๆ คนในพื้นที่เขาแฮปปี้มากนะ มันเป็นเหมือนกับว่าเป็นความต้องการ เป็น need ของคนที่พร้อมจะออกมาแจมกันอยู่แล้ว แล้วก็ในสายตาผม งานครั้งแรกที่เราจัด ก็จะมียายๆ ลุงๆ คนแก่ๆ เขาใส่เสื้อท้องถิ่น เหมือนกับบาลายอออกมาร่วมงาน ผมว่าเฮ้ย จริงๆ แล้วเขาต้องการพื้นที่ที่แบบทั้งคนในเมือง ทั้งคนแถวกรือเซะที่เป็นเพื่อนกัน มาเจอกันในพื้นที่แห่งหนึ่ง แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน นึกถึงภาพวันวานกัน ประมาณนั้น
อย่างที่บอกคนรอพื้นที่แห่งความสุข เพราะที่ผ่านมาก็อยู่กับความกลัว ทำไมงานมันไม่สามารถจัดขึ้นได้บ่อยๆ
กอบ : เพราะเมื่อก่อนเราอยู่กันแบบที่จะเห็นในข่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพราะทุกคนรู้สึกว่าเมื่อไรที่ให้ความร่วมมือปั๊บ อยู่ๆ กลายเป็นแพะก็มี หรือเรื่องการจัดงาน อยู่ๆ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แล้วใครจะรับผิดชอบ คือให้ชาวบ้านคิดเอง มันจะถูกมองไปมุมนั้น เพราะสิ่งที่เขาเจอมันเป็นลักษณะนั้นจริงๆ จนทุกคนบอกว่าอย่าไปยุ่งเรื่องของเขาเลย ให้เขาทำกันไป จะภาครัฐภาคอะไรก็ทำไป แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ไม่มองแบบนั้น กลับมองว่าถ้าเราไม่พูด เขาก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นเราก็ร่วมกันพูด เหมือนเสียงไม่ดี เขาแค่กระซิบ ทุกคนก็ได้ยินทั่วประเทศ แต่เสียงที่จะพูดเรื่องดีๆ เราต้องช่วยกันตะโกนดังๆ เพื่อให้มันได้ยิน
ราชิต : ของพวกนี้มันควรจะอยู่ที่องค์กรท้องถิ่น เพราะองค์กรท้องถิ่นจะเห็นอะไรพวกนี้ แต่ถ้าเมื่อไรที่เป็นส่วนกลาง ก็จะแค่ให้งบ ซึ่งจริงๆ เขาควรจะมีหน้าที่ให้งบประมาณแล้วก็ส่งไปให้อบต. หรือส่งให้อบจ. จัดงานพวกนี้ แต่เมื่อไรที่เขาจัดเอง มันไม่ต่อเนื่อง
แล้วทางทีมไม่กลัวเหรอว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น
กอบ : ผมว่าพอเราพูดเรื่องความงาม ความสร้างสรรค์ ใครมาใช้ความรุนแรง เขาก็เป็นฝ่ายผิด ไม่ว่าฝั่งไหนมาเล่น เล่นแล้วไม่เกิดประโยชน์ คือเรากำลังพูดเรื่องดอกไม้ แล้วอยู่ๆ คุณมาเที่ยวตัดทิ้ง ต่อให้ใครตัด ดอกไม้ก็คือผู้ถูกรังแกอยู่ดี แต่ว่ากลัวไหม ก็กลัว ทุกคนก็กลัวหมด แต่มันมีคนประเภทนึงคือกลัวแล้วก็ตีโพยตีพาย โวยวายไปหมด โวยวายในเฟซ แต่เรารู้สึกว่าไม่เห็นดีเลยถ้าอยู่แบบนั้น เราสู้แบบลุกไปทำอะไรดีกว่า ทำอะไรแล้วอย่างน้อย เขารู้แหละว่ากลุ่มเราเป็นแบบไหน เราไม่ได้ไปแตะเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อ ความมั่นคง พวกนี้คือเรื่องที่เราเว้นไว้เลย
ราชิต : มันมีเลเยอร์ของมันอะเนอะ เราเหมือนอยู่ในเลเยอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับที่เขาต่อสู้กัน ต่อให้เราอยู่ในสถานที่ที่เขาเคยโดนระเบิด โดนยิง แต่เราไม่ได้เป็นเป้า พอเราดูข่าวจริงๆ ว่าที่เขายิงกันอะไรงี้ มันก็มีเหตุของมัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ แบบขับรถไป โดนยิง คือมันไม่ใช่แบบนั้น ความกลัวที่เราเคยรู้สึกก็เหมือนกับว่ามันคลายเนอะ
ส้ม : เหมือนเขาเตือนให้ระวัง ระมัดระวังเดี๋ยวเจอระเบิด เราก็ไม่รู้ว่าจะระวังยังไง เพราะเราต้องใช้ชีวิตประจำวันน่ะ
สิ่งที่จะช่วยให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น
กอบ : ผมมองว่าเรื่องการศึกษาอะครับ ทุกๆ อย่าง มันอยู่ที่การศึกษาหมดเลยครับ การศึกษาของต่างจังหวัด อยู่ในลำดับท้ายๆ อย่าง นราธิวาส ปัตตานี แล้วก็ยะลา คือท้ายสุดเลย ผมอยากให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนหนังสืออย่างทั่วถึง คือบางทีถามว่าปัญหาครอบครัว หรืออะไรก็ตาม การศึกษาช่วยร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็คงไม่ แต่ถ้าเมื่อไรที่เขามีการศึกษาที่ดี มีความคิดการอ่าน มันเป็นเรื่องเบื้องต้นทั้งนั้นอะครับ ให้เขามองเห็นโอกาสเอาไปต่อยอดอย่างอื่นได้
จ้ำ : ในระดับจังหวัด อยากได้ผู้นำที่แบบมันมีวิสัยทัศน์ บางคนมาโดยที่เรายังจำหน้าเขาไม่ได้เลย เป็นผู้ว่าปีเดียวอะ คือถ้าเขามีวิสัยทัศน์ในทางเดียวกับเรา อย่างยะลาเป็นจังหวัดที่รู้สึกน่าอิจฉากว่าปัตตานี คือรู้สึกว่าเขามีมุมมองที่สมัยใหม่กว่า อย่างการพัฒนาเมือง ถ้าเกิดคนที่อยู่ในระดับสูงพร้อมจะซัพพอร์ต มีมุมมองอะไรที่สนุกกับเราได้ ก็น่าจะเป็นทางเดินที่ดีได้ เเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำอะไรดีๆ เข้าไปอีก แต่ถ้าเกิดเขามองไม่เห็นภาพสิ่งที่เราจะทำ มันก็ดูไม่มีประโยชน์สำหรับเขา
อลิซ : ผมก็คล้ายๆ กับพี่จ้ำ คือการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มาซัพพอร์ตเรื่องของคนในพื้นที่ ความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ ผมว่าในระยะยาว หรือแบบโอเคเขาอาจจะมาปีนึงหรือสองปี ยาวสั้น แต่ต้องมีวิสัยทัศน์อะครับ มันก็ดีกว่าที่แบบมาแค่อัพเลเวลเรื่อยๆ
ดี้ : จริงๆ อยากได้ 2 อย่าง จากภาครัฐแล้วกัน เราอยากได้ความจริงใจมากกว่า ความจริงใจคือแบบ เอ้ย มันถูกเห็นแล้วแหละว่าหลายโครงการที่ลงมา มันไม่ได้ถึงมือชาวบ้าน มันถึงมือแค่ระดับบนๆ คนที่มันโดนผลกระทบก็คือชาวบ้านที่ไม่มีสิทธิ์จะพูดอะไรเลย พูดทีนึงก็โดนจับ แล้วก็โดนปิดล้อมบ้าน ก็เลยไม่มีใครกล้า
คือกับอีกอย่างนึงที่อยากจะขอก็คือ เราก็พยายายามจะบอกว่าหน่วยงานก็มีส่วนผิด แต่เราก็อยากกลับมาบอกคนในพื้นที่ด้วยว่าคุณทำอะไรอยู่ ทำไมยังให้เขาทำ คือแน่นอนมัน คนที่ไม่กล้าพูด ก็มีอยู่แล้ว แต่ก็ควรจะต้องมองไปข้างหน้าไงว่า พอได้แล้ว เรื่องแบบนี้
มองอนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไว้ยังไงบ้าง
ราชิต : ถ้าคนรุ่นเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เราไม่เห็นอนาคตอยู่แล้ว แต่ถ้าเรา โดยเฉพาะพวกเรากลุ่มเล็กๆ ทำอะไรที่มันมีประโยชน์นิดหน่อยกับเมือง ทำตามที่ตัวเองถนัด คนที่ทำธุรกิจก็พยายามทำธุรกิจในเมืองให้มันดี เพื่อให้เศรษฐกิจในเมืองมันดี คนที่เป็นครูก็เป็นครูที่สอนเด็กให้มันดี ถ้ามันได้กลุ่มแบบนี้ทุกๆ พื้นที่ ใน 3 จังหวัด อันนี้ผมว่ามันเป็นอนาคต
กอบ : มันไม่ใช่แค่พูดเรื่องเดียวกัน บางทีฝ่ายที่สร้างสรรค์ก็อาจจะคิดต่างกับเราก็ได้ ไม่ต้องคิดตรงกับเราก็ได้ ผมมองว่าพื้นที่ 3 จังหวัด มันเปิดกว้างในเรื่องของการคิดต่าง แต่รอแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นเอง ว่าจะรับฟังเรื่องของความคิดต่างของเด็กๆ ไหม เพราะถ้ายิ่งคิดต่าง ก็จะยิ่งเห็นมุมมองอะไรมากขึ้น
ราชิต : ตอนนี้กับ 10 ปีที่แล้ว ก็เริ่มมีอะไรที่มันดีกว่าแต่ก่อน เราไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่ลงจนเหมือนยุคนึงที่เคยมีคนออกไปอยู่ที่อื่น เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ เดี๋ยวนี้เหมือนกับว่าความไม่สงบมันเริ่มตกตะกอนของมันแล้ว อย่างในแง่ของสถาปนิกที่ยะลาเมื่อก่อน ไม่มีเลยฮะ มีแต่คนออกไปอยู่ที่อื่น แต่ตอนนี้สตูดิโอออกแบบ กราฟิกดีไซเนอร์ นักเขียน เขากลับมาอยู่ที่นี่
จ้ำ : ซึ่งเรามองว่าการมาของคนรุ่นใหม่ มันจะช่วยพัฒนาเมืองให้มันเติบโตได้นะ
Photo by Fasai Sirichanthanun
Proofread by Pongpiphat Banchanot
– หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง THE MATTER กับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้โครงการ Together เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เนื้อหาของผลงานเป็นความรับผิดชอบของ THE MATTER และไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ USAID หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด