เช้าวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ฝนตกหนักทั้งวัน เพราะเพิ่งเข้า ‘ฤดูมรสุม’ ของภาคใต้อย่างเป็นทางการ ผมนั่งรถไปหาดใหญ่กับพี่สุ (อ.สุไรนี สายนุ้ย) พร้อมกับพี่แอม พี่หงษ์ และพี่นิดหน่อย เพื่อไปตามหา ‘แบร์มุส’ หนึ่งในแกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ถูกจับขณะเดินทางร่วมกับชาวบ้านเพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี ที่อำเภอเมืองสงขลา
ข่าวแจ้งว่า แกนนำชาวบ้านถูกจับ 16 คน ไปที่สถานีตำรวจ แต่มีแบร์มุสที่หายตัวไป ข่าวบางสายบอกว่าแกถูกจับไปที่ค่ายทหาร แต่ไม่มีใครรู้อะไรชัดเจน พี่สุ (ภรรยาของแบร์มุส) รอโทรศัพท์ตลอดทั้งคืน ท้ายที่สุดเราจึงขับรถไปตามหาแบร์มุส เผื่อว่าจะมีโอกาสได้เจอ และจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้เจอ รู้เพียงแต่ว่า ‘แกปลอดภัยดี’ และไม่ได้ถูกจับ
เช้าวันต่อมา ทีมอาจารย์ ม.อ.ปัตตานี และมหาวิทยาลัยในภาคใต้เดินทางไปหาดใหญ่อีกครั้งเพื่อใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว ซึ่งชาวบ้านที่ถูกคุมตัวก็ได้ออกจากเรือนจำกลางสงขลาในคืนวันเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเรื่อง ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม’ ในทัศนะที่หลากหลาย แต่กรณีการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ช่วยให้คนเห็นภาพและตระหนัก พร้อมๆ กับเข้าใจชีวิตของผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ ว่า ต่างก็อัดอั้นกับความเป็นอยู่ภายใต้อำนาจของทหาร เพราะเสียงของหลายคนจะถูกทำให้ไม่ได้ยิน และถูกกดให้เงียบ เช่น สิ่งที่ชาวบ้านเทพาได้ประสบอยู่ในช่วงฤดูมรสุมของปีนี้
มานุษยวิทยาว่าด้วย ‘คลื่น’
หากแยกเรื่องปัญหาความรุนแรงของรัฐออกจากการพูดคุยเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะมันเกี่ยวกับการดำรงชีพ หรือปากท้องของชาวบ้านมากที่สุด ผมนั่งฟัง เจ๊ะฆู (มะรอนิง สาและ) ที่ทำงานและวิจัยเรื่องนี้มายาวนาน เล่าให้ฟังที่ร้านน้ำชาริมทะเลที่ดาโต๊ะ ผมประทับใจในความจริงใจของแก และความตั้งใจดีของแกกับการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เจ๊ะฆูยังขี่รถมอเตอร์ไซค์มาเป็นเพื่อนผมหลายกิโลเมตร เพราะการขี่รถคนเดียวในเขตนอกเมืองปัตตานีตอนค่ำยังไม่ปลอดภัยนัก แต่การคุยกับเจ๊ะฆูทำให้ผมเข้าใจชีวิตของชาวประมงที่นี่เพิ่มขึ้น และพอปะติดปะต่อภาพเพื่อศึกษาเรื่อง ‘คลื่น’ หรือ waves ในทะเล เป็น ‘อมนุษย์’ ส่วนที่ 4 ที่ผมเลือกมาศึกษาสังคมวัฒนธรรมของชาวมลายูในภาคใต้ นอกเหนือจาก แกะ, ด่านตรวจ และญิน
การเลือกเรียนมานุษยวิทยาสำหรับผมมีข้อดีตรงที่ สามารถหยิบเอาเรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้อง หรือไม่คิดว่าจะเอามาทำวิจัย มาตั้งเป็นประเด็นเพื่อชวนคิดและอธิบายสังคมวัฒนธรรมในแง่มุมมุมที่แตกต่าง แต่ผมไม่ได้เขียนเพื่อยกย่องสายมานุษยวิทยาหรอกครับ แค่ต้องการบอกว่า การศึกษาคลื่นทางมานุษยวิทยาต่างต้องพึ่งพาสาขาวิชาอื่นๆ เพื่อชวนคุยและขอเอาความรู้ของเขามาขยายขอบฟ้าความรู้ของตัวเองมากกว่า หนึ่งในนั้นคือการได้คุยกับพี่หนึ่ง (สายฝน สิทธิมงคล) อาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานีที่สอนด้านวิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อม งานวิจัยเรื่อง นิเวศวัฒนธรรมจากพื้นที่ลุ่มน้ำจังหวัดชายแดนใต้ (2553) ของพี่หนึ่ง (ร่วมกับ นุกูล รัตนดากุล) ต่างก็หยิบเอาแว่นทางมานุษยวิทยามาใช้มองสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
Stefan Helmreich[1] นักมานุษยวิทยาแห่ง MIT ผู้ศึกษาเรื่อง ‘คลื่น’ เขาเป็นที่รู้จักจากหนังสือของเขาเรื่อง Alien Ocean: Anthropological Voyages in Microbial Seas ที่เขาเองโยงเอาความรู้หลายๆ สาย โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์มาใช้อธิบายคลื่นทะเล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงทางธรรมชาติ (facts of nature) แต่เป็นทั้งวัตถุศึกษาทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ผ่านการนิยามคลื่นในฐานะการเปลี่ยนผ่าน (transition) รวมถึงการตีความที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของผู้คน โดย Helmreich สนใจคลื่นทั้งคำอธิบายในทางฟิสิกส์ ภาพแทนของคลื่นในทฤษฎีทางสังคม เพื่อทำความเข้าใจทั้งเรื่องการอุปมาอุปมัยทางวัฒนธรรมที่ใช้มุมมองทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ และสังคม
สำหรับผม การอ่านงานเรื่องคลื่นของ Helmreich ไม่ได้น่าอภิรมย์นัก แต่อย่างน้อยงานของเขาก็ช่วยปูทางให้เข้าใจการตีกันของมานุษยวิทยากับวิทยาศาสตร์ ว่าจะใช้อธิบายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของผู้คนในสามจังหวัดได้อย่างไรบ้างหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ข้อเขียนนี้ผมจึงหวังแค่เพื่อเปิดมุมมองของตัวเองเกี่ยวกับคลื่นและวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่เพียงเท่านั้น
สภาวะสมดุลพลวัต
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ผมอยากนำเสนอให้เข้าใจเรื่องคลื่นและชายหาดในภาคใต้ตอนล่าง โดยอาจารย์ทางสาขาวิศวกรรมศาสตร์ คือ งานเรื่องปัญหาและสาเหตุการพังทลายของชายหาดชลาทัศน์ อ.เมืองสงขลา และแนวทางการฟื้นฟู โดย รศ. ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อธิบายว่า คลื่นส่งผลกระทบต่อทะเลทำให้เกิดตระกอนทรายและกระจายไปตามสายน้ำที่เกิดจากคลื่น แต่สิ่งนี้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ‘สภาวะสมดุลพลวัต’ (dynamic equilibrium) หมายถึง ความเสถียรภาพท่ามกลางความเคลื่อนที่ของตระกอนทรายในรอบฤดูกาล
ทว่าสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลและนำไปสู่ผลกระทบการพังทลายของชายหาด คือ ‘สิ่งก่อสร้างชายฝั่ง’ อาทิ เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทราย รอดักทราย ที่ไปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำชายฝั่ง ยับยั้งการเคลื่อนที่ของตระกอนทรายที่ชายหาด จนนำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่ง ดังที่ อ.สมบูรณ์พูดถึงความเปราะบางทางกายภาพของชายหาดว่า คลื่นในทะเลเป็นจุดกำเนิดของการสร้างแผ่นดินทั้งหมด ที่จริงแล้วคลื่นจึงไม่ได้เป็นตัวทำลาย แต่เป็นสิ่งก่อสร้างมากกว่า เช่นเดียวกับหาดทรายที่มีความสำคัญเพราะลดความรุนแรงของคลื่นตามกลไกของธรรมชาติ แต่สิ่งก่อสร้างโดยมนุษย์ที่เป็นปัญหาสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมของหาดทราย
นักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคใต้นอกจากศึกษาการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศส่วนต่างๆ แล้ว ชายหาดและทะเลก็ถือเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทะเลเทพานั้นย่อมส่งผลกระทบที่ขยายไปทั่วบริเวณที่ไม่ใช่แค่เพียงจังหวัดสงขลา ยังรวมถึงคนในจังหวัดปัตตานีและโดยรอบ เริ่มจากการบังคับย้ายถิ่นชาวบ้านกว่า 180 ครัวเรือน ชาวบ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัศมี 1 กิโลเมตร มีถึง 4,000 คน และในรัศมี 5 กิโลเมตร มีถึง 20,000 คน จึงจะเห็นว่า สิ่งก่อสร้างที่จะเกิดในบริเวณทะเลเทพากำลังกลับมาส่งผลกระทบกับทั้งชีวิตผู้คน สังคมความเป็นอยู่ และความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลต่างๆ กลับยิ่งแสดงออกถึงการถอยย้อนกลับ ยิ่งกว่ายุคมนุษย์ หรือ Anthropocene ที่มนุษย์เองยังมอง ‘การพัฒนา’ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักมานุษยวิทยาที่เขียนถึงฤดูมรสุมในช่วงที่เขาลงภาคสนามในปัตตานี และในทุกปีของเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ และอาจตลอดทั้งเดือนจนถึงต้นปีใหม่ ในปีนี้ผมเองก็กำลังมีประสบการณ์กับฤดูมรสุมที่นี่ ตอนนี้น้ำเริ่มเอ่อล้นแม่น้ำปัตตานีแล้ว … ย้อนกลับมาบทเรื่อง ฤดูมรสุม ศรยุทธเขียนอธิบายถึงลมมรสุมว่าเป็นสัญญาณของความยากจนและความตึงเครียด เพราะชีวิตของคนมลายูที่ออกเรือหาปลา ช่วงหน้ามรสุมพวกเขาไม่สามารถออกทะเลได้เลย
การอ่าน มลายูที่รู้สึก ช่วยให้ผมอยากมาฟังเสียงของคนมลายูที่นี่ด้วยตัวเอง เขาบรรยายบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่จนผมสามารถจินตนาการออกมาเป็นภาพ เหมือนกำลังดูภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง หนังสือของเขาจึงใช้เป็นตัวอย่างการเขียนวัฒนธรรม (writing culture) ของคนสามจังหวัด จนถึงขั้นมีเพื่อนของผมคนหนึ่งที่ได้รู้จักกันที่ปัตตานี เขาตัดสินใจลงมาทำงานที่นี่เพราะได้อ่านหนังสือของเขามาแล้ว
ช่วงเดือนตุลาคม 2560 ก่อนเข้าหน้ามรสุม ผมได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ริมหาดเทพา ผู้หญิงวัยกลางคนและลูกสาววัย 13 ปี กำลังนั่งอยู่บนแคร่ไม้ พร้อมกับถุงปลาเล็กตากแห้งประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อช่วยกันเด็ดหัวปลาที่ไปรับมาทำช่วงว่างๆ ที่ชาวประมงไม่ได้ออกเรือหาปลา ถุงปลาแห้งใบโตใช้เวลา 2 วันกว่าจะเด็ดหัวจนหมด และค่าจ้างอยู่ที่ถุงละ 40 บาท น้าสาวที่เด็ดหัวปลาอยู่บอกว่า “ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรทำ” เพราะช่วงนี้ชาวบ้านผู้ชายออกเรือ ส่วนผู้หญิงรับแกะอวน เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ออกเรือเพราะเมาเรือ มีบ้างบางคนที่ออกเรือพร้อมกับสามี ผู้หญิงในหมู่บ้านจึงรับจ้างแกะขยะจากอวน และแกะปู การรับจ้างแกะปูหลังจากเรือเข้าฝั่งจะได้รายได้มากกว่า ดังนั้นเวลาคลื่นเยอะๆ ชาวบ้านจะจับปูได้มาก จนเรียกได้ว่าเป็น ‘ฤดูคลื่น’ เพราะรายได้มากกว่าจับปลา ปลาหมึก และกุ้ง
คลื่นคือการปะทะ และการปลอบโยน ในงานศิลปะ
ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปหมู่บ้านริมทะเลในอำเภอเทพา พร้อมกับน้องศิลปินจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เพื่อตามไปสังเกตการณ์การทำงานศิลปะที่อธิบายการต่อสู้ของชาวบ้านเทพา โครงการศิลปะของน้องมังและน้องมัรนีย์ ถือเป็นงานที่โดดเด่น เขาก้าวข้ามเรื่องประวัติศาสตร์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ แล้วไปสำรวจชีวิตของคนมลายูที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เริ่มกลายเป็นปัญหามากขึ้นนับตั้งแต่เริ่มมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมมุสลิมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในระดับชีวิตประจำวัน โดยงานศิลปะเกี่ยวกับคลื่นทั้งสองชิ้นนี้ต่างทำหน้าที่สะท้อนเอาอารมณ์ความรู้สึก (sentiments) ของชาวมลายูที่มีอยู่ข้างในและสังคมภายนอก
น้องมัง (สาเหะอุสมาน เสะดอเล๊าะ) พัฒนาแนวคิดในงานศิลปะของเขาในช่วงแรก เริ่มต้นจากการทำชิ้นงานเรื่อง คลื่น ที่อธิบายชีวิตของคนท้องถิ่นกับชายฝั่งทะเล เพราะชาวบ้านต่างหาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง ในผลงานชื่อ นัยย์ตาของความทุกข์ทน งานของน้องมังหยิบเอาคลื่นทะเลที่อยู่ในสังคมปัตตานีที่เขาเติบโต คลื่นในงานของเขาเกิดขึ้นจากสุญญากาศ เกิดเป็นคลื่นอากาศ เขามองว่ามันเป็นรูปทรงของคลื่นน้ำ รอยยับของคลื่น ที่ไม่สามารถบังคับได้ เหมือนคลื่นของทะเลที่คาดเดาไม่ได้เช่นกัน คลื่นทะเลในมุมมองเขาสะท้อน ‘การเปลี่ยนแปลง’ เปรียบเป็นปัญหาต่างๆ ที่ ‘ปะทะ’ เข้ามาในสังคมภาคใต้ เช่น ในงานชิ้น ทะเลสีดำ ที่มีรูปคลื่นสีดำที่ซัดเข้ามาในชายหาด เปรียบเหมือนกับพื้นที่ในสามจังหวัดที่ดูมืด คล้ายกับปัญหาที่ถูกซัดจากข้างนอกเข้ามา แล้วพัดออกไป ทำให้เขามองว่า หาดทรายคือสิ่งที่อยู่กับที่ ในพื้นที่เฉพาะ แต่คลื่นไม่คงที่ มันแปรเปลี่ยน สำหรับเขาแล้วคลื่นสะท้อนภาพแทนความรู้สึกของชาวบ้านในเทพา
ในความคิดของเขาแล้ว “คลื่นที่ชายหาดจึงสะท้อนปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่”
เขาได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเทพาเพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีคลื่น รวมถึงมลพิษที่กำลังเพิ่มทวีปรากฏในริ้วรอยต่างๆ บนใบหน้าที่ฉาบไปด้วยคลื่น มันสะท้อนชีวิตที่มีความผูกพันกับทะเลของชาวบ้าน เช่น งานที่มีปลาแห้งในการดำรงชีพของชาวเล พื้นหลังที่มีความสกปรกคือ มลภาวะที่ชาวบ้านกำลังประสบ รูปชาวบ้านในงานของเขาจึงไม่มีปาก บ่งบอกถึงเสียงที่พูดไปแล้วไม่มีใครได้ยิน มีเพลงเสียงคลื่นที่กลบไปหมด
งานของมัรนีย์ แมแล ชื่อว่า ความงามและการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา ที่สะท้อนเอาอารมณ์ความรู้สึกของชีวิตชาวมุสลิมมลายูที่ยังมีด้านของความอ่อนโยน จากการละหมาดทั้ง 5 เวลาของมุสลิม ผ่านสีที่ตกสะท้อนในคลื่นของทะเล งานศิลปะจึงทำหน้าที่ของตัวมันเองที่ผูกโยงชีวิตและคำพูดต่างๆ ของมุสลิมในพื้นที่ว่า ชีวิตของผู้คนที่นี่ไม่ได้จมอยู่กับความรุนแรง แต่ละคนเดินไปข้างหน้าด้วยการให้ศาสนาคอยช่วยปลอบประโลม ถึงแม้ว่าคลื่นจะยังคงสื่อถึงสัจธรรมของมุสลิมที่ต่างยอมรับการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้า เพื่ออดทนอดกลั้นต่อปัญหาต่างๆ คลื่นจึงเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าที่ต่างให้ผู้ค้นหาความหมายในคลื่นช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
“คลื่นเป็นภาพแทนของผู้คน คลื่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
เสียงลมกรีดอากาศ – เสียงคลื่นกระทบฝั่ง
ประเด็นเรื่อง อมนุษย์ ทำให้นักวิชาการหลายๆ สายเริ่มขยับมาศึกษาเรื่องใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ พืช ชีวิตจุลินทรีย์ ทำให้ผมนึกสมัยเรียนมานุษยวิทยาที่เชียงใหม่ ในช่วงหนึ่งนักศึกษาปริญญาโทที่เคยทำงานด้านการพัฒนาหรือ NGOs มาก่อน มักสนใจกลุ่มประเด็นศึกษาที่เรียกติดปากกันว่า “ดิน – น้ำ – ป่า” แต่จากที่เคยอ่านงานวิทยานิพนธ์หลายๆ ชิ้น ยังอธิบายจากมุมมองที่มนุษย์เอาธรรมชาติเป็นวัตถุในการศึกษา มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการเล่าเรื่อง หรือ ‘Anthropocene’ กันอยู่ ดังที่ มิ่ง ปัญหา ให้ความหมายว่า ยุคมนุษย์นั้นหมายถึงยุคสมัยที่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและลักษณะทางธรณีวิทยาอย่างชัดเจนและรุนแรง
มุมมองดังกล่าว จึงต้องกลับมามองใหม่ว่า การเข้าใจภาพกว้างของสังคมนั้น ดังที่ Helmreich เสนอความเห็นว่า เราต้องสามารถหยิบเอาทั้งไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการ (agents) และวัตถุศึกษาทั้งหลายทั้งปวงที่ต่างอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้มาใช้อธิบายความสัมพันธ์ต่างๆ และระนาบต่างๆ ได้ทั้งหมด อีกทั้งผลกระทบที่สาดซัดกลับเข้ามาประหนึ่งคลื่นในทะเลฤดูมรสุมในสามจังหวัดขณะนี้ ต่างก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (the effects of human action)
ดังกรณีของการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเทพาที่ออกมาต่อต้านไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินว่ามันส่งกระทบต่อ ‘ชีวิต’ ของเขาอย่างไร นอกจากจากเรื่อง ปากท้องของชาวบ้านแล้ว ผมเชื่อว่ามันครอบคลุมระบบนิเวศ วัฒนธรรม รวมถึงชีวิตของสรรพสัตว์ในท้องทะเลด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อ่านงานของ Helmreich เพิ่มเติมได้ที่ anthropology.mit.edu/sites/default/files/documents/helmreich_waves.pdf