“ทุกเช้าตื่นนอน ผมต้องถามตัวเองว่า ผมมีเสรีภาพจริงๆ หรือ เสรีภาพที่มนุษย์คนนึงพึงมีในฐานะพลเมืองของรัฐนี้ ผมไม่ได้รู้สึกถึงโซ่ตรวน แต่ผมรู้สึกถึงกรงขัง กรงขังขนาดใหญ่ที่ล้อมผมไว้ หากผมเป็นนกที่มีเสรีภาพ ผมก็บินได้เฉพาะในกรงขัง”
ส่วนหนึ่งของถ้อยคำปราศรัยที่กึกก้องอยู่บนเวทีชุมนุม ‘ขีดเส้นตาย ไล่เผด็จการ’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ปาตานี หรือ PerMAS เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงชีวิต และปัญหาที่ผู้ในคนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญ
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี เป็นสิ่งที่ดูห่างไกลจากใครหลายคน ทั้งในแง่ของพื้นที่ และความเข้าใจ The MATTER เลยขอพาทุกคน มาร่วมกันรับฟังและทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปาตานีนั้น เกี่ยวโยงกันกับประชาชนทุกคนในประเทศนี้
ช่วยเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า สภาพปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไรบ้าง
เราทราบกันดีว่า ในพื้นที่ ‘ปาตานี’ หรือก็คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงมาก มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น และมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่าง เช่น เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ อย่างการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตลอด 16 ปี นั่นคือปัญหาโดยรวมของพื้นที่
สิ่งที่ผมพูดในวันนั้น (แฟลชม็อบเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม) คือผมพยายามจะบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง แต่เป็นเรื่องการเมือง เวลาพูดถึงปัญหาในพื้นที่ปาตานี สิ่งที่เราต้องมองให้เห็นถึงรากเหง้าเลยก็คือ มันเกิดอะไรขึ้น เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า ในพื้นที่นี้มีกลุ่มคนที่ติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับรัฐ เขามีจุดมุ่งหมายทางการเมือง อาจจะต้องการปกครองตนเองแบบ Nation state หรือรัฐใหม่ หรือต้องการเอกราช แต่มีคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่จริงๆ ซึ่งเราก็เห็นได้ตามข่าวต่างๆ แต่เราก็ต้องพยายามสร้างกระบวนการที่ให้คนที่เห็นต่างทางการมือง สามารถมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างปลอดภัย
วิธีการแก้ปัญหาของรัฐต่อปัญหาในพื้นที่ปาตานี อยู่ในกรอบของวิธีคิดแบบความมั่นคงมาตลอด นั่นคือการส่งทหารเข้าไปปราบให้สิ้นซาก ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือกระทั่งเอาพี่น้องประชาชนคนไทยจากภาคอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์ทหารไปประจำอยู่ที่นั่น มันเป็นวิธีคิดของรัฐในการจะปราบปรามมาตลอด ซึ่งตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชนคนไทยที่อยู่ในภาคอื่นๆ ต้องมาเสียชีวิต เพราะไปรับราชการทหารเยอะมาก และเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก
สถานการณ์ในพื้นที่ปาตานี ก่อนจะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้ ผมอายุ 24 ปี กฎหมายพิเศษมันมีก่อนหน้านี้มา 16 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ซึ่งผมก็เด็กมาก ยังเรียนอยู่ชั้นประถมอยู่เลย แต่ที่จำได้คือ วันจันทร์-ศุกร์ ผมก็ไปเรียนโรงเรียนประถม ไปเรียนตอนเช้า ตอนเย็นกลับมาเล่นกับเพื่อน แล้ว วันเสาร์-อาทิตย์ ต้องไปโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาของที่นี่ เด็กๆ เข้าไปเรียนภาษามลายู ไปเรียนภาษาอาหรับ เรียนมารยาทการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมุสลิมมันเป็นแบบไหน
ตอนนั้น ผมไม่ได้เรียนกับทหาร ทหารยังไม่ได้เข้ามาสอน แต่หลังจากปี พ.ศ.2547 มีทหารเข้ามาแบบนี้ เข้ามาสอนหนังสือในโรงเรียน สภาวะก่อนมีกฎหมายพิเศษ พื้นที่ตรงนั้นมันก็มีความหลากหลายในพื้นที่อยู่แล้ว คนจีน คนมุสลิม คนพุทธที่อยู่ที่นั่น เขาก็อยู่กันมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว เป็นสังคมที่ปกติมากๆ แต่เข้ามาของกฎอัยการศึก ทำให้เรื่องเหล่านั้นถูกอธิบายเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งผมยืนยันว่า ไม่ใช่ หลังจากปี พ.ศ.2547 ผมก็มีเพื่อนที่เป็นคนไทยพุทธ มีเพื่อนที่เป็นคนจีน แล้วก็อยู่กันปกติ
ที่ผมพูดบนเวทีวันนั้นก็คือ เรื่องที่นั่นเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง หรือคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐ แค่นั้นเอง เป็นเรื่องเล็กมาก เพราะสังคมที่มีความหลากหลายสูง การเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแปลก ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมาย สังคมเขาก็อยู่กันแบบนั้น แต่หลังจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คนที่นี่ต้องอยู่ในความหวาดระแวง ความกลัวตลอดเวลา กลัวว่าจะมีทหารมาเยี่ยมบ้านโดยไม่ต้องมีหมายศาล กลัวถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหาร ถูกซ้อมทรมาณ แล้วเสียชีวิต มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารยิงประชาชน แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์หาความยุติธรรมได้ มันก็มีเหตุการณ์เหล่านี้มาตลอด
เหมือนกับว่า จากชีวิตปกติที่เคยมีเหมือนคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ กลายเป็นว่า เราต้องอยู่ในสังคมที่รัฐทำเหมือนว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดเวลา?
ใช่ 16 ปีมานี้ ผมไม่รู้จักการใช้ชีวิตแบบปกติเลย ผมไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตที่มันเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ มันเป็นแบบไหน ผมอยู่แบบนี้มา 16 ปีแล้ว การถูกถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนกลายเป็นเรื่องปกติ การมีทหารไปเยี่ยมบ้านก็ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องปกติ
ที่นี่เอง แม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือ ท่านก็ต้องลงซิม 2 แชะ อัตลักษณ์ (โปรแกรมที่ กสทช. พัฒนาขึ้น เพื่อตรวจสอบตัวตนของผู้ซื้อซิมการ์ด ด้วยการตรวจสอบอัตลักษณ์ และลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) ซึ่งนอกจากจะเปิดซิมด้วยบัตรประชาชนแล้ว ยังต้องถ่ายรูปแสดงอัตลักษณ์ว่า เป็นบัตรประชาชนคนนี้จริงไหม ต้องส่งให้ทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับทหารเลย ผมว่ามันไม่ใช่สังคมที่ดี หรือสังคมที่มันควรมีการปกครองด้วยกฎหมายจริงๆ มันไม่ใช่สังคมแบบนี้
แล้วเคยมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนรอบตัวบ้างไหม?
ผมไม่เคยถูกคุกคามจากรัฐโดยตรง ในความหมายว่า ยังไม่เคยถูกจับเข้าค่ายทหาร แต่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมก็เคยเจอทุกอย่างแล้ว ทั้งทหารมาเยี่ยมบ้าน การถ่ายบัตรประชาชน ก็เป็นสิ่งที่เราเจอมาตลอด
หรืออย่างกรณีล่าสุด ของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา มีอาชีพก่อสร้าง เขาถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหารภายใต้กฎอัยการศึก แล้วยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ ก็มีข่าวว่าเขาหกล้มในห้องน้ำ แล้วก็หัวกระแทกพื้น แล้วก็ต้องพาตัวไปโรงพยาบาลหาดใหญ่ ผมก็เป็นคนดูแลญาติพี่น้องเขา ไปหาดใหญ่จนถึงวันที่เขาเสียชีวิต ซึ่งจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น กล้องวงจรปิดจากกรรมาธิการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ใช้งานไม่ได้ มันเป็นเหตุการณ์ที่เจ็บปวดมาก แล้วภรรยาของเขาเองก็พูดภาษาไทยไม่คล่อง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานอีก เราก็ต้องช่วยหาที่พักให้ญาติพี่น้องเขา
หลังจากนั้นไม่นาน ประมาณเดือนกว่าก็มีเหตุการณ์ยิงชาวบ้าน 3 คน บนเขาที่ จ.นราธิวาส เป็นชาวบ้านที่ขึ้นไปตัดไม้แล้วถูกทหารพรานยิงเสียชีวิต แม่ทัพก็ออกมาขอโทษประชาชน มาอธิบายว่า เขาเข้าใจผิด ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 3 คน แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่า กระบวนการมันไปถึงตรงไหนแล้ว มีแต่เงินเยียวยามาให้ ซึ่งเงินเยียวยามันไม่เท่ากับการแสวงหาความยุติธรรมให้พวกเขา ไม่รู้ว่าคนที่ยิงเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหนด้วยซ้ำ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องปกติ แล้วยิ่งพอเกิดขึ้นแบบนี้ รัฐก็ทำเพียงแต่ขอโทษ แล้วบอกว่าไม่เป็นไรๆ มันก็จะยิ่งเพิ่มความเคยชินให้กับสังคม ซึ่งเป็นสิ่งทำให้น่ากลัวมาก มันไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ ในเรื่องที่มันไม่ปกติตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ
รากของปัญหาที่เกิดขึ้นในปาตานีคืออะไร?
ปัญหาในพื้นที่คือ เราไม่สามารถปฏิเสธกลุ่มคนที่เขาต้องการประเทศใหม่ ต้องการเอกราช มันมีเรื่องแบบนี้อยู่จริงๆ มีคนที่ยอมติดอาวุธสู้จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปสมัย เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี พ.ศ.2519 มันมีคนที่อยากเห็นอนาคตทางการเมืองไทย ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาก็โดนฝ่ายขวาของไทยเล่นงาน จนต้องเข้าป่า และจับอาวุธปืนมาสู้กับรัฐ ซึ่งตอนนี้เวลาผ่านไป 40 ปี ในพื้นที่ปาตานีหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีกลุ่มคนที่ติดอาวุธสู้กับรัฐอยู่
คำถามคือ ประเทศแบบไหนกันที่ทำให้คนที่แค่มีความฝันทางการเมืองต่างกัน ต้องติดอาวุธ แล้วลุกมาขึ้นสู้กับรัฐ?
สองสามวันที่ผ่านมา เกิดเหตุปะทะในพื้นที่ แล้วก็มีเหตุให้บุคคลที่ติดอาวุธสู้กับรัฐเสียชีวิต 7 คน ซึ่งก็มีทหารบาดเจ็บด้วย และในกลุ่มคนที่ติดอาวุธมีคนนึงอายุ 40 เกือบ 50 กว่าปี ซึ่งจริงๆ คนที่มีอายุประมาณนี้ เขาก็ใกล้เกษียณมากแล้ว โดยปกติของคนเขาก็อยากใช้ชีวิตกับลูกหลาน อยากใช้ชีวิตกับคนที่บ้านในช่วงบั้นปลายชีวิตเกษียณ แต่อะไรกัน ที่เป็นปัจจัยให้เขาเลือกที่จะจับอาวุธปืนสู้กับรัฐ อะไรกันที่ทำให้คนอายุ 50 จับปืนสู้กับรัฐเพียงเพราะว่าเขามีความฝัน
ประเทศแบบไหนกันที่ทำให้คนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง กลายเป็นภัยคุกคามไปเสียหมด ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ มีพื้นที่ทางการเมืองที่ทำให้การพูดถึงความฝันของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องอันตราย ประเทศแบบนั้นต่างหากที่จะไม่ทำให้คนเลือกจับปืนขึ้นสู้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ที่เกิดการรัฐประหารขึ้นมา เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มันลดลงจริงๆ แต่ถ้าเราไปดู Peace survey หรือการสำรวจสันติภาพ จะพบว่า ความรู้สึกของประชาชนยังคงเป็นเหมือนเดิม เขาไม่ได้รู้สึกว่าพื้นที่ที่เขาอยู่ปลอดภัยขึ้น หรือเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงเลย ความรู้สึกของประชาชน ยังคงค้างต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นที่นั่นเหมือนเดิม เหมือนที่เกิดขึ้นก่อนการทำรัฐประหาร
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในขณะที่รัฐปกครองด้วยทหารและมีอำนาจในการควบคุมมาก แต่สันติภาพก็ไม่เกิดขึ้น แม้ว่าเขาจะมีอำนาจมากก็ตาม เพราะวิธีการแก้ปัญหาของรัฐ มันอยู่ในมุมของการปราบปราบให้สิ้นซาก ซึ่งมันใช้ไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เรากังวล ประกอบกับในพื้นที่เอง มีกฎหมาย มีโครงสร้างรัฐทับซ้อนหลายอย่าง เช่น อำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนที่ 5 เอง กฎหมายพิเศษเอง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันกดทับซ้อนไปมั่วมาก แล้วสิ่งเหล่านี้เอง ก็พร้อมที่จะละเมิดสิทธิของประชาชนที่นี่ตลอดเวลา
ในพื้นที่ปาตานี มีกฎหมายพิเศษอะไร แล้วถูกใช้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
อย่างแรกคือ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ไม่ต้องรับผิดทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง แล้วก็มีกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในยามสงคราม ในประเทศที่มีการรัฐประหาร เขาก็จะใช้กฎอัยการศึก แล้วที่นี่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันเลย ไม่เว้นแม้แต่ช่วงรัฐบาลพลเรือน
การใช้กฎหมายพิเศษ เวลาเขาจะมาปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม เขาไม่ต้องมีหมายศาลก็ได้ เขาสามารถหิ้วเราไปค่ายทหารได้เลย ซึ่งส่วนมากก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน แต่คนๆ นั้นก็โดนละเมิดสิทธิไปแล้ว มันไม่มีกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายแบบปกติ อย่างการไปแจ้งความ ให้ตำรวจรวบรวมหลักฐาน ฟ้องอัยการ อัยการฟ้องศาล แล้วศาลออกหมายมาจับ คือเราไม่เห็นการถ่วงดุลทางกฎหมาย
นอกจากนี้ก็มี พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ใช้บริหารเรื่องความขัดแย้ง มี กอ.รมน. ซึ่งมันสามารถทำให้ทหารเข้าไปทำทุกอย่างได้ เช่น การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะนะ ก็มีทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับทหารเลย
รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ป้องกัน COVID-19 ที่นี่ก็โดนด้วย คือก็มีการประกาศเคอร์ฟิว มีกฎหมายมาซ้อนๆ กันหลายชั้น ทำให้สับสนว่ามันยังไงกันแน่ ขณะเดียวกันกฎหมายปกติก็ใช้ที่นี่ด้วยเหมือนกัน ในเรื่องของคดีความ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของความมั่นคง
แล้ว กอ.รมน. เข้าไปมีบทบาทยังไงในพื้นที่บ้าง?
กอ.รมน.เป็นองค์กรที่มีมานานแล้ว เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐไทยปราบคอมมิวนิสต์ แต่ที่ผมบอกว่า คสช.พูดไม่จริงในตอนปราศรัย มันมีอยู่หลายอย่าง อย่างแรกที่ผมมองว่าเขาพูดไม่จริง เพราะเขาบอกว่า ถ้ามีการเลือกตั้ง คสช.จะหายไป แต่ คสช.ก็แปลงรูปไปเป็น ส.ว. แปลงรูปไปเป็นรัฐบาลเหมือนที่เขาเป็นอยู่ แล้วอำนาจทางทหารของเขาก็ถูกโอนไปให้ กอ.รมน.
กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่มีทุกจังหวัด ดูแลเรื่องความมั่นคง ซึ่งคำสั่งคสช. ฉบับที่ 51/2560 ก็เป็นการโอนอำนาจเกินกว่าอำนาจเดิมที่ กอ.รมน.มีอยู่ ทำให้ กอ.รมน.สามารถนิยามได้เลยว่า อะไรเป็นภัยความมั่นคง ความมั่นคงหมายถึงอะไร ความมั่งคงเป็นยังไง เขาสามารถนิยามความหมายของคำว่าความมั่นคงได้ ซึ่งแปลว่า เขามีอำนาจเยอะมาก ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติวิธี เขาก็สามารถตีความเป็นเรื่องความมั่นคงได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันกระทบต่ออำนาจเขา
ในพื้นที่อื่น เราอาจจะเห็นบทบาทของ กอ.รมน.น้อยมาก แต่ที่ปาตานีกลับชัดเจนมาก เราเห็นได้เลยว่า เขาเป็นเหมือนศูนย์บัญชาใหญ่ของทหารในพื้นที่ไปแล้ว มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกๆ ช่วงชีวิต ทุกๆ โครงสร้างทางสังคมของคนที่นี่ มีทหารไปสอนหนังสือในโรงเรียน มีทหารไปรับซื้อผลไม้ มีทหารเป็นเดลิเวอร์รี่แจกข้าวช่วง COVID-19 เขาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของเขาด้วยซ้ำ เขาพยายามที่จะแสดงบทบาทเกินกว่าที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ทำ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง
ผมคิดว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในการที่จะเห็นร่วมกับทหารมันควรจะหมดไปได้แล้ว ปาตานีถูกปกครองด้วยทหารมาตลอด เราสัมผัสการปกครองแบบที่ใช้อำนาจทหารมานานมาก นี่คือบทบาทของเขา แล้วผมคิดว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ต้องมีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ การเอาทหารกลับกรม กอง มีการจัดการอำนาจของ กอ.รมน. ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
กลุ่ม PerMAS มีเป้าหมายอะไรกับเรื่องนี้?
สิ่งที่เราพยายามเสนอต่อพื้นที่สาธารณะ คือ 16 ปีมานี้ เราพอแล้วกับการแก้ปัญหาโดยการปราบปรามให้สิ้นซาก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ มันเพียงแต่ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมแค่นั้นเอง มันไม่ได้ทำให้รากเหง้าของปัญหาจริงๆ ถูกหยิบพูดถึงในที่สาธารณะอย่างเสรีชน อย่างมนุษย์คนหนึ่งควรที่จะแสดงออกมาได้ ซึ่งโมเดลที่พยายามจะเสนอก็คือ สันติภาพที่มันยึดโยงกับประชาชน นั่นคือเป้าหมายหลักของเรา
สันติภาพยึดโยงกับประชาชนเป็นยังไง? ถ้ายกตัวอย่างจากประเทศอื่น ก็คือการทำประชามติ ซึ่งผลจะเป็นยังไงก็ต้องให้เป็นเรื่องของประชาชนที่นั่น ทั้งคนไทยพุทธ มุสลิม คนจีน หรือคนต่างศาสนาที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายสูงทั้งหมด ตัดสินกันเอง ผมคิดว่าการให้พื้นที่ให้เขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพจริงๆ จะช่วยลดความรุนแรง และความขัดแย้งลงได้
ดังนั้น เราจึงพยายามสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถ้าพูดถึงโมเดลการแก้ปัญหาและพิจารณาจากความขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน กลุ่ม PerMAS ก็พยายามเสนอวิธีการเดียวกับที่นานาชาติใช้ แล้วประสบความสำเร็จ อย่างที่ติมอร์-เลสเต สกอตแลนด์ และเซาท์ซูดาน
วิธีการที่เขาใช้คือการทำประชามติ ซึ่งเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย เมื่อประเทศนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่พร้อมที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือความฝันของคน มันก็ไม่พร้อมที่จะเกิดกระบวนการแบบนั้นได้
เหมือนคำบนป้ายผ้าข้างหลังผมที่ขึ้นปราศรัยอยู่บนเวที ป้ายนั้นเขียนว่า self-determination หรือก็คือ สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เป็นหลักการของสหประชาชาติ ซึ่งสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง มันไม่เท่ากับว่า เราต้องการเอกราชเท่านั้นนะ ไม่ใช่แบบนั้น แต่มันจะนำไปสู่คำตอบว่าพวกเราอยากเห็นสันติภาพแบบไหน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต้องเกิดฉันทามติร่วมกันว่า สังคมแบบไหนที่พวกเขาปรารถนาร่วมกัน มันอาจจะไม่ใช่การเป็นเอกราช หรือมีรัฐเป็นของตัวเอง ถ้าฉันทามติของพวกเขา ได้ผลสรุปว่า อยู่แบบนี้ แบบเดิมอยู่กับประเทศไทย ก็ว่าไปตามแบบนั้น
ในพื้นที่เอง คนที่เขาอยากอยู่กับรัฐไทย ก็รู้สึกว่า นั่นเป็นสิ่งที่เขาแสดงออกไปไม่ได้ เพราะเขากังวลว่า ถ้ามีคนมาถามเขาว่า จะเอายังไงกับสันติภาพ แล้วเกิดเขาพูดว่าอยากอยู่กับรัฐไทย เขาอาจจะไม่ปลอดภัยจากคนของกระบวนการก็ได้ ในขณะเดียวกัน คนที่นี่มีความฝันว่าต้องการ nation-state หรือรัฐใหม่ ถ้ามีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาถาม เขาคงฉลาดพอที่จะตอบว่าไม่ได้ต้องการแยกตัวเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความกลัว และความกลัวเหล่านี้เอง ทำให้คนที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ เลือกใช้วิธีความรุนแรงตอบโต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาเองต้องการที่จะเห็นสันติภาพในแบบที่เขาเลือก
มองประวัติศาสตร์ของปาตานีเป็นอย่างไร แล้วคิดว่าแตกต่างจากที่รัฐมองอย่างไรบ้าง
อย่างที่ผมแนะนำตัวเอง ผมใช้คำว่า ปาตานี ปาตานีก็คือสามจังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา แล้วผมก็เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ก็เหมือนกับที่พี่น้องภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ เรียกตัวเองว่าเป็นคนล้านนา แล้วผมก็เชื่อว่าพี่น้องเชียงใหม่อีกหลายคนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นล้านนาอยู่
การพูดถึงประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องอันตราย ไม่ใช่เรื่องเซนซิทีฟ ไม่ใช่เรื่องที่ ‘เป็นภัยคุกคาม’ ส่งผลต่อความมั่นคง ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย รัฐไทยถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ความหลากหลาย และกรอบคิดว่าทุกคนต้องเป็นคนไทย เป็นการบังคับแล้วพยายามบอกว่า ประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ชายขอบ ไม่ควรมีอยู่ในตำราหรือแบบเรียน เพื่อให้ทุกคนเป็นคนไทย ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้คนมึนงงกับการสร้างชาติของประเทศนี้
ผมไม่ได้มองว่า ปาตานีมีความหมายของการเป็นรัฐ เพราะสมัยก่อนก็ไม่มีรัฐ รัฐเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องร่วมสมัย ผมไม่ได้รู้สึกว่า ผมยิ่งใหญ่ที่สุด ผมเพียงแค่อยากมีอัตลักษณ์ของความเป็นตัวตนแบบนี้ ผมเป็นคนปาตานี คนในพื้นที่ก็เรียกว่าตัวเองเป็นคนปาตานี แล้วต้องขอสังคมให้เรียกที่นั่นว่าปาตานี ทั้งๆ ที่ที่นี่เป็นปาตานีอยู่แล้ว มันเพียงแต่เป็นคำเรียกอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องที่อันตราย
ปาตานีไม่เท่ากับเอกราช ถ้ารัฐกลัวคำนี้ ขณะเดียวกันคนอีสานอีกหลายคน ก็อยากเรียกตัวเองว่าเป็นลาวด้วยซ้ำ คือมันเป็นเรื่องปกติมาก เพราะมันคือสำนึกความเป็นตัวเอง แค่นั้นเอง
มันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือไปทำลายใคร ในขณะเดียวกัน มันก็มีคนที่เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้เป็นปาตานี เขาเป็นไทย ซึ่งผมก็โอเคนะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้แปลก เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องบังคับ หรือห้ามพูด นี่คือเรื่องปกติที่คนเขาอยากจะบอกว่า ‘เขาเป็นอะไร’ แค่นั้นเอง
รัฐกลัวคำว่า การแยกเป็นเอกราช?
ใช่ บางทีความกลัวก็ไม่ทำให้เกิดทางออกเสมอไป ตัวอย่างเช่น การชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเรียกร้อง 3 ข้อเสนอ 2 จุดยืน กับอีก 1 ความฝัน ถามว่าแบบนี้ เป็นเรื่องปกติไหม มันเป็นเรื่องปกติที่คนรู้สึกว่า สังคมที่เป็นอยู่ ไม่ใช่สังคมที่เขาอยากเห็นในอนาคต มันไม่ใช่สังคมที่เขาอยากจะส่งต่อ การออกมาแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ มันเป็นสิ่งที่รัฐควรรับฟังและแก้ไขด้วยซ้ำ
ปฏิกิริยาของรัฐในการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาพยายามจับแกนนำ ใช้กฎหมายเล่นงาน สะท้อนว่ารัฐกลัวไปหมด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็รัฐประหารเข้ามา จับปืนปล้นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน ฉีกรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทำลายโครงสร้างรัฐอย่างชัดเจน แต่เขากลับกลัวคนแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ในขณะเดียวกัน ก็ผลักให้คนที่มีความฝันต่างกับตัวเองไปไกลๆ ผลักให้เขาต้องตกขอบ เป็นซ้ายดัดจริต ความกลัวแบบนี้ไม่ทำให้สังคมเดินหน้า มีแต่จะทำให้สังคมถอยลง แล้วซุกปัญหาไว้ใต้พรม ซึ่งปาตานีก็เป็นแบบนี้เช่นกัน รัฐใช้วิธีคิดเดียวกันในการมองปัญหาและแก้ไขเรื่องที่นี่
ทำไมเรื่องของ ‘ปาตานี’ มันถึงดูเป็นเรื่องไกลตัวคนที่อยู่นอกพื้นที่
ปัญหาเรื่องปาตานีถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นปัญหาที่ไกลจากสังคมใหญ่ของประเทศไทยมานานมากแล้ว มันถูกเล่าให้เป็นเรื่องความรุนแรงที่ต้องกำจัด ต้องควบคุม ขณะเดียวกัน ก็มีการควบคุมความรุนแรง หรือความขัดแย้งโดยการใช้ภาษีของพวกคุณ มีการเกณฑ์ลูกหลานของพวกคุณมา แล้วก็ไปเสียชีวิตที่ปาตานี
ผมพยายามที่จะสื่อสารให้สังคมไทยเห็นว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่นั่นอีกแล้ว พวกคุณต้องมาดู มาตรวจสอบร่วมกัน มาสังเกตการณ์ร่วมกันว่ามันควรเป็นแบบนี้จริงๆ หรือ มันควรที่จะมีงบเป็นหมื่นๆ ล้าน แสนๆ ล้านในอนาคต เพื่อไปบำเรอทหารที่นั่นหรือ นี่คือคำถามที่ผมอยากถาม
ในพื้นที่เอง ช่วงหลังๆ มาก็มีความพยายามที่จะเล่าถึงความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีอยู่เยอะด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ภายใต้ความสวยงามนั้น ก็มีเรื่องของอำนาจพิเศษที่มันคุมพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ผมเองก็อยากจะเล่ามุมที่คนอื่นไม่ค่อยได้เล่า ผมก็อยากสื่อสารให้ประชาชนรู้สึกร่วมกันว่า พื้นที่ตรงนั้นมันเป็นเรื่องของพวกเรานะ ไม่ใช่เรื่องของพวกเขาอีกแล้ว เราต้องเข้าไปดู เข้าไปตรวจสอบว่าทหารเขาทำหน้าที่แบบไหน วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้มันใช้ได้ไหม
ที่เป็นแบบนี้ มันเกี่ยวข้องกับการสร้าง Propaganda ด้วยหรือเปล่า?
แน่นอน มันเกี่ยวกับการสร้าง Narrative การสร้างเรื่องเล่าของฝ่ายความมั่นคง
เขาสร้างอย่างไรบ้าง?
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เขามักจะพูดว่า ‘เราจะสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม’ ซึ่งพอพูดถึงสังคมพหุวัฒนธรรม คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนพุทธกับคนมุสลิม ต้องทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันได้ ผมยืนยันว่าก่อนที่จะมีเหตุการณ์แบบนี้ เราก็อยู่กันแบบนี้อยู่แล้ว ตอนนี้ คนที่นี่คนอิสลาม คนพุทธ คนจีน เขาก็อยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหาเลย ที่นี่ก็มีงานวัด งานมัสยิด งานเจ้าแม่ มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว
เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาพยายามย้ำว่า เราจะสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม มันจะเห็นรอยของความขัดแย้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าการเมือง กลายเป็นเรื่องของศาสนา แต่เราขอปฏิเสธว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของคนที่เห็นต่าง แค่นั้นเอง
เพราะงั้น พอพูดถึงการเล่าเรื่อง ในลักษณะของการเล่าแบบที่ต้องการให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมันเป็นคำที่สวยมาก แต่ก็ซ่อนรากเหง้าของปัญหาไว้เต็มเลย รอเวลาระเบิด เพราะเราไม่สามารถพูดได้ว่า ความขัดแย้งจริงๆ มันคืออะไร
คนในพื้นที่ ได้เรียนเรื่องปาตานีอย่างไรบ้าง?
เรื่องของคนมุสลิมท้องถิ่นไม่มีอยู่ในตำราเรียนประเทศไทย เพราะในตำราเรียนนั้น นอกจากประวัติศาสตร์สุโขทัยแล้ว ก็มีไม่ประวัติศาสตร์อื่นเลย ในพื้นที่นี้เองก็เหมือนกัน แต่ก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนมาเล่าประวัติศาสตร์ เขาจะถูกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคง มองว่าเป็นการยุยง ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชังต่อรัฐ แต่ในปัจจุบัน การพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมันเปิดกว้างขึ้นมาก มีโซเชียลมีเดีย มีนักวิชาการ อย่างอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ที่เขียนหนังสือประวัติศาสตร์วิพากษ์สยามไทย-ปาตานี แล้วก็มีนักวิชาการคนอื่นๆ อีกหลายคน ที่เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี
นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเองก็เริ่มมีการไลฟ์สด มีคนดูเป็นพันๆ วันไหนก็ตามที่เขาไลฟ์ จะไม่มีรายการอื่นไลฟ์สดเลย เพราะคนจะไม่ฟัง คนจะฟังแต่เขา ก็ถือว่ามีการเปิดกว้างขึ้น แต่มันไม่ได้อยู่ในหลักสูตรแกนกลางของการศึกษา แค่นั้นเอง ซึ่งผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของที่อื่นก็น่าจะเป็นแบบนี้เหมือนกัน
ที่บอกว่า ทหารเข้าไปสอนในโรงเรียน เขาเข้าไปสอนอะไร?
การเข้าไปเยี่ยมนักเรียนมัธยมเป็นเรื่องปกติที่มีมาตลอด อย่างโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เด็กนักเรียนประถมไปเรียน ก็ยังมีทหารเข้าไปสอนหนังสือ ซึ่งวันเสาร์-อาทิตย์ เข้าต้องเข้าไปเรียนศาสนา ถ้าไม่ใช่คนอิสลามเข้าไปสอน เขาก็สอนเรื่องพยัญชนะ ก.ไก่-ฮ.นกฮูก ทั้งๆ ที่คนที่นั้นเขาก็เรียนตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ อยู่แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของทหารด้วยเช่นกันที่จะไปสอนหนังสือเขา ไปสอนหนังสือเด็กๆ ในโรงเรียน มันไม่ใช่เรื่องของทหารเลย นี่เป็นภาพจำที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรง
ง่ายๆ คือ อย่างแรกเข้าไปสอนอะไรก็ไม่รู้ อย่างที่สองคือ พกอาวุธเข้าไปในโรงเรียน และอย่างที่สามคือ มันไม่ใช่หน้าที่ของทหารที่จะต้องมาทำงานนี้
จุดประสงค์ของการเข้าไปในโรงเรียนคืออะไร?
ตามที่เขาระบุไว้คือ เพื่อความเข้าใจร่วมกัน และสร้างสำนึกความเป็นไทย อะไรทำนองนั้น ซึ่งพออ่านแล้วก็จะตลกหน่อยๆ
หลายคนมองว่า อัตลักษณ์ของปาตานี คือด่านทหาร คิดเห็นยังไงกับคำพูดนี้?
ที่นี่จะมีด่านทหารทุกๆ หนึ่งกิโลเมตร ถ้ามาในพื้นที่ปุ๊บ ก็จะเจอด่านทหารตลอด หรือถ้าอยู่ในเมืองแล้วเดินทางออกนอกเมือง การนับด่านทหารก็เป็นสิ่งที่น่าสนุกมาก นั่งนับไปว่ามันมีกี่ด่าน บางด่านก็ไม่ได้มีทหารเฝ้าเลย เป็นด่านเปล่าๆ เลย ซึ่งแน่นอนว่ามีการใช้เงิน ใช้ภาษี ใช้งบประมาณในการทำให้มีด่าน แต่บางครั้ง การมีด่านเยอะก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเหตุการณ์มันจะดีขึ้นเสมอไป
แล้วงบประมาณ ถูกใช้ไปอย่างไรบ้าง?
งบประมาณมาจากเงินภาษีของคนไทยทั้งหมด แล้วทุกปีก็มีงบประมาณเป็นหมื่นๆ ล้าน ถูกเทลงมาที่นี่ แต่วิสัยทัศน์ของการแก้ปัญหา มันเป็นการปราบปรามให้สิ้นซาก งบประมาณทางการทหารก็เลยเยอะ รวมถึง งบบำรุงกองทัพอีก ซึ่งผมไม่แน่ใจตัวเลขนะ แต่งบพูดคุยสันติภาพกลับมีไม่เยอะเท่างบทางการทหาร ซึ่งนั่นเป็นงบที่จะพูดคุยให้เกิดสันติภาพ ให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ มันย้อนแย้งมากๆ
ในขณะเดียวกัน มีงบสร้างถนน งบบูรณาการ งบ IO (Information Operation หรือปฏิบัติการข่าวสาร) ที่สภาเปิดโปง ซึ่ง IO มันมีอยู่จริงๆ นะ ผมก็เคยเป็นเหยื่อของ IO ซึ่ง IO ไม่ได้สร้างสันติภาพ มีแต่ยุยง ปลุกปั่น มีแต่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องเกลียดชังกัน
งบประมาณถูกใช้ในการแก้ปัญหา ด้วยเลนส์การแก้ปัญหาในพื้นที่แบบเทงบให้ทหารจัดการ ปราบให้สิ้นซาก อะไรก็ตามที่สามารถเอาชนะด้วยยุทธวิธีทางการทหารได้ ก็ใช้ มี IO มีการกดดันโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ ซึ่งมีลูกหลานของคนที่นี่ไปเรียน ก็กดดันไป มันส่งผลต่อทำงานทางความคิด ทางความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่า อย่ามีความคิดเห็นแตกต่างไปจากนี้
เหมือนกับเป็นการใช้งบประมาณแบบที่ผิดที่ผิดทาง?
ในมุมมองของเขา การใช้งบประมาณแบบนั้น คือวิธีการแก้ไขปัญหา แต่สำหรับเรา เรามองว่าไม่ใช่ มันย้อนแย้งมาก เราอยู่แบบนี้มา 16 ปี ถ้าวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม วิสัยทัศน์การแก้ปัญหาแบบเดิมมันได้ผล ป่านนี้เราก็เห็นสันติภาพแล้ว แล้วเมื่อมันไม่ประสบความสำเร็จ ก็ควรจะเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาให้มันดีกว่านี้
ที่บอกว่า เคยเป็นเหยื่อของ IO เหมือนกัน หมายความว่าอย่างไร เล่าให้ฟังหน่อย
ผมไปกรุงเทพฯ รอบก่อนเพื่อไปทำธุระส่วนตัว แล้วมีการจัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมก็มีโอกาสขึ้นไปปราศรัย แล้วพอกลับมาก็เจอ IO ที่มาใช้คำพูดแบบไม่สร้างสรรค์ในเฟซบุ๊กจริงๆ เขาใช้คำว่า มาโหนกระแส เพื่อแยกดินแดน ซึ่งผมงงมาก
นอกจากนี้ก็มีอีกหลายคนที่เป็นเหยื่อ IO ผมมีรุ่นพี่ มีเพื่อนที่โดน IO โจมตีในพื้นที่มาตลอดเหมือนกัน คนที่สภาเอารูปขึ้นมา (ตอน ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายไม่ไว้วางใจ) รูปเหล่านั้นคือคนที่ผมรู้จักหมดเลย นั่นแหละคือเหยื่อของ IO ที่ต้องการสร้างความแตกแยก
มีการบิดเบือนข้อมูลด้วยหรือเปล่า?
มีครับ ผมคิดอย่างนี้ ถ้าคนที่ IO ดึงไปปั่น เขาทำขบวนการอะไรบางอย่างจริง ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปจับ ก็เข้าไปจับสิ ถ้าเขาผิดจริงๆ แต่นี่ไปใส่ร้ายเขา
ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า IO เป็นของหน่วยงาน กอ.รมน. อ้างอิงจากการเปิดโปงในสภา ซึ่งสิ่งที่ IO ปั่นคือการพยายามบอกว่า คนนั้น คนนี่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งผมก็สงสัยว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่จับล่ะ? แต่เขาทำแบบนี้ เพื่อปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในพื้นที่ และพยายามจะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น มันเป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้ก็มีช่วงที่ประเทศมีรัฐบาลพลเรือนอยู่ แต่ก็ยังมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาตลอด ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
รัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย ไม่มีรัฐบาลไหนที่ไม่เกรงใจกองทัพ ทุกรัฐบาลเกรงใจกองทัพหมด กลัวว่าจะเกิดการรัฐประหารด้วยกองทัพ เพราะกองทัพใหญ่เกินไป แล้วรัฐบาลพลเรือนก็คุมไม่ได้จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ถ้าท่านๆ ขอ รัฐบาลพลเรือนก็จำเป็นต้องให้ เพราะกลัวว่าจะมีแอคชั่นทางการเมืองที่ทำให้ตัวเองต้องเสียอำนาจ
ไม่ต้องนับพรรคการเมืองบางพรรคที่ลงมาชุมนุมกับทหารในค่ายทหาร เพื่อขึ้นเป็นนายกฯ อันนั้นตรงตัว และเห็นชัดว่าเขาจับมือกับทหาร แต่รัฐบาลที่มาจากพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเอง เขาก็เกรงใจไม่น้อย ซึ่งมันก็พิสูจน์ว่า เวลาทหารทำ เขาเอาจริง เขารัฐประหารจริง มันเป็นสิ่งที่รัฐบาลพลเรือนจำเป็นต้องกลัว ก็เลยเป็นที่มาของข้อเสนอของการปฏิรูปกองทัพ ลดขนาดของกองทัพลง ใส่ความเป็นประชาธิปไตยลงไปให้เยอะ
ถ้าอย่างนั้น ควรปรับแก้กันอย่างไรดี?
ผมคิดว่า ในเวลานี้ การปฏิรูปกองทัพให้กองทัพเขาต้องรับใช้ประชาชน รับใช้รัฐบาลพลเรือนจริงๆ คือสิ่งที่มันต้องทำ ลดขนาดของพวกเขา ใส่ความเป็นประชาธิปไตยเข้าไป ในขณะเดียวกัน การพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย ต้องให้สังคมมาตกผลึกร่วมว่า การมีเสรีภาพ การเคารพสิทธิของคนเป็นสิ่งที่มันสำคัญ เป็นเรื่องที่จะต้องเทลงไป มันถึงจะเริ่มเห็นมิติใหม่ๆ ของการแก้ปัญหา
นอกจากกลุ่ม PerMAS แล้ว มีกลุ่มอะไรอีกบ้างที่กำลังทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นนี้อยู่?
จริงๆ มี NGO เยอะมาก มีทั้งกลุ่มวิจัยที่เก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง มี Deep South Watch ของ มอ.ปัตตานี มีกลุ่มสภาภาคประชาสังคม มีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม มีกลุ่มลูกเหลียงที่ทำหน้าที่ พูดคุยเรื่องสิทธิเด็ก มีกลุ่มนูซันตาราที่ดูแลเรื่องของเด็กกำพร้า แล้วก็มีองค์กรผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ด้วย ก็มีเยอะมาก แตกต่างเฉพาะทางกันไป
แล้วคิดเห็นอย่างไรกับการมีกลุ่มหลากหลายเหล่านี้บ้าง?
คิดว่าพอปัญหาความขัดแย้งมันเกิดขึ้น มันก็เริ่มมีคนตื่นตัวขึ้นว่า ในฐานะคนในพื้นที่ เขาจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ถ้าอย่างกลุ่มเรา ก็แตะเรื่องโครงสร้างรัฐเลย ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนที่ดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะในพื้นที่ขัดแย้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทั้งสองฝ่าย เกิดขึ้นเยอะมาก บางกลุ่มก็ดูเรื่องสถิติ บางกลุ่มก็ดูเรื่องเด็กกำพร้า บางกลุ่มดูเรื่องการศึกษา บางกลุ่มก็ดูเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ผมคิดว่า มันทำให้เห็นถึงความหลากหลาย และเป็นภาพที่สวยงาม เพราะพวกเขาเป็นหุ้นส่วน เป็นคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมของความรุนแรง และความขัดแย้งเช่นกัน
หลังจากมีการเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้เอง กระแสของคนที่รู้สึกว่าไม่อยากทน ผมคิดว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ใช่การชุมนุมเฉพาะของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว มันเป็นการชุมนุมของคนที่รู้สึกว่า เขาจะไม่ทนกับโครงสร้างแบบนี้อีกแล้ว เราเห็นพี่น้องเสื้อแดงที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาออกมาแจกข้าวแจกน้ำ และซัพพอร์ทให้คนรุ่นใหม่นำเลย ให้เยาวชนนำเลย
ในขณะเดียวกันเอง เราก็เห็นบทบาทของนักการเมืองที่พยายามเน้นย้ำข้อเสนอของพวกเรา ในพื้นที่ที่เขามี อย่างรัฐสภา นโยบายต่างๆ ที่สื่อสารกับประชาชน แล้วก็เห็นเขาพยายามที่จะช่วงชิงกันนำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก
ตอนนี้ แม้แต่เด็กมัธยมเองก็คิดว่า เขาจะไม่ทนแล้ว เรื่องระบบการศึกษาถูกพูดถึง เรื่องระบบสิทธิเด็กถูกพูดถึง ประชาธิปไตยถูกพูดถึง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน คลื่นแห่งความไม่ทนมันได้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยแล้ว รอเพียงแค่จังหวะที่ความไม่เห็นด้วยเหล่านี้ ความไม่อยากทนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นก้อน แล้วมันแสดงพลัง ที่มันรู้สึกว่า จำเป็นต้องแตกหักกับรัฐบาลนี้ซักวันหนึ่ง เพียงแค่รอจังหวะที่คนพร้อมจริงๆ คนที่ไม่อยากทนมากกว่านี้แล้ว ตอนนี้ เรายังมีเพดานของความทนอยู่ การทะลุเพดานนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการแน่ รัฐบาลกลัวแน่นอน
แล้วคิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของคณะประชาชนปลดแอก?
ข้อเสนอของคณะประชาชนปลดแอก ทุกข้อ เราเห็นด้วย ข้อเสนอของเขาเป็นข้อเสนอที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย การเสนอให้หยุดคุกคามประชาชนไม่ใช่ข้อเสนอแค่เฉพาะตอนที่มีการชุมนุมเท่านั้น แต่มันเป็นข้อเสนอที่มาจากเกิดเหตุการณ์จริง อย่างที่เกิดขึ้นในปาตานี หรือในพื้นที่อื่นๆ อย่างภาคอีสานก็มีการคุกคามทางกฎหมาย คุกคามภาษีที่ดิน จับคนที่เรียกร้องเรื่องที่ดิน ภาคอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างในช่วงนี้เอง ที่กรุงเทพฯ ก็มีคนถูกคุกคาม และมีมาตลอดตั้งแต่ก่อนจะมีข้อเสนอนี้ ดังนั้น เราเห็นด้วยกับข้อเสนอมากๆ
การแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แน่นอนแหละว่า รัฐธรรมนูญชุดนี้มาจากการทำรัฐประหาร มีที่มา เนื้อหา และการบังคับใช้ที่แย่มาก เราพยายามที่จะยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ต้องมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเนื้อหาในรายละเอียด ก็ต้องให้ ส.ส.ร.เป็นคนพูด ว่าจะคุยเรื่องปฏิรูปกองทัพ เรื่องกระจายอำนาจ เรื่องบทบาทของสถาบันสำคัญๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างไร
การยุบสภาก็เช่นกัน รัฐสภา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลชุดนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกว่า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะเขาเลือกคนอื่นมา แต่มันมีเทคนิคที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ได้เป็นนายก แล้วความสามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์เอง ก็มีปัญหามาก เราเห็นความไม่เก่ง เราเห็นความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ ด้วย
สิ่งที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการคืออะไร แล้วสอดคล้องแนวทางของรัฐไหม?
คนที่นี่เขาต้องการสันติภาพ แต่สันติภาพแบบไหน ผมก็ไม่รู้ PerMAS ไม่ใช่คนที่จะตอบได้ว่า สันติภาพของที่นี่จะเป็นแบบไหน เรื่องแบบนี้ต้องให้ประชาชนที่นี่ส่วนใหญ่ตอบว่าเขาต้องการแบบไหน อย่างที่ผมบอกว่า มันมีทั้งคนที่ต้องการเอกราช และไม่ต้องการเอกราช แต่ปัญหาอยู่ที่ ใครเป็นคนถาม และถามคนกลุ่มไหน ถ้ามีเจ้าหน้าที่มาถามผมว่าต้องการเอกราชไหม ผมก็คงตอบว่า ‘อ๋อ เปล่าครับ ผมอยู่แบบนี้แหละ ดีแล้วครับ’ ขณะเดียวกัน มีใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จักกัน มาถามว่า ต้องการเอกราชไหม ผมก็จะตอบว่า ‘ใช่ครับ ต้องการเอกราชครับ’ เพราะผมกลัวไง ซึ่งนี่คือเรื่องของ Political space พื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยมันไม่มี ทำให้คนไม่กล้าจะพร้อมพูดเต็มปากว่าต้องการอะไรกันแน่ มันซับซ้อนไปหมด
มันยากที่จะตอบว่า เราต้องการอะไร เพราะเราไม่สามารถจะพูดได้อย่างเต็มปาก
ใช่ เรากลัว ซึ่งหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกก็ใช้วิธีการทำประชามตินั่นแหละ อย่างในสกอตแลนด์เอง เขาก็เชื่อกันว่า คนสกอตแลนด์ไม่อยากที่จะอยู่กับสหราชอาณาจักรแน่ๆ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า คนสกอตแลนด์เขาอยากอยู่กับสหราชอาณาจักร มันก็มีมุมแบบนี้อยู่นะ ซึ่งไม่รู้ว่ามันจะออกซ้าย หรือขวาแค่นั้นเอง
แล้วคิดว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะตอบรับการแก้ปัญหาแบบนี้ไหม?
แน่นอนว่า มุมมองของรัฐที่มีต่อความมั่นคง ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะแม้แต่การพูดเรื่องการกระจายอำนาจ ก็เป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ให้เป็นประเทศที่คนตกผลึกร่วมกันว่า เสรีภาพของคน ความฝันของคน คือสิ่งที่เป็นไปได้
ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนการพูดถึง LGBT เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนพูดถึง LGBT แปลว่าคุณแปลกประหลาดต่อสังคมที่นี่ แต่พอเวลาผ่านไปก็มีการยอมรับเรื่อง LGBT มากขึ้น มีคนที่มองว่า LGBT ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเสรีภาพของเขา เป็นสิทธิของเขา นี่คือพลวัต เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อสังคมมันเริ่มก้าวหน้ามากขึ้น ที่นั่นเราก็หวังว่าซักวันหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เร็วๆ นี้ อาจจะไม่ใช่ 10 หรือ 15 ปีนี้ อาจจะเป็นเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่า คนไทยเองจะตกผลึกร่วมกัน แล้วก็จะรู้ว่าเรื่องเสรีภาพ เรื่องสิทธิ มันสำคัญขนาดไหน
ผมคิดว่าสังคมต้องเดินหน้า ซึ่งสังคมที่จะเป็นแบบนั้นได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงสังคมแบบนี้ สังคมที่ถูกปกครองด้วยทหาร มีการละเมิดสิทธิของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่มันพร้อมที่จะเคารพคุณค่าพื้นฐานเราจริงๆ