แม้ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ พวงสร้อย อักษรสว่าง จะชื่อ นคร-สวรรค์ แต่ผู้กำกับที่มีชื่อเล่นว่า โรส ไม่ใช่คนปากน้ำโพ เธอเติบโตในกรุงเทพฯ มีความทรงจำแรกเริ่มกับนครสวรรค์ในฐานะสถานที่พักรถระหว่างทางไปเชียงใหม่ แต่เวลานานไป จังหวัดที่เป็นเหมือนประตูสู่ภาคเหนือแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ในความทรงจำของเธอ
โรสต้องเดินทางไปลอยอังคารที่นครสวรรค์ ครั้งแรกหลังจากยายเสีย ครั้งที่สองหลังจากที่แม่ของเธอจากไป
วันเวลาเลื่อนผ่าน โรสหยิบเอานครสวรรค์มาเป็นฉากหลังของเรื่องเล่า ครั้งแรกมันถูกเขียนขึ้นเป็นเรื่องสั้นชื่อ นครสวรรค์ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อว่า There (เขียนร่วมกับ ใหม่ ศุภรุจกิจ) ครั้งที่สองมันถูกพัฒนาต่อเป็นภาพยนตร์ที่เรากำลังจะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป
นคร-สวรรค์ คือภาพยนตร์ลูกผสม โรสหยิบเอาช่วงเวลากระจัดกระจายกับครอบครัวที่เคยบันทึกไว้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า นำเศษเสี้ยวจากความทรงจำมาเขย่าเป็นเรื่องแต่ง นคร-สวรรค์ จึงเล่าทั้งเรื่องราวในครอบครัวของโรส และเล่าถึงหญิงชายคู่หนึ่งที่การลอยอังคารในนครสวรรค์ ทำให้พวกเขาได้พูดคุยกันถึงความสัมพันธ์และความตาย
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ นคร-สวรรค์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เป็นเวลาสองสัปดาห์แล้ว นอกจากกระแสตอบรับในเรื่องของเนื้อหา ภาพยนตร์ที่มีจุดตั้งต้นจากการสูญเสียแม่ของโรส ยังถูกบางคน—หนึ่งในนั้นคือผมเอง พูดถึงในแง่ของความอิจฉา
พจนานุกรมให้คำจำกัดความ ‘อิจฉา’ ไว้ว่า เห็นคนอื่นได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีอยากจะเป็นกับเขาบ้าง
เปล่า, ไม่ได้หมายถึงว่ามีใครไม่พอใจกับภาพยนตร์ หรืออยากพบกับการสูญเสียแบบโรส แต่ในเมื่อทุกคนย่อมพบกับการสูญเสีย ก็ไม่แปลกใจที่การชม นคร-สวรรค์ จะทำให้เกิดการอิจฉา
เพราะภาพและเสียงที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ กว่าครึ่งคือแม่ผู้จากไป การอิจฉาที่ว่าจึงไม่ได้เกิดจากการตาร้อนเพราะริษยา หากการตาร้อนที่ว่ามา เกิดจากการเสียน้ำตา ที่อยากมีความทรงจำไว้ให้เล่นซ้ำได้แบบที่โรสมีอยู่เท่านั้นเอง
ปกติสนิทกับที่บ้านมั้ย
แล้วแต่ช่วง คือแปลกดีเหมือนกันที่พออยู่บ้านเดียวกันแล้วไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไร เรื่องที่คุยจะมีแค่กลับตอนไหน กินอะไร ให้ซื้ออะไรไว้มั้ย จะไม่ค่อยได้คุยสารทุกข์สุขดิบ หรือเรื่องสัพเพเหระต่างๆ การโทรหากันจะมีแค่กลับกี่โมง แต่พอเราไปเรียนต่อที่เยอรมนี เรื่องที่คุยกันมีเยอะมาก เราเองก็อยากรู้ความเป็นไปของที่บ้านมากเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาแม่ไม่สบาย เราจะรู้สึกตกใจเวลามีโทรศัพท์เข้ามา บางทีเลยชิงโทรหาก่อน หรือการที่เขาส่งข้อความมาตอนเช้า มันก็เป็นหลักฐานได้ว่าเขาโอเค การที่ได้รู้ว่าวันนี้เขาตื่นมาทำบุญตักบาตร ก็ทำให้เราอุ่นใจได้ประมาณหนึ่งโดยที่วันนั้นอาจไม่ต้องคุยกันก็ได้
ช่วงไปเยอรมนีเลยเป็นช่วงที่เราได้คุยกับแม่เยอะ มันจะมีความคุยเรื่อยเปื่อยได้มากกว่าตอนอยู่ไทย เราได้อัพเดตสถานการณ์จากเมืองไทยกับแม่ เราได้อัพเดตชีวิตก็กับแม่ เพราะช่วงที่อยู่นั่น เราไม่สามารถคุยกับทุกคนที่ไทยได้ แล้วเอาจริงๆ เวลามีปัญหา เราก็อยากโทรหาใครสักคนแค่รอบเดียว เราคิดว่าการพูดเรื่องซ้ำๆ มันน่าเบื่อ แม่เลยจะเป็นคนที่ได้ฟังเรื่องเหล่านั้น แม่จะรับรู้ได้แหละว่าตอนนั้นเราไม่โอ ซึ่งเขาก็ไม่สามารถช่วยเราในทาง physical ได้หรอกนะ แต่วันไหนที่เราไม่ไหวแล้ว พอได้ฟังเสียงแม่ เราก็ดีขึ้นและรู้สึกว่าได้อยู่ใกล้เขาขึ้นมานิดนึง
โรสสนใจบันทึกสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เมื่อไร
จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ด้วยความที่เราเป็นคนในยุคที่แก็ดเจตประจำตัวคือกล้องหรือโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ การบันทึกทุกอย่างก็เลยง่าย เจออะไรก็ถ่าย มันก็เลยง่ายต่อการเก็บ
เราไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะบันทึกเพื่อนำมาอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่พอมีกล้องวิดีโอที่คุณภาพดีประมาณหนึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันช่วยให้การบันทึกมีความเป็นบันทึก มีความจริงจังมากขึ้น
เราถ่ายแม่ลงไอจี เฟซบุ๊กอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถ่ายตลอดเวลานะ แค่โมเมนต์ไหนถ่ายได้ก็ถ่าย เราจะมาถ่ายเยอะหน่อยก็ช่วงก่อนไปเรียนต่อที่เยอรมนี เพราะช่วงนั้นเรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำได้มีแค่ถ่ายรูปเขาเก็บเอาไว้ หรือช่วงที่กลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากไปเรียนต่อสองปี แม่ชวนไปเยี่ยมพ่อที่สงขลา เราก็เอากล้องวิดีโอไปด้วย ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่พอคุยกันไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราได้ยินสิ่งที่ไม่รู้เยอะมาก เลยอัดเก็บไว้ แล้วก้อนเหล่านี้ก็ติดตัวเรากลับไปที่เยอรมนี ซึ่งมันช่วยให้เราหายคิดถึงหรือรู้สึกเชื่อมต่อบางอย่างกับที่บ้านได้
เวลาอยู่หลังกล้อง โรสสนใจคนที่อยู่ตรงหน้าหรือคนที่อยู่ในกล้องมากกว่ากัน
เราอยู่กับคนตรงหน้ามากกว่า ถ้าได้ดูหนังก็จะเห็นว่าการวางเฟรมของเราไม่ได้สวยงามขนาดนั้น เพราะการบันทึกของเรามันเกิดจากการตั้งกล้องแล้วคุยกัน อย่างฉากที่แม่พูดถึงภาพถ่ายในหนัง อันนั้นเกิดจากการที่เราทำรีเสิร์ช เพราะสนใจเรื่องรูปถ่ายเก่าๆ เราเลยตั้งกล้องเพื่อบันทึกเสียงเอาไว้ เพียงแต่มันดันมีภาพติดมาด้วย ซึ่งพอเราทำ นคร-สวรรค์ โมเมนต์นั้นดันตอบอะไรบางอย่างถึงหนังพอดี จากที่เราอัดเอาไว้เพื่อทำอย่างอื่น มันก็กลายมาเป็นสิ่งที่อยู่ในหนังโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมจากวิดีโอนั้นเลย
โรสต้องมานั่งอธิบายมั้ยว่าถ่ายไปเพื่ออะไร
แทบไม่อธิบายเลย แค่บอกว่าต้องส่งงาน เราไม่เคยพูดเลยว่าอยากบันทึกเก็บไว้ เราใช้งานเป็นข้ออ้างทั้งนั้น เราว่าสิทธิพิเศษของคนทำงานแบบนี้คือการใช้ข้ออ้างในการทำงานเพื่อคุยกับคนที่บ้าน สมมติเรียนถ่ายรูป หรือเรียนเขียน วัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัวที่สุดก็คือครอบครัว เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้จะไปถ่ายใครไง ก็กลับไปถ่ายคนที่บ้านกัน ซึ่งพอเริ่มถ่ายคนที่บ้านปุ๊บ สิ่งที่ต้องทำก็คือกำกับคนในบ้าน เราก็จะเริ่มมีบทสนทนาอื่นๆ นอกเหนือจากชีวิตประจำวันขึ้นมา
เวลาที่บ้านเห็นงานของโรส เขาเข้าใจเหรอ
ในสายงานแบบเราเป็นเรื่องยากเหมือนกันนะที่จะทำให้ครอบครัวยอมรับได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราว่าไม่ใช่ทุกคนที่พ่อแม่โอเค หรือครอบครัวโอเคที่ลูกเขียนหนังสือ เพราะเขาอาจไม่เข้าใจว่าแล้วยังไงต่อ ชีวิตคือการต้องนั่งเขียนหนังสือไปเรื่อยๆ ต้องออกไปจิบกาแฟอย่างนั้นเหรอ
แม่เราก็อาจไม่เข้าใจ 100% แต่เขาอ่านทุกอย่าง เขาดูทุกสิ่งที่เราทำ ประเด็นอยู่ที่เขาเชื่อด้วยแหละ เขาเชื่อว่าเราทำในสิ่งที่โอเค หรือเชื่อในทางเลือกของเรา แม่คงเห็นเรามาตั้งแต่เด็กแล้วแหละว่าเป็นคนยังไง ก็ชอบอ่านหนังสือ เขียนนั่นนี่ วาดรูปมาตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าเราไปเป็นหมอ แม่อาจจะช็อกมากกว่า แต่ถามว่าแฮปปี้มั้ย เขาคงแฮปปี้นะ มันก็อาจจะมีที่ทางอีกแบบที่ดีกว่า แต่ในเมื่อเขาเห็นเราเป็นแบบนี้ สิ่งที่เขาทำได้ก็คงเป็นการซัพพอร์ต แล้วก็คงรู้ว่าห้ามไปเราก็ทำอยู่ดี
พอโดนถ่ายแล้วเขาเกร็งกันบ้างมั้ย
ช่วงแรกๆ ก็คงมีบ้าง อย่างเราเองก็เป็นนะ คือพอมีกล้องแล้วคนเราไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไร มักจะแสดงกันโดยอัตโนมัติ แต่พอผ่านไปสักแป๊บนึง อย่างแม่เราเขาก็ชินแล้วก็ลืมไปเองว่ามีกล้อง กลับมาทำตัวเป็นปกติเหมือนเดิม
เหมือนโรสจะคุยกับแม่ มากกว่าน้องสาว
อาจเพราะเรากับน้องห่างกันรอบนึงด้วยแหละมั้ง เราเลยไม่ได้เป็นพี่สาวน้องสาวแบบในภาพจำ เรากับน้องไม่ได้ห่างเหินกันนะ ก็สนิทกัน แต่สนิทในแบบที่ต่างคนต่างมีพื้นที่ของตัวเอง
จริงๆ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกคนเดียวมากกว่านิดหน่อย คือเราเป็นลูกคนเดียวอยู่นานเหมือนกัน เหมือนกับว่าช่วงฟูมฟักชีวิตของเราคือการอยู่คนเดียว เราเล่นตุ๊กตาคุยกับตัวเอง หรือไม่ก็อ่านหนังสือ ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น พอมีน้องเกิดขึ้นมา ด้วยความที่อายุห่างกันมาก เราเลยยังเหมือนมีความเป็นลูกคนเดียว ความเป็นพี่เหมือนมีฟังก์ชั่นเอาไว้แค่บ่น ดุ หรือสอน แต่ในเชิงของความสัมพันธ์พี่น้องเราก็เชื่อมกันด้วยอย่างอื่น อย่างตอนเราอยู่ต่างประเทศ น้องก็เอาเสื้อของเราไปใส่ เอาหนังที่ตั้งอยู่ในห้องเราไปดู หรือเราก็ฝากน้องถ่ายรูปแม่ส่งมาให้ดูบ้าง
ทำไมผลงานส่วนใหญ่ของโรส ไม่ว่าหนังหรือหนังสือ มักจะอิงจากเรื่องของตัวเอง
คงเพราะเราเริ่มต้นจากการเขียน แล้ววัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ใช้ในการเขียนมันมาจากตัวเองด้วยมั้ง มันเป็นเรื่องที่เราเขียนได้เร็วที่สุดและสามารถเขียนได้เลย
เราว่าการเขียนเรื่องของตัวเองนั้นง่ายสุด เราคิดเอาเองว่าพอเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว มันจะสามารถไปเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ วันก่อนเราเพิ่งคุยกับเบสท์ (วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Eyedropper Fill) ว่าคนส่วนใหญ่พอได้ยินว่านี่คือเรื่องส่วนตัว จะคิดว่าเรื่องนั้นต้องดาร์กทันที เหมือนมันเป็นเรื่องน่ากลัว หรือเป็นเรื่องใต้ดิน แต่จริงๆ เราว่าเรื่องส่วนตัวมันอาจจะเป็นแค่เรื่องที่เราพูดกับตุ๊กตาตัวหนึ่งโดยที่ไม่เคยบอกใคร หรือเป็นเรื่องเราแอบชอบรุ่นพี่คนนี้คนนั้นก็ได้
สำหรับเรา เรื่องส่วนตัวคือเรื่องที่เรารู้อยู่คนเดียว แล้วเราแค่แปลงข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นเรื่อง เราเลยไม่เคยชินกับการต้องไปเขียนเรื่องอื่น โอเคว่าสุดท้ายมันก็มีการปรุงแต่งบ้าง แต่ว่ามันก็มาจากประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่เราเจอ หรือสิ่งที่เราไม่เจอแต่ว่าอยากเจอนั่นแหละ
พอเป็นเรื่องส่วนตัว โรสคาดหวังผลตอบรับยังไงบ้าง
ถ้าตอบเร็วสุดก็คือสนใจไม่ค่อยได้ แต่ลึกๆ ด้วยความที่เราเป็นคนนอยด์ๆ เราก็จะสนใจ อยากรู้ว่าเขาพูดถึงกันแบบไหน ซึ่งสุดท้ายเราก็อาจจะมีข้ออ้างมาทำให้ตัวเองไม่สนใจด้วยการคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวนี่แหละ
เรื่องส่วนตัวเป็นทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้ออ้างในเวลาเดียวกัน บางทีการที่คนดูไม่อิน อาจไม่ใช่เพราะว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเราก็ได้ เขาอาจจะไม่อินเพราะเนื้อหา เพราะเมื่อมองเข้าไปที่เรื่องส่วนตัวนั้น อย่างใน นคร-สวรรค์ มันคือเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันคือเรื่องของการอกหัก การทะเลาะกัน ซึ่งเราว่าทุกคนต้องเคยเจอเรื่องประมาณนี้ โอเคแหละว่าเลเวลที่เจออาจจะไม่เท่ากัน แต่เราว่าไม่ช้าก็เร็ว เรื่องที่อยู่ในหนังมันก็ต้องเกี่ยวกับชีวิตของเขาได้สักหน่อย
ตอนแรกเราก็กังวลว่าคนที่ไม่รู้จักเราจะดูรู้เรื่องไหม หนังจะดีหรือไม่ดี แต่พอฉายไปก็เห็นว่ามีคนอิน มีคนสูดน้ำมูก ซึ่งก็คงมีคนไม่ชอบบ้างแหละ แต่อย่างล่าสุด เราเจอคนที่ดูจบแล้วกลับบ้านไปถ่ายรูปแม่ มีคนส่งอินบ็อกซ์เขียนมาเป็นย่อหน้าว่าดูแล้วคิดถึงครอบครัว สิ่งเหล่านี้เราว่ามันบียอนด์เกินคำว่าหนังดีหรือไม่ดีไปแล้ว นี่อาจเป็นสิ่งที่หนังมันทำงานจริงๆ หรือเป็นฟังก์ชั่นที่แท้จริงของหนังก็ได้
ตอนแรกเราเข้าใจว่า นคร-สวรรค์ คงเกี่ยวกับแม่ แต่พอเข้าไปดูก็เห็นว่ามีเรื่องราวของพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะเหมือนกัน
นี่คือตัวอย่างของการที่เราบอกว่าใช้ข้ออ้างของการทำหนังเพื่อพาตัวเองกลับไปคุยกับครอบครัวเหมือนกันนะ เพราะตอนแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำหนัง เราแค่อยากอัดบทสนทนาหรืออยากอัดช่วงที่เขาพาไปดูสวนยางเก็บเอาไว้ คือเราไม่ได้อยู่กับพ่อ ไม่ได้เจอเขานานมาก พ่อเองก็เหมือนฟรีซภาพเราเอาไว้ตอนยังเป็นเด็ก เราเลยอยากมีตัวแทนของพ่อเก็บเอาไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งจะกลับมาเปิดดู โดยที่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องตายหรือไม่อยู่แล้วด้วยนะ แค่เราอยากมีสิ่งนี้เก็บเอาไว้
การที่พ่อปรากฏตัวในหนังก็เหมือนตอบในเรื่องที่ว่าแม่เป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งหมด เพราะการที่แม่เสียก็ทำให้เราได้กลับมาเจอพ่อ แล้วก็ทำให้เห็นว่าความทรงจำที่มีต่อแม่ มันไม่ใช่ว่าต้องเป็นเรื่องของแม่เท่านั้น คือต่อให้พ่อไม่ได้มีบทบาทในเชิงมาเล่าเรื่อง แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแม่ พ่อเองก็อาจจะมีความทรงจำระหว่างเขากับแม่เหมือนกัน อาจจะเป็นตั้งแต่ตอนที่พวกเขาวัยรุ่น ก่อนที่เราจะเกิด หรืออาจจะมีความรู้สึกบางอย่างถึงการที่คู่ชีวิตคนหนึ่งตาย เราเลยตัดสินใจอยากกลับไปถ่ายพ่ออีกครั้ง
ส่วนใหญ่โรสได้ดูสิ่งที่ถ่ายเก็บเอาไว้ตอนไหน หรือต้องรอมีโปรเจกต์อะไรก่อนแล้วค่อยว่ากัน
เราจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อมีโปรเจกต์ คือบางทีก็แค่เก็บไว้ หรืออย่างน้อยก็ดูแค่วันแรกๆ ที่ได้ฟุตเทจนั้นมา ต้องรอให้มีโปรเจกต์ก่อนถึงค่อยๆ คิดว่ามีอะไรที่เชื่อมโยงกันได้ แล้วค่อยกลับไปไล่ดูสิ่งที่เคยถ่ายเก็บเอาไว้
เราเป็นคนไม่มีระเบียบในการจัดการไฟล์ ไม่รู้ว่าอ้างหรือเปล่า แต่เรามองเป็นข้อดี เพราะว่าพอกระจัดกระจายปุ๊บ มันแรนดอมน่ะ แต่ละโฟลเดอร์อาจไม่เกี่ยวกันเลย แต่ว่ามันทำให้เราเชื่อมโยงหรือคิดอะไรบางอย่างได้ ซึ่งถ้าเราจัดการไฟล์อย่างมีคุณภาพ มันอาจไม่เกิดปฏิสัมพันธ์อะไรกันเลยก็ได้
เอาจริง เราเป็นพวกชอบไล่ดูรูปเก่าๆ นะ อย่างในไอจีก็ชอบกลับไปดูเรื่อยๆ คือมันตลกดี มันเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นแคปชั่นที่แบบกูเขียนไปได้ยังไง หรือกระทั่งรูปที่เพื่อนแท็กมา ถึงแม้เราจะปิดไม่ให้ใครดู แต่เราก็ชอบดู เราว่าฟังก์ชั่นของการบันทึกก็คงคล้ายๆ กัน
หลายคนดูหนังแล้วอยากบันทึกช่วงเวลาต่างๆ เอาไว้ และหลายคนก็รู้สึกว่าโรสบันทึกช่วงเวลาต่างๆ ไว้ได้เยอะเหลือเกิน สำหรับตัวโรสเอง มีช่วงไหนที่รู้สึกเสียดายเพราะไม่ได้บันทึกไว้บ้างมั้ย
เราไม่ค่อยมีอะไรที่เสียดาย วันก่อนมี Q & A กับพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เขาก็ถามเหมือนกันว่าช่วงก่อนเสีย ที่แม่ป่วยหนักๆ จนต้องเข้าไอซียู เราได้ถ่ายไว้หรือเปล่า เราบอกว่าไม่ได้ถ่าย โอเค เราคงมีถ่ายรูปบ้าง เพียงแต่เรารู้สึกว่าการอัดวิดีโอมันจะทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นฟังก์ชั่นของการเข้าไปเป็นหนัง ซึ่งช่วงเวลานั้นไม่ใช่หนังสำหรับเรา เราจึงไม่มีความคิดอยู่ในหัวเลยว่าต้องบันทึก มันไม่จำเป็น มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากบันทึก
ส่วนเรื่องที่ว่าหลายคนบอกว่าเราบันทึกช่วงเวลาต่างๆ ไว้ได้เยอะ เราว่าทุกคนก็บันทึกสิ่งต่างๆ เอาไว้เยอะเหมือนกันนะ เพียงแต่มันยังไม่ถึงเวลาที่จะมานั่งรำลึกถึง สมมติวันหนึ่งคุณเลิกกับแฟน เปิดมือถือดูอาจจะเห็นว่ารูปเขาเยอะจัง เวลานั้นแหละ คุณถึงรู้ว่าก็เก็บความทรงจำเกี่ยวกับเขาไว้เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ถ่ายหรือไม่ได้เก็บเอาไว้ เราว่าเขาก็คงเสียดายจริงๆ และหนังก็คงทำงานกับเขาในอีกแบบหนึ่ง
หลังจากโรสดูหนังไปหลายๆ รอบ เรารู้สึกกับสิ่งที่อยู่บนจอยังไงบ้าง
เราไม่ได้รู้สึกลดลง แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นหนังมากขึ้น เหมือนตอนดูแรกๆ ภาพที่อยู่บนจอมันทำงานกับเราเยอะ แต่พอดูไปไม่รู้กี่พันรอบ ภาพที่อยู่บนจอก็กลายเป็นหนังไปแล้ว คนอื่นคงมองว่าเราได้เก็บแม่เอาไว้ในนี้ เวลาดูเราก็คิดถึงแม่นะ เพียงแต่มันไม่ได้ทำงานกับตัวเราทุกครั้ง บางทีแค่มาตรวจไฟล์ ได้ยินแม่พูดว่าไม่เป็นไรหรอกลูก น้ำตาก็ไหลแล้ว แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ดี ก็จะไม่เป็นไร เช็กภาพเช็กเสียงได้ตามปกติ
เรายังคิดถึงแม่นะ แต่ว่าไม่ได้อาลัยอาวรณ์หรือฟูมฟายขนาดนั้นแล้ว เหมือนบางทียังลืมเลยว่าแม่ไปแล้ว เดินเข้าบ้านแล้วเห็นรูปถึงค่อยนึกได้
มองจากมุมคนนอกจะรู้สึกว่าโรสคุยกับแม่บ่อย พอไม่ได้คุยกับแม่แล้ว ทุกวันนี้เหงามั้ย
เราก็ยังมีน้าๆ น้องๆ ที่ยังอยู่ด้วยกัน มันก็มีบางโมเมนต์ที่รู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว เพราะพ่อก็อยู่อีกที่นึง แต่จะบอกว่าเป็นความเหงาก็ไม่ใช่ คือเวลาคนถามว่าพ่อกับแม่อยู่ไหน คำตอบของเราอาจฟังไม่ลื่นหูหรือฟังดูเศร้า แต่จริงๆ แล้วเราโอเคนะ ไม่ได้เหงาขนาดนั้น ก็อาจมีบ้างที่คิดว่าถ้าไปที่นี่กับแม่ แม่คงแฮปปี้ แต่ตอนนี้เราก็มีน้อง มีน้า มีทุกคนคอยซัพพอร์ต มันก็โอเค
ตอนฉายรอบสื่อ โรสบอกว่า นคร-สวรรค์ เหมือนตอนจบของชีวิตช่วงหนึ่ง โรสสามารถบอกได้ไหมว่าช่วงเวลาดังกล่าวคืออะไร
เราเพิ่งอายุ 30 ถามว่ามันสร้างปัญหาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมั้ย ก็ไม่ขนาดนั้นนะ เพียงแต่มันทำงานภายในเยอะเหมือนกัน
เวลานี้เราอายุได้ครึ่งหนึ่งของชีวิตแม่พอดี แล้วตอนที่แม่อายุเท่าเราในตอนนี้ เขาก็เพิ่งมีเรา เรามองตัวเองแล้วก็คิดว่าช่วงวัยประมาณนี้ต้องมีอะไรแล้วบ้างวะ คือโดยทั่วไปชีวิตคนเราในวัย 30 ก็ต้องมีอะไรให้เกาะหรือควรจะมั่นคงกว่าช่วง 20 แต่เรายังไม่รู้เลยว่านี่ถือว่ามั่นคงแล้วหรือยัง
ช่วงอายุ 20-30 ของเรามันเป็นช่วงของจิตใจล้วนๆ มันเป็นช่วงที่เราไปเมืองนอก มีหนังสือ ทำหนัง เป็นช่วงของการสูญเสีย เป็นช่วงของการทำงานกับจิตใจ แต่ว่าในเชิงของชีวิตจริงๆ หรือในเชิงเศรษฐกิจหน้าที่การงาน เรายังไม่ได้จัดการเลย เรายังไม่ได้ใคร่ครวญกับมันขนาดนั้น เราเลยรู้สึกว่าพอทำ นคร-สวรรค์ เสร็จก่อนอายุ 30 มันเลยเป็นเหมือนบทสรุปของชีวิตช่วงนี้
พอหนังฉายไปปุ๊บ เราก็คล้ายได้เริ่มชีวิตใหม่เหมือนกัน แบบอยู่ดีๆ ก็มีคนรู้จัก แม่งงงเหมือนกันนะ บางทีก็มีความถาโถมนิดๆ คือมันก็ไม่ได้ถึงขั้นรุนแรง เราก็ยังไม่ได้ดังขนาดนั้น เพียงแต่เราก็รู้สึกได้แหละว่าวันนี้มันไม่ใช่วันก่อน และเราก็ยังบอกไม่ได้หรอกว่ามันรุนแรงกว่า ดีหรือไม่ดีกว่าที่ผ่านมาอย่างไร