แฟนเดย์บอกว่าถ้าเป็นแฟนกับคนที่เราแอบรักได้หนึ่งวันจะเป็นยังไง
เวลาที่เราแอบรักใคร เราคงแอบวาดภาพฝันเพ้อๆ เป็นภาพในจินตนาการว่าเออ ถ้าเราสมหวัง ได้เป็นแฟนกันแล้ว จะมีความสุขขนาดไหน จะได้เดินจูงมือกัน ได้ไปดูหนัง ได้กินไอติมด้วยกัน แค่คิดก็เป็นฟินเดย์สำหรับเราไปแล้ว
แต่ก็แหละ การที่มีคำว่าถ้า…ตามด้วยเรื่องราวต่างๆ มันคือการชวนให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่เคยมี แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเราแล้ว เราก็จะเรียกมันว่า ‘ความทรงจำ’
ในแฟนเดย์เอาภาวะความจำเสื่อมมาเล่น ทำให้จินตนาการของหนุ่มเนิร์ดของเรากลายเป็นจริงได้ เปิดโอกาสให้พี่แกได้สวมรอยสร้างความทรงจำปลอมๆ ขึ้นมา และทำให้จินตนาการของหนุ่มหมาวัดของเรากับดอกฟ้าให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรเพราะยังไม่ได้ดู แต่ถ้าลองคิดถึงการแอบรัก โดยเฉพาะถ้าเราแอบรักอยู่ฝ่ายเดียวแบบไม่ได้รู้จักอะไรโดยส่วนตัว ได้แต่แอบมองคนที่เราแอบชอบอยู่ห่างๆ การแอบชอบระยะห่างแบบนี้ ตัวตนของคนที่เราแอบชอบมันจะอยู่ในระดับ ‘ภาพ(image)’ ของคนๆ นั้น คือเราได้แต่มองเห็นและจินตนาการ(imagine) ตัวตนของเขาขึ้นมา
อาจจะไม่ต้องอ้างอิงกับหนัง แต่คาดว่าเราคงมีประสบการณ์ การที่เราชอบใครบางคน มีจินตนาการบางอย่างเกี่ยวกับใครคนนั้น แต่ปลายทางแล้ว ตัวตนของคนๆ นั้นมักจะไม่ค่อยตรงกับภาพที่เราวาดเอาไว้
ความทรงจำและจินตนาการ ในฐานะภาพในความคิดของเรา
จินตนาการกับความทรงจำดูจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่มันก็มีลักษณะที่เหมือนกัน คือทั้งสองอย่างเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสมองเรา นักปรัชญาโบราณอย่างเพลโตหรือออกัสทีนเรื่อยมาจนถึงนักคิดแถวๆ ศตวรรษที่ 20 มองว่าความทรงจำหรือจิตใจของเราเป็นเหมือนกระดานหรือโรงเก็บของ ที่เราค่อยๆ เก็บภาพต่างๆ ลงไป พอเราจะนึกอะไรขึ้นมาก็เรียกมันขึ้นมา คำอธิบายแบบเก่านี้นักปรัชญาโบราณเลยอธิบายว่าทำไมเรื่องราวที่พอนานไปแล้วเราถึงได้ค่อยๆ ลืมไปและยิ่งนานยิ่งเรียกเอารายละเอียดกลับมาได้ยาก
ข้อเสนอของนักคิดโบราณเลยมีปัญหา Thomas Reid บอกว่าการที่อธิบายแบบนี้มันเหมาภาพที่เกิดขึ้นในหัวทั้งหมดคือรวมทั้งความทรงจำและจินตนาการให้ปนเปกันไป คุณพี่ Reid เลยบอกว่าเราต้องแยกด้วยที่มาของมัน ถ้ามันเคยเกิดหรือเราเคยรับรู้มันมาก่อน ก็เรียกว่าความทรงจำ ถ้าไม่ใช่ ก็เรียกว่าจินตนาการ
Maya Angelou นักคิดและนักเขียนคนสำคัญในสมัยของพวกเราพูดไว้ว่า เธอเรียนรู้ว่าผู้คนลืมเลือนสิ่งที่เราพูด ลืมเลือนสิ่งที่เราทำ แต่จะไม่มีวันลืมสิ่งที่เราทำให้พวกเขารู้สึก
ดังนั้น คำอธิบายของนักปรัชญาโบราณจึงมีปัญหา เพราะความทรงจำบางชุดไม่ว่าจะเนิ่นนานแค่ไหน ภาพ สัมผัส กลิ่น รส บางอย่างที่ฝังอยู่ในความทรงจำเมื่อถูกกระตุ้นขึ้นมากลับแจ่มชัดขึ้น และกลับจริงยิ่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน หนักแน่นยิ่งกว่ารสชาติอาหารที่เพิ่งกินไปมื้อก่อนหน้า
ความยอกย้อนของความทรงจำกับจินตนาการ
ความทรงจำและการทำงานของสมองมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เรามักมีปัญหากับเรื่องที่เราอยากจำและเรื่องที่เราอยากลืม นักวิทยาศาสตร์เองก็พยายามหาคำอธิบายเรื่องความทรงจำและแบ่งแยกออกจากการจินตนาการของมนุษย์
งานศึกษาบางชิ้นเริ่มให้คำอธิบายความซับซ้อนของความทรงจำ ว่ามันเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการสร้างจินตนาการของเรา ถ้าเรามองความทรงจำในแง่ของการเล่าเรื่อง ปรากฏการณ์ที่เราพยายามเล่าเรื่องให้เป็นถูกต้อง ต่อเนื่องกัน สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ คือการที่เราเอาเรื่องราวจำนวนมากในสมอง มาเล่าร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราว Elizabeth Loftus นักจิตวิทยาแห่ง the U.C. Irvine บอกว่ามันเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากที่คนเราจะบิดเบือนความทรงจำของตัวเองด้วยข้อมูลบางอย่างที่เราจับแพะชนแกะขึ้น
งานศึกษาบางชิ้นศึกษาคนที่เป็นความจำเสื่อม พบการทำงานร่วมกันระหว่างจินตนาการกับความทรงจำ โดยให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมลองคิดถึงฉากที่ธรรมดาๆ ทั้งหลาย เช่น ชายหาด ทะเล ร้านอาหาร สิ่งที่ผู้ป่วยความจำเสื่อมนึกถึงจะนึกถึงแค่เป็นโครงๆ เหมือนเป็นแค่โครงกระดูก แต่ไม่สามารถจินตนาการถึงบรรยากาศหรือความรุ่มรวยอื่นๆ ที่ประกอบในฉากนั้นได้ คำอธิบายเบื้องต้นที่นักประสาทวิทยาพบคือเริ่มให้ความเห็นว่าจินตนาการแท้จริงแล้วมีผลต่อความทรงจำของเราไม่น้อย
เรื่องความทรงจำ รวมไปถึงสมอง ความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและซับซ้อน จากแฟนเดย์ The MATTER เลยถือโอกาสชวนสำรวจโดยสังเขปเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความทรงจำและการจินตนาการ อันเป็นสิ่งก่อปัญหาให้เราดังนักเขียนนวนิยาย Gilbert Parker บอกว่า
“Memory is man’s greatest friend and worst enemy,”
ความทรงจำเป็นทั้งเพื่อนที่ยอดเยี่ยม และเป็นศัตรูที่ฉกาจที่สุดของมนุษย์เรา
Cover Illustration by Namsai Supavong