หลายครั้งที่เรารับรู้ว่า โอเค เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ‘ในประวัติศาสตร์’ นะ แต่รับรู้แล้วก็แล้วกัน รู้สึกเพียงแค่ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว
วันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เราต่างรับรู้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นการกระทำชวนตกใจ เพราะในโลกสมัยใหม่ที่เรานิยามตัวเองว่าศิวิไลซ์ โลกที่เรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีความเป็นเหตุเป็นผล แต่กลายเป็นว่ามนุษย์ใช้แนวคิดว่าด้วยวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องสายพันธุ์มาแบ่งแยกกัน และใช้วิทยาการมากำจัดมนุษย์ที่ถูกนิยามว่าด้อยค่ากว่าอย่างเป็นระบบ แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่าบางคนอาจจะเพียงรับรู้แล้วก็ปล่อยให้ผ่านพ้นไป
ขนาดคนรุ่นใหม่ชาวยุโรปเองก็ใช่จะรู้ว่าบรรพชนเคยลงมือทำสิ่งที่เลวร้ายต่อกันได้ถึงเพียงนั้น ทาง Holocaust Memorial Day Trust (HMDT) องค์กรที่มีพันธกิจเพื่อสร้างการรับรู้และเพื่อป้องกันความผิดพลาดเดิมของมนุษย์จากที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ ทำการสำรวจชาวอังกฤษและพบผลชวนช็อกว่า คนอังกฤษ 1 ใน 20 คน ไม่เชื่อว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง ในขณะที่ 1 ใน 12 คน บอกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกเอามาขยายจนเกินเรื่องเกินราวไป
ที่ผ่านมาหลายๆ เรื่อง เราฟังจนชินแล้วก็ชาไปซะเฉยๆ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหรอ ก็รู้แล้วว่าเคยเกิดขึ้น แต่บางคนอาจจะหลงลืมรายละเอียด ในความทรงจำ ในเฉดสีของเลือดเนื้อ น้ำตา การสูญเสีย ดังนั้น นอกจากการที่เราจะเข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว The MATTER จึงอยากชวนกลับไปรับรู้ความรู้สึกและเรื่องราวจากงานเขียนหลากหลายประเภท ทั้งบันทึกจากผู้รอดชีวิต จากผู้เสียชีวิต วรรณกรรม รวมถึงหนังสือภาพ ทั้งหมดนี้คืองานเขียนที่เล่าเรื่องราวซึ่งรายล้อมไปด้วยเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง งานเขียนที่จะพาเราไปยืนที่หลุมมหึมาที่มีร่างของผู้คน พาเราเข้าไปในเตาเผาที่ใช้เผาร่างชาวยิวอย่างโหดเหี้ยม
Night by Elie Wiesel
ถ้าพูดถึงงานเขียนว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว จะขาดหนังสือ Night (1960) ของ Elie Wiesel นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปไม่ได้ นักเขียนคนนี้คือผู้ที่บอกให้เรายืนข้างผู้ถูกกดขี่ โดย Night เป็นงานเขียนเล่มแรกในไตรภาค Night, Dawn, Day เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวกับตัว Wiesel เองที่มาเล่าประสบการณ์การถูกจับเข้าค่ายกักกัน งานเขียนของ Wiesel เป็นงานที่ทรงพลัง และบางครั้งอาจจะทรงพลังมากเกินไปจนทำให้คนตั้งคำถามว่า บางส่วนของงานจะจัดเป็น ‘บันทึกความทรงจำ’ ได้หรือไม่ เพราะบางส่วนมีการเรียงร้อยเรื่องใหม่ บ้างก็มีความเป็นเรื่องแต่ง (fiction) ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทำให้งานเขียนชิ้นนี้ถูกจัดให้อยู่ในหลายหมวด ทั้งอัตชีวประวัติ บันเทิงคดี แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ทุกคนก็ยอมรับว่า Night เป็นวรรณกรรมที่ทำให้โลกกลับมาสนใจการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกครั้ง
Diary of a Young Girl by Anne Frank
กลับมาอีกครั้งกับ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์ แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้แอบอ่านเรื่องราวจากชาวยิวที่ต้องซ่อนตัวจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายในห้องใต้หลังคาที่อัมสเตอร์ดัม แง่หนึ่งเราอาจรู้สึกว่าเราได้อ่านไดอารี่จริงๆ ของแอน แฟรงก์ แต่จริงๆ แล้ว สมุดบันทึกของแอนน์มีสองเวอร์ชั่น คือฉบับที่แอนน์เขียนบันทึกไว้ส่วนตัวตามวิสัย กับเวอร์ชั่นที่หลังจากเธอฟังข่าวในวิทยุว่าหลังจากนี้เอกสารบันทึกในภาวะสงครามจะถูกเก็บรวบรวมไว้ แอนน์เลยเขียนบันทึกขึ้นใหม่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งขึ้นมา ซึ่งต่อมาพ่อของเธอได้นำบันทึกทั้งสองเล่มมาคัดเลือก ตัดทอน เซ็นเซอร์เนื้อหาบางอย่างออกไป เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าของเด็กผู้หญิง ซึ่งเรื่องที่ตัดออกก็เช่น เรื่องส่วนตัวมากๆ ของแอนน์เอง
The Zookeeper’s Wife by Diane Ackerman
The Zookeeper’s Wife เป็นงานเขียนประเภทชีวประวัติโดย Diane Ackerman โดยผู้เขียนทำการสืบสาวรวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาเล่าใหม่ ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงผลกระทบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่าน ‘สวนสัตว์’ โดยเป็นเรื่องราวของ Jan และ Antonina Żabiński ผู้ดูแลสวนที่พาชาวยิวนับร้อยไปซ่อนในสวนสัตว์ของกรุงวอร์ซอว์ หนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวที่ชวนติดตาม เพราะนอกจากแค่ต้องดูแลสวนสัตว์ในช่วงภาวะสงครามยังไม่พอ ยังปฏิบัติภารกิจเพื่อมวลมนุษย์ด้วยการเสี่ยงชีวิตสู้กับนาซีอีก ทำให้ชีวประวัติเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นหนังเมื่อปี 2017 ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างสวยงามและกวาดรายได้อย่างน่าพอใจ
The Reader by Bernhard Schlink
The Reader เป็นหนังสือที่พูดถึงผลกระทบของคนรุ่นต่อๆ มาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวเรื่องแม้จะพูดถึงความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับหญิงสาว แต่ก็ยังพูดถึงประเด็นที่ในท้ายที่สุดแล้วคนรุ่นต่อมาก็ย่อมต้องเจอกับผลกระทบจากการลงมือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง งานเขียนจากเยอรมันเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามสำคัญต่อคนเยอรมันว่า หลังจากการสังหารทั้งหมดแล้ว เมื่อผู้คนตายไปและความทรงจำของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มเลือนราง คนรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญและจัดการอย่างไรกับสิ่งที่บรรพชนได้สร้างไว้
The Boy in the Striped Pyjamas by John Boyne
หลายคนคงคุ้นเคยกับภาพรั้วลวดหนามและเด็กชายในชุดนอนลายทางเป็นอย่างดี The Boy in the Striped Pyjamas เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่แทงทะลุหัวใจ ด้วยการเลือกเล่าผ่านความสัมพันธ์ไร้เดียงสาของเด็กน้อยที่มีรั้วลวดหนามกั้น เพียงเพราะชุดนักโทษและเชื้อชาติเป็นตัวตัดสินว่าเด็กคนไหนควรมีชีวิตอยู่หรือควรถูกกำจัด แค่ชื่อเรื่องก็บอกแล้วว่าเรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองของเด็ก โดยที่เด็กเองก็ไม่เข้าใจว่าชุดนอนลายทางคือชุดของนักโทษในค่ายกักกัน และความไม่เข้าใจนี้ก็ทำให้ยิ่งไม่เข้าใจต่อไปว่า แค่การเป็นคนยิวเพียงเท่านั้นหรือที่ทำให้เด็กคนหนึ่งไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์อีกต่อไป
A Partisan’s Memoir : Woman of the Holocaust by Faye Schulman
เวลาเราพูดถึงชาวยิวในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เรามักนึกถึงแต่ในมุมของเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ แต่ในขณะเดียวกัน ยุคนั้นก็มีกลุ่มชาวยิวและคนยุโรปคนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย ทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้าน หลบหนี หรือบางครั้งก็สู้พวกนาซีกลับ A Partisan’s Memoir เป็นอีกหนึ่งบันทึกของกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งน่าสนใจที่ยังเป็นบันทึกของผู้ต่อต้านหญิงชื่อ Faye Schulman โดยในเล่มเป็นบันทึกที่พูดเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียด มีรูปถ่ายประกอบ เป็นกึ่งสารคดี กึ่งบันทึก ซึ่งอ่านสนุก และแอบลุ้นในหลายๆ ตอน
Maus by Art Spiegelman
Maus เป็นนิยายภาพรางวัล Pulitzer ที่ทาง The New York Times บอกเราว่าหนังสือเล่มนี้ได้พาเราไปอยู่ ณ ใจกลางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเย็นยะเยียบ เรื่องนี้เล่าย้อนเหตุการณ์ไปที่พ่อของ Art Spiegelman เจ้าของผลงาน ทำให้ค่อนข้างมีความซับซ้อน ทั้งการเล่าในฐานะทายาทของผู้ถูกกระทำที่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อ ความซับซ้อนของความทรงจำ รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง แถมยังใช้อุปลักษณ์เป็นสัตว์ โดยใช้แมวแทนนาซี ใช้หนูแทนชาวยิว
อ้างอิงข้อมูลจาก