#MeToo หนึ่งในแฮชแท็กยอดฮิต ของแคมเปญรณรงค์ยุติการล่วงละเมิดทางเพศ ที่เริ่มจากการเปิดโปงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศของ ‘ฮาวีย์ ไวน์สตีน’ ผู้อำนวยการสร้างในวงการภาพยนต์ สร้างความสะเทือนวงการฮอลลีวู้ด และลามมาถึงการเปิดโปงวงการการเมือง และสังคม จากฝั่งอเมริกาขยายกว้างมาในหลายประเทศ
แล้ว #MeToo ก็เข้ามามีกระแสอย่างกว้างขวางในเกาหลีใต้ สังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีความนิยมชายฝังรากลึกมากับความเชื่อตั้งแต่โบราณ เกิดการเคลื่อนไหวที่พร้อมเป็นพลังโต้กลับค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ปิดปากเหยื่อผู้ถูกกระทำมานานหลายปี ให้มีพื้นที่ออกมาเปิดเผย เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
ทั้งกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือกลายเป็นเรื่องสำคัญในประเทศเกาหลี จึงน่าจับตาว่าแคมเปญ #MeToo ในเกาหลีต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไร มันส่งเสียงในวงกว้างแค่ไหน และโครงสร้างทางสังคมที่ถูกสร้างให้สถานะผู้หญิงอยู่ในบทบาทที่ไม่เท่าเทียมนี้จะถูกสั่นคลอน และเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไร
สังคมนิยมชายที่หยั่งรากลึกในเกาหลีใต้
ก่อนที่เราจะมาพูดถึงกระแส #MeToo ในประเทศเกาหลีใต้ เราต้องย้อนกลับไปดูโครงสร้างทางสังคมของประเทศในแถบเอเชีย มักยังถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมสังคมปิตาธิปไตยหรือสังคมนิยมชาย โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกที่ลัทธิขงจื้อได้แพร่ขยายและมีอิทธิพลหยั่งรากลึก ทำให้ความเชื่อว่าผู้ชายมีบทบาทมากกว่าผู้หญิง กลายเป็นความเชื่อที่ยังคงมีอิทธิพลในสังคมเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากอันดับความเท่าเทียมทางเพศของ the World Economic Forum ในปี 2016 ที่เกาหลีใต้ติดอันดับ ที่ 116 จาก 144 ประเทศ
ผู้หญิงในเกาหลีใต้ยังเผชิญหน้ากับการแบ่งแยกในการรับเข้าทำงาน จากความเชื่อของขงจื้อที่กำหนดบทบาทมาให้ผู้หญิงรับหน้าที่ดูแลกิจการในครอบครัว พร้อมด้วยความคิดที่ว่าผู้หญิงมักลาออกเมื่อแต่งงาน หรือตั้งท้อง เพื่อออกไปทำหน้าที่ดูแลลูกอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ว่าจ้างมองว่าตำแหน่งงานบางอย่างไม่เหมาะสมกับผู้หญิงในระยะยาว หรือในการสมัครงาน ผู้หญิงมักถูกคาดหวังมากกว่าผู้ชาย เช่น ต้องมีผลการศึกษาที่ดีกว่า หรือไม่ก็จะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่รูปลักษณ์ภายนอกเช่น ต้องมีส่วนสูงเกิน 165 เซนติเมตร น้ำหนักต้องน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อผ่านการรับสมัครเข้างานแล้ว ผู้หญิงก็มักจะได้รับตำแหน่งที่ต่ำกว่า รวมถึงค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมด้วย
นอกจากเรื่องการทำงานที่ถูกแบ่งแยกแล้ว เมื่อดูสถิติการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีข่มขืน จะเห็นได้ว่าอัตราการล่วงละเมิดทางเพศและการฟ้องร้องมีสูงขึ้น แต่อัตราการลงโทษตัวผู้กระทำผิดกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม และ ยังมีข้อสังเกตว่าเพศชายมักจะได้รับการผ่อนปรนในการพิจารณาคดีมากกว่าเพศหญิง หลายเคสที่เหยื่อพยายามฟ้องร้องถูกถอดถอนเพราะอิทธิพลของฝ่ายชาย รวมถึงคำสารภาพที่มักจะถูกตัดสินลดโทษ เพราะเชื่อว่าฝ่ายชายจะไม่กระทำผิดซ้ำ ทั้งไม่ต้องการให้ฝ่ายชายมีประวัติอาชญากรรมที่อาจจะส่งผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต
แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยการก่อตั้งกระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ขึ้นมาในปี 2011 รวมถึงก่อตั้งกองตำรวจพิเศษด้านอาชญากรรมทางเพศในปี 2013 แต่ผู้กระทำผิดทางเพศก็ยังไม่ถูกลงโทษด้วยกระบวนการยุติธรรม เห็นได้จากเคสของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ฟ้องร้องว่าเธอถูกผู้ชายข่มขืนขณะมีอาการเมา แต่ก็ถูกตำรวจชักจูงให้เธอถอนฟ้อง
ในปี 2017 มีนักแสดงสาวคนหนึ่งตัดสินใจออกมาฟ้องร้องว่าถูกผู้กำกับดังอย่าง คิม คีด็อก ใช้กำลังตบหน้าในกองถ่าย และบังคับให้ถ่ายฉากนู้ดที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ในภาพยนต์เรื่อง Moebius ก่อนที่เธอจะตัดสินใจถอนตัวออกจากหนังเรื่องนี้ไปในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ในทางคดีนั้น ศาลได้ลงโทษคิม โดยปรับเงิน 5 ล้านวอน หรือประมาณ 4,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นบทลงโทษที่น้อยเกินไปหรือไม่
เมื่อมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการฟ้องร้องเกิดขึ้น ก็มักกลายเป็นข่าวชั่วครู่ชั่วคราว ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษจริงจัง และไม่ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังในวงกว้าง ทั้งในช่วงปลายปี 2017 ที่แคมเปญนี้เป็นที่โด่งดังและถูกผลักดันในหลายประเทศ แต่ในเกาหลีใต้เรื่องนี้กับยังเงียบงัน และไม่มีกระแสเคลื่อนไหวใดๆ ออกมา
กระแส #MeToo ในแวดวงการศึกษา การเมือง วงการบันเทิง
จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้กระแส #MeToo ในเกาหลีใต้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอย่างเข้มข้น คือเหตุการณ์ที่อัยการ ซอจีฮยอน ได้ออกมาเปิดเผย และสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า เมื่อปี 2010 เธอเคยถูกอัยการระดับสูงรับตำแหน่งผู้อำนวยการคุกคามทางเพศ ในตอนนั้นเธอได้รายงานเรื่องนี้กับหัวหน้าหน่วย แต่ก็กลับถูกปิดเรื่อง ถูกสั่งย้ายเธอไปประจำการที่ต่างจังหวัดแทน และโดนตักเตือนทางวินัยด้วย ซึ่งหลังจากนั้น เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว และประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจึงกลายมาเป็นที่ถกเถียงในสังคม จนมีเหยื่อที่เคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามออกมาเปิดเผยและเล่าประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในวงการที่มีเหยื่อออกมาเปิดเผยมากที่สุด คงไม่พ้นในแวดวงการศึกษา ที่มีทั้งนักเรียน และอดีตนักเรียนที่จบไปแล้ว ต่างก็ออกมาสร้างแฮชแท็ก #SchoolMeToo ในโซเชียลเน็ตเวิร์กบอกเล่าเรื่องราวสมัยถูกคุกคามทางเพศในโรงเรียน ทั้งจากอาจารย์ในโรงเรียน หรือติวเตอร์ที่เรียนพิเศษ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องราวในปัจจุบัน ไปถึงอดีต บางคนถูกล่วงละเมิดมานานกว่า 20-30 ปี แต่ด้วยสภาพสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้เหยื่อ ทำให้พวกเธอเลือกที่จะเก็บงำเอาไว้
ในวงการการเมืองเอง ก็มีนักการเมืองหลายคนที่ถูกเปิดโปงพฤติกรรมทางเพศ หนึ่งในนั้นคือ อันฮีจุง ผู้ว่าจังหวัดชุงช็องใต้ นักการเมืองจากพรรครัฐบาล ที่ถูกมองว่าอาจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต ซึ่งผู้ที่มาเปิดโปงเขาได้แก่เลขาของเขาเอง ที่ให้สัมภาษณ์กับรายการทีวีว่า เธอถูกเขาข่มขืนมากถึง 4 ครั้งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา หรือ ส.ส. มิน บยองดู จากพรรครัฐบาลเช่นกัน ที่ลาออกหลังถูกผู้หญิงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2008 เธอถูกบังคับให้จูบกับเขา ทั้งเขาพยายามรูดซิปกางเกงเธอลงในร้านคาราโอเกะ แต่ถึงอย่างนั้น เขาเองก็ยังให้การปฏิเสธในเหตุการณ์นี้
วงการบันเทิงเกาหลี ก็เป็นอีกวงการที่ถูกผลกระทบอย่างหนักจากแคมเปญนี้ มีเซเลปผู้มีชื่อเสียง ดารารุ่นใหญ่ ผู้กำกับดัง รวมถึงนักร้องที่ออกมาถูกเปิดเผยพฤติกรรมในอดีตเช่นกัน บางคนก็ได้ประกาศลาออกจากวงการ ถูกไล่ออกจากต้นสังกัด หนึ่งในนั้นคือนักแสดงชาย โจ มินกิ ที่เลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย พร้อมทิ้งจดหมายลาตายขอโทษครอบครัวไว้ เพราะไม่สามารถทนแรงกดดัน หลังถูกอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยชองจูจำนวนหลายคนอ้างว่าตกเป็นเหยื่อจากการถูกคุกคามทางเพศระหว่างที่เขาเป็นอาจารย์สอนการแสดง
แต่หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ แต่ไม่ใช่การเปิดเผยพฤติกรรมทางเพศในแคมเปญ #MeToo คือการปล่อยข่าวเดท หรือความสัมพันธ์ของเหล่าไอดอล นักแสดงหลายคู่ ที่เกิดขึ้นถี่จนผิดข้อสังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นที่เชื่อกันว่าผู้มีอิทธิพลในเกาหลีใต้ มีอำนาจในวงการสื่อ และมักจะใช้การปล่อยข่าวเหล่านี้ออกมาช่วงที่มีแง่ลบที่อาจกระทบต่อบรรดาผู้มีอิทธิพล เพื่อดึงความสนใจของประชาชนและแฟนคลับ แต่ในครั้งนี้ข่าวเหล่านี้กลับไม่สามารถกลบกระแส #MeToo และยิ่งทำให้มีประชาชนออกมาชุมนุม เรียกร้องในเรื่องนี้กันมากขึ้นด้วย รวมถึงเพิ่มแฮชแท็ก #Withyou ว่าอยู่เคียงข้างกับเหยื่อผู้เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย
เสียงและกระแส ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง
แน่นอนว่าการออกมาเปิดเผยพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ และรณรงค์แคมเปญ #MeToo ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดแรงสะเทือนและความเปลี่ยนแปลงในเกาหลีใต้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศไม่มากก็น้อย ซึ่งเมื่อกระแสนี้ได้กระจายไปในวงกว้าง ประธานาธิบดี มุน อินแจ ก็ได้ออกออกมาประกาศให้ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีนี้อย่างจริงจัง จากคดีที่มีการฟ้องร้องมากขึ้นเรื่อยๆ
“ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาของโครงสร้างทางสังคมที่เปิดทางให้ผู้มีอำนาจสามารถกดดันทางเพศ และใช้ความรุนแรงกับผู้อ่อนแอได้ง่าย ผมขอปรบมือชื่นชมให้กับผู้กล้าหาญที่กล้าจะเล่าเรื่องราวของพวกเขา” ปธน. มุนกล่าวสนับสนุนแคมเปญนี้
นอกจากแคมเปญนี้จะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีแล้ว ชุง ฮยอนแบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และครอบครัวได้ออกมาเปิดเผยที่จะดำเนินการร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ศึกษาธิการ ยุติธรรม และวัฒนธรรม ที่จะเพิ่มโทษในการใช้อำนาจทางเพศที่ผิด เพิ่มจากโทษสูงสุด 5 ปี เป็น 10 ปี การล่วงละเมิดทางเพศ เพิ่มจากโทษสูงสุด 2 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มอายุความจาก 5 ปี เป็น 7 ปี
ทั้งรัฐบาลยังประกาศว่าจะดำเนินคดีอาญาต่อ เจ้าของบริษัทที่ละเลย หรือปกปิดการล่วงละเมิดทางเพศภายในบริษัท รวมถึงก่อตั้งกลุ่มเพื่อเข้าถึงความรุนแรงทางเพศในอุตสาหกรรมการบันเทิงด้วย ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่เร่งด่วนและจริงจัง ที่รัฐบาลจะพยายามกำจัดวัฒนธรรมที่มีการปกปิดพฤติกรรมทางเพศในสถานที่ทำงาน
สำนักข่าว Korea Times มองว่าการเคลื่อนไหวของกระแส #MeToo ในครั้งนี้ ว่าเป็นการสั่นคลอนและโจมตีวัฒนธรรมการข่มขืนในเกาหลีใต้ได้ ทั้งจะทำให้ระบบชนชั้นการแบ่งแยกเพศในสังคมที่มีมาตั้งแต่โบราณค่อยๆ ถูกเลือน จนอาจจะหายไปในที่สุดก็ได้ ซึ่งแม้ในตอนนี้ทางกฎหมาย จะมีการเปลี่ยนแปลง และเข้มงวดมากขึ้น แต่ในทางวัฒนธรรมและการปฏิบัติยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนในเชิงลึก
คิมมยองซุก ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายด้านแรงงานขององค์กรผู้สนับสนุนสตรีเกาหลี ก็มองว่า รัฐบาลไม่ควรจำกัดแค่การลงโทษผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น แต่ควรจะแก้ไข และกระตุ้นเรื่องนี้ในระยะยาว ผ่านทางการให้การศึกษาเรื่องสตรีนิยมในหลักสูตรด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.matichonweekly.com/