เมื่อการจ้างงานลดลง ขณะที่งานเสริมก็หายากในยุคโรคระบาด หลายคนเลือกที่จะผันตัวเองสู่การเป็น ‘Micropreneur’ หรือผู้ประกอบการรายเล็ก ทำธุรกิจจากแพชชั่นของตัวเอง โดยที่ไม่ลืมจะให้หัวใจกับการ Work-Life Balance
แม้ว่า Micropreneur อาจจะเป็นศัพท์ที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นหู แต่สองสามปีที่ผ่านมาคำคำนี้ได้ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง มันเติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมของสตาร์ตอัพ เพราะจริงๆ แล้ว Micropreneur มันค่อนข้างมีแนวคิดการริเริ่มแบบเดียวกับสตาร์ตอัพประมาณหนึ่ง
รู้จัก Micropreneur กันสักนิด
แม้ว่าคำคำนี้จะใหม่และยังไม่มีการให้คำจำกัดความที่ตายตัวนัก แต่นิตยสารฟอร์บส์เคยให้นิยามไว้ว่า เป็นธุรกิจที่ประกอบด้วยคนจำนวนไม่เกิน 5 คน ทั้ง 5 คนอาจจะต้องช่วยเหลือกันในส่วนต่างๆ ของบริษัทโดยไม่ค่อยจะแยกหน้าที่ชัดเจนเท่าไหร่ ที่สำคัญ Micropreneur ต้องการคงรักษาขนาดบริษัทให้ ‘ไมโคร’ แบบนี้ ไม่ได้ต้องการจะขยายกิจการให้ใหญ่โต
โดย Micropreneur มีแพชชั่นเป็นรากฐาน ธุรกิจมีไอเดียตั้งต้นมาจากความหลงใหลของผู้ก่อตั้ง และมักขบคิดว่า สินค้าและบริการของพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหา pain point ต่างๆ ให้กับผู้คนได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันด้วยความที่ขนาดเล็กทำให้พวกเขาปรับตัวเก่ง เพราะต้องพึ่งพาตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และล้มเร็วลุกเร็ว ถ้าไม่เวิร์กก็ลองใหม่ พวกเขามองเห็นโอกาสเสมอ
Micropreneur ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต จึงเหมือนอาชีพที่เป็นไลฟ์สไตล์ด้วย เพราะพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีความสุข และมี Work-Life Balance ที่ดี พอๆ กับผลงานที่ออกมา
ถ้าพูดอย่างเร็วๆ Micropreneur ก็คือ Entrepreneur (ผู้ประกอบการ) นั่นแหละ เพียงแต่พวกเขาอาจจะมีสเกลที่เล็กกว่า และมีวิธีการดำเนินธุรกิจที่เฉพาะตัวมากกว่านั่นเอง
ขอลองเป็น Micropreneur สักตั้งในยุค COVID-19
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีทุนทรัพย์จะเริ่มธุรกิจได้ แต่ Micropreneur ก็ถือเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นมา จากการปลุกปั้นของผู้ประกอบการหลายคนที่พร้อมจะลองเสี่ยงสักตั้ง
นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2019 จำนวน Micropreneur ธุรกิจรายย่อยที่ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก หนึ่งในปัจจัยเลยคือการที่คนทำงานประจำหลายคนถูกเลิกจ้าง การจะหางานใหม่ก็ยากยิ่ง ทำให้หลายคนเลือกขุดไอเดียธุรกิจที่เคยมีในหัว ออกมาลงมือทำในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนแบบนี้
สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา (US Census Bureau) เผยผลสำรวจว่า ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.2020 มีธุรกิจจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบจำนวนกับปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ในสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายน ค.ศ.2020 มีการจดทะเบียนธุรกิจเพิ่ม 29,000 ราย มากที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา
มาลองดูตัวอย่างของธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่เรียกตัวเองว่า Micropreneur กันบ้าง
‘Tula & Tye’ เป็นแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกของ Krisha Kotak ซึ่งเคยเป็นประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในอังกฤษมาก่อน เธอเลือกจะผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์สำหรับผู้คนที่ต้องล็อกดาวน์ อยู่บ้าน work from home
โปรดักต์ของ Tula & Tye เป็นเลาจน์เดรส หรือชุดสำหรับสวมใส่อยู่บ้าน เธอเลือกใช้ลวดลายมัดย้อมและบอกว่าน่าจะไปได้สวย เพราะคนอยู่บ้านต้องการสวมใส่อะไรที่สบายตัว
“ฉันมีไอเดียธุรกิจเยอะมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีเวลามากพอที่จะเริ่มมัน ตอนนี้เหมือนกับว่าอยู่ๆ ก็ได้เวลาและโอกาสที่จะค่อยเริ่มมันอย่างช้าๆ และทำในสิ่งที่เราให้คุณค่า” Kotak ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Wunderman Thompson Intelligence
‘Lela’s Bakery and Coffeehouse’ ของ Nic Bryon และ Greg Bryon ในฟลอริดา ก็เป็น Micropreneur ที่เกิดขึ้นระหว่าง COVID-19 เช่นกัน Nic ที่เคยเป็นเชฟตกงาน เขากับพี่น้องเลยลองทำพาสต้าแพ็คหรือพาสต้ารสชาติท้องถิ่นแพ็กใส่กล่องแล้วขายด้วยการส่งเดลิเวอรี่
หรือจะเป็น ‘Mane Point’ ของครอบครัวในประเทศตะวันออกกลาง พวกเขาริเริ่มมาร์เก็ตเพลสสำหรับขายครีมบำรุงผม เพราะต้องการจะสนับสนุนให้คนในภูมิภาครักในเส้นผมธรรมชาติของพวกเขา โดยพวกเขาคิดจะทำกิจการนี้มานานมากแล้วตั้งแต่ราว 5 ปีก่อน ซึ่งการล็อกดาวน์ในช่วง COVID-19 เวลาที่ว่างมากพอทำให้พวกเขาได้เริ่มมันจริงๆ เสียที
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเทรนด์ธุรกิจที่เรียกได้ว่าน่าจับตา และหากคิดควบคู่จากว่าเด็กรุ่นใหม่หรือเด็กเจเนอเรชั่น Z ที่อยากทำงานที่ยืดหยุ่นหรือเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง Micropreneur เองก็น่าจะเป็นเทรนด์ธุรกิจที่บูมขึ้นมาได้ในยุคหลัง COVID-19 เพราะแก่นไอเดียของมันตั้งอยู่บนทั้งความเชื่อมั่นในตัวเอง การทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้คน และการมีอิสระในงานของตัวเอง
แล้วรัฐจะสนับสนุนอะไรได้บ้าง
แม้ว่าเหล่า Micropreneurs จะมีฝีไม้ลายมือหรือไอเดียที่น่าสนใจขนาดไหน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการสนับสนุนเชิงโครงสร้างจากภาครัฐก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
ด้วยจำนวนธุรกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติอย่างที่ได้บอกไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเดียว แต่ในหลายประเทศ ขณะที่อุปสงค์ที่เหลือแค่เพียงในประเทศก็อาจจะไม่ได้มากมายนัก การที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือในการก่อร่างสร้างตัวผ่านนโยบายต่างๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องเหมาะสม เช่น
- ความง่ายในการเข้าถึงการจดทะเบียนธุรกิจ : ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่การจดทะเบียนจัดตั้งยังมีความซับซ้อน และต้องติดต่อหลายหน่วยงาน การเชื่อมต่อระบบหลังบ้าน และยื่นเอกสารทุกอย่างผ่านออนไลน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้รวดเร็ว สะดวก และไม่จำเป็นต้องเดินยื่นเอกสารกับหน่วยงานรัฐถึงสถานที่ทำการ
- มาตรการสินเชื่อ : มาตรการสินเชื่อเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่ และธุรกิจที่เริ่มต้นและไปได้สวยและต้องการขยายกิจการ การผ่อนคลายให้เจ้าของกิจการรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น จะทำให้พวกเขามีสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำ
- มาตรการทางภาษี : การปรับลดภาษีของกำไรสุทธิที่ต้องจ่ายในอัตราที่ลดลง และเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพราะแน่ล่ะว่าการระบาดของ COVID-19 น่าจะอยู่กับมนุษย์โลกไปอีกกว่าหนึ่งปี
ไม่ใช่แค่ในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีธุรกิจรายย่อยช่วยขับเคลื่อนประเทศ เพราะก็มีหลายรีเสิร์ชยืนยันว่า ธุรกิจรายย่อยในหลายประเทศเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ และจำนวนธุรกิจรายย่อยที่เพิ่มขึ้นนี่แหละที่เป็นปัจจัยที่ดันตัวเลขการจ้างงานท้องถิ่นให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยที่ IMF บอกว่าในช่วงที่ COVID-19 ระบาดและรายได้จากต่างชาติหดตัว ธุรกิจรายย่อยในหลายประเทศทั่วโลก สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้ประเทศได้กว่า 40% เลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
intelligence.wundermanthompson.com