คงมีทุกวันที่เราตื่นขึ้นมาแล้วครุ่นคิดว่า ‘เราใช้ชีวิตดีแล้วรึยังนะ?’ ยิ่งถ้าอายุสัก 35 ขึ้นไป ดูเหมือนว่าความคาดหวังทั้งหลายจะยิ่งกดลงมาบนบ่าเราหนักหน่วงขึ้นตามเวลาที่เราใช้ไป เราเริ่มตระหนักว่าเราใช้ชีวิตมานานพอสมควรแล้ว…ครึ่งนึงได้รึยังนะ? พอคิดไปคิดมาก็ยิ่งนอย ยังไม่มีอะไรสักอย่าง ทรัพย์สิน ความก้าวหน้า ความมั่นคง ฯลฯ
คำว่า ‘กลางคน’ เป็นคำที่สัมพัทธ์พอสมควร สมัยก่อนคนเขาวิตกเรื่องวัยกลางคนมั้ยนะ แล้วอายุเท่าไหร่ถึงจะเริ่มวิตก วิตกแค่ไหน โดยรวมแล้ว ความรู้สึกวิกฤติเมื่อวัยกลางคนคือความรู้สึกของเราที่มีต่อความคาดหวังที่สังคมวางไว้ให้คนๆ หนึ่ง เมื่อก่อนวิกฤติวัยกลางคนดูจะเกิดขึ้นกับคนที่อายุประมาณ 45 ปี เป็นวัยที่เริ่มรู้สึกว่าชีวิตจะไปทางไหนต่อดี จะเปลี่ยนงานก็ยาก จะก้าวหน้ารึก็ไม่มี ชีวิตคู่ ครอบครัวก็จัดการแสนจะลำบาก แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าคนวัยสักสามสิบกลางๆ ก็เริ่มมีความรู้สึกไม่มีความสุข จากความรู้สึกที่ว่า ‘เราได้ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้ว’
เจ้าครึ่งทาง-ครึ่งชีวิต เป็นเรื่องของความคิด การกะประมาณ และแนวคิดเรื่องอายุที่สังคมมอบให้ … ‘วัยกลาง’ จึงเป็นสิ่งที่สัมพัทธ์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและตามแต่บุคคลจะสนองกับกฎเกณฑ์ของสังคม
วัยกลางคนที่แกว่งไปแกว่งมา
อาจเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่เราจะครุ่นคิดถึงความตายที่จะมาถึงอีกไม่นานเพื่อประเมินชีวิตปัจจุบันของเรา ถ้าเราประเมินแล้วไปในทางบวกก็โอเคเนอะ แต่คำว่าวิกฤติอาจจะเป็นเพราะสนองกับความคิดและการกะเกณฑ์รอบตัวของเรามากไป
ใน Midlife: A Philosophical Guide (ที่ผู้เขียนเขียนเพื่อรับมือกับอาการวิกฤติวัยกลางคน) บอกว่า ดูเหมือนคนเราจะตระหนักและตระหนกกับคุณภาพครึ่งชีวิตมานานแล้ว ในยุคก่อนเช่นยุคโบราณ อายุขัยคนไม่ยาวนานเหมือนสมัยนี้ … ดันเต อาลีกีเอรี กวีคนสำคัญสมัยโรมันเจ้าของ Divine Comedy บทกวีที่พาเราไปทัวร์นรกก็มีอาการวิกฤติเมื่อตอนอายุได้ 35 ปี ดันเตเขียนถึงตัวเองว่า “ครึ่งทางของการเดินทางในชีวิต พบตัวเองอยู่ในป่าอันมืดมน หนทางที่ถูกต้องสาปสูญไป”
ต่อมา Elliott Jaques นักจิตวิทยาชาวแคนาดาได้เริ่มใช้คำว่า Mid-life crisis ในปี 1965 และพิจารณาว่าคนจะเริ่มมีวิกฤตินี้ในช่วงอายุ 35 ปี ซึ่งนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เริ่มเห็นแย้งว่า ในปัจจุบันและในอนาคต ด้วยวิทยาการและอายุขัยเฉลี่ย เราน่าจะมีวิกฤติวัยกลางคนที่ช้าลง คนวัย 50 ยังคงสุขภาพดีและมีทางเลือกให้ชีวิตอยู่
น่าเศร้าว่าทุกวันนี้ พอสัก 35 ก็ดูเหมือนหลายคนจะเริ่มเจอกับวิกฤติกันบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันโลกทุนนิยมดูยิ่งบีบรัดให้เรา ‘สำเร็จ’ เร็วขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มไฮไลต์ความสำเร็จของคนวัย 20 กลางๆ พูดเรื่องการเป็นอายุน้อยร้อยล้าน อายุ 30 จึงดูจะเป็นหมุดหมายสำคัญ และระยะหลังมีการสำรวจพบว่าคนเมื่อวัย 35 ก็จะเริ่มจะใช้ชีวิตไล่ตามค่ามาตรฐานอย่างไม่ค่อยมีสุขเท่าไหร่แล้ว
เราเริ่มวัด ‘อายุขัย’ ของเรา ด้วย ‘อายุขัยของการทำงาน’ เราเริ่มมองว่าปลายทางของชีวิตคืออายุ 60 ปี ดังนั้นครึ่งหนึ่งของชีวิตของพวกเราในการสะสมสิ่งต่างๆ จึงร่นขึ้นมาเป็น 35 ปี ซึ่งคิดแล้วก็เศร้าว่าเราอยู่ในโลกที่ทำให้เรามองตัวเองโดยมี ‘การทำงาน’ และการ ‘สะสม’ ที่ไม่รู้จบเป็นแกนหลักของชีวิต
ใคร่ครวญถึงครึ่งที่ผ่านมา หรือครึ่งต่อไป
ไอ้ความที่เรารู้สึกถึงครึ่งทาง การหยุดคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาก็ถือเป็นจุดหยุดพักที่ดี ยิ่งถ้าเราใช้ชีวิตทิ้งๆ ขว้างๆ เราก็จะได้ถือเป็นโอกาสปรับเปลี่ยนช่วงชีวิตทุกวันนี้ให้ดี
Kieran Setiya เจ้าของหนังสือว่าด้วยปรัชญาและวิกฤติวัยกลางคนบอกว่า คนที่มาถึงครึ่งทางที่พอคิดแล้วก็นอยด์ขึ้นมานั้นเพราะว่า การคิดของเรามักเป็นการคิดถึง ‘อดีต’ มากกว่าปัจจุบัน เรามักคิดวนๆ ว่า เราได้เลือกเส้นทางนี้ ได้ตัดสินใจอะไรลงไป คิดถึงข้อผิดพลาดในอดีต คิดว่า เอ๊ะ หรือตอนนั้นเราควรเลือกเส้นทางอีกแบบหนึ่ง ในหัวมีแต่คำว่า ‘จะเป็นยังไงถ้า…?’ อย่างไม่รู้จบ
ในระดับความคิด เรามักเชื่อว่าเส้นทางหนึ่งอาจจะเป็นเส้นทางที่ถูก และโดยนัยเราก็อาจคิดว่า หรือทุกวันนี้เรามาในเส้นทางที่ผิด? ซึ่งการคิดแบบนี้ยิ่งบั่นทอนและผิดพลาดในหลายระดับ การเลือกเส้นทางในอดีต ไม่ได้มีเส้นที่ถูกหรือผิดอย่างที่เราจินตนาการเวลาเลือกโพรงหรือถนนที่บางเส้นนำไปสู่ทองคำ เพราะแต่ละเส้นก็อาจจะมีทั้งทองคำและหนามในตัวเอง และสองคือ การคิดแบบนี้คือการคิดถึงที่จมกับอดีต เป็นความคิดเพ้อๆ ที่ไม่นำไปสู่อะไรในปัจจุบัน นอกจากความฟุ้งซ่านและความเจ็บปวด
ปัญหาสำคัญของวิกฤติวัยกลางคนคือการที่เรากังวลกับจุดจบ กับอนาคตมากเกินไป คำตอบเชยๆ จึงกลับมาเรื่องการทบทวนอดีตและใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เอาล่ะ ตรงนี้เราต่างรู้ดี และภาคปฏิบัติก็ออกจะเป็นนามธรรมอยู่นิดหน่อย Setiya จึงยกเอาแนวคิดเรื่อง atelic activity คือปกติแล้วเราต่างทำอะไร – เพื่ออะไรบางอย่าง ผู้เขียนบอกว่าตรงนี้แหละที่เราให้เราคิดถึงปลายทางมากกว่าปัจจุบัน เราไปทำงาน สร้างครอบครัว ปลูกบ้านเพื่อปลายทางที่มั่นคง
แต่กิจกรรมแบบ atelic คือกิจกรรมที่เราทำและไม่ได้มีปลายทาง – ไม่มีจุดสิ้นสุดที่เป็นรูปธรรมเท่า เราจะทำหรือเลิกทำเมื่อไหร่ก็ได้ เช่นการไปเดินเล่นเรื่อยเปื่อยในสวน การพูดคุยเรื่อยเปื่อยกับเพื่อนๆ อย่างไม่รู้จบ ผู้เขียนบอกว่าการที่เราใช้ชีวิตการกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องเริ่ม จบ หรือมีจุดมุ่งหมายชัดเจนแบบนี้บ้าง ทำให้เราไม่ยึดติดกับปลายทางหรือการเสร็จสมบูรณ์มากเกินไป
วิธีคิดข้างต้นก็เป็นวิธีที่ชวนเราเปลี่ยนความเคยชินดี ทุกวันนี้เราต่างทำอะไรเพื่ออะไร เราต่างมองทุกอย่างเป็นเส้นตรงรวมทั้งชีวิตของเราด้วย การปรับมุมมองเรื่องความเป็นเส้นตรง เรื่องครึ่งทางและกิจกรรมที่ไม่ต้องยึดติดกับปลายทางก็น่าจะเป็นการลิ้มรสชีวิตที่ดี หนทางที่ว่าก็เป็นทางหนึ่ง ความเข้าใจสำคัญเรื่องความกังวลในวัยกลางคนอาจจะอยู่ที่กะประมาณและครุ่นคิดเรื่องชีวิต เราจะกังวลกับสิ่งที่สังคมคาดหวังประมาณไหนดี ชีวิตเราโอเครึยัง และการครุ่นคิดที่ว่านำเรากลับไปหมกมุ่นกับอดีตรึึเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก