เคอร์เซอร์ที่กระพริบอย่างไม่รู้จบ บนหน้า Word ที่ว่างเปล่า
ชีวิตเราเป็นแบบนี้กันบ้างรึเปล่า มีการบ้าน มีวิทยานิพนธ์ที่ต้องลงมือเขียนให้เสร็จ รันโปรแกรมขึ้นมาพร้อมความตั้งใจเต็มเปี่ยม มองจอเปล่าๆ อยู่พักหนึ่ง แหม่ โต๊ะเรานี่ช่างรกเหลือเกิน ลุกไปจัดให้เรียบร้อยซะหน่อยเอาฤกษ์เอาชัยในการทำงาน จากกองหนังสือ เก็บสมุดปากกาเริ่มลามไปที่ความสะอาดอื่นๆ บางคนไปจบที่นู่นเลย ล้างห้องน้ำ
ผลก็คือ ห้องสะอาด ทุกอย่างเป็นระเบียบสวยงาม—เสร็จมันทุกอย่าง ยกเว้นงาน
ไอ้เจ้าภาวะเสร็จทุกอย่างยกเว้นงาน ลึกๆ แล้วคือการที่ประวิงสิ่งที่เราต้องทำออกไปก่อน คนที่มีวินัยเข้มๆ คงบอกว่านี่เป็นอาการของคน ‘ผัดวันประกันพรุ่ง’ เป็นภาวะที่ไม่ยอมทำงานให้มันเสร็จๆ ดองไปเรื่อย อาการผัดวันประกันพรุ่งจึงมักถูกเพ่งเล็งว่าเป็นเรื่องของการไม่ค่อยมีวินัย มีปัญหาเรื่องการจัดการ จัดลำดับความสำคัญ แต่บางคนก็บอกว่า เฮ้ย ใจเย็นพวก การประวิงงานไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายขนาดนั้น
บ่มงานยากๆ ให้สุกงอม
คนเรามีหลากหลายแบบ การผัดวันประกันพรุ่งก็มีหลายเหตุปัจจัยเช่นกัน บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดการเวลาความสำคัญจริงๆ ถ้าผัดจนงานไม่เสร็จ เสียการเสียงานก็อาจจะต้องพิจารณาปรับปรุงไปตามเรื่อง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าบางครั้งอาการผัดงานอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาบางอย่าง เช่น สภาวะซึมเศร้า ความเครียด แต่นอกเหนือจากนี้ การที่ไม่ยอมทำงานให้เสร็จทันทีบางทีเรากำลังบ่มและกังวลกับงานใหญ่ที่กำลังเตรียมลงมือทำอยู่ก็เป็นได้
เราต่างเคยที่อยากลงมือทำอะไรมากๆ อยากเป็นสิ่งนั้นมากๆ แต่ยังไม่กล้าโดดลงไปทำ เรารู้ว่างานชิ้นนี้ต้องรีบทำให้เสร็จ เป็นงานที่เราตั้งใจ ดังนั้น การประวิงเวลาออกไปอาจไม่ได้เป็นเพราะว่าเราขี้เกียจหรือบริหารเวลาไม่เป็น แต่เพราะเรารู้ดีและแสนจะตั้งใจกับงานชิ้นนั้น เรากำลังบ่มเนื้องานอยู่ในความคิด ในขณะเดียวกันลึกๆ เราก็แอบกลัวผลเมื่อเราลงมือทำไปแล้วว่าอาจจะไม่ได้เป็นตามที่เราคาด
ในระดับความคิด จึงไม่แปลกที่เราจะไปทำอย่างอื่นให้เสร็จ ไปจัดการสิ่งรอบตัวให้เป็นระเบียบ เรากลายไปเป็นมีวินัยกับสิ่งอื่นแทนการที่เราจะมีวินัยกับการทำงานสำคัญที่เรากำลังรับผิดชอบอยู่ ทดแทนความรู้สึกผิดที่เราต้องทำตัวงานของเราให้เสร็จ เราจัดบ้านอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีวินัยในการทำสิ่งอื่นแทน
ปัญหาของพวก Perfectionism
จอห์น เพอร์รี (John Perry) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาจาก Stanford University เจ้าของหนังสือ The Art of Procrastination เป็นนักคิดทีมพวกชอบผัด แกบอกว่า จริงๆ พวกช่างผัดไม่ได้เป็นคนขี้เกียจ แต่เป็นคนที่มีวิธีการลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป เพอร์รีบอกว่าถ้าเราดูพวกชอบผัดรอบๆ ตัว คนพวกนี้ไม่เชิงว่าเป็นพวกที่ไม่ทำอะไร (unproductive) แต่ในทางกลับกัน พวกช่างผัดเป็นพวกที่ทำอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด โดยรวมแล้วพวกผัดวันประกันพรุ่งมักเป็นคนที่ช่างคิด—ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ และค่อนข้างเป็นคนสบายๆ น่ารัก
ศาสตราจารย์แกเลยบอกว่า เนี่ย ถ้าคนมันจะผัดนะ ยังไงมันก็ผัด พวกคำแนะนำแบบว่าตั้งเป้าหมายต่ำๆ ไว้แล้วค่อยๆ ทำก็อาจจะไม่เวิร์กก็ได้ แง่หนึ่งการที่เราไปทำอะไรอย่างอื่นเพราะกำลังประวิงงานบางงานอยู่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้แย่อะไร อย่าไปอะไรกับมันมากแล้วนั่งเศร้าว่า เอ้อ เรามันห่วย เรามันไม่มีไฟคุโชนอย่างเขา เพราะจริงๆ เราทุกคนมันก็ต่างขาด willpower ในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว
คำแนะนำที่ดูจะทรงพลังของจอห์น เพอร์รี คือให้เราระวังเรื่องการเป็น perfectionism แกไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรคิดว่าทำไปงั้นๆ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ แต่เราไม่ควรไปจินตนาการว่าทุกอย่างต้องทำและออกมาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบ ฟังแล้วอาจจะงง แต่เราอาจจะพอรู้สึกได้ว่า การที่ประวิงไปเรื่อยๆ เพราะเรากลัวว่างานนั้นจะออกมาไม่เพอร์เฟกต์ การที่เรายอมรับว่ามันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ก็อาจจะผลักดันให้เราลงมือทำได้ง่ายแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาวะการไม่ลงมือทำสักที ไปทำนู่นทำนี่จนเสร็จไปสารพัดอย่างจึงเป็นเรื่องที่ยอกย้อน จากที่เราคิดว่า เอ้อ เราอาจจะเป็นคนขี้เกียจ แต่บางทีอาจเป็นเพราะเรามุ่งมั่นมากไป คาดหวังมากไปจนทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งนั้นเสียที การทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ลงมือเขียนธีสิสจึงเป็นสิ่งที่เรามักทำกันในวินาทีสุดท้าย
แต่อีกด้าน สิ่งที่เราอาจเรียนรู้ได้คือ งานการที่เราทำ การได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง และทำอย่างเต็มความสามารถ ด้วยการจัดการเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าการนั่งคิดและกังวลว่างานของเราจะไม่สมบูรณ์แบบ
อ้างอิงข้อมูลจาก