ท่ามกลางวิกฤตที่ประชาชนอยากได้วัคซีนดีๆ นี้ อย่าลืมว่า เด็กและเยาวชน ก็เป็นอีกกลุ่มนึงที่วัคซีนของพวกเขาถูกพูดถึงน้อยมากๆ เช่นกัน
เมื่อเด็กยังไม่ได้วัคซีนป้องกัน COVID-19 การจะให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม พวกเขาถูกจำกัดให้อยู่บ้านและเรียนออนไลน์เป็นหลัก นับตั้งแต่การระบาดเมื่อปีก่อน ทั้งที่ปัญหาจากการเรียนออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่ได้เราได้ยินกันมาตลอด ตั้งแต่ว่าเด็กไม่มีสมาธิในการเรียน อุปกรณ์ไม่พร้อม ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋วในนามสหภาพนักเรียน ก็ได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตจากโรค COVID-19 เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล
กลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋วยังเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์กันมานาน และยังกลับไปโรงเรียนไม่ได้หากสถานการณ์ยังคงวิกฤต
The MATTER พูดคุยกับ พลอย-มีมี่ สองตัวแทนจากกลุ่มไพร่พลและเด็กปากแจ๋ว ผู้ไปร่วมกันทำกิจกรรมดังกล่าว และเรียกร้องวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอกับความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อฟังผลกระทบที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญจากปัญหาการจัดสรรวัคซีนอันล่าช้าของรัฐบาล
ทำไมถึงออกไปเรียกร้องเรื่องวัคซีนให้เด็กกัน
มีมี่: เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครพูดเลย เด็กที่ต่ำกว่า 18 ปีในประเทศ เขายังไม่ได้วัคซีน แล้วก็ไม่มีใครที่สามารถฉีดได้ เพราะว่าเขาอนุญาตให้ฉีดได้เฉพาะคนที่อายุมากกว่า 18 ปี
ที่เราไปเพราะมันเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น มีเด็กฆ่าตัวตายเพราะเรียนออนไลน์ มีเด็กฆ่าตัวตายเพราะถูกกดดัน เครียด แล้วเราก็สังเกตว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่ให้เด็กเรียนออนไลน์ เพราะว่าถ้าได้วัคซีนดีๆ ตั้งแต่แรก เด็กก็ไม่ต้องมาฆ่าตัวตาย หรืออดทนทำอะไรแบบนี้ด้วย
พลอย: ปัจจุบันจะเห็นข่าวว่ามีคนอีกมากที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หนึ่งในนั้นก็คือเด็ก ยังไม่มีเด็กคนไหนได้รับวัคซีนเลย แล้วเด็กก็เรียนออนไลน์กันมานานแล้ว เด็กควรที่จะได้ใช้ชีวิตปกติแล้ว เพราะเห็นว่ามีเด็กหลายคนที่ฆ่าตัวตายจากความเครียดที่ต้องเรียนออนไลน์เหมือนกัน
ประเด็นที่เรียกร้องกัน มีเรื่องอะไรบ้าง
พลอย: ก็เรียกร้องวัคซีนที่ดี มีคุณภาพให้กับเด็ก ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ให้กับประชาชนทุกคนเลย แต่หลักๆ เราจะเน้นให้กับเด็กและเยาวชน เพราะยังไม่มีเด็กคนไหนได้รับวัคซีนเลย
วัคซีนดีๆ ที่อยากได้ เป็นแบบไหน
พลอย: อาจจะเป็น Pfizer ที่มันพอจะมีคุณภาพและเห็นผลต้านเชื้อกลายพันธุ์ได้ Sinovac ก็จะเห็นว่ามีคนฉีดแล้วได้ผลที่ไม่พึงประสงค์เยอะ แล้วเราก็จะเห็นข่าวหลายๆ ข่าวของ Sinovac ว่ามีคนฉีดแล้วเสียชีวิต แล้วตัววัคซีนเองก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่ต่างประเทศจะรองรับให้เดินทางเข้าประเทศได้หลังจากฉีดไปแล้ว
มีมี่: เราคิดว่า มันต้องไม่ใช่วัคซีนที่แค่ป้องกันการตายเฉยๆ แต่ต้องป้องกันการติด การแพร่เชื้อด้วย ที่ดีที่สุดตอนนี้ก็เห็นจะมี Pfizer หรือ Novavax อย่าง Pfizer มันเป็นวัคซีนทีได้รับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว อีกอย่าง ถ้าฉีดวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากหลายชาติ ก็สามารถเดินทางไปนั่นนี่ได้ เพราะมีการรับรอง ไม่ใช่แค่กันตายเหมือน Sinovac
เพราะถ้ามันฉีดแล้วเดินทางไปต่างประเทศได้ มันก็ถือว่าได้รับการการันตีประมาณนึงแล้ว เพราะประเทศอื่นเขารองรับ แต่ Sinovac นี่เรามองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าเอามาทำไม
ตอนนี้ก็มีกระแสว่าอยากให้นำเข้าวัคซีน mRNA มาแล้ว คิดว่ายังไงบ้าง
พลอย: คิดว่าเด็กก็ยังไม่ได้อยู่ดี ประชาชนทั่วไปก็ไม่รู้จะได้ไหม เขาอาจจะเอามาฉีดให้กลุ่มกันเอง ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ประชาชนก็คงไม่ได้ และเด็กก็ต้องเรียนออนไลน์เหมือนเดิม
ที่อยากให้เด็กได้วัคซีนเร็วๆ เพราะว่าเด็กเองก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยเหมือนกัน?
มีมี่: ใช่ เพราะเขาเอาเกณฑ์ที่ว่า เด็กเสี่ยงน้อยกว่า ทั้งเสี่ยงตายและเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่า เขาก็เลยจะจัดให้เป็นกลุ่มสุดท้าย แต่ว่าจริงๆ เขาไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นเลยว่าถ้าแก้ปัญหาด้วยการให้เรียนออนไลน์ ให้อยู่บ้าน มันจะเกิดอะไรขึ้น
พลอย: เด็กเรียนออนไลน์มานานเกินไปแล้ว เวลาชีวิตวัยรุ่นของเราถูกพรากไปเยอะมาก วัยรุ่นมันเป็นวัยที่ควรจะได้เล่นสนุก ควรจะได้ใช้ชีวิตให้เต็มที่ ได้เจอเพื่อน ได้เจอสังคม มาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ใช่มานั่งอยู่ที่หน้าจอ แล้วก็เรียนแบบเรียนเดิมๆ แล้วก็ต้องมาเจอกับสภาพของความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกว่า ใช่ว่าทุกคนจะมีอุปกรณ์ที่ดี ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิได้เข้าถึง iPad เข้าถึงการเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพได้เหมือนกัน
ปกติการศึกษาไทยก็แย่อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอกับการเรียนออนไลน์อีก ก็ยิ่งตอกย้ำเรื่องของความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษามากขึ้นไปอีก ทั้งการจัดการ การบริหารงานของรัฐ ทั้งอะไรต่างๆ นานา ทั้งหมดมันถูกกดดันมาที่ตัวเด็กหมดเลย รวมถึงครูผู้สอนด้วย
มีมี่: นี่ยังไม่นับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องออกจากโรงเรียน เพราะว่าพ่อแม่ไม่มีกำลังที่จะส่งเรียนอีก หลายคนต้องออกจากโรงเรียน อย่างที่ภูเก็ต มีเด็กหลายคนต้องออกจากระบบการศึกษาไทย เพราะพ่อแม่ตกงานจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ
มองว่าทำไมถึงยังไม่มีการพูดถึงวัคซีนของเด็กเลย
พลอย: ก็มองว่า การทำงานของรัฐบาลที่ล่าช้า เขาจะมองว่าเด็กไว้ทีหลัง เพราะเด็กมีสุขภาพที่ดีกว่า มีภูมิคุ้มกันโรค ผู้ใหญ่ต้องมาก่อน คนท้อง บุคลากรทางการแพทย์ ต้องได้วัคซีนก่อน
แต่กับในสังคมส่วนใหญ่ เรื่องวัคซีนของเด็ก ดูจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ คิดว่าเป็นเพราะอะไร
มีมี่: อย่างแรก หลายคนมองว่า มันเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคนที่มีปากมีเสียงส่วนใหญ่ เขาก็เลยช่วงวัยเด็กมาแล้ว อย่างที่สองคือ บางคนอาจจะมีมุมมองคล้ายๆ กับรัฐบาล คือมองว่าเด็กเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันดี สามารถทน COVID-19 ได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะมันเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเขา
ที่เขามองว่า วัคซีนของเด็กยังไม่เร่งด่วน มันสะท้อนอะไร?
พลอย: สะท้อนวิธีคิดว่า เด็กก็เอาไว้ทีหลัง แต่ว่าจริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มองเห็นว่า เอ้า แล้วเด็กไม่ใช่คนเหรอ เด็กก็คนคนนึงที่ควรได้รับวัคซีนเหมือนกัน เพราะเราก็คือประชาชนคนนึงเหมือนกัน ซึ่งมันก็มองเห็นถึงความไร้วิสัยทัศน์ รัฐไม่ได้มองเห็นถึงสิ่งที่ คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐควรจะจัดมอบให้ประชาชน ยังไม่มีมุมมองที่กว้างมากพอ และยังไม่ได้มองเห็นประชาชนทุกกลุ่มจริงๆ มองเห็นแต่พรรคพวกของตัวเอง
มีมี่: เราคิดว่ารัฐบาลมองอะไรตื้นๆ คิดแค่ว่า เปอร์เซ็นต์การเสี่ยงติดของเด็กอาจไม่เยอะ แต่ไม่ได้คำนึงถึงแผนระยะยาวว่าจะเอายังไงต่อ เพราะไวรัสมันก็กลายพันธุ์ ติดเร็ว ติดหนักทุกคนแล้ว เขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เลย
และมีหลายเรื่องที่กลายเป็นการผลักภาระให้บุคลากรทางการศึกษา ผลักภาระให้คนทำงาน ส่วนคนใหญ่คนโตก็คิดแผนลวกๆ ไม่ได้คำนึงถึงแผนระยะยาว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐเขาไม่ได้มีระบบการทำงานที่มันเป็นการทำงานเพื่อทุกคนจริงๆ ไม่งั้นเขาต้องรับฟังหมอ รับฟังคนข้างในมากกว่านี้แล้ว แต่ที่เขาทำก็คือ ไม่รับฟังแล้วก็เอาแค่คนใหญ่คนโต ไปคุยกันเอง
ที่บอกว่าไม่รับฟัง อธิบายเพิ่มได้ไหมว่ายังไงบ้าง
มีมี่: กระบวนการแก้ไขปัญหา มันต้องฟังคนที่ได้รับผลกระทบ แล้วก็เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการทำงานด้วย ซึ่งเรามองว่า แต่ละคนก็มีความสามารถและความคิดที่แตกต่างกันไป ซึ่งรัฐบาลควรจะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่แค่พวกของตัวเอง เพราะเราเห็นว่ามีหมอและบุคลากรหลายคนที่เขาก็เสนอทางแก้ปัญหา แล้วก็บอกถึงผลกระทบของตัวเอง แต่สิ่งที่รัฐทำคือ ไม่ได้รับฟัง
การผลักภาระให้กับคนทำงานที่พูดถึง เป็นยังไง
มีมี่: คือการเรียนออนไลน์มันผลักภาระให้พวกครู หรือให้คนในโรงเรียนต้องมานั่งเรียนรู้ หรือมานั่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมันก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น แล้วโรงเรียนทรัพยากรเท่ากันทุกโรงเรียน ไม่ได้มีการกระจายอำนาจเท่ากันทุกโรงเรียน แล้วทีนี้โรงเรียนก็ต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้ทั่วถึงทุกคน ครูบางคนเขาก็ไม่ได้เข้าใจดิจิทัลขนาดนั้น แล้วเขาจะต้องมามานั่งทำอะไรอย่างนี้ แล้วประสิทธิภาพการเรียนก็ลดน้อยลง เด็กก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ปฏิสัมพันธ์ก็ไม่มี ส่งผลในแง่ลบอย่างเดียวเลย
การที่เขาไม่ได้รับฟังประชาชนจริงๆ เป็นเพราะอะไร
พลอย: เพราะว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนจริงๆ มาจากการแต่งตั้งมาของโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย ไม่ได้มาจากประชาชนที่เป็นประชาชนจริงๆ ขึ้นมา เพราะคนที่มาเป็นรัฐบาลก็เป็นพวกที่มีอภิสิทธิ์ชนอยู่แล้ว ไม่ได้มาเข้าใจมุมมองของคนรากหญ้า หรือว่าประชาชนคนทั่วไป
ถ้าเด็กยังไม่ได้วัคซีน คิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อ
มีมี่: มันจะแย่ลงกว่าเดิมแน่นอน ถ้ายังบังคับให้เด็กเรียนแบบนี้ ก็ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เราคิดว่า วัคซีนควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ควรที่จะมีกลุ่มไหนได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ควรเลือกปฏิบัติ มันควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อให้เข้าถึงทุกคน แล้วต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพด้วย
ถ้าเด็กยังไม่ได้วัคซีน ก็จะต้องถูกบังคับให้เรียนออนไลน์ต่อไป พ่อแม่ที่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะซัพพอร์ทเด็กเรื่องนี้ ก็ต้องให้เด็กลาออก เพราะอุปกรณ์สื่อสารมันก็ต้องใช้เงิน ไหนจะเรื่องเศรษฐกิจอีก คิดว่ามันคงส่งผลหลายอย่าง เพราะเด็กก็คงอดไปใช้ชีวิตเหมือนเด็กจริงๆ
พลอย: เท่าที่เห็นมาในรุ่นของพี่เราจะดรอปแล้วไปเรียนต่อในปีหน้า การแข่งขันมันก็จะสูงขึ้น แล้วเด็กก็จะกดดันมากขึ้น และมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายสูงขึ้น
ตอนนี้ เด็กหลายคนแทบจะไม่ไหวแล้ว พ่อแม่ก็แทบจะยืนไม่ไหวแล้วเหมือนกัน เพราะพิษเศรษฐกิจและโรคระบาด แม้แต่เด็กเองก็เจอผลกระทบหนักมาก ประชาชนจะตายกันหมดแล้วจริงๆ
พูดถึงข่าวของเด็กที่ฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากการเรียนออนไลน์ มีอีกหลายคนที่มองว่า ความเครียดในวัยเด็กเป็นเรื่องเล็กน้อย ตรงนี้มองว่ายังไงบ้าง
พลอย: ผู้ใหญ่หลายคนมักมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือคนที่ฆ่าตัวตาย เขายังไม่มีความเข้าใจมากพอก็จะคิดว่า เป็นเพราะความเครียดหรือเปล่า โดยที่ไม่ได้หันมามองดูว่าเพราะผู้ใหญ่ไม่ใช่เหรอที่ทำให้เด็กคนนึงต้องสิ้นไร้หนทางถึงขั้นที่ต้องฆ่าตัวตาย ก็เพราะผู้ใหญ่ที่มีอำนาจยังลอยหน้าลอยตายืนมองประชาชนตายทีละคน เขาไม่สมควรที่จะพูดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ใช่คนเรียน ไม่ได้มาเจอแบบเรา แถมยังบริหารงานล้มเหลวด้วย
ถ้ารัฐจัดการ COVID-19 ได้ดีกว่านี้ คิดว่าชีวิตของเด็กจะเป็นยังไง
มีมี่: เรามองว่า ก็คงน่าจะดีกว่านี้ ไม่ต้องมีข่าวเด็กฆ่าตัวตายรายวัน เขาคงจะได้มีโอกาสใช้ชีวิต ลืมตาอ้าปาก หายใจ เหมือนเด็กจริงๆ
บางคนพูดกันว่า การจัดการ COVID-19 ที่ล้มเหลว พรากความฝันของเด็กและเยาชนไป
มีมี่: มีเพื่อนเราหลายคนพูดเหมือนกัน จากการที่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตตามที่ต้องการ แต่ถ้าในมุมมองเรา เราไม่ได้เห็นความฝันอะไรมากมายอยู่แล้วในประเทศนี้ เราถูกพรากสิ่งที่อยากทำไปอยู่แล้ว
ความฝันของเราคือ เราแค่อยากเห็นโลกที่ไร้การกดขี่ โลกที่ดีขึ้นกว่านี้ โลกที่คนที่ถูกกดขี่ได้ปลดแอกออกมาแล้วใช้ชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่พอ COVID-19 เข้ามา ก็ทำให้เห็นอะไรมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เรายังมีความฝันอยู่นะ แต่มันก็เป็นไปได้ยากขึ้นด้วย เพราะ COVID-19 ทำให้เคลื่อนไหวได้ยากขึ้น
เล่าถึงกิจกรรมเรียกร้องวัคซีนให้เด็กหน้ากระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ผ่านมาหน่อย ท่าทีจากรัฐบาลตอบกลับมายังไงบ้าง
พลอย: ตอนแรกเราวางแผนกันว่า จะเข้าไปทำกิจกรรมที่ข้างในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาล แต่ตำรวจไม่ให้เข้า แล้วก็อ้างโน่นนี่ อ้างว่าเป็นสถานที่ราชการที่คนภายนอกเข้าไม่ได้ แต่เราก็เป็นประชาชนคนนึง ทำไมเราถึงจะเข้าไปไม่ได้ แล้วสุดท้าย เขาก็เอาโล่มากั้น หันโล่มาใส่เรา บีบให้เราแสดงที่หน้ากระทรวงฯ ซึ่งเราบอกว่าแล้วว่า เราต้องการกดดันรัฐบาล ไม่ได้จะมาแสดงเฉยๆ เพราะไม่งั้นก็ไม่เกิดอะไรอยู่ดี
มีมี่: พวกเราคิดว่าจะได้ปราศรัยกันสวยๆ เลิศๆ แต่โดนกันซีน ให้เราอยู่ข้างนอกร้อนๆ เขาอ้างว่าเราไปด่าหมอ ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้ด่า เราไปเรียกร้องให้หมอได้วัคซีนด้วยซ้ำ
เราจะยื่นหนังสือให้อนุทิน (รมว.สาธารณสุข) แต่คนที่ลงมารับหนังสือเป็น นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ เป็นโฆษกกระทรวงฯ แล้วก็ปฏิบัติราชการ ศบค.ด้วย เขาเป็นคนเดียวกับที่เคยพูดว่า “โรค COVID-19 จะอยู่กับเรานานแค่ไหน ขึ้นกับเรารักในหลวง พ่อของเราแค่ไหน เราปฏิบัติตามพ่อสอนเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแค่ไหน การที่เราจะช่วยป้องกันดูแลตัวเอง จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี และดีกว่าวัคซีน COVID-19”
พลอย: เท่าที่เรามอง คิดว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงต้องการที่จะมาสร้างภาพ มาทำเป็นว่า ฉันมารับหนังสือแล้วนะ แล้วจะกลับแล้วนะ แต่จริงๆ ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเราพยายามจะดันรั้วของกระทรวงเข้าไปจริงๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า กูไม่ยอมมึงแล้ว แล้วกูก็ต้องการกดดันให้มึงทำอะไรสักอย่าง
เราเตรียมปราศรัยและกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไว้ แล้วก็นำหุ่นศพมาให้ดูว่า มันมีคนตายจริงๆ มีสาดสีใส่ศพ มีกิจกรรมอะไรยิบย่อยด้วย แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถทำได้ เพราะตำรวจไม่ให้เราเข้าไป ซึ่งภาพที่เห็นมันอาจจะดูรุนแรงมาก แต่ว่าจริงๆ แล้วเราพยายามพูดดีกับเขาแล้วแต่เขาก็ไม่ฟังเสียงของขอร้องกับเราเลย ทำให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องพูดดีด้วยแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์อะไรได้หลายอย่าง ทั้งการทำงานของรัฐบาล รวมถึงตำรวจที่หันโล่ใส่เด็กและเยาวชน ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว
มีคนติดเชื้อไปตั้งกี่คน แล้วมีคนตั้งตายตั้งกี่คนแล้ว ชีวิตของคนตายมันคือของคนจริงๆ ไม่ใช่ชีวิตของผักปลาตัวไหน มันคือคนจริงๆ ที่มีคนสูญเสียครอบครัวหรือเพื่อนไป เราก็จะไม่ทนอีกแล้ว เราไม่อยากเห็นใครต้องตายเพราะการบริหารงาน ด้วยความอัปรีย์ จัญไร ของคนที่บริหารกระทรวงสาธารณสุขอีกแล้ว
มีมี่: แล้วเราก็มองว่า การตอบกลับของฝั่งรัฐบาลมันดูเป็นคำพูดฟุ้งเฟ้อมากๆ เขาไม่ได้ดูจะรีบร้อนแก้ไขปัญหาด้วยซ้ำ วัคซีนที่จะมาก็ยังไม่มีรายละเอียดอะไรชัดเจนเลย มันดูลวกๆ และชุ่ยๆ แถมยังไม่ให้ตรวจเยอะ ทำให้ไม่เจอผู้ติดเชื้อเยอะ ไม่ให้ตัวเลขขึ้นเยอะ เป็นการทำงานที่ส่งผลให้คนตายมากขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในสิ่งที่ใช้เรียกร้องของกลุ่มก็คือ คำหยาบ อธิบายให้ฟังหน่อยว่า การใช้คำหยาบนี้สะท้อนถึงอะไร
พลอย: มันคือความโกรธ ผู้ใหญ่ที่มองว่าก้าวร้าว เขาไม่เข้าใจว่าเราต้องทนมามากแค่ไหนกับการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล คนคนนึงตื่นเช้าขึ้นมา ต้องทำงาน ไหนจะต้องเสี่ยงโรคอีก หรือว่าคนที่ติด COVID-19 ที่เป็นประชาชนรากหญ้า ชายขอบทั่วไปเลย เขาไม่มีโรงพยาบาลสนามให้อยู่ ไม่มีโรงพยาบาลดีๆ ให้รักษา เขาต้องนอนรอความตายอยู่ที่บ้านของเขา ซึ่งเราเศร้ามากนะ แต่เขาไม่ได้มานั่งคิดถึงจุดนี้เลย แล้วกล้าพูดเหรอว่าพวกเรารุนแรงเกินไป ดูสิ่งที่พวกเขาทำสิ มันโหดร้าย เหี้ยมอำมหิต แบบเทียบไม่ได้เลยด้วยซ้ำกับสิ่งที่ประชาชนต้องเจอ
มีมี่: จริงๆ เราเชื่อว่า ก่อนที่คนจะมาถึงจุดนี้ ในแทบทุกกระบวนการเคลื่อนไหว เขาเริ่มต้นด้วยการยื่นหนังสือ ทำข้อเรียกร้องออกไปน่ารักๆ ไม่มีใครมาถึง ตู้ม ด่าเลย ทุกคนก็เริ่มจากล่ารายชื่อ ยื่นหนังสือให้เขาฟัง
แต่มาถึงจุดนี้ ระยะเวลามันพิสูจน์แล้วว่า ต่อให้เราพูดดีๆ แค่ไหนเขาก็ไม่ฟัง
เราใช้คำว่าที่สังคมแปะป้ายว่า เป็นคำหยาบ เช่น ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ กู มึง เพื่อให้เขาเห็นว่า เราโกรธ และเรามีสิทธิใช้คำพวกนี้นะ คำพวกนี้มันแสดงความโกรธ และแสดงสิ่งที่ถูกอัดอั้นอยู่ เป็นคำที่เด็กและคนอายุน้อยกว่า ถูกบอกว่าไม่ให้ใช้คำนี้กับผู้ใหญ่ เราที่เป็นกลุ่มเด็กที่ต้องการขบถ ต่อต้านสิ่งเหล่านี้ เลยเลือกใช้คำเหล่านี้
และที่เขามองว่าก้าวร้าว ยังสะท้อนเห็นถึงค่านิยมของสังคมไทยที่ปลูกฝังให้คนที่ไปเรียกร้องต้องพูดจาไพรเพราะ สุภาพ เรียบร้อย เพื่อให้ผู้มีอำนาจรับฟัง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เราก็มีสิทธิแม้ว่าเราจะพูดแรง พูดด่าแค่ไหน ในเมื่อเขาเป็นผู้บริหารแล้วก็ต้องรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข
อีกอย่าง ที่เราเป็นเด็กแล้วโดนตีตราว่าก้าวร้าว มันคือค่านิยมจากความอาวุโส อำนาจนิยม ที่ใช้กดหัวเรามาตั้งแต่แรก เราไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราถูกลดความน่าเชื่อถือ ถ้าคนเขาจะใส่ใจแค่ว่า เราหยาบคาย แต่ไม่ใส่ใจสิ่งที่เราจะสื่อ ก็คือคนที่ถูกครอบงำจากระบบพวกนี้แหละ
ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนของเด็กและเยาวชนอีก จะทำยังไงต่อไป
พลอย: เราก็จะออกแบบกิจกรรมเพื่อกดดันรัฐบาลไปเรื่อยๆ ก็อยากให้ติดตามการเรียกร้องของเราต่อไปด้วยค่ะ