“เรียนที่ไหนมาวะ” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน (5 มกราคม 2566) ยิ้มกริ่มต่อคำตอบว่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของคู่สนทนา ก่อนพูดขึ้นว่า “ทำไมมึงโง่ยังงั้นวะ”
แม้ในเวลาต่อมาปลัดกระทรวงมหาดไทยจะออกมาขอโทษต่อคำพูดที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว แต่ประโยคของหัวขบวนมหาดไทยก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่ซ่อนอยู่ในรั้วกระทรวงมหาดไทย และเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นข่าวการโยกย้ายข้าราชการในมหาดไทย พร้อมพ่วงด้วยสถาบันศึกษาที่เรียนมา อาทิ สิงห์แดง (รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์), สิงห์ดำ (รัฐศาสตร์ จุฬาฯ), สิงห์ทอง (รัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง) ชวนให้สงสัยว่าสถาบันศึกษาเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ในมหาดไทยอย่างไร
ด้วยความสงสัย เราจึงได้พูดคุยกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยรุ่นใหม่จำนวน 3 คนถึงค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงคุยกับ ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการไทยมายาวนาน ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรในกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไร มันมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร และมันสร้างปัญหาให้ข้าราชการตัวเล็กตัวน้อยในระบบอย่างไรบ้าง
“สิงห์อะไร? รุ่นไหน?”
“(กระทรวงมหาดไทย) ให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาค่อนข้างมาก คนที่จบจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ง่ายและมีการรวมกลุ่มเพื่อคอยช่วยเหลือกัน” ฟาง (นามสมมติ) ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยกล่าว
สถาบันการศึกษาข้างต้นต้องเจาะจงลงไปที่คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะสายตรงสู่มหาดไทย เพราะนอกจากเนื้อหาการสอนแล้ว ปลัดมหาดไทย 10 คนล่าสุดจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ถึง 9 คน มีเพียงรายเดียวเท่านั้น (พระนาย สุรรณรัฐ) ที่จบจากคณะนิติศาสตร์
และถ้าลองดูสถานศึกษาที่ปลัดมหาดไทยทั้ง 9 คนจบมาจะพบว่า
- คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (สิงห์ดำ) 4 คน
- คณะรัฐศาสตร์ มธ. (สิงห์แดง) 3 คน
- คณะรัฐศาสตร์ มช. (สิงห์ขาว) 1 คน
- คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง (สิงห์ทอง) 1 คน
อั๋น (นามสมมติ) ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในจังหวัดภาคกลางแห่งหนึ่งเห็นตรงกันว่าคอนเนคชั่นจากสถาบันการศึกษาช่วยปูทางให้เติบโตในฐานะข้าราชการมหาดไทยได้ เพราะ “มีความไว้ใจกันเป็นทุนเดิม” ทำให้รุ่นพี่มักดึงรุ่นน้องไปช่วยงานในตำแหน่งสำคัญ เช่น หน้าห้อง (เลขา) เป็นต้น
แต่อั๋นมองว่าความเข้มข้นของระบบสิงห์ได้จางบางลงแล้ว เพราะข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจำนวนมากในทุกวันนี้จบจากสถาบันศึกษาอื่นนอกจากสองสถาบันดังกล่าว อีกทั้งสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปทำให้มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น นักการเมือง, กลุ่มทุน หรือสถาบันอื่นๆ ที่มีอำนาจเร้นลับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การดึง’ ด้วยคอนเนกชั่นมหาวิทยาลัยยิ่งตอกย้ำระบบอาวุโสภายในมหาดไทยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพราะรุ่นน้องที่ถูกดึงไปย่อมมีความเกรงใจและอาจไม่ทักท้วงเมื่อเห็นข้อผิดพลาดในงาน รวมถึงยังเป็นการส่งต่อค่านิยมแบบนี้ไปสู่ข้าราชการรุ่นใหม่ต่อไป
ไร้เส้นสาย ไร้ตัวตน
ซันนี่ (นามสมติ) ข้าราชการมหาดไทยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เล่าให้เราฟังถึงมุมกลับของวัฒนธรรมมหาดไทยแบบที่เป็นอยู่ โดยยกตัวอย่างเพื่อนของเขาคนหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถทางวิชาการ แต่ไม่ได้รับโอกาสได้ทำงานในมุมที่ตัวเองถนัดเพราะไม่มีคนคอยผลักดัน ท้ายที่สุดมันทำให้คนทำงานคนนั้นรู้สึก “ไร้ตัวตน”
“บางคนพอเข้ามาในระบบราชการ เขาไม่สามารถใช้ความรู้ของเขาได้เลยและไม่รู้จะวางตัวเองไว้ตรงไหน จะให้ไปดูแลเจ้านายก็ไม่ใช่สไตล์ ความรู้ที่ตัวเองมีก็ไม่ถูกนำไปใช้ เขาเลือกใช้คนที่เข้าหาเขา มันก็เลยเกิดภาวะเช้าชามเย็นชาม” ซันนี่ขยายความว่าระบบที่เป็นอยู่แบบนี้ทำให้คนกลุ่มนี้ไร้ตัวตน และอาจหมดไฟก่อนมีโอกาสได้ทำงานที่ตั้งใจ
อั๋นเห็นด้วยกับประเด็นนี้ เขามองว่าระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการมหาดไทยสุดท้ายขึ้นอยุ่กับ ทำผลงาน ‘เข้าตา’ และผู้บัญชาการ ‘มองเห็น’ หรือไม่ เมื่อระบบขึ้นอยู่กับ ‘สายตา’ ของผู้บังคับบัญชา จึงมีโอกาสสูงที่คนที่รู้จัก ใกล้ชิด หรือรุ่นน้องที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันจะมีโอกาสก่อน
“ระบบแบบนี้ยิ่งผลิตซ้ำความหม่นหมอง ความเศร้าใจ ความงงงวยให้กับคนรุ่นใหม่ เราเห็นว่าคนในระบบราชการหลายๆ คนเก่ง แต่กลายเป็นว่าทำไมคนเก่งพวกนี้ต้องทนอยู่กับเจ้านายแบบนี้ วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ สุดท้ายปลายทางก็มีแค่ไม่กี่ทางลาออก โดนย้าย อย่างแย่ที่ก็คือฆ่าตัวตาย” ซันนี่กล่าว
เจ้าขุนมูลนาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกเรียกด้วยหลายชื่อ เช่น พ่อเมือง หรือเจ้าเมือง ซึ่งล้วนเป็นคำที่สะท้อนถึงระบบเจ้าขุนมูลนายในสังคมไทย
“ก่อน 2475 มันคือการแต่งตั้งข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ไปเป็นผู้ปกครองในแต่ละมณฑล เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ พระแสงราชศัสตราประจําจังหวัด มันเลยมีความเป็นสถาบันที่เจ้าขุนมูลนายอยู่ชัด” อั๋นกล่าว
ซันนี่เห็นตรงกับอั๋น เขาขยายความเพิ่มเติมว่า ความเป็นนาย-บ่าวสังเกตเห็นได้ตั้งแต่สรรพนามแทนหัวหน้า ซึ่งเขาเล่าว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องใช้คำว่า ‘นาย (เจ้านาย)’ แทนสรรพนามเรียกข้าราชการทุกคนตั้งแต่ระดับอำนวยการขึ้นไป
“เรามองว่าคำพวกนี้ก็ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่วัฒนธรรมมันพามา เราก็ทำได้เพียงดำรงต่อไป” ซันนี่กล่าว
ซันนี่เสริมว่าเขาเคยเจอผู้บังคับบัญชามาหลายแบบ บางคนใช้สรรพแทนตัวเองว่า ‘กู’ และเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ‘มึง’ หรือบางคนใช้คำแทนตัวเองว่า ‘เรา’ ขณะที่เรียกอีกฝ่ายว่า ‘เอ็ง’ ซึ่งซันนี่มองว่ามันไม่สากล และทำให้เขาวางตัวทำงานลำบากขึ้น
“ภาษาแบบนี้มันตีความไม่ได้ว่าเขาวางเราอยู่ในฐานอะไร และมันทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา จนบางครั้งเรื่องที่เราอยากปรึกษาก็ไม่ได้ปรึกษา เพราะภาษาที่เขาใช้กับเรามันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกไว้วางใจที่จะคุยกับเขาได้” ซันนี่เล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟัง
ปฏิรูปวัฒนธรรม ขึ้นตรงต่อนายกฯ
“วัฒนธรรมมหาดไทยที่เป็นอยู่ มันบั่นทอนคนดีและคนเก่งให้เติบโตได้ลำบาก” ตระกูล มีชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบราชการกล่าวกับ The MATTER
ตระกูลเริ่มด้วยการอธิบายภาพรวมของระบบราชการไทยก่อนว่า ทุกหน่วยงานราชการของไทยมีวัฒนธรรมองค์กรและเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่ยึดกับสถานศึกษาของตัวเองอยู่ อาทิ กรมชลประทานกับวิทยาลัยชลประทาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกับวิศวะ จุฬาฯ หรือกระทรวงมหาดไทยกับสิงห์แดงและสิงห์ดำ ซึ่งระบบแบบนี้ทำให้เกิดข้าราชการ 2 กลุ่มคือ กลุ่มข้าราชการที่เติบโตเพราะทำานเก่ง กับกลุ่มที่เติบโตเพราะมีเส้นสายแน่นหนา ซึ่งเขาชี้ว่าระบบแบบนี้มีความเสี่ยง เพราะบางครั้งมันทำให้กลุ่มที่เน้นเส้นสายสามารถคว้า ‘ชิ้นปลามัน’ หรือตำแหน่งสูงๆ ทางราชการไปครองได้มากกว่าอีกกลุ่ม และทำให้ข้าราชการกลุ่มที่ตั้งใจทำงานสูญเสียขวัญกำลังใจ
“บางคนในรุ่นผม (เบบี้บูมเมอร์) หลายคนทำงานเก่งมาก แต่สุดท้ายเกษียรที่ระดับรอง ผวจ. แม้เขาบอกว่าเขาภูมิใจแล้ว เพราะเกษียรโดยไม่มีคดี เรื่องร้องเรียน ทุจริต แต่อย่างที่บอกว่ามันเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของคนทำงาน” ตระกูลแชร์เรื่องเล่าจากเพื่อนฝูงให้เราฟัง
สำหรับในกระทรวงมหาดไทย ตระกูลชี้ว่าตั้งแต่ปี 2540 ความตื่นตัวของประชาธิปไตยที่ทำให้สังคมไทยเกิดภาวะ ‘เปิดกะลา’ เศรษฐกิจเติบโต งานเอกชนน่าดึงดูดมากขึ้นกว่าราชการทำให้ภายในกระทรวงมหาดไทยเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของข้าราชการที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น และการเข้ามามีอิทธิพลของภาคการเมือง ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างภาคการเมืองและข้าราชการเพื่อผลประโยชน์นอกเหนือเงินเดือน
ตระกูลชี้ว่าตัวแปรทางการเมืองต่อระบบราชการแบบปัจจุบันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก เขาจึงเสนอว่าข้าราชการระดับ ผวจ. ขึ้นไปควรมีการเปลี่ยนสายบังคับบัญชามาขึ้นต่อ ‘รัฐบาล (ภาคการเมือง)’ มากกว่า ‘ปลัดมหาดไทย (ภาคราชการ)’ เพราะภาคการเมืองมีความยึดโยงและรับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่า และการเปลี่ยนเช่นนี้จะช่วยให้นโยบายจากรัฐบาลในส่วนภูมิภาคถูกนำไปดำเนินอย่างแข็งขันมากขึ้น
“ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญของระบบราชการส่วนภูมิภาคในการขยับเขยื้อนนโยบายของรัฐบาล ระบบการบริหารตรงจุดนี้ต้องทบทวนใหม่ว่านายกฯ ควรจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ไม่ใช่ให้ปลัดกระทรวง รูปแบบที่เป็นอยู่นี้มันเสียหายมาก” ตระกูลทิ้งท้ายในประเด็นนี้
ไม่ช้าก็เร็ว การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้น
หนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยโดยตรงคือ ข้อเสนอกระจายอำนาจสู่ท่องถิ่น เพราะมันคือการปรับโครงสร้างมหาดไทยทำให้เกิดการยุบราชการส่วนภูมิภาค และเพิ่มอำนาจแก่ส่วนท้องถิ่น ซึ่งนั่นหมายความว่าตำแหน่งนายอำเภอหรือปลัดอำเภอทั้งหมดอาจถูกยกเลิก
“มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่เร็วก็ช้า ไม่ช้าก็เร็ว การปกครองส่วนภูมิภาคมันล้าสมัยแล้ว” ซันนี่แสดงความเห็นต่อแนวคิดการปกครองส่วนท้องถิ่น เขาอธิบายต่อว่าไม่กังวลกับความเปลี่ยนแปลง เพราะข้าราชการไม่ใช่สายงานที่ถูกไล่ออกง่ายขนาดนั้น และตัวเขาพร้อมที่จะปรับตัวย้ายสู่หน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ
ถึงแม้ข้าราชการมหาดไทยรุ่นใหม่ค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดการกระจายอำนาจเช่นเดียวกับซันนี่ แต่เขาก็ยอมรับว่ามีคนบางกลุ่มเช่นกันที่ยังพยายามต่อต้านไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งเขาได้แต่ตั้งคำถามต่อคนกลุ่มนี้
“คนในมหาดไทยบางคนชอบคิดว่าจะรั้งมัน (โครงสร้างเดิม) ไปได้เรื่อยๆ แต่คุณกำลังต่อสู้กับเราอะไรอยู่ คุณกำลังสู้กับการพัฒนาประเทศหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้นแปลว่าหลักการในการเข้ามาทำงานของคุณผิดเพี้ยนไปเยอะเลยนะ” ซันนี่ทิ้งท้าย
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon