1.
ภาพเด็กชายหรือเด็กหญิงที่พ่อแม่ผู้ปกครองถือในระดับลำตัว กลายเป็นภาพจำในการตามหา ‘เด็กหาย’ ของศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา สีหน้าหม่นเศร้าของผู้ใหญ่และแววตาไร้เดียงสาของเด็กในภาพ สะท้อนความเจ็บปวดในใจโดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำพรรณนา
เมื่อเคลื่อนสายตามาอ่านรายละเอียดในภาพ นอกจากชื่อและนามสกุล ยังระบุวัน-เดือน-ปีที่หายตัวไป เด็กบางคนหายตัวไปเป็นปี เด็กบางคนหายตัวไปมากกว่าสิบปี
วันแล้ววันเล่าที่ขาดการติดต่อ คือความเป็นห่วงท่วมท้นที่เคลื่อนไปสู่ความกังวล จนกระทั่งกลายเป็นความทุกข์ทนในชีวิตประจำวัน ต่อให้เรารับรู้ พยายามทำความเข้าใจ และเห็นใจขนาดไหน คงยากที่จะรู้สึกได้เท่ากับคนที่กำลังเผชิญ
“ถ้าคนใกล้ตัวเสียชีวิต มันทำใจได้นะ คุณร้องไห้วันนั้น และอาจร้องไห้อีกครั้งตอนคิดถึง มันต่างจากกรณีคนหาย วันดีคืนดีคุณอาจผวาขึ้นมาว่า เด็กจะอยู่ยังไง มีความสุขไหม ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า พอเวลาผ่านไปสักระยะ เพื่อนบ้านก็อาจพูดให้ได้ยินว่า ‘คงไม่อยู่แล้วล่ะ ไม่รู้ว่าถูกจับไปตัดแขนตัดขาหรือเปล่า’ มันเป็นความเจ็บปวดที่ฝังลึกในใจนะ ทุกคนมีความหวังในการตามหา หรือต่อให้ทำใจไว้แล้ว อย่างน้อยก็ขอให้กลับมา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม”
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พูดถึงความรู้สึกของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังไม่หยุดตามหาลูกหลานที่หายตัวไป
ไม่ใช่เพียงกรณีเด็กหายเท่านั้น หากแต่ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ทำหน้าที่ตามหาคนหายในหลากหลายประเภท ทั้งผ่านการให้คำแนะนำ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาอยู่กับปัญหานี้ตั้งแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ไกลตัว จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนเริ่มเคยชิน
2.
เกือบยี่สิบปีก่อน ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ทำงานในพื้นที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านละแวกนั้นเห็นว่าเป็นองค์กรหรือมูลนิธิอะไรสักอย่าง เลยเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือว่า “ลูกสาวหายตัวไป” ด้วยไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่เลยทำได้เพียงรับฟัง แล้วให้คำแนะนำว่าต้องแจ้งตำรวจ แต่เวลาผ่านไปหนึ่งปี เขากลับมาอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า “ลูกสาวยังไม่กลับมา”
“เขาให้ข้อมูลว่ามีนายหน้าชวนลูกสาวไปทำงานแถวสุทธิสาร อาสาสมัครของเราไปตามหาที่นั่น ถามจากคนแถวนั้นจนเจอนายหน้า แต่ปรากฏว่าไม่ได้ทำงานด้วยแล้ว หลังจากนั้นเราได้รับแจ้งว่า เด็กถูกตำรวจจับกุมที่สถานบริการทางเพศ แล้วถูกส่งตัวไปที่ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) เพราะคนในตำบลนั้นไม่มีบัตรประชาชน ประสานงานกันไปมาจนถูกส่งตัวกลับมาบ้าน
“พอสำรวจเพิ่มเติม ทั้งตำบลมีคนหายประมาณยี่สิบคน ตอนนั้นคำถามคือ แล้วถ้าทั้งประเทศคนจะหายมากขนาดไหน” เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข เล่าถึงสิ่งที่รุ่นพี่เคยเล่าให้ฟัง
คำถามนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์’ เมื่อกลางปี พ.ศ.2546 โดยมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งประจำการที่กรุงเทพฯ ก่อนที่ปี พ.ศ.2547 เอกลักษณ์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรในฐานะนักกฎหมาย แล้วรับผิดชอบงานตามหาคนหายเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
แม้ว่าโครงการชื่อ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์’ แต่หลังจากเปิดตัวต่อสาธารณะไปได้สักระยะ การแจ้งคนหายไม่ได้มีแต่เรื่องค้ามนุษย์ของคนวัยทำงาน แต่หลากหลายทั้งอายุ รูปแบบการหายตัว และลักษณะของคนที่หายไป
“ช่วงแรกเราทำงานแบบมวยวัดเลย ในตะกร้าเต็มไปด้วยเอกสารแจ้งคนหาย หลากหลายมาก ตอนนั้นไม่มีความรู้ในการจัดการ ก็แบ่งประเภทเพื่อให้ทำงานง่าย ถ้าเด็กหายจากติดแชททางโทรศัพท์ สมัยนั้นมีเบอร์ 1900 เราติดต่อไปที่เจ้าของสัญญาณ ถ้าเด็กหายจากติดแชททางอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นมี Pirch MSN เราก็สืบจากโปรแกรมนั้น” เขาเล่าถึงการตามหาเด็กหาย แต่คำแจ้งไม่ใช่แค่เด็กหายเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายประเภท เช่น เด็กถูกลักพาตัว คนแก่อัลไซเมอร์ การค้ามนุษย์ ฯลฯ
ควบคู่ไปกับการออกตามหา คือการทำฐานข้อมูลคนหายในเว็บไซต์ และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เขาส่งจดหมายข่าวไปทางอีเมลที่ในกลุ่มมีอยู่หลายหมื่นคน ทำไฮไฟว์ และทำเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อแจ้งข่าวสาร แต่บทบาทงานที่ค่อยๆ เติบโตสวนทางกับงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ด้วยโครงการใช้วิธีเขียนขอทุนเป็นรายปี ทำให้นอกจากงานหลักแล้ว เขาในฐานะหัวหน้าโครงการต้องหอบหิ้วผลงานไปพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ แต่ช่วงเวลานั้นมีเพียงน้อยคนที่เข้าใจแล้วสนับสนุน
“ช่วงนั้นผมเหมือนเป็นเซลล์แมนเลย สถานทูตเกือบทุกประเทศ ผมไปมาหมด” เขาพูดถึงบทบาทที่ไม่ค่อยมีใครรู้
“เราทำงานด้วยงบประมาณจำกัดมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2554 ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่สองคน เหลือเงินจ่ายเงินเดือนสุดท้าย เลยประกาศปิดโครงการผ่านเฟซบุ๊ก จัดงานแถลงข่าว แล้วโทรบอกครอบครัวที่ยังหาไม่เจอว่า เรื่องของคุณจะอยู่กับตำรวจ และ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
“แต่วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ยังดังอีก เราบอกให้โทรหาตำรวจที่สายด่วน 1599 พอเขาโทรไป ตำรวจให้ติดต่อ พม. พอเขาโทรไป พม. ให้โทรไปหาตำรวจ พอเขาเล่าแบบนี้ เราเลยให้คำปรึกษาไปตามสภาพ แนะนำเท่าที่มีความรู้ อยู่ๆ ปลายปี พ.ศ.2554 ทางนิตยสารแพรวโทรมาบอกว่า ‘เราจะมอบเงินโครงการแพรวแชริตี้ให้หกแสนบาท’ เราเคยให้สัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมในโครงการ แต่ผมลืมไปแล้ว เงินที่ได้ทำให้ต้นไม้ที่กำลังจะตายฟื้นขึ้น เราเลยได้กลับมาลุยงานกันต่อ”
เงินบริจาคก้อนนั้นถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้โครงการได้กลับมาทำงาน และยืนระยะมาจนถึงปัจจุบัน
3.
“ผมเป็นนักกฎหมาย ก็เขียนหนังสือเลยว่า มีกรณีเด็กหายในพื้นที่ของท่าน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอให้ท่านรายงานการสืบสวนและติดตามมาที่มูลนิธิกระจกเงาภายใน 7 วัน” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายพูดถึงท่าทีของตัวเองในช่วงแรก
“ทำแบบนั้นเวิร์คไหม” ผมสงสัย
“เหมือนจะเวิร์ค” เขาตอบทันที แล้วพูดต่อว่า “แต่การทำงานแบบคับแค้น ไม่เข้าใจข้อจำกัดของคนอื่น กลายเป็นการสร้างศัตรู มองย้อนกลับไป ผมว่ามันไร้เดียงสา พอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผมมาคิดนะ เขามีข้อจำกัด เราก็มีข้อจำกัด สมมุติว่ารับแจ้งมาห้าสิบเคส เราก็ทำไม่ได้ทุกเคส ทั้งทำไม่ทัน ไม่มีเงิน ไม่มีคน ตำรวจบางคนใช้รถส่วนตัวลงพื้นที่ น้ำมันก็เงินตัวเอง จอดรถกินข้าวก็ต้องจ่ายให้พ่อแม่ที่เด็กหาย มันไม่ใช่ปัญหาที่บุคคลแล้ว แต่มาจากโครงสร้างที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”
ถ้าใครสักคนติดต่อมาที่ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ เพื่อแจ้งคนหาย ทางทีมงานจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้น แล้วใช้ใบแจ้งความจากสถานีตำรวจเป็นเครื่องยืนยัน หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนสืบสวนเท่าที่บทบาทจะทำได้ ระหว่างการพูดคุย ลงพื้นที่ และสังเกตการณ์ เหล่านั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการหาความจริงด้วย
“เราเริ่มจากซักถามแบบหมอเลย ถ้าวัยรุ่นสมัครใจหนีออกจากบ้าน พ่อแม่เป็นคนโทร เราถามว่าเด็กเกิดวันที่เท่าไร เรียนชั้นอะไร เล่นโทรศัพท์มากน้อยขนาดไหน ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่าคุณไม่สนิทกัน อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีปัญหาในครอบครัว แต่ไม่ได้ฟังจากคนแจ้งอย่างเดียว เราขอเบอร์เพื่อนสนิทของเด็ก ครูประจำชั้น ฯลฯ คุยกับอีกคนแล้วข้อเท็จจริงอาจเป็นอีกมุมก็ได้
“นอกจากคนหายจริงๆ มันมีคนหายเล่นๆ ด้วย เช่น โทรมาตามลูกหนี้ โทรมาหาเพื่อนเก่า โทรมาหาอดีตคนรัก หมาหาย แมวหาย นกหาย เขาไม่ได้แกล้งนะ อยากรู้จริงๆ ว่า ‘เฟิร์นสบายดีไหม’ เราเลยกำหนดว่าคนแจ้งต้องส่งหลักฐานคือใบแจ้งความเพื่อยืนยัน เราก็โทรหาพนักงานสอบสวนตามใบแจ้งความ ถามว่าตอนรับแจ้งเป็นยังไง มีข้อเท็จจริงในมุมอื่นไหม
“ทีมงานก็แบ่งหน้าที่กัน เช่น ผมคุยกับหัวหน้าครอบครัว ทีมงานดึงคนในครอบครัวออกไปคุยต่างหาก เพื่อให้ข้อมูลเป็นอิสระต่อกัน ถ้าบ้านไหนมีเหตุในบ้าน เราต้องสงสัยคนในครอบครัวด้วย เกิดเหตุฆาตกรรมหรือกระทำความรุนแรงหรือเปล่า การพาเขาไปคุยในบ้านก็เพื่อสังเกตสิ่งต่างๆ ไปด้วย”
หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายย้ำตลอดว่า ทีมงานจากมูลนิธิกระจกเงาไม่คิดว่าตัวเองฮีโร่ ทุกๆ ขั้นตอนจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสมอ ทั้งลงพื้นที่พร้อมกัน และหารือกันเรื่องคดีต่างๆ ด้วย อีกทั้งในบางอย่างต้องพึ่งอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เช่น การค้นบ้าน การเรียกตัวมาสอบสวน
หนึ่งในเรื่องเข้าใจผิดของคนในสังคม คือภาพเด็กหายถูกฉุดกระชากขึ้นรถตู้ ซึ่งเป็นภาพจากละครโทรทัศน์ที่นำเสนอจนพ่อแม่ผู้ปกครองเชื่อเช่นนั้น แม้แต่ตำรวจบางคนก็เชื่อเช่นนั้นเลย
“เคยมีตำรวจบอกว่า ‘สงสัยถูกแก๊งรถตู้จับตัวไป’ พอได้ยินแบบนี้ เรารู้เลยว่าคุณไม่เข้าใจปัญหา ตลอดการทำงาน ผมไม่เคยเจอแผนประทุษกรรมแบบนั้นเลย ที่เจอคือเด็กอยู่คนเดียว คนร้ายมาพูดคุยตีสนิท แล้วจูงมือเด็กไป เวลาพูดถึงคนร้าย เด็กมักจำว่าคนใส่เสื้อลายทางสีขาวสีดำ เพราะในการ์ตูนบอกแบบนั้น หรือในละครบอกว่า ต้องหน้าหนวดๆ เสียงดังๆ พูดจาข่มขู่ ‘เฮ้ย แกจะไปไหน!’ แต่คนร้ายในสังคมไทย คือลุงที่มาบอกว่า ‘หนู เดี๋ยวลุงพาไปซื้อขนม’ อ้าว ลุงใจดีไง หรือพ่อแม่บอกว่า ‘เดี๋ยวจะมีรถตู้มาจับ’ ก็เลยระวังกันแค่นั้น ไม่ได้ระวังคนใจดี
“ลองคิดดูนะ รถตู้จะจับเด็กไปทำอะไร เอาไปขอทานเหรอ เฮ้ย เด็กขอทานในประเทศไทยจำนวนมากเป็นครอบครัวยากจนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เอาไปใช้แรงงานเหรอ ไม่ใช่ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตัดแขนตัดขาเหรอ ไม่จริง เราเคยเห็นเด็กขอทานพิการใช่ไหม แต่เขาพิการอยู่แล้วนะ ถ้าตัดแขนตัดขา เด็กตายก่อนนะครับ แผลติดเชื้อ หรือถ้าพาส่งโรงพยาบาล เด็กแขนขาขาดมาโรงพยาบาล โดยหลักวิชาชีพแล้วต้องแจ้งตำรวจนะครับ
“อีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก คือต้องรอให้คนหาย 24 ชั่วโมงก่อนถึงจะแจ้งความได้ ไม่ใช่ คุณแจ้งความได้เลย” เขาพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่หลายคนยังเข้าใจผิด
4.
ตลอดหลายปีที่ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ทำงานเรื่องคนหาย ทั้งภายใต้ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์’ และ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหาย’ พวกเขาเป็นที่รู้จักในสังคมอยู่พอสมควร จนกระทั่งปี พ.ศ.2556 การติดตามกรณีเด็กหาย 3 คนที่ถูกฆาตกรรมจากคนร้ายคนเดียวกัน ได้ทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักมากขึ้น และปัญหาเด็กหายก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
“ช่วงปี พ.ศ.2556 เราตามเคสเด็กหาย 3 ราย ต้นปี กลางปี ปลายปี เราเริ่มจากประกาศผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่ดังสักที ปีนั้นประเทศไทยมีแต่ข่าวการเมือง ตอนนั้นคุณสรยุทธ์ (สุทัศนะจินดา) ยังทำรายการอยู่ เราเลยประกาศในเพจว่า ‘ตอนแปดโมงให้ส่ง sms เรื่องเด็กหายไปในรายการเรื่องเล่าเช้านี้’ ทุกคนก็ส่งเข้าไป วันนั้นคุณสรยุทธ์ไม่ได้อ่าน คงเห็นแล้วแหละ แต่ยังไม่มีข้อมูล หลังจากนั้นเขาเอาไปออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ขณะเดียวกัน เรานัดให้คนโทรไปสายด่วนของตำรวจ แล้วถามความคืบหน้าพร้อมกันหลายๆ คน
“ตอนนั้นผมเอาแนวทางตามหาเด็กหายจากต่างประเทศมาเล่าที่เพจ ทีมบาเยิร์น มิวนิคถือภาพเด็กหายลงสนาม ก็เอามาถามว่า ‘มีทีมไหนอยากทำแบบนี้บ้าง’ ทีมแรกที่ถือภาพเด็ก 1 ใน 3 คนที่หายตัวไปลงสนาม คือ ทีมบีอีซี เทโรฯ ครั้งแรกทำกันแบบงงๆ แล้วเข้าใจมากขึ้น ถือลงสนามอีกหลายครั้ง ทีมอื่นก็ทำบ้าง เช่น ทืมลูกอีสานการบินไทย ทีมพีทีที ระยอง พอเราสื่อสารมากเข้า หลายคนก็อยากมีส่วนร่วม เขามาขออนุญาต แล้วเกิดภาพคัทเอาท์ขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่
“เคสแรกและเคสที่สองหายตัวไปที่จังหวัดเลย แต่คนละอำเภอ ที่นั่นไม่มีกล้องวงจรปิด เคสที่สามหายที่สถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง กล้องเยอะมาก เราก็ไปไล่กล้อง เด็กหายวันที่ 6 ธันวาคม เป็นวันที่เกิดการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำให้ไม่มีข่าวเลย อย่าว่าแต่ข่าว ตำรวจยังไม่มีเลย พอม็อบเดินทั่วกรุงเทพฯ ตำรวจเลยไปรักษาความปลอดภัย เราไล่กล้องจนเจอภาพคนร้าย แล้วคุณสรยุทธ์ไปอ่านในรายการเรื่องเล่าเช้านี้
“หลังจากนั้นแค่ห้านาที คนโทรมาที่มูลนิธิกระจกเงา บอกว่ารู้จักคนร้าย เขาเป็นคอนวอยในวงดนตรีลูกทุ่ง ตอนนี้ประกอบเวทีอยู่จังหวัดหนองคาย วันนั้นวงดนตรีนั้นมาเล่นแถวแบริ่ง ก่อนหน้านั้นก็ไปที่เลยมาก่อน เลยจับกุมตัวได้แล้วสอบปากคำ คนร้ายก็รับสารภาพว่ากระทำทางเพศและฆาตกรรม และปัจจุบันอยู่ในคุก”
“สุดท้ายเด็กทั้งสามคนเสียชีวิต ในมุมคนทำงาน ถือเป็นการทำงานที่ประสบความสำเร็จไหม” ผมลองถาม
เขาเงียบคิด ก่อนจะตอบว่า “แน่นอน เราอยากให้เด็กทุกคนที่หายไปกลับมาแบบมีชีวิต แต่อย่างน้อยการจับคนร้ายได้สำเร็จ ก็เป็นการหยุดยั้งอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เพจ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา’ ที่ขณะนั้นมีคนติดตามไม่กี่หมื่นคน พุ่งขึ้นเป็นหลายแสนในไม่กี่วัน อีกทั้งหน่วยงาน FBI ของสหรัฐอเมริกาได้ชวนพวกเขาไปเรียนรู้งานติดตามหาคนหาย เพื่อนำมาปรับวิธีการทำงานให้ได้มาตรฐานระดับสากล หนึ่งในนั้นคือการแบ่งประเภทคนหายอย่างเป็นระบบ คือ ลักพาตัว เด็กพลัดหลง แย่งความปกครองบุตร สมัครใจหนีออกจากบ้าน ขาดการติดต่อ อุบัติเหตุ โรคสมองเสื่อม โรคจิตเวช พัฒนาการทางสมอง มีอาการทางสมอง และอื่นๆ ซึ่งแต่ละประเภทมีวิธีการทำงานแตกต่างกันด้วย
“ตอนนั้นโพสต์อะไรนิดหน่อย คนถูกใจเป็นหมื่น เอาแล้ว เราชี้นำสังคมได้แล้ว ก็โพสต์ใหญ่เลย แต่เวลาผ่านไปกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะเรื่องไหนที่คนอินมาก พอชินกับปัญหา แล้วจะเจอกับขาลง ซึ่งเป็นแบบนั้นจริงๆ มันดิ่งลง ดิ่ง ดิ่ง ดิ่ง เหลือคนไลค์และแชร์ไม่เท่าไร ดังนั้นเราต้องทำแคมเปญเพื่อไม่ให้คนเคยชินกับปัญหา
“ช่วงนั้นผมผุดไอเดียไปในเพจ ภาคเอกชนก็ติดต่อเข้ามา เลยได้ร่วมงานกับเอเจนซี่และบริษัทต่างๆ ทำโครงการคนหายหน้าเหมือน ทำให้รถเมล์มีภาพเด็กหาย ฉลากขวดน้ำสิงห์หลายล้านขวดมีรูปเด็กหาย รถขนของของเซเว่นมีภาพเด็กหายติดเป็นร้อยคันเลย ฯลฯ นอกจากภารกิจตามหาคนหาย เราต้องหล่อเลี้ยงประเด็นให้อยู่ในสังคมให้ได้”
“การหล่อเลี้ยงประเด็นสำคัญยังไง” ผมอยากได้คำตอบจากคนทำงาน
“เวลาใครเห็นอะไรบ่อยๆ ไปตรงนั้นก็เห็น ไปตรงนี้ก็เห็น เราจะรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ทำไมตอนเด็กเราถึงรู้จักแคมเปญ ‘อ๊ะ! อ๊ะ! อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ’ เพราะถูกกระตุ้นจนจำได้ เวลาเดินไปทิ้งขยะ เราก็ไม่กล้าทิ้งมั่ว เพราะตาวิเศษเห็นนะ เช่นเดียวกัน การสื่อสารไปในทุกช่องทาง คุณเจอเด็กหายในภาพไหม รู้เบาะแสหรือเปล่า ไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณมีลูกหรือคนในครอบครัว เราอยากให้คุณตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นปัญหานะ”
“ถ้าเทียบกับในอดีต ปัญหาเด็กหายเคยเป็นเรื่องใหญ่ของคนเล็กๆ คนอื่นไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ใช่ลูกหลานของตัวเอง แต่ปัจจุบันเป็นปัญหาที่หลายคนรู้สึกร่วม ใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับทุกคน”
5.
ในปัจจุบัน หากใครติดตามเพจ ‘ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา’ คุณจะพบการรายงานข่าวคนหายอยู่ตลอด มีคนเข้ามาคอมเมนท์ให้กำลังใจและกดแชร์เพื่อส่งข่าวต่อไปไม่น้อยเลย ‘เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลคนหาย’ บันทึกสถิติไว้ว่า ปี พ.ศ.2562 มีคนหายทั้งหมด 793 คน (เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งหมด 232 คน) ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รวมในนี้
“ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คือคนหายที่เจอตัว แต่ไม่ใช่เราเก่งนะ หลายครั้งแค่ให้คำแนะนำ เช่น พ่อมีอาการหลงลืม หายที่กรุงเทพฯ คุณต้องโทรไปที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี เป็นที่ที่ใครพลัดหลงแล้วส่งตัวไป หรือคุณตรวจสอบตามโรงพยาบาลโดยรอบหรือยัง พอโทรไปก็เจอเลย บางคนกลับจากงานเลี้ยงแล้วหายตัวไป คุณไปเช็คที่โรงพักหรือกรมคุมประพฤติหรือยัง อาจถูกจับเมาแล้วขับ แต่ติดต่อไม่ได้”
ขณะที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ คือเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ที่หายตัวไปหลายเดือน เป็นปี หรือหลายปี
“มันคือการไม่หยุดตามหานะ” เอกลักษณ์พูดขึ้น
“เคยมีเด็กที่หายจากบ้านไป 15 ปีติดต่อมาที่เรา ถามว่ามีใครแจ้งหาเขาบ้างไหม ออกมาตั้งแต่เด็ก จำได้แต่ชื่อเล่นพ่อแม่ บ้านอยู่กรุงเทพฯ ริมทางรถไฟ ใกล้ตลาด เด็กเขียนหนังสือไม่ได้ ก็ใช้วิธีพูดใส่กูเกิลเปลี่ยนเป็นตัวอักษร แล้วส่งข้อความมาที่เรา คนในโลกออนไลน์ก็ให้เบาะแส ไปดูชุมชนนั้น ชุมชนนี้ จนกระทั่งเจอครอบครัว ซึ่งเคสแบบนี้แหละ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนมีความหวัง
“ถ้าคนใกล้ตัวเสียชีวิต มันทำใจได้นะ คุณร้องไห้วันนั้น และอาจร้องไห้อีกครั้งตอนคิดถึง มันต่างจากกรณีคนหาย วันดีคืนดีคุณอาจผวาขึ้นมาว่า เด็กจะอยู่ยังไง มีความสุขไหม ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า พอเวลาผ่านไปสักระยะ เพื่อนบ้านก็อาจพูดให้ได้ยินว่า ‘คงไม่อยู่แล้วล่ะ ไม่รู้ว่าถูกจับไปตัดแขนตัดขาหรือเปล่า’ มันเป็นความเจ็บปวดที่ฝังลึกในใจนะ ทุกคนมีความหวังในการตามหา หรือต่อให้ทำใจไว้แล้ว อย่างน้อยก็ขอให้กลับมา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม”
“พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่หายตัวไปมักบอกว่า ‘เคยเห็นข่าวในทีวีและหนังสือพิมพ์ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง’ พวกเขามองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อลูกหลานของตัวเองหายไป มันใกล้ตัวทันที คุณต้องมองว่าเรื่องนี้เกิดกับใครก็ได้ การตามหาเด็กหายไม่ใช่แค่งานของมูลนิธิกระจกเงา ตำรวจ หรือสื่อมวลชน แต่คนในสังคมควรตระหนักเรื่องนี้ ทั้งต่อครอบครัวของตัวเอง และเป็นหูเป็นตาในเรื่องของคนอื่นด้วย”
เป็นคำพูดที่ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ทิ้งท้ายไว้