โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำท่วมกระหน่ำ ไฟป่าลามทุกปี ถี่ขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องรับมือเมื่อธรรมชาติเอาคืน และสุดท้ายมนุษย์ก็พ่ายแพ้และยอมรับ ว่าการแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ
และจากข้อมูลที่บันทึกไว้ใน 25 ปีที่ผ่านมา โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นกว่า 60%
จึงเกิดความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อราวห้าปีที่แล้ว ในที่ประชุมยูเอ็นเอฟซีซี ครอบคลุมสองร้อยกว่าประเทศ ตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก – โดยรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิก่อนช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศา
โดยในปี 2050-2100 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ จะต้องจำกัดให้อยู่ระดับเดียวกับที่ต้นไม้ ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับได้
ซึ่งการแทร็กคาร์บอนของ United States Environmental Protection Agency (EPA) เมื่อปี 2018 ชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกา การคมนาคมของมนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมากที่สุด คิดเป็น 28.2% ตามด้วยการใช้ไฟฟ้า 26.8% แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจการค้า ก็สร้างมลภาวะไม่แพ้กัน ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่ 22 และ 12.3 ตามลำดับ
ปีนี้จึงเป็นปีนี้บริษัทใหญ่ บรรดาบิ๊กคอมพานีโลกทั้งหลาย ตบเท้ากันออกมาประกาศถึง Mission to Zero Emission หรือภารกิจปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศเป็น 0 เพราะเริ่มรู้ฤทธิ์ของการเอาคืนจากธรรมชาติ ที่มนุษย์สู้ไม่ไหวอยู่แล้ว ถ้าจะสู้ที่ปลายเหตุ
Tech Company กับความรับผิดชอบในฐานะอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของโลก
ในปี 2016 ผลวิจัยจาก PwC บอกว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก ได้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าธุรกิจการเงินเป็นที่เรียบร้อย
หลายบริษัทมูลค่าทะลุล้านล้านดอลลาร์, Apple กลายเป็นบริษัทมูลค่าสูงที่สุดในโลกยากจะหาใครล้มแชมป์ แน่นอนว่ากระบวนการผลิตมหาศาล มาพร้อมกับการปล่อยมลพิษที่ไม่มากน้อยไปกว่ากั
อย่างไรก็ดี เรายังมีหวัง ปีนี้หลายเทคฯ คอมพานี พาตัวเองออกมาบอกสังคมว่า ฉันตั้งเป้าจะลดมลพิษจากการผลิตให้เหลือ 0 ในปีนั้นปีนี้
นำทีมโดยไมโครซอฟต์ ที่มีมูลค่าธุรกิจ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ บอกว่าปี ค.ศ.2020 นี้ ธุรกิจ Windows และ Office ซึ่งเป็นธุรกิจฝั่งซอฟต์แวร์ จะไปถึงเป้าหมายไม่สร้างมลพิษให้ได้ และในส่วนฝั่งซัพพลายเชน จะไม่ปล่อยมลพิษสักนิดเดียว ภายในปี 2030
ต่อด้วย Apple อาณาจักรที่เป็นที่รักของใครหลายคน ที่มีมูลค่าธุรกิจ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กับประกาศเป้าหมายไม่ปล่อยมลพิษจากการผลิตสินค้าสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2030 เช่นกันกับไมโครซอฟต์ พร้อมสัญญาว่าสินค้า Apple จะเฟรนด์ลี่ต่อโลก จะวันหนึ่งจะใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตทั้งหมด โดยจะเป็นโปรดักต์ที่ใช้พลังงานน้อยลงด้วย
รวมไปถึง Amazon ของเจ้าพ่อ เจฟฟ์ เบซอส ที่มีทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก และธุรกิจเทคโนโลยีคลาวน์ มูลค่ารวมกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ออกมาให้คำมั่นว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี 2040 พร้อมจัดตั้งกองทุน 2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในการลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้การขนส่งสินค้าออนไลน์ของ Amazon เตรียมนำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอีกไม่กี่ปีนี้
รถยนต์สู่รถยนต์ไฟฟ้ารักษ์โลก
อุตสาหกรรมรถยนต์ในฐานะอุตสาหกรรมหนัก ในหลายปีที่ผ่านเผชิญหน้าความท้าทายและการปรับตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อโลกร้อนขึ้น และการคมนาคมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด
แนวคิดที่จะปรับให้คนทั่วโลกหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันทั้งท้องถนน ทำให้หลายค่ายรถต้องทุ่มลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างมหาศาล ขณะเดียวกันรัฐบาลหลายประเทศก็ทยอยประกาศปรับกฏหมาย แจกสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
แน่นอนว่าผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ของอีลอน มัสก์ แม้ว่าจะก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ แต่กระบวนการผลิตก็ยังสร้างมลพิษอยู่ดี แต่เพื่อไปถึงเป้าหมายไม่ปล่อยมลพิษในปี 2030 ซึ่งเป็นมติร่วมจาก The Climate Group ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ทำให้ค่ายประกาศว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า กระบวนการผลิต การชาร์จรถ จะต้องไม่ปล่อยมลพิษใดๆ ซึ่งมัสก์ก็ได้ลงทุนพลังงานโซลาร์เซลล์ไปกว่า 3.5 กิกะวัตต์ เพื่อเป็นพลังงานสะอาดใช้ในธุรกิจของตัวเอง
ส่วนค่ายเก่าแก่ทั่วโลกก็ตอบรับไปในทิศทางเดียวกัน อย่างผู้ผลิตเบนซ์ Daimler จากเยอรมนี ก็ตั้งเป้าหมาย zero emissions ภายในปี 2039 โดยกระบวนการผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่มากกว่า 2 ล้านคันต่อปี จะต้องไม่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ขณะเดียวกันก็เร่งวิจัยและทดลองการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น หลังๆ เราก็เลยได้เห็นรถยนต์ไฮบริดและไฟฟ้าเท่ๆ จากค่ายนี้หลายโมเดลเหมือนกัน
ธุรกิจอื่นๆ กับเป้าหมายที่แตกต่าง
แน่นอนว่าความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่ความรับผิดชอบของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แน่นอนว่าเมื่อคุณมี Production การผลิต คุณปล่อยมลพิษแล้วแน่นอน ดังนั้นหลายบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจหลากหลาย ก็ออกมาประกาศจุดยืนของตัวเองด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะ Nestlé ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็บอกว่าจะ zero emissions ภายในปี 2050 – โดยกระบวนการผลิตสินค้าต้องเฟรนด์ลี่ต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และใช้พลังงานทดแทนในการผลิตทั้งกระบวนการ
ค่ายเฟอร์นิเจอร์ประกอบเองอย่าง Ikea ก็ขานรับเสียงดัง ส่งตรงจากเนเธอแลนด์ โดยเริ่มต้นจากภายในสิ้นปีนี้ อิเกียจะขนส่งสินค้าด้วยยานพาหนะไฟฟ้า 100% เริ่มต้นที่เมืองหลักๆ ของโลก อย่าง อัมสเตอร์ดัม เซี่ยงไฮ้ ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และปารีส
และ DHL ธุรกิจโลจิสจิกส์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ก็มีเป้าหมายคล้ายๆ กัน เพราะตระหนักว่าการขนส่งนี่แหละคือตัวการทำให้โลกร้อนมากที่สุด – โดยจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสินค้าถึงประตูบ้านคุณด้วยการสร้างมลพิษเป็น 0 ภายในปี 2050 ซึ่งภายใน 2025 นี้ ตั้งเป้าปรับใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 70% ของการขนส่งทั้งหมดก่อน
ในปี 2019 ‘María Fernanda Espinosa Garcés’ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ (UN) พูดในเวทีว่า พวกเราทั้งหมด คือมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่สามารถแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ และเหลือเวลาที่จะทำอีกเพียง 11 ปีเท่านั้น – นั่นหมายถึงว่า ธรรมชาติยังให้โอกาศมนุษย์ และพรุ่งนี้ไม่สายที่จะเริ่มทำ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.wemeanbusinesscoalition.org