ประเด็นเรื่อง ‘เจ้าหญิง’ หรือ ‘นางเอก’ ของดิสนีย์ เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองว่ามี ‘การเมืองเรื่องเพศ’ แอบแฝงอยู่รึเปล่านะ เรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกเอามาเล่าแล้วก็มีผลต่อความคิดต่อเด็กๆ ว่าผู้หญิงควรจะเป็นยังไง ทำอะไรได้บ้าง มีปลายทางไปสู่อะไร มีนักวิจารณ์โจมตีวัฒนธรรมเจ้าหญิงดิสนีย์ว่ากำลังผลิตซ้ำอคติของผู้หญิงที่ต้องเป็นแค่ฝ่ายรอให้ชาวบ้านมาช่วย ทำอะไรเองก็ไม่เป็น สวยๆ ไปวันๆ แล้วก็จบด้วยการแต่งงานกับเจ้าชาย เด็กผู้หญิงที่ดูสื่อเหล่านี้ก็เลยมีความฝันที่จำกัดอยู่ในกรอบนั้น
ทางฝ่ายดิสนีย์เองก็รับฟังอยู่นะ เห็นได้ว่าเจ้าหญิงยุคหลังของดิสนีย์เริ่มตอบประเด็นทางสังคมต่างๆ อย่างน่าสนใจ เริ่มมีเจ้าหญิงที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองและพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงที่ลึกซึ้งโดยที่ไม่ต้องมีผู้ชายมาเป็นตัวแปร เจ้าหญิงยุคหลังมีความสามารถ มีความแกร่งกล้า และเป็นเอกเทศขึ้น อันเป็นการนำเสนอภาพของผู้หญิงที่มีความซับซ้อนและแตกต่างไปจากเดิม
พอมีเจ้าหญิงคนใหม่ที่จะไปอยู่ในทำเนียบเจ้าหญิงดิสนีย์ มันก็เป็นอะไรที่น่ารอคอยเหมือนกันเนอะ เพราะนี่มันเจ้าหญิงดิสนีย์เชียวนะ คราวนี้เป็นเจ้าหญิงชาวเกาะ บทบาทและพลังของเธอก็ดูมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
วีรบุรุษวีรสตรี
เวลาเราพูดถึง Heroine เราจะแปลว่าวีรสตรี แต่อีกมุมเราก็ใช้เรียกเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์ในฐานะนางเอกหลักของเรื่องด้วยก็ได้ ซึ่งเราจะคุ้นปากกับคำว่าเจ้าหญิงมากกว่า ในคำว่าเจ้าหญิงมันก็มีภาพเฉพาะที่ผุดขึ้นมาในหัวเรา เป็นภาพที่มีความผู้ยิ้งผู้หญิง ความฟูฟ่อง ความสวยงาม ความทำอะไรไม่เป็น จนเลื่อนมายุคท้ายๆ นี่แหละที่บทบาทและภาพลักษณ์ของเจ้าหญิงเริ่มสอดคล้องกับการเป็นวีรสตรี หรือเป็นฮีโร่ของเด็กๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
ดั้งเดิมเราก็ต้องยอมรับเนอะว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับผู้หญิง บทบาทฮีโร่หญิงถ้าเทียบกับผู้ชายแล้วนับว่าน้อยมาก หน้าที่ของผู้หญิงมักถูกวางไว้ให้เป็นผู้รับ เป็นฝ่ายที่อยู่เฉยๆ (passive) อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน จะเชิดชูก็อาจจะมีแง่ของการเป็นผู้ให้ ผู้ดูแลคุ้มครอง และส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการเชิดชูเป็นรายบุคคล มักถูกพูดถึงในฐานะกลุ่มก้อน รวมๆ แล้วบทบาทฮีโร่ส่วนใหญ่มักตกเป็นของผู้ชายซะมาก
Vladimir Propp เป็นหนึ่งในผู้ศึกษาเรื่องเล่าต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างของนิทาน ผลการศึกษาของพร๊อพค่อนข้างสอดคล้องว่าการเป็นฮีโร่มันเป็นเรื่องของผู้ชายซะเป็นส่วนใหญ่ พร๊อพพูดถึงบทบาท the hero ว่ามีสามขั้นตอนคือ
1. การออกเดินทางเพื่อทำภารกิจ
2. เจอตัวละครผู้ช่วยเหลือและรับการทดสอบ (the donor)
3. แต่งงานกับเจ้าหญิง
งานศึกษาของพร๊อพเป็นการลงไปศึกษาเพื่อหาแกนบางอย่างของเรื่องเล่าที่เป็นสากล จริงๆ ขั้นตอนข้างต้นอย่างในบ้านเราก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือพระเอกต้องเดินทางไปทำอะไรซักอย่าง แล้วเจอตัวละครผู้ให้ที่เรียกว่า donor คล้ายๆ แกนดาล์ฟ พ่อมดชรา หรืออะไรทั้งหลายที่ทรงพลัง พระเอกของเราต้องเจอบททดสอบบางอย่าง พอผ่านแล้วก็จะได้พลัง ได้ของวิเศษมา เรื่องราวการผจญภัยของฮีโร่มักจบลงด้วยการได้สาวงามมาเป็นคู่ครอง
เรื่องราวของเจ้าหญิง แต่ไหง ‘เสียง’ และบทบาทผู้หญิงน้อยจัง
ในประวัติศาสตร์ของเจ้าหญิงดิสนีย์ มีประวัติศาสตร์จริงๆ ซ่อนอยู่ เจ้าหญิงยุคแรกเริ่มได้แก่สามสาวสโนไวท์ ซินเดอเรลล่า และเจ้าหญิงนิทรา จากสามสาวนี้กว่าจะมีเจ้าหญิงยุคต่อมาคือลิตเติลเมอร์เมด ทิ้งระยะเวลาตั้ง 30 ปี ในห้วง 30 ปีนั้นเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมมากมาย เช่น กระแสเฟมินิสต์ การเรียกร้องสิทธิของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ฯลฯ
ในตอนนั้น เงือกน้อยก็ถือว่าเป็นเจ้าหญิงที่มีความพิเศษและก็ถูกพูดถึงในหลายแง่ แง่หนึ่งคือการเป็นผู้หญิงที่เป็นขบถ เป็นตัวของตัวเอง แต่ในอีกด้านก็มีคนบอกว่าเธอก็ยังต้องพึ่งพาผู้ชาย แถมยังอุทิศเสียงของเธอเพื่อเขาไปอีก
นอกจากการถกเถียงว่ายัยเจ้าหญิงนี่ทำอะไรบ้าง ทำงานทำการมั้ย มีความสามารถอะไรบ้าง ยังมีนักภาษาศาสตร์คือ Fought และ Eisenhauer ลงไปเก็บข้อมูลบรรทัดต่อบรรทัดว่าตัวละครเพศชายและหญิงมีสัดส่วนบทพูดอย่างไรในแต่ละเรื่อง
จากการศึกษาพบข้อมูลที่น่าแปลกใจที่ไม่ใช่แค่สัดส่วนของเสียงผู้ชายที่มีแนวโน้มมากกว่าเสียงของผู้หญิง แต่ดูเหมือนว่าในการ์ตูนเจ้าหญิงยุคแรกสุดกลับพบว่ามีสัดส่วนเสียงของผู้หญิงเยอะพอสมควร นักวิจัยมองว่ามีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้พูดอย่างน่าแปลกใจ ขนาดเจ้าหญิงนิทราที่เจ้าหญิงของเราหลับไปตั้งครึ่งเรื่อง ยังพบบทพูดของตัวละครหญิงมีสัดส่วนเกินครึ่ง
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ยุคที่เจ้าหญิงที่มีความเปลี่ยนแปลงคือในช่วง 1989-1999 กลับพบว่าสัดส่วนเสียงของผู้หญิงมีน้อยกว่าผู้ชายอย่างมาก ลิตเติลเมอร์เมด เป็นบทของผู้ชายไป 68 % โฉมงามกับเจ้าชายอสูรหนุ่มๆ พูดไป 71 % อลาดิน ดินแดนอาหรับเสียงของผู้ชายพุ่งออกมาเป็น 90 % โพคาฮอนทัส 76 % ส่วนมู่หลานผู้ชายพูดไป 77 % (บทพูดทั้งหมดของมู่หลานนับเป็นของผู้หญิงนะ)
ปัญหาที่นักวิจัยพูดถึงตัวละครในเจ้าหญิงดิสนีย์ช่วงนี้ (1989-1999 นักวิจัยเรียกว่ายุค Renaissance) คือ พวกตัวละครรองอื่นๆ ล้วนแต่เป็นผู้ชายเป็นหลัก ตัวละครหญิงที่ถูกสร้างขึ้นนอกจากนางเอกของเราแล้วมีน้อยมากที่จะให้ภาพของผู้หญิงที่ทรงพลัง น่าเคารพ มีประโยชน์ หรือมีความขบขันคมคาย Fought หนึ่งในผู้วิจัยยกตัวอย่างจากเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูรว่า ในเรื่องไม่เห็นมีผู้หญิงที่นำชาวเมืองต่อต้านเจ้าชายอสูร ไม่มีผู้หญิงที่จับกลุ่มร้องเพลงในบาร์ ไม่มีผู้หญิงที่บอกทางหรือผลิตสร้างสิ่งของต่างๆ ตัวละครในเรื่องที่ออกมาทำนู่นทำนี่นอกจากการหาสามีล้วนแต่เป็นตัวละครชายทั้งสิ้น
ผู้วิจัยเองก็บอกว่าการจะดูสัดส่วนการพูดของผู้หญิงก็ไม่ครบถ้วนเท่าไหร่ เลยดูเพิ่มว่าผู้หญิงถูกมองในแง่ไหนบ้าง ผลก็พบเจ้าหญิงในยุคหลังๆ (นักวิจัยเรียกว่าเป็นยุค New Age) เช่น ‘The Princess and the Frog’ ‘Tangled’ ‘Brave’ และ ‘Frozen’ ถูกพูดถึงในแง่ของทักษะความสามารถมากกว่าแค่รูปลักษณ์ภายนอก
โมอาน่า กับพลังของเจ้าหญิงวีรสตรีคนใหม่
กลับมาที่โมอาน่า พบกันอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธันวาคม นี้ ถ้าเราดูโครงสร้างเรื่องของโมอาน่านี่ดูจะเข้ากับบทบาทของ Hero ที่วลาดิเมีย พร๊อพ พูดถึงคือมีการเดินทางออกไปทำภารกิจ แถมยังมีคู่หูเป็นผู้วิเศษกึ่งเทพเจ้าไปอีก แต่เรื่องเล่าที่เกิดในโลกสมัยใหม่ของวีรสตรีของเรา อาจทำให้ตอนจบน่าจะไม่ตรงตามที่พร๊อพว่าแล้ว
จะว่าไปความสามารถของโมอาน่าเองก็น่าสนใจ เพราะปกติแล้วเรามักมีการเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับธรรมชาติในฐานะมารดาแห่งการให้กำเนิด พลังของโมอาน่าเกี่ยวพันกับท้องทะเล ถ้าเรามองท้องทะเลในฐานะแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่ง การเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงมาเป็นฮีโร่ของเรื่อง แล้วใช้พลังของผู้หญิงมาเป็นพลังของเจ้าหญิงคนใหม่ของเรา
เราว่ามันก็น่าติดตามเลยล่ะ
Illustration by Manaporn Srisudthayanon