ครางหรือไม่คราง? ถ้าเงียบเกินไปก็เดดแอร์มั้ย? แต่เราอยากจะร้องออกมารึเปล่าเวลามีอะไรกัน?
บ่อยครั้งสิ่งที่เราไม่อยากยอมรับคือเราไม่มีคำตอบเมื่อพูดถึงประเด็นอะไรก็ตามเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นไก่อ่อนเมื่อเราพูดถึงเรื่องบนเตียง (หรือที่อื่นๆ) และหนึ่งในสิ่งที่เราทุกคนคิดว่าเรารู้อย่างดีแล้วคือ ‘การคราง’ มันก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เหมือนๆ กันทุกคน แต่สำหรับหลายๆ คน ‘ครางหรือไม่คราง’ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นตลอดการมีอะไรกัน ในระดับที่โฟกัสจากเรื่องที่อยู่ตรงหน้าจางหายไปเลยก็มี
ทำไมเราถึงคราง? เสียงครางมีความหมายหรือไม่? ครางแปลว่าเสร็จหรือเปล่า? นี่อาจเป็นคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ เพื่อไปสู่คำตอบของตัวเอง ว่าจะครางหรือไม่คราง
เพศศึกษาไม่ได้สอน เลยต้องเรียนรู้จากสื่อ
แน่นอนว่าเราเรียนรู้จากโรงเรียนว่าเมื่ออสุจิผสมกับไข่แล้วจะเกิดลูก ในตอนเด็กเราไม่เอาเรื่องนี้ไปคุยกับคนเพศอื่นอยู่แล้ว ความเข้าใจในร่างกายของคนคนละเพศกับเราแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าพ่อแม่จะสอน แน่นอนว่าพวกเขาจะใช้การเปรียบเทียบเซ็กซ์กับอะไรสักอย่างเพื่ออธิบายการมีอยู่ของเรา แต่ดีเทลที่เหลือมักถูกละทิ้งออกไปเลย นี่ไม่ใช่การเรียกร้องให้ใครออกไปบอกลูกอายุ 5 ขวบของตัวเองว่าเรามีเซ็กซ์ยังไง แต่เป็นการบอกว่าหนทางในการเรียนรู้รายละเอียดของการมีเพศสัมพันธ์นั้นมีอยู่จำกัด และตัวเลือกที่ดูเป็นไปได้ที่สุดคือจากสื่อ
ตั้งแต่หนังโป๊ หนังธรรมดาที่มีฉากเซ็กซ์ คำอธิบายในหนังสือ หรือฉากเซ็กซ์ในฟิคสักเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ และอุดมคติต่อสิ่งที่ควรเกิดขึ้นระหว่างมีเซ็กซ์ควรมีอะไรบ้างนั้นผุดเกิดขึ้นจากสื่อเป็นส่วนมาก แต่นอกจากสอนแล้วสื่อย่อมปลูกฝัง และบ่อยครั้งนั้นมันไม่ใช่การนำเสนอที่เที่ยงตรงที่สุด
ตั้งแต่ความต้อง ‘ทำแรงๆ ยิ่งดี’ ‘ยิ่งใหญ่ยิ่งดี’ ไปจน ‘ร้องดังแปลว่ารู้สึกดีมาก’ ภาพจำเหล่านี้ถูกปลูกฝัง ส่งผลให้ทั้งชายหญิงและเพศใดก็ตามมีความเข้าใจต่อเพศสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามความจริงมากนัก เพราะสิ่งที่ถูกปลูกฝังนั้นมาจากภาพที่ผ่านการทำให้โรแมนติก (romanticize) หรือการทำให้เกินจริง (over exaggeration) และภาพจำเหล่านั้นอาจนำไปสู่ความเชื่อที่อาจไม่ถูกโดยทั่วกัน
ครางไม่ใช่เพียงปฏิกิริยาธรรมชาติ
นอกจากการตอบสนองโดยธรรมชาติจากร่างกายแล้ว ความพอใจในการมีเพศสัมพันธ์สามารถเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนคนหนึ่งคราง แต่หากจะให้พูดอย่างตรงเป้ามากที่สุด การครางไม่ใช่เพียงความพอใจ แต่เป็นการส่งสัญญาณสื่อสารความพอใจเสียมากกว่า ฉะนั้นคำถามที่ตามมาคือแล้วอย่างนั้นทำไมเราถึงต้องการส่งสัญญาณสื่อสารความพอใจกัน?
ในปี ค.ศ.2011 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลนแคชไชร์และมหาวิทยาลัยลีดส์ วิจัยเกี่ยวกับการส่งเสียงระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และพวกเขาค้นพบว่าจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 18-48 ปีจำนวน 66% ไม่ได้ครางเพราะพวกเธอ ‘เสร็จ’ แต่เพื่อเร่งรัดให้คู่นอนของพวกเธอไปถึงจุดสุดยอด และ 87% บอกว่าพวกเธอทำมันเพื่อเพิ่มความมั่นใจตัวเองให้คู่นอน หรือในบางครั้งมันอาจเป็นการสื่อสารว่าเรากำลังอินกับสิ่งที่เราทำอยู่ได้เช่นกัน
การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นการกระทำที่กายภาพมากๆ และคำพูดหรือการสื่อสารมักเป็นพื้นหลัง ควบรวมกับการถึงจุดสุดยอดของชายและหญิงแตกต่างกันในเชิงการมองเห็นอย่างมาก นั่นคือเรารู้ว่าผู้ชายเสร็จเมื่อไหร่ด้วยตาเปล่า แต่การถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงมักเกิดขึ้นภายใน ส่งผลให้วิธีเดียวที่จะสามารถสื่อสารว่าเรากำลังอยู่ในขั้นนั้นแล้ว คือผ่านการคราง
และด้วยการปลูกฝังจากสื่อว่าการ ‘ไปสู่ประตูสวรรค์พร้อมๆ กัน’ ของคู่นอนคือประสบการณ์มีเพศสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจากงานวิจัยเดียวกันกับข้างต้นพบว่า เปอร์เซนต์การเสร็จของผู้หญิงเกิดขึ้นจากออรัลเซ็กซ์ การถูจุดสวาทโดยตัวเองหรือคู่นอนมากที่สุด และเกิดขึ้นในช่วงการสอดใส่น้อยที่สุด การครางเลยมักถูกใช้เป็นเครื่องมือการส่งสัญญาณของการเสร็จที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงมากกว่า
โดยนั่นไม่ได้หมายความว่าทุกการมีเพศสัมพันธ์ การมีเสียงคือการแกล้งทำ แต่แปลว่าความหมายของการครางนั้นกว้างกว่าความพึงใจในการมีเพศสัมพันธ์แต่เป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อเป้าหมายบางอย่าง อาจจะเป็นความพอใจก็ได้ หรืออาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเราและคู่นอนอยู่ในขั้นไหนของการมีอะไรกันอยู่
อย่างนั้นแล้วครางหรือไม่ครางดี?
คำตอบของคำถามนี้ไม่ตายตัว การครางนั้นอาจมีผลดีหรือผลเสียขึ้นอยู่กับความชอบของคู่นอนแต่ละคู่ ฉะนั้นแทนที่จะมองว่าการครางหรือไม่เป็นกฎที่ตายตัว อาจเป็นเรื่องดีกว่าหากเราคุยกับคู่นอนของเราในความชอบของเขา และสำรวจความชอบของตัวเอง ครางมากหรือครางน้อยขึ้นอยู่กับบาลานซ์ที่หาได้ต่อทั้งคู่
และสิ่งที่น่าจะต้องเน้นคือการหาบาลานซ์ การคิดมากเกินไปในสักเรื่องสามารถมีผลเสียต่อชีวิตการมีเพศสัมพันธ์ของเราได้ ทั้งการทำให้ไปสู่จุดสุดยอดยากขึ้น รู้สึกห่างไกลออกจากคู่นอน และมีความต้องการทางเพศน้อยลง
ฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะครางหรือไม่ ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือตัวเลือกที่ไม่ทำให้หัวของเราถามคำถามเหล่านั้นมากเกินไป แล้วโฟกัสอยู่ที่กิจตรงหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก