ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งได้ตัดสินใจเดินเท้ากลับไปในพื้นที่ ‘ใจแผ่นดิน’ หรือที่ๆ พวกเขาเรียกกันว่า ‘ผืนดินบรรพบุรุษ’ อีกครั้ง หลังจากถูกปฏิบัติการตะนาวศรี ไล่รื้อ เผาบ้าน และมีปัญหาเรื้อรังยาวนานกับภาครัฐมากว่า 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ความพยายามล่าสุดของพวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่สกัด โดยในวันที่ 5 มีนาคม 2564 เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่สามลำได้ลอยอยู่เหนือผืนดินของบรรพบุรุษพวกเขา และส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยจำนวนทั้งหมด 85 คนลงมาสู่ผืนดินข้างล่างอีกครั้ง โดย 30 คนในนั้นถูกแจ้ง 2 ข้อหาตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 หนึ่ง ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถางพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ สอง ร่วมกับเก็บหาหรือกระทำการใดๆ อันส่งผลต่อระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ทั้ง 30 คนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ก่อนถูกโกนหัว ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งเรียกทนายความ และบางคนไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตนผิดอะไร เพราะฟังภาษาไทยไม่ถนัดนัก ..
ล่าสุด ชาวบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งได้ลงมาเรียกร้องในกรุงเทพฯ ร่วมกับกลุ่มพีมูฟที่ทำประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และ TheMATTER ได้ลงไปพูดคุยกับพวกเขาถึงเป้าหมายของการต่อสู้ครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการจับกุม และความหวังที่จะได้หวนคืนสู่ ‘แผ่นดินบ้านเกิด’
เสริฐ
เสริฐ หนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเล่าว่า “เจ้าหน้าที่ติดตามตลอดตั้งแต่เรากลับขึ้นไป เขาก็บินวนมาสองสามรอบแล้ว ส่งคนมากดดันให้คนเรากลับมาอยู่ที่ด้านล่าง จนกระทั่งรอบที่สี่เขาก็ลงจาก ฮ. และมาล้อมพวกผม”
“ในตอนนั้นเขาไม่ได้ใช้กำลังกับผม แต่ใช้กับแฟนป้ากิ๊ฟ (หนึ่งในชาวบ้านบางกลอย) และคนอื่นอีก 3-4 เพราะขัดขืนไม่ยอมลงมา สุดท้ายเจ้าหน้าที่เขาก็ตัดสินใจฉุดกระชากลงมา”
หลังจากนั้น เสริฐและชาวชางกลอยคนอื่นๆ ก็ถูกพาเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกายผู้ต้องหาทั้งตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโรคและดีเอ็นเอ ก่อนต้องไปรับฟังข้อกล่าวหาในคดีบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเสริฐเล่าว่า “เขาอ่านหมายจับให้เราฟังว่าเราบุกรุกพื้นที่ตรงนั้น แต่ด้วยความไม่รู้เรื่องการเรียนการสอน และล่ามที่แปลให้เราฟังก็เป็นคนของอุทยานและแปลก็แปลไม่ได้ตรงประเด็น เพราะคนนั้นก็ไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนพวกผม ทีนี้เขาก็พาเราไปห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคุณโดนคดีแบบนี้ๆ จะรับสารภาพไหม แต่ของผมเจ้าหน้าที่ไม่อ่านให้ฟังนะ”
“ผมก็ยอมรับกับตำรวจว่าขึ้นไปจริง แต่ผมไม่ได้บุกรุก ผมกลับมาที่แผ่นดินดั้งเดิมของบรรพบุรุษ” เสริฐพูดด้วยเสียงหนักแน่นย้ำว่าเขาเชื่อในสิ่งที่พูดจริงๆ
ก่อนกล่าวถึงการโกนหัวที่เกิดขึ้นว่า “หลังจากนั้นเขาก็เอาขึ้นรถพาไปเรือนจำ และเรือนจำก็โกนหัวผม ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรม ความเชื่อของพวกเรา ถ้าไม่ตัดผมตั้งแต่เกิด หลังจากนั้นจะตัดไม่ได้อีกเลย ถ้าตัดแล้วจะไม่สบาย แม้แต่หมอก็รักษาไม่ได้ อย่างปู่คออี้เขาจะไม่ยอมให้ใครโกนหัวเลย”
“ถ้ารัฐแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เราก็อยากให้รัฐช่วยเหลือ เพราะตอนนี้โรคระบาดมันหนัก และค่าแรงที่ทำมันก็ไม่คุ้มค่ากับที่เราทำงาน เราก็ตั้งใจจะกลับไปใช้ชีวิตใหม่กลับไปทำไร่หมุนเวียนในแผ่นดินของบรรพบุรุษ” เสริฐทิ้งท้ายก่อนวิ่งไปร่วมขบวนที่กำลังเคลื่อนไปหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ
แม่กิ๊ฟ
กิ๊ฟพูดผ่านล่ามที่แปลภาษากะหร่างเป็นไทยให้เราฟังพลางลูบหัวลูกน้อยที่อยู่ข้างเธอว่า “ไม่รู้เรื่องเลยที่ประชุมกันข้างบน” เธอหมายถึงการประชุมยื่นข้อเสนอระหว่างกลุ่มภาคีบางกลอย พีมูฟ และตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา
ในช่วงหนึ่งของการประชุมระหว่างตัวแทนภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ กิ๊ฟร้องไห้ออกมา เธอให้เหตุผลว่าตอนนั้นเธอนึกถึงบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ หนึ่งในชาวบางกลอยที่สูญหายไปเมื่อปี 2557
“นึกถึงบิลลี่ เขาพยายามทำให้โลกภายนอกรับรู้ถึงปัญหาของพวกเรา แต่เขาก็ต้องหายไป ตอนนี้ก็ยังหาไม่เจอ เราก็นึกถึงเขาและก็ร้องไห้ออกมา”
“ในตอนแรกคนในหมู่บ้านและตัวกิ๊ฟเองก็ไม่เข้าใจว่าบิลลี่ทำไปเพราะอะไร แต่ก็มาเข้าใจในภายหลังว่าบิลลี่ทำไปเพื่อให้พวกเราได้อยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างเท่าเทียม”
ย้อนกลับไปในยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร ครอบครัวของกิ๊ฟตัดสินใจกลับขึ้นไปในหมู่บ้านบางกลอยบนเพื่อทำเกษตรกรรม แต่ในปฏิบัติการณ์วันนั้น สามีของเธอขัดขืนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับเขาเพื่อพาตัวลงมา เธอบรรยายถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า
“ไม่สามารถอธิบายได้ แต่ถ้าเราลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเขาอยู่ในบ้านแล้ว เราไปเอาเขามาจากบ้าน แยกลูกออกจากแม่ แยกภรรยาออกจากสามี มันจะรู้สึกอย่างไร”
และถึงแม้จะเต็มไปด้วยความกลัวในแววตา กิ๊ฟยังยืนยันว่าถ้ามีโอกาสจะกลับขึ้นไปข้างบนอีกครั้งอยู่ดี “สมมุติเราออกไปข้างนอกบ้าน เราก็อยากกลับบ้านใช่ไหม”
“มันเป็นวิธีชีวิตวัฒนธรรมของเรา เราทำในสิ่งที่เราเคยทำ ดูแลต้นไม้แบบที่เราเคยดู แต่รัฐกลับไปหาว่าเราทำลาย หาว่าเป็นที่ดินของเขา ทั้งที่เราเคยอยู่ก่อน และมาพูดว่าเราเป็นคนทำลายต้นไม้ให้เสียหาย มันไม่ใช่”
ก่อนจากกัน เราทิ้งท้ายถามเธอว่าถ้าวันหนึ่งได้กลับขึ้นไปข้างบน อยากให้ตัวน้อยขึ้นไปอยู่ด้วยไหม
“ถึงแม้จะขึ้นไปอยู่ข้างบน แต่การศึกษาของลูกสำคัญที่สุด เราต้องให้ลูกได้เรียนหนังสือ ไม่ใช่ว่าขึ้นไปแล้วไม่ให้เขาได้รับการศึกษา ยังไงๆ ลูกเราก็ต้องได้รับการศึกษา” กิ๊ฟพูดจบก็อุ้มเจ้าตัวน้อยขึ้นมานั่งตัก เด็กน้อยจ้องมาทางเราด้วยความสงสัยก่อนหันกลับไปอยู่ในอ้อมอกของแม่อีกครั้ง
พนมพร
“เขามีการล้อมเรา และวิทยุบอกให้ ฮ. ขึ้นมา พอเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสองสามเที่ยวก็มีจำนวนเยอะอยู่ เขาก็ล้อมเรา และรองหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็พูดกับเราว่าคนที่ไม่มีหมายจับจะต้องเสียค่าปรับ แต่คนที่มีจะถูกดำเนินคดี” พนมพรกล่าวต่อว่า “เขาเอาหมายจับเทียบหน้าและถ่ายรูป ก่อนเอาขึ้น ฮ. ลงมาข้างล่าง”
พนมพรเป็นชายหนุ่มวัย 25 ปี แต่ด้วยใบหน้าและรูปร่างทำให้เขาดูอายุอ่อนกว่าความจริงเกือบ 10 ปี แต่ประสบการณ์ชีวิตเขาโชกโชนอยู่ไม่น้อย เขาเคยลงมารับจ้างทำงานในเมืองเหมือนแรงงานทั่วไป ทั้งค้าขาย ก่อสร้าง และนานาอาชีพ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับขึ้นบนใจแผ่นดินร่วมกับชาวบางกลอยคนอื่นอยู่ดี ซึ่งทำให้เขาต้องเผชิญกับยุทธการของเจ้าหน้าที่และได้เป็นพยานในเหตุกาณณ์ดังกล่าว
“มีพี่คนหนึ่งที่เป็นหลายของปู่คออี้ ขาเขาเป็นแผลเดินไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ไปกระชาก แต่พี่เขาเปิดแผลให้เจ้าหน้าที่ดู ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็ลากไปเลย”
“พี่กิ๊ฟและญาติๆ เขาก็เกาะกลุ่มกันอยู่ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานก็ไปดึงตัวแฟนพี่กิ๊ฟมา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในชุดสีดำก็พูดว่า “อย่าให้กูโมโหนะ” ก็มีการฉุดกระชาก จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็จับคอและดันพี่เขาลงไปนอนกับพื้น ตอนนั้นผมก็ไม่กล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวเหมือนกัน”
หลังจากนั้น พนมพรก็ถูกพาตัวไปที่เรือนจำและถูกโกนหัว “ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไร คิดว่ามันเป็นระเบียบของเรือนจำ และคิดในใจว่าเป็นนักโทษก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเขา”
เราถามเขาต่อว่าตอนนั้นเข้าใจว่าตัวเองเป็นนักโทษแล้วหรือ ?
“ใช่ครับ” เขาตอบสั้นกระชับ
เราถามเขาต่อว่าทำไมจากคนที่เคยทำงานในเมืองถึงอยากกลับขึ้นไปข้างบน ทั้งที่รู้ว่าเจ้าหน้าที่เขาต้องไม่ยอมแน่ “ผมเคยทำงานรับจ้าง มันไม่พอ ทำได้ก็กินหมด ยิ่งมีโรคระบาด มันก็หางานไม่ได้ เหมือนอยู่ในกระทะที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ สักวันก็คงไม่ไหว แต่ถ้าได้กลับไปที่ใจแผ่นดิน เราไม่ต้องการอะไรมากแค่ให้เราทำไร่หมุนเวียนของเรา เราก็อยู่รอดได้”
“และถ้าพวกเราทำลายป่าจริง ป่าต้องหายไปหมดแล้ว เพราะพวกเราอยู่กันมานานเป็นร้อยปี ส่วนมากเราก็ปลูกผักที่กินได้ เช่น ข้าว ฟักทอง แตงกวา ถ้าปีไหนเราทำได้เยอะ ปีหน้าเราก็จะทำขนาดไร่น้อยลง ถ้าทำได้น้อย ปีหน้าเราก็ทำมากขึ้น”
กลัวไหม? ผมถามเขาสั้นๆ
“ผมกลัวนะ แต่ผมก็อยากให้รัฐให้เรากลับขึ้นไป ที่หมู่บ้านก็มีอีกหลายคนที่อยากกลับขึ้นไป แต่ไม่กล้าขึ้นไป เพราะกลัวถูกดำเนินคดี”
กอล์ฟ – พชร คำชำนาญ
กอล์ฟ – พชร คำชำนาญ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนบางกลอย และหนึ่งในแนวร่วมกลุ่มพีมูฟ แสดงความเห็นถึงการแก้ไขปัญหาของภาครัฐต่อชุมชนชาติพันธุ์บางกลอยว่า
“จริงๆ ปัญหามันก็ยืดเยื้อมาเป็น 25 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามจะผลักชาวบ้านลงมาตลอด แต่ไม่เคยมีการคุยในความต้องการของชาวบ้านเลย เจ้าหน้าที่ก็พูดแต่เรื่องบางกลอยล่าง เรื่องระบบน้ำเพื่อให้เพียงพอ มีแต่คำสัญญาว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดสรรที่ดินให้ แต่ปรากฎว่า 25 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ พวกเขาก็ไม่มีความเชื่อมั่นแล้วก็เลยตัดสินใจกลับขึ้นไป”
“มันก็มีความพยายามในการใช้ความรุนแรง โดยหลังวันที่ 9 ม.ค.ที่ชาวบ้านกลับขึ้นบนใจแผ่นดิน วันที่ 18 ม.ค.ก็มีข่าวว่าจะมีทหารเข้าไปในพื้นที่ เราก็เลยตั้งภาคีเซฟบางกลอยขึ้น เพราะเราคิดว่าถ้าทหารเข้าไปจะต้องเกิดความรุนแรงแน่ๆ เพราะมันเคยเกิดมาแล้ว”
“หลังจากนั้น ก็เกิดความเคลื่อนไหวของสังคมและมี MOU ออกมา ซึ่งเราก็คาดหวังว่า MOU ฉบับนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพราะแต่ละคนเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาทั้งนั้น รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวกะหร่างหมู่บ้านบางกลอย ซึ่งคนลงนามก็คือ รมต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราก็คิดว่าสองส่วนนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหา”
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังที่ได้ MOU (17 กุมภาพันธํ) ชาวบ้านกำลังจะขึ้นไปแต่โดนสกัดและตรวจค้นหมดเลย มีการตรวจทะเบียนรถชาวบ้านโดยส่วนปราบปราม ทั้งที่ใน MOU มีการตกลงในข้อนี้ชัดเจนว่าต้องไม่มีการคุกคามชาวบ้าน”
พชร เล่าต่อว่า “หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 19-23 ทางภาคีมีนัดลงไปเก็บข้อมูล แต่กลับเป็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินยุทธการพิทักษ์ป่าลุ่มน้ำเพชรแล้ว มีการเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านกลับลงมา และให้เซ็นสัญญาฉบับหนึ่งที่พอถามว่าชาวบ้านรู้เรื่องไหม เขาก็ตอบว่าไม่ เพราะบางคนก็ไม่รู้ภาษาไทย”
“นอกจากนี้ ก็มีการบิดเบือนข้อมูลเยอะมาก มีการบอกว่าชาวบ้านต้องการพื้นที่คนละ 15 ไร่ หมุนเวียน 10 ปี แต่ถ้าเราไปฟังคลิปเราจะรู้เลยว่ามันเป็นการถามต้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาตัวเลขตรงนี้ ซึ่งจริงๆ ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ ‘ไร่’ เพราะเขาทำไร่ทีนึงจะนับเป็นปี๊ป เป็นถัง”
พชร เล่าต่อถึงวันที่มีการจับกุมชาวบ้านบางกลอย โดยเขาเองเล่าว่าในรอบนอก “มีเจ้าหน้าที่อุทยานท่านหนึ่งที่พยายามสกัดไม่ให้ทนายและญาติเข้าไปคุยกับชาวบ้านที่ถูกคุมตัว ซึ่งผลกระทบมันก็ใหญ่หลวง เช่น เรื่องคดีความที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าสำนวนเป็นอย่างไร หรือคนที่ถูกจับพร้อมเด็ก เขาก็ไม่ให้นำเด็กเข้าไปด้วย เด็กก็ต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
พชร เล่าต่อถึงประเด็นการผลักดันให้อุทยานแก่งกระจานเป็นมรดกโลกว่า พื้นที่ป่ารอบข้างของแก่งกระจาน ไม่ว่าทุ่งใหญ่นเรศวรหรือห้วยขาแข้งกลายเป็นมรดกโลกไปแล้ว ดังนั้น ความพยายามผลักดันของรัฐจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเขามองว่า
“ผมคิดว่าอุทยานตัดเรื่องมรดกโลกไปจากสมองได้เลย ไม่มีทางที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะเป็นมรดกโลก หลังจากที่พยายามผลักดันชาวบ้านขนาดนี้ จับกุมเขา โกนหัวเขา การกระทำกับผู้หญิงและเด็ก การตรวจดีเอ็นเอที่ไม่เหมาะสม เรื่องพวกนี้ถูกสื่อสารในกระแสสังคมเยอะมาก ดังนั้น ผมคิดว่าอุทยานลืมเรื่องนี้ไปได้เลย”
พชรให้ความเห็นต่อว่า ภาครัฐไทยไม่มีแนวคิดเรื่องคนอยู่กับป่า กล่าวคือ เขามองว่าป่าอยู่ส่วนป่า และคนควรอยู่ส่วนคน ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ เขากล่าวว่า
“ถ้าเรามองจากกฎหมายต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อจัดการเรื่องป่า เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ก็เป็นความพื้นที่ป่าไม้กว้างมาก ทำให้พื้นที่ไหนที่ไม่มีโฉนดกลายเป็นพื้นที่ป่าไม้หมดเลย แม้ตรงนั้นจะมีนา ไร่หมุนเวียน หลังคาบ้าน หรืออื่นๆ”
“ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าต้องไปออกโฉนด เพราะทุกอย่างเป็นของธรรมชาติ พวกเขาเลยกลายเป็นคนผิดกฎหมายตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ออกมา อย่างปู่คออี้เกิดปี 2454 หรือก่อนกฎหมายฉบับนี้ออก 30 ปี แต่ก็กลายเป็นคนผิดกฎหมายเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้”
“หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กฎหมายเหล่านี้พยายามทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นป่า และกดทับชีวิตคนๆ หนึ่งด้วยกฎหมายหลายข้อ จนเป็นว่าบางคนยังไม่ออกจากท้องแม่ก็ผิดกฎหมายแล้ว”
“เราคิดว่าทุกครั้งที่รัฐพยายามพูดเรื่องการอนุรักษ์ โดยอ้างเรื่องความอุดมสมบูรณ์ จรรโลงใจ ถ้าเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามันมีเรื่องผลประโยชน์ภายในด้วย อุทยานมองว่าป่ามันคือแหล่งหาเงิน แต่สำหรับชาวบ้านป่าและที่ดินคือชีวิต”
พชรเล่าต่อถึงพื้นที่ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ในปี 2514-2524 เคยเปิดให้บริษัทเอกชนทำสัมปทานป่าไม้ จนสุดท้ายพื้นที่ป่าลดลงมาก จนเขาใช้คำว่า ‘เละ’ “อย่างแก่งกระจานในปี 2514-2524 ก็เปิดเป็นช่วงสัมปทานป่าไม้จนเละไปหมด แต่พอหลังปี 2524 ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานเลย มาผันตัวเป็นนักอนุรักษ์สุดโต่ง บอกชาวบ้านทำลายป่า ต้องเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่ คิดดูมันจะมาอนุรักษ์ได้อย่างไร มันดัดจริต”
“นอกจากนี้ ทุกวันนี้ก็มีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้อีก และจะมาบอกว่าอนุรักษ์ได้อย่างไร มันไม่สมเหตุสมผล เพราะสุดท้ายคุณก็เอาเข้า ครม. และให้ภาคเอกชนได้สัมปทานไป” พชรทิ้งท้าย
การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านบางกลอยยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะในตอนนี้ข้อถกเถียงใหญ่ระหว่างภาครัฐและชาวบ้านดูจะไปถึงเรื่องแนวคิดระหว่าง ‘คนกับป่า’ เพราะฝ่ายหนึ่งมองว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและอนุรักษ์ไปด้วยกันได้ ขณะที่อีกฝ่ายยังมีความเชื่อฝังหัวว่าป่าอยู่ส่วนป่า และคนอยู่ส่วนคน ไม่มีทางที่จะไปร่วมกันได้ในเชิงอนุรักษ์
นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐยังต้องติดตามดูดเช่นกัน เพราะหลายๆ ครั้ง คำสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวบ้านบางกลอยกลับให้ผลไม่เหมือนในเพลงที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา” เสียแบบนั้น อย่างที่เกิดมาแล้วหลังการเซ็น MOU ระหว่างชาวบ้านบางกลอยและเจ้าหน้าที่รัฐ
Photograph By Sutthipath Kanittakul
Illustrator By Sutanya Kim