ลืมตาตื่นขึ้นมาก็แหกขี้ตาไปทำงาน เราทุ่มเทเวลามากมายไปกับการหาเงิน
พอหมดวัน หมดวันหยุด หมดไปแล้วเป็นเดือน เป็นปี ก็มักจะมีสัจธรรมสุดคมผุดขึ้นมาในหัวว่า ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ เป็นอนุสติที่เตือนใจแก่คนบ้างานว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต หลายๆ อย่างเงินก็ซื้อไม่ได้
แต่สารพัดอย่างมักใช้เงินอำนวยได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยๆ ถ้าจะเอาชีวิตรอดในโลกทุนนิยม เงินก็ดูจะเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะทำให้เรามีที่อยู่ มีอาหาร มีความสะดวกต่างๆ ขนาดจะออกไปใช้ชีวิตแบบยังชีพ เอาเข้าจริงก็ต้องมีเงินอยู่ดี
เอาล่ะ ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงที่เราจะต้องเลือกเงินหรือเวลาไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันคือเราจะสร้างสมดุล หรือจะเลือกอะไรมาก่อนดีระหว่างเงินและเวลา เราจะเลือกงานที่จ่ายเราหนักๆ แต่ไม่มีเวลาแม้แต่จะนอน หรือทำงานที่เงินน้อยกว่าแต่มีเวลาให้กับเรื่องอื่นๆ มากกว่า
เวลาคือเงิน แนวคิดเรื่องกระแสของสรรพสิ่ง
เวลาเป็นเงินเป็นทองเป็นคำสอนที่บอกเราว่าไม่ให้ขี้เกียจแล้วเอาเวลาไปหาเงินหาทองซะ เดิมมักอ้างไปที่เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์และรัฐบุรุษของอเมริกา ผู้ที่นอกจากจะค้นพบไฟฟ้าแล้วยังมีงานเขียนสอนใจมากมาย วลีว่าเวลาเป็นเงินเป็นทองก็มาจากความเรียงชื่อ ‘Advice to a Young Tradesman‘ เป็นคำแนะนำให้กับพ่อค้าวัยเยาว์ ในส่วนของ ‘เวลาคือเงิน’ พี่แกบอกว่า นี่ไงถ้าเธอโดดงานไปครึ่งวันนะ รายได้ก็จะหายไปตาม ดังนั้นเวลาเป็นเงินเป็นทอง อย่าปล่อยไปให้เสียเปล่า
แนวคิดเรื่องเวลามีความสำคัญมีมาตั้งนานนมแล้ว เช่นในสมัยกรีกก็มีคำกล่าวว่าเวลาเป็นของมีค่า (tyme is precious) แต่วิธีคิดในยุคก่อนระบบทุนนิยมอาจจะไม่ได้มองเวลาในฐานะสิ่งที่เราเอาไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะรายได้อย่างที่โลกสมัยใหม่มีการคิดคำนวนเปรียบเทียบเวลาต่อค่าจ้างรายชั่วโมง หรือคิดคำนวนพวกค่าเสียโอกาสที่เราเอามาเฉลี่ยไปเปรียบเทียบเป็นรายชั่วโมงออกมาเป็นมูลค่าอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ดังนั้น ในโลกทุนนิยมก็สามารถที่จับและทำ ‘เวลา’ ที่แสนจะเป็นนามธรรม ให้เป็นสินค้า (commodified) ให้กลายเป็นกระแสหรือ currency หนึ่งที่เรานึกถึงมันในฐานะกระแสของสิ่งที่มีค่า ที่ถูกเอาไปใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งมีค่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ความสุข สุขภาพ หรือแม้กระทั่งความรัก เราก็เลยมองว่า เราจะเอาเวลาไปแลกกับอะไรดี
เพื่อสร้างชีวิตที่มีสมดุล … และสมดุลก็อาจจะพอนำไปสู่ความสุขได้…ล่ะมั้ง
เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ถ้าเลือกได้ ก็เลือกเงิน?
เราอยู่ในโลกที่สรรพสิ่ง(ส่วนใหญ่) กำหนดได้ด้วยเงิน ในขณะเดียวกันเราก็จะรู้สึกว่าเงินมันก็ไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้ามีคนมาถามเราว่าเวลากับเงินเลือกอะไร คำตอบหล่อๆ ก็น่าจะเป็นเวลาเนอะ ดูเป็นคนอบอุ่น ไม่เห็นแก่เงินอะไรขนาดนั้น แต่ในงานศึกษาในประเด็นเรื่องเงิน vs. เวลา ดูเหมือนว่าคนเราจะ ‘พูดตรงๆ’ กันมากกว่านั้น ว่า ‘เงินน่ะมันสำคัญแหละ’
มีงานศึกษาชื่อ ‘People Who Choose Time Over Money Are Happier’ – อืม อันนี้ชื่อบทความวิชาการเนอะ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ‘Social Psychological and Personality Science’ ทำการสำรวจชาวอเมริกันว่า ถ้าให้เลือกระหว่างเงินกับเวลาจะเลือกฝั่งไหน
ผลคือ (ถึงเราจะรู้ว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง) 64% จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันประมาณ 4500 คน บอกว่า ‘เลือกเงิน’
แต่เงินไม่ใช่คำตอบ เพราะเวลานำไปสู่ความสุขมากกว่า?
จากชื่องานศึกษาที่บอกว่า ‘คนที่เลือกเวลาจะมีความสุขมากกว่า’ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในการวิจัยเลือกเงิน แต่ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่ากลุ่มคนที่เลือกเวลามีแนวโน้มจะมีความสุขมากกว่า
ทางทีมวิจัยบอกว่า ประเด็นของเรื่องเวลาปะทะเงิน ขึ้นอยู่กับการที่คนแต่ละคนให้คุณค่ากับทรัพยากรแต่ละอย่างต่างกันออกไป คือนอกเหนือไปจากว่าเรามีอะไรแล้ว ความสุขของเรามักขึ้นอยู่กับว่าเรา ‘ต้องการ’ อะไร
ดังนั้น จริงๆ แล้วเวลาดูเหมือนจะเป็นต้นทุนที่เรามีกันทุกคน แต่เงินเป็นสิ่งที่เราต้องเอาเวลาไปแลกมา ถ้าเราอยากได้ของที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเราจะมีความสุขง่ายกว่าการมีเงินเป็นเป้าหมาย
จากงานศึกษาในอเมริกาดังกล่าวพบว่า คนที่มีอายุมากกว่าจะให้ความสำคัญหรือต้องการเวลามากกว่า ในขณะที่คนอายุน้อยกว่าจะเลือกเงิน
นอกจากในอเมริกาแล้ว คณะนักวิจัยในแคนาดาเองก็ทำการสำรวจแล้วได้คำตอบในทำนองเดียวกัน นักวิจัยจาก University of British Columbia ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 4,600 รายโดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเป็นความร่ำรวยกับอีกกลุ่มมีเป้าหมายเป็นเวลา ผลคือทีมพบว่าคนที่มีอายุมากกว่าจะเลือกเวลาเช่นเดียวกัน
แต่งานศึกษาทั้งสองอาจจะยังมีบางสิ่งที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น คนที่มีอายุมากกว่า อาจจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว มีรายได้ที่มากแล้ว ก็เลยให้คำตอบว่าเลือกเวลา แล้วก็รู้สึกว่ามีความสุขกว่า
คือสุดท้ายก็ต้องมีเงินก่อนเนอะถึงจะพูดแบบนี้ได้