ขอต้อนรับเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ
เมื่อฤดูฝนมาเยือน นอกจากต้องมานั่งคาดเดาให้ปวดหัวว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ จะตกหลังเลิกงานไหม รวมถึงความเฉอะแฉะตามท้องถนนระหว่างช่วงหน้าฝน ซึ่งล้วนสร้างความลำบากใจให้เราไม่น้อยแล้ว ปัญหาเรื่อง ‘ยุง’ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับฝนด้วย
อย่างไรก็ตาม ยุงไม่เพียงก่อความรำคาญใจให้เราเท่านั้น ทว่ายุงบางสายพันธุ์กลับเป็นพาหะนำโรค ซึ่งสามารถทำให้เราเจ็บป่วยอย่างรุนแรงได้ อย่างในบ้านเรา ยุงลาย ถือเป็นเป็นตัวปัญหาสำคัญในช่วงฤดูในฝนเลยก็ว่าได้ เพราะมันคือพาหะนำโรคร้ายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก โรคไข้ชิคุนกุนยา และโรคไข้ซิกา
หากพูดถึงในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกก็ถือเป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก โดยคือโรคติดต่อจากยุงสู่คนผ่านการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ที่มากับยุงลาย และที่ต้องบอกว่าอันตรายเพราะจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2024 โดยกรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรวมทั้งหมดถึง 105,250 รายกระจายทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย แถมยังพบในแทบทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่เลย
มาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเริ่มเห็นกันแล้วว่า ยุงเป็นวายร้ายสำหรับมนุษย์เรามากเพียงใด แต่ความร้ายกาจของยุงไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในยุคสมัยเรานะ ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมา ยุงก็ถือเป็นหนึ่งในวายร้ายตัวฉกาจของมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนลาตินอเมริกา
โลกใหม่กับโรคใหม่
แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่อเมริกา ทั้งอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีผู้คน สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งก่อกำเนิดเป็นอารยธรรมอันหลากหลายมาร่วมหลายพันปี กระทั่งการย่างกรายมาถึงพื้นที่แห่งนี้ของชาวยุโรป โลกใหม่ (ตามที่พวกเขาอ้างถึง) จึงเปลี่ยนไปตลอดกาล
นับตั้งแต่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เหยียบลงบนแผ่นดินของเกาะในทะเลแคริบเบียนในปี 1492 เรื่อยมาจนถึงการเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ บนผืนทวีปอเมริกาของจักรวรรดิสเปนและประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่ทยอยตามกันมา ชาวยุโรปไม่เพียงแต่เอาของจากโลกใหม่กลับไปยังโลกเก่า ทว่ายังนำของจากโลกเก่ามาฝากผู้คนบนโลกใหม่ด้วย และโรคภัยไข้เจ็บนั้นถือเป็นของฝากอันไม่น่าพิสมัยชิ้นหนึ่งซึ่งได้ติดมากับเรือด้วย
ไข้เหลือง คือหนึ่งในโรคที่เดินทางมาสู่พื้นที่ลาตินอเมริกา จนกลายเป็นโรคใหม่ที่โลกใหม่ต้องเผชิญ แต่หลายคนก็อาจสงสัยว่า ไข้เหลืองอันเป็นโรคที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ที่แพร่เชื้อโดยยุงลาย จะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้อย่างไร เพราะสมัยก่อนการจะข้ามมหาสมุทรได้ต้องใช้เวลาหลายเดือน และยุงซึ่งมีอายุมากสุดไม่เกินเดือนคงไม่น่าจะอยู่มาถึงได้
แน่นอนว่ายุงลายคงไม่ได้โดยสารเรือแล้วอยู่รอดมาจนถึงลาตินอเมริกา หรือบินข้ามมหาสมุทรมาเองได้ แต่พวกมันเดินทางมาพร้อมกับเรือขนทาสจากแอฟริกา ซึ่งได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหลายชีวิตผ่านสภาพแวดล้อมบนเรือ เพราะแค่แหล่งน้ำนิ่งเพียงเล็กน้อย ยุงก็สามารถวางไข่และฟักตัวออกมาได้ แถมทาสชาวแอฟริกาที่ถูกนำมาก็อาจติดเชื้อจากยุงลายพวกนี้เช่นเดียวกัน เมื่อประตูเรือเปิดออกท่ามกลางสภาพอากาศเขตร้อนที่ไม่ต่างอะไรกับสรวงสวรรค์ของยุงลาย มันจึงเริ่มขยายพันธุ์จนกลายเป็นแมลงและโรคประจำถิ่นของลาตินอเมริกา
การมาถึงของยุงจากต่างถิ่นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแค่ในแง่ของธรรมชาติ แต่มันกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมนุษย์ในระดับสังคมและวัฒนธรรมเลยทีเดียว ไข้เหลืองเริ่มระบาดในพื้นที่ลาตินอเมริกาครั้งแรกราวๆ ปี 1647 ณ บริเวณพื้นที่เกาะบาร์เบโดส ซึ่งข้อมูลจาก The History of Barbados โดย เซอร์ โรเบิร์ต แฮร์มันน์ ชอมเบิร์ก (Sir Robert Hermann Schomburgk) นักสำรวจชาติพันธุ์วิทยาและพฤกษศาสตร์ในอเมริกาใต้และหมู่เกาะเวสต์อินดีส ได้เล่าเอาไว้ว่า ไข้เหลืองเริ่มระบาดขึ้นในปีดังกล่าว โดยผู้ติดเชื้อจะอาเจียนออกมาเป็นของเหลวสีดำ ตาและผิวหนังของพวกเขาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผู้ป่วยบางคนก็หมดสติและไม่ฟื้นกลับขึ้นมาอีกเลย
คนขาวชาวยุโรปจำนวนมากที่เดินทางมาเพื่อหวังทำงานและตั้งถิ่นฐานที่โลกใหม่ ต่างต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของไข้เหลืองจนเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่าหลายพันคน เพราะชาวยุโรปจำนวนมากไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าวมาก่อน ขณะที่ทาสผิวดำเคยเผชิญกับเชื้อดังกล่าวมาแล้วที่แอฟริกา จึงทำให้พวกเขามีชีวิตรอดมากกว่าคนขาว
ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าของไร่ผู้เป็นคนขาวจึงเริ่มหันมาใช้แรงงานทาสผิวดำแทน เพราะพวกเขาทนทานต่อโรคนี้มากกว่า การค้าทาสจึงค่อยๆ เริ่มเฟื่องฟูขึ้น ประชากรของบาร์เบโดสก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป คนดำเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จนท้ายที่สุดในปี 1660 บาร์เบโดสก็กลายมาเป็นสังคมทาสแห่งแรกของจักรวรรดิอังกฤษ
ยุงจึงไม่ใช่แค่แมลงตัวจ้อย แต่มันคือแมลงตัวเล็กที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมมนุษย์ได้ในระดับมหาศาล ทิโมธี ซี. ไวน์การ์ด (Timothy C. Winegard) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ The Mosquito: A Human History of Our Deadliest Predator ได้กล่าวว่า ยุงนี่แหละคือตัวการสำคัญซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่พื้นที่ลาตินอเมริกาแทบจะทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่การทำให้ประชากรดั้งเดิมของอเมริกา ตลอดจนแรงงานคนขาวที่เข้ามาใหม่ลดลงไปหลายล้านคนในระยะเวลาเพียงสั้นๆ จนนำไปสู่การพัฒนาการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านของประชากรศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนในหลากหลายประเทศ
จากแง่มุมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แปลกใจเลยหากไวน์การ์ดจะเรียกยุงว่าเป็น ‘นักล่าสูงสุดของมนุษย์’ (ในหนังสือใช้คำว่า ‘our apex predator’) เพราะจากการมาเยือนของยุงลายบนแผ่นดินลาตินอเมริกาเพียงแค่ไม่กี่สิบตัว ก็ได้ทำให้เห็นแล้วว่าพวกมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อมนุษย์ได้มากมายขนาดไหน
เมื่อการสร้างคลองปานามาถูกขัดขวางโดยยุง
เหตุการณ์ระบาดของไข้เหลืองในบาร์เบโดสนั้น เป็นแค่จุดเริ่มต้นของศึกระหว่างมนุษย์กับยุง แต่ถ้าจะบอกว่าเหตุการณ์ไหนในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนสุดว่า มนุษย์เราพ่ายแพ้ต่อแมลงตัวจ้อยนี้ ก็คงต้องยกให้กับยุคสมัยการสร้างคลองปานามา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
แล้วทำไมต้องเป็นเหตุการณ์นี้ด้วย? เราอยากให้ทุกคนลองนึกภาพถึงทวีปอเมริกาบนแผนที่ดูแล้วจะพบว่า การจะแล่นเรือจากมหาสมุทรแอตแลนติกข้ามไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกได้นั้นมีอยู่แค่ทางเดียว คือต้องแล่นเรือผ่านทางใต้สุดของผืนทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเสียทั้งเวลาและเงินจำนวนมหาศาล ดังนั้น หากมีคลองสักแห่งที่สามารถเชื่อมทั้ง 2 มหาสมุทรเข้าไว้ด้วยกัน ก็คงช่วยประหยัดเงินและเวลาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
การสร้างคลองปานามาจึงกลายเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพราะมันจะกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกสมัยใหม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ในปี 1881 หลังประสบความสำเร็จจากการขุดคลองสุเอซของฝรั่งเศสในอียิปต์ และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนแรงกดดันทางการค้า ฝรั่งเศสจึงแบกเอาความภาคภูมิใจนี้มารับหน้าที่เป็นตัวแทนในการขุดคลองปานามาแห่งนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มขุดไปเรื่อยๆ ฝรั่งเศสกลับพบว่า การขุดคลองปานามายากลำบากกว่าที่คาดไว้ เพราะภูมิประเทศซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาและป่าเขตร้อนชื้น ไม่ได้เป็นทะเลทรายราบเรียบแบบอียิปต์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องดินถล่มอยู่บ่อยครั้ง
และนอกจากปัญหาด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยุง วายร้ายตัวจ้อยของมนุษย์ก็ได้เริ่มสำแดงฤทธิ์แก่ชาวฝรั่งเศส เมื่อแรงงานที่มาขุดคลองเริ่มเผชิญกับอาการป่วยจากไข้เหลืองและมาลาเรีย จาก Panama Canal Collection, 1846-1923 ของ นิโคลาส เอ.บี. (Nichols A. B) และคณะ บันทึกว่า ฝรั่งเศสมีการก่อสร้างโรงพยาบาล Colón ไว้บนน้ำเพื่อรับลมทะเล โดยไม่มีมุ้งลวดกั้นหน้าต่าง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสยังไม่รู้ว่าแม้จะเป็นน้ำทะเล แต่ยุงบางชนิดซึ่งเป็นพาหะนำโรค (ยุงสายพันธุ์ Anopheles albimanus) ก็สามารถวางไข่ได้หากเป็นน้ำนิ่ง ด้วยเหตุนี้ แรงงานฝรั่งเศสกว่า 22,000 คน จึงเสียชีวิตด้วยโรคไข้เหลืองและมาลาเรียในระหว่างการขุดคลอง
ท้ายที่สุดในปี 1889 ฝรั่งเศสก็ไม่ประสบความสำเร็จในการขุดคลองปานามา เมื่อคลองถูกขุดขึ้นมาเพียงแค่ 2 ใน 5 แต่ใช้เงินไปแล้วกว่า 287,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงิน ณ ช่วงเวลานั้น) โครงการจึงต้องยุติลง
ความพยายามในการขุดคลองปานามา นับเป็นอีกหนึ่งความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติต่อธรรมชาติ จากยุงที่ได้คร่าทั้งเวลา เงินทอง ตลอดจนชีวิตของมนุษย์ไปอย่างมหาศาล ก่อนจะกลายเป็นบทเรียนสำคัญของมนุษย์ต่อการเรียนรู้ที่จะรับมือกับความร้ายกาจของแมลงตัวจ้อยชนิดนี้
แล้วในไทยล่ะ ยุงร้ายแค่ไหนกัน?
ข้ามมหาสมุทรกลับมาสู่ประเทศไทยกันบ้าง ยุงเองก็เป็นแมลงที่มีอยู่ควบคู่คนไทยมาช้านาน แม้จะไม่มีจุดเริ่มต้นหรือที่มาที่ไปชัดเจน แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขตร้อนชื้นไม่ต่างจากลาตินอเมริกาเท่าไหร่นัก ยุงจึงขึ้นแท่นเป็นวายร้ายตัวเป้งของคนไทยเลยก็ว่าได้
ในอดีตมีบันทึกโรคที่เกิดจากยุงไว้ด้วยชื่อ ‘ไข้จับสั่น’ ในหนังสือจากสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เมื่อปี 1930 (พ.ศ. 2473) เกี่ยวกับไข้จับสั่นว่า เป็นโรคที่ทำให้ราษฎรล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าโรคอื่นๆ ในปีหนึ่งมีคนตายด้วยโรคนี้ประมาณ 50,000 คน ปัญหาเกี่ยวกับยุงจึงเริ่มเป็นที่สนใจของภาครัฐมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องยุงก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ไข้จับสั่นยังคงเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในไทย ณ เวลานั้น โดยมีคนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 3-4 หมื่นคนแทบทุกปี จวบจนกระทั่งปี 1943 (พ.ศ. 2486) ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีรายงานว่า จำนวนผู้บาดเจ็บจากสงครามน้อยกว่าผู้เสียชีวิตจากไข้จับสั่นเสียอีก ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะกัมการปราบปรามไข้จับสั่น’ ขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องยุงอย่างจริงจัง
กระทั่งการขึ้นเป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 ของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังคงให้ความสนใจกับปัญหาจากยุง โดยในปี 1948 (พ.ศ. 2491) กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้มีการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกจัดพ่น ดี.ดี.ที. (D.D.T.) เพื่อควบคุมโรคมาลาเรีย ตลอดจนมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนบุกเบิกพื้นที่ป่าสำหรับทำมาหากิน เช่น นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จ.สระบุรี และนิคมสร้างตนเอง จ.ลพบุรี
หลังจากช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัญหาเรื่องยุงและโรคที่เกิดจากยุงก็ยังคงอยู่ในความสนใจของรัฐบาลไทยและได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่อยมา ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้เรื่องยุงแก่ประชาชน การปลูกฝัง ตลอดจนการลงพื้นที่ปราบปราม อย่างการออกหน่วยมาลาเรียเคลื่อนที่ เป็นต้น
เราจึงเห็นได้ว่า ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษย์ ยุงถือเป็นหนึ่งในวายร้ายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่มนุษย์เรา ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับชาติ แม้หลายครั้งเราจะพยายามโต้กลับและหาทางเอาชนะวายร้ายรายนี้ แต่ท้ายสุดแล้ว ยุงก็ยังคงสร้างปัญหาให้กับมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะรู้แล้วว่ายุงคือต้นตอของหลายโรคภัยไข้เจ็บ แต่การจัดการยุงได้อย่างหมดจดสิ้นซากนั้นก็เป็นเรื่องยาก เพราะจากตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยุงยังคงเป็นคู่ขัดแย้งกับมนุษย์ต่อไปไม่จบสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการหาทางป้องกัน หากมีแหล่งน้ำนิ่งหรือน้ำขังก็ต้องเททิ้ง รวมถึงผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งก็สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยากันยุง
เราอาจไม่สามารถชนะยุงได้ในวันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องพ่ายแพ้ต่อยุงเหมือนกับหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ถ้าเรามีการป้องกันและการจัดการที่ดีขึ้น
อ้างอิงจาก