ในบรรดาจุดขายทั้งหมดในโลกของเกม โดยเฉพาะเกมแนวสวมบทบาท (RPG – Role Playing Game) ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักพัฒนาเกมค่ายแล้วค่ายเล่าใช้ ‘ประวัติศาสตร์’ แทบทุกแขนงเป็นบ่อเกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ รังสรรค์เส้นเรื่อง กราฟิก และระบบเกม หลายเกมไปไกลกว่าใช้ประวัติศาสตร์เป็นแค่ ‘กิมมิก’ ขายเกม แต่พยายามสร้างบรรยากาศย้อนยุคและประสบการณ์ชนิด ‘สมจริง’ ถึงแม้ข้อมูลจะไม่ ‘เที่ยงตรง’ ถูกต้องทุกอณูก็ตาม ดังตัวอย่างเกม Assassin’s Creed: Origins ที่ผู้เขียนเคยแนะนำไปแล้วก่อนหน้านี้
Kingdom Come: Deliverance เกมสวมบทบาทมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (first-person RPG) ผลงานชิ้นแรกจาก Warhorse Studios สตูดิโออินดี้ในสาธารณรัฐเช็ก เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเกม ด้วยการเป็น RPG เกมแรกที่นำรายละเอียดชนบทของเช็กยุคกลางกว่าหกร้อยปีที่แล้ว สมัยที่ยังเรียกว่า อาณาจักรโบฮีเมีย (Bohemia) มาสร้างเกมที่ทีมพัฒนากล้าประกาศว่า เที่ยงตรงตามประวัติศาสตร์ทุกรายละเอียด ตั้งแต่กราฟิกไปจนถึงระบบย่อยทุกระบบในเกม โดยลงทุนจ้างนักประวัติศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด ให้ข้อมูลทุกเรื่องตั้งแต่สถาปัตยกรรมสมัย ค.ศ. 1403 แฟชั่นเสื้อผ้าที่คนใส่ เกราะของอัศวิน ไปจนถึงต้นไม้ใบหญ้าและพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกบริเวณนั้นในสมัยนั้น
ทว่าในขณะเดียวกัน เกมนี้ก็จุดประกายการถกเถียงอย่างร้อนแรงและน่าสนใจอย่างยิ่งในหมู่เกมเมอร์และนักวิจารณ์เกม ความที่ผู้สร้างประกาศว่าเกมนี้ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่ตัวเกมโดยรวมกลับส่อความจงใจและทัศนคติบางอย่างที่ ‘บิดเบือน’ ประวัติศาสตร์ เพราะสุดท้ายแล้วก็สร้างตามขนบ ‘แฟนตาซีของผู้ชายผิวขาว’ ไม่ต่างจากเกมแนว RPG ทั่วไป
ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์หลายประการ และความฉลาดของทีมพัฒนาในการ ‘แปลง’ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากเช็กยุคกลางมาเป็นระบบเกม ทำให้ Kingdom Come: Deliverance ควรค่าแก่การเล่น และคู่ควรกับยอดขายถล่มทลายนับล้าน เพราะเกมนี้ให้เราเล่นเป็นชาวบ้านในยุคนั้น ชื่อ เฮนรี (Henry) ลูกชายช่างตีดาบในหมู่บ้าน เฮนรีไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่หรือวีรบุรุษผู้มีพลังเหนือมนุษย์ หากแต่เขาเป็นหนุ่มหน้าตาธรรมดา สู้กับใครไม่ค่อยเป็น ก่อนเริ่มเกมเราจะต้องเลือกด้วยซ้ำว่าเฮนรีมีจุดอ่อนอะไรที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น กระดูกพรุน (ถ้าล้มจะเจ็บหนักกว่าปกติ) หิวง่าย (ต้องกินอาหารถี่กว่าปกติ) ฯลฯ
ชีวิตเรียบง่ายของเฮนรีในชนบทเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อกองทัพภายใต้ปรมาภิไธยของพระเจ้าซิจิสมุนด์(Sigismund) แห่งลักเซมเบิร์ก ยาตรามาบุกบ้านเกิดของเขา แหล่งเหมืองเงินสำคัญในอาณาจักรโบฮีเมีย
นวัตกรรมที่เจ๋งมากและสนุกมากของ Kingdom Come: Deliverance อยู่ที่การออกแบบระบบเกมทั้งหมดในเกมตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ในทางที่สดใหม่และทำให้เรา (คนเล่น) รู้สึกว่ามีทางเลือกจริงๆ ในการตัดสินใจ
ยกตัวอย่างเช่น ระดับ ‘เสน่ห์’ ของเราในเกมนี้ขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม ซึ่งในโบฮีเมียยุคกลางหมายถึงชื่อเสียงในชุมชนและรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งรวมทั้งหน้าตาและเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ถ้าเราดอดไปขโมยของในบ้านคนและถูกจับได้ ชื่อเสียงเราจะต่ำตม พูดอะไรคนก็ไม่อยากเชื่อ ต่อราคาเวลาซื้อของก็ยากเย็น ถ้าเราถูกต่อยเลือดกบปาก หน้าตาบวมปูด หรือกลิ่นตัวโชยเพราะไม่ได้อาบน้ำมานาน หรือว่าเสื้อผ้าเปียกมะล่อกมะแล่ก โคลนติดเต็มตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าเพราะตะกายหนีกองทหารลงไปในโคลน เสน่ห์เราจะลด คนไม่อยากคุยด้วย
รูปลักษณ์ของเราส่งผลต่อการออกแบบเควสท์ (พันธกิจ) เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เควสท์แรกๆ ในเกมเปิดทางเลือกให้เราหาเกราะทหารรวมถึงหมวกเหล็กมาสวมเพื่อปิดหน้า จะได้สามารถลักลอบออกจากป้อมปราการกลับบ้านเก่า เล่นต่อมาอีกหลายเควสท์ เราก็จะเจอทางเลือกที่จะแทรกซึมเข้าไปในอารามคริสต์ ซึ่งแปลว่าต้องหาเสื้อคลุมของพระมาปลอมตัว เพราะอารามในยุคกลางไม่อนุญาตให้คนอื่นนอกจากพระเข้าไปข้างใน
ระบบการสนทนาในเกมนี้สนุกสนานและถูกต้องตามประวัติศาสตร์เช่นกัน ปกติเวลาคุยกับใครสักคน เราจะมีทางเลือกว่าจะใช้วิธีข่มขู่คุกคาม ติดสินบน หรือโปรยเสน่ห์ให้คล้อยตาม ถ้าเราพยายามข่มขู่อัศวินร่างใหญ่ใส่เกราะทั้งตัว เห็นชัดว่าแข็งแรงกว่าเรามาก ขณะที่สารรูปของเราซอมซ่อมอซอเหมือนขอทาน อัศวินคนนั้นก็มีแนวโน้มว่าจะยักไหล่ไม่ยี่หระ ตะบันหน้าเราอย่างมั่นใจในความเหนือของตัวเอง
‘ความสมจริง’ อีกเรื่องในเกมนี้ที่สนุกดีคือระบบการพัฒนาตัวเองหรืออัพเลเวล Kingdom Come: Deliverance ต่างจากเกมแนวสวมบทบาททั่วไปที่ให้เพิ่มทักษะอะไรก็ได้ที่ต้องการเมื่อได้ประสบการณ์ถึงระดับหนึ่ง แต่ในเกมนี้ ความสามารถต่างๆ จะเพิ่มโดยอัตโนมัติเมื่อเราใช้มันมากๆ เช่น ยิ่งเราพยายามต่อสู้ด้วยดาบ ทักษะการฟันดาบของเรายิ่งดี หรือยิ่งเราพยายามใช้วาทศิลป์แก้ปัญหามากกว่าพละกำลัง ทักษะการทูตและเสน่ห์ของเราก็จะพัฒนามากขึ้น
ความใส่ใจของทีมพัฒนาในการแปลงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาเป็นระบบเกมดังตัวอย่างข้างต้น แบบที่สดใหม่และคัดง้างกับขนบ ‘วีรบุรุษ’ ของเกมแนวสวมบทบาททั่วไป ทำให้ Kingdom Come: Deliverance เป็นเกมที่สนุกชนิดติดหนึบวางไม่ลง (แต่ต้องแพทช์ (patch) แก้บั๊กไปหลายรอบ) แต่ในขณะเดียวกัน เกมนี้ก็มีความลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองสูง เพราะยอมรับในขนบ (ที่ไม่ค่อยดีนัก) อีกหลายอย่างของเกมแนวนี้ – ขนบที่อาจเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘แฟนตาซีของผู้ชายผิวขาว’ (white male fantasy) นั่นคือ บรรดาผู้ชายทั้งหลายในเกมดู ‘แมน’ สมชาย มั่นใจในตัวเอง ขณะที่ผู้หญิงทุกคนมีบทบาทเพียงสนองตัณหาของผู้ชาย ยอมทำตามอย่างว่าง่าย หรือเข้าฉากเป็นตัวประกอบ แม้แต่ตัวเราเองคือเฮนรี ซึ่งเริ่มเกมในฐานะชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง ก็สามารถไต่เต้าจนประสบความสำเร็จในชีวิตโบฮีเมียยุคกลาง ได้ทุกอย่างที่ต้องการทั้งอำนาจ เงิน และแน่นอน เซ็กซ์ …ตั้งแต่เซ็กซ์กับสาวโรงอาบน้ำ (bathhouse วิธีอาบน้ำหลักในเกม) ไปจนถึงเมียเจ้าเมืองผู้สูงศักดิ์ (การมีเซ็กซ์กับสาวในโรงอาบน้ำจะทำให้เราได้พลังชั่วคราวที่เกมตั้งชื่อว่า ‘alpha male’ (ชายเหนือชาย) เพิ่มค่าเสน่ห์ชั่วคราว)
นอกจากทัศนคติเหยียดเพศ (ตามขนบ white male fantasy) แล้ว Kingdom Come ยัง ‘ผลิตซ้ำ’ แบบฉบับ (stereotypes) ที่ซ้ำเติมค่านิยมเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดในเหยียดอื่นๆ ในสังคม
เช่น เกย์ทุกคนในเกมคือตัวร้าย ทุกชนชาติที่ไม่ใช่ชาวเช็กถูกวาดภาพว่าเลวร้ายหรือด้อยกว่าชาวเช็ก –เผ่าคิวแมน (Cumans รับจ้างมารบในโบฮีเมีย) จากตุรกีล้วนเป็นคนป่าเถื่อนกระหายเลือด ชาวฮังกาเรียนและเยอรมันบ้าสงคราม ฯลฯ
การสร้างโลกแบบ ‘แฟนตาซีของผู้ชายผิวขาว’ทำ ให้Kingdom Come: Deliverance ลงเอยไม่ต่างจากเกมแนวสวมบทบาทชื่อดังเกมอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในโลกแฟนตาซีเต็มที่ (เวทมนตร์และสัตว์ประหลาด) อย่าง Witcher 3 และ Elder Scrolls: Skyrim ไม่อวดอ้างความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่ตอบสนองต่อแฟนตาซีของผู้ชายผิวขาวแบบเดียวกัน ทำให้เกมนี้ถึงที่สุดแล้วให้ประสบการณ์ไม่ต่างกันมากนัก เมื่อเวลาไปไม่กี่ชั่วโมงในเวลาจริง หลังจากที่ความสดใหม่ของระบบเกมเริ่มจางหาย เราก็จะคุ้นเคยกับโลกในเกมอย่างรวดเร็ว
บนเว็บไซต์รีวิวเกม Rock Paper Shotgun คอลัมนิสต์ แอนเดรียส อินเดอร์วิลดี (Andreas Inderwildi) เขียนบทความชวนคิดที่สนุกมากเกี่ยวกับ ‘ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์’ ของเกมนี้ ผู้เขียนแปลและเรียบเรียงมาบางตอน–
“ปัญหาของ Kingdom Come: Deliverance (ซึ่งมีหลายเรื่อง) ไม่ใช่รายการข้อผิดพลาดเป็นหางว่าวที่แก้ไขได้ไม่ยาก แต่อยู่ใน ‘รากฐาน’ ไม่มั่นคงและอันตรายซึ่งอยู่เบื้องหลังข้ออ้าง [‘ถูกต้องทางประวัติศาสตร์’ ของทีมพัฒนาเกม]”
“สำคัญที่เราต้องจำว่าอดีตไม่เคยถูกนำเสนอให้เราแบบง่ายๆ บนพานเงิน เราต้องระแวงเสมอกับชุดคำอธิบายเหตุการณ์ในอดีตอะไรก็ตามที่อ้างว่า มันคือ ‘สัจธรรมสัมบูรณ์’ (absolute truth) ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงสับสนวุ่นวาย เต็มไปด้วยช่องว่างช่องโหว่ที่เราจำต้องตกลงไป ช่องว่างที่เกิดจากแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์สูญหาย ถูกทอดทิ้งหรือทำลายตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษ สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนถูกปะติดปะต่อขึ้นมาโดยนักวิจัยที่พยายามประกอบรูปใหญ่จากชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเข้ากัน มันเป็นงานแบบเดาอย่างมีหลักการ และชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ตกทอดมาถึงเราส่วนใหญ่ก็ถูกบิด(เบือน)ด้วยอคติของผู้ที่มาก่อน
“พูดง่ายๆ ก็คือ นักประวัติศาสตร์ไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขามีอคติ ซึ่งก็จำเป็นต้องมี นักประวัติศาสตร์ที่ดีจะสอบสวนแหล่งข้อมูลของเขาหรือเธอจากมุมใดมุมหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันย่อมกีดกันมุมอื่นๆ ออกไป และ[การเลือกมุมมองนี้]ก็บอกอะไรๆ เกี่ยวกับนักประวัติศาสตร์และทัศนคติของพวกเขาได้มากพอๆ กับที่มันบอกเกี่ยวกับยุคสมัยที่พวกเขาศึกษา ที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกคือ มโนภาพเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลาด้วย อคติที่เป็นแฟชั่นในวันนี้แตกต่างอย่างมากกับอคติของนักประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งเน้นไปที่วีรกรรมของ ‘มหาบุรุษ’ และในกระแสชาตินิยมยุคนั้น ก็เน้นประเด็นอย่างความแตกต่างระหว่าง ‘คนเยอรมัน’ กับ‘คนฝรั่งเศส’ เป็นต้น
“การพยายามสร้างเกมที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ตั้งในสมัยยุคกลาง แปลว่าจำเป็นจะต้องฝ่าดงอคติต่างๆ ซึ่งสะสมพอกพูนมานานหลายศตวรรษ จากนั้นผู้สร้างก็จะใส่มโนภาพส่วนตัวของตัวเองเข้าไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือเปล่า แต่นี่ก็ไม่ใช่สาเหตุให้เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือโยนผ้ายอมแพ้ การยอมรับในอคติส่วนบุคคลและมองให้เห็นมัน คือก้าวแรกๆ สู่การสร้างชุดการตีความอดีตที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะท้าทายอคติเหล่านี้หรือสำรวจนัยของมัน ผู้สร้างก็ต้องรับมือกับมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้สร้างพยายามควานหาสัจธรรมที่เป็นภววิสัย มองแหล่งข้อมูลและข้อเขียนต่างๆ จากประวัติศาสตร์เสมือนเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ทำแบบนั้นก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเผยแพร่และผลิตซ้ำอคติที่ก่ออันตรายและบิดเบือนความจริง
“Kingdom Come: Deliverance ไม่ใช่โฆษณาประชาสัมพันธ์ก็จริง แต่แก่นของมันก็มีกรอบอุดมการณ์ที่ชัดเจน เกมนี้มองสังคมยุคกลางผ่านแว่นแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) และลัทธิต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับทัศนคติแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิเหยียดเพศ เหยียดชนชั้น และคลั่งชาติ เราถูกมอบโลกที่ผู้ชายยังเป็นชาย ไพร่และผู้หญิงรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคม ขุนนางและอัศวินผู้เปี่ยมปัญญาปกป้องไพร่ฟ้าหน้าใสจากชนเผ่าป่าเถื่อนที่บุกมาคุกคามชาติที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และเราก็แยกแยะชนต่างถิ่นเหล่านั้นออกได้อย่างสะดวกสบายจากภาษาและเครื่องแต่งกาย
“แน่นอน การตีความโบฮีเมียยุคกลางของ Kingdom Come: Deliverance ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการค้นคว้าวิจัยอย่างหนัก แต่อีกส่วนมันก็เป็นผลผลิตของสมมติฐานและการตัดสินใจว่าจะเลือกเน้นเรื่องอะไร และไม่พูดถึงเรื่องอะไร
“บางมิติของชีวิตถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ทั้งเกมไม่มีเด็กเลย แต่การกีดกันที่ใหญ่ที่สุดของเกมนี้มาจากการหมกมุ่นกับ ‘ความปกติธรรมดา’ (typical) [ของยุคกลาง]จนเกินเหตุ ทั้งเกมไม่มีอะไรที่ไม่ทำตามกระแสหลักหรือ ‘เบี่ยงเบน’ ออกจากความคาดหวังของสังคม ไม่มีผู้หญิงที่แข็งข้อ ไม่มีนักปฏิวัติ ไม่มีคนที่ตั้งคำถามกับศาสนา และอีกด้านคือไม่มีคนคลั่งศาสนา ไม่มีตัวแทนวัฒนธรรมอื่นเลยยกเว้นพวกเผ่าคิวแมนกระหายเลือด และไม่มีใครเป็นคนนอกคอกยกเว้นกุ๊ยข้างถนนธรรมดา ….โบฮีเมียถูกแสดงว่าเป็นพื้นที่แห่งสมดุลกลมกลืน ทุกคนตั้งแต่ไพร่ถึงขุนนางรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองและพอใจในชีวิต กรณีส่วนน้อยที่เราได้พบใครสักคนที่ไม่ธรรมดา …อย่างเช่นพระก็อดวินที่ไม่รักษาพรหรมจรรย์ หรือ ‘แม่มด’ แห่งอุซฮิซซึ่งโผล่มาในเควสท์รองที่ผิดบริบททางประวัติศาสตร์อย่างเหลวไหล การเบี่ยงเบนของเขาและเธอก็ถูกนำเสนอให้เป็นเรื่องตลกขบขันทั้งเพ
“ภาพสังคมที่พอใจกับภาวะเฉื่อยแฉะของตัวเองไม่เพียงแต่ขัดแย้งกับเส้นเรื่องหลักของเกม ซึ่งว่าด้วยความเจริญก้าวหน้าของไพร่คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ด้วย ดูแปลกแยกโดยเฉพาะในบริบทที่กำลังจะเกิดสงครามฮุสไซท์ (Hussite Wars, 1419-1434) ซึ่งความเดือดร้อนของคนยากคนจนปะทุขึ้นเป็นการก่อกบฏนองเลือดต่อชนชั้นพระผู้ใหญ่และขุนน้ำขุนนาง …[แต่ในเกมนี้] ความไม่พอใจแบบกำกวมต่อสถาบันสงฆ์ ซึ่งอีกไม่นานจะฉีกโบฮีเมียออกเป็นเสี่ยงๆ กลับถูกนำเสนออย่างย้อนแย้งว่าเป็นประเด็นที่สร้างความสามัคคีระหว่างไพร่กับขุนนาง
“ไม่มีอะไรในพฤติกรรมของไพร่ใน Kingdom Come: Deliverance ที่สะท้อนว่าโบฮีเมียเป็นถังเก็บดินระเบิดที่รอวันปะทุในอีกไม่กี่ปี ความพยายามที่จะสร้างโลกยุคกลางที่ ‘แท้’ ของ Warhorse ลงเอยเป็นการผลิตชุดการตีความที่ไร้พิษภัย ปราศจากความอึกทึก ความแปลก ทุกอย่างที่อาจทำให้เราหยุดคิดหรือท้าทายอคติยอดนิยมในสังคม เพียงเพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของชาติในอดีต– อดีตในอุดมคติ”
นักประวัติศาสตร์ที่เป็นธรรมควรจารึก Kingdom Come: Deliverance ในฐานะเกม (โคตร) สนุกที่เปิดหมุดหมายใหม่ให้กับวงการเกม– ทั้งในด้านบวกคือความพยายามที่จะสร้างประสบการณ์สมจริงที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์ในระดับที่เข้มข้นเป็นประวัติการณ์ และในด้านลบคือการผลิตซ้ำค่านิยมอันตรายและบิดเบือนความจริง ผ่าน ‘แฟนตาซีของผู้ชายผิวขาว’ ซึ่งก็มีผลลัพธ์ย้อนกลับมาเป็นบวก ในแง่ที่มันจุดประกายการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับความหมาย ขอบเขต และบทบาทของ ‘ความแท้’ (authenticity) และ ‘ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์’ (historical accuracy) สำหรับเกมที่อ้างว่ายึดมั่นในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าทีมผู้สร้างจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม
เพราะถึงที่สุดแล้วก็อย่างที่อินเดอร์วิลดีว่าไว้ว่า