นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เมื่อเวลาราว 4.30 น. วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2567) เกิดเหตุ ‘คานก่อสร้างถล่ม’ บนถนนพระราม 2 บริเวณ ต.คอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยเบื้องต้นมีรายงานคนงานก่อสร้างเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 10 ราย และสูญหาย 1 ราย
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ มีคนงานก่อสร้างหลายคนกำลังทำงานอยู่ในบริเวณนั้น โดยสำนักข่าวมติชน รายงานคำบอกเล่าจากหัวหน้าคนงานว่า ขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่นั้น ตัวยกแผ่นปูนได้ถล่มลงมา โดยไม่มีสัญญาณใดๆ ทำให้คนงานหลายคนตกลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งนี้มีบางคนถูกซากคานทับ
แล้วสาเหตุคืออะไร? ทำไมเกิดอุบัติเหตุอีกแล้ว? ล่าสุด มนตรี วงศ์วิวัฒน์ รอง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร กล่าวว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุของการถล่มได้ แต่วิศวกรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นโครงการนี้อยู่การดูแลของบริษัท อุดมศักดิ์เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ปิดช่องทางหลักการสัญจรบริเวณถนนพระราม 2 โดยจัดสรรให้ใช้ช่องทางขนานแทน เพื่อป้องกันอันตราย และจะใช้รถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน ในการเคลียร์พื้นที่เกิดเหตุต่อไป
เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างความกังวลด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างถนน โดยเฉพาะบริเวณถนนพระราม 2 หรือเส้นทางสายหลักสู่ภาคใต้ ที่มีการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 2513
‘ถนน 7 ชั่วโคตร’ คือชื่อที่หลายคนเรียกถนนแห่งนี้ เนื่องจากมีการซ่อม ขยาย และสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า-ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมหารือกับหน่วยงาน-ผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อเร่งรัดให้โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น เสร็จสิ้นภายในปี 2568 ทั้งนี้กำชับให้มีการติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง และประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน โดยหากพบความล่าช้า จะใช้มาตรการเร่งรัดผู้รับเหมา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการก่อสร้างถนนบริเวณนี้ ก็ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับคนงานก่อสร้าง-ผู้สัญจรเท่าไหร่นัก เพราะเกิดอุบัติเหตุการณ์จากการก่อสร้างหลายครั้ง จนหลายคนกลัวและหลีกเลี่ยงถนนแห่งนี้ไปเลย
ถ้าหากอ้างอิงข้อมูลจากกรมทางหลวง จะพบว่าในช่วงระหว่างปี 2561-2567 มีผู้เสียชีวิตบนถนนแห่งนี้แล้วกว่า 130 รายและมีผู้บาดเจ็บกว่า 1,300 ราย
ตัวอย่างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เช่น
- 7 พฤษภาคม 2566 แท่นปูนก่อสร้างหล่นลงมาทับคนงานเสียชีวิต 1 ราย บริเวณโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก โดยมีแท่นปูนหล่นทับคนงงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาจนเสียชีวิต อีกทั้งมีรถยนต์หลายคันเสียหาย จากเศษปูนที่หล่นลงมา
- 2 กุมภาพันธ์ 2566 รถยนต์หลายคันของประชาชน ถูกน้ำปูนก่อสร้างหล่นใส่ จนหลายคนบอกว่า พบคราบน้ำปูนเลอะบริเวณกระจกหน้ารถและรอบคัน และทำให้มองไม่เห็นทาง
- 7 มีนาคม 2566 รถเครนของโครงการก่อสร้างทางยกระดับล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร
- 22 มกราคม 2566 เศษปูนจากการก่อสร้าง ร่วงใส่รถประชาชน บริเวณถนนคู่ขนานสะแกงามมุ่งหน้าพระราม 2 ย่านแสมดำ เขตบางขุนเทียน
- 31 กรกฎาคม 2565 สะพานกลับรถถล่มเสียชีวิต 2 ราย บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสงคราม โดยแผ่นปูนน้ำหนัก 5 ตัน จากสะพานดังกล่าว ถล่มลงมาทับรถยนต์หลายคันที่วิ่งอยู่ด้านล่าง จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย
- 16 กรกฎาคม 2565 เหล็กก่อสร้างร่วงใส่รถกระบะ บริเวณถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ โดยมีแท่งเหล็กจากการก่อสร้าง หล่นลงมาเฉียดหน้ารถกระบะคนหนึ่ง ทำให้รถเสียหลักและเกือบพลิกคว่ำ แต่คนขับสามารถประคองไว้ได้
- 21 สิงหาคม 2564 คนงานหล่นจากคานยกระดับพระราม 2 บริเวณทางยกระดับพระราม 2 ช่วง กม.19 โดยมีคนงานก่อสร้าง จากบริษัทอิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางยกระดับจนเสียชีวิต ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า เหตุเกิดจากคนงานถอดเข็มขัดนิรภัยออก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถสะท้อน ‘ความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้างถนนพระราม 2’ ได้เป็นอย่างดี แล้วเราจะมีวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง?
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เคยพูดถึงประเด็นนี้กับสำนักข่าวไทย ว่าควรกำหนดให้มี ‘การสุ่มตรวจสอบการก่อสร้างอิสระ’ โดยสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลาง หรือหน่วยงานรัฐฯ โดยมีการสุ่มตรวจสอบความปลอดภัยงานก่อสร้าง เพื่อให้ได้มาตรฐาน และลดความเสี่ยงต่อประชาชน
ต่อจากนี้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป ว่าหน่วยงานต่างๆ จะมีแนวทางอย่างไร เพื่อถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียอีกในอนาคต
อ้างอิงจาก