ก่อนหน้าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำรายการเรียลลิตี้โชว์อย่าง The Apprentice จนโด่งดัง เคยมีนักข่าวคนดังจาก The New Yorker อย่าง มาร์ค ซิงเกอร์ (Mark Singer) ไปสัมภาษณ์เขา
มาร์คเป็นนักสัมภาษณ์ที่ล้วงลึก เขาอยากรู้ว่า ทรัมป์ ‘ตัวจริง’ เป็นอย่างไรกันแน่ะ ก็เลยพยายามถามอะไรต่อมิอะไรลึกๆ เช่น ถามว่าเวลาที่คุณโกนหนวดตอนเช้าอยู่หน้ากระจก คุณคิดอะไรอยู่ หรือทรัมป์คิดว่าตัวเองเป็น ‘เพื่อนในอุดมคติ’ สำหรับคนอื่นหรือเปล่า
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มาร์คอยากรู้ว่า-เวลาอยู่คนเดียว, เวลาอยู่ตามลำพัง, เวลาไม่ต้อง ‘แสดง’ ต่อหน้าสาธารณชน ทรัมป์เป็นคนอย่างไรกันแน่
มาร์คไม่เคยได้รับคำตอบนั้น
เช่นเดียวกับ ทอม กริฟฟิน (Tom Griffin) ซึ่งเคยเจรจาธุรกิจกับทรัมป์เพื่อซื้อขายกอล์ฟรีสอร์ทกัน เขาเล่าให้ ไมเคิล แดนโทนิโอ (Michael D’Antonio) ซึ่งเป็นคนเขียนชีวประวัติของทรัมป์ฟังว่า ตอนเจรจาธุรกิจกันนั้น เขานึกอะไรไม่ออกเลยนอกจากความรู้สึกว่าทรัมป์นั้นมีลักษณะ ‘เล่นละคร’ (Theatrics) อยู่ตลอดเวลา
พูดง่ายๆก็คือ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวมือเยี่ยม หรือคนที่เคยเจรจาธุรกิจกับทรัมป์และได้รับการสัมภาษณ์จากนักเขียนชีวประวัติของทรัมป์ ต่างเห็นคล้ายกันว่า ทรัมป์นั้นมีลักษณะเป็น ‘นักแสดง’ ที่ไม่มีใครอาจหยั่งลึกลงไป ‘รู้’ ได้จริงๆ ว่าเขาคิดอะไรอยู่
ไม่มีใครปฏิเสธได้ ว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจชั้นยอด คาดการณ์กันว่า เขาน่าจะมีเงินอยู่ราวๆ 4,500 ล้านเหรียญ (ตามการประเมินของ Forbes) จนถึง 10,000 ล้านเหรียญ (ตามที่อิวานา ทรัมป์ ภรรยาเก่าของเขาเคยบอกไว้-ซึ่งก็แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งมาก เธอก็จะได้รับส่วนแบ่งหลังการหย่ามากขึ้นตามไปด้วย) แต่จะเป็นตัวเลขไหน ก็เป็นเงินมหาศาลอยู่ดี
คำถามก็คือ-เขารวย แต่เขาจะสามารถทำให้อเมริการวย (หรือ Make America Great Again อย่างน้อยก็ในทางเศรษฐกิจ) ได้จริงหรือ
รุธ เชอร์ล็อค (Ruth Sherlock) แห่งเดอะเทเลกราฟ วิเคราะห์เอาไว้ว่า สิ่งแรกที่ทรัมป์จะทำเมื่อได้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะหากเขาสามารถ ‘ชนะ’ ได้แบบยิ่งใหญ่ (win so big) ก็คือการ ‘โชว์’ ให้เห็นว่า เขาจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในสิ่งที่โอบามาเคยทำเอาไว้ทั้งหมด เขาเคยบอกเอาไว้ตอนปราศรัยที่เก็ตตี้สเบิร์กว่า พอเข้ารับตำแหน่งแล้ว วันแรกจะเป็นวันที่ ‘ยุ่งมาก’ เพราะเขาจะต้อง ‘ลบ’ โอบามาออกไปให้หมด และได้วางแผนเอาไว้แล้วในรายละเอียดว่าจะทำอะไรบ้าง (โดยเฉพาะนโยบายโอบามาแคร์) เพื่อนำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อยู่กับตัวเองด้วยการใช้ ‘นโยบายการค้าแบบปกป้อง’ หรือ ‘ลัทธิคุ้มครองการค้า’ อีกครั้ง (เขาใช้คำว่ากลับมาอยู่บน protectionist (and) nativist track)
ซึ่งไอ้เจ้าคำว่า Protectionist นี่แหละครับ ที่เป็น ‘คีย์เวิร์ด’ สำคัญของทรัมป์!
ลองมาดูกันนะครับว่าเขาจะทำอะไร
ในด้านผู้อพยพหรือ Immigration นั้น เราคงพอรู้ว่าคนที่มีแนวคิดขวาและอนุรักษ์นิยมอย่างทรัมป์นั้น ต้องต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองแน่ๆ ทรัมป์เคยบอกถึงขนาดว่า เขาจะเนรเทศผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายทั้งหมดออกไปจากประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่เรียกคะแนนเสียงจากกลุ่ม ‘คนขาว’ ที่มีฐานะไม่ค่อยดี เพราะคนขาวเหล่านี้คิดว่าตัวเองถูกเหล่าผู้อพยพเข้ามาแย่งงาน โดยเฉพาะชาวเม็กซิโก ชาวฮิสแปนิก รวมไปถึงชาวเอเชียที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายด้วย
นี่แสดงให้เห็นวิธีคิดแบบ Protectionism ของทรัมป์อย่างเต็มที่เลยนะครับ และแม้คำว่า Protectionism จะหมายถึงนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อกีดกันประเทศอื่น (เช่น การตั้งกำแพงภาษี การจำกัดโควต้า ฯลฯ) แต่ทรัมป์ก็ขยายสำนึกหรือฐานคิดแบบนี้ไปพัวพันกับนโยบายด้านอื่นๆอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกระทั่งเรื่องการทหาร
ตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดแบบนี้ (ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากๆ) ก็คือ ทรัมป์เคยประกาศ ‘อภิมหาโปรเจ็คท์’ ในการสร้าง ‘กำแพง’ กั้นระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก เขายอมรับว่าคงทำตั้งแต่วันแรกไม่ได้ เพราะเป็นงานใหญ่มาก แต่เขาจะผลักดันกฎหมาย ‘สร้างกำแพง’ ขึ้นมาตามชายแดนทางใต้ให้ครอบคลุมพรมแดนทั้งหมด แถมยังจะเรียกร้องให้เม็กซิโกมาออกค่าใช้จ่ายด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่านโยบายนี้ของทรัมป์ค่อยๆ ‘เงียบ’ ลงไปเรื่อยๆ เพราะเอาเข้าจริง เขาก็รู้ตัวดีกว่าทำไม่ได้ การจะเนรเทศผู้อพยพที่เข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งหมดออกไปนั้น นอกจากจะทำไม่ได้ในทางปฏิบัติจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังเตือนว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อเมริกามหาศาล เพราะผู้อพยพเหล่านี้คือแรงงานสำคัญในทางเศรษฐกิจ
มีผู้วิจารณ์ว่า วิธีคิดแบบ Protectionism ของทรัมป์นั้น ไม่สอดคล้องกับ American Dream หรือ American Spirit ที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอเมริกามานานแสนนาน เพราะมันเข้าข่ายการ ‘ปิดตัวเอง’ (เพื่อทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกหน) ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญ Protectionism ของทรัมป์ เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยลงร่องลงรอยกับนโยบายของพรรครีพับลิกันเท่าไหร่ด้วย
รีพับลิกันนั้นได้ชื่อว่าเป็นพรรคของคนรวย กลุ่มที่อุดหนุนรีพับลิกันคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบจากโลกทุนนิยมและการค้าแบบตลาดเสรี ซึ่งต้องการการเคลื่อนย้ายทุนไปๆมาๆได้สะดวก แต่นโยบาย Protectionism ทำให้หลายคนในพรรครีพับลิกันไม่พอใจทรัมป์มากนัก (ขนาดตระกูลบุชยังไม่ไปเลือกทรัมป์เลยครับ-แต่เรื่องนี้ก็มีความสลับซับซ้อนทางการเมืองอีกหลายอย่างซ่อนอยู่ด้วย)
เรื่องนี้น่าจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิดนะครับ เนื่องจากมีแนวโน้มว่า รีพับลิกันน่าจะได้เสียงข้างมากในสภาล่าง (และอาจรวมถึงวุฒิสภาด้วย) การที่รีพับลิกันได้เป็นทั้งประธานาธิบดีและมีเสียงข้างมากในสภานั้น โดยปกติน่าจะเรียกได้ว่าสบายแฮ เพราะรีพับลิกันสามารถควบคุมเสียงได้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกนโยบายอะไรออกมาก็ควรจะผ่านฉลุย แต่หลายคนก็วิเคราะห์กันว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่ไอ้เจ้า ‘ความทรัมป์’ ที่หมกมุ่นอยู่กับ Protectionism นี่แหละครับ ที่อาจจะทำให้ ‘รอยร้าว’ ภายในพรรคปริแตกแยกกว้างออกมาได้ในภายหลัง เพราะมันไม่สอดคล้องกับความต้องการแบบตลาดเสรีที่เป็นฐานหล่อเลี้ยงรีพับลิกันอยู่ ทั้งยังอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนอื่นๆที่มองไม่เห็นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทรัมป์กับคลินตันเหมือนกัน ก็คือการต่อต้านข้อตกลงการค้าที่เรียกว่า TPP หรือ Trans-Pacific Partnership อันเป็นข้อตกลงทางการค้าของประเทศต่างๆที่อยู่รอบมหาสมุทรแปซิฟิค (ซึ่งก็ต้อง ‘โน้ต’ เอาไว้ด้วยเหมือนกันนะครับ ว่าจีนเองไม่ได้เข้าร่วมใน TPP อันเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญบางอย่าง ถ้าสนใจสามารถตามเรื่องนี้กันต่อได้)
นโยบายสำคัญอีกอย่างของทรัมป์ที่แสดงให้เห็นว่า Protectionism ของเขาก้าวเลยเรื่องเศรษฐกิจไป ก็คือนโยบายต่างประเทศ เขาเคยบอกไว้ว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เขาอาจจะไม่เข้าไปช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในกลุ่มนาโต้ (NATO) ในกรณีที่ประเทศเหล่านั้นถูกโจมตี โดยทรัมป์บอกไว้ (แบบกร่างๆ) ว่า จะ ‘ช่วย’ ประเทศเหล่านั้นก็ต่อเมื่อประเทศพวกนั้น ‘ทำตัวดีๆ’ (เขาใช้คำว่าบรรลุ obligations) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยนะครับ ที่ประธานาธิบดีอเมริกันวางเงื่อนไขแบบนี้กับพันธมิตรสำคัญของตัวเอง
ทรัมป์บอกว่า เขายึดมั่นในนโยบายต่างประเทศแบบ America First และขู่ว่าถ้าประเทศต่างๆทั้งในยุโรปและเอเชียไม่ตอบแทนอะไรให้ดีกว่านี้ เขาก็จะถอนทหารออกจากประเทศเหล่านั้น แต่ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์จะผ่อนคลายและปรับปรุงความสัมพันธ์ของอเมริกากับจีนและรัสเซีย ทว่าจะจัดการเด็ดขาด (เขาใช้คำว่า bomb the hell) กับเหล่าประเทศที่เป็นตัวการของการก่อการร้าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นโยบาย America First นั้น วางอยู่บนปรัชญาและฐานคิดของ Protectionism โดยแท้
แต่ฝันที่ร้ายยิ่งกว่าร้าย น่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะแนวคิดแบบ Protectionism นั้นไม่ได้รวมไปถึงการปกป้องโลกด้วย ทั้งหมดที่ทรัมป์ทำก็คือจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ประเทศเดียวเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงมีแผนจะยกเลิกการจ่ายเงินให้กับสหประชาชาติ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ โดยจะเอาเงินที่ว่าหวนกลับมาใช้ในการสร้างสาธารณูปโภคภายในประเทศ
ที่สำคัญก็คือ เขาจะยกเลิกข้อจำกัดต่างๆที่เกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงโครงการ Keystone Pipeline อันเป็นระบบท่อส่งน้ำมันขนาดมโหฬารที่เชื่อมระหว่างอเมริกากับแคนาดา เป็นเครือข่ายที่ถูกนักสิ่งแวดล้อมประท้วงและพยายามอย่างหนักให้รัฐบาลโอบามาหยุดโครงการนี้ เพราะเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางในหลายพื้นที่ แต่ทรัมป์บอกว่าจะต้องเดินหน้าต่อ เนื่องจากน้ำมันเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
อีกส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจจะรู้สึกดีกับทรัมป์ (อยู่บ้าง) ก็คือการที่ทรัมป์ประกาศว่าจะ ‘ปฏิรูปวอชิงตัน’ เพื่อไม่ให้เกิดความด่างพร้อยในระบบการเมือง (แบบที่ฮิลลารี คลินตัน ถูกกล่าวหา) เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดทั้งสมาชิกสภาคองเกรสและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในทำเนียบขาวและในสภา ไม่ให้ไปทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์หลังจากลาออกไปแล้วภายในระยะเวลาห้าปีแรก พูดง่ายๆก็คือ ทรัมป์มีความพยายามจะกำจัดการคอรัปชั่นในวอชิงตันในรูปแบบต่างๆนั่นแหละครับ
อย่างไรก็ตาม หลายคนคาดการณ์เอาไว้ว่า เมื่อมิสเตอร์ทรัมป์ตบเท้าเข้าวอชิงตันแล้ว แทนที่อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนที่ทรัมป์ต้องการ จะกลับกลายเป็นว่า อเมริกาน่าจะเต็มไปด้วยการประท้วง เพราะฐานคิดสำคัญในนโยบายต่างๆของทรัมป์ (คือ Protectionism) นั้น นอกจากจะมีลักษณะ protect อเมริกาเองแล้ว ยัง protect คนเฉพาะกลุ่มด้วย (โดยเฉพาะคนขาว) นั่นทำให้คนที่เป็นชนกลุ่มน้อย (เช่นคนผิวสี ชาวฮิสแปนิก ชาวเอเชีย ฯลฯ) ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน รู้สึกว่าตัวองถูกกีดกันออกไป-แบบเดียวกับที่ประเทศอื่นๆถูกกีดกันออกไปจากอเมริกา
แต่ในเวลาเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น และในอนาคตอันใกล้ เมื่อนับรวมกันแล้ว คนขาวจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในอเมริกาอีกต่อไป หลายคนจึงมองว่านโยบายของทรัมป์ไม่สอดรับกับ ‘อนาคต’ ของอเมริกาเอง เพราะมันสวนทางกับความต้องการของกลุ่มประชากรใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงน่าจะมีการประท้วง ความขัดแย้ง และความรุนแรงต่างๆมากขึ้น
ที่สำคัญก็คือ วิธีคิดในการบริหารประเทศแบบซีอีโอของทรัมป์นั้นจะสร้างปัญหาใหญ่ เพราะประเทศไม่ใช่บริษัทที่จะมา ‘รับคำสั่ง’ หรือ ‘ถูกไล่ออก’ ได้
นักเขียนคนหนึ่งของ salon.com บอกว่าเขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนอเมริกันหลายล้านคนถึงได้เลือกสนับสนุนคนที่นิสัยไม่ดี พูดจาคุกคามทางเพศ ขัดแย้งในตัวเอง เป็นคนเหยียดเชื้อชาติ แถมยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาเป็นผู้นำ เขารู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง ‘ไม่จริง’ (unreal) โดยตั้งคำถามตรงไปตรงมากระแทกหน้า ‘เสียงส่วนใหญ่’ (ที่เลือกทรัมป์) เอาไว้ว่า We’re not that stupid, are we? และบางคนก็ถึงขั้นบอกว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่สภาพการณ์คล้ายๆก่อนสงครามโลกครั้งที่ีหนึ่ง นั่นคือแต่ละประเทศมีลักษณะปิด เป็นขวา และไม่ไว้วางใจประเทศอื่นมากขึ้น การที่อเมริกามีทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอาจเป็นอีกกลไกหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในระดับโลกด้วยซ้ำ (จนหลายคนอยากย้ายไปอยู่ประเทศอื่น หรือกระท่ังย้ายไปอยู่ดาวอังคาร!) ที่สำคัญก็คืออาจ ‘แบ่งแยก’ คนในประเทศออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน เกิดรอยร้าวลึกที่ไม่อาจสมานได้
แต่กระนั้น ก็มีอีกหลายคนแสดงความเห็นว่า เมื่อทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว อาจไม่มีอะไรเปล่ียนแปลงมากมายนักก็ได้ เช่น กำแพงกั้นระหว่างอเมริกากับเม็กซิโกนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีที่ทรัมป์ต้องการก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก และกระทั่งโอบามาแคร์ก็อาจไม่ถูกรื้อทิ้ง เพราะเมื่อทรัมป์เข้ามาเผชิญหน้ากับ ‘ปัญหาจริง’ แล้ว เขาจะรู้ตัวว่าตัวเองต้อง ‘ประนีประนอม’ กับทุกทิศทุกทาง เขาไม่สามารถใช้วิธีแบบซีอีโอ (หรือแบบอันธพาลครองเมือง) บังคับให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการได้
แต่ที่สำคัญ การที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนอเมริกันต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้ง ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว-สังคมอเมริกันเป็นสังคม ‘แบบไหน’ กันแน่