การเลือกตั้งถูกอุดกั้นจนห่างหายไปจากสังคมไทยมานานหลายปี มันเหมือนการสร้างเขื่อนมากั้นการไหลของกระแสน้ำ ซึ่งก็คือกระแสธารแห่งความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ความคิดความเชื่อที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้ปะทุผุดพลุ่งออกมากลายเป็นการแห่แหนกันออกมาลงคะแนนเสียงล่วงหน้าในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าดูรัฐประหารสามครั้งหลังสุด เราจะเห็นว่า ช่วงเวลาระหว่างเกิดรัฐประหารกับเกิดการเลือกตั้งครั้งถัดไปนั้น – ถูกถ่างห่างออกไปเรื่อยๆ
ในรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. มีการเลือกตั้งหลังรัฐประหารราวๆ หนึ่งปีหนึ่งเดือน คือในวันที่ 22 มีนาคม 2535 (ซึ่งต่อมาก็เกิดเหตุพฤษภาทมิฬอย่างที่รู้กันอยู่)
ส่วนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการเลือกตั้งหลังจากนั้นหนึ่งปีสามเดือน คือในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
และล่าสุด รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั่นคือระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็นเกือบห้าปีเต็ม ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าปล่อยให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปนานเท่าไหร่
รัฐประหารทั้งสามครั้งมีข้ออ้างสำคัญคือ ‘เพื่อความสงบเรียบร้อย’ ของสังคม ซึ่งรัฐประหารปี 2534 กับ 2557 ใช้คำว่า ‘สงบเรียบร้อย’ และ ‘สงบ’ ใส่เข้าไปในชื่อคณะของตัวเองเลย ดังนั้นจึงพูดอีกอย่างได้ว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยนั้น ยิ่งเกิดก็ยิ่งพยายาม ‘เลื่อน’ การเลือกตั้งให้ออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ใช้วิธีการต่างๆ เช่น ล้มรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่ ทำให้การเลือกตั้งเกิดได้ยากขึ้น
พอการเลือกตั้งห่างหายไปนาน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนออกมาใช้สิทธิของตัวเองอย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก หลายคนบอกว่า เกิดอาการ ‘ตื่นตัวทางการเมือง’ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนกับคนหลายกลุ่ม
แต่อาการ ‘ตื่นตัวทางการเมือง’ ไม่ได้เกิดแค่กับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แม้แต่ ‘คนรุ่นเก่ากลุ่มหนึ่ง’ (จริงๆ คำว่าคนรุ่นเก่าก็เหมารวมไปหน่อยนะครับ เพราะคนสูงวัยหัวใจรุ่นใหม่ก็มีเยอะอยู่ เลยต้องใส่คำว่า ‘กลุ่มหนึ่ง’ เข้าไปด้วย แต่ถ้ายังขัดใจกันอยู่ ก็ขอให้ถือว่าเป็นคำที่ใช้เรียกแบบรวมๆ หยาบๆ คร่าวๆ ไปก่อนก็แล้วกัน) ที่แต่เดิมไม่ค่อยจะสนใจการเมืองเท่าไหร่ก็เหมือนจะลุกขึ้นมา ‘ตื่นตัว’ ด้วยเหมือนกัน โดยคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดเดียวกับการทำรัฐประหาร นั่นคืออยากเห็นบ้านเมือง ‘สงบเรียบร้อย’ พวกเขาจึงออกมาเรียกร้องว่า – ควรจะเลือกพรรคนี้สิ (โดยเฉพาะพรรคที่สนับสนุนคุณประยุทธ์) เพื่อจะได้ ‘ยืดเวลา’ ความสงบเรียบร้อยให้ยาวนานประดุจอยู่ในวิมุตติสุขออกไปอีกเรื่อยๆ
แต่คำถามก็คือ – คำว่า ‘สงบเรียบร้อย’ ของคนกลุ่มนี้ และของรัฐบาลทหาร รวมถึงที่ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร, คืออะไรกันแน่
เราชอบคิดว่า สังคมที่อยู่อย่าง ‘สงบ’ คือสังคมที่เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นให้สะดุดและรู้สึกไม่สบายใจ ดังนั้น หลายคนจึงคิดว่า ถ้าเลือกคนนั้นคนนี้เข้ามา หรือกำจัดคนนั้นคนนี้ออกไปเสียจากสังคมไทยได้ สังคมไทยก็จะอยู่ได้แบบ happily ever after คือสงบสุขชั่วนิจนิรันดร – ราวกับสังคมไทยคือนิทานเรื่องซินเดอเรลล่า, และราวกับได้ยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปชั่วนิรันดร์
แต่ในความเป็นจริงของโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกระดับไหนก็ตาม เราคงพอรู้กันว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘ความสงบเรียบร้อย’ ของสังคมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ ‘ปกติ’ สักเท่าไหร่
สังคมที่ ‘ปกติสุข’ ไม่ใช่สังคมที่เรียบกริบไร้เสียงคัดค้านใดๆ ทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนอยู่ในค่ายทหาร แต่คำว่า ‘ปกติสุข’ หมายถึงสังคมที่มีความสุขเป็น ‘ปกติ’ ของชีวิต คือทุกคนต่างมีสุขที่ลุ่มๆ ดอนๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง ขัดแย้งกันบ้าง เห็นต่างกันบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะเวลาที่คนเราอยู่ร่วมกันในสังคม เราย่อมแบ่งตัวเองออกเป็นกลุ่มก้อน และแต่ละกลุ่มก้อนก็เต็มไปด้วยการการต่อสู้ต่อรองเพื่อ ‘ผลประโยชน์’ ของกลุ่มก้อนต่างๆ ที่ต่างก็เป็น ‘มนุษย์’ ธรรมดาๆ ทั้งสิ้น
คำว่า ‘ผลประโยชน์’ ที่ว่าไม่ได้หมายถึงผลประโยชน์แง่ลบที่มาจากการโกงกินฉ้อฉลเท่านั้นนะครับ แต่ยังหมายถึงผลประโยชน์ธรรมดาๆ ไม่ลบไม่บวกในชีวิตประจำวันของเราด้วย เช่น ค่าก๋วยเตี๋ยวที่แพงหรือไม่แพง รายได้ขั้นต่ำที่จะทำให้กระเป๋าของเราแฟบหรือฟู ซึ่งก็คือเรื่องของตัวเงิน ไล่เลยไปจนถึงประโยชน์ที่เกิดจากความสุขที่ได้เห็นคนที่ตัวเองรักชอบขึ้นไปครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี และประโยชน์ที่เกิดจากต่างคิดและเชื่อแบบนั้นแบบนี้ หรือมีอุดมการณ์แบบนั้นแบบนี้ที่ไม่เหมือนกัน
ดังนั้น การต่อสู้ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ จึงเป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในหลายระดับ แต่ก็น่าตลกดี ที่การต่อสู้เพื่อสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ กินก็ไม่ได้ อย่างการต่อสู้เพื่อ ‘อุดมการณ์’ และ ‘ความเชื่อ’ ของเรา มักก่อให้เกิดการต่อสู้รุนแรงเสียยิ่งกว่าเรื่องอื่น
การต่อสู้ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองนี้ เราเรียกว่า – การเมือง, ซึ่งเป็นกระบวนการเก่าแก่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์มาตั้งแต่เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และขึ้นชื่อว่าการเมือง – ก็ต้องการการ ‘ตรวจสอบ’ กันและกันอยู่เสมอ
แน่นอน สิ่งที่เรียกว่า ‘การตรวจสอบ’ ย่อมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะคนแต่ละกลุ่มย่อมเห็นไม่เหมือนกัน และต่างฝ่ายต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ บางครั้งความขัดแย้งที่เกิดจากการตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม จึงอาจก่อให้เกิดความเห็นต่างที่รุนแรงได้
แล้วจะทำอย่างไรดี?
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการคิดค้น ‘เทคโนโลยี’ อย่างหนึ่งขึ้นมา เป็นเทคโนโลยีทางสังคมที่มีไว้ใช้เพื่อ ‘จัดการ’ กับการต่อสู้ต่อรองเหล่านั้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางความคิดในสังคมได้โดยไม่ต้องปะทะกันถึงเลือดถึงเนื้อ
สิ่งนั้นก็คือ – การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งไม่ใช่การยอมจำนนให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนำอำนาจไปใช้ได้ตามใจชอบ แต่การเลือกตั้งคือ ‘กลไก’ ในการ ‘มอบ’ อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ ให้ ‘ตัวแทน’ ของตัวเองได้นำไปใช้โดยที่เราสามารถควบคุมตัวแทนของเราได้ผ่านการเลือกตั้งในอนาคต การเลือกตั้งที่มีฐานอยู่บนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง คือการประกาศว่า – มนุษย์ทุกคนเท่ากัน ยิ่งสังคมซับซ้อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันมากเท่านั้น เพราะเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่า คนแต่ละคนครอบครองความรู้ ความคิด เทคโนโลยี และสิ่งที่เป็นประโยชน์อะไรไว้บ้าง หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงจึงคือการย้อนกลับไป ‘เฉลี่ย’ ความต้องการรวมของสังคมโดยพื้นฐาน เพื่อทบทวนว่าโดยรวมแล้ว สังคมต้องการเดินหน้าไปทางไหน ไม่ใช่ต้องเดินหน้าไปตามความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ ‘ผลลัพธ์สุดท้าย’ ที่เลือกครั้งเดียวแล้วกลายเป็นยาวิเศษ กำจัดทุกปัญหาในสังคมให้หมดไปได้ แต่การเลือกตั้งคือการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อสร้างระดับตัวตนใหม่ให้กับสังคม
รัฐประหารแบบนิทานซินเดอเรลล่ามักมีความฝัน (ผ่านชื่อและเจตนารมณ์ที่จะรักษา ‘ความสงบเรียบร้อย’) ว่า – ถ้ามอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (เช่นผ่านกฎหมายที่เด็ดขาดอย่างมาตรา 44) รวมถึงไล่ใครอีกบางคนที่เป็นตัวปัญหาออกไปนอกประเทศได้แล้ว ความขัดแย้งทั้งปวงจะปลาสนาการไปได้ในทันที แล้วซินเดอเรลล่าก็จะได้อยู่กับเจ้าชายอย่างมีความสุขไปชั่วนิรันดร์
สังคมนิยมรัฐประหารซินเดอเรลล่า มักอยากได้ตอนจบที่เรียบสงบเหมือนผ้าพับไว้ ทุกองคาพยพในสังคมคิดเห็นเหมือนๆ กันหมด แต่ความฝันแบบนี้เป็นความฝันไร้เดียงสา เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ที่ข้อมูลไหลถ่ายเทอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และถกเถียงกันได้ตลอดเวลา
ที่สำคัญ สังคมนิยมรัฐประหารซินเดอเรลล่า ยังมักใจเร็วด่วนได้ อยากให้สังคมเป็นไปตามความต้องการของฉันโดยเร็วพลัน จึงไม่เคยมองการเลือกตั้งด้วยสายตาชื่นชมยินดี แต่พยายาม ‘ผลัก’ การเลือกตั้งออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังพยายามวางหมากเอาไว้เหมือนคำพูดของผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคที่สนับสนุนวิธีคิด ‘สงบเรียบร้อย’ พรรคหนึ่งที่บอกว่า – ถ้าผลของการเลือกตั้งไม่ออกมาอย่างที่ต้องการ ก็อาจเกิดรัฐประหารซินเดอเรลล่าซ้ำขึ้นมาอีก
นี่คือวิธีคิดของเด็กๆ ซื่อใสไร้เดียงสา – ที่อยากได้ตอนจบแสนสุขชั่วนิรันดร์
มีงานวิจัยและตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก – ที่บอกเราว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบและไม่เคยเป็นคำตอบของอะไรทั้งนั้น
สิ่งที่เป็นคำตอบเบื้องต้นของสังคมประชาธิปไตย – ก็คือการเลือกตั้งต่างหาก และไม่ใช่การเลือกตั้งแบบ ‘นานๆ ที’ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย (อันเป็นเรื่อง ‘น่าอาย’ อย่างมาก) ด้วยนะครับ ทว่าต้องเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ‘บ่อยครั้ง’ หรือมี election frequency ที่มากเพียงพอด้วย
ในสังคมที่ก้าวหน้าทางความคิด ไม่มีใครถกเถียงกันว่าเราควรจะเลือกตั้งหรือรัฐประหาร แต่เขาถกเถียงกันว่า ‘ความถี่ของการเลือกตั้ง’ (election frequency) จะส่งผลต่อ ‘ความอ่อนล้าของผู้เลือกตั้ง’ (voter fatigue) และจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง (voter turn out) มากน้อยแค่ไหน (ดูบทความนี้ได้ ที่นี่ )
เราอาจคิดว่า – เลือกตั้งบ่อยน่าจะทำให้คนออกมาเลือกตั้งน้อยลง เพราะคนเราอาจจะเบื่อการเลือกตั้ง (คือเกิด voter fatigue หรือ voter apathy คือไม่สนใจการเลือกตั้งไปเลย) ทำให้ออกมาใช้สิทธิกันน้อยลง แต่งานวิจัยเรื่องการเลือกตั้งในหลายที่ (เช่นในบางแคว้นของเยอรมนี) กลับให้ผลตรงข้าม เพราะยิ่งเลือกตั้งบ่อย คนกลับยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็น active citizen ที่มีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียง และมี ‘อำนาจ’ ที่จะตัดสินใจว่าจะให้บ้านเมืองของตัวเองเดินไปทางไหน ผลจึงออกมาว่า – ยิ่งเลือกตั้งบ่อย คนก็ยิ่งออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้น
ต้องบอกไว้ด้วยนะครับ ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ปลายทางขั้นสุดท้ายอันเป็นปรมัตถ์ ไม่ว่าจะได้คุณธนาธร คุณประยุทธ์ คุณอภิสิทธิ์ คุณสุดารัตน์ คุณชัชชาติ คุณมิ่งขวัญ คุณอนุทิน หรือใครอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้แปลว่านั่นพึงเป็น ‘นิพพาน’ ของใคร
เพราะสิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งก็คือ – ยิ่ง ‘ใคร’ เป็นผู้ไปเลือก ‘ใคร’ มา ก็ยิ่งต้อง ‘ตรวจสอบ’ คนที่ตัวเองเลือกมาอย่าง active เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แฟนด้อม ติ่ง หรือระบบแม่ยก ที่อนุญาตให้เราทำได้เพียงหลงใหลและหน้ามืดหูดับเอาแต่ปกป้องไอดอลของตัวเองเท่านั้น
ในอดีตที่ผ่านมา (และที่จริงก็ยังเป็นกันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้) เราจะเห็นการ ‘เชียร์’ คนของฝ่ายตัวเองไม่ลืมหูลืมตา (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม) โดยปราศจากการ ‘ตรวจสอบ’ คนของฝั่งตัวเอง ทั้งยังมีการสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมาปกป้องตัวเองอย่างฉ้อฉลและไม่ชอบธรรมให้เห็นบ่อยครั้งด้วยกลเม็ดเก่าๆ ที่ไม่แตกต่างกันเลย เช่น การพยายามครอบงำองค์กรอิสระเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝั่งตัวเอง เป็นต้น
ดังนั้น การหวังว่าประเทศจะ ‘สงบ’ ด้วยการเลือกใครคนใดคนหนึ่งเข้ามาเป็นเจ้าชายของซินเดอเรลล่า – ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม, จึงไม่ใช่ทางออกของประชาธิปไตย แต่แสดงให้เห็นถึงความไร้เดียงสา และไม่เพียงไม่เข้าใจประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังไม่เข้าใจโลกและความเป็นมนุษย์ด้วย
หลังเลือกตั้ง หากประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรสักอย่าง ผมได้แต่ภาวนาให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่การตระหนักว่า – ต่อไปนี้เราจะไม่สิ้นสุดหยุดความหวังเอาไว้ที่รัฐประหาร เพราะรัฐประหารซินเดอเรลล่าเป็นแค่ภาพลวงตา ไร้ค่า และลดทอนพลังของเราในฐานะ active citizen
นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องไม่สิ้นสุดหยุดความหวังเอาไว้ที่การเลือกตั้ง ‘เพียงครั้งเดียว’ ด้วย อย่าคิดว่าเลือกตั้งเสร็จก็จบ แต่ต้อง ‘เลือก’ และ ‘ตั้ง’ กันต่อไปทุกขณะจิต ซึ่งก็คือการ ‘ตรวจสอบ’ และเตรียมพร้อมใช้สติปัญญาในฐานะ active citizen สำหรับความขัดแย้งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จะแก้ไขได้ด้วยกลไกประชาธิปไตยที่มีให้เลือกใช้อีกหลายอย่าง
สิ่งที่สังคมไทยต้องการ ไม่ใช่การ ‘ไม่เลือกตั้ง’ แต่คือการ ‘เลือกตั้งให้บ่อย’ ในหลายระดับสลับกัน โดยต้องศึกษาและคอยระวังเรื่องของ voter fatigue เอาไว้ เพื่อให้เกิดการคืนและคานอำนาจให้ได้มากที่สุด
รัฐประหารไม่ใช่ตอนจบของนิทานซินเดอเรลล่า การเลือกตั้งก็ไม่ใช่ตอนจบของนิทานเรื่องเดียวกันนั้นด้วย การ ‘จับปากกาฆ่าเผด็จการ’ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่เป็นกระบวนการทางวัฒนธรรมที่ต้องค่อยๆ ทำผ่านการเข้าคูหาไป ‘จับปากกา’ ครั้งแล้วครั้งเล่า – เพื่อไม่ให้รัฐประหารซินเดอเรลล่าย้อนกลับมาเกิดใหม่ได้อีก
เพราะหากรัฐประหารซินเดอเรลล่ายังสามารถย้อนกลับมาใหม่ ก็เป็นไปได้ที่เราอาจไม่ได้รู้จักการเลือกตั้งไปอีกนานแสนนานจนอาจถึงระดับ ever after ก็ได้
ในชีวิตจริงของมนุษย์เรา – ถ้าหากยังไม่ตายไปเสียก่อน, ล้วนไม่เคยมี ‘ตอนจบ’ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดใดๆ
หากมองโลกในแง่ดี หลังเลือกตั้งครั้งนี้ – จึงยังจะมีการเลือกตั้งอีกมากให้เราเดินเข้าคูหาเพื่อ ‘เลือก’ สิ่งที่เราต้องการ ขอเพียงเราไม่เหนื่อยและท้อกับการเป็น active citizen เราก็จะมีพลังอยู่เสมอ
ขอให้สังคมไทยโชคดีมากพอ – ที่จะไม่ปรารถนาตอนจบแสนสุขสงบนิรันดรเหมือนในนิทานอีกต่อไป