เหนื่อยไหมกับการเป็นคนกรุง? ต้องเจอกับรถติด งานด่วน ตอบโซเชียล เมาท์มอยเข้าสังคม ฯลฯ
แต่ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ที่เหนื่อย คนเมืองใหญ่ทั่วโลกก็มีชีวิตที่เร่งรีบและเหนื่อยล้าไม่ต่างกัน โควต้าการหยุดพักนิ่งๆ ระหว่างวัน เพื่อชาร์จแบตของแต่ละคนมีน้อยเต็มที
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมืองใหญ่หรือย่านธุรกิจทั่วโลกจึงเกิดเทรนด์ Nap Café โดยเป็นคาเฟ่ที่มีบรรยากาศเงียบสงบ เพื่อให้คนเมืองได้พักงีบระหว่างวัน อย่างที่เมืองนิวยอร์กก็มีคาเฟ่ชื่อ Nap York เปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และในกรุงเทพฯ เองก็มีการเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้
The MATTER จึงชวน ปรียนันท์ อารีวิจิตร ผู้บริหาร Power Nap Lounge คุยถึงการลงทุนและความยั่งยืนของธุรกิจ Nap Café ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่หมุนเร็วและวุ่ยวายไม่แพ้ที่ใดๆ
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ?
มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ได้พบว่าเขามีบริการเกี่ยวกับประสบการณ์การนอนแบบต่างๆ แล้วเราก็ได้ทดลองและค้นพบว่า มันไม่ใช่แค่การนอนเฉยๆ เราสามารถนอนในรูปแบบที่แปลกออกไป แล้วทำให้หลับง่ายขึ้น
นอกจากนี้ รู้สึกว่าชีวิตของคนในปัจจุบันมันรีบทุกอย่าง เวลาอยู่นิ่งๆ กับตัวเองและได้พักด้วย มันมีน้อย โดยเฉพาะกับผู้หญิง เพราะถ้าผู้หญิงจะนอนในที่ๆ ไม่มั่นใจ หรือไปเปิดโรงแรมเล็กๆ นอนก็ดูไม่ปลอดภัย เราก็เลยรู้สึกว่าธุรกิจนี้มันน่าจะตอบโจทย์
ธุรกิจนี้สะท้อนความเป็นเมืองยังไง?
การที่เราทำงานกันทั้งวันทั้งคืน แบบไม่มีเบรก ไม่หยุดการติดต่อ อยู่ในรถก็ใช้มือถือ กลับไปบ้านก่อนนอนก็เช็คโซเชียลมีเดีย บางทีการโหมทำงาน โดยที่ไม่เคยหยุดสมองเลย สมองมันเหมือนกับ overload คิดอะไรไม่ออก แต่ถ้าหยุดนิ่งๆ สักครึ่งชั่วโมง มันก็เหมือนกับรีชาร์จพลัง
การงีบหลับให้ได้ power nap คือในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงหรือประมาณ 20 นาที ทำให้สมองเราได้พัก จิตใจเราสงบได้อยู่กับตัวเอง เหมือนกินข้าวเข้าสมอง เติมพลังให้สมอง จำเป็นสำหรับคนที่ใช้ไอเดียทำงานเยอะๆ คิดอะไรไม่ออก ก็ต้องนั่งสมาธิหรือหลับไป แต่อันนี้ก็ได้ทั้ง 2 อย่าง
ช่วยเล่าประสบการณ์การนอนที่ประทับใจ?
ที่ไปยุโรป เราประทับใจห้องนอนพักผ่อนหลังจากทำสปา เขาก็จะให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก เป็นการพักผ่อนในสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น บางห้องเป็นธีมไฟ ก็จะเป็นสีแดง แล้วก็จะมีไฟในห้องนั้นจริงๆ ที่นอนก็จะให้ความรู้สึกอุ่นๆ บางที่ก็เป็นธีมน้ำ ธีมอากาศ ธีมลมก็จะมีลมอ่อนๆ ออกมาและมีกลิ่นด้วย
รู้สึกว่าคนของเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ราคาก็ไม่ได้แพงมากด้วย ราคาถ้าเทียบกับค่าครองชีพ บางที่ถือว่าถูกเลย คือสิ่งนี้เหมือนกับมันเป็นเทรนด์ที่เขาใส่ไปในชีวิต เสาร์-อาทิตย์ใช้เวลาเป็นวันอยู่ในศูนย์สปา เข้าห้องนอนนู่น ออกห้องนอนนี้ แล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่การนอน เป็นการเปิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่ อย่างนอนเปลก็มีหลายแบบมาก เช่น เปลรังนก เปลนอนได้หลายๆ คน เปลแขวน แต่ละแบบให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน
ทำไมถึงเปิดร้านที่แยกอโศก?
จริงๆ แล้วอยากให้เป็นจุดที่เข้าถึงได้ง่ายก่อน เพราะว่าคนไทยมีเวลาน้อย น่าสงสาร เพราะรถมันติด ถ้าต้องเดินทางเพื่อไปพักแค่ 30 นาที มันก็จะไม่สะดวกกับผู้ใช้บริการ แล้วก็อยากให้เป็นจุดที่ถ้าเหนื่อยก็แวะเข้าได้ เลยคิดว่าจุดที่ต้องผ่านอยู่แล้วทุกวัน ไม่เสียเวลาในการเดินทาง น่าจะดีกว่า
ลูกค้าคิดว่าคุ้มค่าไหม ในการจ่ายเงินเพื่อนอนหลับ?
ถ้ามองเห็นว่าไม่ใช่แค่มานอนเฉยๆ หลังจากนอนเสร็จ สมองเปิด หรือมีไอเดียดีๆ ไปทำงานต่อได้แบบสดชื่น หรือบางคนก็เอางานมานั่งทำเลย
คือมีลูกค้ากลับมาใช้ เขาคงคิดว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย ถึงกลับมาใช้ซ้ำ
ธุรกิจนี้ยั่งยืนมากแค่ไหน?
เราอยากให้มันยั่งยืน เราไม่ได้อยากจะทำแค่ตามแฟชั่น เพราะว่าเราก็ทำคนแรก คือเราเห็นว่ามันมีประโยชน์ แต่ว่าจะขยายตัวได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับภาวะหลายอย่างของประเทศไทย คือความเป็นเมืองของเราก็ไม่ได้เยอะเท่าประเทศใหญ่ๆ แล้วก็ภาวะเศรษฐกิจ
จริงๆ แล้วธุรกิจตัวนี้ใหม่มาก ถ้าห้องสำหรับ Nap โดยเฉพาะ ทั่วโลกน่าจะมีมาไม่เกิน 5 ปี แต่ถ้าเป็นศูนย์สปาใหญ่ๆ ต่างประเทศเขามีกันมานานแล้ว ดังนั้นคงบอกยากว่า มันจะยั่งยืนแค่ไหน
แม้ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้ใช้ Nap Café แต่เราก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ‘ปรียนันท์’ แนะนำว่า ลองตัดใจจากโทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดีย สักช่วงหนึ่งในทุกๆ วัน เพื่อให้สมองได้พักเบรกและรีเฟรชตัวเองขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้เรามีแรงสู้อยู่ในวิถีคนเมืองต่อไป