สำหรับเขาแล้ว นี่ไม่ใช่หนังไอดอล หากแต่เป็นเรื่องราวว่าด้วยช่วงชีวิตวัยรุ่นที่เผชิญหน้ากับคำถาม บนเส้นทางของการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ หรือที่เรามักเรียกกันว่า coming of age
เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กลับมาพร้อมกับหนังสารคดี BNK48 : GIRLS DON’T CRY ผลงานกำกับชิ้นใหม่ที่เปิดประตูเข้าไปติดตามเรื่องราวในโลกของ BNK48 ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน พร้อมกับชวนสมาชิกรุ่นแรกทั้ง 26 คนมานั่งคุยกันอย่างเป็นพี่เป็นน้อง เพื่อสอบถามว่าพวกเธอรู้สึกกับตัวเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นภายในวงอย่างไร
นวพลเชื่อว่า นี่คือหนังชีวิตที่อินกันได้มากกว่าในเฉพาะกลุ่ม และเหมาะสำหรับคนทุกคน เพราะประสบการณ์ที่วัยรุ่นทั้ง 26 คนได้เจอ ล้วนเคยเกิดขึ้นกับพวกเราเองในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ความผิดหวัง ความสงสัย น้ำตาและความสับสน อาจกำลังเกิดขึ้นกับใครสักคนในเวลานี้เช่นเดียวกับเหล่าสมาชิก BNK48
หลายคนค่อนข้างคาดหวังกับโปรเจ็กต์นี้ ตอนแรกที่ตอบรับว่าจะทำรู้สึกกดดันไหม
เราคิดว่าก็น่าลองทำดู เพราะมันคือหัวข้อที่เราสนใจ และจะได้มีโอกาสเรียนรู้โลกที่เราไม่รู้จักด้วย มันเป็นโลกอีกใบที่เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไงเหมือนกัน
เมื่อก่อนนี้เคยมีไอเดียว่าอยากทำสารคดีทำนองนี้ เกี่ยวกับนักร้องค่ายกามิกาเซ่ คือเราสนใจว่าข้างในของโลกแบบนั้นมันเป็นยังไงบ้าง อยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน มีเงื่อนไขหรือความตึงเครียดอะไรที่เกิดขึ้นแล้วเราไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง
เราคิดว่าถ้าเข้าไปทำและถ้าตั้งใจจริงๆ มันก็คงโอเคแหละ ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้มันโอเคอยู่แล้ว
เล่าเรื่องวันแรกที่เข้าไปติดตาม BNK48 ให้ฟังหน่อย
จำได้ว่ามันงานจับมือ รอบซิงเกิลคุกกี้เสี่ยงทาย วันนั้นเรารู้สึกเหมือนคนนอกที่มองเข้ามาในโลกที่มันใหม่มากๆ เราเพิ่งรู้ว่ามันมีกิจกรรมและวัฒนธรรมแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ นะ ซึ่งมันแตกต่างจากที่เราดูแค่ในรูปถ่ายจากอินเทอร์เน็ต
มันเป็นโอกาสที่เราได้ไปเห็นของจริง คือตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้อะไรที่ลึกซึ้งหรอก แต่การที่ได้ไปอยู่ตรงนั้น มันก็ได้เห็นมากกว่าที่เราอ่านจากที่ต่างๆ แล้ว เราได้ไปเห็นคนจริงๆ ทั้งตัวเมมเบอร์และแฟนคลับ เรารู้สึกว่ามันมีวัฒนธรรมของตัวเองเลยจริงๆ
มันน่าสนใจที่จะได้เข้าไปเรียนรู้เพิ่ม คือเรายังไม่เข้าใจจริงๆ หรอก แต่ก็ไม่ได้คิดในเชิง Negative
โดยพื้นฐานของเรา เราเคารพทุกวัฒนธรรมอยู่แล้วนะ ต่อให้เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรามากๆ เพราะเราคิดว่าทุกวัฒนธรรมมันเป็นเหตุเป็นผลของมันเอง สุดท้ายแล้วต่อให้การแสดงออกจะต่างกันแค่ไหน แต่โดยพื้นฐานมันอาจจะเกิดจากเรื่องเดียวกันก็ได้ สมมติอย่างงานจับมือ มันก็อาจจะไม่ต่างกับที่เราเคยชอบผู้กำกับคนนึงมากๆ ถ้าเราได้จับมือเขาก็คงฟินเหมือนกัน
หมายความว่ามองแบบไม่รีบตัดสิน
เราไม่ตัดสินอะไรเลย อาจจะเพราะว่าวันแรกที่เราเข้าไป เราไม่รู้ว่าจะตัดสินอะไรด้วยเพราะเราเพิ่งเข้าไปรู้จักโลกในนั้น ทั้งหมดมันคือพื้นผิวที่เราเพิ่งได้รู้จัก ยังไม่รู้ว่าจะได้เจออะไรบ้าง
อยู่กับการไปติดตามน้องๆ นานที่สุดคือกี่ชั่วโมง
มีตั้งแต่เช้าถึงค่ำเหมือนกันนะ โดยเฉพาะช่วงคอนเสิร์ตใหญ่ที่อยู่ยาวมากเลย แต่มันก็แล้วแต่สถานที่ที่เขาไป บางที่เราก็ไม่ได้ตามไปด้วย
การเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย มันทำให้วิธีการสื่อสารออกมามันเหมือนหรือต่างกับสารคดีเรื่องที่แล้วอย่าง The Master ยังไงบ้าง
ถ้าพูดในแง่วิธีการ เราคิดทั้งสองเรื่องนี้ว่ามันเหมือนกันมาก แต่ถ้าในแง่ของความหมายมันไม่เหมือนกันเลย
วิธีการที่คุยกับซับเจคก็ไม่เหมือนกัน เพราะใน The Master มันคือการเอาคนสิบกว่าคนพูดถึงคนหนึ่งคน ซึ่งเขาก็ไม่ได้พูดเรื่องตัวเองมากเท่าไหร่ มันเป็นการแสดงความคิดเกี่ยวกับพี่แว่น
แต่ในโปรเจ็กต์นี้ สิ่งที่อยู่ในหนังคือตัวซับเจคเอง ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้เลยนะ เพราะวันที่มาสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับทุกคน เราต้องลุ้นเองว่าน้องจะไว้ใจเราแค่ไหน ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้เลย เราไม่สามารถไปบังคับให้น้องพูดทุกอย่างที่น้องต้องพูด เราทำได้แค่หวังว่า น้องจะไว้ใจเราแล้วพูดต่อหน้ากล้อง
เราไม่รู้ว่าใครผ่านอะไรมาบ้าง อาจจะเพราะเขาอยู่ใน spotlight ตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าเขาอยากพูดหรือไว้ใจเราแค่ไหน เพราะเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาตั้งแต่ต้น เราเข้ามาทีหลัง
งานนี้มันคือความไว้ใจซึ่งกันและกันล้วนๆ เลยนะ มันไม่ใช่การสัมภาษณ์แบบปกติ มันคือการคุยกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง หรือไม่ก็เป็นเพื่อนกันมากกว่า
โครงเรื่องของ The Master มันชัดมากว่าจะเริ่มเล่ายังไง วางลำดับประเด็นแบบไหน แต่อันนี้เราไม่รู้ว่าหนังมันจะเป็นยังไงเลย เราไม่ได้คิดมาก่อน
ฟังดูแล้วยากมากเลย เหมือนว่าต้องวางโครงเรื่องด้วยสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนว่าจะเป็นอะไร
เรามีคำถามที่เตรียมมาก่อนนิดหน่อย แต่สุดท้ายแล้ว เวลาเราเจอน้อง 26 คน แต่ละคนก็มีเรื่องราวที่ไปกันคนละทาง มีเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มีความรู้สึกบางอย่างที่เราไม่รู้มาก่อนอีกเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถคิดมาได้ก่อนว่า มันควรจะเป็นยังไง
เรามีเวลาคุยกันคนละประมาณ 2-3 ชั่วโมง เราโยนคำถามบางอัน แล้วก็ชวนคุยต่อไป มันก็ขึ้นอยู่กับน้องแล้วว่าเขาจะพูดอะไรมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราจะบอกกับทุกคนก่อนสัมภาษณ์ว่า เอาที่อยากจะพูดนะ อะไรที่ไม่อยากจะพูดก็ไม่ต้อง หรือถ้าน้องไม่รู้สึกก็ไม่ต้องพูดก็ได้
สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราไม่อยากให้น้องรู้สึกว่า เรามาเพียงแค่เอาฟุตเทจจากเขา เราไม่ต้องการให้น้องเกิดความรู้สึกนี้แม้แต่นิดเดียว เราถึงบอกพวกเขาว่าเอาเท่าที่สบายใจ เรื่องไหนไม่อยากเล่าก็บอกได้เลย เรื่องไหนคิดว่าสบายใจที่จะคุยกันก็คุย เพราะเราอยากให้งานชิ้นนี้เป็นตัวเขามากที่สุด เราอยากให้เรื่องนี้มันลงลึกไปได้เยอะที่สุด
ถ้าโครงมันหลวมแบบนั้น แล้วอะไรคือโจทย์หลักๆ ของเรื่องนี้
เรามีโจทย์แค่ว่า เราอยากเห็นน้องที่เป็นวัยรุ่นคนนึงเท่านั้นเอง แต่เขามาอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ อยู่ดีๆ ต้องมาอยู่ร่วมกันยี่สิบกว่าคน ฝึกไปด้วยกัน แล้วมีการคัดเลือกอยู่ตลอดเวลา มันโคตรหนังเลยที่อยู่มาวันนึงก็ดังขึ้นมาแบบสุดขีด ต้องดีลกับชื่อเสียงและอะไรอีกเต็มไปหมด
สิ่งที่เกิดขึ้นภายใน BNK48 มันแตกต่างจากเรียลลิตี้อื่นๆ คือทุกคนยังต้องอยู่กันต่อไป เรารู้สึกว่ามันเป็นสถานการณ์พิเศษสำหรับเด็กคนนึง ซึ่งเขาอาจจะเป็นเด็กอายุ 13-15 ที่เด็กมากจริงๆ
เรารวบรวมข้อมูลมาประมาณนึง แต่สุดท้ายแล้ว เราจะรู้จักเขาจริงๆ ก็ต่อเมื่อเราคุยกับเขา เหมือนเราก็อยู่ในวงการสื่อ เราก็รู้เรื่องบ้างนิดหน่อยแหละ แต่ถ้าอยากรู้ว่าเขาจะเป็นคนยังไง เราก็ต้องนั่งคุยกับเขา แค่นั้นเลย พอเขาเป็นเด็กมากๆ เราก็อยากรู้ว่าเด็กคิดยังไง เด็กคิดแบบเด็กรึเปล่า เด็กเป็นเด็กจริงๆ รึเปล่า เราเปิดหัวประเด็นไว้กลางๆ แล้วค่อยเข้าไปคุยกับเขา
เวลาสัมภาษณ์จะรู้เลยว่า ถ้าเราเตรียมคำถามมาคุยกับบางคนเยอะๆ และใช้ชุดคำถามแบบเดิมๆ พอสัมภาษณ์ไปสักพักก็จะรู้ว่ามันแปลกๆ แล้ว น้องคนนี้อาจจะไม่เหมาะกับชุดคำถามนี้แล้ว เราก็จะทิ้งคำถามไปเลย เราก็ต้องเปลี่ยนไปถามในทางอื่นๆ แทน
สมมติว่าแต่ละคนมีจุดที่อินไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะอินมากอินน้อยไม่เท่ากันด้วย ซึ่งถ้าหากเราใช้ชุดคำถามเดิมถามกับทุกคน คนที่อินมากก็อาจจะตอบได้ แต่ถ้าคนที่อินน้อยก็คงไม่ได้ แล้วถ้าเรายังตื้อที่จะถามคำถามชุดเดิมต่อไปอีกเรื่อยๆ จากเขา เราก็จะไม่ได้อะไรเลย
มันคือการไม่ฝืนคุยในเรื่องที่เขาไม่อินอย่างนั้นรึเปล่า
ถ้าเกิดเราพยายามจะคิดว่ามันมีปัญหาแน่ๆ แต่เขาบอกว่าไม่มีปัญหา เราก็จะชวนคุยเรื่องอื่นแทน บางเรื่องที่เราคิดว่าอาจจะไม่มีอะไร ก็กลับมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในนั้นได้เหมือนกัน
ยกตัวอย่าง ความหมายในการเป็นสมาชิกแต่ละคน บางคนก็ให้ความหมายกับมันไม่เหมือนกันนะ คือมากันคนละความฝัน มากันคนละจุดประสงค์ แล้วพอตั้งต้นไม่เหมือนกัน ชีวิตก็จะไปกันคนละทางมากๆ เลย ซึ่งเรื่องแบบนี้เราไม่มีทางเดาถูกหรอก
แต่ถ้าเราเปลี่ยนชุดคำถามให้มันใกล้กับชีวิตของเขา เราก็อาจจะได้คำตอบมากกว่าสิ่งที่เราเตรียมมาด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาเลยจริงๆ เพราะคำถามที่เราเตรียมมา เราก็เตรียมจากที่อ่านมาหรือเห็นจากหลังเวที แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมดจริงๆ ถ้าอยากได้มากกว่านั้น หรือได้เจอสิ่งใหม่ก็ต้องรอคุยกับตัวเขาเอง
แล้วคุยยังไง
คุยไปก่อน คุยให้สุดจนไม่รู้ว่าจะถามอะไร แล้วเอามาดูใหม่ทั้งหมดเพื่อมาตัดสินใจว่าหนังมันควรจะเกี่ยวกับอะไรกันแน่ แล้วใครควรจะอยู่ตรงไหนของหนัง แน่นอนว่ามันอาจจะไม่เท่ากันแต่มีทุกคน ซึ่งทุกคนจะได้อยู่ในจุดที่ดีที่สุด จุดที่เขาพูดได้ดีที่สุดและน่าสนใจที่สุด
บางคนอาจจะไม่ได้ออกเยอะเท่าคนอื่น แต่เขาพูดได้ถูกต้องตรงตามจังหวะนั้นของหนัง ตอนสัมภาษณ์ไปเสร็จแล้วเราต้องกลับไปดูใหม่ทั้งหมดอีกรอบ มันก็มีที่เราเอาออกไปอย่างเสียดายเยอะมาก เพราะมันเข้ากับหนังไม่ค่อยได้ ถ้าทำจริงคงต้องเป็นภาค spin off ไปแทน
บางเรื่องมันหนักมากจริงๆ จนเรานั่งนิ่งไปสักพักนึงเลย อาการที่ชัดสุดคือนิ่งกันไปทั้งคู่ เราก็ต้องขอพักไป เพราะน้องก็ใช้พลังงานในการเล่ามาก ส่วนเราฟังแล้วก็เหมือนหินมาตกใส่เหมือนกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าได้ฟุตหนังไปใช้แล้ว แต่เราฟังแล้วก็คิดตามเขาว่า มันคือความรู้สึกอะไรที่เกิดขึ้นกันแน่
บางความรู้สึกที่เราเข้าใจ แต่เราก็ไม่มีคำตอบให้เขา มันก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่
ชื่อหนัง Girls don’t cry มาจากไอเดียแบบไหน
ตอนสัมภาษณ์รู้สึกว่าน้องมันร้องไห้กันเยอะจัง แล้วเราก็เห็นหลายมิติของน้ำตา ทั้งในแง่กายภาพคือเห็นว่าน้ำตามันไหลออกมาได้หลายแบบมาก เราเลยรู้สึกว่ามันมีหลายความหมายดี
สิ่งที่เราจะพูดในหนังมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับน้ำตา แต่มันถูกเล่าจากฉากที่เขาไม่ได้มีน้ำตามากกว่า ไอเดียมันก็เริ่มจากแถวๆ นี้ บางเรื่องมันก็เศร้าแต่ก็ไม่มีน้ำตาเหมือนกัน เวลาพูดว่า Girls don’t cry มันได้ความรู้สึกทั้ง “แกอย่าร้องไห้นะ” กับ “เราต้องไม่ร้องสิ” ซึ่งมันดูเข้ากับเรื่องราวดี
บางคนที่เขาไม่ร้องไห้ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาไม่เศร้านะ เขาอาจจะผ่านการร้องไห้และคิดว่าจะไม่ร้องอีกแล้วก็ได้ มันมีหลายแบบได้มากๆ เลย
จากตัวอย่างหนังที่ปล่อยออกมา มันคงเป็นเรื่องที่คนดูจะได้เห็นคนร้องไห้เยอะมากเลยนะ ทำไมถึงโหดได้ขนาดนี้
เราคิดว่า พอเป็นหนังสารคดี น้ำตามันก็คือของจริง ถือว่าโหดกับเราเหมือนกันนะ เพราะน้องสัมภาษณ์กับเราครั้งเดียวก็ไปแล้ว แต่เราต้องเจอหลายคนแล้ววนไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่การคุยกันแค่นิดหน่อย แต่คุยกันสองชั่วโมงบ้าง สามชั่วโมงบ้าง สัมภาษณ์ครั้งนึงมันสูบพลังมาก มีบางครั้งที่อารมณ์มันพีคมากจนเราต้องขอพักด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เราคิดว่าเราไม่ได้เค้นอะไรเลย มันเกิดจากความรู้สึกที่น้องแต่ละคนอยากแสดงออกมา เราเดาว่าลึกๆ แล้วน้องจะคิดมาก่อนแล้วว่าจะไม่ร้องไห้ อันนี้ชอบพูดกันตอนที่ร้องไห้ไปแล้วว่า เนี่ย กะไว้แล้วนะว่าวันนี้จะไม่ร้องไห้ แต่สุดท้ายก็ไปกันทุกราย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ร้องไห้ทุกคนหรอกนะ
เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การเค้นน้ำตาจากทุกคนให้ได้ สำหรับเราแล้วมันไม่จำเป็นด้วยซ้ำ บางคนเขาไม่ได้ร้องไห้ แต่เราฟังแล้วดาวน์มากเลย น้ำตามันไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเศร้าหรือท้อแท้ มันมีสิ่งอื่นที่แสดงออกมาโดยไม่ใช่น้ำตา อาจจะเป็นจากน้ำเสียง วิธีพูด ความคิดอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเศร้ากว่าน้ำตาด้วยซ้ำ
เห็นอะไรจากน้ำตาและความเศร้าเหล่านี้บ้าง
มันทำให้เราได้เห็นรีแอคจริงของคน และได้เห็นคน 26 คนในสถานการณ์เดียวกันว่า เขารีแอคกับสิ่งนี้ยังไงบ้าง เขามีความสุขช่วงไหน เศร้าช่วงไหน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
เราชอบโปรเจ็กต์นี้มาก เพราะได้เห็นความแตกต่างของแต่ละคน ได้เห็นน้ำตาหลายแบบ หลายความหมาย เพราะเราไม่ได้ตั้งอะไรมาก่อน ไม่ได้มองว่าน้องเป็นตัวแทนความพยายาม หรือเป็นไอดอลขวัญใจแฟนคลับ เราแค่ตั้งว่าเขาเป็นวัยรุ่นคนนึง ซึ่งพอเราเปิดโจทย์ให้มันกว้างขนาดนี้ เราก็ได้เรียนรู้จากพวกเขาเยอะมาก
ถ้าพูดถึงเรื่องน้ำตา มันก็มาจากหลายความรู้สึก แต่ก่อนเราจะคิดว่าการร้องไห้มันจะต้องเศร้ามาก แต่น้ำตาที่ไหลมันไม่จำเป็นต้องมีความหมายแค่นั้น บางทีมันเกิดจากความหงุดหงิด ไม่เข้าใจ ดีใจ สงสัย หรือหาคำตอบไม่ได้เลยทำให้ร้องไห้ มันมีความหมายอยู่ในนั้นหลายอย่างมาก
อาจจะเพราะว่าเราเห็นเขาในระยะที่ใกล้มากด้วยมั้ง เราเลยได้เห็นความหมายหลายแบบมาก มันจะค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงในเวลาที่เขาเล่าอะไรบางอย่างออกมา
ฟังดูแล้วเป็นหนังชีวิตวัยรุ่น มากกว่าหนังไอดอลเสียอีก
มันเป็นหนัง coming of age ของวัยรุ่นเรื่องนึง ซึ่งเป็นวัยรุ่นยุคนี้ด้วยนะ เพราะเป็นเด็กอายุ 12-20 ซึ่งก็คือวัยรุ่น ณ ช่วงเวลานี้เลย
เราคิดว่าการอยู่ใน BNK48 คุณจะได้ coming of age กันประมาณ 150 ครั้งต่อปี เพราะสถานการณ์มันเยอะมาก มันมีเรื่องเข้ามาตลอดเวลา แล้วพอเราทำโปรเจ็กต์นี้เสร็จ เราก็รู้ว่าอายุมันไม่มีจริงแล้ว มันอยู่ที่ว่าคุณมีประสบการณ์ในชีวิตมาเยอะน้อยแค่ไหน
บางคนภายนอกอาจดูเป็นเด็ก แต่คุยแล้วเหมือนคุยกับเพื่อนเลย เพราะเรื่องที่เขาเจอคือเรื่องที่เราไม่เคยเจอ ความรู้สึกที่เขาเจอก็เป็นความรู้สึกที่เราไม่เคยเจอ เราเลยคิดว่ามันไม่มีคำว่าเด็กกับผู้ใหญ่อีกแล้ว มันเป็นคนที่มีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหนต่างหาก จนเราลืมไปแล้วว่าคุยกับเด็ก มันเหมือนคุยกับคนที่อายุไล่เลี่ยหรือโตกว่าเรา
เอาจริงหนังมันก็เลยไม่ได้โฟกัสที่ความเหนื่อยในการซ้อม เพราะเราคิดว่ามันเป็นส่วนน้อยมากๆ ในการอยู่ในวง เวลาคนเราเหนื่อยไม่ได้เหนื่อยเพราะต้องไปออกแรงอย่างเดียว มันอาจจะเหนื่อยเพราะสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ด้วยก็ได้
ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ก็อาจจะเคยเกิดขึ้นได้กับพวกเราด้วย
สิ่งที่น้องพูดมันเป็นความรู้สึกที่สากลเหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา มันอาจจะเคยเกิดขึ้นในชีวิตใครสักคนในช่วงโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่ทำงานก็เป็นไปได้
หนังเรื่องนี้พยายามบอกว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนนึง ซึ่งเราก็คิดว่ามันพิเศษกว่าการเป็นไอดอลด้วยนะ หนังมันพูดถึงความเป็นคนที่มีหลายมิติมาก มันพูดถึงความรู้สึก ความสัมพันธ์ สถานการณ์ สิ่งที่เราเลือกได้และสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ มันไม่ใช่หนังที่สู้เพื่อฝันเสียทีเดียว
หนังเกี่ยวกับความพยายาม แต่ความพยายามนี้มันนำไปสู่อีกหลายสิ่ง
เคยเล่าว่าตัดหนังเรื่องนี้แล้วถึงกับคอมระเบิด ตกลงมันเป็นยังไง
เราไม่รู้ว่าตัดนานเกินไปหรือว่าคอมมันเก่า แล้วมันก็ถึงจุดสิ้นสุดตอนที่นั่งรีเพลย์ดูหนังอีกรอบ อยู่ดีๆ ก็ระเบิดแล้วหน้าจอดับไปเลย คือคอมเครื่องที่ใช้อยู่มันก็ทำงานหนักเหมือนกันนะ
คือหนังเรื่องนี้เราตัดเอง แล้วชีวิตเราเป็นรูทีนมาก ตัดตอนเช้าเริ่มเก้าโมงสิบโมง แล้วชีวิตมันก็หมุนเลยไปถึงเที่ยงคืน คือมันเป็นการทำงานที่ซูเปอร์ยาว แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะนำไปสู่ความสึกหรอของคอมพิวเตอร์ได้ ค่อนข้างหนักพอสมควร เพราะมันเยอะ ตอนแรกเคยคิดว่าจะมีคนช่วยตัดดีไหม แต่สุดท้ายก็คิดว่าตัดเองดีกว่า เพราะเราเป็นคนสัมภาษณ์ เราจะพอรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน
การตัดหนังเรื่องนี้มันเหมือนนั่งทำสคริปต์ในระหว่างที่ตัดเลย เนื่องจากเราไม่มีแพลนว่าจะต้องเริ่มจากอะไรแล้วต่อด้วยอะไร เราทำได้แค่ว่า มันควรจะเริ่มต้นแบบไหน แล้วหาอะไรมาใส่ต่อๆ กัน บางทีมันเวิร์กไปแล้วครึ่งเรื่อง แต่สรุปมารันดูยาวๆ ก็กลับไม่เวิร์กก็มี
ช่วงตัดต่อแล้วต้องดูฟุตเทจเยอะๆ นี่เราฝันทุกคืนเลย แล้วเซอร์มาก เพราะฝันว่าสัมภาษณ์น้องนี่แหละ คือกูยังสัมภาษณ์ไม่พออีกใช่ไหม ต้องมาสัมภาษณ์ต่อในฝัน กับครั้งนึงฝันว่าแมสเซนเจอร์มารอรับฮาร์ดดิสก์ ในฝันนี่ก็ต้องห้ามเขาไว้ก่อน คือยังตัดไม่เสร็จเลย ไม่เข้าใจจะมาเอาฮาร์ดดิสก์ทำไม ในฝันมันจริงมาก อะไรวะ จะเอาฮาร์ดดิสก์อะไร ก็ยังทำไม่เสร็จไง
พอเราทำงานกับฟุตหนังเยอะๆ ตอนกลางวันก็พาตัวเองไปกินข้าวข้างนอกบ้านดีกว่า เราก็เจอเลยป้ายน้องติดบนรถเมล์ ป้ายบนสะพานอีกหนึ่ง ไปดูหนังผ่อนคลายเจอโฆษณาในโรง วันก่อน เจอที่หน้าร้านข้าวแห่งนึง เรากินข้าวเสร็จก็คิดว่าเดี๋ยวเราไปทำงานต่อ คิดเสร็จปุ๊ปก็มาเลยครับ โมบายล์ ปัญ เจนนิษฐ์ เนย เราก็ตกใจว่ามาทำอะไรกันเนี่ย พอแล้วๆ มันเป็นประสบการณ์พิเศษสำหรับเราเหมือนกัน
คิดว่าทั้งโปรเจ็กต์นี้ มันสะท้อนกลับมาตัวเราเองยังไงบ้าง
เราไม่เคยคิดว่าเด็กจะเป็นคนที่ประสบการณ์น้อยกว่าเรา แต่เค้าเป็นคนที่ประสบการณ์ไม่เหมือนกับเราเท่านั้นเอง ซึ่งพอเราได้เข้ามาทำจริงๆ มันก็เป็นอย่างนั้น มันแค่ไม่เหมือนกันไม่ได้เกี่ยวว่า อายุจะทำให้เรารู้ในสิ่งที่เค้ารู้ เราโตกว่าเค้าในบางที แต่เราเองก็ไม่รู้ในบางเรื่อง
โปรเจ็กต์นี้ทำให้เราเจอกับความหลากหลาย และการไม่ตัดสินคน เพราะสิ่งที่เราเห็นจากข้างนอก กับสิ่งที่เราได้คุยกับเขามันก็คนละเรื่องกัน
ในเหตุการณ์เดียวกัน 26 คนคิดคนละแบบ แล้วทุกคนเมคเซนส์ด้วยนะ เพียงแต่ว่าคุณต้องคุยจนถึงต้นตอที่ทำให้เขามีความคิดแบบนั้น มันมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาคิดและรู้สึกแบบนั้น
แล้วทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นผลหมดเลย เพียงแค่ว่าเราต้องเปิดใจก่อน ไม่ตั้งธงตั้งแต่แรกว่าเขาจะเป็นยังไง เราต้องคุย เราต้องฟัง และลองคิดตามเขา เหมือนได้มีโอกาสที่สำรวจมนุษย์มากขึ้น มันทำให้เรามองโลกในแบบที่หลายมิติมากขึ้นด้วย การสัมภาษณ์คน 26 คน มันเห็นความซับซ้อนของคนมากกว่าทำสคริปต์อีก สิ่งที่เราเคยคาดว่ามันจะเป็นแบบที่คิดไว้ แต่ความจริงกลับไม่ใช่เลย
หลังจากทำหนังเรื่องนี้เสร็จแล้วมุมมองต่อคำว่า ‘ความพยายาม’ กับ ‘ความสำเร็จ’ เปลี่ยนไปบ้างไหม
ความพยายามคือความรักแบบหนึ่ง แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะอยู่ไปกับมันไปได้นานแค่ไหน หรือพร้อมแลกอะไรบางอย่างไปเพื่อสิ่งนี้แค่ไหน เราเชื่อว่าอะไรที่มันทำให้เราเติบโต มันก็คือความสำเร็จนะ สิ่งที่ได้ไปในวันนี้ มันอาจจะยังไม่เกิดผลในทันที แต่จะเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงชีวิตต่อไปก็ได้
เพราะเราไม่คิดว่าชีวิตมันมีเส้นชัยเพียงเส้นเดียว