‘ศิลานักปราชญ์’ ฟังแล้วอาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าเป็น ‘ศิลาอาถรรพ์’ อันเป็นวัตถุทรงพลังจากโลกเวทย์มนต์ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคแรก หลายคนอาจจะอ๋อขึ้นมาบ้าง
เมื่อปีที่แล้ว (2016) เพิ่งมีการค้นพบต้นฉบับตัวเขียนที่บันทึก ‘สูตรการสร้างศิลาอาถรรพ์ ’ของเซอร์ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) แถมมีการจะเอามาเผยแพร่เป็นฉบับดิจิทัลด้วย ฟังแล้วก็คงจะตื่นเต้นปนงงนิดหน่อยว่า ไอ้ของที่ฟังดูเป็นเรื่องของเวทมนตร์ พ่อมด และไสยศาสตร์ ดันไปเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญได้อีท่าไหน แล้วเจ้าของพิศวงนี้มันทำยังไงน้อ
คืองี้ เจ้าศิลาอาถรรพ์ เป็นหินที่มักถูกพูดต่อๆ กันว่าเป็นสีส้ม (สีหญ้าฝรั่น) ที่ความสามารถโดยรวมของมันคือการเปลี่ยนโลหะพื้นฐานเช่นตะกั่วให้กลายเป็นทองได้ และก็ไม่ได้ทำได้แค่สร้างความมั่งคั่งอย่างเดียว เจ้าศิลานักปราชญ์นี้ยังสามารถเอามาทำ ‘น้ำอมฤต’ น้ำที่ใครดื่มเข้าไปปุ๊บจะได้รับชีวิตอมตะ ไม่เจ็บ ไม่แก่ ไม่ตาย
ไอ้ของที่ ‘ไม่วิทยาศาสตร์’ ขนาดนี้ ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญได้เลยเนอะ
สปอยล์ก่อนเลย ต้นฉบับที่เขาเอามาสแกน (มีภาพให้ดูข้างล่าง) เขียนเป็นภาษาละติน แล้วสูตรที่ว่าก็ไม่ได้เป็นของนิวตันเองแต่เป็นเหมือนต้นฉบับที่นิวตันไปคัดลอกมาจากนักเล่นแร่แปรธาตุขาวอเมริกัน จอร์จ สตาร์กี้ (George Starkey) แต่การค้นพบนี้แสดงให้เห็นความสนใจของนิวตันต่อศาสตร์ของการเล่นแร่แปรธาตุ
ส่วนใครที่เตรียมกระดาษปากกามาจดสูตร เปิดห้องทดลองเตรียมทำศิลานักปราชญ์ก็อาจต้องผิดหวัง เพราะวัตถุดิบที่เอามาใช้นั้น…หาได้ที่ไหนบ้างฟะเนี่ย!
นิวตันไปเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุได้ยังไง?
ต้องนึกภาพไปตอนโน้นก่อนนะ สมัยที่นิวตันมีชีวิตอยู่แล้วสร้างองค์ความรู้ ‘แบบวิทยาศาสตร์’ ขึ้น ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 17 สมัยที่เป็นรอยต่อของยุคกลางมาสู่ยุคสมัยใหม่ตอนต้น เส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสตร์ของเวทมนตร์แบบโบราณยังไม่ได้ขาดออกจากกันเท่าไหร่ ‘การเล่นแร่แปรธาตุ’ หรือ Alchemy ก็เป็นศาสตร์หนึ่งที่อยู่ก้ำกึ่ง คือด้วยตัวมันเองเป็นเรื่องความเชื่อแหละ แต่วิธีการนั้นมีลักษณะคล้ายกับกระบวนการหรือวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีการทดลอง (ซึ่งในตอนหลังก็ถือกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ปลอมเพราะดูเป็นหลักการที่ไม่เป็นจริง)
นิวตันเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น นอกจากเรื่องแรงและแรงโน้มถ่วงอันเป็นหนึ่งในองค์ความรู้หลักของแขนงฟิสิกส์แล้ว พี่แกก็สนใจพวกศาสตร์ลึกลับทั้งหลายด้วย เช่นการศึกษาพระคัมภีร์ (ที่มีส่วนสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น) เช่น การทำนายวันสิ้นโลก (นิวตันบอกว่าโลกจะดำรงอยู่ไม่เกินปี 2060) ความสนใจเรื่องวิหารแห่งโซโลมอนอันเป็นสถาปัตยกรรมโบราณในตำนาน และแน่นอนเรื่องการเล่นแร่แปรธาตุ
หลักๆ ของการเล่นแร่แปรธาตุก็คือการทำตามความเชื่อโบราณของมนุษย์ ความเชื่อที่เกี่ยวกับวิธีการในตำนานที่สร้างโลหะมีค่าอย่างทองคำหรือเงิน การสร้างน้ำอมฤต (Exlixia) การทำยาวิเศษ (Panace) ไปจนถึงการสร้างชีวิตจำลองหรือ Homunculus แต่วิธีการเล่นแร่แปรธาตุจะดูเป็นวิทยาศาสตร์หน่อย เช่น มีการใช้หลักการเรื่องธาตุพื้นฐาน เรื่องธรรมชาติ ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์หรือห้องทดลอง
เป้าหมายหลักของการเล่นแร่แปรธาตุ ต่างก็มี ‘ศิลานักปราชญ์’ เป็นอุปกรณ์สำคัญขั้นสุดยอด ประมาณว่าถ้าค้นพบหรือสร้างเจ้านี่ได้นะ มนุษย์เราก็จะก้าวข้ามเขตแดนไปสู่อีกระดับได้ไงล่ะ
หินแห่งนักปราชญ์จากสูตรที่นิวตันได้มา
รายละเอียดของเจ้าบันทึกลายมือของนิวตันที่คัดลอกสูตรไว้ นิวตันพูดถึง ‘sophick mercury’ สสารหลักของศิลานักปราชญ์ ซึ่งเจ้าเอกสารนี้มาจากบันทึกส่วนตัวของนิวตันเอง แม้จะไม่มีหลักฐานว่าตกลงแล้วนิวตันได้ทำการทดลองสร้างตามสูตรรึเปล่า แต่เราก็ได้รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างหลักฐานให้กับยุคใหม่มีความสัมพันธ์และได้รับอิทธิพลจากศาสตร์เก่าแก่เหมือนกัน
นอกจากจะเขียนเป็นภาษาละตินแล้วที่อ่านยากแล้ว เจ้าสูตรทำศิลานักปราชญ์ก็ดูไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ เท่าไหร่เพราะวัตถุดิบที่พี่แกใช้ เช่นแบบ ‘มังกรเพลิง (Fiery Dragon)’ ‘พิราบของเทวีไดอาน่า (Doves of Diana)’ หรือ ‘อินทรีของเมอร์คิวรี่ (Eagles of mercury)’ ซึ่งแบบ…คืออะไรวะ
เดาว่า ชื่อเรื่องแปลกๆ น่าจะเป็นคำเรียกสสารหรือธาตุในสมัยนั้นมากกว่า คือกึ่งอุปมาโดยโยงกับเรื่องเวทมนตร์ เช่น Doves of Diana ในหนังสือ The Alchemy Reader: From Hermes Trismegistus to Isaac Newton อธิบายว่าหมายถึงแร่เงินหรือสารประกอบที่มีนัยของเพศหญิง คือเป็นสารที่ทำหน้าที่รองรับสารหลั่ง (spiritual semen) จาก philosophical gold – ไม่ค่อยเข้าใจเนอะ แต่เอาเป็นว่าการเล่นแร่แปรธาตุมันก็เกี่ยวกับความเชื่อ จินตนาการ และธาตุ ที่ซับซ้อนอยู่ในตัวเอง
ในสูตรศิลาอาถรรพ์ของนิวตันแปลจากภาษาละตินมีชื่อเรื่อง for the Preparation of the Sophick Mercury, by Luna and the Antimonial-Stellate-Regulus of Mars, for the Philosophers Stone (แค่ชื่อก็จินตนาการมากมายแล้ว) ในกระบวนการก็จะพูดถึงการหลอม Arsnick หรือ Alkahest อันเหมือนสารทำละลายสำคัญที่เชื่อว่าสามารถละลายสสารใดๆ ได้