สวัสดีวันจันทร์ ขอให้เป็นต้นสัปดาห์มัน(ส์)ๆ ในการทำงานกันทุกคน
ทุกๆ วันจันทร์ท่ามกลางภาพดอกทานตะวันหรือก้อนทองคำเหลืองอร่ามที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายพากันส่งความปรารถนาดีผ่านทางไลน์ ขอให้วันจันทร์ของลูกหลานสดใสแข็งแรง
อยากให้จิตใจของมนุษย์เงินเดือนเข้มแข็งได้เท่าสีเหลืองภาพ .jpeg ของผู้ใหญ่ของเราจัง
วันจันทร์เป็นเสมือนความทุกข์ทรมานอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือน เป็นวันเริ่มแรกของการทำงานอันยาวนานอีก 5 วันที่เหลือ แล้วยิ่งสำหรับชาวกรุงเทพฯ ไม่รู้ทำไม วันจันทร์ต้องเป็นวันที่รถติดเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าเป็นวันจันทร์เปิดเทอมยิ่งต้องเตรียมจิตไว้ภาวนาบนรถ มนุษย์เงินเดือนชาวพุทธได้เจริญสติระงับโทสะกันสนุกหนักเข้าไปอีก
แล้วถ้าวันจันทร์ไม่ใช่วันจันทร์ที่เรารู้จักอีกต่อไปล่ะ?
หมายถึงว่า ถ้าต่อไปวันจันทร์ ไม่ใช่วันที่เราต้องไปทำงาน ไม่ใช่วันเริ่มต้นของสัปดาห์การทำงานอันยาวนานและทุกข์ทรมานอีก… พูดง่ายๆ คือถ้าเราไม่ต้องทำงาน (แต่มีกิน) เราจะทำอะไร
ข้อเสนอระดับโลกพระศรีอาริย์เกิดขึ้นแล้วในดินแดนที่ถูกมองว่าแฮปปี้ที่สุดเมืองมนุษย์ คือในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้มีข้อเสนอแนวคิดรายได้ขั้นต่ำให้กับพลเมืองสวิสทุกคน รายได้ขั้นต่ำที่ว่าไม่ใช่เรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่เป็นข้อเสนอให้มีการจ่ายรายได้ให้กับมวลชนชาวสวิสทุกคน ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ก็ตาม ตัวเลขที่เสนอให้จ่ายก็ไม่ใช่น้อยๆ แบบ 500 บาทต่อเดือนเหมือนเบี้ยยังชีพคนชราบ้านเรา แต่พี่แกเล่นเสนอให้จ่ายประมาณ 2,500 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 90,000 บาทไทย กันไปเลย
โอ้มายก้อด ก็เข้าใจว่าค่าครองชีพที่สวิสมันแพง ตัวเลขมันเลยดู … โคตรเยอะ สลิปเงินเดือนหมื่นห้าพันบาทในมือมันสั่นไปหมด
คือที่ดินแดนสวิสเซอร์แลนด์มีระบบที่เป็นประชาธิปไตยและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอแคมเปญและจัดโหวตนโยบายต่างๆ ได้ ไอ้แนวคิดเรื่องรายได้พื้นฐานก็เหมือนกัน พอมีการเสนอแล้วก็มีข้อแย้งกันในหลายประเด็น ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่า เนี่ย อีกหน่อยนะพวกการทำงานต่างๆ มันก็จะถูกแทนด้วยหุ่นยนต์แล้ว ตรงนี้สอดคล้องกับที่ Boston Consulting Group ทำนายว่า ภายในปี 2025 หนึ่งในสี่ของการงานทั้งหมดจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าคน
การถกเถียงกันบนประเด็นของการทำงาน ก็มีการแย้งกันอย่างออกรสและชวนคิด ที่น่าทึ่งคือ ไม่ได้เถียงกันว่าเงินรัฐจะมีหรือไม่มีพอจะจ่าย (นัยว่าจ่ายก็จ่ายได้นะแต่เรามาคุยกัน) แต่คุยกันว่า ตกลงแล้วการที่ทุกคนไม่ต้องทำงานเพื่อเงินมันจะดีแน่รึเปล่า ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าดีสิ เพราะงานส่วนใหญ่เช่นงานดูแลต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินอยู่แล้ว ส่วนทางสมาชิกสภาผู้แทนฯบอกว่า ถ้าเกิดจ่ายเงินให้ฟรีๆ นะ มีหวังคนได้แห่มากันจนสวิสเซอร์แลนด์แตกแน่ๆ แต่ไม่มีใครคิดว่านี่คือการกระทำประชานิยม เป็นการสปอยล์ผู้คนชาวสวิสให้ขี้เกียจและไม่มัธยัสถ์แต่อย่างใด คงเพราะเขาเคารพกันดี
การถกเถียงเรื่องการทำงาน จริงๆ มันก็เป็นปรัชญาอยู่นิดหน่อยเหมือนกัน ป้ายแคมเปญของฝ่ายสนับสนุนให้จ่ายเงินขั้นต่ำทำป้ายมหึมาความว่า “คุณจะทำอะไรต่อล่ะ ถ้าไม่ต้องมาคิดเรื่องการทำมาหากินอีกแล้ว” (What do you do if your income are taking care of)
ฟังแล้วก็ชวนคิดว่า จากชีวิตที่เราบ่นๆ ว่าเบื่อ การทำงานตามจังหวะห้าวัน แปดชั่วโมงที่บ่นแล้วบ่นอีกเป็นวงจรชีวิต เกิดว่าเราไม่มีวงจรนี้อีกแล้ว เราจะทำอะไรดีล่ะ
มองในแง่ดี มันก็อาจจะดีก็ได้ เหตุผลหนึ่งที่เราต้องทำงานแล้วเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าการทำงานมีลักษณะที่บังคับ คือถ้าไม่ทำก็ไม่มีกินหรือถูกตราว่าใช้ชีวิตไปอย่างไม่มีค่า การทำงานบางทีจึงเป็นเรื่องของความจำเป็น คือจำเป็นต้องทำทั้งๆ ที่ไม่ชอบ แต่เป็นเพราะโลกบอกว่าเธอต้องทำอย่างนี้ๆ นะ และแน่นอน เอารายได้หรือความมั่นคงของชีวิตมาเป็นเครื่องเดิมพัน และในเงื่อนไขที่ว่า ถ้าเราไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้และความมั่นคง ความหมายของการทำงานก็อาจจะเปลี่ยนไป ไม่ได้ถูกผูกเข้ากับเงินอีกต่อไป เราอาจจะสามารถทำงานเพราะอยากทำงาน เป็นความหมายของชีวิตที่เรากำหนดได้เองว่าเราอยากทำอะไร เพราะอะไร พลเมืองที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็อาจจะมีอิสรภาพมากขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น (คือไม่งั้นเพราะทุกคนต้องทำงานเพื่อเงิน บรรษัทที่จ้างก็มีอำนาจมากกว่าเพราะเอาค่าจ้าง) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าพลเมืองอาจจะ… มีความสุขมากขึ้น
ทำไมเราถึงเกลียดวันจันทร์
คาร์ล มาร์กซ์ ตัวพ่อบอกว่า ทุนนิยมมันคือสิ่งที่แกควรจะเกลียดมันจริงๆ เลยมีคนเอามาพูดเล่นๆ แต่ก็สมเหตุสมผลว่า จริงๆ แล้ว แกน่ะไม่ได้กลียดวันจันทร์หรอก แกเกลียดทุนนิยมต่างหาก ประเด็นหนึ่งที่มาร์กซ์ชี้ให้เห็นคือระบบทุนนิยมทำให้ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของมนุษย์เราถูกลดทอนลงไป เพราะทุนนิยมทำให้ ‘คน’ ถูกมองเป็นเพียง ‘แรงงาน’ ซึ่งแรงงานก็มีค่าเท่ากับสินค้าอย่างหนึ่ง มาร์กซ์มองว่าการผลิตต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นของมนุษย์แต่ระบบทุนนิยมทำให้กระบวนการผลิตแบบยังชีพของมนุษย์บิดเบี้ยวไป จากการที่ผลิตเองโดยที่ผู้ผลิตมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองผลิต เช่น ชาวบ้านทอผ้าหรือปั้นโอ่ง ก็มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองผลิต มีความภูมิใจ แต่ในโลกสมัยใหม่สิ่งที่เราผลิตจริงๆ เป็นเพียงการขายแรงงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตขนานใหญ่
สุดท้ายแล้วแรงงานทั้งหลายแทบไม่มีความผูกพันกับผลผลิตปลายทางที่ตัวเองผลิตขึ้นมาเลย ไม่มีความภูมิใจกับสินค้าจำนวนมหาศาลที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำการผลิตขึ้น (โดยเฉพาะพวกสายพานการผลิตในโรงงานทั้งหลาย) สิ่งที่มนุษย์ในโลกของการผลิตแบบอุตสาหกรรมถูกบังคับให้ทำ คือการเอาแรงงานของตัวเองไปขายโดยแลกเปลี่ยนเข้ากับค่าจ้าง ตรงนี้เองมาร์กซ์บอกว่าการแยกแรงงานออกจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยกและทำให้ความเป็นมนุษย์เหือดแห้งลงไป
กลับไปที่แนวคิดของชาวสวิสเซอร์แลนด์ เลยดูเหมือนว่า ถ้าประชาชนไม่ถูกกำกับหรือบังคับในการทำงานเพื่อแลกเงินแล้ว ความทนทุกข์ของคนที่ถูกทำให้กลายเป็นแรงงานอาจจะลดน้อยลงไปก็ได้ เพราะทุกคนมีรายได้ที่แน่นอนแล้ว สามารถเลือกทำงานหรือใช้ชีวิตเพื่อความหมายอื่นๆ ตามที่ตัวเองต้องการได้
ฟังดูสุดอุดมคติ แต่เมื่อวันอาทิตย์ (7 มิ.ย. 2559) ที่ผ่านมาชาวสวิสพากันเดินเข้าคูหาแล้วพากันโหวตโนใส่แนวคิดนี้ ซึ่งถึงวาระนี้จะตกไป แต่ว่าแนวคิดทำนองเดียวกันก็มีการพิจารณากันอยู่ในส่วนต่างๆ ของทวีปยุโรป เช่น ในฟินแลนด์มีการพิจารณาให้รายได้ขั้นต่ำกับคนที่มีรายได้น้อย หรือในเนเธอแลนด์เองก็กำลังศึกษาแนวทางในทำนองเดียวกันเช่นกัน