จากข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศจะเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นเพื่อ “สร้างจิตสำนึกทางการเมือง การตระหนักถึงการไปใช้สิทธิ และผลต่อการพัฒนาประเทศ” แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงโรงภาพยนตร์ เพราะทางกกต. จะปล่อยคลิปให้ดูกันใน Youtube ด้วยความคาดหวังว่าคลิปเหล่านี้จะไวรัลต่อไปในโลกอินเตอร์เน็ต
ถึงจะรู้สึกสงสัยอยู่เล็กๆ ว่า เป้าหมายที่กกต. อยากจะได้นั้นมันเป็นอย่างที่หวังไหม แต่แล้วเราก็นึกขึ้นมาได้ว่าภาพยนตร์ที่หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเพื่อสังคมเคยทำขึ้นมาด้วยความหวังดีต่อพวกเราก็มีหลายๆ เรื่องนะ เราเลยหยิบยกเอาภาพยนตร์จากกลุ่มนี้มาให้พิจารณากันว่าหนังจากหน่วยงานต่างๆ มีอันไหนที่น่าจดจำกันบ้าง
1. ภาพยนตร์สั้นชุด The Box กล่องแห่งความหวัง โดย กกต.
เปิดตัวแบบกะทันหันแต่ก็โดดเด่นร้อนแรงจนสามารถแซงหน้าภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่โฆษณามาก่อนหลายสัปดาห์ กับเรื่องราวการเดินทางของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามนำ ‘กล่อง’ ไปให้หญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังป่วยหนักและอาศัยอยู่บนยอดเขาสูง …และกล่องนั้นก็พร้อมจะมอบความหวังให้เธอ
ด้วยสไตล์เมโลดราม่าเร้าอารมณ์ผู้ชมแถมยังหักมุมแบบที่ใครก็คาดไม่ถึง ทำให้คนดูแทบทุกคนเกิดความรู้สึกอยากจะไปเลือกตั้งในทันใด …แต่ภาพยนตร์ไม่ได้บอกเรานะว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
2. ภาพยนตร์สั้น ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี โดย กาชาดสยาม (สภากาชาดไทย ในปัจจุบัน)
ภาพยนตร์ขนาดสั้นที่ กาชาดสยาม สร้างขึ้นและออกฉายช่วงวันที่ 27 – 30 สิงหาคม ปี 1927 เป้าหมายหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกศรัทธาวิธีการรักษาแบบพ่อมดหมอผี แล้วมารักษาอาการเจ็บไข้ตามหลักการแพทย์อย่างถูกต้องแทน
ด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้เน้นความบันเทิง ทำให้คนไม่ค่อยจดจำเรื่องนี้มากนัก ส่งผลให้หาภาพประกอบค่อนข้างยาก (เราหาภาพไม่เจอจริงๆ ครับ ขออภัย) แต่ก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่สำคัญ ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผี ก่อนที่บ้านเราจะฮิตสร้างหนังแนวนี้มาจนถึงปัจจุบัน
3. ภาพยนตร์สั้น เส้นทางรัก (Love En Route) โดย กระทรวงวัฒนธรรม
เรื่องราวของชาวอเมริกาคนหนึ่งเดินทางมาเที่ยวในไทยเพื่อรักษาแผลใจ เพราะเขาได้ติดตาม Instagram ของสาวชาวไทยคนหนึ่งที่ใช้ชื่อ Love En Route แล้วการเดินทางเพียงระยะเวลาสั้นๆ จะทำให้เขากับเธอตกหลุมรักกันได้ไหม?
เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าจะมีภาพยนตร์สนับสนุนการท่องเที่ยวขึ้นมาสักเรื่องนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย และภาพยนตร์สั้นชุดนี้ก็พยายามนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวของไทยแบบเต็มเหนี่ยวในช่วงเวลาไม่ถึง 10 นาที แถมยังมีภาพยนตร์ให้ชมกันถึง 2 ภาคเลยด้วย จะสงสัยเป็นการส่วนตัวก็แค่ว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่น่าจะดูแลเรื่องนี้โดยตรงกัน
4. ภาพยนตร์สั้นชุด ไทยนิยม โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
จัดใหญ่ ดราม่าหนัก ดาราเต็ม เอฟเฟกต์ระดับไฟกระพริบ ต้องภาพยนตร์ชุดนี้ที่มีเป้าหมายในการโปรโมต ‘ค่านิยม 12 ประการ’ นโยบายของ คสช. ที่ถูกนำมาแยกย่อยเป็นภาพยนตร์สั้น 12 เรื่อง จากผู้กำกับชื่อดัง 12 คน ร่วมด้วยดารานักแสดงที่คุ้นเคยกันอย่าง ขวัญ-อุษามณี เต้ย-พงศกร เวียร์-ศุกลวัตน์ พิศมัย วิไลศักดิ์ เจมส์ มาร์ โดนัท-มนัสนันท์ กรรณ สวัสดิวัตน์ ฯลฯ และเปิดให้รับชมในโรงภาพยนตร์กันฟรีๆ อยู่ช่วงหนึ่งก่อนที่จะปล่อยให้ชมกันทาง Youtube
5. ภาพยนตร์สั้นชุด โตไปไม่โกง โดย กรุงเทพมหานคร
ภาพยนตร์ที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ GTH (ณ เวลานั้น) จับดาราอย่าง เต๋อ-ฉันทวิชช์ พีค-ภัทรศยา พีช-พชร เต้ย-จรินทร์พร ฯลฯ กับผู้กำกับอีก 15 คน มาทำหนังสั้น 15 เรื่อง ตามโครงการกรุงเทพเมืองสีขาว ‘หลักสูตรโตไปไม่โกง’ ที่ครอบคลุมคุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ จิตสาธารณะ อยู่อย่างพอเพียง และความเป็นธรรมในสังคม
ถ้าว่ากันตรงๆ ในกลุ่มตัวอย่างที่เรายกมาทั้งหมด ภาพยนตร์ชุดนี้น่าจะได้ความบันเทิงสูงสุด ไม่ว่าจะในแง่บท การถ่ายทำ หรือการแสดงของนักแสดง และตัวภาพยนตร์แทบทุกเรื่องยังพยายามบอกเล่าเรื่องความคุณธรรมแบบชัดเจนแบบไม่ยัดเยียดมากนัก …อ่า ส่วนตอนสุดท้ายของทุกเรื่องที่ได้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี มาสรุปเรื่องนั้นแม้จะได้สาระอย่างมาก แต่เราก็คิดว่าต่อให้ไม่ใส่มาตัวหนังก็ค่อนข้างสรุปเนื้อหาตามคอนเซปท์ดีอยู่แล้วนะ
6. ภาพยนตร์สั้นชุด โครงการจิตสำนึกรักเมืองไทย โดย กระทรวงกลาโหม
ถ้าพูดถึงละครทีวีที่ฉายมาอย่างยาวนานเราคงต้องยกให้ ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2001 แต่ถ้างานของภาครัฐที่จัดประกวดและฉายกันอย่างต่อเนื่องที่สุดก็ต้องเป็น ‘โครงการจิตสำนึกรักเมืองไทย’ ที่มีกระทรวงกลาโหมเป็นแม่งาน และจัดมา 8 ครั้งแล้ว
โครงการนี้มีเป้าหมายที่เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี เดิมทีไม่ได้ประกวดทำภาพยนตร์สั้นเท่านั้น แต่จะประกวดการทำสื่อต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปตามยุค แล้วปีที่ผ่านมาก็เปิดหมวดภาพยนตร์สั้น ภายใต้หัวข้อ ‘Stronger Together เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน’ โดยมีกรรมการเป็นผู้กำกับแถวหน้าของประเทศ แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะมาจากมือสมัครเล่น แต่น้องๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันเหล่านี้อาจได้เป็นบุคลากรในวงการภาพยนตร์ในอนาคตก็เป็นได้
7. ภาพยนตร์สั้นชุด อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย
แม้เราจะคุ้นเคยกับมันในฐานะโฆษณามากกว่า แต่เมื่อไปดูในเว็บไซต์ของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ได้ระบุไว้ว่าโฆษณาชุดนี้เป็นหนังสั้น ว่ามาแบบนี้ก็ต้องขอพูดถึงซักหน่อยล่ะคร้าบ!!!
ภาพยนตร์สั้นที่ออกฉายในรูปแบบโฆษณาตามโทรทัศน์ ที่ให้ตัวละครที่เป็น ‘คนโกง’ ในรูปแบบต่างๆ ถูกตัวละครอื่นๆ รุมประณามหยามเหยียดก่อนจะปิดด้วยสโลแกน “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม” แบบเสียงเข้มๆ กระแทกใจจำกันไปจนถึงวันตาย (เราคิดแบบนี้จริงๆ) ตอนที่เราประทับใจมากที่สุดก็คงไม่พ้นตอนที่เด็กน้อยคนหนึ่งไม่มีเพื่อนยอมมาเล่นด้วยเพราะเป็นลูกของคนโกง …คือทั้งน่าสงสาร แล้วพาลให้คิดว่ามันเป็นการกลั่นแกล้งจนเกินควรหรือเปล่า แต่ก็แค่หนังอ่ะเนอะ เราอาจจะคิดมากเกินไปแหละ
อย่างที่เห็นว่าภาพยนตร์จากองค์กรรัฐก็ไม่ได้มีแต่อะไรน่าเบื่อ หลายเรื่องเองก็เป็นที่น่าจดจำอยู่เช่นกัน เราก็คาดหวังว่าคนที่รับชมภาพยนตร์เหล่านี้จะได้สาระในทางใดทางหนึ่งกลับไปไม่มากก็น้อย และคงจะดียิ่งขึ้นถ้าเราได้รับรู้ว่าพวกเขาไปถ่ายทำกันเมื่อไหร่ ใช้งบขนาดไหน เหมือนกับที่ภาพยนตร์ทั่วไปทำกัน
ก็แหม บางทีเราก็อยากจะกรี๊ดกร๊าดกันก่อนหนังฉาย มากกว่าที่จะกรี๊ดตกใจที่อยู่ๆ หนังก็ฉายแบบไม่บอกกล่าวนี่นา
อ้างอิงข้อมูลจาก
องต์การต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)
Youtube Channel : ภาพยนตร์ไทยนิยม
Illustration by Manaporn Srisudthayanon