Stigma -mark made on skin by burning with a hot iron
– ตราที่ตีลงบนผิวด้วยเหล็กร้อน
วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก แน่ล่ะว่าการสูบบุหรี่มีข้อเสียมากมาย ทั้งต่อสุขภาพตัวเอง สุขภาพคนรอบข้าง (ถ้าสูบแบบไม่รู้จักคิดน่ะนะ) แถมยังละลายเงินในกระเป๋าอีก และด้วยข้อมูลจาก สสส. พิเคราะห์ว่ากลุ่มวัยรุ่นที่เรียกรวมๆ ว่ากลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่เป็นเป้าหมายและมีโอกาสที่จะลองและติดบุหรี่ได้ง่ายๆ จึงผุดโครงการ #GenZstrong เพื่อเชิญชวนน้องๆ วัยเรียนว่า เออ สูบบุหรี่มันไม่ดีหรอกนะ ซึ่งฟังๆ ดู ก็โอเคดีเนอะ
ด้วยอยากให้แคมเปญจับใจน้องๆ วัยเรียน วิธีการโปรโมทจึงยืมมือหนุ่มหล่อสาวสวยมาเป็นแบบ แล้วแปะคำพูดเท่ๆ ที่สรุปรวมๆ ประมาณว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสูบบุหรี่นะ สูบแล้วไม่เท่ ไม่คูล หรือบางคนก็พูดในทำนองว่า ถ้าคนไหนสูบบุหรี่ก็ไม่ค่อยอยากเข้าไปสานสัมพันธ์ด้วยเท่าไหร่หรอก หรือหนุ่มน้อยบางรายก็บอกว่า ผู้หญิงสูบแล้วดูไม่ค่อยเหมาะสม
ผลก็คือ มีคอมเมนต์จำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า เฮ้ย สื่อออกมาแบบนี้ไม่ค่อยโอเครึเปล่านะ สูบบุหรี่มันเป็นเรื่องของสุขภาพ เป็นเรื่องส่วนตัว การจะเลือกสูบหรือไม่สูบไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่น หรือกลายเป็นเงื่อนไขของการ ‘ถูกเลือก’ โดยเหล่าหนุ่มสาวหน้าตาดีทั้งหลายแบบนี้ คำคูลๆ ที่เอามาแปะกับรูปหล่อสวยไม่เห็นจะสมเหตุสมผลตรงไหน บางคนก็ยกแนวคิดเรื่อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ หรือ political correctness ขึ้นมาว่า หืม อคติกับผู้หญิงจัง ผู้หญิงไม่ควรสูบบุหรี่เพราะ ‘เป็นผู้หญิง’ งี้เหรอ
ถ้าพูดกันกลางๆ และไม่ได้ชี้นำว่าผู้หญิงควรสูบบุหรี่หรือไม่อย่างไร แต่หากลองคิดภาพ ‘การตัดสิน’ ของสังคม เวลาที่เห็นผู้หญิงกับผู้ชายสูบบุหรี่ มันก็จะมี ‘ระดับ’ การตัดสินที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะถูกมองด้วยอคติที่รุนแรงกว่า ด้วยสังคมไทยเชื่อว่าผู้หญิงควรจะเป็นเพศเรียบร้อยและสยบยอม (นัยหนึ่งของการสูบบุหรี่คือการขบถต่อกฎเกณฑ์ของสังคม) ดังนั้นข้อวิจารณ์ที่ว่าถ้าผู้หญิงสูบบุหรี่แล้วไม่น่ารักจึงไม่แปลกที่จะนำมาซึ่งคำถามที่ว่า แล้วผู้หญิงจำเป็นต้อง ‘น่ารัก’ ไปเพื่ออะไร ถ้าเธอสูบบุหรี่ เธอจึงไม่น่ารัก และต้องกลัวว่าจะไม่ถูกรักโดยหนุ่มรูปงามงั้นหรือ?
หลังจากที่แคมเปญ GenZ หนุ่มหล่อสาวสวยบวกโควเทชั่นคมๆ ว่าเราไม่เอาบุหรี่ออกมาไม่ทันไร ชาวเน็ตแสบๆ ก็ทำภาพล้อเลียนออกมาทันควัน ในด้านนึงเราอาจมองว่าการล้อเลียนที่ตามมาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตรรกะของคำคมที่อาจจะไม่คมเท่าไหร่ของแคมเปญ เช่นภาพของสาวน้อยรายหนึ่งเขียนด้วยถ้อยคำถึงลูกถึงคนว่า “จะสูบก็เรื่องของมรึง แต่อย่ามาสูบใกล้กู กูเหม็น อีแสส” หรือภาพของเด็กหนุ่มวัยใกล้ๆ กันกับข้อความว่า “เวลาเห็นผู้หญิงสวยๆ สูบบุหรี่ ผมไม่มองผู้หญิงคนที่ว่าเลยนะครับ เพราะผมชอบผู้ชาย ไม่ได้ชอบผู้หญิงอะครับ”
การล้อเล่นแบบเจ็บๆ แสบๆ ของ GenZ คนอื่นๆ ที่อยู่นอกแคมเปญแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว GenZ ก็รู้เท่าทันและสร้างสรรค์พอตัว กรณีของน้องผู้หญิงที่อาจใช้คำที่ไม่สุภาพจนเกิดดราม่าแต่ที่น้องพูดมาก็มีเหตุผล คือการสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ผู้สูบแค่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม จะสูบก็สูบไปแต่อย่ามาสูบให้เป็นที่รำคาญแก่ชาวบ้านเค้า ส่วนน้องผู้ชายก็สามารถรื้อตรรกะที่นำชายและหญิงมาดึงดูดเพศตรงข้าม ด้วยการเอารสนิยมทางเพศที่เฉพาะของตัวเองอันเป็นพื้นที่ที่แคมเปญไม่ได้กล่าวถึงมาล้อเลียน
สองกรณีข้างต้นแสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการเลือกคู่ครองไม่ได้มองกันแค่ฉาบฉวยว่าคนนี้สูบหรือไม่สูบบุหรี่ แต่แรงดึงดูดทางเพศต่างหากที่เป็นตัวเลือกที่มีพลัง ไม่ใช่การตัดสินกันด้วยค่านิยมบางอย่างที่สังคมพยายามจะสถาปนาหรือตรามันใส่ตัวบุคคล ถ้าเจอคนที่ใช่หรือต้องกับรสนิยมจริงๆ จะสูบบุหรี่หรือกินเหล้ามั้ย ค่อยมาตกลงกันอีกทีจริงไหม? ยิ่งหายากๆ อยู่ จะมานั่งแบ่งแยกทำไมอีกกกก
ในกระบวนการของสังคมมีสิ่งที่เรียกว่าการตีตราทางสังคม หรือ Social Stigma ซึ่งกรณีของการสูบบุหรี่ หรือการกินเหล้าในวันพระก็เป็นการตีตราทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งการตีตราที่ว่านี้เป็นการผลิตซ้ำอคติทางสังคมอย่างไม่ค่อยเป็นธรรมนัก ทำนองว่า เป็นเกย์ต้องสำส่อน ผู้หญิงสูบบุหรี่ต้องเป็นคนเริงเมือง (จริงๆ อาจจะทำงานเครียดและสารนิโคตินก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ชั่วครู่) คนขี้เหล้าเป็นคนจน (ชีวิตคนจนอาจจะไม่มีทางเลือกนอกจากการหาความสุขสั้นๆ จากการดื่ม เอ๊ะ หรือไม่ว่ารวยจนก็ดื่มเพื่อลืมทุกข์กันแทบทั้งนั้น) คนมีรอยสักต้องเป็นอันธพาล