วัยเด็กคือการได้ออกไปวิ่งเล่น เรียนรู้ สนุกสนานไปกับชีวิต แต่เมื่อโรคระบาดเข้ามา ทำให้โอกาสเติบโตของพวกเขาชะงักไปในช่วงปีที่ผ่านมมา การมาถึงของวัคซีนเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องกระจายให้เด็กๆ ได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึง
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาของ COVID-19 ที่มีต่อเด็กไปเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน และมักเป็นกลุ่มที่ถูกภาครัฐหลงลืมไปอยู่เสมอ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วกับเรื่องของ ‘วัคซีน’ พวกเขายังถูกลืมกันด้วยหรือเปล่า
The MATTER ไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนในศูนย์ฝึกและอบรม เด็กเรียนแบบโฮมสคูล ผู้ปกครองซึ่งเป็นคนจัดการศึกษาให้ลูกเอง รวมถึงนักวิชาการด้านการศึกษา เพื่อสะท้อนให้ถึงปัญหาความล่าช้าของการจัดสรรวัคซีนและปัญหาที่ค้างคามานานในสังคมไทย
ชีวิตการเรียนก่อนและหลังมี COVID-19 ของเด็กในศูนย์ฝึกและอบรมฯ
ชีวิตของใครหลายคน คงต่างไปจากที่เป็นอยู่นี้อย่างชัดเจน เด็กหลายคนไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน อดทำกิจกรรม และพบปะผู้คนอย่างที่ควรเป็น เช่นเดียวกับเด็กที่เรียนการศึกษานอกระบบ ซึ่งรูปแบบการเรียนต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการมาของ COVID-19 เช่นกัน
“ก่อนหน้านี้เราเล่นกันได้ปกติ นอนยาวติดกันได้” บี เยาวชนวัย 17 ปีที่ศึกษาอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานีกล่าว
ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ เป็นสถานที่บำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนตามคำสั่งของศาลเยาวชน ซึ่งตามปกติแล้วพวกเธอจะได้พบเจอวิทยากรจากหลากหลายสายงานที่เข้ามาฝึกอบรมให้ความรู้กับเด็กๆ แต่พอ COVID-19 เข้ามา เหล่านักเรียนก็ต้องเรียนผ่านซูมแทน
บีเข้ามาเรียนอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมฯ ได้ปีกว่าแล้ว จึงได้เจอกับการเรียนทั้งรูปแบบก่อน COVID-19 และหลัง COVID-19 แพร่ระบาด ซึ่งเธอเล่าว่า ทุกวันนี้ต้องมาออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย แล้วเหล่านักเรียนก็ต้องคิดกิจกรรมกันขึ้นมาเอง เพื่อทดแทนการเรียนแบบเดิม
“ในศูนย์ฝึกนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อ เคยมีคนที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วแต่ยังกลับมาทำงานที่ศูนย์ติดเชื้ออยู่” บีเล่า
เธอเล่าต่อด้วยว่า ช่วงแรกๆ เธอกลัวการติดเชื้อมากเช่นกัน แต่พอได้รับข้อมูลว่า โรคนี้สามารถป้องกันได้ และอาการในเด็กไม่รุนแรงมาก ความกลัวก็ทุเลาลง ขณะที่ พอมีข่าววัคซีนเข้ามา เธอก็กลัวที่จะต้องฉีดอยู่เหมือนกัน ด้วยข่าวคราวผลข้างเคียงที่น่ากังวล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ทำให้เห็นว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงน้อยกว่าผลจากการติดเชื้อ จึงอยากเข้ารับวัคซีนสำหรับเด็กแล้วเช่นกัน
“พอรู้ข่าวว่าเรื่องวัคซีนเด็ก เห็นแล้วก็ดีใจที่ใกล้ถึงวันที่เราต้องได้ฉีดแล้ว ส่วนตัวหนูเองก็กล้าที่จะฉีดด้วย” แม้จะสวมหน้ากากอนามัยอยู่ แต่บีก็กล่าวถึงเรื่องวัคซีนของเด็กด้วยดวงตาที่เป็นประกาย
การฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปี เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่าเริ่มฉีดวัคซีนวันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้การศึกษาเดินหน้าต่อไปได้
ถึงอย่างนั้น การมาของวัคซีนสำหรับเด็กนอกระบบกลับล่าช้ากว่าเด็กในระบบทั้งหลาย แม้อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะพูดเอาไว้ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ไม่ได้จะฉีดเฉพาะนักเรียนในระบบเท่านั้น แต่นักเรียนนอกระบบที่อยู่ในเกณฑ์รับวัคซีนไฟเซอร์ ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน
แต่หลังเปิดประเทศมาแล้ว นักเรียนนอกระบบเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียที
“เข้าใจว่าช้าเพราะว่าเด็กในระบบหลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก เสี่ยงเจอโรคเยอะกว่าพวกเรา แต่ก็จะดีกว่าถ้าได้วัคซีนกันทุกคน” บีกล่าว
ฟังเสียงของนักเรียนโฮมสคูล
ความล่าช้าของวัคซีนเด็ก ที่ทำให้พวกเขาอดออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอย่างสมวัย ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักเรียนในศูนย์ฝึกและอบรมฯ เท่านั้น แต่เหล่านักเรียนโฮมสคูล ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน
“ปกติแล้วเราจะให้ลูกไปเรียนรู้ข้างนอกเสียส่วนใหญ่ อย่างบ้านเราก็ให้ลูกไปทำงานกับพ่อแม่ ด้วยความที่ทั้งพ่อแม่ เป็นฟรีแลนซ์ด้านกิจกรรม พ่อสอนศิลปะ ลูกก็จะออกไป เหมือนออกไปทำงานกับเราด้วย ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย แต่ทีนี้ พอมี COVID-19 มาปุ๊บ ทุกอย่างก็คือหยุดเลยต้องอยู่บ้านอย่างเดียว” คำบอกเล่าจาก ปณิดา ผู้ปกครองและผู้จัดการศึกษาให้กับเพนท์ เด็กชายวัย 12 ปี
เมื่อ COVID-19 เข้ามาก็กลายเป็น ลูกชายของเธอต้องเรียนรู้ที่บ้านแทน เรื่องการใช้ชีวิตเหมือนที่เธอโฟกัสเอาไว้ตอนแรกก็หายไปแล้ว แล้วกลับมาเป็นการโฟกัสเนื้อหาทางวิชาการแทน ซึ่งปณิดาเล่าว่า สิ่งที่เขาจะต้องเรียนรู้จริงๆ มันไม่ใช่แบบนี้ ทั้งเธอและสามีไม่ได้ต้องการให้ให้ลูกเรียนเนื้อหาวิชาการอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ แต่พวกเขาเน้นให้ลูกชายสามารถใช้ชีวิตข้างนอก และได้พบปะผู้คนมากกว่า
“แล้วในส่วนของเพนท์ เขาเป็นนักกีฬา inline skate ด้วย ก็ยิ่งกระทบหนักเลย เพราะว่าไปซ้อมกีฬาไม่ได้ สนามกีฬาถูกปิด”
พอมีข่าวเรื่องวัคซีนสำหรับเด็ก ปณิดาก็มองว่า ลูกชายของเธอยังได้รับผลกระทบอยู่ดี เพราะเขายังไม่ได้รับวัคซีน และตอนนี้ สนามกีฬาเปิดแล้ว แต่ให้สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนเท่านั้น ซึ่งทางสนามกีฬามีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นเด็กที่มีพ่อกับแม่พาไป และพ่อกับแม่ได้รับวัคซีน เด็กก็ไม่จำเป็นรับวัคซีนก็ได้ แต่ปกติแล้ว เพนท์จะไปซ้อมเอง พ่อกับแม่ไม่ได้อยู่เฝ้า เขาก็เลยเข้าไปไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
แต่เมื่อถามปณิดา เรื่องการลงทะเบียนรับวัคซีนของเด็กนอกระบบ เธอกลับตอบว่า ไม่ได้รับข้อมูลอะไรเลย แม้จะพยายามติดตามข่าววัคซีนสำหรับลูกชายอยู่ตลอดก็ตาม
“ยังไม่ทราบข่าวเลยว่าจะมีเคสสำหรับเด็กนอกระบบ เลยยังไม่ได้ติดต่อ ตอนนี้เรารอจากกลุ่มบ้านเรียนด้วย แล้วก็รอฟังข่าววัคซีนสำหรับเด็กทั่วไปด้วย”
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ความล่าช้าของวัคซีนเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเรื่องการเข้ารับวัคซีนสำหรับนักเรียนนอกระบบก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น การให้ข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับครอบครัวของเด็กๆ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ปกครองของเด็กทั้งในและนอกระบบหลายคนไม่อยากให้ลูกหลานเข้ารับวัคซีน ด้วยความไม่มั่นใจในผลข้างเคียง อย่างกรณีของ เอมมี่ นักเรียนหญิงวัย 15 ปีที่ศึกษาแบบโฮมสคูลอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
“ปกติจะมีไปเรียนข้างนอก อย่างปีที่แล้วจะได้ไปทำกิจกรรมเข้าค่ายเรือใบ ปีนี้ก็ไม่ได้ไป เพราะว่า COVID-19”
เอมมี่เล่าว่า เธออยากฉีด แต่พ่อของเธอยังกังวลเรื่องผลข้างเคียงอยู่ พอมีคนส่งแบบฟอร์มขอรับวัคซีน ซึ่งต้องให้ผู้ปกครองเป็นคนเซ็นต์ยินยอมให้ พ่อของเธอจึงยังไม่อนุมัติให้เอมมี่รับวัคซีน ประกอบกับ พ่อของเธอมองว่า COVID-19 ในเด็กจะไม่แสดงอาการรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต จึงอยากให้รอก่อน
“ตอนแรกก็ขอเขาว่า อยากฉีดเพราะว่า ถ้าเราฉีด เราจะได้ภูมิคุ้มกันมากขึ้น ความกลัวจะลดลง จะสบายใจ ได้ทำกิจกรรมข้างนอกได้อย่างหายห่วง”
เด็กมีหลากหลายรูปแบบ และไม่ควรมีใครถูกหลงลืม
“จริงๆ ก็แอบน้อยใจนิดนึง เพราะว่าตั้งแต่เรื่องเงินเยียวยา เด็กบ้านเรียนก็ไม่ได้ เรื่องนึงละ ทีนี้ก็มาเรื่องวัคซีนอีก เด็กบ้านเรียนก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ เขาก็เป็นเด็กนักเรียนคนนึงแหละ ถึงแม้จะเป็นเด็กนักเรียนนอกระบบก็เถอะ แต่ก็ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เหมือนกัน แต่เขาก็ถูกลืมไป” ปณิดากล่าว
ปัญหานี้ สะท้อนว่าสวัสดิการรัฐที่ควรแจกจ่ายให้กับนักเรียนอย่างทั่วถึง กลับเป็นสิ่งที่ไปไม่ถึงนักเรียนนอกระบบเลย เช่นเดียวกับ เอมมี่ ที่มองว่า เด็กโฮมสคูลมักจะได้อะไรช้ากว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนอยู่เสมอ โดยเธอยกตัวอย่างเรื่องใบเกรดจบการศึกษา ซึ่งเด็กโฮมสคูลต้องขอจากสำนักงานเขตการศึกษา แต่ปกติก็ต้องรอนานหลายเดือนอยู่เสมอ สะท้อนว่า เด็กที่ไม่ได้เรียนอยู่ในรั้วโรงเรียนไม่เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐเลย
“ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เด็กนอกระบบจะได้ช้ากว่าเด็กในระบบเสมอเลย”
สาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน เผชิญกับภาวะถูกทิ้งอย่างกรายๆ นี้ ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน มองว่า มาจากระบบการจัดการข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีประสิทธิภาพ
“เขาจะมีข้อมูลผู้เรียน เรียกว่า Data Management Center (DMC) แต่ว่าจะทำเฉพาะในโรงเรียน แล้วเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราเพิ่งพบว่า เด็กในศูนย์การเรียนไม่เคยได้เงินอุดหนุนเลย เราลงพื้นที่แล้วพบว่า ชื่อของเราไม่อยู่ใน DMC เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่ต่างๆ จึงตีความหมายพวกเราเป็นเด็กนอกระบบ ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ในระบบการศึกษาที่รัฐต้องรับรองโดยกฎหมาย ม.12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่ว่าเขาไม่มีระบบจัดการที่รองรับสิทธิทางการศึกษารูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย”
“คือกฎหมายเปลี่ยนแล้ว ค่อนข้างทันสมัย ทำให้เกิดระบบการศึกษาที่รองรับรูปแบบ พื้นที่ เด็กที่หลากหลาย แต่ตัวกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ปรับเปลี่ยนตาม แล้วก็ไม่มีสำนักงานใหม่ๆ มารองรับโดยเฉพาะ”
ปัญหาโครงสร้างขององค์กรนี้ เป็นผลให้เด็กที่เรียนในการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากการเรียนในห้องเรียน ไม่ได้รับความสนใจเทียบเท่ากับเด็กในห้องเรียน
อีกด้านหนึ่ง ยังมีเด็กนอกระบบการศึกษา ที่ ‘หลุด’ ออกจากระบบการศึกษาไปอย่างไม่เต็มใจ ทำให้พวกเขายิ่งเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้ รวมถึงวัคซีนด้วยเช่นกันซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จากศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ก็กล่าวถึงปัญหาการจัดสรรวัคซีนให้เด็กนอกระบบว่า เด็กกลุ่มนี้จะเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างยากลำบาก ทำให้พวกเขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขาดแรงบันดาลใจในเรื่องการศึกษาต่อ ซึ่งมีผลมาจากการที่พวกเขาเป็นคนที่พ่ายแพ้และหลุดจากระบบการศึกษา
“ปัจจุบันมีเด็กนอกระบบทั้งหมด 900,000 คน เป็นเด็กนอกระบบที่อายุตั้งแต่ 15-24 แล้วก็สะสมเรื่อยไปสุดท้ายพ้นจากเยาวชนก็กลายเป็นแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน เพราะงั้นกลุ่มคนที่เป็นเด็กและเยาวชน และเป็นกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ พูดถึงสวัสดิการของรัฐ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ ผู้ที่มีความยากจน เข้าถึงสวัสดิการของรัฐค่อนข้างยากลำบาก ก็จะมีเด็กและเยาวชนรวมทั้งหมดประมาณ 21 ล้านคน เป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบัน ยังได้รับการฉีดวัคซีนในอัตราต่ำ แต่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง”
ข้อมูลจาก อ.สมพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบันเรามีเด็กที่ติด COVID-19 แล้วอย่างน้อย 2 แสนกว่าราย โดยจำนวน 70-80% ของเด็กที่ติดเชื้อนี้เป็นเด็กนอกระบบในชุมชนแออัด เด็กกลุ่มไซส์คนงาน ยากจน แรงงานข้ามชาติ เร่ร่อน หากไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพในการช่วยเหลือดูแลเด็กกลุ่มนี้ การเข้าถึงการฉีดวัคซีนจะมีอัตราต่ำมาก ประมาณ 15-20% เท่านั้น แต่ถ้ามีองค์กร มีมูลนิธิ มีหน่วยงานที่เข้าไปดูแลก็จะช่วยให้เขาเข้าถึงวัคซีนได้
อ.สมพงษ์ ยังยกตัวอย่างถึงกรณีของชุมชนคลองเตยซึ่งเคยเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ และมีเด็กติดเชื้อเยอะมาก แต่ตอนนี้มี สำนักงานเขตกับ สธ. และองค์กรต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือ ทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้เกือบ 100% แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ถ้ามีหน่วยงานให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้ เด็กก็จะเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งเราทราบแล้วว่า เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กกลุ่มที่วิ่งไปทั้งชุมชน เป็น Big spreader ได้
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือการให้เด็กต้องกรอกแบบฟอร์มโดยมีลายเซ็นยืนยันจากผู้ปกครอง ซึ่งเด็กนอกระบบหลายคนไม่มีอุปกรณ์พร้อมสำหรับลงทะเบียน เช่น ไม่มีสมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่หลายคนก็ไม่มีผู้ปกครองดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเร่ร่อน
ยิ่งกว่านั้น อ.สมพงษ์ยังกล่าวด้วยว่า มีเด็กอีกจำนวนมากที่ขาดหลักฐานทางราชการในการรับรองขอวัคซีน เช่น กลุ่มเด็กที่เข้าประเทศมาทำงานตามพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 400,000 กว่าคน ซึ่งอาจารย์ตั้งคำถามว่า เราจะไม่ให้คนกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาอยู่ในประเทศไทย อยู่ในแคมป์คนงาน อยู่ในตลาด
“ถ้ายังยึดเรื่องแบบฟอร์มในการลงทะเบียน เด็กจะได้รับโอกาสการฉีดวัคซีนน้อยลง” อ.สมพงษ์กล่าว ทั้งยังบอกว่า ควรปรับแก้ให้มีการรับรองแบบหมู่ได้ เพื่อให้มูลนิธิหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถรับรองให้เด็กนอกระบบรับวัคซีนได้
นอกจากนี้ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ก็ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่ง อ.สมพงษ์กล่าวว่า การไม่มีบัตรประชาชนหรือหลักฐานทางราชการนี้ ทำให้เด็กหลายคนเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น เด็กที่มีบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 0 ก็ลงทะเบียนไม่ได้
“แต่เขาเป็นเด็กในประเทศไทย แล้วโอกาสเสี่ยงก็สูง เพราะงั้นต้องมองในมิติที่กว้างขึ้น แล้วก็เห็นปัญหาที่ซับซ้อนกว่าปกติ กว่าเด็กในโรงเรียน แล้วมองเด็กกลุ่มนี้ ให้เร่งได้รับสิทธิการฉีดวัคซีนมากกว่าเด็กในโรงเรียนด้วยซ้ำ ภาครัฐต้องมองมิติอื่นประกอบด้วย”
“เด็กนอกระบบต้องดำเนินชีวิตอย่างซับซ้อน ยุ่งยาก การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการศึกษา สาธารณสุขค่อนข้างยาก จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เข้าใจปัญหามาช่วยดูแลให้เขาได้รับสิทธิเหล่านี้”
ขณะที่ ธรรณพร มองว่า วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ คือการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานการศึกษาทางเลือกรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กนอกระบบเข้าเรียนไม่ได้ด้วยข้อจำกัดทางครอบครัว ทำให้เด็กขาดโอกาส
ธรรณพรยังย้ำทิ้งท้ายว่า ในระบบงบประมาณจะมีเงินอุดหนุนรายหัวให้กับเด็ก แต่เด็กที่เรียนโฮมสคูลได้เงินอุดหนุนเหล่านี้ไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ เพราะมีเด็กตกหล่นทุกปี ส่วนศูนย์การเรียนรู้โดยองค์กรชุมชน เอกชน ไม่เคยได้เลย ตั้งแต่เปิดมา โดยตอนนี้มีเป็นร้อยกว่าศูนย์แล้ว จะมีเฉพาะศูนย์การเรียนของสถานประกอบการ เช่น ปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้
อีกทั้ง เงินอุดหนุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามยุทธศาสตร์ประเทศ เด็กที่เรียนการศึกษาแบบโฮสคูล เรียนในศูนย์การเรียน และการศึกษานอกระบบ ไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้เลย
“อย่างตอนนี้ ควรมีเงินอุดหนุนในการป้องกันสถานการณ์ COVID-19 ของเด็กในรูปแบบต่างๆ แต่เมื่อมันไม่มีฐานข้อมูลเก็บไว้ ก็เลยทำให้เด็กเข้าไม่ถึงโอกาสนั้น”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก