เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ (ผอ.) Thai PBS คนใหม่ ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือก ให้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม มีทั้งสิ้นจำนวน 6 คน
โดยหนึ่งในนั้นคือ นพพร วงศ์อนันต์ ผู้มีประสบการณ์ในวงการข่าวราว 30 ปี ตำแหน่งล่าสุดเป็นของเขาคือบรรณาธิการ BBC Thai ประจำการในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2016-2023 และก่อนหน้านั้นเคยเป็นรองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post บรรณาธิการนิตยสาร Forbes ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Reuters สิงคโปร์ และหัวหน้าทีมข่าวการเมืองสำนักข่าว Reuters กรุงเทพฯ
ด้วยประสบการณ์ทางสื่อสารมวลชนเช่นนี้ ทำให้หลายคนจับตาเขาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นพพรโพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า เขาตัดสินใจถอนตัวจากกระบวนการสรรหา ผอ.Thai PBS เพราะไม่สามารถเดินทางมาร่วมแถลงวิสัยทัศน์ได้ตามวันและเวลาตามกำหนด เนื่องจากจำเป็นต้องอยู่แก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่สหราชอาณาจักร
“ผมได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางออก รวมถึงการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ถึง 2 ครั้ง ขอแสดงวิสัยทัศน์ผ่านวิดีโอคอล แต่ไม่ได้รับการอนุญาต”
ทั้งนี้ เรามีการติดต่อสอบถามกับเลขากรรมการสรรหาฯ ถึงประเด็นนี้ โดยได้รับคำตอบว่า “เรามีการแจ้งกับคุณนพพรไปแล้ว ก่อนการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งตามประกาศที่หนึ่งของคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้สมัครต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ณ เวลา วัน และสถานที่ ตามที่กรรมการสรรหาฯ กำหนด ซึ่งเรายึดหลักประกาศเป็นเกณฑ์ ก็เลยไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คุณนพพรแจ้งขอไว้”
แม้ว่าเขาจะถอนตัวจากแคนดิเดตชิงตำแหน่ง ผอ.Thai PBS คนใหม่ และการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อไป แต่ The MATTER มองเห็นว่าการพูดคุยถึงอนาคตของสื่อสาธารณะกับผู้ที่เคยลงชิงเก้าอี้นี้ ก็อาจทำให้ผู้คนหันมาสนใจการคัดเลือกอันดุเดือดนี้ยิ่งขึ้น
เราพูดคุยกับ นพพร วงศ์อนันต์ ถึงวิสัยทัศน์และความคาดหวังที่มีต่อ Thai PBS สื่อสาธารณะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดโยงกับประชาชน
ทำไมถึงตัดสินใจลงสมัครชิงเก้าอี้ ผอ. Thai PBS

cr. Thai PBS
ผมทำข่าวกับสื่อต่างประเทศมาเกินครึ่งของชีวิตการทำข่าวทั้งหมด แล้วผมคิดว่าผมอยากเอาประสบการณ์หรือว่า best practices ของการทำข่าวในสื่อนานาชาติ สื่อต่างประเทศที่เป็นมืออาชีพ เอามาใช้กับแวดวงสื่อไทย และอันที่สองก็คือว่าผมคิดว่า Thai PBS อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบหลายๆ เรื่อง มีจุดแข็ง เช่นเรื่องของการไม่ต้องพึ่งพิงเงินของรัฐ ปลอดจากอำนาจรัฐพอสมควร ไม่ต้องพึ่งพิงอิทธิพลของโฆษณาจากเอกชน
ดังนั้น Thai PBS ก็สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริง ที่มีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยได้ ทำให้องค์กรนี้สามารถใช้เงินภาษีบาปมาให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศได้
ด้วยประสบการณ์ล่าสุดกับที่ BBC กว่า 6 ปี ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2023 ผมเห็นประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรสื่อสาธารณะระดับโลก ซึ่งเป็นต้นแบบที่ Thai PBS เอามาใช้
ผมคิดว่าผมสามารถนำประสบการณ์ตรงนี้เอามาใช้ประโยชน์ให้กับองค์กรที่ผมคิดว่า สามารถผลักดันเพื่อประโยชน์ให้กับสังคมได้
ผมรู้สึกว่าหลายๆ สิ่งที่ทำในสื่อไทย มันก็เป็นการเลือกลำดับผิดๆ ถูกๆ ซึ่งบางเรื่องเราก็คิดว่าควรจะต้องปรับปรุง แล้วการที่จะกลับมาทำสื่ออีกครั้งหนึ่งเนี่ย Thai PBS ก็น่าจะเป็นอะไรที่เราสามารถสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นได้
ในฐานะที่ทำงานสื่อมากว่า 30 ปี สื่อตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันอย่างไร
สมัยที่ผมทำสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ก็ยังน้อยอยู่ และตอนนั้นผมเริ่มเข้ายุคที่วิทยุกำลังเป็นอะไรที่ใหม่ แล้วก็คนติดตามวิทยุเยอะ วิทยุก็ขยับมาเป็นโทรทัศน์ จำนวนช่องก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัจจุบัน 3 สื่อดั้งเดิมมันเริ่มลดบทบาทไปเยอะมาก แม้ว่าจะมีโทรทัศน์เยอะช่อง แต่ว่าเนื้อหาก็ไม่ได้หนีกันมาก แล้วก็เนื้อหาที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คน ก็จะเป็นเนื้อหาที่มันหวือหวา
แต่ผมว่าอย่างน้อยในยุคผม มันมีการแข่งขันกันทำข่าวมากกว่าปัจจุบัน เพื่อนต่างสื่อก็แข่งขันทำข่าว หาข่าวสืบ ข่าวจาะ หากเพื่อนถาม ก็จะบอกว่า “พรุ่งนี้พบกันบนแผงนะ” เป็นการแซวกันว่าเดี๋ยวรอดูแล้วกันว่าจะมี exclusive อะไรออกมา
แต่ในปัจจุบันคำว่า “พบกันบนแผง พบกันบนจอ” มันไม่มีแล้ว เพราะคนบริโภคสื่อน้อยลง รายได้จากสื่อก็น้อยลง โฆษณาก็น้อยลง เจ้าของสื่อ ผู้บริหารสื่อเอกชนจำนวนมาก ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องลงทุนกับการผลิตสื่ออย่างจริงจัง ทั้งการหาข่าวของสื่อในปัจจุบัน เนื้อหาจำนวนมากก็จะเอามาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เขียนใหม่ให้ดูน่าสนใจ แล้วก็จบไป
แต่การพยายามที่จะลงทุนให้เวลา ให้ทรัพยากร หรือเงินในการขุดคุ้ยหาความจริงมาปรากฏ มันแทบจะไม่มี เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ปัญหาทางการเมือง ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่จะมีในอนาคต ทำเรื่องดี ๆ ก็จะถูกนักการเมือง ถูกแหล่งข่าวฟ้องได้ ทั้งหมดเลยเป็นอะไรที่มันเป็นปัญหามาก
อะไรเป็นจุดแข็งที่สื่ออย่าง Thai PBS ควรยึดถือไว้ และอะไรคือสิ่งที่ควรปรับปรุง
ย้อนประวัติศาสตร์ปี 2535 มันเกิดม็อบมือถือ พฤษภาทมิฬ แล้วประวัติการกำเนิด iTV เกิดมาจากการที่คนรับไม่ได้กับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ ของสื่อโทรทัศน์ ก็ต้องออกมาบนท้องถนนเพื่อมารับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
แล้วเกิดการนองเลือด คุณอานันท์ ปันยารชุน ก็มาเป็นนายกฯ และมีการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่เป็นอิสระ ปลอดจากอำนาจ แทรกแซงไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ซึ่งก็คือ iTV ที่เอกชนแต่ละเจ้าต้องถือหุ้นไม่เกิน 10% อยู่ไปอยู่มามันก็เจ๊งขึ้นมา
ต่อมาคนเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่เป็น บริษัท ชินวัตร iTV แล้วพอหลังรัฐประหาร มีการยึด iTV โดยบอกว่าทำผิดกฎหมาย เรื่องถือหุ้น 10% หลังจากนั้น iTV กลายเป็น Thai TV อยู่พักหนึ่ง มีการเขียนกฎหมายเพื่อให้เกิดสื่อสาธารณะ จนเกิด Thai PBS ขึ้นมา ซึ่งเกิดมาจากจิตวิญญาณของความที่จะเป็นสื่ออิสรเสรี ในทางเดินเหมือนกับ ITV รวมไปจนถึงการเขียนกฎหมายของ Thai PBS ที่ต้องการยกให้มันเป็นสื่อสาธารณะ บริการสาธารณะทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
เขาใช้ BBC เป็นต้นแบบ ในอุดมการณ์แนวคิดนี้มันควรจะต้องยังอยู่ แต่ผ่านไป 17 ปี ความคิดโครงสร้างระบบราชการ ที่แม้ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ยังมีการกำกับของรัฐ มีกติกา มีกฎข้าราชการมาคุม ทำให้องค์กรเนี่ยมันอุ้ยอ้าย และยิ่งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่บอกว่าไม่ต้องการ rating ไม่ต้องการแข่งกับใคร มันยิ่งทำให้คนที่ทำงานในองค์กร ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องแข่งขันกับใคร ระบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีใครอยากจะทำอะไรที่มันเกินเลยไป เพราะว่าอาจถูกตั้งกรรมการสอบได้
พนักงานจำนวนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้มันทำให้คนที่ทำงานดี ๆ ก็หมดขวัญกำลังใจลงไป แต่ถ้าจิตวิญญาณ อุดมการณ์ขององค์กรมันยังอยู่ ความที่ไม่ต้องกลัวอิทธิพลของโฆษณาเพราะได้เงินประจำอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวถูกรัฐแทรกแซง ล้วนนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ คุณจะทำยังไงที่จะผลักดันองค์กรนี้ ให้มันเป็นองค์กรสื่อที่เป็นความหวังของสังคมได้ ในภาวะที่สื่อเอกชน สื่อรัฐอ่อนแรงลง
ส่วนเรื่องที่ Thai PBS ต้องปรับปรุงเอามุมมองของคนนอกแล้วกันนะครับ ผมคิดว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งก็คือ ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่ต้องเข้มแข็งกว่านี้
ทุกวันนี้เขามีระบบที่เรียกว่า 2 ชั้นอยู่นะ ระบบคู่ขนาน คือมันจะมีระบบคนที่อยู่ก่อนเข้ามาก่อนเขาจะได้ตำแหน่งพนักงานประจำ สวัสดิการครบถ้วน ขณะที่เด็กใหม่ๆ ที่เข้ามาจะเป็นตำแหน่งพนักงานชั่วคราว มีตำแหน่งไม่ประจำ ต้องแบบทบทวนผลงานปีต่อปี แล้วก็การจ้างงาน อัตราสวัสดิการ อะไรก็ได้ไม่เท่า คือจะปรับตรงนี้ยังไง
สอง คนที่ไม่ทำงาน ก็ไม่ควรที่จะต้องอยู่ในตำแหน่ง คนที่ทำงานขยันขันแข็งควรได้รับผลตอบแทนและรางวัล คนที่ไม่ทำงานต้องถูกประเมินอย่างเข้มข้น ประเมินอย่างเข้มข้นคือ ถ้าคุณไม่ deliver ผลงานที่คุณสัญญาว่าคุณจะทำ คุณต้องถูกประเมิน ทดสอบ และถ้าคุณไม่ผ่าน คุณต้องออก
คนที่ทำงานแข่งขัน คนได้รับการตอบสนอง ได้รับรางวัล ซึ่งระบบนี้มันยังไม่เกิด แล้วก็มีเรื่องของความคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ ความน้อยเนื้อต่ำใจระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มา ให้ทำเท่าไรก็ไม่ได้รับการตอบสนองผลงานที่ดี เพราะกลไกเป็นแบบนี้ กลไกมันไม่เอื้อ ดังนั้นระบบการประเมินผลงานต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจังทุกระดับ เรื่องของการบริหารบุคคล ต้องเข้มแข็ง และต้องสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้น
ใช้คำว่าจะปลุกให้ฮึกเหิม หรือปลุกให้เห็นบทบาทของตัวเอง ก็ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเงินเดือนที่คุณทำเนี่ย มันเป็นเงินมาจากภาษีประชาชน แม้จะเป็นภาษีบาปก็ตาม ภาษีบาปนั้นต้องนำมาทำให้เกิดประโยชน์ เกิดเป็นบุญ เปลี่ยนบาปให้เป็นบุญได้ยังไง บุญต่อสังคม บุญต่อสาธารณะ
มีความคาดหวังอย่างไรต่อ ผอ.Thai PBS คนใหม่
ผู้สมัครแต่ละคน ล้วนมีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ผมได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของผมผ่านทางเฟซบุ๊กไปแล้ว ถ้าผมได้ ผมก็จะทำสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อ กรรมการสรรหา ไม่อนุญาตให้แถลงผ่านวิดีโอคอลล์ ผมก็ถอนตัว
ดูรายชื่อผู้สมัคร 4 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจาก กรรการสรรหา มีคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นำโด่ง มันก็น่าจะมีความหวังอะไรได้ ในเรื่องของงานข่าว และความพยายามที่จะปฏิรูป Thai PBS ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย แล้วก็มีความสำคัญ เป็นที่ได้รับการพูดถึงในหมู่ของประชาชนทั่วไป แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้น พลิกโผโดยกรรมการนโยบายคิดอีกแบบหนึ่ง ก็น่าสนใจ
คือเท่าที่ฟังการแถลงนโยบายย้อนหลังเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม คิดว่าหลายคนดูเหมือนมีประสบการณ์ด้านการบริหารเยอะ แต่ประเด็นเรื่องข่าวเขาไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเลย ก็ต้องเหนื่อยหน่อย สำหรับความคาดหวังของคนที่คิดว่า Thai PBS คือข่าว
เพราะว่าถ้าเราไปถามคนข่าว คนข่าวก็จะบอกว่าอยากได้คนข่าวมาทำให้ Thai PBS เด่นด้านข่าว หรือถ้าเรากลับไปถาม ผู้ก่อตั้งหรือวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ITV ที่ผันตัวมาเป็น Thai PBS ทีหลัง คือเขาต้องการช่องที่สามารถรายงานข้อเท็จจริงได้อย่างตรงไปตรงมา
ถ้าจะให้ผมพูดถึงความคาดหวัง ผมคิดว่า ผอ.คนใหม่จะต้องมาสร้างความชัดเจน แล้วก็ปฏิบัติให้เห็นจริงด้วยว่า สื่อสาธารณะที่แท้จริงคืออะไร และทำให้เห็น ทำให้ยอมรับ และทำให้คนสนับสนุนรู้สึกเสียดาย ถ้าสื่อสาธารณะนี้จะไม่อยู่ในสังคมอีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
แต่ต้องมาตั้งต้นนิยามก่อนแหละว่า สื่อสาธารณะคืออะไร สื่อสาธารณะ แบบ Thai PBS ไม่ใช่สื่อสาธารณะแบบสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ไม่ใช่สื่อแบบของกองทัพบก แล้วก็ไม่ใช่ อสมท. ซึ่งตรงนี้ผมว่าเรื่องใหญ่ และคนในองค์กรเองก็ต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ทำงานให้กับสื่อสาธารณะตามนิยาม
แคนดิเดต ผอ.Thai PBS คนใหม่ แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน?
แบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดเจนเลย ผมคิดว่าคนข่าวเอง ถ้ามีประสบการณ์ด้านการทำข่าว แล้วเคยบริหารทีมข่าวมาก่อน ก็อาจจะหวังอะไรกับการทำเรื่องข่าวได้มากขึ้น แต่เรื่องการบริหารงานอื่นๆ มันก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเข้าไปแก้อีก
คือจากผู้สมัครที่เข้ารอบ ที่เราดูวิสัยทัศน์เขา เราก็แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือหนึ่งกลุ่มผู้บริหารองค์กรและกลุ่มที่เป็นคนทำสื่อมาก่อน ซึ่งกลุ่มผู้บริหารองค์กร บางคนเนี่ยเข้าใจว่าตัวเองรู้จักสื่อกับเนื้อหาสื่อ แต่อาจจะไม่ได้เข้าใจบทบาทของสื่อที่แท้จริง ซึ่งทำให้การคิดจะผลักดันนโยบายด้านสื่อไม่ชัดเจน
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนทำสื่อมาแล้ว อาจจะถูกวิจารณ์ว่ามีจุดอ่อนเรื่องการบริหาร ดังนั้นเราจะดึงจุดแข็งของคนเหล่านี้ เราจะกดจุดอ่อนได้อย่างไร ซึ่งคนที่เลือกมา ผมเข้าใจว่ากรรมการเลือก
คือบางคนที่ไม่ได้ ผมก็รู้สึก เออ น่าจะได้นะ ส่วนบางคนที่ได้ ผมคิดว่าไม่ควรได้ อย่างไรก็ตาม ต้องย้อนกลับไปทำความทำความเข้าใจนิยามของคำว่า สื่อสาธารณะก่อน ถ้าเข้าใจตรงนี้ คะแนนของผู้สมัครที่ได้ ที่จะเข้ารอบต่อไป ก็ไม่น่าจะเป็นแบบนี้
ทำไม ผอ.Thai PBS ควรมีทั้งทักษะบริหารและทำข่าว ทำไมถึงมีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ถ้าเท่าที่เราดูในจำนวน 6 คน ก่อนหน้านั้นในจำนวน 23 คนที่สมัคร เราก็จะเห็นเป็นนักบริหารจำนวนหนึ่ง นักวิชาการจำนวนหนึ่ง และคนข่าวจำนวนหนึ่ง ทีนี้พอคัดออกมาเหลือ 6 คน ก็ชัดว่ามันมีนักบริหาร และคนที่มีประสบการณ์ด้านข่าว ถามว่าทำไม ผอ.Thai PBS จะต้องมีทั้งทักษะบริหารและทำข่าวใช่ไหม
เพราะองค์กรนี้ใหญ่มาก แล้วมีสิ่งที่ต้องทำอยู่หลายเรื่อง และด้วยความที่องค์กรใหญ่เป็นราชการ ดังนั้นเราจะขับเคลื่อนองค์กรได้ยังไง จะผลักดันคนทั้งองค์กรให้เห็นพร้อมกับเรา เดินไปข้างหน้าได้ยังไง อันนี้มันต้องมีนักบริหารที่มีประสบการณ์ มีมืออาชีพ เข้าใจกลไกราชการ แล้วก็มีประสบการณ์เข้าใจกลไกการบริหารองค์กรเอกชนด้วย ในการที่จะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้กลายเป็นผลสัมฤทธิ์ได้
อย่างไรก็ตาม Thai PBS มันก็มีจิตวิญญาณ ที่ก่อกำเนิดมาจากการเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่ประชาชน ฉะนั้นจะต้องมีคนที่เข้าใจประเด็นเรื่องข่าวหรือเรื่องคอนเทนต์ที่ชัดเจน เพื่อมาผลักดันตรงนี้ให้มันตอบสนองต่อชาติกำเนิดของมัน
ข่าวในที่นี้เนี่ย มันไม่ใช่แค่ข่าวคราวที่เราดูอยู่นะ ผมมองว่าข่าวในที่นี้คือเนื้อหาสาระ ที่มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน แล้วผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย
ที่บอกว่าถ้าวันหนึ่ง Thai PBS หายไป ก็อยากให้คนคิดถึง แล้วคิดว่าสถานะของ Thai PBS ตอนนี้ทำให้คนคิดถึงได้แค่ไหน
ลองไปถามคนทั่วไป คนที่บริโภคข่าวสาร บริโภคสื่อ คนหนุ่มสาวจำนวนมาก ทำไมเขาถึงเลือกไปบริโภคสื่ออื่น แทนบริโภคข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาบันเทิงจาก Thai PBS คือ ครั้งหนึ่งเราเคยภูมิใจ ดีใจกับ iTV มากว่านี่มันคือข่าวสาร ซึ่งแนวใหม่ คนต้องติดตามดูตลอด แล้วคนพูดถึง iTV เยอะมาก แต่ตอนนี้คนไม่ได้พูดถึง Thai PBS เท่าไร rating ต่ำ
คือ rating มันคือการวัดแบบทีวี แต่ว่าเราจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่า Thai PBS คือความหวังที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และถ้ามันเป็นอะไรไป คนจะเริ่มเสียดาย
เราจะทำยังไง เราจะสร้างองค์กรนี้ ท่ามกลางจำนวนสื่อที่มีมากมาย content creators ดังๆ จำนวนมาก ยอดวิวแต่ละตอนมากกว่าของ Thai PBS ทำยังไงที่จะค่อย ๆ ดึงคนให้มาสนใจในเนื้อหาของ Thai PBS มากขึ้น และเป็นสิ่งที่คนจะบอกว่าเสียดายถ้าจะไม่มีสื่อนี้
สื่อมักถูกมองว่าต้องเป็น Gatekeeper ที่คัดกรองข่าวสารให้ประชาชน คิดว่า Thai PBS ทำเพียงแค่นี้พอไหม
Gatekeeper แปลว่าอะไร คนคุมประตู คอยกรองข่าวสาร สุดท้ายก็ต้องกลับมาประเด็น Journalism 101 ว่าข่าวสารคืออะไร ผู้ชม ผู้ดูของคุณคือใคร เพราะฉะนั้นเวลาคุณคิดว่าเรื่องนี้ควรจะเป็นข่าว เพราะอะไร คุณต้องมีคำอธิบาย ซึ่งผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมตอนนั้นว่าคืออะไร
ถ้าไปดูวิสัยทัศน์ผม 2030 ผมเปลี่ยน tagline ใหม่ ผมบอกว่า TPBS คือ Truth, People, Balance, Service ฉะนั้นคือ truth มันต้องมาก่อน ผมคิดว่าตอนนี้ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ เราไม่เท่าทันข้อมูลข่าวสาร เราอยู่ในโลกที่การเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วแต่ละฝ่ายต่างก็ใช้ข่าวเท็จข่าวลวงในการดึงคนมาเป็นพวก และทุกคนสามารถเป็นสื่อได้หมด
เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถ เอาข่าว เอาคอนเทนต์อะไรก็ไม่รู้ จริงไม่จริงไม่รู้ มาบอก กับสังคม กับผู้ชมผู้ดู บางคนอาจทำขึ้นมาเพื่อให้ได้ยอดไลก์ ยอดวิวจบ แล้วโฆษณาก็จะตามมา แต่ว่าบทบาทของสื่อสาธารณะ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องค่าโฆษณา ไม่ต้องกังวลเรื่องอิทธิพลของรัฐ หน้าที่หลักควรนำข้อเท็จจริง ความจริงมาบอกกับประชาชน
ดังนั้นผมถึงบอกเลยว่า ถ้าผมมาเป็นผู้บริหาร ผมจะชูอันดับความสำคัญแรกของผมเลยคือ การทำ Thai PBS ให้เป็นคนทลาย ทะลวงข่าวลือนั้น แล้วเอาข่าวจริงมาบอกประชาชน ดังนั้นทีม Verify จะเป็นทีมใหญ่ ที่จะต้องทำหน้านี้ให้มันชัดเจน ให้ข้อมูล ทลายข่าวเท็จ สู้กับข่าวลวง
ความแตกต่างระหว่าง misinformation กับ disinformation อันแรกคือจงใจที่จะปล่อยข่าวปลอมเพื่อให้ได้ไปตาม agenda ของตัวเอง อีกอันหนึ่งคือข่าวปลอม ซึ่งไม่มีใครเคยรู้มาก่อน คือไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปล่อยข่าวปลอมอะไรแบบนี้
และการที่สังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราจึงมีสื่อที่เป็นสื่อของแต่ละสี แล้วแต่ละสีก็ด่ากันไปมา เราไม่มีเวทีกลางที่ทั้งสองสีหรือสามสีเนี่ย ได้มานั่งคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา โดยคนกลางอย่าง Thai PBS ที่สามารถซักค้าน คัดคานทั้งสองฝ่ายได้อย่างตรงไปตรงมาสิ่งนี้ยังไม่เกิด และ ผมคิดว่านี่คือภารกิจที่ผมอยากจะทำ แต่ผมยังไม่ได้ทำ
ในยุคสมัยที่โลกของเรามีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น การทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS ต้องเพิ่มบทบาทอะไรบ้าง
ผมว่าถ้าตอนนี้ไปดูภารกิจ พันธกิจที่กฎหมายเขียน มันก็ดูเยอะนะ แล้วทรัพยากรที่มันลดลง คือจำนวนเงิน 2,000 ล้านที่มันอ่อนค่าลงเรื่อยๆ เพราะเงินเฟ้อ มันจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ผลิตอะไรได้ตามภารกิจที่จะเพิ่มขึ้น
ผมคิดว่าเราก็ควรจะต้องมาจัดลำดับความสำคัญของภารกิจเหล่านั้น อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนน้อย หรือว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยน และ reallocate ทรัพยากรนั้นมาใช้กับภารกิจหรือเป้าหมายที่สำคัญกว่าและจำเป็นกว่า
คือผมไม่เพิ่มบทบาทนะ แต่ผมอาจจะลดก็ได้ แล้วผมก็จะเลือกอะไรที่มันสำคัญกว่ามาให้ทำก่อน
หลักการข้อหนึ่งที่คุณยึดถึอคือคำว่า ‘สมดุล’ ช่วยขยายความได้ไหมว่าหมายถึงอะไร สำคัญแค่ไหน แล้วมันต่างอะไรกับคำว่า ‘เป็นกลาง’ อย่างไร
สมดุลมันหมายความว่า ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูดในเรื่องเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ในเวทีเดียวกัน เช่น หลายประเด็นที่มันเป็นเรื่องถกเถียงกันในสังคม มันเป็นประเด็นที่ controversial มีหลายแง่มุม มีคนหลายฝ่ายผู้นำเสนอได้ให้พื้นที่ต่อการนำเสนอข่าวนั้นหรือไม่
อย่างเช่น ประเด็นเรื่องกาสิโน มันมีหลายประเทศที่มีกาสิโน อังกฤษมี สิงคโปร์มี แล้วไทยก็จะเอารูปแบบสิงคโปร์มา ขณะเดียวกันการพนันในไทยถูกกฎหมายมันก็มีอยู่เยอะ มวย ม้า สลากกินแบ่งรัฐบาล และปัญหาการพนันผิดกฎหมายก็มีอยู่เยอะ บ่อนออนไลน์ทั้งหลาย
ที่นี้ประเด็นเรื่องของการตั้งกาสิโนถูกกฎหมายขึ้นมา เวลาเรานำมาเสนอ เราต้องอธิบายสังคมให้เข้าใจทั้งหมดว่ามันคือเรื่องอะไร ถ้าเราจะรายงานเสียงของผู้คัดค้าน เป็นข่าวๆ หนึ่ง ถ้าเป็นข่าวสั้นๆ กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง Entertainment Complex ในจังหวัดภาคใต้ แล้วยังไงต่อ เราก็ต้องบอกว่าอันนี้มันเป็นนโยบายที่รัฐบาลเอามาจากประเทศอื่น หลายๆ ประเทศก็มี มันต้องมีความสมดุลอยู่ในเรื่อง ไม่ใช่ไป extreme ขนาดว่าเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “กลุ่มพลังบริสุทธิ์” ออกมาเรียกร้องไม่เอากาสิโนในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมันไม่ใช่ มันชัดเจนว่าคุณ take side ละ
ขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ต้องไม่แสดงความเห็นอะไรที่ทำให้องค์กรถูกมองว่าไม่เป็นกลาง เช่น บก.ข่าว ก็ต้องไม่ไปแสดงความเห็นทาง Facebook ของตัวเองว่า ฉันไม่เอาด้วยกับเรื่องกาสิโน ฉันชอบแดง ไม่เอาเหลือง ฉันชอบส้ม ไม่เอาแดง คือมันต้องระมัดระวังมาก อันนี้คือนิยายของคำว่า balance ของผม ก็คือในหนึ่งข่าวมันต้องให้บริบทที่ครบถ้วน
ในฐานะอดีต บก.BBC คิดว่าตอนนี้ Thai PBS ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับ BBC แค่ไหน มีบทเรียนอะไรนำมาใช้ได้บ้าง
พูดโดยทั่วไปทั่วโลก สื่อหลักต้องปรับตัว เพราะคนบริโภคสื่อหลักน้อยลง คนรุ่นใหม่ไปบริโภคข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย แล้วยิ่ง AI มา สื่อกระแสหลักต้องทำตัวยังไงให้ยังคง relevant เกี่ยวพันเกี่ยวโยงกับผู้คนผู้บริโภคอยู่เสมอ BBC เขาก็รู้ว่าภาพลักษณ์ของเขา คนมองเขาว่าเป็นป้าแก่ ๆ ผู้ขมล้วนเป็นผู้สูงวัย
ซึ่งแหล่งรายได้หลักของ BBC มี 2 แหล่ง คือ รายได้หลักมาจากเก็บเงินค่าดูทีวีทุกบ้าน ปีละประมาณ 170 ปอนด์ ขึ้นได้ตามเงินเฟ้อทุกปีด้วย สองการขายคอนเทนต์ให้คนอื่นเอาไปใช้ต่อ สัดส่วนก็จะเป็นประมาณแบบ 60 40 แต่ของ Thai PBS คือรับเงินภาษีบาปเป็นหลักอย่างเดียว แล้วเงินก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำยังไงที่จะต้องปรับตัว คือทุกคนต้องปรับตัวอยู่แล้วแหละ โลกมันหมุนเวียน โลกมันหมุนไปเร็วมาก
แต่ BBC เขาปรับตัวโดยการมองว่าต้องเข้าหาคนหนุ่มสาวมากขึ้น พยายามปรับคอนเทนต์ให้คนหนุ่มสาวมาบริโภคมากขึ้น อะไรที่เป็นคนแก่มัน ก็จะทิ้งไปเหมือนกัน แต่เขาก็ยังคงจุดแข็ง คือ คนยังมีความเชื่อมั่นว่าเขาเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าภาพลักษณ์ของความเป็นสื่อที่เชื่อถือได้ของ Thai PBS มีมากน้อยแค่ไหน
สโลแกนของ Thai PBS คืออะไร โทรทัศน์ที่คุณวางใจ ตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า คนจำนวนมากในอังกฤษหรือว่าคนทั่วโลกบอกว่า ถ้า BBC ยังไม่รายงาน เขาจะไม่เชื่อ จนกว่า BBC จะรายงาน เรามีผู้ชมจำนวนมากในเมืองไทยที่คิดเหมือนกันหรือเปล่าว่า ถ้า Thai PBS ยังไม่รายงาน เขาจะไม่เชื่อ
เพราะฉะนั้นถามว่า สื่อกระแสหลักทั้งหลายต้องเผชิญกับการปรับตัวแน่นอน แต่คุณเห็น opportunity ตรงไหน แล้วคุณจะคว้า opportunity ตรงนี้ยังไง ให้เดินหน้าต่อได้
คิดว่า Thai PBS ควรถูกปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
ผมว่าการผลักดันให้องค์กรที่อยู่กันสบาย ๆ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องใหญ่มากของผู้บริหารคนใหม่ ดังนั้น ผมคิดว่ามันต้องชี้ให้เห็นปัญหา แล้วก็ให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงปัญหา ร่วมกันแก้ไข ก็คือ Do or Die ไม่ทำก็ตาย แล้วถ้าคนไม่ทำก็ต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้
ต้องบริหารคนกว่าหนึ่งพันคน มันเป็นเรื่องที่เหนื่อย ระบบและกติกาขององค์กรมีความเป็นราชการ มากกว่าระบบราชการในบางครั้ง มันจะไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความตั้งใจในการทำงาน ทำอย่างไรที่จะทำให้กฎกติกา มันเหมาะสมต่อการทำงานที่สร้างสรรค์ และก็ให้คุณกับคนที่ทำงาน รวมถึงมีบทลงโทษกับคนที่ไม่ทำงาน
ถ้าเราเทียบในระบบเอกชน กระบวนการมันอาจจะสั้นกว่า ดังนั้น หัวหน้างานจะมีความสามารถที่จะให้คุณให้โทษเนี่ยได้มากกว่านี้ หากเทียบกับระบบราชการ ซึ่งมันมีการตั้งกรรมการสอบ ถูกสอบอะไรได้มากมาย มีกติกาที่หยุมหยิมมันก็จะเป็นปัญหาในการที่จะขับเคลื่อนองค์กรขนาดนี้ได้
และด้วยงบประมาณปีละ 2 พันล้าน ผอ.คนใหม่ คงต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้เงินไปในเรื่องใดบ้าง โครงการไหนรายการไหน ที่ไม่สามารถสร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงก็ต้องยกเลิก
ความคาดหวังของผมก็คือว่า ผู้อำนวยการคนใหม่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการปรับปรุงองค์กร ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้า ตามที่ตัวเองตั้งหวังไว้ จะฟันฝ่ากติกา ระบบระเบียบต่างๆ ขององค์กรอย่างไร เพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรให้เกิดขึ้นได้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงาน เพื่อผลักดันให้ไปตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
เพราะสำหรับคนหนุ่มสาว Thai PBS ดูเป็นยาขม ไม่อยากกิน ซึ่งจริงๆ แล้ว BBC ก็เจอปัญหานี้นะ เพราะว่าดูเป็นทางการ เลยมีชื่อเล่นว่าเป็นคุณป้า aunty BBC อะไรอย่างนี้ และเกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนเชื่อมั่นในข่าวสารลดลง และเชื่อมั่นใน BBC ลดลง
บางที character ของสื่อมันก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าคุณจะปรุงยังไง พ่อครัวจะปรุงยังไง ในตอนนี้ Thai PBS ดูเหมือนว่า เรื่อยๆ ไม่น่าตื่นเต้น ไม่น่าสนใจ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบสนองคนกลุ่มไหน แล้วบางทีคอนเทนต์มันก็ต้องอาจจะต้องแบบปรับให้มันหลากหลาย ผ้าผืนหนึ่งเนี่ย จะดีไซน์ให้มันเป็นชุดที่เหมาะกับคนแต่ละวัยได้ยังไง ข่าวหนึ่งชิ้น คุณจะเล่าเรื่องยังไงให้มันตรงกับกลุ่มผู้ฟัง ผู้ชม กลุ่มไหน ซึ่งตอนนี้หนึ่งมันไม่ได้ต่างจากสื่อทั่วไปเท่าไร สองความพยายามที่จะทำอะไรให้มันดูแบบทันสมัย มันก็ยังไปไม่ถึงคนในวงกว้าง
ผมอยากให้ Thai PBS เป็นไปตามที่ผมตั้งวิสัยทัศน์ 2030 คือ TPBS–ความจริง (Truth), ประชาชน (People), สมดุล (Balance) และ บริการเพื่อทุกคน (Service)