“มึง”
“…”
แค่คำคำเดียวของเพื่อนสนิทที่ส่งมาในแชตก่อนหายตัวไป ก็ทำเราร้อนรนจนนั่งไม่ติด กินไม่ได้ นอนแทบไม่หลับ เพราะอยากรู้ว่าเพื่อนคนนั้นจะพิมพ์อะไรมาต่อ เพื่อนจะเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง เป็นเรื่องของตัวเพื่อนเอง เป็นเรื่องของคนที่เราแอบชอบ เป็นเรื่องของเพื่อนรักที่เราแสนจะหมั่นไส้ หรือเรื่องดาราคบคนนั้นเลิกคนนี้กันนะ?
นั่นสินะ ทำไมพอเป็นเรื่องชาวบ้านทีไร เราถึงชอบใจเหลือเกินที่ได้รู้มัน รู้ทั้งรู้อย่างเต็มอกว่าไม่ใช่เรื่องดี แต่มันก็หยุดไม่ได้ บางคนถึงกับบอกว่าการได้รับรู้หรือได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น คือหนึ่งในความสุขของชีวิตเลยทีเดียว หากจะเปรียบมันกับการเล่นกีฬาแล้วอาจจะไม่ได้รับแค่เหรียญทอง แต่ได้รับถ้วยรางวัลพร้อมกับการสลักว่า ‘รางวัลชนะเลิศ คนไทยคนแรกที่ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน’ เลยก็ว่าได้ เพราะเรามันเก่งในการรู้เรื่องของคนอื่นสุดๆ ไปเลยอยู่แล้ว!
แล้วไอคำว่า ‘เสือก’ นี่มาจากไหน คำนี้มันหยาบคายจังเลย บางคนถึงกับบิดไปใช้คำว่า ‘เผือก’ หรือ ‘เจือก’ ให้มันฟังดูน่ารักขึ้นก็มี แต่ว่าในภาษาไทยเอง เรามีคำอื่นที่จะสามารถใช้แทนความหมายได้แบบสุภาพหน่อยไหมนะ?
หากลองดูตามความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แล้ว คำว่า เสือก หมายถึง “…เข้าไปจุ้นจ้านในเรื่องของคนอื่นโดยไม่ใช่หน้าที่หรือโดยไม่สมควร (เป็นคำไม่สุภาพ)” มีวงเล็บดักไว้ขนาดนี้ ดังนั้นเราเลยของหาคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำข้างต้นมาเปรียบเทียบให้ดูกัน เช่น
-
- สอดรู้สอดเห็น หมายถึง “เที่ยวเข้าไปรู้ในเรื่องของคนอื่น (มักใช้ในทางไม่ดี)”
- สาระแน หมายถึง “ชอบเข้าไปยุ่งในเรื่องของคนอื่น, ชอบเข้าไปยุ่งในเรื่องที่มิใช่หน้าที่ของตน”
- ยุ่ง หมายถึง “เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันโดยไม่จำเป็น เช่น อย่าไปยุ่งเรื่องของเขา อย่าไปยุ่งกับเขา”
เห็นได้ว่าความหมายของคำว่า สอดรู้สอดเห็น สาระแน และยุ่ง ล้วนมีใจความที่เป็นไปในทางเดียวกัน คือการเข้าไปมีส่วนร่วมใน ‘เรื่องของคนอื่น’ โดยไม่สมควร โดยไม่จำเป็น หรือโดยไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ก็บอกอยู่ว่ามันเป็นเรื่องของคนอื่นแท้ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเราด้วยซ้ำ แต่ทำไมเราถึงยังชอบที่จะไปรู้เรื่องคนอื่นกันจังเลยนะ? ชอบจนถึงกับมีมีมและคำพูดติดตลกมาแก้ต่างการกระทำของตัวเองอย่างเก้อๆ ว่า
“การเสือกถือเป็นจิตอาสา เพราะฉันทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”
แล้วจิตอาสาที่ว่านี้มันหมายความว่ายังไงกัน? ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า จิต ไว้ว่า “ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก” ในขณะที่ อาสา หมายถึง “เสนอตัวเข้ารับทำ” รวมกันเป็นจิตอาสาที่หมายถึง การมีความรู้สึกนึกคิดที่จะเสนอตัวรับทำ หรือเรียกภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่าขออาสาเป็นคนไปเผือกนั่นเอง แต่แล้วการชอบยุ่งเรื่องของคนอื่นนี่ เรากำลังทำไปแบบไม่หวังอะไรตอบแทนกลับคืนจริงๆ เหรอ?
ใน PsychMechanics โดยฮานัน ปาร์เวซ (Hanan Parvez) บอกไว้ว่า เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงถูกกำหนดให้เราต้องมีการประเมินการกระทำของตัวเอง และวัดความก้าวหน้ากับคนรอบข้างอยู่เสมอ ลึกๆ มันคือการแข่งขัน ไม่กับตัวเราเองก็ระหว่างใครคนใดคนหนึ่งกับตัวเรา และหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เรารู้ความเป็นไปของขีดจำกัดในความสามารถของตัวเองได้ นั่นคือต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่เราได้รู้เรื่องของคนอื่นแล้วนั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้ว การที่เราอาสาเอาตัวเองเข้าไปรับรู้เรื่องชาวบ้าน ก็เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของเราเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก่อนจะนำไปสู่การเปรียบเทียบระหว่างเขากับเรา โดยบางคนอาจนำเรื่องของคนอื่นที่ได้รู้มาเปรียบเทียบเพื่อให้อุดรอยรั่วบางอย่างของตัวเอง เช่น ความไม่มั่นใจ หรือความวิตกกังวล เปรียบเทียบให้เราไม่รู้สึกว่ากำลังโดดเดี่ยวกับสิ่งที่เผชิญอยู่ และบางคนก็เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพื่อเสริมความมั่นใจที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นไปอีก
ทว่าเมื่อพูดถึงการเปรียบเทียบแล้ว แน่นอนว่ามันมี 2 ด้าน การเปรียบเทียบในด้านดีก็เป็นหนึ่งในแรงใจสำคัญที่ผลักดันและส่งเสริมให้ชีวิตเราดีขึ้นไป แต่ขณะเดียวกัน การที่เราสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน ก็อาจได้รับสิ่งตอบแทนเป็นความรู้สึกในแง่ลบกับตัวเราเองได้เหมือนกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ความมั่นคงทางจิตใจเท่ากัน บางคนอาจอยู่ในช่วงเปราะบาง การรู้เรื่องคนอื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ก็อาจสร้างความเครียดหรือความกดดันบางอย่างต่อตัวเรา
ทำไมเรื่องราวของใครคนนั้นที่เรารู้มาช่างดีเลิศเสียเหลือเกิน เป็นความใฝ่ฝันของตัวเราเองที่รู้อย่างเต็มอกว่าคงไม่มีวันเป็นแบบนั้น อาจนำมาสู่การเปรียบเทียบที่ทำให้ตัวเราผิดหวังอย่างซ้ำๆ หรือแม้เราจะไม่ได้นำสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง แต่เราก็อาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อไปรับรู้เรื่องราวที่ไม่ดีของใครคนหนึ่ง แล้วเก็บมาคิดจนทำให้เครียดไปเองก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
แค่ใช้ชีวิตของตัวเองให้ดีก็ยากมากพอแล้ว
ใครหลายคนจึงเลือกที่จะขอไม่รับรู้และไม่ยุ่งเรื่องของคนอื่นไปเลย
เพื่อขจัดปัญหาความทุกข์ใจที่ไม่ได้มาจากตัวเราไป
การเข้าไปรู้ในเรื่องของคนอื่น นอกจากเราจะหวังผลต่อตัวเองแล้ว บางครั้งมันยังอาจนำไปสู่การตอบแทนคนอื่นๆ อย่างคาดไม่ถึงด้วย เช่น คำพูดติดตลกอย่าง “การกินหมูกระทะหรือชาบูไปพร้อมๆ กับนินทาคน จะทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยขึ้น” แน่นอนว่าหลายครั้งที่พอเราได้รู้เรื่องของใครสักคนแล้ว ก็ยากที่จะเก็บเรื่องเหล่านั้นไว้คนเดียว มันคันปากยุบยิบเหลือเกินจนอยากจะเล่าให้ใครสักคนฟัง อย่างน้อยๆ ก็ขอเมาท์กับกลุ่มเพื่อนสักหน่อยก็แล้วกัน!
ในงานศึกษา The Psychological Anatomy of Gossip บอกว่า การนินทาหมายถึง การพูดถึงบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ได้อยู่ในวงสนทนา โดยมีเป้าหมายเป็นไปเพื่อการพูดถึงจะไม่ถูกยืนยัน ปฏิเสธ หรือปกป้องตัวเองของคนคนนั้น เรื่องเล่าอาจเคล้าไปตามประสบการณ์หรืออารมณ์ส่วนตัวของผู้พูดได้ ดังนั้น การนินทาคนอื่นๆ จึงยังนำมาสู่การเปรียบเทียบของตัวเราเองและคนคนนั้น เพราะการนินทาถือเป็นหนึ่งในหน้าที่การเปรียบเทียบต่อสังคม
เห็นไหมว่าขนาดเรารู้เรื่องของคนอื่นจนนำไปนินทา หรือเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนหรือใครคนอื่นแล้ว ท้ายที่สุดมันก็ยังวนกลับมาตอบสนองความต้องการส่วนตัวของเราอยู่ลึกๆ ซึ่งมันยังอาจสะท้อนให้เห็นได้ว่า ตัวผู้พูดมีความวิตกกังวลอะไรบางอย่าง และไม่สามารถรับมือหรือชดเชยความต้องการของตัวเองได้ การไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่นและเอามานินทา จึงเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้จะใช้เพื่อเสริมความมั่นใจและดูเหมือนว่าจะทำให้ตัวเองสูงส่งขึ้นได้ แต่ก็ต้องระวังว่า การกระทำลักษณะนี้อาจจะทำให้เรามีนิสัยขี้นินทาเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยนะ
ข้อระวังอีกหนึ่งอย่างของการนินทา ที่คราวนี้อาจจะไม่ได้กระทบแค่ตัวเรา แต่มันอาจไปกระทบบุคคลที่ 3 หรือบุคคลที่เรานินทาคนนั้นได้ คือเบื้องหลังของการนินทามักมาร่วมกับความคิดเห็น หรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดที่แต่งเติมเข้าไป บางครั้งอาจประกอบด้วยอคติทั้ง 4 อย่างรัก โลภ โกรธ และหลง อาจทำให้เราเสริมเติมแต่งจนความจริงนั้นผิดเพี้ยนไป หรืออย่างที่แย่ที่สุดคือข้อเท็จจริงเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปเลยก็มี
ทั้งหมดที่บอกไปมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่สำหรับใครหลายคน การได้รู้เรื่องชาวบ้านอาจเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตไปแล้ว เพราะบางทีการได้รู้เรื่องคนเก่งคนนั้นก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ บางทีการได้รู้เรื่องคนที่เราเกลียดก็อาจเป็นคนที่เราเห็นเพื่อจะไม่ทำตัวแบบเขา หรือบางทีการได้รู้เรื่องของดาราคนนั้น แม้มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา แต่แค่ได้รู้มันก็ฟินและสนุกดีหนิ แบบนี้จะให้เลิกรู้เรื่องชาวบ้านไปเลยก็คงทำได้ยาก…
การเสือกเหมือนเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ยากจะหลีกเลี่ยงไปแล้ว ดังนั้นการเข้าไปยุ่งหรือสอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนอื่นแบบพอดีจึงจำเป็น การรู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่นและนำมาเรียนรู้ ปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตของเราเองก็อาจเป็นสิ่งตอบแทนจากการเสือกที่ดี เพราะมันจะทำให้เรามีข้อผิดพลาดน้อยลง เรียกว่าได้เรียนรู้ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวจากชีวิตของคนอื่น แล้วลองวิธีอื่นที่แตกต่างเพื่อให้เราไม่เป็นแบบนั้น
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ยุ่งเรื่องของคนอื่นจนหมกมุ่น และย้ำคิดย้ำทำจนพลังลบหรือความรู้สึกไม่ดี กลายเป็นสิ่งที่ตอบแทนตัวเราไปซะเอง และจะต้องไม่มอบความเดือดร้อนเป็นสิ่งตอบแทนให้ใครคนอื่น จากการอยากรู้อยากเห็นของเราด้วย
เราลองตอบคำถามนี้กับตัวเองดูอีกทีก็แล้วกันว่า สรุปแล้วการเสือกถือเป็นจิตอาสา เพราะทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ยังจริงอยู่ไหม?
อ้างอิงจาก