“มีแฟนยัง?” “เมื่อไหร่จะแต่งงาน?” “เงินเดือนเท่าไหร่?” “ทำไมอ้วนจัง?”
ช่วงวันหยุด ทุกคนกลับบ้าน และในบ้านก็ต้องมีครอบครัวอันอบอุ่น แต่บางทีก็อาจจะอุ่นไปหน่อย เหล่าญาติโกโหติกาบางท่านที่ไม่ได้เจอกันนานก็มีความอยากถามไถ่ แต่ถามไปถามมา จากความอบอุ่นชักกลายเป็นอึดอัด คำถามจากที่เรารู้สึกว่าถามจากความห่วงใย เป็นคำถามที่ดูจะไม่ต้องการคำตอบ แต่เป็นเหมือนเป็นการไล่เราให้จนมุม
ดูเหมือนว่าปัญหาญาติจอมจุ้นจ้านจะเป็นปัญหาระดับโลก ในทุกวัฒนธรรมมี ‘วันกลับบ้าน’ และมีวันที่ ‘ครอบครัวจะมาพร้อมหน้ากัน’ เรามีสงกรานต์ ตะวันตกมีวันขอบคุณพระเจ้า จีนๆ หน่อยก็มีเช็งเม้งไม่ก็ตรุษจีน คำถามคลาสสิกทั้งหลายที่เรามักต้องเจอและไม่ค่อยอยากตอบก็เช่น ทำไมอ้วนจัง? เมื่อไหร่จะมีแฟน? ลูกล่ะเมื่อไหร่จะมี?
อยากถามไถ่เฉยๆ ก็โอเค แต่บางทีเรื่องแบบนี้เราก็ลำบากใจที่จะตอบเนอะ และลึกๆ ก็เหมือนเป็นการ ‘วัดคุณภาพ’ เราอยู่ แต่นักวิทยาศาสตร์ทางวิวัฒนาการบอกว่า ทำไมคนที่มีสายเลือดดองกับเราชอบจุ้นจ้านหาข้อมูลเรื่องส่วนตัว อาจเกี่ยวข้องกับการเอาตัวรอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ
ความจุ้นจ้านกับผลประโยชน์ของเผ่าพันธุ์
นักจิตวิทยาเองไม่ได้มองและหาทางจัดการกับความจุ้นจ้านและความน่าอึดอัดใจในครอบครัว แต่ในทางพฤติกรรมนักจิตวิทยาอธิบายด้วยคำว่า ‘nepotistic nosiness’ คือความสอดรู้ในเครือญาติ นักพฤติกรรมเห็นว่าความสนใจสำคัญที่คนในสายเลือดเดียวกันสนใจคือเรื่องในมุ้ง ซึ่งหมายถึงศักยภาพในการหาคู่และผลิตทายาทต่อไป Jason Faulkner และ Mark Schaller ผู้ศึกษาเรื่องความสอดรู้ที่ว่า อธิบายว่าการรู้ข้อมูลว่าญาติๆ และสมาชิกทางสายเลือดของเรามีศักยภาพในมุ้งอย่างไรถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเผ่าพันธุ์
จากแรงผลักเก่าแก่ในการดำรงสายพันธุ์ คำถามแบบที่ว่าญาติๆ เราแต่งงานมีลูก ลูกๆ ฉลาดแค่ไหนสุดท้ายอาจเป็นประโยชน์ในการคิดคำนวนว่า เอ้อ สายพันธุ์ของเราจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วเรามีแนวโน้มจะหาคู่ได้ไหมนะตามค่ามาตราฐาน ถ้ามันแค่นั้นก็โอเค แต่สุดท้ายคำถามเหล่านั้นกลับกลายเป็นการวัดมาตราฐาน เช่นนัยของการถามว่าทำไมไม่แต่งงานซะที ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะทางกายภาพ เช่น แก่แล้ว เหี่ยว อ้วนไป ซึงเป็นปัจจัยหนึ่งในศักยภาพของการหาคู่ กลายเป็นความกดดัน และที่สำคัญคือ เป็นคำถามที่ไม่นำไปสู่อะไร เป็นคำถามที่เราก็ตอบไม่ได้
ทำไมยังไม่มีแฟน – ก็อยากมีไง แต่มันยังไม่มี หรือการอยากมีลูกก็เต็มไปด้วยปัจจัย ความรับผิดชอบอะไรเยอะแยะ เป็นคำตอบที่ถ้าจะตอบอาจต้องคุยเป็นวัน
ศิลปะของการตอบคำถามที่ไม่น่าพึงใจ
ถึงเราเข้าใจว่า เอ้อ มันเป็นแรงผลักดันบางอย่างที่ญาติๆ จะต้องถามคำถามที่ดูสอดส่องเรื่องส่วนตัวของเรา แต่ก็อึดอัดและลำบากใจ ไม่อยากเจออยู่ดี แล้วเราจะรอดพ้นพายุความอึดอัดใจในช่วงวันหยุดอย่างไรดี ทาง psychologytoday.com มีวิธีรับมือคำถามไม่น่าพึงใจ 9 กระบวนท่ามาให้เราลองพิจารณา
- ดูแรงลม คือเรารู้แหละว่าบทสนทนาอะไรกำลังจะมา รู้แหละว่าใครชอบถามอะไรแบบไหน เหมือนเราเห็นเค้าฝน เราก็หาทางหลบเลี่ยงซะ เช่น ตัดบทสนทนา ชวนไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เปลี่ยนประเด็น ไม่คุยลงลึกต่อไป
- บอกความจริง ถ้าหลบไม่พ้นแล้วเจอคำถามบางอย่างที่เข้าใจ ถ้าไม่ลำบากใจมากขนาดนั้น บอกความจริงไปซะก็จบๆ
- ถือโอกาสทบทวนตัวเองซะเลย เช่นเราอ่อนไหวกับคำถามแบบไหน การรับมือกับคำถามที่ไม่อยากตอบอาจเป็นห้วงโอกาสที่เราได้ทบทวนว่าเรามีความเปราะบางที่ไหน แล้วเรามีความไม่มั่นคงและส่วนอ่อนไหวที่ตรงไหน
- ทำความเข้าใจว่าคำถามนั้นไม่ได้ตั้งใจจะจี้เรา แต่เป็นความสนใจของคนที่ถาม เหมือนกับที่พูดถึงเรื่องการเก็บข้อมูลของคนในสายเลือดว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ถามเรื่องของเราซะทีเดียว แต่คุณป้ากำลังเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น ภาวะเจริญพันธุ์ และข้อมูลเรื่องการหาคู่ ก็เพื่อทบทวนไปยังลูกหลานโดยตรงของตัวเอง
- เตรียมคำตอบที่สังคมรับได้ไว้ บางเรื่องที่อาจจะโดนถามบ่อยๆ แล้วเราลำบากใจที่จะตอบ แต่ในที่สุดเราก็ต้องตอบแหละ การเตรียมคำตอบไว้อาจจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น
- เบี่ยงประเด็น บางทีถ้าไม่แฮปปี้ ก็ต้องเลี่ยงมันหน้าด้านๆ คนถามอาจจะไม่ชอบแหละ แต่ก็ต้องทำ เล่นมุกเปลี่ยนเรื่อง เบี่ยงประเด็น ไปจนถึงเปลี่ยนคู่สนทนาไปคุยเรื่อง – คนอื่นไปเลย ในบางโอกาสอาจจะเป็นวิธีการที่จำเป็นต้องทำ
- สื่อสารความอึดอัดใจ บางทีคนก็ไม่ได้คิดอะไรว่าคำถามพื้นๆ แตะส่วนที่อ่อนแอของเรา ดังนั้นการสื่อสารให้ญาติมิตรรับรู้ไปตรงๆ ว่าคำถามพวกนี้กำลังสร้างความไม่น่ารื่นรมย์ให้เราเป็นวิธีการที่ดีและตรงไปตรงมา
- เข้าใจว่าบางคนก็เป็นแบบนี้ บางคนเวลาสื่อสารค่อนข้างเป็นเชิงรุกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกกดดันจากการรุกไล่มากเกินไป ลองพยายามส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้ ไม่ว่าจะด้วยภาษากายหรือนัยใดๆ เพื่อบอกว่า โอเค เราต้องการพื้นที่และความเงียบบ้างแล้วนะ
- ระวังอย่าจุ้นจ้านซะเอง บางครั้งเราเอง – ในฐานะญาติคนหนึ่ง ก็มีแรงผลักความอยากรู้เรื่องญาติของเราอยู่ และตรงนี้อาจเป็นดาบที่กลับมาแทงเรา คือเราอาจเผลอไปถามเรื่องส่วนตัว ถามไปถามมาก็เข้าตัว ดังนั้นเราเองก็ต้องระวังอย่าไปสร้างความอึดอัดใจซะเอง
สุดท้ายแล้วก็อย่าไปคิดมากเนอะ ในวันหยุดพักผ่อนยาวๆ และในวันที่ได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัวของเรา คำถามชวนช็อกถือเป็นแค่จุดสะดุดเล็กๆ ในช่วงเวลาพิเศษของปี พอเราเข้าใจเหตุผลที่ญาติชอบเรื่องส่วนตัวและหาทางหนีทีไล่ไว้ เราก็น่าจะผ่านวันหยุดได้ โดยไม่ต้องเอาความอยากรู้มาใส่ใจให้ไม่สบายใจเล่น
อ้างอิงข้อมูลจาก