‘อีกะเทย…มึงสิกะเทย’ ไม่ว่าจะเป็นมุกหรือคอนเทนต์เกี่ยวกับกะเทยก็มักจะดูบันเทิงไปเสียหมด เพราะเรามักจะติดภาพลักษณ์กะเทยที่ต้องตลก เฮฮา มั่นใจ กล้าแสดงออก และคอยสร้างสีสันให้กับคนรอบๆ ข้างอยู่ตลอดเวลา
ในชีวิตเราอาจมีเพื่อน คนรู้จัก หรือคนรอบข้างอย่างน้อยสักคนหนึ่งที่เป็นกะเทยผู้คอยสร้างสีสัน สร้างเสียงหัวเราะ หรืออยู่ด้วยเมื่อไหร่ก็เป็นต้องอารมณ์ดี แต่เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมพวกเขาส่วนใหญ่ถึงได้มีนิสัยตลกขบขัน ยิงมุกให้ขำได้อยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าตัวเอง ‘ต้อง’ เป็น
กะเทยมักเป็นเพศที่ถูก stereotype หากลองสังเกต เราจะชินภาพว่ากะเทยจะต้องอยู่คู่กับกองประกวดนางงาม กะเทยจะต้องเป็นนางโชว์ กะเทยจะต้องเป็นช่างแต่งหน้าทำผม กะเทยจะต้องเป็นสันทนาการ กะเทยจะต้องเต้นเก่ง กะเทยจะต้องมีหัวศิลปะ จนมายุคปัจจุบัน “กะเทยจะต้องกินยำ” รวมไปถึงวลีฮิตในขณะนี้อย่าง ‘กะเทยไม่ใช่เพศ แต่เป็นไลฟ์สไตล์’ จึงทำให้กลับมานึกสงสัยว่า แล้วไลฟ์สไตล์ของกะเทยในสายตาสังคมนั้นเป็นยังไง? ทำไมเพศนี้จึงมักจะถูกติดตั้งคำจำกัดความ? และความคาดหวังเหล่านี้ส่งผลกระทบอะไรกับพวกเขาบ้าง?
ในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ การรวบรวมความกล้าที่จะออกมาเปิดเผยว่าฉันเป็นกะเทยนะ ฉันเป็นเกย์นะ ฉันเป็นเลสเบี้ยนนะ ก็เหมือนกับเป็นการหยิบเอาปมด้อยของตนเองออกมาโชว์ให้สาธารณะดู และหลังจากนั้นก็จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้พวกเขาต้องหาสิ่งอื่นมาช่วยลบปมด้อย ความแปลกแยก หรือความผิดปกติ (ที่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดปกติตรงไหน) เพื่อให้ผู้คนมองข้ามจุดนั้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือความตลก ความดี ความเก่ง ความสามารถ และความสร้างสรรค์
“บางครั้งก็แอบรู้สึกแย่ที่บางทีกะเทยจะเป็นได้แค่ตัวตลกหรือเป็นคนสร้างสีสันให้คนอื่น เหมือนกับว่าเราถูกใช้งานหรือเป็นประโยชน์ได้แค่นั้น ซึ่งกะเทยก็มีความรู้ ความสามารถแบบเดียวกับคนปกติทั่วไปที่สามารถทำหน้าที่อื่นๆ ได้” ความในใจจากผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์
ซึ่งการเหมารวมหรือคาดหวังว่ากะเทยทุกคนจะต้องตลกนั้น ถือเป็นการค่อยๆ ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างไม่รู้ตัว โดยการมองข้ามความสามารถและเรื่องทั่วไปที่เหมือนกับเพศอื่นๆ และคิดว่าพวกเขาจะต้องมีเพียงด้านที่ตลกหรืออารมณ์ขันเท่านั้น ซึ่งจริงๆ ความตลกก็เป็นเพียงแค่อุปนิสัยหนึ่งของคนเรา เหมือนที่ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถตลกได้
“ความตลกมันเป็นแค่ personality”
พอได้ลองพูดคุยกับผู้ที่เคยสร้างสีสันให้กับงานรับน้องอย่างพิธีกรและสมาชิกในทีมสันทนาการ ก็ได้ความเห็นกลับมาว่า การที่กะเทยถูกเหมารวมว่าเป็นคนตลก น่าจะมาจากการที่สภาพแวดล้อมของพวกเขามีแต่ความสนุก การหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ก็เลยถูกตีความว่ามันตลก ทำให้บางคนเข้าหาพวกเขาเพราะความที่เป็นคนเอ็นจอย และสภาพแวดล้อมดูมีแต่ความสุข
เมื่อสังคมเลือกที่จะโฟกัสกะเทยเพียงเพราะมุมที่ตลก นั่นจึงเป็นคุณสมบัติที่พวกเขาบางคนคิดว่าตัวเองจำเป็นจะต้องมี จึงไม่แปลกหากจะเห็นกะเทยเป็นเพศที่ดูสนุกสนานเฮฮาอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็มีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองภาพกะเทยไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยสิ่งที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ของกะเทยมากที่สุดนั่นก็คือ ‘สื่อ’ ที่ผลิตซ้ำตัวตนของกะเทยในมิติเดียว และทำให้สังคมมองข้ามการเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความหลากหลาย กลายเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังจะเห็นได้จากในภาพยนตร์หรือละครหลายเรื่อง ที่กะเทยมักจะมีบทบาทซ้ำๆ เดิมๆ คือการคอยเติมเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม
“เราว่ามันเป็นคาแรกเตอร์ที่คนยัดมาให้มากกว่า เลยทำให้มันกลายเป็นภาพจำที่คนเป็นกะเทยจะต้องดูตลก ซึ่งจริงๆ แล้วกะเทยที่เนิร์ดหรือขยันเรียนก็มีเหมือนกัน ลองถามเพื่อนทุกคนดูว่าทำไมอยากอยู่กับกะเทย ก็จะมีแต่คนตอบว่าอยู่ด้วยแล้วสนุก ตลกดี มีความสุข แต่ไม่มีใครบอกว่าเขาเรียนเก่ง เขามีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกัน กะเทยเลยเอาความตลกมาทำให้ตัวเองถูกยอมรับจากสังคม” พนักงานบริษัทคนหนึ่งเผยถึงเหตุผลของความตลกในตัวกะเทย
ในปีค.ศ. 2010 มีผลการวิจัยของ Stonewall ระบุว่า ภาพลักษณ์ของเกย์หรือกะเทยที่ถูกนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ในเชิงบวกหรือตรงกับความเป็นจริง มีเพียงแค่ 46 นาทีเท่านั้น จากทั้งหมด 126 ชั่วโมง ซึ่งส่วนมาก การปรากฏตัวของเกย์หรือกะเทยจะเป็นการแสดงออกในลักษณะคุกคามทางเพศ ตลกขบขัน และอารมณ์ร้าย โดยนักวิจัยได้เก็บข้อมูลจากการดูรายงานที่ได้รับความนิยมสูงสุด 20 รายการ เป็นเวลา 16 สัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าภาพแทนของกะเทยที่สังคมได้รับมา ส่วนหนึ่งก็มาจากสื่อที่เป็นผู้กำหนด
ผศ.ดร.ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นในเรื่องการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของกะเทยในสื่อที่มีผลต่อภาพจำคนในสังคมไว้ว่า “สื่อบันเทิงโดยเฉพาะละครหรือภาพยนตร์มักจะติดตั้งความหมายของกะเทยในลักษณะของภาพเหมารวม เช่น ความตลกหรือการชอบลวนลามผู้ชาย
หรืออย่างในกรณีข่าว ก็มักให้ความหมายของทอมว่ามีอารมณ์หึงหวงรุนแรง การให้ความหมายเหล่านั้นเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เมื่อติดตั้งความหมายที่แตกต่าง ไม่เหมือนกับพฤติกรรมที่คนทั่วไปในสังคมยอมรับหรือถือปฏิบัติ คนกลุ่มนี้จะถูกตัดสินและถูกล้อเลียน ทั้งที่ในความเป็นจริง กลุ่ม LGBTQ มีความสามารถที่แตกต่างหลากหลายอาชีพ ไม่ได้มีเฉพาะภาพบุคลิกลักษณะตามที่สื่อนำเสนอเท่านั้น ในการนำเสนอของสื่อจึงควรจะให้ภาพที่แตกต่าง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน”
ความตลกของกะเทยถูกนำเสนอออกมาผ่านหลายปัจจัยหลายรูปแบบ อย่างที่เราจะเห็นได้จากภาพยนตร์ ละคร หรือสื่อออนไลน์ ที่กะเทยมักจะมีลักษณะท่าเดินตุ้งติ้ง อิริยาบทที่เล่นใหญ่เกินความเป็นจริง ส่งเสียงวี้ดว้ายโวยวาย พูดจาหยาบคายสนุกสนาน บางครั้งก็มีพฤติกรรมลวนลามเพศชาย หรือแม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกก็ยังถูกทำให้ดูน่าขบขัน อย่างเสื้อผ้าการแต่งกายที่ดูฉูดฉาด จัดจ้าน หรือการแต่งหน้าที่ดูมากเกินไปกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงไม่ใช่ทุกคนที่จะแต่งตัวหรือมีบุคลิกแบบนั้น และยังไม่รวมบริบทอื่นๆ เช่น การรับบทเป็นตัวประกอบ เพื่อนพระเอกนางเอก หรือตัวร้ายที่คอยยุแยงให้แตกแยก บริบทเหล่านี้จึงเป็นการกดทับความหลากหลายของกะเทยเอาไว้ และลดทอนความจริงจังในบทบาทของพวกเขาไป
“การเป็นกะเทยตลกนี่กดดันนะ เพราะมันหมายความว่าเราจะต้องสร้างสรรค์กว่าคนอื่น”
แต่ถึงอย่างนั้น กะเทยก็ถือเป็นองค์ประกอบที่ละครไทยขาดไม่ได้ เพราะจากการศึกษาของ คุณรัตนะ แซ่เตีย เกี่ยวกับความเห็นของผู้ชมที่มีต่อตัวละครรักร่วมเพศในละครโทรทัศน์ไทย พบว่า ตัวละครรักร่วมเพศมีส่วนทำให้ละครโทรทัศน์ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นตัวสร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับละคร
การนำเสนอภาพแทนของกะเทยให้อยู่ในมิติที่จำกัด จึงทำให้กะเทยเป็นเพศที่ถูกผูกติดไว้กับความตลก อารมณ์ร้าย หรือชอบคุกคามทางเพศ ซึ่งการจำกัดความสามารถของกะเทยให้อยู่ในกรอบแคบๆ นี้ ส่งผลให้พวกเขาถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากการทำกิจกรรมบางอย่างทางสังคม หรือการสมัครงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น ครู ข้าราชการ นักบิน ทนายความ หรือนักการเมือง เพราะขาดการนำเสนอภาพลักษณ์ในมิติที่จริงจังอย่างด้านการศึกษา การเมือง และกฎหมาย ทั้งๆ ที่โลกความเป็นจริงพวกเขามีบทบาทด้านสังคมเยอะแยะมากมาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงบันเทิง เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอเท่านั้น
แม้พวกเขาจะมีศักยภาพหรือคุณสมบัติตรงตามที่หน่วยงานต้องการก็ตาม แต่หลายครั้งกลับมาพลาดเพียงเพราะเพศสภาพหรือบุคลิกที่ไม่น่าเชื่อถือ และอาจเป็นเรื่องยากที่หลายหน่วยงานจะปรับนโยบายให้เอื้อต่อการทำงานของพวกเขา เนื่องจากค่านิยมเกี่ยวกับกะเทยถูกปลูกฝังไว้ในสังคมมาอย่างยาวนาน สุดท้ายจึงกลายเป็นการผลักภาระให้กับพวกเขาในการที่จะต้องออกมาพิสูจน์ความสามารถของตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและการยอมรับในสังคม
แม้หลายคนจะมองว่าสังคมไทยเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นเป็นเพราะพวกเขามีความสามารถที่โดดเด่น หรือประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งถึงจะได้รับการยอมรับ ทำให้บางครั้งอาจลืมไปว่าทุกเพศสภาพสามารถได้รับความเท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Gay Characters in Modern Thai Television Dramas