งานกาชาดปีนี้ (จัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561) ที่กำลังจัดอยู่ที่สวนลุมพินีนั้น ไม่เพียงเป็นมหรสพการกุศลประจำปีเพื่อหารายได้เข้าสภากาชาด ยังเป็นการเฉลิมฉลองสภากาชาดไทยที่มีอายุครบ 125 ขวบ นับตั้งแต่คราวที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ สามัญชนหญิงหัวสมัยใหม่ (ในสมัยนั้น) ได้ริเริ่มชักชวนบรรดาสาวๆ รวมกลุ่มกันสร้างสาธารณประโยชน์
เหตุเกิดจากกรณีพิพาทเขตแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 2436 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภรรยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการทำหน้าที่ควบคุมดูแลศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์ ก็ได้เป็นหัวหน้าริเริ่มตั้งสภาการกุศล ‘สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม’ ด้วยความคิดที่ว่า หญิงสยามก็จะสามารถป้องกันรักษาประเทศได้ด้วยการชักจูงญาติ ลูกหลานมิตรสหายที่เป็นเพศหญิง ช่วยกันเรี่ยไรออกทรัพย์ เพื่อรักษาพยาบาล บำรุงกำลังพลทหาร บริการยาและสิ่งของสำหรับพยาบาล[1]
สภาของพวกเธอมีต้นแบบเป็นหญิงเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวือร์ทเทมแบร์กที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากสงครามไครเมียตั้งศูนย์การกุศลจัดแพทย์และพยาบาลช่วยเหลือจนต่อมากลายเป็นสภากาชาดแห่งรัสเซีย และเศรษฐีนีชาวอังกฤษ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ไม่เพียงส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไปช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ เธอยังเข้าไปรักษาเองในฐานะหัวหน้าพยาบาล แต่เนื่องจากฝ่ายอังกฤษและสัมพันธมิตรชนะ เธอจึงเป็นที่รู้จักมากกว่า[2]
สภาอุณาโลมแดง มีสัญลักษณ์คล้ายยันต์ด้วยการหยิบยืมสัญลักษณ์กากบาทแดงมาใช้ แล้วดัดแปลงให้เข้ากับความเชื่อทางศาสนาดั้งเดิม[3]
เพื่อให้องค์กรของพวกเธอมีอ้างอิงอยู่ที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) ที่ก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ 1863 (พ.ศ. 2406) ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตามเจตารมณ์ของนักธุรกิจชาวสวิสอังรี ดูนังต์ (Heri Dunant) ที่ต้องการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บจากการสงคราม
ด้วยโครงสร้างแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบบอุปถัมภ์ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน จึงชักจูงบรรดาหญิงชนชั้นนำหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะชนชั้นเจ้าที่เธออัญเชิญเข้ามาสนับสนุนเป็นผู้อุปถัมภ์ ตั้งตำแหน่งประจำสภามากมายที่ อย่างเช่น ‘ทานมยูปถัมภก’, ‘สภาชนนี’, ‘สภานายิกา’, ‘เลขานุการิณี’, ‘เหรัญญิกา’, ‘อุปนายิกา’ ‘กรรมการริณี’ ‘อนุกูลกรรมการิณี’ (แปลว่าอะไรวะ) ที่เป็นการจัดแบ่งลำดับความสำคัญบทบาทหน้าที่ตามชนชั้นชาติกำเนิดและบารมีของแต่ละบุคคล ไปพร้อมกับประกาศตัวตนของผู้หญิงไปด้วยว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติและเหมือนกับสากล กลายเป็นเวทีในการประกาศบารมี ความศิวิไลซ์ ความทันสมัย และอำนาจของผู้หญิงขณะนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงชนชั้นเจ้า
ท่านผู้หญิงเปลี่ยนถูกเบียดขับออกจากบทบาทผู้ให้กำเนิดสภากาชาด เช่นในปี 2462 เธอไม่ได้ถูกกล่าวว่าเป็นผู้ริเริ่มให้กำเนิดสภากาชาด ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของสภานายิกาแห่งสภากาชาด ที่กรรมการสภากาชาดเองทำแจก[4]
สภาอุณาโลมแดงจึงเป็นกิจกรรมสาธารณกุศลแรกๆ อันเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้หญิง โดยผู้หญิง ซึ่งก็แน่นอน เป็นหญิงชนชั้นสูงที่มีทรัพยากรมากแต่ไม่ค่อยจะมีบทบาทสาธารณะมากนักและพยายามที่จะเชื่อมโยงตนเองกับโลกสากลในยุคที่สยามพยายามแสวงหาการยอมรับจากอารยประเทศ
ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘สภากาชาดสยาม’ ให้มีความหมายใกล้เคียงกับ Red Cross คราวส่งผู้แทนสยามไปลงนามในอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ในค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) เพื่อให้สภากาชาดสยามได้รับการยอมรับว่าองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทหารในสงคราม ทว่าก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศอยู่ดี เพราะยังไม่ใช่องค์กรการกุศลที่แท้จริง เป็นแต่เพียงหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ไปจนถึงอุปนายกก็เป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหม ซ้ำหน่วยงานยังไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมเสนาธิการทหารบก เมื่อมีการก่อตั้งสันนิบาตสภากาชาด (League of Red Cross Society) ใน ค.ศ.1919 (พ.ศ. 2462) ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือมนุษย์ในยามปราศจากสงคราม สภาการชาดสยามจึงไม่ได้รับเชิญ[5] ซึ่งกว่าสภากาชาดสยามจะได้รับการยอมรับเข้าในสัญญาสากล ก็เมื่อปี 2463 และได้เป็นสมาชิกสันนิบาตสภากาชาดในปีต่อมา
แต่อย่างไรก็ตามก็ถูกบริหารและดำเนินกิจการโดยชนชั้นนำชาย ตำแหน่งต่างๆ ที่สงวนไว้สำหรับหญิงชั้นสูงสุดของสภากาชาดก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสง่าราศีทางชนชั้นสถานภาพทางสังคมมากกว่า
ส่วนงานกาชาดเริ่มจัดครั้งแรกในเทศกาลปีใหม่ระหว่างมีนาคม 2465-เมษายน 2466 เพื่อโฆษณากิจการและแสวงหาสมาชิกจากสามัญชนทั่วไป เป็นสมาชิกประเภท ‘ประชาสมาชิก’ ที่เป็นประเภทระดับล่างสุดและจะต้องเสียค่าบำรุง 1 บาทต่อปีพอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สภากาชาดที่ผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำระบอบเก่าก็อยู่อย่างเงียบๆ ในฐานะมรดกจากระบอบศักดินาแต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรสากลงานกาชาดจึงจัดกันอย่างไม่อู้ฟู้ที่สถานเสาวภา ขณะที่งานรื่นเริงมหรสพประจำปีแห่งชาติขณะนั้น คือเทศการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้ระบอบประชาธิปไตยและหารายได้มาใช้ในการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์
ขณะเดียวกันรัฐบาลในระบอบการปกครองใหม่ก็ได้ก่อตั้งสถาบันของผู้หญิง โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงได้ทำสาธารณประโยชน์เช่นกัน ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนสามัญชนได้บริหารงานกันเองเป็นตัวแทนอำนาจผู้หญิงสมัยใหม่ของระบอบใหม่ ก็คือ ‘สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง’ ในปี 2486 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนหญิงสามัญชนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังคมสงเคราะห์[6]
สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงได้จัดหลักสูตรอบรมด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม เรียกว่า ‘วัฒนธรรมสงเคราะห์’ ก่อนพัฒนาเป็นสถานศึกษา เพื่อผลิตประชาชนผู้หญิงออกไปทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ มีการส่งไปดูงานสวัสดิการสังคม ที่ออสเตรเลีย ดูงานที่โรงพยาบาล บ้านสำหรับคนชรา เด็กกำพร้า เด็กเกเร สถานสาธารณกุศล เพื่อกลับมาพัฒนากิจการในประเทศ[7] รวมทั้งในแต่ละปีก็จัดงานรื่นเริงในลักษณะเดียวกับงานกาชาด และงานฉลองรัฐธรรมนูญเช่นงานวันแม่ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ความรู้ประชาชนด้านการเลี้ยงลูกหลักจิตวิทยา สุขอนามัย จริยธรรม และความรู้งานบ้านงานเรือน คหกรรม โภชนาการต่างๆ
กลายเป็นสถาบันของผู้หญิงที่คู่ขนานกันไป ระหว่างสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงกับสภากาชาด
ต่อมาในทศวรรษ 2490 สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงก็ได้ให้ตั้ง ‘สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง’ ประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด มีภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าริเริ่ม[8] เพื่อกระจายอำนาจให้องค์กรผู้หญิงสามัญชนระดับภูมิภาคได้มีบทบาทและสร้างสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ของพวกเธอเอง ขณะที่สภากาชาดขยายกิจการไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วยโครงการ ‘เหล่ากาชาดจังหวัด’ มาตั้งแต่ปี 2480 แล้ว ให้เป็นองค์กรผู้หญิงระดับภูมิภาคที่อิงกับอำนาจศูนย์กลาง มีการหักรายได้เหล่ากาชาดจังหวัดเข้าสู่ส่วนกลาง แต่ด้วยขั้นตอนซับซ้อนและกฎระเบียบรวมศูนย์อำนาจ โครงการจึงยังไม่เป็นที่นิยม[9] อย่างไรก็ตาม สงครามอินโดจีนได้ปลุกชีวิตสภากาชาดให้โดดเด่นอีกครั้ง ผ่านงานสังคมสงเคราะห์ยามสงครามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้ง ‘กองอาสากาชาด’ ในปี 2483 ที่รับอาสาสมัครด้านรักษาพยาบาล สงเคราะห์ผู้บาดเจ็บป่วยไข้เมื่อเกิดภัยสงคราม มีหลักสูตรเช่นเดียวกัน เปิดสอนตั้งแต่งานธุรการ เย็บปักถักร้อยทำผ้าพันแผล หลักการประกอบอาหาร การคำนวณในการทำอาหารเลี้ยง การเก็บรักษาถนอมอาหาร บำรุงคนไข้ ไปจนถึงกฎธรรมเนียมสงครามที่เกี่ยวข้องกับกาชาด ลักษณะการปกครองและวินัยของอาสากาชาด[10] อย่างไรก็ตามกองอาสากาชาดก็มีวาระในตัวเอง เมื่อหมดสงครามบทบาทหน้าที่ก็ค่อยๆ เฟดไป
แต่วิกฤตินี้ก็เป็นโอกาสให้สภากาชาดเองเริ่มมีระเบียบเคร่งครัดซับซ้อนมากขึ้นเพื่อเลี้ยงตนเอง
มีการเก็บค่าสมาชิกจริงจังและจัดระเบียบสร้างความซับซ้อนของระดับสมาชิก ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มตำแหน่งและเปลี่ยนอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อให้ชนชั้นสูงเข้ามามีตัวตนบทบาทมากขึ้น[11] งานกาชาดเองก็เริ่มถูกทำให้เว่อวังอลังการมีสีสันมากขึ้นโดยกลุ่มชนชั้นสูงและเครือข่ายอำนาจจากระบอบการปกครองเก่า
กระทั่งรัฐประหาร 2500 ที่โค่นล้มอำนาจคณะราษฎรอย่างเบ็ดเสร็จพร้อมกับรื้อฟื้นกลุ่มอำนาจจารีตอนุรักษ์นิยม นำไปสู่การลดทอนความหมายความสำคัญและความทรงจำต่อการปฏิวัติ 2475 ไม่เพียงทำให้สโมสรวัฒนธรรมหญิงถูกลดบทบาทจนแทบไม่มีใครรู้ว่ามีหน้าที่ทำอะไรงานกาชาดก็ทวีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นงานสำคัญประจำปีทดแทนและเบียดขับงานฉลองรัฐธรรมนูญไปเสียฉิบ
เหมือนกับที่งานฉลองรัฐธรรมนูญมีงานประกวดนางสาวสยาม-นาวสาวไทย เน้นความงามของหญิงสมัยใหม่สุขภาพดีเป็นศรีสง่าแก่รัฐธรรมนูญ ในงานกาชาดมีการประกวดธิดากาชาดที่เริ่มในปี 2504 เน้นมารยาทงามเป็นเกณฑ์การตัดสิน
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากยึดหลักการสากลแล้ว องค์กรกาชาด ถือว่าเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐไม่ว่าจะรัฐใด เป็นกลางทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม ภายใต้เครื่องหมายกาชาดแห่งมนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร และเอกภาพ[12] และแน่นอนงานกาชาดก็ไม่ใช่พื้นที่ที่จะเอาไว้โฆษณาชวนเชื่อ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] วิสุทธิจิตรา วานิชสมบัติ (บรรณาธิการ). 100 ปี สภากาชาดไทย 2436-2536. กรุงเทพฯ : สภากาชาดไทย, 2536, น. 6-7.
[2] สภากาชาดสยาม : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงเรียนนางพยาบาล สถานปาสเตอร์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2462, น. 9.
[3] วิสุทธิจิตรา วานิชสมบัติ (บรรณาธิการ). 100 ปี สภากาชาดไทย 2436-2536. กรุงเทพฯ : สภากาชาดไทย, 2536, ไม่มีเลขหน้า.
[4] สภากาชาดสยาม : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงเรียนนางพยาบาล สถานปาสเตอร์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2462, น. 27.
[5] วิสุทธิจิตรา วานิชสมบัติ (บรรณาธิการ). 100 ปี สภากาชาดไทย 2436-2536. กรุงเทพฯ : สภากาชาดไทย, 2536, น. 33-34.
[6] กรมศิลปากร, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกผลงานรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499 พิมพ์ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดครบ 5 รอบ ของพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 14 กรกฎาคม 2500. พระนคร: ศิวพร, 2500, น. 199-200.
[7] แผนกเผยแพร่วัฒนธรรม, สำนักงานเลขานุการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ. วัฒนธรรมสาร ฉบับพิเศษ. พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2494, น.15-16, น.21.
[8] ที่ระลึกวันเปิดสมาคม สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดสมุทรปราการ 22 พฤศจิกายน 2497.ธนบุรี:เสรีบรรณกิจ.
[9] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. วงไพบูลย์แห่งลูกเสือและกาชาดไทย การก่อตัวของพลังการเมืองคุณธรรมในทศวรรษ 2500.รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2559), น. 24-75.
[10] กองอาสากาชาด สภากาชาดไทย. เรื่องอาหารการกิน พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนางประกาศสหกรณ์ (ลำไย วีรเธียร) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2491. พระนคร : โรงพิมพ์ซำเพ็ก, 2491, น. (4).
[11] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. วงไพบูลย์แห่งลูกเสือและกาชาดไทย การก่อตัวของพลังการเมืองคุณธรรมในทศวรรษ 2500.รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2559), น. 24-75.
[12] เดชอุดม ขุนนะสิทธิ์. (มกราคม 2557).ม็อบกาชาดกับความเป็นกลางทางการเมือง. prachatai.com/journal