อานนท์ นำภา อยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
ทนายอานนท์ นำภา เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หลังการขึ้นปราศรัยถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ วันที่ 3 สิงหาคม 2563 หลังจากนั้น เขามักจะมีบทบาทในการชุมนุม และในการปราศรัยเรื่อยมา แต่ในอีกมุมหนึ่งอานนท์ สมัยเรียนมัธยม เขายังเคยเป็นประธานนักเรียนที่เรียกร้องสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน และปัจจุบัน ยังเป็นทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำคดีให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการถูกกดขี่โดยรัฐด้วย
ในซีรีส์ ‘Never Forgotten ไม่ลืมเพื่อนเรา’ The MATTER ได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องของอานนท์ สมัยมัธยมปลายที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ผู้มีนามว่า ‘จอมยุทธ์’ และทนายวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อนร่วมงานอานนท์ ว่าตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จนถึงปัจจุบันอานนท์เป็นคนอย่างไร มีอุดมการณ์แรงกล้าแบบไหน เพื่อที่เราจะไม่ลืมว่า จนถึงวันนี้ (25 พฤษภาคม 2564) เขาถูกจองจำมามากกว่า 106 วันแล้ว
อานนท์ นำภา ประธานนักเรียนสาย NGOs
ระหว่างการทำซีรีส์ Never Forgotten นี้ เราพบเฟซบุ๊กที่ได้ตั้งสเตตัสเล่าเรื่องราวต่างๆ ของอานนท์ในสมัยมัธยม ที่คาดว่าเป็นมุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน เราจึงตัดสินใจทักไปพูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องของอานนท์ ซึ่งเรียกตัวเองว่า ‘จอมยุทธ์’ โดยเขาก็ได้บอกกับเราว่า เขากับอานนท์ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันในโรงเรียน และรู้จักกันผ่านการร่วมทีมแต่งกลอน
“เราเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมด้วยกัน ตอนนั้นมีนักเรียน 3,500 คน แกมีบุคลิกโดดเด่น ใส่แว่นสีควันบุหรี่ สะพายย่าม ดูเป็นผู้คงแก่เรียน จึงจดจำง่าย แต่ผมรู้จักพี่อานนท์อย่างเป็นทางการตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 (ปี 2544) ตอนนั้นอานนท์อยู่ ม.5 เขาเป็นนักกลอนมือฉกาจ อยู่ในทีมนักกลอนของโรงเรียนอยู่แล้ว ผมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีม เราต้องฝึกแต่งกลอนด้วยกันหลังเลิกเรียน แต่งให้ได้อย่างน้อย 2 บทในเวลา 8 นาทีตามหัวข้อที่อาจารย์ผู้ฝึกสอนเป็นคนตั้งขึ้น แต่งกลอนเสร็จเราจะได้กิน ส้มตำ ไก่ย่าง ที่อาจารย์เตรียมไว้”
“สมัยเรียนอานนท์เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คงคอนเส็ปต์ใส่แว่นสีควันบุหรี่ สะพายย่าม ตั้งแต่ ม.ต้น จนจบ ม.6 แกชอบเรียนหนังสือ แต่แกจะเรียนรู้ด้วยตนเอง อ่านหนังสือประมวลกฎหมายอาญาจบตั้งแต่อยู่ ม.5 แต่กิจกรรมนี้จะมาช่วงหลังๆ ตอนที่แกได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการนักเรียน”
จอมยุทธ์เล่าว่าอานนท์ในสมัยนั้น เป็นถึงประธานนักเรียน แต่สิ่งที่เขาทำ นโยบายที่เขาออกนั้น ทำให้เขาแตกต่างจากประธานนักเรียนคนอื่นๆ ที่เคยมีมา
“อานนท์เป็นประธานนักเรียนสาย NGOs ก็ว่าได้ เพราะประธานนักเรียนสมัยนั้น นอกจากพาน้องๆเชียร์กีฬา ทำกีฬาสี พาแห่กระทง แห่ผะเหวด (บุญพระเวสสันดร) ก็ไม่มีใครทำอะไรนอกจากนี้ แต่อานนท์เป็นคนแรกที่คิดจะพาน้องนักเรียน ม.ปลายออกค่ายเพื่อสังคม โรงเรียนเราชื่อโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ชื่อ ย่อว่า ร.ว. แกจึงตั้งชื่อค่ายว่า “ร.ว. สู่ชุมชน” พอดีแกมีเพื่อนที่เล่นกีตาร์ร้องเพลงเพื่อชีวิตเก่งมากๆ ชื่อพี่น้ำพุ สามารถ Cover เป็นพี่ปู พงษ์สิทธิ์ ได้สบายเลย แกจึงให้เพื่อนเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อนำทุนไปมอบให้เด็กๆที่ยากไร้ ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า ไปจัดกิจกรรมมอบขนม มอบของขวัญ และกินข้าวกับน้องๆนักเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนต่างอำเภอ
“อีกเรื่องโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนชายล้วนในระดับ ม.ต้น (ส่วน ม.ปลายเป็นสหศึกษา) และจะมีโรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด อยู่อีกฟากคลอง ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนในระดับ ม.ต้น เช่นกัน ธรรมชาติของเด็กผู้ชายเราน่าจะเดาได้ คืออยากใกล้ชิดนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วน อานนท์จับความต้องการของเด็กส่วนใหญ่ได้ ตอนสมัครประธานนักเรียน เขาจึงหาเสียงว่า ‘ผมจะทำให้เด็กสตรีศึกษา มาที่โรงเรียนของเราให้ได้’
ผมคิดว่าประเด็นนี้แหละ ที่ทำให้แกได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แล้วแกทำนโยบายให้สำเร็จได้จริงๆ โดยจัดโครงการ “กีฬาประเพณี สตรี – ร.ว.” ทำให้เด็กๆ สองโรงเรียนนี้มีโอกาสไปมาหาสู่กัน” ซึ่งเขายังเล่าว่า กิจกรรมนี้กลายมาเป็นการสืบทอดปฏิบัติกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปีหน้า ก็จะครบ 20 ปีที่กิจกรรมนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง (แต่ช่วงนี้อาจจะงดเพราะสถานการณ์ COVID-19)
แน่นอนว่าจากการเป็นประธานนักเรียนที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ทำให้อานนท์ในสายตาคุณครูแตกต่างไป ซึ่งหนึ่งในสเตตัสเฟซบุ๊กของจอมยุทธ์ก็เคยเล่าถึงอานนท์ นำภา ที่ทำกิจกรรมจนถูกเรียกเข้าห้องปกครอง
“ในสายตาครูตอนนั้น ผมว่าอานนท์ตกที่นั่งเดียวกับเนติวิทย์ในยุคหนึ่งเลยแหละ น่าจะไม่ต่างจากกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ มากนัก .อานนท์ทำหน้าที่ประธานนักเรียนโดยการเรียกร้องสิทธิของนักเรียน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในมโนทัศน์ของครูยุคนั้น อานนท์เรียกร้องให้ครูใส่ใจกับนักเรียนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่ไปเรียนพิเศษกับตนเอง ยอมรับว่าเราไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ แต่ทุกคนรู้สึกได้ว่ามีบางอย่าง เราจึงประท้วงโดยการติดป้ายข้อความต่อต้านพฤติกรรมลักษณะนั้นรอบโรงเรียน
เช้าวันต่อมา ผู้อำนวยการจึงเรียกเข้าพบ ครูทุกคนรู้ว่านอกจากประธานอานนท์แล้ว ไม่มีใครทำแบบนี้ได้ อานนท์และผมโดน ผู้อำนวยการเรียกไปพูดคุย ซึ่งท่าน ผอ.พูดดีนะครับ ท่านถามว่า ‘สนุกมั้ย ผอ.เข้าใจว่ามันสนุกนะ แต่มันไม่ถูกต้อง ผอ.อยากให้เรากล้าคิดกล้าทำ แต่ผ่านวิธีการที่ถูกต้อง’ อานนท์ไม่โต้ตอบอะไร เขามีแต่เสียใจที่ทำให้น้อง ๆ ทีมงานต้องเดือดร้อนไปด้วย แต่ผมคิดว่าเราทุกคนภูมิใจที่ได้ส่งเสียงออกไปบ้าง”
ปัจจุบันเราเห็น และรู้จักอานนท์คนที่มีอุดมการณ์การเมืองชัดเจน และหนักแน่น ซึ่งจอมยุทธ์ก็เล่าให้เราฟังว่า อานนท์นั้นศึกษาเรื่องการเมืองผ่านการอ่านกลอนตั้งแต่สมัยเรียน และมีเลือดนักสู้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงไม่แปลกใจที่เห็นทุกวันนี้อานนท์กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหว หรือเปิดประเด็นอย่างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
“เราอยู่ในชมรมนักกลอน อ่านหนังสือเกี่ยวกับสังคม การเมือง เพราะต้องฝนความคิดไปแต่งกลอน อ่านประวัตินายผี, อัศนี พลจันทร์ จึงได้รับรู้การต่อสู้ของเขา เราศึกษาประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ (คนนี้อานนท์ จะอินเป็นพิเศษ) เราจำเป็นต้องศึกษาประวัติของเตียง ศิริขันธ์ เพื่อประกอบภาพประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้ชัดเจน เราอ่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทำให้ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 เรื่อยมาจนถึง พฤษภา 35 ความเป็นนักกลอน ทำให้เราต้องเป็นนักอ่าน พออ่านมากๆ เราก็อินไปกับมัน บวกกับพื้นเพการเป็นลูกชาวนา เห็นความทุกข์ยากของชาวนา เห็นความไม่ยุติธรรมของราคาผลผลิต เราก็ยิ่งอิน
ช่วงนั้นบังเอิญมีการขยายการลงทุนของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่จะมาเปิดในจังหวัดเรา อานนท์ก็ไปร่วมประท้วง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้ค้ารายย่อยโดนฮุบเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก พูดได้เลยว่าเขามีเลือดนักสู้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เขาไม่ชอบใช้กำลังนะครับ ในชีวิตนี้เขาไม่เคยชกใครด้วยซ้ำเพราะเขากลัวข้อมือหัก (ฮา)”
“ผมไม่แปลกใจเลยสักนิด ที่อานนท์จะพูดเรื่องสถาบันฯ ต่อที่สาธารณะ เพราะแกเห็นว่าความไม่สมเหตุสมผลมันประเดประดังเข้ามาในสังคม ใครยอมรับความไม่สมเหตุสมผลขนาดนั้นได้ คุณก็ต้องละอายแก่ใจตัวเองแล้ว แต่อานนท์ไม่ใช่คนแบบนั้น เขาเป็นคนที่จะไม่ยอมทำเรื่องที่ต้องละอายแก่ใจ
ส่วนอันตราย หรือความยากลำบากที่ต้องเจอในการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ตอน ม.ปลาย อานนท์จะยกตัวอย่างคำสอนของคุณยายซึ่งเป็นชาวนามาสอนผม ‘การทำนามันเหนื่อยก็จริง แต่นอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็หายเหนื่อย แต่ความภูมิใจที่เห็นงานสำเร็จ มันจะไม่มีวันหายไป’
หลายปีผ่านไป เราไปกินข้าวกัน ผมถามว่า ‘อันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ เราจะหาทางรับมืออย่างไร?’ แกตอบสั้นๆว่า ‘อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด’ คำตอบแบบนี้ มันรู้สึกว่า สิ่งที่เราห่วง มันยิ่งน่าห่วงมากขึ้น”
แม้แกนนำหลายๆ คนจะได้รับสิทธิประกันตัวออกมาแล้ว แต่อานนท์ ไมค์ ภาณุพงศ์ และจัสติน ชูเกียรติ ก็ยังเป็น 3 คนในคดี ม.112 ที่ยังไม่ได้รับสิทธินี้ และทั้ง 3 ก็อยู่ในเรือนจำจนติด COVID-19 ไปแล้ว ตัวจอมยุทธ์ที่เป็นเพื่อนของอานนท์ ก็มองถึงกระบวนการเหล่านี้ว่า
“นี่คือความ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ อย่างหนึ่ง ที่อานนท์พยายามจะประท้วงมันออกมา เขาใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า มันมีสิ่งที่ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ และสิ่งเหล่านั้นมันส่งผลให้สังคมเราบิดเบี้ยว แต่หลายคนยังไม่รู้ตัวหรืออาจเคยชินกับความไม่สมเหตุสมผลนี้ อานนท์จึงอาสาใช้ชีวิตทั้งชีวิตของเขาแสดงให้เห็น มันเหมือนผมได้ยินเสียงเขาตะโกนใส่ทุกคืนวันว่า ‘คุณเห็นมั้ย ผมพูดความจริง แล้วผมถูกจับขัง คุณเห็นมั้ย ผมถูกจับขังแล้ว ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว’
ในกรณีนี้สิ่งที่ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ ที่เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วคือกระบวนการยุติธรรม ถ้าใครยังมองไม่เห็นว่าต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แสดงว่าคุณมืดบอดแล้ว
ทนายอานนท์ นำภา นักกิจกรรมทางการเมือง และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทนายวีรนันท์ ฮวดศรี เป็นทนายคนนึงที่เรามักเห็นตัวติดอยู่กับทนายอานนท์ ไปทำคดีด้วยกันตลอด และทั้งในช่วงที่อานนท์อยู่ในเรือนจำ ทนายวีรนันท์ ยังเป็นคนที่เข้าเยี่ยม และสื่อสารข้อความของอานนท์ออกมาข้างนอกอยู่บ่อยๆ ซึ่งทนายวีรนันท์ก็เล่าว่ามารู้จักกันจริงๆ เมื่อทำงานทนาย และนอกจากเป็นเพื่อนร่วมงาน อานนท์ยังเป็นครูที่สอนการเป็นทนายให้เขาด้วย
“ผมรู้จักพี่อานนท์ผ่านชื่อก่อน ตอนนั้นเราทำกิจกรรม พี่อานนท์น่าจะเรียนจบแล้ว เราก็รู้จักเขาผ่านสำนักงานราษฎรประสงค์ ที่ช่วยคดีหลังปี 53 เพราะตอนนั้นเราทำกิจกรรมอยู่ แต่เรามารู้จักเขาจริงๆ จังๆ คือหลังรัฐประหารปี 2557 ประมาณช่วงปี 2558 ผมมาทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้ทำงานด้วยกันที่ศาลทหาร แกเป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน และเป็นครูด้วย สอนเทคนิก สอนเราให้เป็นทนาย ซึ่งส่วนมากเจอกัน 90% เป็นทนายจำเลยกันเป็นส่วนใหญ่
“ผมกับพี่อานนท์ทำงานด้วยกันหลายคดี เดินทางกับแกตลอดเวลาไปต่างจังหวัด ดูเผินๆ เหมือนแกไม่เตรียมคดี แรกๆ เราก็สงสัยนะ แต่ยอมรับแกส่วนนึงที่เราคิดว่าแกไม่เตรียม แกเป็นคนที่คิดคำถามตลอดเวลา ด้วยที่ทนายจำเลยการเตรียมคดีก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนคือการถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักพยานโจทย์ แกมีพรสวรรค์เรื่องนี้ ขบคิดตลอดเวลา นำไปสู่ประเด็นอะไร เพื่อต้องการอะไร แกเป็นมิตรกับพยาน และถามได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าไปด้วยกันผม หรือทีมก็จะเตรียมเอกสาร ที่เหลือเราก็ทำการบ้านร่วมกัน ประชุมร่วมกัน”
“คดีการเมืองทุกคดีพี่อานนท์รับทำอย่างไม่ลังเล พี่อานนท์เป็นทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ ทุกคดีที่ศูนย์มอบหมายให้ และคดีทางการเมืองที่เขาติดต่อมา อย่าง ม.112 แกไม่เคยลังเลเลย คดีที่พี่อานนท์ทำก็ออกต่างจังหวัดเยอะ มีขึ้นศาลทหาร และช่วงหลังแกก็เป็นจำเลยเองที่ศาลอาญา นับตั้งแต่คดีคนอยากเลือกตั้งมา”
แม้ว่าจะเป็นทนาย และหลังๆ ก็มาเคลื่อนไหว รวมถูกดำเนินคดีด้วย แต่ทนายวีรนันท์ก็บอกว่าอานนท์ก็ไม่บกพร่องในการทำหน้าที่ และยังเป็นคนที่ยึดมั่นทั้งในการเป็นทนายปกป้องสิทธิคนอื่น และในการเคลื่อนไหวเพื่อหวังว่าจะเห็นประเทศที่ดีกว่า
“เรามองแกเป็นคนธรรมดาคนนึง แต่ด้วยภาระของทนายความแกก็ไม่ขาดตกบกพร่อง ศึกษาคำถาม คุยกับพยาน หรืออย่างคดีทางการเมืองพวก ม.112 หรือ ม.116 มันทำการบ้านเยอะส่วนนึงด้วย แต่อีกส่วนนึงแกทำคดีพวกนี้มาตลอด มีทักษะที่สั่งสมมาเรื่อยๆ ด้านนักเคลื่อนไหว แกก็ทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยมหา’ลัย พอหลังรัฐประหาร 49 แกก็รวมกลุ่มในนามกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร
พอมาถึงหลัง 3 สิงหาคม 2563 ในม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ แกบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำ มันจะไม่มีคนทำ แต่ว่าเราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการทำ เราอยากเห็นสิ่งที่มันดีกว่า นอกจากร่วมใจ เราต้องร่วมมือด้วย นี่คือสิ่งที่แกพูด ผมว่าผมทำได้ ผมก็ออกแรงเท่าที่ผมทำได้
ในวงการกฎหมาย ในนามทนายสิทธิ เราไม่ได้เรียกคิดว่าพวกเรามีเกราะที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วได้เปรียบคนอื่น แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ที่ถูกละเมิด ถูกรัฐคุกคาม ใช้กฎหมายเล่นงาน ในการที่เขาใช้เสรีภาพในการแสดงออก ในมุมทนาย เขาก็คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเต็มที่ กล้าชนกับศาล เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง หลังๆ ผมคุยกับน้องๆ นักกฎหมายรุ่นใหม่ คนที่กำลังจะจบ หรือน้องๆ ที่ศูนย์ทนายฯ หลายคนก็บอกว่ามีพี่อานนท์เป็นไอดอลของนักกฎหมายสิทธิฯ กล้าที่จะสู้ กล้าที่จะทำเพื่อปกป้องสิทธิของจำเลย ผู้ต้องหาเอง เป็นไอคอนของนักสิทธิในนามของทนาย
ในมุมนักเคลื่อนไหว ผมมองแกเป็นคนธรรมดาที่มีความมั่นคงในตัวเอง เชื่อและทำอย่างสุดจิตสุดใจ หลายครั้งที่ขึ้นปราศรัยก็มีนะที่เขามาถามว่า ที่เขาทำมันเสี่ยงไหม เราก็บอกว่าก่อนหน้านี้มันแค่ไม่มีคนพูดในที่สาธารณะ พูดให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เราก็ยังคุยกันว่าถ้าเอาข้อกฎหมายมาจับ สิ่งที่เราพูดมันไม่ผิดหรอก ที่แกพูดมีการศึกษา ทำข้อมูล ดูข้อกฎหมายด้วยว่าจะผิดไหม เราก็ดูกันมาตลอด มันก็สร้างปรากฎการณ์ที่มันเป็นมุมกว้าง แกก็เป็นตัวแสดงนึงที่สำคัญมากๆ หลังรัฐประหารปี 2557”
อานนท์เป็นคนร้อยเอ็ด ชอบกินซอยจุ๊ เป็นลูกหลานชาวนา ซึ่งทนายวีรนันท์ก็ยังเล่าถึงอานนท์ ในมุมอื่นๆ นอกจากการทำงานทนายว่า ตัวตนเขาเป็นคนง่ายๆ และความเป็นคนอีสานก็หล่อหลอมให้เป็นตัวตนของอานนท์ นำภาในทุกวันนี้ด้วย
“พี่อานนท์เป็นคนน่ารัก เป็นคนซื่อคนนึง ไม่มีเหลื่อมกับเพื่อน หรือน้องๆ ฉายาแกจะเรียกตัวเองว่าทนายน้อยๆ ของประชาชน ของผู้ได้รับผลกระทบ ของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่สำหรับพวกผมเรียกแกว่าเป็นพี่ใหญ่ มีปัญหาอะไรแกช่วยจัดการ
ก่อนติดคุกรอบที่แล้วที่ไปเชียงใหม่ด้วยกัน แกก็เลี้ยงข้าว ผมก็บอกว่ามันแพงอยู่นะ แต่แกก็บอกว่ามันอาจจะเป็นมื้อสุดท้ายที่เรากินแบบนี้ก็ได้ แกชอบพูดแบบนี้ แกก็เป็นคนอีสานที่ชอบอาหารอีสาน อย่างซอยจุ๊ ด้วยความที่แกเติบโตมาที่ร้อยเอ็ด ที่บ้านหวายหลึม ผมว่าแกเป็นคนบ้านๆ ง่ายๆ
ความเป็นอีสานมันหล่อหลอมความเป็นตัวตนของเขาทุกวันนี้ ด้วยความที่อีสานไม่ได้สบาย ปากกัดตีนถีบ แกก็เกิดมาในครอบครัวของชาวนา แม่ และยายทำนา พ่อขับแท็กซี่ แกหัวดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นคนแรกของหมู่บ้านที่สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ในคณะสังคมวิทยา แต่พอไปฟังเพื่อนท่องประมวลอยู่ 3-4 วัน เพื่อนจำไม่ได้ แต่เราจำได้ เลยลาออกไปเรียนรามฯ ผมว่าสิ่งที่เขาผ่าน พบพานและเจอมามันหล่อหลอมเขา
โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองปี 53 มันก็เพิ่มอุณหภูมิความเข้มข้นของการเป็นอานนท์ นำภาในทุกวันนี้ เพราะเรา ประชาชน หรือผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอดหลังปี 49 สิทธิการเรียกร้อง การแสดงความคิดเห็นถูกรัฐกดขี่ มีการปราบปรามอย่างรุนแรง นี่คดีปี 53 ที่ผมทำกับพี่อานนท์ก็ยังหลงเหลือตกมาอยู่ ผมเพิ่งไปมาวันก่อน เป็นคดีเผาศาลากลาง ที่รัฐเรียกค่าเสียหายประชาชนร้อยกว่าล้าน”
เมื่อเห็นว่าทนายอานนท์ และทนายวีรนันท์ทำคดีนึงยาวนานขนาดนี้ เราจึงถามว่าการทำคดีแบบนี้ ทำให้พวกเขาผูกพันกับตัวลูกความด้วยใช่ไหม
“ตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าใช่ ลูกความเขาเป็นชาวบ้านเลย มาศาลห่อกระติ๊บข้าวเหนียวมา ทอดหมู ทำแจ่ว เอาปลาดุกย่างมาให้กินหน้าศาล เขามีแบบนี้และคิดว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดมาให้พวกเรา ก็มีความผูกพันกัน อย่างผมไปมาล่าสุด เขาก็ถามว่าอานนท์เป็นยังไง ได้ข่าวว่าติดโควิด เขาจะให้ประกันไหม จะออกง่ายไหม เขาก็ถามทุกรอบ ฝากความคิดถึงกัน
พี่อานนท์เป็นมิตร เป็นมิตรของพวกเราและใครหลายๆ คน แม้กระทั่งคู่ขัดแย้งเองก็ยังรักเขา ในความที่เป็นทนายอานนท์ คนที่ยึดมั่นในหลักการ เวลาอยู่ที่ศาลก็อยู่คนละฝั่งแหละ คุณเป็นโจทย์ เราเป็นทนายจำเลย แต่ด้วยความที่ผมมีโอกาสได้คุย ก็สัมผัสได้ในความรักอานนท์ แม้ว่าหน้าที่การงานทำให้ต้องสู้กันไป ถ้าถอดหัวโขนออก ไม่ว่าศาลหลายจังหวัดที่ไป อย่างเชียงใหม่ หรือมุกดาหารก็จะถามถึงอานนท์ตลอด ว่าจะได้ออกไหม สุขภาพเป็นไง”
อย่างที่เล่าว่าทนายวีรนันท์เป็นคนหนึ่งที่เข้าเยี่ยมอานนท์ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งเขาก็เล่าว่าแม้อยู่ในนั้น อานนท์ก็ยังเป็นคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ เป็นห่วงการเคลื่อนไหวข้างนอก รวมถึงประเด็นข้างในเรือนจำ อย่างการระบาดของ COVID-19 ในระยะหลังด้วย
“เขาเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของตัวเอง เขาอยากเห็นสังคมที่ดีกว่า โดยปลายทางคือความเท่าเทียมในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ด้วยธงที่ชัดเจน สิ่งที่เขาทำคือวิธีการไปสู่ธง พี่อานนท์ก็มองว่าตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ คนนึงที่พยายามเปลี่ยนแปลง ผลักดันในมุมที่เขาทำได้ เขาบอกว่าระหว่างที่สปอตไลท์ส่อง เขาก็จะพูดแทนหลายๆ คน เขาต้องทำ แล้วทุกอย่างที่เขาทำมันเชื่อมโยงไปยังจุดยืนตรงนั้น แม้ขณะที่ติดคุกเขาก็สื่อสารตลอด สถานการณ์เป็นยังไง เคลื่อนไหวยังไง มีใครติดคุกไหม
“แม้กระทั่งก่อนที่ผลตรวจโควิดจะออกมา พี่อานนท์ก็บอกผมว่าหายใจไม่ออก ฝากผมว่าขอให้ส่งตัวผมไปตรวจหน่อย เพื่อความชัดเจน และเขาบอกว่าอยากให้ตรวจเรือนจำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะตอนนั้นเรือนจำยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแบบทุกวันนี้ เขาก็ฝากผมแค่นี้ เพราเขาพูดไม่ค่อยไหว พอวันต่อมาผมไปเยี่ยมไมค์ ไมค์ก็บอกสิ่งที่พี่อานนท์ฝากว่า อยากให้เรือนจำแจ้งว่าใครติดโควิดบ้าง มีมาตรการเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข หรือของกระทรวงยุติธรรมไปตรวจเชิงรุกในเรือนจำหน่อย ผมเป็นห่วงเพื่อนๆ ผู้ต้องขัง เกรงว่าจะติดโควิดกันเยอะ คือในขณะที่ตัวเองอยู่ในความลำบาก แกก็ยังมีความห่วงใย อบอ้อมอารีย์อยู่ อันนี้คือพาร์ทที่แกเป็นห่วงผู้ต้องขัง
แต่บางวันแกก็ถามว่าที่ศูนย์ทนายเป็นยังไงบ้าง คงจะเหนื่อย ขอฝากข้อความไปให้กำลังใจเพื่อนๆ ถ้าถึงเวลาผมจะออกไปช่วยเหมือนเดิม”
ทนายวีรนันท์เป็นคนหนึ่งในทีมทนายของผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งเขาบอกว่าสิทธิประกันตัวที่เรียกร้องกันนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่ใช่แค่การประกันตัว แต่ยังเป็นการประกันสิทธิในการสู้คดี ซึ่งที่ผ่านมานั้นทนายความ และผู้ต้องขังนั้นไม่สามารถสื่อสารเรื่องคดีได้อย่างเต็มที่ เพราะอยู่ในพื้นที่ควบคุม แสวงหาพยานหลักฐานก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่
“ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษา ก็ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ และต้องได้รับการพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่ พอคุณควบคุมเรา ตัวอยู่ในการควบคุมของรัฐมันก็ลำบาก พอเจอ COVID-19 ก็ลำบาก ญาติเข้าเยี่ยมลำบาก ทนายยังเยี่ยมได้อยู่ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เห็นผ่านจอ ปกติเรือนจำจะมี 2 แบบ เป็นไฟเบอร์กราซขั้น และยกหูโทรศัพท์คุยกัน เราก็แปะเอกสารตรงนั้นให้ดู ปรินท์ตัวใหญ่ๆ หน่อย แต่พอเป็นคอนเฟอร์เรนซ์มันก็จะยาก มันคุยคดีได้ไม่เต็มที่” ทนายวีรนันท์เล่า
ทั้งล่าสุดอานนท์ยังได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ของเกาหลีใต้ แต่ไม่ได้เดินทางไปรับ รวมถึงการถูกคุมขังยังทำให้ไม่มีโอกาสได้วิดีโอคอลไปที่งานด้วย ซึ่งตัวทนายวีรนันท์เองก็รู้สึกเสียดาย แต่ก็ยินดีที่สิ่งที่อานนท์ทำนั้น มีคนเห็นคุณค่า
“ความรู้สึกผมคือเสียดาย สิ่งที่พี่อานนท์ทำมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 61 ก็โดนมา 4-5 คดี พอเรียกร้องการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลชุดเดิม ก็มีการชุมนุมของคนรุ่นปัจจุบันว่าต้องการอะไรยังไง มันมีคนเห็นว่าสิ่งที่พี่อานนท์ทำมันมีคุณูปการต่อสังคม ผมคิดว่ามันใช้ว่าต่อมวลมนุษยชาติก็ได้ เพราะว่าเสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย มันเป็นสากล มันมีคนเห็นสิ่งที่เขาทำตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงปัจจุบัน และยังทำอยู่ มีคนให้คุณค่า แต่ว่าคุณค่าดังกล่าวตัวเขาเองไม่มีโอกาสได้รับ วิดีโอคอล คอนเฟอร์เรนซ์ไปคุยกับคนอื่นๆ หรือคนที่เห็นคุณค่าของเขา ผมก็เสียดาย
ก่อนหน้านี้เรามีการคุยกันว่าเดือนพฤษภา โควิดอาจจะซาลง อาจจะไปกันทั้งศูนย์ทนายไหม ถือโอกาสไปเที่ยวด้วย แต่เราก็แซวกันนะว่ารางวัลนี้อาถรรพ์ พวกที่รับรางวัลติดคุกทุกคนไม่ได้ออกมารับ ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่เราพูดเล่นกันมันก็กลายเป็นเรื่องจริง”
สุดท้ายในฐานะคนที่ร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา เราถามทนายวีรนันท์ถึงสิ่งที่เขานึกถึง และประทับใจในตัวอานนท์ ซึ่งเขาก็บอกว่าคือตั้งใจทำคดี มีความหนักแน่น และอุดมการณ์ของอานนท์
“จริงๆ ผมไม่เคยประทับใจพี่อานนท์ จากก่อนหน้านี้ตั้งแต่ม็อบ 3 สิงหาที่เราจะตัวติดกันตลอดเหมือนพี่ชาย ผมก็จะคิดว่าสิ่งที่แกทำคือเรื่องปกติ แต่ว่าพอว่ามันมีเวลาที่เราห่างกันซักพัก มาคิดแล้วมันก็มีหลายอย่างที่ผมประทับใจ ยกตัวอย่างเช่น คดีชาวบ้านแกไม่เคยทิ้ง แม้เงินไม่มีก็ช่วยเอาเงินตัวเองออก ที่มุกดาหารก็เป็นตัวอย่าง ผลคดีเรายังไม่รู้หรอก แต่ที่เราทำเพราะเขาไว้เนื้อเชื่อใจเรา ไว้วางใจเรา เราก็ทำให้ดีที่สุด ผมประทับใจสิ่งที่เขาทำ และเขามักจะทำให้ดีที่สุด
ย้อนกลับไปที่ธงอุดมการณ์ที่เขาปักชัดเจน ต้องเดินไปให้ถึงจุดนั้น วิธีการคือรู้นะจะเป็นยังไง เขาบอกก็ต้องทำ ผมยังประทับใจเรื่องความแน่วแน่ ชัดเจนว่าคิด และทำ ไม่ใช่ว่าคิดแต่ไม่ทำ แต่ว่าผลมันจะออกมาแบบที่ต้องการหรือเปล่า อย่างน้อยๆ ก็มีการเริ่มต้น คดีก็เหมือนกัน เวลาพวกเราทำ บางคดีมันอาจจะลงก็ได้ แต่เราพยายามทำให้มันลงน้อยที่สุด บางคดีมันก็ยกฟ้องก็มี
อย่างเช่น 3 สิงหา ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์ ที่แกปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์ มันคือการลงมือทำ นำเสนอออกสู่สาธารณะ อย่างน้อยที่สุดมันทำให้สิ่งที่เขาพูดเกิดข้อถกเถียงกันว่าจะพูดได้ไหม ทำได้ไหม พอผ่านการถกเถียงมา ก็ไปคุยกันต่อเรื่องเนื้อหาที่อานนท์พูด มันเป็นการจุดประกายทางด้านความคิดด้วย ผ่านการลงมือปฏิบัติ นั่นคือสิ่งที่ผมประทับใจ