24 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา ชายหนุ่มวัย 20 ปี เดินทางมาที่สถานีตำรวจตามหมายเรียกที่ระบุ 7 ข้อกล่าวหา หนึ่งในนั้นคือการทุบรถเจ้าหน้าที่ตำรวจและขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่จากวันนั้น-วันนี้ แฟรง-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หนึ่งในการ์ดมวลชนอาสา WeVO ถูกคุมขังมาก 79 วันแล้ว (ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2564) และยังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรเขาจะได้รับสิทธิในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดก่อนที่การตัดสินคดีความจะสิ้นสุด
ย้อนกลับไป 30 ตุลาคม 2563 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มวลชนเดินทางมารอรับแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ทันที่สองในสี่แกนนำที่ถูกปล่อยตัวจะได้สูดอากาศเต็มปอด รถตำรวจจากสถานีประชาชนชื่นก็มารับตัวพวกเขาเพื่อเดินทางต่อไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ประชาชื่น
มวลชนที่มารอรับพยายามเข้าไปขวางและส่วนหนึ่งทุบตีรถตำรวจด้วยนานาสิ่งของที่ตัวเองมี แต่แฟรงค์ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มาร่วมชุมนุม แต่กำลังเดินทางกลับบ้าน ได้ตัดสินใจนำรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปขวางที่หน้ารถเจ้าหน้าที่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตัดสินใจพุ่งชนรถมอเตอร์ไซค์ของเขาจนยับเยิน
มาถึงวันนี้แฟรงค์ยังคงอยู่ในเรือนจำ ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า “ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย 5 ราย (ล่าสุดจำเลยคดีนี้ 3 รายได้ประกันตัวแล้ว) ระบุจำเลยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวเกรงว่าจะไปกระทำอันตรายประการอื่น” ก่อนที่ต่อมาจะมีข่าวว่า แฟรงค์ถูกแยกขังเดี่ยวจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ในเรือนจำ และตัดสินใจอดอาหารมาร่วม 20 วันแล้ว
แฟรงค์ยังไม่สบายดี และ “โปรดอย่าลืมแฟรงค์” นั่นคือบางความรู้สึกจากเพื่อนในกลุ่ม WeVO ที่พยายามส่งสารมาถึงทุกคนในสังคม
เพื่อนผู้ร่าเริงและพึ่งพาได้
“แฟรงค์เป็นคนร่าเริง เขามักจะสร้างเสียงหัวเราะให้คนรอบข้างได้เสมอ” ฟรุ๊ต หนึ่งในเพื่อนที่ทำงานร่วมกับแฟรงค์ในกลุ่ม WeVO เล่าให้เราฟัง ก่อนกล่าวต่อว่า “ภายนอกแฟรงค์อาจเป็นคนที่เหมือนไม่ได้คิดอะไรมากมาย แต่ลึกๆ แล้วแฟรงค์ให้ความสำคัญกับคำพูดของทุกคนและใส่ใจกับมันเสมอ”
ฟรุ๊ตเล่าย้อนไปว่า เขามารู้จักกับแฟรงค์ครั้งแรกในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2463 ตอนนั้นแฟรงค์ทำหน้าที่ดูแลเวทีและเครื่องเสียงให้กับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ส่วนฟรุ๊ตอยู่ในกลุ่ม มศว.คนรุ่นเปลี่ยน เคลื่อนไหวทางการเมืองสม่ำเสมอเช่นกัน
ฟรุ๊ตเล่าถึงความประทับใจส่วนตัวระหว่างที่เขาและแฟรงค์ทำงานร่วมกันใน WeVO ว่า “แฟรงค์เป็นคนทีมีแววตามุ่งมั่นตั้งใจกับงานมาก ถึงเเม้ว่าบางครั้งเขาอาจจะผิดพลาด แต่เขาก็พยามแก้ไขมันอยู่เสมอ และพยายามรับฟังคำติชมของคนอื่นอยู่ตลอด”
แฟรงค์เป็นอดีตนักศึกษา ปวช. ที่มีความรู้เรื่องงานช่างไฟฟ้าติดตัว ทำให้แฟรงค์มักจะรับหน้าที่เป็นคนคอยต่อรถโมบายของกลุ่ม “เขามีความรู้เรื่องไฟฟ้าดีมาก เขาเลยเป็นทีมงานที่คอยดูแลเรื่องเครื่องไฟฟ้าและรับหน้าที่ต่อพวกรถโมบายที่ติดเครื่อกระจายเสียง เพราะทาง WeVO จะต่อรถกันขึ้นมาเอง ต้องมีการเชื่อมแผงไฟฟ้า อะไรต่อมิอะไร ซึ่งแฟรงค์ช่วยได้เยอะ”
“ใจถึง กล้าทำ กล้าเสี่ยง และเป็นเพื่อนที่ดีเยี่ยม การวางแผนงานภารกิจและการตัดสินใจ ได้ดี
ถึงเขาจะได้รับความอยุติธรรม แต่เขาก็ยังยืนสู้ได้ ก่อนที่จะสิ้นอิสรภาพ เขาก็เตรียมใจไว้ระดับนึงโดยบอกกับผม ว่าไม่น่ารอดแน่ ผมก็ได้แต่ให้กำลังเขามาตลอด” เพชร หนึ่งในมิตรสหายร่วมอุดมการณ์และเพื่อนสมาชิกกลุ่ม WeVO เล่าถึงแฟรงค์
เช่นเดียวกับฟรุ๊ต เพชรเริ่มมารู้จักและทำงานร่วมกับแฟรงค์ครั้งแรกในการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคม เพชรเล่าว่า “เรารู้จักกันมาตั้งแต่ม็อบ 14 ตุลาคมแล้ว ตอนนั้นแฟรงค์ยังเป็นสเตจทีมธรรมศาสตร์อยู่ เราพบปะแลกเปลี่ยนกันเรื่องม็อบ เรื่องการเมือง จนได้มาทำทำภารกิจร่วมกันตอนอยู่ใน WeVO”
มาม่า 20 ลัง โซฟาตัวประจำ และมีมประจำกลุ่มเพื่อน
“ถ้าพูดถึงวีรกรรมของแฟรงค์เลยคือ ในวันที่16 ตุลาคมที่มีการสลายการชุมชุมที่แยกปทุมวัน (ครั้งแรกที่มีการสลายชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและรถน้ำแรงดันสูง – ผู้เขียน) วีรกรรมนั้นทำให้ทุกคนใน WeVO จดจำแฟรงค์ได้ เพราะว่าเขาไปอยู่หน้าแนว และมีภาพที่แฟรงค์เข้าไปดันโล่ห์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกในสื่อ ทำให้เพื่อนๆ ใน WeVO เห็นแล้วเอามาพูดถึงและแซวกัน จนมีคนไปทำมีม ทำสติกเกอร์หน้าเขาออกมาเลย”
ทางเพชรพอนึกถึงแฟรงค์แล้วกลับพูดเชิงหยอกล้อถึงวีรกรรมของเขาว่า “มันชอบผู้หญิงคนนึงแต่ ใจไม่กล้าพอ และเมาเก่ง”
ฟรุ๊ตเล่าให้ฟังต่อว่า ปกติกลุ่ม WeVO จะมีบ้านหลังหนึ่งเป็นที่รวมตัวกัน และภายในบ้านจะมีโซฟาตัวหนึ่งที่เป็นที่ประจำของแฟรงค์ โดยเขาจะมานอนอยู่ตรงนี้ประจำ เล่นโทรศัพท์บ้าง งีบหลับบ้าง และทุกคืน ถ้าลองเงี่ยหูฟังสักนิดจะได้ยินเสียงกาน้ำร้อน และสูดเส้นมาม่าของแฟรงค์
“ในบ้านที่เราอยู่ด้วยกัน แฟรงค์เขาจะมีโซฟาประจำของเขา และใครที่จะมานอนไม่ได้เลย เขาจะแย่งคืนมาทุกครั้ง และดึกๆ เนี่ยถ้าใครยังไม่นอนจะได้ยินเสียงสูดมาม่าของแฟรงค์ตลอด”
“เขาบอกว่าถ้าเขาได้ออกมาเนี่ย เตรียมมาม่าให้เขาด้วย 20 ลัง ทำให้ตอนนี้พวกเราก็เตรียมการกันจริงจังไปเลย” ฟรุ๊ตพูดถึงตรงนี้แล้วหัวเราะ
ฟรุ๊ตเล่าต่อถึงวันที่ 11 พฤษภาคมครั้งล่าสุดที่ทนายความเข้าไปเยี่ยมแฟรงค์มาว่า “รอบล่าสุดที่ทนายเข้าไป แฟรงค์ก็ฝากข้อความมาให้”
เมื่อเราอ่านข้อความแล้วมีบางส่วนที่เขียนถึงความคิดถึงเพื่อนและโลกภายนอก ทำให้เราถามฟรุ๊ตถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำของแฟรงค์ เขามีเพื่อนบ้างหรือเปล่า ?
“ได้ข่าวว่าแฟรงค์เป็นหัวโจกเลย (หัวเราะ) เห็นบอกว่าเขาคุมห้องสมุดอยู่ เพราะอยู่ข้างในไม่มีอะไรทำอะเนอะ ก็ต้องอ่านหนังสือ นี่ล่าสุดทนายฝากมาว่าแฟรงค์อยากอ่านหนังสือของ เนลสัน แมนเดลลา (อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกคุมขังจากคดีการเมืองของประเทศแอฟริกาใต้ – ผู้เขียน) ผมก็เลยฝากทนายไปแล้ว หวังว่าเขาจะได้อ่านนะ”
“ทุกคนรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปเหมือนกันนะ ยิ่งผมนี่เหมือนขาดดูโอ้ไปเลย และทุกคนใน WeVO ก็พยายามส่งข้อความหาแฟรงค์ทุกครั้งที่มีโอกาส บอกว่าคิดถึงเสมอ รอแฟรงค์มากินมาม่า 20 ลังอยู่เนี่ย โซฟาก็รอเขาอยู่ หักแล้วหักอีก ซ่อมแล้วซ่อมอีก” ฟรุ๊ตเล่าถึงความรู้สึกภายในบ้านของ WeVO เวลานี้
ช่วยกันติดตาม อย่าลืมแฟรงค์
บทสัมภาษณ์ที่ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับ ยายและแม่ของแฟรงค์ถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีข้อความตอนหนึ่งจากยายว่า “รู้สึกท้อและหมดหวัง ไม่รู้ว่าหลานจะได้ออกมาไหม ก็ได้แต่หวังว่าทนายจะช่วยหลานเราให้ออกมาได้”
ขณะที่ทางด้านของฟรุ๊ตก็อยากฝากบางอย่างถึงสังคมเหมือนกัน เพราะแฟรงค์อยู่ในที่ๆ แสงส่องไม่ถึง จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้กระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนไม่ถูกกดดัน
“อยากให้ทุกคนช่วยเป็นเสียงให้ทุกคนที่อยู่ข้างใน เพราะมีหลายคนที่ไม่ควรถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เขาควรมีสิทธิออกมาต่อสู้คดี ก็อยากให้ทุกคนเป็นกำลังใจและคอยส่งเสียงให้คนที่อยู่ข้างในด้วย”
ขณะที่ทางด้านเพชรก็กล่าวเช่นกันว่า “เป็นห่วงมันมาก มันอดอาหารมา 20 วันแล้ว ดูลักษณะตอนนี้ถ้าออกมาคงผอมแห้งกว่าเดิม”
“เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเรายังออกมาไม่หมดนะครับอย่าทิ้งพวกเขา” ม่อน เพื่อนจาก WeVO ที่นั่งเงียบมานาน เข้ามาเสริมตอนท้ายของบทสนทนา
และแม่ของแฟรงค์ได้เคยกล่าวไว้ในบทสนทนากับศูนย์ทนายความเพื่อนสิทธิมนุษยชนถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ว่า “ถ้ามันมี [ความยุติธรรม] ลูกแม่คงได้ออกมาแล้ว”
ติดตามซีรีส์ ‘Never Forgotten ไม่ลืมเพื่อนเรา’ ได้ที่ The MATTER ซีรีส์ที่จะให้เพื่อนๆ ครอบครัว และคนรอบตัว มาเล่า และพูดถึงผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ยังอยู่ในเรือนจำในมุมต่างๆ เพื่อที่คนข้างนอกจะได้ไม่ลืมว่า ยังมีคนถูกคุมขังโดยที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
FACT BOX:
ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประชาชื่นแจ้งข้อหาเขาจากความผิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ทั้งหมด 7 ข้อหา อาทิ มั่วสุมเกิน 10 คนขึ้นไป, ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ทำให้เกิดความวุ่นวายในเมือง, ขัดขวางและใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่, พยายามชิงตัวผู้ต้องหาอและชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย