ช่วงค่ำๆ ถ้าเราเปิดทีวี เราก็มักจะเจอกับการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลอย่างเข้มข้นในกรณีการเสียชีวิตปริศนาของน้องชมพู่ จากการเสียชีวิตและการติดตามยาวนานร่วมสองเดือน ผู้ชมได้ค่อยๆ รับข้อมูล รับ ‘ปากคำ’ ของชาวบ้าน ของผู้ที่อาจเกี่ยวข้องในหมู่บ้านเล็กๆ ของน้องชมพู่ ได้อ่านภาษา ท่าที และใช้ตรรกะของตัวเองค่อยๆ ซึมซับ ตีความ และร่วม ‘ไขคดี’ ว่าหนึ่งในชาวบ้านที่ปรากฏตัวให้ปากคำกับสื่ออยู่นี้แหละ หนึ่งหรือหลายคนในจำนวนนี้อาจเป็นคนร้ายอยู่ก็ได้
สิ่งที่รายการทำ หรือนาฏกรรมที่เรากำลังรับชมในนามของการนำเสนอข่าวนี้ จึงเหมือนกับการชมหนังฆาตกรรมแบบคลาสสิกซักเรื่องหนึ่งที่เรื่องราวอันแปลกประหลาดขึ้นนั้นเปิดโอกาสให้เรา ผู้ชม หรือผู้อ่าน ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ กระทั่งได้ร่วมไขปริศนาตามหาคนร้ายด้วย แน่นอนว่าการตายของเด็กสาวนั้นเป็นโศกนาฏกรรม แต่ด้วยวิธิการเล่าเรื่องแบบ ‘นวนิยายสืบสวนสอบสวน’ นั้นก็ดูจะเป็นภาษาและวิธีเล่าที่พยายามดึงผู้ชมเข้าสู่ความตายนั้น ในด้านหนึ่งให้มหรสพและความตื่นเต้นในการตรรกะความคิดเพื่อร่วมหาคนร้าย
นวนิยายแนวสืบสวน (detective fiction) เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเฟื่องฟูจนกลายเป็นประเภทนวนิยายที่แสนจะฮ็อตฮิต เกิดนักเขียนระดับตำนานเช่นเซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) หรืออกาธา คริสตี (Agatha Christie) เรื่อยมาจนกลายมาเป็นหนัง เป็นอนิเมะเกิดเป็นประโยค ‘คนร้ายอยู่ในหมู่พวกเรานี่แหละ’ ของนักสืบจิ๋วโคนัน งานแนวสืบสวนนี้ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ การก่อตัวขึ้นของเมืองใหญ่ที่เราถูกรายล้อมไปด้วยคนแปลกหน้า งานแนวนี้บอกกับเราว่า ในโลกที่ความอยุติธรรมบิดเบี้ยว เรายังมีนักสืบที่จะใช้ตรรกะเพื่อตามหาคนร้ายและรักษาระเบียบองสังคมได้ต่อไป แต่กระนั่นเองก็ตาม เราเองอาจเผลอใช้วิธีของเรื่องเล่า บันเทิงคดีมาใช้ในชีวิตจริง จนในที่สุดแล้วเราอาจลืมไปว่า นาฏกรรมที่เรากำลังสนุกกับไขคดีอยู่นั้น คือดินแดนของโลกความจริงที่มีเจ็บ คนตาย ผู้เสียหายที่ก็มีลมหายใจหรือสิ้นลมหายใจไปแล้ว
whodunit ขนบของนิยายกับการหาค้นร้ายด้วยการสืบสวน
ลักษณะรวมถึง ‘ความสนุก’ ของงานแนวสืบสวน ก็คือการสืบสวนนี่แหละ ซึ่งงานสืบสวนที่ฮ็อตๆ ก็มาจากงานสืบสวนในยุคที่เรียกว่าเป็นงานสืบสวนในยุคทอง อันเป็นกระแสในอังกฤษทั้งจากเชอร์ล็อค โฮล์มส์ จะคุณอกาธ่า คริสตี้ราชินีแห่งงานฆาตกรรม ตัวเรื่องการสืบสวนนั้นมักจะเริ่มที่การเกิดฆาตกรรม หรือคดีปริศนาขึ้น มักเกิดในที่เฉพาะ และทำให้เกิด ‘กลุ่มผู้ต้องสงสัย’ ขึ้น หน้าที่ของนักสืบและการสืบสวนก็คือ การค่อยๆ ตีความ ใช้ตรรกะ ความคิดวิทยาอะไรทั้งหลายของตัวเองในการ ‘อ่านคนร้าย’ จากเหล่าผู้ต้องสงสัยที่ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่นั้นๆ งานแนวนี้เรียกว่างานสืบสวนแนว whodunit คือตลอดเรื่องเป็นการหาว่าใครเป็นคนทำเรื่องนี้ขึ้นมา
งานสืบสวนแนว whodunit เรียกได้ว่าแนวของงานประเภทสืบสวนที่เป็นที่นิยมมากที่สุด และถือว่ายังไม่ตายมาจนถึงยุคปัจจุบันที่ก็ยังมีงานสืบสวนแนวนี้อยู่ ซึ่งในตอนนั้นงานแนวนี้ถูกเรียกว่าเป็น armchair detective คือตัวเรื่องมันจะว่าด้วยการใช้ความคิด ตรรกะในการไขความจริง ตัวนักสืบจะเหมือนนักสูบไปป์แล้วใช้ความปราดเปรื่องไขปัญหาให้ชมเป็นขวัญตา ซึ่งยุคต่อมาโดยเฉพาะนักเขียนทางอเมริกาก็บอกว่านักสืบและโลกแห่งการฆาตกรรมมันไม่ใช่แบบนี้ มันเต็มไปด้วยความรุนแรง เรื่องของตำรวจ นักสืบ มาเฟีย ก็เลยเกิดงาน hard boil ขึ้น
ทีนี้คอนเซ็ปต์งานสืบแบบ whodunit นี้ก็มีบรรณาธิการ นักเขียน นักวิชาการที่นิยามประเภทงานนี้ขึ้น ใน The Poetics of Prose ของ Tzvetan Todorov อธิบายว่างานประเภท whodunit ประกอบไปด้วยเรื่อง 2 ชุดที่ซ้อนกันอยู่ ซึ่งทั้งสองเรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวกันซะทีเดียว เรื่องแรกคือตัวคดี หรือการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกเรื่องคือกระบวนการไขคดีของนักสืบ จริงๆ การซ้อนกันของเรื่องสองเรื่อง และวิธีการนำผู้อ่านไปสู่เรื่องเล่านั้นค่อนข้างซับซ้อนอยู่ เช่นการเล่าเรื่องชุดที่สองมักจะเล่าผ่านตัวละครอื่น เช่นผู้ช่วยนักสืบ เป็นการนำผู้อ่านเข้าสังเกตการณ์กับการฆาตกรรม และสนุกไปกับการใช้ความคิดร่วมไปกับสืบสวนนั้นๆ ไปพร้อมกับสายตาของผู้ช่วย
สำหรับแนว whodunit นั้นมักจะผายมือไปที่คุณแม่คริสตี้ ซึ่งน่าสนใจมากว่าในยุคทองของนวนิยายสืบสวนประกอบด้วยนักเขียนหญิงจำนวนมาก งานสำคัญๆ ก็เช่น Murder on the Orient Express ซึ่งก็เป็นการฆาตกรรมบนรถไฟ แล้วก็เกิดกลุ่มผู้ต้องสงสัยขึ้น ทำนองเดียวกันในโคนันอะไรพวกนี้ก็มักจะเกิดฆาตกรรมในพื้นที่เฉพาะ ในโรงแรม ในงานเลี้ยง ที่สถานที่ปิดตาย และในการไขคดี ตัวละครนักสืบมักจะมีความแปลกประหลาดผิดกับคนทั่วๆ ไป เช่นโฮล์มเองก็ประหลาด ดูดยาบ้างบางครั้ง ปัวโรก็เป็นนักสืบหัวล้านตัวเตี้ยท่าทางพิลึกๆ หรือโคนันก็เป็นเด็กที่โดนยาพิษ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงลักษณะพิเศษของตัวละครนักสืบ
นัยของ ‘ความจริง’ ในงานแนวสืบสวน
งานแนวสืบสวนเกิดขึ้นในช่วงสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับเมือง ที่ยุคนั้นเราเริ่มเกิดเมืองใหญ่ขึ้น จากสังคมเกษตรกรรม จากชุมชนเล็กๆ ทีนี้เรารายล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่เราเห็นหน้าค่าตาก็จริง แต่ไม่รู้จัก ไม่รู้ใจ เมืองใหญ่เป็นพื้นที่ของอาชญากรรมทั้งที่เปิดเผย และปิดเงียบอย่างแปลกประหลาด เราเองเกิดความวิตกกังวลว่าห้องถัดไปของเรา คนที่เดินผ่านไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มนั้นอาจจะมีมือที่เปื้อนเลือดอยู่ก็ได้
ดังนั้น ตัวละครละครนักสืบอันแปลกประหลาดนั้น ก็เลยเป็นเหมือนอีกหนึ่งเครื่องมือของความรู้เป็นโลกสมัยใหม่ที่บอกเราว่า ด้วยพลังของหลักตรรกะและวิทยาการวิทยาศาสตร์แบบสมัยใหม่นั้น สามารถอ่านและคลี่คลายเผยโฉมของผู้กระทำผิดได้และนำเอาระบบระเบียบต่างๆ กลับไปสู่ในรูปในรอยได้ในท้ายที่สุด และอาจด้วยความสามารถของนักเขียน การตอบความกังวลของเรา และเทคนิคที่ทำให้เรากลายเป็นนักสืบไปด้วย งานแนวสืบสวนเลยกลายเป็นงานอมตะ ที่ทำให้เราต้องหยุดนั่งดูและร่วมขบคิด รับบทนักสืบและร่วมสนุกไปกับการหาความจริงที่เราเชื่อว่าจะสามารถนำความยุติธรรมกลับมาได้
ด้านหนึ่งของงานแนว whodunit ก็คือ มันเป็นเรื่องการบริหารสมองล้วนๆ พูดง่ายๆ คือมันแทบไม่ได้ว่าการฆาตกรรม หรืออะไรอย่างจริงจังเลย ตัวละครนักสืบเข้าไปกระทำการไขคดี ด้วยการที่ไปสอบสวนคนนั้นคนนี้ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เสี่ยงที่จะกลายเป็นร่างไร้วิญญาณรายต่อไป ข้อหาจะเปิดปงคนร้ายแสนอำมหิตนั้นได้ ในงานยุคต่อมาก็เลยเริ่มมีทั้งนักสืบที่จะซวยด้วย ไปจนถึงผู้เล่าเรื่องที่เราอาจจะเชื่อไม่ได้ หรือกระทั่งตอนจบสุดท้ายที่ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว หรืออาจไม่มีและไม่เคยมีอยู่จริงด้วยซ้ำ
มีคำนิยามสังคมร่วมสมัยว่าเป็นสังคมแห่งนาฏกรรม (spectacle society) โลกหลังสมัยใหม่เป็นโลกที่ความจริงและความลวงปนเปเข้าหากัน รวมถึงในบางครั้งวิธีการของโลกแห่งความลวง ดินแดนแห่งหนังและวรรณกรรมก็เข้ามาทาบทับโลกแห่งความจริง ความหลงใหลเรื่องการไขคดีจึงอาจสัมพันธ์กับงานเขียนแนวสืบสวน ประเภทวรรณกรรมที่บอกเราว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งความจริงสามารถเปิดเผยได้ด้วยตรรกะและการสืบสวน ด้านหนึ่งนั้นเราก็อาจจะเพียงอยากให้ความจริงถูกเปิดเผย อยากกระชากหน้ากากคนร้าย และทำให้บ้านเมืองกลับมาสุขสงบอีกครั้ง
แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องอย่าลืมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการฆ่า และการแสดงความสามารถของตัวละครสมมุติที่เกิดขึ้นหน้ากระดาษ หรือบนหน้าจอ ที่แม้ว่าเราจะเสพมันผ่านจอเดียวกับที่เราชมภาพยนตร์อยู่นั้น การฆาตกรรมที่เราเห็นนั้นมีความตาย การสูญเสีย ผู้ต้องถูกสงสัยที่มีชื่อมีเลือดเนื้อจริง เรื่องราวที่ดูเป็นนาฏกรรมเหล่าจริงๆ ก็อาจจะไม่บันเทิงเท่าไหร่ ในสายตา หรือสถานการณ์ของผู้เกี่ยวข้องและผู้อยู่ในเหตุการณ์
อ้างอิงข้อมูลจาก