สงครามที่ยังคงดำเนินต่อไป
เลือกตั้ง เลือกตั้ง และเลือกตั้ง
กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่หลายคนรอคอย
ปีใหม่นี้ การเมืองโลกจะเป็นยังไงบ้าง?
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั่วโลก The MATTER สรุปสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดรอบปี 2024 มาให้ได้อ่านกัน
อเมริกาเหนือ
สหรัฐฯ
นี่คงเป็นไฮไลต์ที่สำคัญมากๆ สำหรับคนที่ติดตามการเมืองโลก เพราะในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ที่จะถึงนี้ ประชาชนชาวสหรัฐฯ จะมุ่งหน้าสู่คูหาเลือกตั้ง เพื่อกากบาทโหวตเลือกประธานาธิบดีของพวกเขา
คำถามคือ ปีนี้เราจะได้เห็ฯการกลับมาประชันกันระหว่าง อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจ ไบเดน (Joe Biden) หรือไม่?
กว่าเราจะได้รู้ว่าแคนดิเดตประธานาธิบดีของทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตเป็นใคร ก็ต้องรอประกาศในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน (2024 Republican National Convention) ซึ่งจะจัดขึ้นที่มิลวอกี รัฐวิสคอนซิน วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2024 และการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต (2024 Democratic National Convention) ที่ชิคาโก วันที่ 19-22 สิงหาคม 2024
สำหรับไบเดน มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้กลับมาเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ส่วนฝั่งรีพับลิกัน ผลสำรวจจาก The New York Times/Siena College เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็พบว่า ทรัมป์มีคะแนนนำสูงมาก (64%) ในหมู่ของแคนดิเดตพรรครีพับลิกันด้วยกัน
หรือแม้หากเทียบไบเดนกับทรัมป์เอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแบบสำรวจดังกล่าวก็ยังจะเลือกทรัมป์ (46%) มากกว่าไบเดน (44%)
แต่เส้นทางของทรัมป์ก็ยังดูไม่ชัดเจนนัก เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลสูงสุดรัฐโคโลราโด (Colorado Supreme Court) เพิ่งมีคำตัดสิน ห้ามทรัมป์ลงสมัครรับเลือกตั้งไพรมารีโหวตของพรรครีพับลิกันในรัฐโคโลราโด เหตุเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021
คำตัดสินนี้อาจเป็นแนวทางให้ศาลในรัฐอื่นๆ ตัดสินในทำนองเดียวกัน แต่สำหรับคดีนี้ ทรัมป์สามารถขอให้ศาลสูงสุดสหรัฐฯ (Supreme Court) วินิจฉัยต่อไปได้ ซึ่งก็คาดการณ์กันว่า ศาลสูงสุดจะตัดสินในทางที่เป็นประโยชน์กับทรัมป์มากกว่า เพราะจากผู้พิพากษาทั้งหมด 9 คน มี 6 คนที่เป็นผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษนิยม (และมีถึง 3 คนที่ทรัมป์แต่งตั้งมาเอง ช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี)
สหประชาชาติ (UN)
อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองในอเมริกาเหนือโดยตรง แต่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ นอกเหนือจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปี 2024 นี้ สหประชาชาติ (UN) จะยังจัดการประชุมรอบพิเศษ ที่เรียกว่า Summit of the Future หรือเวทีแห่งอนาคต ด้วย
Summit of the Future จะมีขึ้นในวันที่ 22-23 กันยายน 2024 เป็นการประชุมแบบพหุภาคีระหว่างผู้นำโลก เพื่อยืนยันถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และเป็นเวทีในการแสวงหาฉันทามติร่วมกัน ว่าจะแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับความท้าทายของโลกในอนาคตอย่างไร
ยุโรป
สหราชอาณาจักร
เพื่อให้รัฐสภาของสหราชอาณาจักรมีอายุสมัยละไม่เกิน 5 ปี ตามกฎหมายการยุบสภา รัฐสภาชุดปัจจุบันจะต้องถูกยุบภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2024 และจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 25 วันถัดไป (ไม่นับวันหยุดราชการ เช่น คริสต์มาส หรือวันปีใหม่) ซึ่งก็จะเป็นวันที่ 28 มกราคม 2025 ยกเว้นจะมีการยุบสภาก่อน
ซึ่ง ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) นายกฯ สหราชอาณาจักร ก็ออกมายืนยันแล้วว่า ยังไงการเลือกตั้งทั่วไปก็จะมีขึ้นในปี 2024 นี้แน่นอน ไม่รอถึงปี 2025 โดยว่ากันว่าอาจจะจัดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-ธันวาคม) แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะจัดเร็วขึ้น คือในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-มิถุนายน)
การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร จะเป็นการโหวตเพื่อเลือกผู้แทนในสภาสามัญชน (House of Commons) จำนวน 650 ที่นั่ง เพื่อหาพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับเก้าอี้นายกฯ ในปีนี้คาดว่าจะเป็นการประชันกันระหว่าง ซูนัค จากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) จากพรรคแรงงาน (Labour Party)
รัสเซีย
และเช่นเดียวกัน ทางฝั่งรัสเซียก็กำหนดให้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 17 มีนาคม 2024 ที่จะถึงนี้
สำหรับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ที่เพิ่งดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญไปเมื่อปี 2020 ให้ตัวเองดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 2 วาระ แน่นอนว่าก็ต้องประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งต่ออยู่แล้ว โดยลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระ ซึ่งในรอบนี้จะเป็นสมัยที่ 5 ของเขา
ประธานาธิบดีรัสเซียจะนั่งเก้าอี้ได้วาระละ 6 ปี นั่นแปลว่า ถ้าปูตินอยู่ต่ออีก 2 สมัย เขาจะอยู่ยาวๆ ถึงปี 2036 เลยทีเดียว เบ็ดเสร็จแล้วเขาจะเป็นประธานาธิบดียาวนานถึง 32 ปี (ตั้งแต่ปี 2000-2008 และ 2012-2036) ไม่นับช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีก
ซึ่งพล็อตเรื่องก็ดูเหมือนจะปูทางไปเช่นนั้น เพราะฝ่ายค้านที่อาจจะลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับปูตินได้ ถ้าไม่อยู่ต่างประเทศก็อยู่ในคุก
สหภาพยุโรป (EU)
ในยุโรป จะยังมีการเลือกตั้งอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ด้วย
การเลือกตั้งของรัฐสภายุโรปมีขึ้นทุกๆ 5 ปี รอบถัดไปที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2024 เพื่อให้ประชาชนจากประเทศสมาชิก EU ทั้งหมด 27 ประเทศ เลือกสมาชิกเข้าไปเป็นผู้แทนจำนวน 720 ที่นั่ง
ฝรั่งเศส
เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายต่อหลายคนรอคอย นั่นก็คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympics) ที่จะกลับมาอีกครั้งระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2024 โดยมีกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเมืองเจ้าภาพหลัก
ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายของการเมืองฝรั่งเศสที่จะต้องมาร่วมมือร่วมใจกันทำให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่น ท่ามกลางความเห็นต่างทางความคิด โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่
กีฬาโอลิมปิกจะยังสะท้อนการเมืองโลกในวงกว้างด้วย เรื่องหนึ่งที่ต้องจับตาคือ นักกีฬาสัญชาติรัสเซียและเบลารุส จะสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ไหม และถ้าได้ จะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
NATO
ทางด้านการทหาร องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation หรือ NATO) ประกาศซ้อมรบในยุโรป ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่จะถึงนี้ เรียกว่าการซ้อมรบ Steadfast Defender และจะเป็นการซ้อมรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็นเลยทีเดียว
การซ้อมรบครั้งนี้ จะใช้กำลังพลถึงราวๆ 41,000 นาย จัดขึ้นที่เยอรมนี โปแลนด์ และกลุ่มรัฐบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย) และมีตัวกระตุ้นมาจากการบุกยูเครนโดยรัสเซียโดยตรง (ในการซ้อมรบครั้งนี้ จะใช้รัสเซียเป็นโมเดล ในชื่อสมมติว่า ออคคาซัส [Occasus])
ยูเครน
จากความเคลื่อนไหวของ NATO เราจึงอยากชวนกลับมานึกถึงสงครามในยูเครน ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่จะครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า สงครามครั้งนี้ถึงทางตัน (stalemate) แล้วหรือยัง?
ตะวันออกกลาง & แอฟริกา
อิสราเอล
นอกจากจะต้องจับตาว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ฮามาสเป็นฝ่ายบุกโจมตีตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา จะสิ้นสุดลงภายในปี 2024 นี้หรือไม่ สงครามดังกล่าวก็ยังนำมาสู่ประเด็นข้างเคียงที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองโลกในปีนี้ด้วย
แม้จะวิเคราะห์กันว่า ฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) พรรคการเมืองและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์ในเลบานอน จะพยายามจำกัดการโต้ตอบทางการทหารกับอิสราเอลให้อยู่ในวงแคบๆ แต่คำถามที่น่าถามต่อไปในปีนี้ก็คือ นอกจากฮามาสแล้ว การทำสงครามของอิสราเอลกับฮิซบุลลอฮ์จะเป็นไปได้แค่ไหน
นอกจากนี้ สงครามครั้งนี้ยังนำมาสู่กระแสต่อต้านชาวยิว (antisemitism) ที่ถูกกระพือออกไป ขณะเดียวกัน ก็นำมาสู่การส่งเสียงสนับสนุนปาเลสไตน์ในฝ่ายซ้ายทั่วโลก ความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของปาเลสไตน์จะส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก ซึ่งหมายรวมถึงการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ซูดาน
เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า ซูดานกำลังเผชิญสงครามการสู้รบที่รุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรม เพราะไม่ได้ถูกกล่าวถึงในหน้าสื่อมากนัก จนสงครามครั้งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สงครามที่ถูกลืม’ (forgotten war)
สงครามในซูดานระลอกล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces หรือ SAF) และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces) ซึ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2021
สงครามครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ก่อนหน้านี้ เคยมีการเจรจาหยุดยิงกันจนออกมาเป็นสนธิสัญญาเจดดาห์ (Treaty of Jeddah) ที่ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2023 แต่เพียงไม่กี่วัน การสู้รบก็กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง และดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
แอฟริกาใต้
เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2024 นี้ ต้องมาจับตากันต่อไปว่า พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress หรือ ANC) ที่เคยส่ง เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ขึ้นเป็นประธานาธิบดี จะทำให้ ไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัยได้หรือเปล่า
นอกจากแอฟริกาใต้ ยังมีอีกหลายประเทศจำนวนมากในทวีปแอฟริกา ที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ เช่น แอลจีเรีย, บอตสวานา, ชาด, กานา, มาลี, มอริเตเนีย, มอริเชียส, โมซัมบิก, นามิเบีย, รวันดา, เซเนกัล, โซมาลีแลนด์, ซูดานใต้, โตโก และตูนีเซีย
ลาตินอเมริกา
เม็กซิโก
วันที่ 2 มิถุนายน 2024 นี้ เม็กซิโกจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่ประชาชนจะได้เลือกตั้งประธานาธิบดี (ซึ่งจะดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี) ผู้แทนทั้ง 2 สภา จำนวน 628 คน และตำแหน่งท้องถิ่นอื่นๆ อีกจำนวนมาก
นี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกเลยทีเดียว เพราะคาดว่าจะได้ประธานาธิบดีหญิงคนแรกมาดำรงตำแหน่ง จากการที่ 2 พรรคใหญ่ส่งแคนดิเดตผู้หญิงลงสมัคร
นั่นคือ คลอเดีย เชนบาม (Claudia Sheinbaum) จากพรรคฝ่ายซ้าย MORENA และ โซชิตล์ กัลเบซ (Xóchitl Gálvez) จากพรรคอนุรักษนิยม PAN
อาร์เจนตินา
ส่วนอาร์เจนตินา เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา นั่นคือ ฆาเบียร์ มิเล (Javier Milei) ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และเป็นที่น่าจับตาต่อไป โดยเฉพาะทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ
‘โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งอาร์เจนตินา’ คือฉายาของมิเล นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ขวาจัด ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักทุนนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-capitalist) เชื่อในการลดบทบาทของรัฐบาลให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการตัดลดงบประมาณโครงการรัฐ และให้ตลาดดำเนินการอย่างอิสระ
เปรู
APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประกอบไปด้วย 21 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีไทยเป็นส่วนหนึ่งด้วย ทุกๆ ปี สมาชิก APEC จะจัดการประชุมร่วมกัน โดยสิ้นสุดที่สัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC (APEC Economic Leaders’ Week หรือ AELW) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ในปี 2024 นี้ เปรูจะรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC
น่าติดตามกันว่า ปีนี้ ประเด็นอะไรจะขึ้นมามีความสำคัญในกรอบ APEC หลังจากที่ไทยในฐานะเจ้าภาพปี 2022 นำเสนอเอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ (Bangkok Goals) ว่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้รับการสานต่อมาในปี 2023 ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ ที่ซานฟรานซิสโก ก่อนจะส่งต่อให้เปรูในปีนี้
เอเชีย-แปซิฟิก
ไต้หวัน
ทั้ง โจเซฟ หวู่ (Joseph Wu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน และ วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้อำนวยการ CIA ต่างก็เตือนว่า จีนแผ่นดินใหญ่อาจจะเตรียมบุกไต้หวันภายในปี 2027 ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบกับความสัมพันธ์ของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องสงสัย
เราอาจจะได้เห็นทิศทางความเป็นไปของเรื่องนี้ในอีกไม่นาน เพราะในวันที่ 13 มกราคม 2024 ที่จะถึงนี้ ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จะหมดวาระลง – ใครจะชนะการเลือกตั้ง แน่นอนว่าส่งผลต่อนโยบายต่อจีนของไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แคนดิเดตในรอบนี้ ประกอบไปด้วย
- วิลเลียม ไล (William Lai) จากพรรค DPP ที่มีแนวโน้มสนับสนุนเอกราชไต้หวัน
- โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มีจุดยืนประนีประนอมกับจีน
- เคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) อีกทางเลือก จากพรรค TPP ที่บอกว่า ยังไม่ต้องมองไปถึงเรื่องเอกราชหรือการรวมประเทศกับจีน แต่ตอนนี้ต้องเน้นเรื่องการสื่อสารกันมากกว่า
อินเดีย
มาถึงการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะหลังจากที่จำนวนประชากรของอินเดียแซงหน้าจีนเมื่อช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา โดยในปี 2024 นี้ อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป คาดว่าในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาล่าง ที่เรียกว่า โลกสภา (Lok Sabha)
เมื่อช่วงกลางปี 2023 ที่ผ่านมา พรรคการเมือง 28 พรรค นำโดยพรรคฝ่ายค้านหลัก คือ พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) เพิ่งประกาศรวมตัวกันในชื่อ Indian National Developmental Inclusive Alliance หรือตัวย่อที่ย่อมาได้อย่างเหมาะเจาะว่า I.N.D.I.A. เพื่อเอาชนะพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party หรือ BJP)
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ชี้ว่า พรรค BJP น่าจะยังครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อยู่ดี นำมาสู่การตอบคำถามสำคัญที่ว่า นายกฯ คนปัจจุบัน อย่าง นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ซึ่งเป็นนักการเมืองจากพรรค BJP จะได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยหรือไม่
อินโดนีเซีย
มาสู่ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกกันบ้าง อินโดนีเซียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันวาเลนไทน์ – 14 กุมภาพันธ์ 2024 – ที่ว่ากันว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จัดขึ้นภายในวันเดียว โดยมีโหวตเตอร์มากกว่า 200 ล้านคน ที่มีสิทธิเลือกตั้ง
ในปีนี้ โจโก วีโดโด (Joko Widodo) หรือ โจโควี (Jokowi) จะหมดวาระลงในฐานะประธานาธิบดี ต้องรอดูกันในเดือนกุมภาพันธ์ต่อไปว่าใครจะได้มาสืบทอดตำแหน่งนี้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของรัฐบาลอินโดนีเซียในปีนี้ ก็คือการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ไปสู่เมืองแห่งใหม่ใจกลางธรรมชาติบนเกาะบอร์เนียว ที่ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘นูซันตารา’ (Nusantara) และมีกำหนดการยกสถานะเป็นเมืองหลวงในวันที่ 17 สิงหาคม 2024 – วันครบรอบการประกาศอิสรภาพอินโดนีเซีย
อาเซอร์ไบจาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนในการเมืองโลก และเวทีหลักที่นานาชาติใช้พูดคุยเรื่องนี้กันในแต่ละปีก็คือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Climate Change Conference) หรือที่เรียกว่า COP
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เพิ่งยืนยันว่า ปี 2023 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกในประวัติศาสตร์ เรื่องนี้ก็จะเป็นความท้าทายด้านภูมิอากาศที่จะต้องหารือกันต่อไป ซึ่งเวที COP29 ในปีนี้ จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยมีอาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพ
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ การมีข้อตกลงเรื่องการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ (transitioning away) จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เพิ่งเป็นข้อสรุปของการประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ชวนกันจับตาว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะมีความคืบหน้าแค่ไหน หรือหารืออะไรเพิ่มเติมบ้าง
ลาว
เข้าสู่ปี 2024 ลาวก็รับไม้ต่อเป็นประธาน ASEAN ของปีนี้ต่อจากอินโดนีเซีย เป็นปีที่ 3 สำหรับลาว ต่อจากปี 2004 และ 2016 ซึ่งสำหรับปี 2024 นี้ จากที่เล่ามาทั้งหมด ก็ต้องถือว่าเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งกับลาวและ ASEAN
สอนไซ สีพันดอน (Sonexay Siphandone) นายกฯ ลาว กล่าวในการรับช่วงต่อเป็นประธาน ASEAN เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2023 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ลาวจะมุ่งหน้าผลักดันใน 3 เรื่องหลักๆ คือ
- ส่งเสริมความร่วมมือของ ASEAN
- ส่งเสริมความเชื่อมโยง (connectivity) และ
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชน ในเรื่องภูมิอากาศและสุขภาพ
แต่คำถามสำคัญในภูมิภาคนี้คือ การเป็นประธาน ASEAN ของลาว จะส่งผลต่อท่าทีของ ASEAN ในเรื่องวิกฤตเมียนมา ซึ่งยังคงยึดถือฉันทามติ 5 ข้อ (five-point consensus) ซึ่งถูกตั้งคำถามว่ายังไม่ประสบความสำเร็จต่อการคลี่คลายความขัดแย้งในเมียนมา มากน้อยขนาดไหน
แน่นอนว่า ท่าทีของ ASEAN จะต้องส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
นี่ขนาดยังไม่รวมเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ ก็พอจะพูดได้ว่า การเมืองโลกในปี 2024 นี้ น่าตื่นเต้นมากทีเดียว