แต่ไหนแต่ไร คำว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ มักถูกนิยามผ่านความสัมพันธ์ของ ‘พ่อ (ชาย) แม่ (หญิง) และลูก’ หากใครแตกต่างออกไป มากบ้าง-น้อยบ้างอาจรู้สึกเคว้ง ขาด พร่อง หรือบ้างก็กลายเป็นปมในใจ
แต่ในโลกอุดมคติกับโลกความจริง บ่อยครั้งก็เป็นคนละเรื่อง ขณะที่บางคนมีครอบครัวที่สมบูรณ์ (ตามค่านิยมของสังคม) แต่บางคนเติบโตมากับปู่ย่าตายาย บางคนตั้งแต่จำความได้ก็ไม่เคยเจอพ่อแม่ และบางคนได้รับการเลี้ยงดูโดยคนที่มีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับบทบาทพ่อหรือแม่ (ตามค่านิยมของสังคม…อีกแล้ว)
ด้วยปัญหาบางอย่างที่พ่อกับแม่เผชิญ พชร ธรรมมล หรือ ‘ฟลุค’ (เป็นที่รู้จักจากการประกวด The Star 5) จึงเติบโตมาจากการเลี้ยงดูโดย ปัญญา ธรรมมล หรือ ‘ครูต้อ’ (ตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือน) ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง โดยมีการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เลี้ยงเด็กสักคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพว่ายากแล้ว แต่ครูต้อยังต้องสวมบทบาท ‘พ่อ’ ทั้งที่เป็นสาวประเภทสอง จึงต้องเปลี่ยนตัวเองไม่น้อย ทั้งในแง่การแต่งตัว การแสดงออก และการพาตัวเองไปสู่จุดที่ได้รับการยอมรับในหน้าที่การงาน
“เรามองว่าพ่อคือผู้ให้กำเนิด แต่เราไม่ใช่
เราก็เป็นเรา งั้นเรียกว่า ‘ปะป๊า’ ละกัน”
ครูต้อพูดถึงการนิยามบทบาทตัวเอง
ไม่ว่าบทบาทตลอดมาจะถูกเรียกว่าอะไร เขาคือคนๆ หนึ่งที่เลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนจนเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสำหรับเด็กที่ได้รับความรักเต็มเปี่ยม ถึงอย่างไรคนตรงหน้าก็คือ ‘ป๊า’ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพไหนก็ตาม
ฟลุคมาเป็นลูกบุญธรรมของคุณได้ยังไง
ตอนที่มีฟลุค พ่อกับแม่ของเขายังเด็กมาก ช่วงนั้นมีปัญหาบางอย่างเข้ามา ทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงได้ เราเพิ่งสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง หน้าที่การงานมั่นคง ถ้าจดทะเบียนเป็นลูกบุญธรรมตามกฎหมาย ฟลุคก็จะได้รับสวัสดิการต่างๆ เขาเลยยกฟลุคมาให้ตอนอายุ 6 เดือน แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีการประกาศว่าลูกบุญธรรมไม่สามารถเบิกอะไรได้ เราเลยต้องเลี้ยงด้วยตัวเองมาตลอด
เคยคิดจะรับเด็กมาเป็นลูกไหม
ไม่เคยเลย (ตอบทันที) เราไม่ชอบเด็ก ก่อนบรรจุเป็นข้าราชการ เราเป็นนักเต้นอยู่อินทรดารา เป็นแดนเซอร์รุ่นแรกของเมืองไทย ต้องทำงานตอนกลางคืน กลับมาเที่ยงคืนตีหนึ่ง กลางวันก็พักผ่อน เราจะพูดเลยว่า “ถ้าใครเสียงดัง ฉันตีแหลกเลยนะ” แต่พอเห็นฟลุค เด็กคนนี้น่ารักมาก หน้าเหมือนอีทีเลย หัวโตๆ สะดือจุ่น มันมีความผูกพันที่บอกไม่ถูกนะ พอตั้งใจว่าจะเลี้ยงเขาเหมือนเป็นลูกเราแล้ว เรารักเขา ตอนนั้นพ่อเขาก็ดีกับเรา รับปากมาแล้ว เราต้องทำให้ได้
เห็นว่าตอนนั้นครอบครัวไม่เห็นด้วย
ใช่ ทางบ้านเรามีฐานะ เขากลัวจะถูกหลอก เลยพยายามกีดกัน วันนั้นพาฟลุคมาที่บ้าน พ่อกับพี่สาวบอกให้เอาไปคืน ถ้าไม่คืนก็ออกจากบ้านไปเลย แต่เราตัดสินใจแล้ว คืนไปแล้วฟลุคจะอยู่กับใคร เรารับมาแล้วต้องทำให้ดีที่สุด เราเลยอุ้มลูกไปอยู่ที่บ้านของหัวหน้าอินทรดาราแถววัดราชาธิวาส ไม่ได้เอาทรัพย์สินอะไรออกมาเลย มีเป้ใบเดียว ผ้าขนหนู เสื้อสองตัว เสื้อฟลุค พัดลมดูดอากาศเล็กๆ กระติกใส่น้ำแข็งเอาไว้แช่นม แล้วหยิบโฉนดที่ดินที่แม่เคยให้ไว้ เพราะต้องใช้เป็นหลักทรัพย์กับกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อใช้จดทะเบียนรับฟลุคเป็นลูกบุญธรรม
เราทำงานอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง ออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตีสี่ ไปถึงอ่างทองเจ็ดโมง เลิกงานก็รีบกลับ แล้วไปรับลูก ซื้อกับข้าว ซักผ้าอ้อม วันรุ่งขึ้นก็ออกตั้งแต่ตีสี่ ให้น้องๆ ที่บ้านหัวหน้าช่วยเอาไปส่งบ้านที่รับเลี้ยง ลำบากมาก ไปกลับแบบนั้นอยู่ 3 เดือน เราไปคุยกับผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์ เขาเลยให้แฟลตมาอยู่ เราพาแม่ของพ่อฟลุคมาช่วยเลี้ยงอยู่ที่อ่างทอง ชีวิตลำบากมาก เงินจะติดมุ้งลวดยังไม่มี ต้องไปเอาผ้าขาวบางมาขึงเป็นมุ้งลวด
สมัยนั้นเงินเดือนพันกว่าบาท ต้องเสียเงินจ้างเลี้ยงฟลุคเดือนละ 800 บาท เหลือไม่กี่ร้อย แต่เราต้องกินต้องใช้ ลูกต้องกินนม วันธรรมดาเลิกปุ๊บก็รีบกลับ ไม่ได้ขั้นก็ไม่เป็นไร มารับขนมตรงเทเวศน์ไปขาย วันหนึ่งได้กำไรไป 400 บาท พอเสาร์-อาทิตย์ก็ต้องมาเต้นหารายได้อีก ช่วงที่ระหกระเหินออกจากบ้าน ลูกคือชีวิตของเราเลย
พ่อกับพี่สาวบอกให้เอาไปคืน ถ้าไม่คืนก็ออกจากบ้านไปเลย
แต่เราตัดสินใจแล้ว คืนไปแล้วฟลุคจะอยู่กับใคร
นานแค่ไหนถึงกลับไปคุยกับที่บ้านได้
(เงียบคิด) ชีวิตลำบากอยู่ที่อ่างทอง 3 ปีเต็มๆ เริ่มจากเสาร์อาทิตย์เราพาฟลุคมาที่บ้าน แต่ก็ยังไม่ได้นอนบ้านนะ ต้องไปนอนบ้านหัวหน้า ตอนหลังได้คืบเอาศอก มาบ่อยๆ ก็ได้นอนที่บ้าน ฟลุคอายุสัก 3 ขวบกว่า พี่ๆ น้องๆ มีลูกเล็กแล้ว เขาก็ยอมรับมากขึ้น
ก่อนจะมีฟลุค คุณมีไลฟ์สไตล์ยังไง
เราเป็นคนรักสวยรักงาม ตอนนั้นแต่งเป็นผู้หญิงเลย ใส่กระโปรง มีหน้าอก แต่พอมีฟลุค เราไม่อยากให้ลูกมีปัญหา กลัวลูกมีปมด้อย เลยเลิกแต่งหญิงเลย ต้องฝืนความรู้สึกตัวเอง อึดอัดมาก (เน้นเสียง) ไปไหนมาไหนต้องแอ๊บแมน จากที่เราเคยแต่งหน้าทาปาก เซ็ตผมสวย ใส่เสื้อรัดกิ่ว แต่เราต้องแต่งตัวเรียบร้อย มันไม่ใช่เราเลย แต่ทำยังไงได้ เราเลี้ยงเด็กคนนี้มา เริ่มรักเขา ตายแทนยังได้ เลยคิดว่าทำให้ลูก ไม่อยากให้ใครมาดูถูก
คุณเลือกที่จะเลิกแต่งหญิง แล้วสวมบทบาท ‘พ่อ’ ทำไมถึงไม่คงทุกอย่างไว้แบบเดิม แล้วสวมบทบาท ‘แม่’ ล่ะ
เรารับไม่ได้ ขนาดจะให้ลูกเรียก ‘พ่อ’ ยังเขินเลย ถึงไม่ใช่ผู้ชายเต็มตัว แต่เราเป็นผู้ชาย เรามองว่าพ่อคือผู้ให้กำเนิด แต่เราไม่ใช่ เราก็เป็นเรา งั้นเรียกว่า ‘ปะป๊า’ ละกัน
ตอนเด็กๆ เขาถูกเพื่อนล้อบ้างไหม
ช่วงเรียนอยู่ประถม เราไปส่งเขาที่โรงเรียน ได้ยินกับหูเลย เพื่อนเขาพูดว่า “พ่อมึงเป็นตุ๊ดเหรอ”
คุณอธิบายยังไง
เราพูดเลี่ยงๆ “ไม่หรอก ป๊าไม่ได้เป็นแบบนั้น ที่นิสัยเหมือนผู้หญิง เป็นคนเรียบร้อย พูดคะ-ขา เพราะป๊าสอนนาฏศิลป์ ต้องแสดง ต้องแต่งหน้า เลยต้องเนียนไป ฟลุคเห็นใช่ไหม ใครจะอยากเป็นแบบนั้นล่ะ นาฏศิลป์สอนเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ครูเป็นเจ้าขุนมูลนาย เคยดูหนังไหมลูก เวลาพูดกับเจ้า ก็ต้องพูดว่า ‘เพคะ’ เวลาคุยกับผู้ใหญ่ ป๊าเลยจะพูดว่า คะ ค่ะ” เรื่องแบบนี้ยากเกินไปสำหรับเด็ก ตอนนั้นสังคมยังไม่ยอมรับด้วย
พอขึ้นมัธยม เขาเริ่มโตจนรู้อะไรแล้ว เราเลยเปลี่ยนใหม่ ต้องแสดงความสามารถให้ลูกเห็น ต้องสร้างผลงาน ต้องขึ้นตำแหน่งสูงๆ ให้ได้ พอย้ายมาอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพ ก็ต้องขึ้นให้ได้สูงๆ เราสู้จนได้ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าหมวด หัวหน้าภาค เป็นคนอบรมครูทั่วประเทศ เราใช้ความรู้มาทำให้ทุกคนยอมรับ คนเรียกเรา ‘อาจารย์ต้อ’ แต่ถ้าไม่เป็นอาจารย์ เราคงถูกเรียกว่า ‘อีต้อ’ คนยกมือไหว้เราเพราะการศึกษา ฟลุคก็ภูมิใจในตัวเรา พอถูกเพื่อนล้อ ฟลุคจะเถียงเลยว่า “ถึงป๊าเป็นตุ๊ด แต่ป๊าเก่ง ป๊ามีความสามารถ” เราได้ยินก็ปลื้มใจมาก
เราเป็นคนรักสวยรักงาม ตอนนั้นแต่งเป็นผู้หญิงเลย
แต่พอมีฟลุค เราไม่อยากให้ลูกมีปัญหา
กลัวลูกมีปมด้อย เลยเลิกแต่งหญิงเลย
เคยมีคำถามบ้างไหม ว่าทำไมต้องสร้างการยอมรับมากขนาดนั้น ขณะที่พ่อที่เป็นผู้ชายไม่เห็นต้องทำขนาดนี้เลย
เราทำเพื่อไม่ให้คนมาดูถูก
ถ้าไม่มีลูกจะทำขนาดนี้ไหม
ไม่ทำหรอก ขอโทษนะ ถ้าไม่มีลูก เราคงแรดไปวันๆ ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่เราทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเขา เวลาใครมาบอกว่าป๊าเป็นตุ๊ด เขาจะได้รู้ว่า ถึงเป็นตุ๊ด แต่เป็นข้าราชการระดับซีแปดนะ
คุณเตรียมคำอธิบายยังไง ทำไมป๊าถึงไม่ใช่ผู้ชายแบบครอบครัวอื่น
เราพูดกับเขาตรงๆ “ป๊าก็ไม่ได้อยากเกิดมาเป็นแบบนี้ แต่ป๊าจะพยายามทำตัวให้ดีที่สุด จะสร้างชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูถูก” เขาก็เข้าใจ รู้ว่าป๊าเหนื่อย ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน อึด ไม่บ่น เราก็ปลื้มใจ
มีเพื่อนร่วมงานไม่เห็นด้วยที่รับฟลุคมาเลี้ยงไหม
ตอนแรกโดนว่ามาก “เอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม เป็นไงล่ะ ลำบากจะตาย แทนที่จะได้สุขสบาย” ตอนหลังๆ มีแต่คนชื่นชม เปลี่ยนมาพูดว่า “เลี้ยงลูกดีมากเลย” มีชื่อเสียง แล้วเขาเป็นเด็กเรียนเก่ง เข้าเอแบคก็ได้ทุนด้วย
รอบๆ ตัวมีสาวประเภทสองที่รับเด็กมาเป็นลูกบ้างไหม
ไม่มีเลย ในกรมศิลปากร เห็นมีแค่เราคนเดียว
ช่วงที่ลำบากมากๆ เคยถามตัวเองไหม นี่กำลังทำอะไรอยู่
เคย (ตอบทันที) “เฮ้ย ทำไมต้องรับลูกเขามาเลี้ยง ทำไมลำบากขนาดนี้” เราจะเปรียบเทียบมากๆ ตอนต้องพาลูกไปโรงพยาบาล เห็นคู่สามีภรรยา พวกเขาดีนะ มีอะไรก็ช่วยกัน แต่เราตัวคนเดียวเลย ทำทุกอย่าง สากกะเบือยันเรือรบ เวรกรรมอะไรเนี่ย
คุณบอกตัวเองยังไง
ทำยังไงได้ เรารับปากแล้ว ก็ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด ไม่ให้ใครมาว่าเรา และมาว่าลูกเราได้
ป๊าก็ไม่ได้อยากเกิดมาเป็นแบบนี้ แต่ป๊าจะพยายามทำตัวให้ดีที่สุด
ตอนลูกเริ่มโตเป็นหนุ่ม คุณเคยโดนพูดใส่ไหม “นี่เอาเด็กผู้ชายมาเลี้ยง เพราะเรื่องเซ็กส์หรือเปล่า”
คนมักมองว่ากะเทยต้องเลี้ยงเด็กเพื่อเรื่องเซ็กส์ เพื่อนกะเทยด้วยกันยังพูดเลย “อีนี่เลี้ยงเด็กไว้กิน ใส่ปิ่นโตมาเลยนะ”
เราเป็นคนไม่ยอมอยู่แล้ว “กูไม่ได้คนอย่างมึงนะ อีสันดาน ลูกก็ลูก ผัวก็ผัว ถ้าเอาลูกมาทำผัว นั่นมันคนจังไร” เราไม่ไว้หน้าเลย ด้วยนิสัยเป็นกะเทยบู๊อยู่แล้ว
ช่วงเขาอยู่ ม.6 เรามีความรู้สึกว่า เวลาไปไหนมาไหน เขาไม่ค่อยอยากเดินกับเรา แต่ก็ไม่ได้พูดออกมาหรอก คงกลัวเราเสียใจ แต่ไม่โกรธนะ เข้าใจได้ ก็ปลอบใจตัวเอง ลูกคงอยากไปเที่ยวกับเพื่อน ทำไมต้องไปตามติดเขาล่ะ เราเข้าใจลูก เพราะทำอาชีพเป็นครู เรารู้จักเด็ก วัยนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า มันไม่ได้หรอก
แต่ก่อนเคยกลัวว่าลูกจะเป็นเกย์ไหม
ไม่กลัวนะ คิดเสมอว่าเขาเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีแล้วกัน แต่เราเลี้ยงมา เรารู้ว่าฟลุคไม่ได้เป็น ที่พูดจาเพราะเขาซึมซับจากตัวเราไป
ถ้าลูกเป็นเกย์ ตุ๊ด หรือสาวประเภทสองขึ้นมา คุณจะโทษตัวเองไหม
(เงียบคิด) เราไม่เคยคิดตรงนี้เลย เพราะเรารู้ว่าเขาไม่เป็น แต่ถ้าเขาเป็น คงมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างพระเจ้าลิขิตไว้แล้ว เราเองเป็นแบบนี้ รู้ว่ากะเทยมีแต่คนดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครอยากให้ลูกเป็นหรอก แต่คนมันไม่เป็น ยังไงก็ไม่เป็น
คิดยังไงที่คนทั่วไปสนใจ ‘คนเป็นเกย์/ตุ๊ด/กะเทยที่มีลูก’ มากกว่า ‘คนๆ หนึ่งที่มีลูก’
เรามองว่าถ้ากะเทยไม่มีชื่อเสียง เอาเด็กที่ไม่มีชื่อเสียงมาเลี้ยง เรื่องก็ไม่เป็นข่าวหรอก พอมีชื่อเสียง นักข่าวก็สร้างให้เป็นข่าวขึ้นมา
จากคนไม่ชอบเด็ก มองย้อนกลับไป สิ่งที่ดีที่สุดในการรับฟลุคเป็นลูกคืออะไร
ลูกคือความหวังของเรา พอแก่ตัวแล้ว เราไม่มีใคร พี่น้องแยกครอบครัวไปหมด เหลือเรากับลูก เขาดูแลเรา เขารักเรามาก กล้าพูดอย่างเต็มปากเลย วันพ่อ วันแม่ วันวาเลนไทน์ ต้องมีของให้ตลอด ซื้อของดีๆ ให้ทั้งนั้น อยากให้ป๊าได้แต่งตัวดีๆ ได้ใช้ของดีๆ เขาใส่ใจเรามาก เวลาขับรถออกจากบ้าน เขาจะพูดเป็นประจำว่า “ป๊า ขับรถดีๆ นะ” พอถึงเวลากลับบ้าน แต่ยังไม่กลับก็จะถาม “ป๊า อยู่ไหนแล้วครับ” (หัวเราะ) ตามเราห่วงเรายิ่งกว่าอะไร เราเลยปลื้มใจ นี่พูดแล้วยังน้ำตาไหลนะ (เอามือปาดน้ำตา)