เคยเจอประสบการณ์ญาติคนหนึ่งส่องเฟซบุ๊กเรา แล้วแคปหรือเอาเรื่องราวจากพื้นที่ส่วนตัวเราไปแจ้งข่าวกันไหม (โดยเฉพาะบอกพ่อแม่เรานี่แหละ) อาจจะชวนคิดชวนพูดคุย ส่งเสริมสานสายใย เป็นผู้สื่อข่าวสายครอบครัว ก็อาจทำไปด้วยเจตนาดีเนอะ
แต่บางที ไม่ทำก็จะดีกว่า ก็รู้แหละว่าเป็นญาติกัน มีบางส่วนในสายเลือดใน DNA ร่วมกัน พูดอย่างเป็นกลาง เชื่อว่าปรากฏการณ์ ‘ญาติจ้ะ’ ที่อยากรู้ความเป็นไปของเราจังเลย ถ้าเป็นแบบที่ให้ความสนใจธรรมดาๆ ก็รู้สึกซาบซึ้งดี แต่ชอบมีการเปรียบเทียบกับคนโน้นคนนี้ ซึ่งในใจเราก็จะแบบ ยังไงฮึ?
ยิ่งโลกปัจจุบันมีพื้นที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก พอพ่อแม่ญาติโยมเริ่มแอดมาทีก็รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ คือก็ไม่ใช่ ‘friend’ เนอะ อย่าแอดเลย พื้นที่ส่วนตัวน้า ตัวตนของเราในนั้นก็ไม่ค่อยเหมือนกับเวลาอยู่ต่อหน้าญาติหรอก แถมในนั้นยังมีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ แต่จะไม่รับหรือจะบล็อกก็ยังไงอยู่ จะบาปมั้ย และผลของการรับแอดก็คือนี่แหละ การแคปหรือเซฟรูปไปคุยต่อ ไปจนการโผล่มาคอมเมนต์กันแปลกๆ ซึ่งทำให้เราหรือเพื่อนๆ กระอักกระอ่วนอยู่ไม่น้อย
พื้นที่โซเชียลออนไลน์ก็มีความซับซ้อนในการที่เราจะจัดการตัวตนและความสัมพันธ์อยู่เหมือนกันนะ บางทีการล่วงเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวในนามของความหวังดี ก็อาจจะมีพลังลบแฝงอยู่
เฟซบุ๊กกับพื้นที่พิเศษ
แต่เดิมโซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็เป็นเรื่องของเด็กๆ ของคนวัยหนึ่งที่ตอนนี้เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ พื้นที่ออนไลน์เลยถูกใช้ไปได้หลายๆ แง่อย่างซับซ้อน เราสร้างตัวตน ติดต่อสื่อสาร เสนอความคิด รณรงค์ พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ อะไรเยอะแยะไปหมด Dana Boyd นักวิจัยเรื่องโซเชียลมีเดียบอกว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่หลายๆ สิ่งถูกยุบรวมเข้าด้วยกัน บริบทของความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เช่น ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนโรงเรียน และอีกสารพัดได้ถูกสลายทำให้อยู่ในแค่บริบทเดียว
มันเลยไม่ใช่แค่ว่าเราโอนย้ายความสัมพันธ์ของบุคคล หรือแค่เปลี่ยนช่องทางทางการสื่อสารเฉยๆ แต่มันมีช่องว่างบางๆ ที่ต่างกันระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์บนเฟซบุ๊กกับเวลาเจอหน้ากันจริงๆ ดังนั้นบางทีเราจะเจอคอมเมนต์แปลกๆ ของผู้ใหญ่โผล่ขึ้นมากลางรูปหรือสเตตัสของเรา ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แค่มีระดับความชำนาญหรือความเข้าใจเรื่องการสื่อสารกันในโลกออนไลน์ที่ต่างกัน
ความซับซ้อนในโลกออนไลน์ คือ บางโพสต์เรากำลังพูดกับใคร พูดแบบกลางๆ หรือพูดกับเพื่อนกลุ่มไหน ด้วยน้ำเสียงแบบไหน ความนัยพวกนี้สำหรับคนที่โตมากับโลกออนไลน์ดูเป็นเรื่องที่พอจะรับรู้กันได้ แต่กับผู้ใหญ่ อาจไม่ค่อยเข้าใจไอ้ช่องทางการสื่อสารกึ่งสาธารณะ กึ่งส่วนตัว กึ่งทางตรง กึ่งทางอ้อม พอเขียนแบบนี้ก็รู้สึกเลยเนอะว่า เออ ไอ้การอัพสเตตัส อัพรูป มันมีนัยที่ซับซ้อนคลุมเครือใช่ย่อย
สอดส่องในความหวังดี
โดยรวมๆ แล้วโลกโซเชียลมันก็สร้างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดีแหละ ทำให้คนในสังคมมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นและง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี แต่การเชื่อมต่อ (connected) กันมากๆ บางทีก็มีปัญหาเหมือนกัน การเฝ้ามองความเป็นไปพอมันมากเข้าก็จะกลายเป็นการสอดส่องตรวจตรา
มนุษย์เราก็มีความสนใจใคร่รู้เรื่องคนอื่น ยิ่งถ้าเป็นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นญาติ เราก็อยากรู้ความเป็นไปเนอะ คำว่าความหวังดีมันจึงมีนัยแง่บวกแฝงอยู่ คือทำลงไปด้วยความห่วงใย สนอกสนใจว่าชีวิตของเราจะดำเนินไปยังไงหนอ ถ้าแบบนี้ก็โอเค
แต่มันมีเส้นบางๆ ที่ความเป็นส่วนตัวโดนสอดส่องและเม้าท์มอยจนเกินเลยและเกินเรื่องไปหน่อย ตรงนี้มันก็เป็นเส้นแบ่งที่หากข้ามมาก็ต้องระวังๆ บางทีก็อยากให้ผู้รับสารคัดกรองว่าเราควรส่งสารนี้ต่อไหมหนอ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ก็เท่านั้นเอง
ความหวังดีต้องทำโดยมีแรงขับเคลื่อนดี เป็นพลังเชิงบวกเนอะ อยากให้เขาได้ดี มีความเกื้อกูลกัน แต่บางทีมันมีความอยากรู้ ขุดคุ้ย จี้ไปจี้มาแล้วกลายเป็นไฮไลท์ มีการเปรียบเทียบกดข่ม พยายามเน้นย้ำยืนยันสถานะบางอย่าง อ้าวเงินเดือนเท่าไหร่นะ แฟนทำงานอะไร อ๋อ ลูกฉันอย่างนี้ๆ น้า หรือบางทีก็ไล่จี้บี้ปัญหาของคนอื่น ขยายให้ใหญ่กลายเป็นไฟลามทุ่ง แบบนี้ก็ดูเป็นแรงขับทำลายล้างไปเนอะ
เรื่องแบบนี้ต้องระวังพอสมควร เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการสร้างตัวตนด้วยการกดข่มคนอื่นอยู่บ่อยๆ
ไม่ดีเนอะแบบนี้ งั้นบล็อกญาติโยมไปก็คงไม่ถือว่าทรพี