‘I’d rather laugh with the sinners than cry with the saints
The sinners are much more fun…
You know that only the good die young
เชื่อว่าในชีวิตเราเคยเสียคนที่รักไป คนที่รักที่ไม่ใช่คนที่รักอย่างทั่วไป แต่เป็นคนที่เรารู้ว่าเขาเกิดมาเพื่อถูกรัก เป็นคนที่โลกใบนี้รัก และในบรรดาคนทั้งหมด คนเหล่านี้ก็มักจะจากเราไปก่อน กลับไปสู่ดินแดนที่หลายครั้ง เราปลอบใจกันเองว่า คนที่ดีและเป็นที่รักเหล่านั้นได้พ้นไปจากโลกอันไม่งดงามใบนี้แล้ว การจากไปก่อนอาจเป็นโชคดีก็ได้
เวลาที่ใครซักคนจากเราไปก่อนวัยอันสมควร จะมีวลี-เพลงหนึ่งที่มักดังขึ้นคือ ‘Only the Good Die Young’ จริงอยู่ว่าตัวเพลงของบิลลี โจเอล (Billy Joel) เป็นเพลงร็อกจังหวะสนุกที่พูดถึงการยั่วล้อของชายหนุ่ม ที่ไปอ้อนวอนขอสาวพรมจรรย์ผู้เคร่งศาสนา ชวนให้มาสนุกกัน (ในแง่ปล่อยตัวปล่อยใจกันเถอะ) คืออย่าไปเป็นคนดีเลย เพราะคนดีๆ นั้นมักจะตายก่อนเสมอ
แต่ทว่า วลีที่พูดว่า มีแต่คนดีๆ เท่านั้นแหละ ที่ไปเร็ว ก็แน่นอนว่าเป็นคำที่ตอบสนองกับความเข้าใจขั้นพื้นฐาน หรือกระทั่งความฉงนสนเท่ห์ของมนุษย์เราที่มีต่อความเป็นไปของโลก และต่อการสูญเสียคนที่เรารักไป
ซึ่งความรู้สึกนี้ก็ดูจะเป็นสากล และอยู่เหนือกาลเวลา เพราะเราเองก็สัมผัสได้ว่าเรารู้สึกต่อความไม่ยุติธรรมของโลกใบนี้ คือฟังท่อนสร้อยที่พูดว่า Only the good die young แล้วก็รู้ว่าเออ จริง และถ้าเราสืบย้อนไป ในคำกล่าวโบราณก็มีคำพูดทำนองเดียวกันคือคนที่พระเจ้ารัก มักกลับคืนสู่พระองค์ก่อน – (those) whom the gods love die young
คนที่โลกรัก สวรรค์ก็รักด้วย
คำว่าคนที่รักมักจากไปก่อน ถือเป็นสัจธรรมที่ไม่สวยงามหนึ่งที่ น่าจะพูดแล้วเข้าใจได้ในเชิงวัฒนธรรม ถ้าเราย้อนไปดูจากเพลงของบิลลี โจแอล เราก็จะพบประโยคคล้ายๆ กันเก่าแก่เป็นคำพังเพยตั้งแต่สมัยกรีก ใน History ของ Herodotus มีคำพูดว่า ‘(those) whom the gods love die young’ คือด้านหนึ่งมันคือการอธิบายหรือช่วยรับมือกับการสูญเสีย ที่ใช้อธิบายเหล่าคนหนุ่มสาวและคนที่มีความสามารถที่มักจะจากไปอย่างน่าเสียดาย ก็เลยอธิบายว่า เป็นคนที่พระเจ้า-ทวยเทพรักเลยรับกลับไปก่อน ส่วนถ้าอธิบายบ้านเราก็คือพ้นจากความลำบากของโลกนี้ ไม่ต้องอยู่เจอกับความทุกข์
ถ้าย้อนกลับไปดูเพลง Only the Good Die Young เพลงนี้ก็ตอบกับความคิดเรื่องทำไมคนดีมักตายก่อน แต่ก็ถือว่าทางบิลลีได้เอาวลีมาเล่น กลับกันว่า เนี่ยเพราะว่าคนดีๆ มักจะไปก่อน จริงๆ เพลงนี้มีที่มาจากว่าตัวบิลลีไปชอบสาวชื่อเวอร์จิเนียสมัยเด็กๆ แล้วก็เอามาแต่งร้อง เป็นเหมือนการไปจีบแหละว่าเอ้อ สาวเจ้าอย่าขังตัวเองอยู่ในพรหมจรรย์เลย ออกมาสนุกกับโลกกันดีกว่า ใช้ชีวิตให้คุ้มๆ กัน ซึ่งเนื้อเพลงคือล้ำสมัยมากยิ่งในยุค ค.ศ.1977 และแน่นอนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแบนอย่างหนัก ซึ่งการแบนนั้นก็ทำให้เพลงยิ่งดังเข้าไปใหญ่
Only the Good Die Young เป็นเพลงที่แปลกในทางความรู้สึก คือเพลงมันสนุกนะ พูดเรื่องการจีบสาวแหละ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนหมุดหมายของการมีชีวิตแบบสมัยใหม่ เป็นจุดเปลี่ยนมาสู่เป้าหมายและวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นทางโลกย์มากขึ้น พร้อมๆ กันก็เป็นเหมือนการเน้นย้ำวิถีว่า เอ้อ เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกต่อไป ใช้ชีวิตเป็นคนที่ถูกนิยามว่า ‘ไม่ดี’ แต่สนุกกับโลก ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีสีสัน ดังนั้นหลายคนก็เลยบอกว่า อยากให้เปิดเพลงนี้ในงานศพ เป็นการอำลาว่า อย่าเสียใจเลย คนแสบๆ (แต่ยังคงเป็นที่รัก) นี้ใช้ชีวิตคุ้มแล้ว หลังจากนี้คนบาปจะไปสนุกกันต่อในโลกหลังความตาย
ข้อกังขาต่อความยุติธรรม
จากยุคกรีกที่เชื่ออธิบายหรือปลอบใจเราว่าการที่คนดีๆ จากเราไปก่อนเป็นธรรมดาโลกอย่างหนึ่ง อันที่จริงถ้าเราอ่านความหมายชองวลีนี้ลึกลงไปอีกหน่อย ในความคิดเรื่องทำไมคนดีๆ ต้องตายก่อนนั้นมันมีนัยของการตัดพ้อต่อความอยุติธรรมของโลกใบนี้ ว่าไหนล่ะคือความยุติธรรม โลกใบนี้ไม่เห็นเป็นไปอย่างที่กล่าวอ้างเลย คนดี คนเก่งอายุไม่ยืน ส่วนที่หนังเหนียว ตายยากกลับเป็นคนที่สร้างโทษกับโลกใบนี้
จากสมัยกรีกที่จริงๆ ไอ้ความตายก่อนวัยอันควรอาจจะเป็นเรื่องของความโชคร้ายทั้งในระดับบุคคล คือคนเก่งๆ คนนั้นอาจจะโชคไม่ดี เป็นโรคหรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหมือนเกิดมาพร้อมพรแต่ก็มีเงื่อนไข ในขณะเดียวกันสังคมก็โชคไม่ดีที่เสียคนดีๆ ไป แต่มาช่วงก่อนงานของบิลลี โจแอล คือในช่วงการต่อสู้ของผิวสีและการสูญเสียต่างๆ เพลงแจ๊ส Abraham, Martin, and John. ตัวเพลงแจ๊สนี้พูดถึงความเสียดายและการสูญเสียคนหนุ่มสาว และความตายที่มาก่อนกาล ที่คราวนี้มีนัยของการไม่ควรสูญเสีย
ในเพลง Abraham, Martin, and John. เป็นเพลงที่ว่าด้วยการเมืองเลย เพราะเพลงแจ๊สเป็นเพลงของคนดำที่ถูกกดขี่ เนื้อเพลงคือเรียบง่ายมากคือพูดถึงคนสามคน คือเหมือนเป็นเพื่อนที่ถามหาว่าคนทั้งสามคืออับราฮัม มาร์ติน และจอห์นนั้นหายไปไหน ซึ่งโดยนัยก็บอกว่าเพื่อนที่เป็นคนหนุ่มนั้นได้จากไปแล้ว และเป็นการจากไปที่เหมือนกับวลีเก่าๆ ที่บอกว่าคนดีๆ เหล่านี้มักจากไปก่อนเวลา (it seems the good they die young)
ความหมายของเพลงดังกล่าว ด้วยเวลาและบรรยากาศคือพูดถึงการสูญเสียที่โยงไอคอนสามคนคือ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr) และจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ต่างถูกสังหารไปอย่างไม่สมควร แต่ในบรรยากาศและการใช้เรียกขานในเพลง คือการเรียกชื่อทั้งอับบราฮัม จอห์น และมาร์ติน ในเพลงจะเอ่ยแค่ชื่อที่เป็นชื่อทั่วๆ ไป รวมถึงมีพูดถึงบ็อบบี้ ซึ่งถ้าดูบริบทในตอนนั้นมีการปราบปรามและมีคนผิวดำต้องสังเวยชีวิต เป็นคนที่เพื่อนมาตามหาแล้วต้องรำพึงกับตัวเองว่าคนหนุ่มเหล่านี้ไม่น่าต้องตายเลย ซึ่งก็อาจจะหมายถึงการตายไม่สมควรจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
การยิ้มให้กับการจากไปและการจดจำเป็นสิ่งที่เรากระทำกัน เป็นการระลึกถึงผู้ที่จากไปอย่างจริงใจและงดงาม แต่ในขณะเดียวกัน ความตายด้วยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องที่สวยงาม ถึงอย่างไรเราก็ต้องคำนึงถึงสัจจะที่อยู่ในคำพูดว่า ‘คนดีมักตายก่อน’ คือความหมายที่ว่าโลกนั้นแสนไม่เป็นธรรม
เรื่องความไม่เป็นธรรมของโลกนี้ บางทีทำให้หลงลืมไปว่า ความไม่เป็นธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราบริหารจัดการ-สร้างความเป็นธรรมและยุติธรรมขึ้นได้ ความสูญเสียไม่ว่าจะจากโรคระบาด หรือจากเหตุอื่นใดนั้นล้วนสัมพันธ์กับความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่ปัจจุบันพ้นไปจากอำนาจของปัจเจกบุคคล ตั้งแต่ความล้มเหลวของการจัดการสาธารณสุขที่ล้าหลัง ไปจนถึงการตายจากความอยุติธรรมอื่นๆ ที่ล้วนพึงจัดการและป้องกันได้อย่างแข็งขันและยิ่งยวด
ด้วยความระลึกถึง
ในวันที่ Only The Good Die Young กลับมาอีกครั้ง
และเสียงหัวเราะของน้าที่ยังคงดังอยู่แม้จะจากไปแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก