เราต่างเผชิญการสูญเสียที่ใหญ่โตขึ้นตามวัยของเรา จากขนมชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงการสูญเสียคนที่เรารัก ชีวิต คือการเรียนรู้และยอมรับการสูญเสีย
ตอนเด็กๆ บางครั้งเรานั่งดูการ์ตูนเรื่องเดิมซ้ำๆ หวังว่าบางตอนของเรื่องจะเปลี่ยนแปลงไป แม่แบมบี้ไม่ตายได้ไหม ดัมโบ้ไม่ต้องถูกแยกกับแม่ได้รึเปล่า ดูไปก็น้ำตาคลอ ขี้มูกโป่ง
โตขึ้นมา มองย้อนกลับไป ทำไมในการ์ตูนสีสันสดใส มันโหดร้ายกับด็กน้อยวัยห้าหกขวบอย่างเราจังวะ ยิ่งเป็นการ์ตูนดิสนีย์แล้ว เรียกได้ว่าแทบไม่มีเรื่องไหนเลยที่ตัวละครจะมีชีวิตสุขสันต์ พวกเหล่าตัวละครเอกในการ์ตูนดิสนีย์แทบทั้งหมดมักจะกำพร้า และในหลายเรื่องที่ดังๆ มักจะมีฉากที่ตัวละครแม่ถูกฆ่า ตาย หรือกระทั่งถูกจับเสมอ
คิดดูว่า สำหรับเด็กๆ แล้ว การสูญเสียอะไรก็สะเทือนใจทั้งนั้น การสูญเสียเพื่อน สัตว์เลี้ยงที่รักตาย อะไรก็ว่าไป แต่คุณปู่ดิสนีย์เล่นเอาโศกนาฏกรรมขั้นสุดที่ไม่ใช่จะร้าวแค่กับเด็กๆ เราต่างรู้ดีว่าการสูญเสียพ่อหรือแม่อันเป็นที่รัก ไม่ว่าในช่วงไหนก็ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจสำคัญของชีวิต
ประเด็นหนึ่งคือ การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดา การ์ตูนดิสนีย์ส่วนใหญ่สร้างมาจากนิทานตำนานเก่าๆ ในนิทานก็มักจะพูดเรื่องตัวละครกำพร้า การกำพร้า หรือการเผชิญกับความตายแม้สำหรับเด็กๆ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา และอีกด้าน มีแนวคิดที่อธิบายว่า ตัววอลต์ ดิสนีย์เองมีภูมิหลังและความรู้สึกผิดจากการสูญเสียแม่
Bildungsroman รสชาติของการเติบโต
หนัง การ์ตูน หรือวรรณกรรมที่เราอ่านๆ ดูๆ เป็น ‘เรื่องเล่า’ ประเภทหนึ่ง ในเรื่องเล่ามันก็ต้องมี ‘เรื่อง’ มี ‘ความขัดแย้ง’ บางอย่าง ในทางวรรณกรรมเรื่องที่พูดถึงตัวละครเอกตัวหนึ่งมักเป็นเรื่องของการเติบโต เป็นเรื่องของการเรียนรู้ชีวิต
ลองนึกภาพว่า ถ้าเป็นเรื่องราวชีวิตทั่วๆ ไป ถ้าแบมบี้แม่ไม่ตาย ดัมโบ้แม่ไม่ถูกจับ อะลาดินไม่ได้กำพร้า ชีวิตของตัวละครเหล่านี้ก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย เรื่องราวก็ไม่มีความน่าสนใจ ไม่ได้มีเป็นความฮีโร่ใดๆ เลย เราจะดูเรื่องราวของตัวละครเอกที่ชีวิตเรียบๆ ไปทำไม
เรื่องเล่าว่าด้วยการเติบโตเรียกว่าเรื่องเล่าแบบ ‘Bildungsroman’ หมายถึงเรื่องราวการเรียนรู้ชีวิต เป็นเรื่องราวการเติบโตขึ้นของคนคนหนึ่ง เราอ่านวรรณกรรมหรือดูหนังก็เพื่อเข้าใจหรือเอาใจช่วยไปกับการเติบใหญ่บนโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ ตามท้องเรื่องเรามักจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครเอกทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการเติบโตและเรียนรู้บทเรียนชีวิตบางอย่าง พระเอกหรือนางเอกในเรื่อง ตอนต้นและตอนท้ายมักมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต—เหมือนชีวิตพวกเราเลยเนอะ
ในการ์ตูนดิสนีย์เองก็ถือว่าอยู่ในขนบเรื่องเล่าแบบนี้เช่นกัน Don Hahn โปรดิวเซอร์คนสำคัญของดิสนีย์ให้คำอธิบายเรื่องทำไมแม่ต้องตายในหนังดิสนีย์ว่า ในทางปฏิบัติ การ์ตูนดิสนีย์ยาว 80-90 นาที และแน่นอนว่าตัวเรื่องต้องว่าด้วยการรับผิดชอบชีวิตและการต้องเติบโตขึ้น จะมีอะไรที่บังคับให้เด็กต้องโตขึ้นมากกว่าการสูญเสียพ่อแม่ หรือการจำต้องผละออกจากครอบครัว
เรื่องการสูญเสียพ่อแม่จึงเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเหล่าตัวละครเอก ทำหน้าที่ผลักให้ตัวละครเหล่านั้นไปต่อสู้รับผิดชอบตัวเองในโลกอันกว้างใหญ่ การสูญสูญเสียแม่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญให้กับตัวละครในเรื่อง เช่นแบมบี้เองเมื่อแม่ตาย แบมบี้ก็จำต้องเติบโตขึ้น
ภูมิหลังการสูญเสียของวอลต์ ดิสนีย์
ทำไมตัวละครในดิสนีย์มักจะสูญเสียตัวละครฝ่ายแม่เป็นหลัก ทางคุณ Don Hahn ก็บอกว่า ยังมีแนวคิดอีกทางจากภูมิหลังของคุณปู่วอลต์ คือคาดกันว่า ในใจลึกๆ ของคุณปู่ยังมีความเศร้าโศกและรู้สึกรับผิดชอบจากการสูญเสียแม่จากอุบัติเหตุแก๊สรั่ว
โศกนาฏกรรมของครอบครัวเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ปู่วอลต์ ดิสนีย์ซื้อบ้านหลังหนึ่งให้กับพ่อแม่ โดยก่อนที่พ่อและแม่จะเข้าอยู่ วอลต์ให้คนเข้าไปซ่อมเตาผิง เมื่อพ่อและแม่ย้ายเข้า เตาผิงในบ้านเกิดอุบัติเหตุแก๊สรั่ว ในเหตุการณ์นั้นพ่อของวอลต์ถูกนำส่งโรงพยาบาล ในขณะที่แม่เสียชีวิต Don Hahn อธิบายว่า เหตุการณ์นั้นน่าจะยังคงฝังอยู่ในใจ ในฐานะลูกชายที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวและแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัว
การสูญเสียแม่ในช่วงเวลาที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งหวังใจจะได้ดูแลจึงอาจเป็นรอยร้าวหนึ่งที่ทำให้งานของปู่วอลต์ มักถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียผ่านเรื่องราวและตัวละครที่แกสร้างเสมอ
สุดท้าย ความตายและการสูญไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม และไม่ใช่หน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องผลักสัจธรรมของโลกออกจากเด็กๆ วรรณกรรมเด็ก ตำนาน นิทาน ไปจนถึงการ์ตูนจำนวนมากมักพูดถึงการสูญเสียและความตายอยู่ในนั้นเสมอ ด้วยความที่เป็นเรื่องแต่ง ผู้อ่านมักจะทั้งรู้สึกและได้เรียนรู้ไปกับการสูญเสียของตัวละครในเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อจบเรื่อง การสูญเสียนั้นก็ไม่ได้ทำร้ายเราเท่ากับการสูญเสียในโลกความเป็นจริง
ความตายและการสูญเสียในงานเขียนจึงเป็นเหมือนการได้ลองเรียนรู้ ลองรับความรู้สึกบางอย่าง ในบางครั้ง นักการศึกษาเห็นว่าประเด็นยากๆ เช่นการสูญเสียในวรรณกรรมถือเป็นช่องทางสำคัญที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้และรับมือกับการสูญเสียในโลกแห่งความจริง เพราะจริงๆ แล้ว ต่อให้เป็นเด็ก เราเองก็เผชิญกับการสูญเสียเสมอ
การสูญเสียที่ค่อยๆ ใหญ่โตขึ้นตามการเติบโตของเรา การสูญเสียที่เราค่อยๆ เรียนรู้ที่จะรับมือ จากขนมตกพื้น ไปสู่การเสียผู้คนไปจากชีวิต
อ้างอิงข้อมูลจาก