ท่ามกลางสภาพความผันผวนทางการเมืองทั่วโลก The MATTER ติดต่อสัมภาษณ์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพยายามค้นหา ‘ความหวัง’ ในยุคที่ดูเหมือนว่าทุกคนจะเลี้ยวขวา เลี้ยวหาแนวคิดแบบชาตินิยม แบบอนุรักษ์นิยม ทั้งยังเป็นยุคที่ ‘ก้าวข้ามความจริง’ ที่ก่อให้เกิดความท้าทายทั้งกับสื่อ และกับผู้รับสื่อด้วย
ในวันเวลาแบบนี้ เรายังพอมี ‘ความหวัง’ หลงเหลืออยู่ไหม นั่นคือคำถามสำคัญ
The MATTER : ปี 2016 เป็นปีที่หลายๆ คนบอกว่ามันเลวร้ายที่สุดจนอยากจะลืม ทั้งในสเกลของประเทศไทยเอง และในสเกลต่างประเทศ อย่างเช่นเรื่องทรัมป์ เรื่อง Brexit ตอนนี้ขึ้นปีใหม่ 2017 แล้ว เราจะพอมีความหวังอะไรได้ไหม
ปี 2016 ถือเป็นปีที่เลวร้ายทางการเมืองทั่วโลก ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีศัพท์ว่า ‘ความถดถอยทางเศรษฐกิจ’ ปีที่แล้วถ้ามองในแง่นี้ คือ เรากำลังเห็นความถดถอยทางการเมืองทั่วโลก (Global Political Recession) ซึ่งถ้าใครตามการเมืองมาอย่างใกล้ชิดก็จะเริ่มเห็นเทรนด์นี้ตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2006 เพียงแต่ว่ามันมาเป็นระลอกคลื่น มันไม่ได้มาเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่ว่าเราเริ่มเห็นดรรชนีหลายอย่าง เช่น ในแง่ที่ว่ารัฐบาลหลายๆ รัฐบาลเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเอง คุณภาพของประชาธิปไตยก็เริ่มถดถอยลง หรือถ้าไปดูดรรชนีสิทธิเสรีภาพที่จัดทำโดยองค์กรต่างๆ อย่าง Freedom House ก็พบว่ามันเป็นเทรนด์ที่ค่อยๆ ถดถอยลงทั่วโลก เพียงแต่ว่ามันมาระเบิดในปี 2016 บางคนบอกว่าเป็นสึนามิ 2 ลูก ก็คือ Brexit กับ ทรัมป์
ฉะนั้นมันไม่ใช่เพิ่งมาเกิดปีที่แล้ว แต่เป็นผลสะสมของเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งในทางเศรษฐกิจการเมือง และการเปลี่ยนวัฒนธรรมค่านิยม พูดง่ายๆ ก็คือทรัมป์มารับผลประโยชน์จากเทรนด์นี้ เขาไม่ได้เป็นคนสร้างเทรนด์อำนาจนิยม เทรนด์ผู้นำเข้มแข็งหรือการกลับไปหาชาตินิยม แต่ทรัมป์เป็นคนที่ฉลาดที่สุด เขาเห็นว่าคลื่นนี้มาเขาจึงเกาะกระแสคลื่นนี้ไปและก้าวขึ้นสู่อำนาจในที่สุด ฉะนั้นพอบอกว่าเป็นเทรนด์ก็หมายความว่ามันจะอยู่ต่อไปอีกสักพัก มันไม่ใช่เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์โดยอุบัติเหตุ เพราะมันเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น
ปี 2017 เราก็ยังต้องคอยจับตาดู มันก็อาจจะเกิดสึนามิลูกต่อไปที่น่ากลัว โดยเฉพาะปีนี้จะมีเลือกตั้งสำคัญในยุโรป คือ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี มีบางคนบอกว่าฝรั่งเศสกับเยอรมันอาจจะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายแล้วในการรักษาระเบียบโลกแบบเดิมที่ยังให้คุณค่ากับเรื่อง สิทธิมนุษยชน ประชาชน ประชาธิปไตยเอาไว้ ถ้าฝ่ายขวาชนะอีกในฝรั่งเศสกับในเยอรมัน มันก็อาจจะเข้าสู่จุดที่น่ากลัวจริงๆ แล้ว
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย แน่นอนว่ามีหลายอย่างที่เป็นปัจจัยเฉพาะของบ้านเรา และที่มันซับซ้อนอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ ถ้าเรามองแบบไม่แยกขาดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก ปรากฏการณ์หลายอย่างเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัย ที่มันโยงกับเหตุการณ์โลกด้วยเช่นกัน
The MATTER : คุณคิดว่าเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นมันมีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง เช่นหลายๆ คนบอกว่ามันเริ่มขวาขึ้นเพราะความกลัวและเพราะว่าความอยู่ไม่สบายตัวของชนชั้นกลาง
มีหลายปัจจัยนะครับ แต่ทอนลงมาเหลือ 3 ปัจจัยหลักก็คือตัว Globalization หรือ โลกาภิวัตน์ ท้ายที่สุดแล้วมันนำไปสู่การพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ มันสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจริง แต่เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคนแพ้คนชนะ ไม่ใช่ทุกคนแฮปปี้หมด มันมีคนที่ได้ แต่คนที่ได้เป็นคนส่วนน้อยของโลกและกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศ บางชนชั้น ในขณะเดียวกันมันมีคนที่สูญเสียเยอะมาก อย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า left behind คือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขึ้นขบวนรถไฟนี้ไม่ทัน ซึ่งมันก็นำไปสู่ความไม่พอใจ ความรู้สึกอึดอัดขับข้องใจ แล้วรู้สึกว่า โลกมันหมุนเร็วแล้วเราตามไม่ทัน เราไม่ได้ประโยชน์จากโลกใบนี้
คนที่รู้สึกแบบนี้มันมีทั้งชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงานผิวขาวในอเมริการวมถึงชนชั้นแรงงานในอีกหลายประเทศทั่วโลก หรือบางประเทศก็เป็นชนชั้นกลาง คนที่ได้รับผลระทบจากภาวะแบบนี้ในแต่ละประเทศมีหน้าตาไม่เหมือนกัน คนที่รู้สึกว่าตามกระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ไม่ทัน โลกาภิวัตน์กับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งจึงเป็นปัจจัยใหญ่สุดอันแรกเลย
ปัจจัยที่ 2 พอคนในสังคมเหลื่อมล้ำมากๆ มันเลยผลิตการเมืองแบบสุดขั้วออกเป็น 2 ขั้ว การเมืองจึงไม่รอมชอม ไม่ประนีประนอมอีกต่อไป เพราะมันไม่มีทางสายกลางไง เมื่อมันกลายเป็นว่าในสังคมมีคนที่ได้ประโยชน์แบบสุดๆ กับเสียประโยชน์แบบสุดๆ คน 2 กลุ่มนี้ แน่นอนว่าต้องการนโยบายที่ไม่เหมือนกัน เรียกร้องผู้นำทางการเมืองคนละแบบ คนที่รวยมากๆ Top 1% โจทย์ก็คือทำยังไงที่จะปกป้องความร่ำรวยของตัวเองต่อไป ส่วนคนที่จนมากๆ ที่ตกขบวน ก็ต้องการนโยบายอีกชุดหนึ่งที่ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้
สิ่งที่เราเริ่มเห็นคือ พอมันเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้วการเมืองจึงเริ่มแตกขั้วมากขึ้นในเกือบทุกประเทศ ยิ่งประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำสูง การเมืองจะยิ่งถดถอยและแตกเป็น 2 ขั้ว
ถ้าเราเอาตัวเลขมาพล็อตกราฟจะเห็นว่า ประเทศที่ยังพอมีการเมืองที่คุณภาพดีและมีเสถียรภาพก็คือประเทศที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป อย่างเยอรมัน สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น ความเหลื่อมล้ำน้อย เพราะยังไม่เกิดภาวะการเมืองห้ำหั่นเผชิญหน้าเป็นสองขั้ว แต่ถ้าไปดูประเทศอย่างอเมริกา เวเนซุเอลา ตุรกี บราซิล อังกฤษ และอีกหลายประเทศที่มันเป็นการเมืองแบบนี้ ในแง่ความเหลื่อมล้ำมันจะเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จึงไม่ใช่เรื่องน่าบังเอิญที่ไทยเราอยู่ในกลุ่มหลัง ถ้าไปดูตัวเลขความเหลื่อมล้ำก็ติดอันดับความเหลื่อมล้ำสูงของโลก อันนี้คือ 2 ปัจจัยใหญ่
ทีนี้ปัจจัยที่ 3 คือสิ่งที่ตอนหลังคนเรียกว่า Post Truth Society หรือสังคมภาวะหลังความจริง แต่มันเริ่มเกิดมาสักพักใหญ่แล้วเพราะภูมิทัศน์ของสื่อมันเปลี่ยนแปลงไป แล้วมันมาซ้ำเติมความแตกแยกในสังคม มาผลิตความเกลียดชังมากขึ้น พอเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูง คนในสังคมเริ่มแตกแยกกันมากขึ้น มีความฝันไปคนละทาง คนละชุดที่มันไม่บรรจบกัน ภูมิทัศน์สื่อที่มันแตกกระสานซ่านเซ็นจนหาความจริงไม่ค่อยได้ ทุกคนแข่งขันกันเสนอมุมมองของตัวเอง ทั้งหมดนี้มันจึงพาโลกเราไปสู่จุดที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วจนไปเอื้อประโยชน์ให้กับใคร คนก็รู้สึกว่าตัวเองเคว้งคว้างไม่มั่นคงในชีวิต ทั้งในทางเศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง ในทางการเมือง ในทางสังคมก็เปลี่ยนแปลงจนตามไม่ทัน เทคโนโลยีอีก สื่ออีก จะเชื่ออันไหนดี ท้ายที่สุดสิ่งที่โผล่ขึ้นมาก็คือ การเมืองแบบอำนาจนิยมซึ่งกลายเป็นผลผลิตของสภาวะผันผวนแบบนี้
The MATTER : ในประวัติศาสตร์ แต่ละประเทศก็พยายามหาทางออก ไปทางการหานโยบายที่เท่าเทียมมากขึ้นไหม อย่างเช่นตอนนี้ มีการพูดเรื่อง universal basic income (รายได้ขั้นต่ำ) หรือว่าอย่างไรมันก็จะเป็นคำตอบแบบที่นำไปสู่ความรุนแรง
มันก็อยู่ในจุดที่น่ากลัวนะครับ ถ้าเราดูจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์อย่างที่ถาม ตอนนี้เริ่มมีคนหันกลับไปมองช่วงทศวรรษ 1930-1940 เขาบอกว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ตอนนี้ใกล้เคียงที่สุดกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นช่วงนั้น คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการพัฒนาอุตสาหกรรม ฉะนั้นมันนำไปสู่ภาวะที่คนเคว้งคว้าง คนตกงาน คนปรับตัวไม่ทันในการเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เกิดการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตย fascism communism แล้วในที่สุดในตอนนั้นมันไปจบที่การรุ่งเรืองของ fascism ของฮิตเลอร์และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 คือวิกฤติเศรษฐกิจ ความปั่นป่วน สงคราม ความวุ่นวายทางการเมืองมันมาด้วยกันเป็นแพคเกจ
คนชอบเปรียบเทียบผู้นำหลายคนในยุคนี้กับฮิตเลอร์ แต่เอาเข้าจริง อย่างพวกทรัมป์ หรือประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ดูเตอร์เต ก็ไม่ได้ถึงขั้นฮิตเลอร์หรอกนะ แต่ว่ามันมีองค์ประกอบบางอย่างที่ใกล้เคียง วิธีปลุกความเกลียดชัง ปลุกความกลัว แล้วก็ความไม่สนใจสถาบันพื้นฐานทั้งหลาย ให้เชื่อฟังผู้นำอย่างเดียว “ข้าพเจ้ามีคำตอบให้กับสังคมแล้วก็แบ่งแยกประชาชนออกจากกัน” มันมีอะไรคล้ายๆ กัน คนเลยรู้สึกว่ามันน่ากลัว
นักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่า โลกจะซ้ำรอยหรือเปล่า คือตอนนี้มันเลยมีคนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ยุคนั้นเยอะ อย่างเช่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็น่าเสียดายสังคมไทยเราไม่ค่อยมีชุดความรู้หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่ผันผวนและเชป (shape) โลกสมัยใหม่
เรื่องนี้จะมองโลกในแง่ร้ายก็ได้หรือมองในแง่ดีก็ได้ ถ้ามองโลกในแง่ร้ายคือมันจบที่ความรุนแรง ณ ตอนนั้น มันเกิดสงครามขึ้น ถ้ามองในแง่ดีคือท้ายที่สุดฝ่ายที่ปลุกกระแสความเกลียดชังและก่อสงครามอย่างฮิตเลอร์ มุสโสลินี fascism ก็เป็นฝ่ายแพ้ พอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดระเบียบโลกใหม่ขึ้น เกิด UN เกิดการส่งเสริมคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน โลกมันเปลี่ยนเลย ภูมิทัศน์มันเปลี่ยน แล้วอะไรหลายๆ อย่างที่มันเป็นคุณค่าดีๆ ที่ตอนหลังเรามารู้จักกันมันก็เกิดตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
The MATTER : แต่นี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือว่าเป็นการจุดสติที่มีต้นทุนสูงไปหรือเปล่า คือต้องรอให้เกิดความไม่สงบ ความรุนแรง สงครามก่อน
ใช่ ต้นทุนสูงเกินไป สูงมหาศาลไม่ใช่สูงเกินไปธรรมดา คนตายไม่รู้กี่สิบล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศก็ล่มสลาย ทุกประเทศได้รับผลกระทบถ้าเกิดสงครามในสเกลที่ใหญ่ขนาดนั้น
ตอนนี้หลายคนก็กลัวว่านโยบายหลายอย่างของทรัมป์จะนำไปสู่ความตึงเครียดระดับโลกมากขึ้น นำไปสู่การเผชิญหน้า ทั้งๆ ก่อนหน้านี้สงครามระหว่างประเทศมันไม่ค่อยเกิด เทรนด์มันลดลง แต่ทรัมป์กำลังมาท้าทายระเบียบโลกแบบเดิม
ตอนนี้บทความภาษาอังกฤษทั้งหลายจะใช้คำว่า Global Disorder (ความไร้ระเบียบระดับโลก) เราเข้าสู่ยุค Global Disorder ไร้ระเบียบแล้วตอนนี้ เพราะสถาบันและคุณค่าพื้นฐานแบบเดิมมันถูกท้าทายถูกตั้งคำถามหมด ,UN ก็ถูกตั้งคำถาม, EU ก็มีวิกฤติของตัวเอง, อเมริกาซึ่งเคยเป็นผู้นำในการสร้างระเบียบตรงนี้ก็ถอนตัวออกจากทุกอย่างแล้วหันมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง กลายเป็นชาตินิยมแบบดิบๆ เลย คือไม่ใช่ชาตินิยมที่มีคุณค่าเรื่องเสรีภาพ เรื่องความฝันแบบอเมริกันแล้ว เป็นชาตินิยมแบบผลประโยชน์ของอเมริกันอย่าง America First ก็เลยน่ากลัวว่าทั้งหมดนี้อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง
ตอนนี้ กลายเป็นว่าจีนเป็นคนมา advocate หรือมาเรียกร้องว่าโลกาภิวัตน์ดีให้เดินหน้าต่อไปเพราะประเทศตัวเองได้ประโยชน์ จีนซึ่งเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ กลับกลายมาเป็นผู้นำเรียกร้องการค้าเสรี โลกาภิวัตน์
แต่เรื่องนี้ก็น่ากลัว เราไม่สามารถให้จีนเป็นผู้นำโลกได้ เพราะเขาไม่มีคุณค่าอย่างอื่นรองรับเช่น เรื่องเสรีภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม จีนมีเรื่องโลกาภิวัตน์แบบการค้าเสรีอย่างเดียว ฉะนั้นตอนนี้ระเบียบเก่าของโลกได้สลายไปแล้ว ระเบียบใหม่ก็ยังไม่เกิด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นยังไงเพราะทรัมป์ก็เพิ่งรับตำแหน่ง และ Brexit ก็ยังไม่ได้ดำเนินจนเห็นผล
เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างการล่มสลายของระเบียบโลกแบบเก่า กับการที่ระเบียบโลกแบบใหม่จะเกิดขึ้น ช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้และไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมันเป็นช่วงแห่งความสับสนอลหม่าน
The MATTER : หลายคนก็เลยตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยจะสามารถเป็นคำตอบที่ดีได้จริงหรือ ในสภาวะที่ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลง และอยู่ในช่วงที่ไม่มีคำตอบในเรื่องอื่นๆ เลย
ถ้าดูจากประวัติศาสตร์โลกประชาธิปไตยยังเป็นคำตอบอยู่ ท้ายที่สุดมันต้องกลับมาสู่ประชาธิปไตย แต่นี่ก็เป็นยุคที่ประชาธิปไตยถูกท้าทายมากที่สุดเช่นกัน มีแรงเสียดทานสูงต่อประชาธิปไตย
เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อสังคมได้สติก็จะพบว่าระบอบการปกครองที่ยั่งยืนกว่า และอำนวยเสถียรภาพได้ดีกว่าคือระบอบประชาธิปไตย แต่กว่าจะไปสู่การตระหนักรู้ตรงนี้ บางสังคมก็ต้องจ่ายบทเรียนราคาแพงด้วยการที่ไปหลงระเริงกับระบอบอำนาจนิยม เหมือนอย่างเยอรมัน กว่าจะมาสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเขาใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ผ่านบทเรียนอันเจ็บปวด การออกนอกลู่นอกทาไปหาฮิตเลอร์ และอำนาจนิยมแบบนาซี มันก็เป็นบทเรียนที่ราคาแพงมาก
ในช่วงที่สังคมผันผวนและมีวิกฤติมาก คนอยากได้คำตอบที่มันง่ายๆ ชัดเจน และอยากได้ผู้นำที่เข้มแข็ง
มีคนว่าเอาไว้ว่ายุคนี้เป็นยุคของความสับสน แล้วก็เป็นยุคที่คนรู้สึกว่ารับมือกับโลกไม่ทัน ชุดความคิดหลายอย่างมันตีกันในหัวไปหมด เพราะว่าคุณค่าหลักมันหายไปแล้ว มันไม่รู้จะเอาอะไรเป็นตัวชี้นำ สมมติไปถามชนชั้นกลางไทยก็ได้ ก็จะพบความสับสน ประชาธิปไตยก็ไม่เอาเพราะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีคอรัปชั่น แต่ถามว่าพอมาใช้อำนาจนิยม บางเรื่องเขาก็ไม่ได้แฮปปี้ เสรีภาพบางอย่างมันก็หายไป เข้มงวดเกินไป มันล้าหลังหรือเปล่า แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่อยากกลับไปสู่ประชาธิปไตย ยังกลัวอยู่ เป็นผีที่มาหลอกหลอนอยู่ แต่แล้วอะไรคือคุณค่าใหม่ มันก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน
ท้ายที่สุดในภาวะแบบนี้คนมันหันไปหาอะไรที่มันชัดเจน ง่าย ตรงไปตรงมา และเด็ดขาด ก็คือระบอบเผด็จการอำนาจนิยม แต่มันก็จะอกหัก ผิดหวัง เหมือนที่ประวัติศาสตร์โลกอกหักกันมาแล้ว
คนชอบเข้าใจผิดว่าระบอบเผด็จการมันให้ความมั่นคงแน่นอน ระบอบประชาธิปไตยเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วโดยตัวการออกแบบและการทำงานของระบอบ ระบอบเผด็จการนี่แหละเป็นระบอบที่ทำงานบนฐานของการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
หัวใจของระบอบเผด็จการจริงๆ มันคือการคาดเดาไม่ได้ คุณไม่รู้หรอกว่าอยู่ดีๆ ฮิตเลอร์จะนำประเทศเข้าสู่สงครามเมื่อไหร่ จะประกาศนโยบายอะไร เพราะคนอื่นไม่มีส่วน สถาบันในการตรวจสอบถ่วงดุลมันถูกทำลายไป สื่อที่เป็นเสรีก็ไม่มี คัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวผู้นำและมันไม่มีกรอบเวลาการขึ้นลงจากอำนาจที่ชัดเจน คุณจะไปบอกได้เหรอว่าฮิตเลอร์หมดเวลาแล้ว คุณลงจากอำนาจเถอะ มันก็ไม่ได้ มันก็คือการอยู่ในอำนาจตราบเท่าที่เขาพอใจ
ฉะนั้นระบอบแบบนี้เป็นระบอบที่ยิ่งไปซ้ำเติมความไม่แน่นอน ความผันผวน แต่ในช่วงวิกฤติแบบนี้คนถูกชี้นำด้วยอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง ตรงนี้แหละที่มันน่ากลัว ฉะนั้นใครปลุกเร้าความกลัวความเกลียดชัง ปลุกโฆษณาชวนเชื่อได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน คนคนนั้นก็จะได้อำนาจ
The MATTER : ฟังดูเหมือนเราอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง ทางหนึ่งก็มีคำตอบไม่ชัดเจน อีกทางหนึ่งชัดเจน แต่สุดท้ายก็อาจเป็นคำตอบที่ไม่ดี
ใช่ มันอาจจะดูเหมือนอย่างนั้นนะ ระบอบประชาธิปไตยมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแน่นอนตายตัว ไม่มีคำตอบที่มันง่าย โดยตัวเนื้อแท้ของระบอบประชาธิปไตยมันจะทำงานได้ดีต่อเมื่อประชาชนมีคุณภาพ เพราะมันเป็นระบอบที่ให้อำนาจกับประชาชน ส่วนระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมันให้อำนาจกับผู้นำผูกขาดรวมศูนย์ ถ้าคุณบังเอิญได้ผู้นำที่เก่งและฉลาดรอบรู้เท่าทันโลก เท่าทันสังคมไม่คอร์รัปชั่นก็โชคดีไป ซึ่งในประวัติศาสตร์มันไม่ค่อยเกิด
สาเหตุที่ว่าทำไมมัน ended up disaster หรือหายนะหมด เพราะว่ามันไปพึ่งกับตัวบุคคล แต่ระบอบประชาธิปไตยมันพึ่งกับคุณภาพของคนทั้งสังคม ฉะนั้นจะดีจะชั่วถ้าคุณภาพของคนในสังคมมันโอเคระบอบมันก็ไปได้ มันไม่ถึงกับล่มจม มันตรวจสอบตัวเองได้
แต่หมายความว่าเมื่อคุณเลือกที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตย อำนาจมันไม่ได้ผูกขาดรวมศูนย์อยู่ที่ใคร มันต้องเปิดให้มีการถกเถียงกันได้ ทะเลาะกันได้ ขัดแย้งกันได้ กว่าจะไปหาคำตอบที่มันลงตัวที่มันดีได้ มันจึงต้องใช้เวลาและต้องใช้ความอดทน แต่ในช่วงวิกฤติคนต้องการคำตอบแบบเร็ว ขี้เกียจฟังอะไรที่มันซับซ้อน ขี้เกียจที่จะต้องมาแลกเปลี่ยนถกเถียงหาเหตุผล
ฉะนั้นเวลาที่ทรัมป์บอกแก้ปัญหาผู้อพยพเหรอ ก็สร้างกำแพงเลย ก็อาจฟังดูง่ายดีนะ เมื่อเทียบกัน ฝั่งเดโมแครตมีชุดนโยบายต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องแยกกลุ่มผู้อพยพ มีทั้งมีประโยชน์และผู้อพยพที่สร้างปัญหา โห มันฟังดูยากกว่าที่จะเข้าใจนะ ตรงนี้เลยเป็นปัญหาว่าจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าหลายเรื่องที่มันยากในสังคม หรือปัญหาที่มันซับซ้อน ก็อาจต้องใช้เวลาในการหาคำตอบ อย่าไปคิดว่ามันมีคำตอบง่ายๆ คำตอบเร็วๆ คำตอบสำเร็จรูป
The MATTER : ถ้าจะมองโลกในแง่ดีขึ้นบ้าง โจทย์ที่ฝ่ายก้าวหน้าต้องทำ ต้องปรับตัว ต้องพัฒนาคืออะไร ที่จะมีคำตอบให้ประชาชนได้ว่า “ไม่ขวาแล้วจะไปทางไหน”
ที่เราพูดทั้งหมดเหมือนมองโลกในแง่ร้าย เราพูดถึง Brexit พูดถึงทรัมป์ พูดถึงการขึ้นมาของฝ่ายขวา แต่ถ้าดูละเอียดลงไปหน่อยจะพบว่าไม่ใช่ฝ่ายขวาครอบงำเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะ มันมีการต่อสู้กันต่างหาก
เช่นถ้ากลับไปดู Brexit มันก็สูสี พลิกนิดเดียวอีกฝ่ายก็ชนะ ฝ่ายออกไม่ได้ชนะแบบ 80 : 20 หรือถ้าย้อนกลับไปดูทรัมป์ ทรัมป์ก็แพ้ป็อปปูลาร์โหวตด้วยซ้ำ และแพ้เยอะด้วย คือประมาณ 2 ล้าน หรือ 2.8 ล้านคะแนน ก็หมายความว่าคนทั้งประเทศเลือกฮิลลารีมากกว่า ไม่ใช่ว่าคนทั้งประเทศแห่มาเลือกทรัมป์ ในแง่นี้อาจเป็นข้อมูลที่พอปลอบใจเรา ว่าระบบเลือกตั้งมันเป็นแบบนี้ทรัมป์จึงชนะการเลือกตั้งไปด้วยกติกาแบบนี้ แต่จริงๆ คนทั้งประเทศเลือกเขาน้อยกว่า ไม่ใช่ว่าคนทั้งประเทศถูกปลุกปั่น จนเห็นว่าทรัมป์เป็นเทพเจ้าแล้วชนะแบบถล่มทลาย หรือกระทั่งประชามติในไทย ก็ไม่ได้ชนะแบบถล่มทลาย
มีคนบอกว่าถ้าลองมองโลกกลับกันหน่อย ถ้าพลิกอีกนิดเดียว ทั้ง Brexit และ ทรัมป์ ผลมันก็จะออกมาตรงกันข้าม แล้วเราก็ไม่ต้องมาตกใจ มานั่งวิเคราะห์อะไรกันมากมายอย่างทุกวันนี้ เราก็จะรู้สึกว่าโลกพอไปได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้มันเป็นการพลิกนิดเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเสียงสนับสนุนที่ถูกปลุกปั่นชี้นำและสนับสนุนคนอย่างทรัมป์ในระดับที่มากจนน่าตกใจ และกระแสนี้ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นในยุโรป พรรคชาตินิยมที่เน้นนโยบายคล้ายๆ ทรัมป์ คือชาตินิยมทางเศรษฐกิจ อนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรม เหยียดเพศ เหยียดผิว กีดกันผู้อพยพ พรรคเหล่านี้ที่เคยอยู่ชายขอบก็ได้รับเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส ในหลายๆ ประเทศ กระแสการขึ้นมาของฝ่ายขวามีจริง เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ถึงขั้นที่จะเปลี่ยนโลกทั้งใบภายในปี 2017 เพราะอย่างเยอรมัน ถ้าดูจากผลต่างๆ หรือจากกระแส มันอาจจะไม่ถึงขั้นชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล แต่พวกเขาก็ได้เสียงมากขึ้นแน่ๆ
ทีนี้ถ้าไม่ขวาแล้วไปไหน ตรงนี้เป็นคำถามที่สำคัญ แต่ยังไม่มีใครมีคำตอบ มีคนบอกว่าที่เรามาถึงจุดนี้ได้ต้องโทษว่ามันเป็นความอับจนของฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า และฝ่ายเสรีนิยมทั่วโลก ที่ไม่ได้ให้คำตอบกับสังคม ไม่ได้มีชุดโปรแกรม สาเหตุที่นำมาสู่จุดนี้ก็อย่างที่เราคุยกันไปแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจ ผลพวงจากโลกาภิวัตน์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กระแสการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม การหลั่งไหลของผู้อพยพ คุณค่าใหม่ สังคมมันเลยแตกขั้วมากขึ้น ภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายเสรีนิยมยังหาคำตอบใหม่ไม่เจอ ก็เลยเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งเพราะรู้สึกไม่มีนโยบายที่ตอบโจทย์เขา
เดโมแครตเองก็จับหลายประเด็นเกินไป จนเบอร์นี แซนเดอร์ส ออกมาบอกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เดโมแครตพ่ายแพ้คือการเล่นการเมืองเชิงอัตลักษณ์มากไป เช่นเล่นเรื่องเกย์ เลสเบี้ยน ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ จนลืมประเด็นที่สำคัญดั้งเดิมคือความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นฐานเสียงเดิมของเดโมแครต จนคนที่เป็นแรงงานสูญเสียงานและรู้สึกถูกแย่งงานไปโดยผู้อพยพบ้าง ถูกส่งไปให้จีน ให้อินเดีย ให้ประเทศอื่น ชุดนโยบายที่เดโมแครตตอบเขามันไม่ชัดเจน
ในขณะเดียวกัน ทรัมป์มาเสนอนโยบาย บอกว่าจะดึงงานทั้งหมด บีบให้นายทุนอุตสาหกรรมกลับมาสร้างโรงงานในอเมริกา ทั้งหมดนี้ทำได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้แต่มันตอบโจทย์เขา หรือฝรั่งเศสก็เหมือนกัน พรรคฝ่ายซ้ายก็คะแนนนิยมตกต่ำ เช่นเดียวกับหลายที่ทั่วโลกและอาจจะรวมถึงไทยด้วยซ้ำ ที่ฝ่ายก้าวหน้าไม่มีชุดนโยบายที่เป็นคำตอบให้คนเห็นว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ยังไง แล้วสังคมใหม่ที่จะทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหน้าตาเป็นยังไง
พูดง่ายๆ ว่ายูโทเปียของฝ่ายซ้ายมันไม่มี เรายังไม่ต้องพูดถึงเส้นทางที่จะเดินไปสู่ยูโทเปียนั้นอย่างเป็นระบบ แผนที่นั้นคืออะไร ไม่มี มีแต่นามธรรมลอยๆ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความเท่าเทียม ซึ่งถ้าพูดในลักษณะนี้ ก็อาจบอกได้ว่าฝ่ายขวากล้าสร้างยูโทเปียมากกว่า
ยูโทเปียฝ่ายขวาตอนนี้ก็ง่ายๆ คือสร้างชาติตัวเองที่ยิ่งใหญ่ให้กลับมาอีกครั้ง
ยูโทเปียของเขาคือการทำให้ชาติอเมริกากลับมาเป็นของคนผิวขาวอีกครั้ง มันชัดเจน มีคำตอบ 1 2 3 4 จะทำยังไง สร้างกำแพง ห้ามคนมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศ กีดกันการค้ากับจีน ฉะนั้นตอนนี้พูดง่ายๆ เราขาดนโยบายทางเลือก (alternative policy) จากฝั่งที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า กำลังอยู่ในช่วงสับสนอลหม่านว่าจะรับมือกับคนอย่างทรัมป์ยังไง
โจทย์สำคัญของคนเหล่านี้คือไม่ควรเล่นตามเกมของฝ่ายขวาแบบทรัมป์ ยิ่งไปเล่นตามเกมแบบนั้นเท่าไหร่ แข่งที่จะเป็นประชานิยมแบบฝ่ายขวามากขึ้นทรัมป์ก็ยิ่งชนะ Le Pan ในฝรั่งเศสก็ยิ่งชนะ ถ้าคุณไปใช้วาทกรรมเดียวกันไปแข่งก็ไม่ชนะ
คุณต้องยืนยันคุณค่าบางอย่างว่ามันเป็นคุณค่าที่สำคัญอยู่ เรื่องเสรีภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม แต่ว่าทำยังไง คุณอาจต้องเอื้อมเข้าไปหาคนที่รู้สึกถูกทอดทิ้งจากการพัฒนา จากโลกาภิวัตน์ แทนที่คุณจะไปด่าพวกที่เลือกทรัมป์ว่าเป็นพวกโง่เง่า ไร้การศึกษา เป็น racist เพราะคุณทำแบบนั้นเท่าไหร่คุณยิ่งผลักเขาออกไปมากขึ้น มันยิ่งไปตอกย้ำมากขึ้นว่าคนพวกนี้เป็นชนชั้นนำที่ไม่เห็นหัวข้าพเจ้า
คนอย่างทรัมป์จะดีจะชั่ว คนเหล่านี้ก็มองทรัมป์เป็นเหมือนนักมวย เป็นไฟท์เตอร์ มองเห็นว่าเขามีข้อบกพร่องเยอะ แต่คนแบบนี้อย่างน้อยส่งขึ้นไปบนเวที เขาก็ชกเต็มที่ในสิ่งที่ประกาศเอาไว้ หาเสียงเอาไว้
ทีนี้จะสู้กับฝ่ายขวาคุณต้องตอบโจทย์ว่าคุณมีโปรแกรมอะไรที่ดีกว่าเขา คุณมีชุดนโยบายอะไรที่ดีกว่าเขา แต่ต้องทำได้ด้วยนะ อย่าขายฝันแบบล่องลอย แล้วอย่าไปดูถูกคนที่ไม่เลือกคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจเขา ถ้าคุณอยากกลับมา เพราะนั่นแหละคือคนที่จะเป็นฐานเสียงคุณในอนาคต
ในแง่นี้ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าโจทย์ของฝ่ายก้าวหน้าไทย คืออย่าผลักชนชั้นกลางไปเป็นศัตรู ท้ายที่สุดชนชั้นกลางนี่แหละเป็นกลุ่มที่คุณต้องดึงกลับมา ให้เขาเห็นว่าคุณค่าหรือเส้นทางการพัฒนาแบบประชาธิปไตยกับการเติบโตอย่างยั่งยืนมันไปด้วยกันได้ หรือประชาธิปไตยไม่ต้องคอร์รัปชั่นก็ได้ ประชาธิปไตยมันมีที่ยืนให้ทุกคนยังไง แล้วตรวจสอบได้ยังไง อันนั้นก็คือโจทย์ ตราบใดที่ผลักชนชั้นกลางในเมืองออกไปเป็นศัตรู หรือประณามเขาอย่างเดียว เขาก็จะเป็นฐานเสียงของระบอบเผด็จการต่อไป และตลอดไปด้วย เขาจะคิดว่าเขาจะกลับมาสู่ประชาธิปไตยได้ยังไงในขณะที่เขาโกรธ
ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าจะต่อสู้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างยั่งยืนในสังคมไทย คุณต้องสู้ด้วยการสร้างคุณค่า และการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมให้รู้สึกว่า ระบอบเผด็จการมันไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป และชนชั้นกลางคือคนกลุ่มหนึ่งที่คุณก็ต้องทำการบ้านด้วย
The MATTER : จากรัฐประหารช่วงเดือนพฤษภาคม 57 ที่ผ่านมา คุณเห็นระบอบปรับตัวเข้าสู่คน หรือคนปรับตัวเข้าสู่ระบอบอย่างไร รัฐบาลยอม ‘ลง’ ให้กับประชาชนบ้างไหม
ผมคิดว่ามันกลายเป็นประชาชนยอมปรับตัวให้เข้ากับระบอบมากกว่า แต่ก็แน่นอน รัฐบาลทหารนี้ก็เป็นรัฐบาลทหารที่พยายามหยั่งกระแสประชาชนด้วยเป็นระยะๆ ถ้าโครงการไหนหรือนโยบายไหนที่คนคัดค้านกันอย่างล้มหลามเขาก็เลือกที่จะถอยไปก่อน ถ้าเห็นชัดๆ เป็นเอกฉันท์เลยน่ะนะ
(The MATTER: เฉพาะบางโครงการเท่านั้นครับอาจารย์)
ใช่ บางโครงการเท่านั้น ซึ่งปัญหาคือโครงการเหล่านั้นบังเอิญมันหลุดออกมาเป็นข่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะเลิกล้มนะ อย่างเช่นโครงการทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เสียงคัดค้านมันเยอะ แล้วดันเป็นเสียงจากคนชั้นกลางหรือคนบางกลุ่ม เช่น สถาปนิก ที่เขาไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านเขามาก่อน มีส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ด้วย แนวร่วมมันเริ่มแปลกๆ ใช่มั้ย เป็นฐานเสียงตัวเอง เขาก็ต้องถอยไปชั่วคราว แต่ก็ยังเห็นว่าเขาพยายามจะทำอยู่ หรือว่าอย่างเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ก็ปรับตัวมาซ่อนในพ.ร.บ. คอมฯ แบบนี้
คือท้ายที่สุด ถอยไปแป๊บเดียว แต่ก็กลับมาเพื่อจะเอาให้ได้ ถ้าดูในภาพรวมจะเห็นว่าเป็นระบอบที่ให้ประชาชนปรับตัวเข้าหาตัวเอง มากกว่าที่จะปรับตัวเข้าหาประชาชน ประชาชนกลุ่มเดียวที่เขาจะแคร์มากหน่อยก็คือชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นฐานเสียงสุดท้ายแล้วสำหรับกลุ่มนี้ ถ้าสูญเสียการสนับสนุนตรงนี้เมื่อไหร่ก็จะไม่เหลือฐานความชอบธรรม จะไม่เหลือฐานสนับสนุนแล้ว ฉะนั้นก็ต้องระมัดระวัง
ถ้ากลับไปที่คำถามคือผมคิดว่าระบอบนี้เป็นระบอบที่เก่งในการที่จะค่อยๆ กล่อมเกลาความคิดคนในสังคม กล่อมไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการมึนชา ให้รู้สึกว่ามันก็อาจจะเป็นระบอบที่โอเค เป็นระบอบที่ไม่ได้เลวร้ายมาก เลวร้ายน้อยที่สุด ในภาวะตอนนี้ก็ไม่มีอะไรดีกว่านี้ บวกกับการใช้เครื่องมืออย่างโพลต่างๆ ที่จะออกมากล่อมตลอดเวลา เช่นว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดีมีคน 80-90% สนับสนุน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าโพลมีอิสระมากน้อยแค่ไหนในการทำวิจัย ภายใต้บรรยากาศปิดกั้นอย่างนี้ แล้วสื่อเองก็ไม่ได้มีเสรีภาพอยู่แล้ว ฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างที่ออกมาจากสื่อ ก็เป็นข้อมูลที่เรากลั่นกรอง หรือเซนเซอร์ตัวเองมาแล้ว ประชาชนก็ได้รับแต่ข้อมูลด้านเดียวที่เป็นด้านบวก นานวันเข้า สองสามปีผ่านไป คนก็รู้สึกปรับตัวเข้าหาระบอบนี้ว่ามันไม่ได้เลวร้าย เพราะเราไม่มีโอกาสเห็นข้อเท็จจริงทางเลือกว่าอีกด้านของมันคืออะไร
The MATTER : อีกเรื่องที่คนพูดถึงกันมากคือรัฐบาลนี้มีการจับกุม ดำเนินคดี หรือระงับไม่ให้พูด ในจุดที่หวังผลได้มาก บางคนบอกว่าไปจับคนที่มีปากเสียงน้อยหน่อย อาจจับคนจำนวนไม่มาก แต่ได้ผล เพราะทำให้เกิด Chilling Effect คนทั่วไปก็ไม่กล้าที่จะออกมาพูดอะไร เราในฐานะประชาชนและสื่อ ควรมีวิธีที่จะลดพลังของเอฟเฟกต์แบบนี้อย่างไร
เขาจะพยายามหลีกเลี่ยงการจับกุมที่ High profile (จับกุมคนมีชื่อเสียง) หรือจับกุมแบบเอิกเกริก เขาก็จะเน้นเป้าหมายที่จะไม่เกิดพลังทางสังคมในการประท้วง เป็นการพยายามแยกสลายพลังในการต่อต้าน แล้วก็ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ ทุกอย่างดูเหมือนทำในนามของกฎหมาย เป็นการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจนโจ่งแจ้งมากที่สุดยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ พอใช้ในนามของกฎหมายเลยดูไม่เป็นเผด็จการมาก เรื่องนี้คล้ายกับที่ผมเคยชี้ไว้ว่า ระบอบเผด็จการของไทยใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือมากขึ้น ในการกำจัดคนที่เห็นต่างกับระบอบของตนเอง
เป้าหมายก็คือต้องการทำให้เกิดความเงียบสงบ ในพื้นที่สื่อและภาคประชาสังคม เป็นการทำให้ต้นทุนของการคัดค้านระบอบนี้มีราคาสูงมาก จนคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า ถ้าไม่อยากเดือดร้อนในชีวิต ก็อยู่เฉยๆ ดีกว่า อย่าไปพูดอะไร เพราะว่ากฎหมายมีลักษณะการบังคับใช้ตามอำเภอใจมากขึ้นทุกทีๆ เราเขียนคำคำเดียวก็อาจติดคุกได้ เราไปกดไลก์บทความอะไรสักอย่าง ตัวบทความไม่ถูกฟ้องร้อง แต่ตำรวจก็อาจมาจับเราได้
การทำให้มันไม่มีกฎเกณฑ์ คาดเดาไม่ได้แบบนี้ ทำให้ทุกคนกลัว
สมมติว่าถ้าไปจับแกนนำมวลชนไปเลย เล็งเป้าแบบนั้น ทุกคนก็จะรู้สึกว่าเราไม่เกี่ยว เราอาจจะเขียนพูดคิดต่อไป แต่ถ้าจับแบบแรนด้อม ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน นักเขียนการ์ตูนโดนจับ แม่ค้า หรือนักศึกษาโดนจับ เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันอาจมาถึงเราได้ทุกเมื่อ ทุกคนมีสิทธิโดน และจะโดนด้วยการกระทำแบบไหนไม่รู้ ทุกคนเลยเลือกที่จะเงียบดีกว่า ซึ่งพอเป็นแบบนี้ก็จะยิ่งอันตราย ในความหมายที่ว่า ระบอบนี้ก็จะยิ่งประสบความสำเร็จ เมื่อทุกคนเลือกที่จะเงียบ
The MATTER : ในฐานะสื่อหรือฐานะคนทั่วไป ที่ก็มีความเป็นสื่อมากขึ้นทุกทีๆ เอง ก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งต่างๆ ตลอดเวลาในการเลือกสื่อสาร เช่นชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนที่ต้องเสียไป กับสิ่งที่อยากจะพูด คุณพอมีคำแนะนำสำหรับการชั่งน้ำหนักตรงนี้ไหม
ผมเข้าใจนะ ท้ายที่สุด ทุกคนก็ต้องเซนเซอร์ตัวเองกันหมด ไม่มากก็น้อย อาจต่างกัน ผมไม่มีคำแนะนำที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปนะ แต่ล่าสุดได้ดูวิดีโอการประท้วง Woman’s March ก็น่าสนใจ มีวิดีโอหนึ่งที่เป็นไวรัล เป็นกลุ่มผู้หญิงที่มาร้องเพลงคอรัสกัน คนก็แชร์ไปกว้างขวาง เนื้อเพลงที่เขาร้องกันก็มีอยู่ง่ายๆ คือว่า “ฉันจะไม่ยอมถูกทำให้เงียบเสียง” ตัวประเด็นหลักมีเท่านี้ แต่คนที่แชร์ไปทั้งหมด ท้ายที่สุด มันก็ทำให้เกิดกระแสที่ว่า เราก็ต้องทำอะไรบางอย่าง ในมุมเล็กๆ ที่เราทำได้
ทุกคนรู้แหละว่ามีเพดานบางอย่างอยู่ แต่ภายใต้ขอบเขตที่เราจะทำได้ เราจะทำอะไรได้บ้าง
แต่สิ่งหนึ่งคือ ต้องไม่ทำอย่างโดดเดี่ยว เพราะเมื่อคุณรู้สึกโดดเดี่ยว คุณจะยิ่งหวาดกลัว แล้วมันจะไร้พลัง ดังนั้นวิธีอยู่ หรือสู้กับระบอบแบบนี้ ก็คือการรวมกลุ่มเล็กๆ ทำอะไรในขอบเขตที่ตัวเองทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคิด ขีด เขียน หรือพูด หัวใจของมันคือการต้องไม่ทำให้สังคมเงียบ ต้องบอกว่าสังคมเรามีปัญหาอยู่ ปัญหาอยู่ตรงไหนอะไรบ้าง ดีกว่าทุกคนเงียบหมด แล้วก็ปล่อยให้มันดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆ
คำถามคือว่าจะทำยังไงให้มันเกิดกระแส ว่ายังมีคนที่มีความคิดอิสระอยู่ ยังมีคนที่ยังตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ อยู่ในสังคมนี้ ยังมีคนที่เชื่อว่าสังคมดีกว่านี้ได้ ไม่ต้องยอมจำนนอยู่กับสภาพแบบนี้
ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ของสื่อ แอคทิวิสต์ หรือประชาชนคนทั่วไป
ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาอธิบายไว้ดีว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าคำโกหกคือการโฆษณาชวนเชื่อที่แนบเนียน เขาบอกว่า การที่คุณไปนั่งจับผิดทรัมป์ว่าพูดโกหกอย่างไรบ้างที่สื่อบางสื่อทำ มันเปล่าประโยชน์ เขาบอกว่าไปสู้แบบนี้จะไม่มีวันชนะ เพราะทรัมป์โกหกตลอดเวลา แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ คำโกหกทั้งหลายของเขามันหลอมรวมเป็นชุดความจริงชุดหนึ่งที่เขาบิดเบือน เขานำคำโกหกมาผสมกับความจริงครึ่งๆ กลางๆ หรือความจริงทั้งหมดในบางเรื่องด้วยซ้ำ แต่รวมแล้วมันเป็นภาพความจริงที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ ภาพที่แสดงให้เห็นว่าสังคมอเมริกันเป็นอย่างไรจึงต้องการผู้นำอย่างเขา การโฆษณาแบบนี้แหละที่น่ากลัวกว่า เพราะเป็นการหลอกให้คนอยู่ภาพมายา แล้วเชื่อว่านั่นคือความจริง
เช่นบอกว่าสังคมสงบสุขดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เศรษฐกิจดี คอร์รัปชั่นลดลง ก็เอาจิ๊กซอว์ที่มันถูกบ้างผิดบ้างมาต่อรวมกัน ว่าพวกเราต่างอยู่ในหมู่บ้านที่สงบสุข ทุกคนมีความสุขดี ใครที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐคือพวกชอบก่อปัญหา ตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัว วิธีสู้ก็คือการทำลายภาพมายานี้
The MATTER : อีกคำถามหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็คือ ในภูมิทัศน์ของสื่อแบบใหม่ ที่มีคนพูดถึงเรื่อง Post-truth (ยุคพ้นความจริง) หรือ Alternative Fact (ความจริงทางเลือก) กันมาก ในฐานะประชาชนคนทั่วไป ที่อาจไม่ได้รู้ในเรื่องราวต่างๆ อย่างลงลึกขนาดนั้น หรือพอจะรู้ อยากจะค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ว่าอย่างไรก็ไม่ถึงกับรู้ในเชิงข้อมูลดิบ ไม่ได้ลงไปสำรวจเอง เราจะมีวิธีอยู่กับภาวะที่เต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เต็มไปด้วยชุดความจริงที่แตกต่างกันนี้อย่างไร
นี่เป็นโจทย์ที่ยากมาก แม้แต่นักคิดหรือประชาชนชั้นนำในโลกตะวันตกก็คิดว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่มันเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง และฐานความรู้ ความคิด ทฤษฎีเดิมที่มีอยู่ก็อธิบายโลกใหม่ไม่ค่อยได้แล้ว มันต้องนำไปสู่การทบทวนอะไรหลายอย่างมาก ฉะนั้นคงยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป
แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ทุกคนคิดแบบเก่าไม่ได้แล้ว ทุกคนรู้แล้วว่าเรามาถึงจุดที่ต้องการวิธีการคิดแบบใหม่ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว สมมติฐานหลายอย่างกับโลกต้องถูกทบทวน โดยเฉพาะเรื่องภูมิทัศน์ของสื่อ ซึ่งคนก็พยายามกลับไปหา ทำความเข้าใจ กับสิ่งที่เป็น emotion เป็นอารมณ์ความรู้สึกของคน
มนุษย์ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผล ตรรกะอย่างเดียว คือสื่อทำงานอยู่บนฐานของการให้ข้อเท็จจริง ความมีเหตุมีผล แต่บางทีมนุษย์ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งอื่น โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึก บางคนเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคของความโกรธ หรือ Age of Anger เป็นความโกรธที่สะสมมานาน แล้วระเบิดออกมา
ฉะนั้น คนที่เลือกทรัมป์ ไม่ใช่ว่าเขาโง่หรืออะไร และไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่อีกเรื่องหนึ่งคือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ มีคนอเมริกันที่เป็นคนผิวขาวแล้วรู้สึกว่าตนเองกลายเป็นคนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรม เพราะกระแสเสรีนิยมที่ลุกคืบมาอย่างรุนแรง ที่เรียกร้องให้คนยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางเพศ เช่น LGBT ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ศาสนา ประเด็นที่เป็นคุณค่าใหม่ๆ ทั้งหมดเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนพวกนี้รู้สึกว่าแล้วตัวตนของข้าพเจ้าอยู่ตรงไหน ขณะที่ในยุโรป ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งก็คือการหลั่งไหลของผู้อพยพที่นำไปสู่การต่อต้านกลับ สู้กลับ ประเด็นเรื่องชาตินิยมจึงเลยกลับมา เป็นการกลับไปหาคุณค่าดั้งเดิมแบบอนุรักษนิยม
ฉะนั้น หากกลับมาพูดเรื่องสื่อ เขาจึงชอบอ่านข่าว ข้อความบางอย่างที่สอดรับกับความเชื่อของเขา หรือเป็นตัวแทนเขา เช่นอาจรู้สึกว่า The New York Times เป็นสื่อของคนชั้นนำ พวกปัญญาชน ไปพร่ำเพ้อเรื่องคุณค่าใหม่ต่างๆ และไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของเขา ในทางกลับกัน ก็มีสื่ออย่าง Fox อะไรต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของคนผิวขาว อาจนำเสนอแนวคิดว่า “เราต้องทวงประเทศกลับคืนมา จากผู้อพยพ” ซึ่งอาจตอบโจทย์ ฉะนั้น ประเด็นที่จะบอกคือ ไม่ใช่แค่ว่าภูมิทัศน์สื่อมันแตกกระสานซ่านเซ็น มันจึงไปกำหนดความคิดความเชื่อคน แต่จริงๆ คือ ความคิดความเชื่อคนมันเปลี่ยน แตกกระจาย จึงมามองหาสื่อที่ตอกย้ำความเชื่อของเขาอีกที เขาอยากอ่านในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่ออยู่แล้ว มันเลยยาก ที่จะต่อสู้กับ Fake News (ข่าวปลอม)
ทำไม Fake news ถึงรุ่งเรือง ก็เพราะคนพร้อมที่จะเชื่อข้อมูลแบบนี้ ต่อให้คุณพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามอย่างไร คนก็พร้อมที่จะเชื่อข่าวปลอม เช่น คนอาจเชื่อว่าฮิลลารี่เป็นปีศาจ ทรัมป์ยังไงก็ดีกว่า หรือในประเทศไทยเอง สำหรับคนที่เชียร์ลุงตู่ ข่าวต่อให้ไม่จริงขนาดไหน แต่เสนอภาพลุงตู่ที่ดี เขาก็พร้อมที่จะเชื่อ คนเสพข่าวเผื่อผลิตซ้ำความเชื่อของตัวเองแล้ว
ทีนี้จะทำอย่างไร มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ มีคนบอกว่าพวกสื่อหลักเขาจะไม่ชอบ post truth ภาวะแบบภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมคนอเมริกันจะอ่านหนังสือพิมพ์หรือเชื่อในสื่อหลักแค่ไม่กี่เจ้าเช่น The New York Times, Washington Post 4-5 ฉบับ พอเป็นแบบนั้นความแตกแยกและความหลากหลายก็ไม่สูงมาก ข่าวปลอมก็น้อย ภูมิทัศน์สื่อไม่กระจัดกระจาย แต่ก็หมายความว่าความจริงก็จะถูกผูกขาดอยู่ในสื่อใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้าเหล่านี้
ข้อดีของการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียในระยะหลัง หรือเว็บข่าวใหม่ๆ ก็คือทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการที่จะอ่านข้อมูลข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากสื่อหลัก อันนี้คือข้อดีในมุมของผม ในแง่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คือสื่อมันไม่โดนผูกขาด ข้อมูลข้อเท็จจริงมันไม่ถูกผูกขาด แต่ด้านลบที่มันตามมาก็คือคุณคุมไม่ได้นะ สื่อใหม่ๆ สื่อเล็กๆ เว็บข่าวทางเลือกบางอันก็อาจจะนำเสนออะไรที่มันสุดขั้วไปเลย หรือนำเสนอข่าวปลอมไปเลย หรือข่าวที่เต็มไปด้วยอคติที่จงใจบิดเบือนอย่างตั้งใจในการเชียร์ผู้นำการเมืองคนใดคนหนึ่ง
ตรงนี้จะทำยังไงมันก็ไม่ง่าย มันมีทั้งด้านบวกด้านลบ
The MATTER : เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าถ้าทุกคนมีข้อมูลด้านบวกด้านลบก็เอามาพูดให้เหมือนกันหมด สุดท้ายทุกอย่างมันก็จะหักล้างไปจนเหลือแต่ความจริง แต่ภูมิทัศน์ตอนนี้เหมือนว่าจะทำแบบนั้นไม่ได้ซะทีเดียว หรือว่าถ้าเราจะมีผู้ควบคุมก็ไม่ได้ เพราะผู้ควบคุม (regulator) ก็เป็นอีกผู้เล่นหนึ่ง เลยเกิดความสับสนว่าควรจะทำอย่างไร
ใช่ จะให้รัฐเข้ามาคุมก็น่ากลัวอีก เพราะรัฐก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง หรือแม้แต่จะให้องค์กรอิสระเข้ามาควบคุม องค์กรอิสระในประเทศไทยแทบทุกองค์กรมีผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นกลางอย่างแท้จริง
ฉะนั้นถ้าเข้ามาคุมเมื่อไหร่ สื่อหลายอันโดนปิดแน่นอน ผมว่ามันก็น่ากลัว ไม่ใช่ทิศทางที่ควรจะเป็น
ซึ่งก็นำกลับมาสู่คำถามที่ว่าเรามีศรัทธาต่อผู้อ่านไหม ตราบใดที่เรายังมีศรัทธาต่อผู้อ่าน ว่าผู้อ่านจะแยกแยะได้ เลือกรับข้อมูลข่าวสารแล้วเอามาชั่งน้ำหนักได้ เราก็ทำหน้าที่ของเราต่อไปอย่างซื่อสัตย์ ท้ายที่สุดมันต้องเรียกร้องที่คนทำสื่อว่าคุณทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ไหมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อสังคม แล้วมันไม่ไปซ้ำเติมความแตกแยก หรือไม่ผลิตข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มความเกลียดชังมากขึ้นในสังคม หรือข่าวเท็จ มันก็ไม่มีวิธีอื่นนอกจากฝากความหวังไว้ที่คนทำสื่อ
The MATTER : ถ้าคุยกันในหมู่นักศึกษาหรือในหมู่เพื่อน จะมีคนที่รู้สึกว่าเมื่อเขามีต้นทุนที่มากพอ จะย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือทำงานที่ไหนในโลกก็ได้
คำถามครึ่งหนึ่งก็คือคำถามที่ว่า ขณะประเทศเรายังต้องการคนที่มาพัฒนา มาต่อสู้อะไรพวกนี้อยู่ ประเทศจะดึงกำลังการพัฒนาที่สำคัญเหล่านี้ไว้อย่างไร
คำถามอีกครึ่งหนึ่งคือ คนเหล่านี้เขาอาจคิดว่าการที่ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ หรือทำให้มนุษยชาติดีขึ้นได้ไม่จำเป็นจะต้องผูกกับรัฐชาติ แต่สามารถไปผูก หรือเปลี่ยนแปลงที่คุณค่าที่เหนือกว่ารัฐชาติโดยรวมไปเลยได้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมในมุมกว้าง เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องเทคโนโลยี แล้วเขาก็อาจคิดว่าไปพัฒนาที่อื่นก็ได้ที่มันจะส่งผลมากกว่า เพราะที่อื่นอาจเป็นสภาพแวดล้อมที่อุ้มชู ฟูมฟัก และสนับสนุนเขาได้ดีกว่า
เรียกว่าเหมือนเป็นสภาวะลำบากที่จะต้องตัดสินใจทำเพื่อประเทศในขณะที่ประเทศอาจไม่ได้เอื้อให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การไม่ผูกกับรัฐชาติ เพื่อพัฒนาสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น Greater Good นี้มีความหมายอย่างไรบ้างในระดับต่างๆ
โลกโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้กับคนมีความสามารถ ถ้าคุณมีความสามารถ มีศักยภาพ คุณอยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ได้ เขาก็พร้อมที่จะต้อนรับคุณ
ผมเข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ประมาณนึงว่า ประเทศมันไม่น่าอยู่แล้ว กระทั่งคนที่แต่งงานแล้วมีลูก หลายคนก็ไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียนไทย หรือส่งลูกไปเรียนเมืองนอก คนที่เชิดชูความเป็นไทยแต่จริงๆ ก็ยอมรับแหละว่าระบบการศึกษาไทยมันไม่ดีใช่ไหม
ฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกเยอะ คุณจะไปทำงานอยู่ที่อื่นก็ได้ ในแง่นั้นเป็น individual choice เป็นทางเลือกของปัจเจกบุคคล ซึ่งผมคิดว่าแฟร์ เราไม่สามารถไปตำหนิหรือค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์เขาได้นะ ถ้าคุณมีโอกาสที่ดีกว่าคุณจะไม่ไปหรอ ในเมื่อคุณก็เห็นแล้วว่าผู้ใหญ่ในสังคมนี้มัน Hypocrite ทั้งสิ้น คือเทศนาในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ แล้วทำไมข้าพเจ้าต้องมาติดอยู่ในกรอบที่คุณมาสร้างเอาไว้แบบห่วยๆ ระบบการเมืองแบบห่วยๆ สิทธิเสรีภาพก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเขาก็ไปดีกว่าซึ่งผมเข้าใจ
แต่ถ้ามองในมุมของการอยากเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มันดีขึ้น ยังไงก็ตามต้องทำในกรอบของรัฐชาติถึงจะมีพลังที่สุด ปฎิเสธไม่ได้ว่าพลังกดดันจากภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติเองพลังมันน้อยกว่า เมื่อคุณอยู่นอกประเทศแล้ว ยิ่งตอนนี้พลังกดดันจากต่างชาติก็น้อยลงอีกเพราะทุกประเทศก็มีปัญหาของตัวเองทั้งสิ้นที่ต้องกลับไปแก้ อเมริกาก็มี EU ก็มี แล้วด้วยนโยบายที่มันเปลี่ยนไป คุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตยที่จะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้วสำหรับพวกนโยบายต่างประเทศของอเมริกา แรงกดดันจากภายนอกที่จะมาบีบให้สังคมไทยมันต้องเปลี่ยนให้ออกจากภาวะแบบนี้มันก็ยิ่งน้อย
คือถ้าอยากเปลี่ยนแปลงทางสังคมเรายังต้องยังเปลี่ยนแปลงจากภายในอยู่ในกรอบของรัฐชาติ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักที่สุด มีพลังมากที่สุด ตรงนี้จะทำอย่างไร
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ฟัง TED Talk ของคนที่เป็นนักกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวตอน Arab Spring ในอียิปต์ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ในที่สุดก็โค่นล้มมูบารัก ได้ เขาพูดหลายอย่างน่าสนใจ
เขาบอกว่าคนมักเข้าใจผิดไปเรียก Arab Spring ว่าเป็น Social Media Revolution (การปฏิวัติของโซเชียลมีเดีย) บางคนก็เรียกว่าเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ revolution แต่คนนี้เขาเป็นแกนนำจริงๆ เขาบอกไม่ใช่ เฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญจริงอย่างปฎิเสธไม่ได้ มันทำให้รัฐเผด็จการควบคุมข่าวสารอย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้อีกต่อไป อันนั้นมีประโยชน์ เขาสามารถแพร่ข้อมูลข่าวสาร ชี้ให้เห็นว่ารัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรบ้าง ทุบตีคนอย่างไรบ้าง ความโหดร้ายของตำรวจเป็นอย่างไรบ้าง เขานัดหมายชุมนุมได้แบบทันท่วงที ผ่านเฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์
แต่เขาบอกว่าคีย์สุดท้ายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ กลับเป็นเพราะมีคนจำนวนมากยอมเสี่ยงชีวิตตัวเอง และมีความกล้าหาญที่จะลงสู่ท้องถนน ตอนนั้นถ้าไม่มีคนไปที่จัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) ก็ไม่มีทางที่จะโค่นล้มมูบารักได้ ต่อให้มีคนเป็นล้าน เป็นห้าล้านสิบล้าน เล่นเฟซบุ๊ก ส่งข้อความแบบแอคทีฟ แต่ก็จะไม่มีอะไรไปกระทบกระเทือนรัฐได้ ท้ายที่สุดมันจึงต้องอาศัยการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง การปรากฏตัวของมวลชนที่มีเจตจำนงร่วมกันบนท้องถนน เพื่อเปลี่ยนสังคม
เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าอย่าประเมินพลังของโซเชียลมีเดียสูงเกินจริง ในขณะเดียวกันก็อย่าดูเบามัน ใช้มันให้เป็นประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ได้หยุดอยู่ที่โซเชียลมีเดีย แต่เราจะใช้มันอย่างไรให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากกว่า
ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าทุกประเทศต้องมาเลียนแบบเขา ต้องลงสู่ท้องถนนเป็นล้าน มันก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอื่นๆ อีกหลายแบบโดยที่เป็นไปอย่างสันติวิธีด้วย
มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นอย่างน่าทึ่งว่าในศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในโลกก็คือเปลี่ยนผ่านการประท้วงอย่างสันติ โดยสถิติ การเคลื่อนไหวอย่างสันติของคนจำนวนมากที่มีเจตจำนงร่วมกันประสบความสำเร็จมากกว่าการเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง
ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การเปลี่ยนแปลงสังคมมันสู้กันตรงนั้นแหละในยุคสมัยใหม่ หนังสือ Dictator’s Learning Curve ก็ชี้ให้เห็นอย่างน่าสนใจว่า มันไม่มีระบอบไหนในโลกที่หยุดนิ่งคงอยู่แบบเดิมได้ตลอดไป ระบอบเผด็จการที่อยู่ได้นานเป็นระบอบที่มีการปรับตัว เมื่อถึงจุดนึงที่มันปรับตัวไม่ได้แล้ว ไปฝืนต่อกระแสโลกหรือกระแสความต้องการของคนในประเทศ เมื่อนั้นมันก็ไปต่อไม่ได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายประชาชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมคุณก็หยุดนิ่งไม่ได้ คุณก็ต้องปรับตัว เพราะรัฐในโลกนี้ไมได้โง่แล้ว รัฐบาลจีน รัสเซีย ไม่ได้โง่นะ ปูตินหรือพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนหรือคนอย่างทรัมป์ก็ไมได้โง่ เขาอ่านใจประชาชนออกและรู้วิธีว่าจะครองอำนาจได้อย่างไร
ดังนั้น ฝ่ายประชาชนก็ห้ามหยุดนิ่ง ห้ามหยุดอยู่ที่การใช้วิธีเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ หรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ต้องปรับตัวเข้ากับตัวรัฐที่โฆษณาชวนเชื่อแบบแนบเนียนมากขึ้น ว่าจะเปิดโปงยังไง
การเคลื่อนไหวในแง่นี้มันเรียกร้องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ทำได้ดีกว่า คุณจะใช้ creativity ยังไง ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่คุณมีอยู่ยังไงในการเอามาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม
อย่าง Women’s March ที่ผมพูดถึงตอนต้น ผมก็ชอบนะเพราะมันทำให้โลกมีความหวังขึ้นมา ตอนทรัมป์ขึ้นสปีช ทุกคนก็บอกว่า โห นี่หายนะโลกแล้ว สปีชทรัมป์ในวันรับตำแหน่งเต็มไปด้วยความแข็งกร้าว โวหารแบบชาตินิยม จะเป็นศัตรูกับคนทั้งโลก แต่วันรุ่งขึ้นมีคนเป็นหลายล้านออกมาเดินขบวนด้วยความสดใน ร่าเริง มีความหวังว่าสังคมนี้ยังไม่มืดมน แล้วตัวการเคลื่อนไหวเองก็แสดงให้เห็นความหวัง มันมีพลังงานใหม่ๆ เกิดขึ้น
ตราบใดที่ยังมีคนรู้เท่าทันรัฐแล้วยังตั้งคำถาม และยังกล้าที่จะรวมตัวกันขนาดนี้ สังคมมันก็ไม่มืดมนหรอก สังคมไทยก็เช่นเดียวกัน ทำยังไงที่จะต้องรวมกลุ่มกันไม่ให้โดดเดี่ยว แล้วก็ทำในจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองทำได้
The MATTER : ฟังแล้วเหมือนจะมีความหวังมากขึ้น
ไม่รู้จะมีความหวังหรือเปล่านะครับ มีคนบอกว่าเราอยู่ในยุคแบบลูกตุ้ม ในความหมายที่ว่าปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยก็ค่อนข้างไร้เสถียรภาพ ถูกท้าทายเยอะ มีแรงเสียดทานเยอะ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหลายๆ อย่าง พอคนรู้สึกว่าประชาธิปไตยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้ คนหันไปหาคำตอบอื่น คนหมดศรัทธากับประชาธิปไตย ฉะนั้นประชาธิปไตยก็ล่มสลายได้ง่าย แกว่งไปแกว่งมา
แต่ในขณะเดียวกันระบอบเผด็จการก็อยู่ไม่ได้ยั่งยืน เพราะมันเป็นยุคสมัยที่แรงเสียดทานต่อระบอบเผด็จการก็เยอะเช่นกัน เพราะมันยากที่จะมีคนควบคุมข่าวสารได้เบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน มันโดนเปิดโปงได้มากขึ้น ง่ายขึ้น
วิกฤติเศรษฐกิจหรือปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มันเป็นโจทย์ท้าทายประชาธิปไตย มันก็ท้าทายเผด็จการเช่นกัน พอคนสวิงไปหาเผด็จการ อำนาจนิยม แต่สักพักถ้าคุณแก้ปัญหาไม่ได้ เขาก็ไม่เอาเหมือนกัน
ในหลายประเทศเผด็จการมันก็ล้มลง เมื่อให้โอกาสแล้วคุณตอบโจทย์ไม่ได้คุณแก้ปัญหาไม่ได้มันก็สวิงกลับมาหาประชาธิปไตยอีก ซึ่งนี่ไม่รู้ว่าจะเป็นการให้ความหวังหรือเปล่า แต่เราอยู่ในยุคที่มันผันผวนแล้วเป็นการแกว่งไปแกว่งมา ไม่ว่าระบอบไหนถ้าคุณตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตคนไม่ได้คุณก็อยู่ไม่ได้นาน
โดยธรรมชาติมนุษย์ถ้าระบอบหนึ่งมันปิดกั้นทั้งสิทธิเสรีภาพของคน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เอื้ออำนวยในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจด้วย ก็คือไม่ตอบโจทย์อะไรสักอย่าง ก็จะอยู่ได้ไม่นาน อาจอยู่ได้ 2-3 ปี แต่ว่าจะไม่คงอยู่ตลอดกาล