Pulse วันนี้ขออุทิศพื้นที่ให้กับผู้เสียชีวิตจากกรณีกราดยิงในออร์แลนโด (Orlando)
ผู้บริสุทธิ์ที่ผิดเพียงเพราะพวกเขารักกัน
เราคงเคยได้ยินคำสวยงามเกี่ยวกับความรัก ใช่แล้วล่ะ ความรักเป็นเสมือนของขวัญที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาเนิ่นนาน
‘ความรักไม่มีเงื่อนไข’ …จริงรึเปล่านะ
ในทางความรู้สึก ในทางอารมณ์ อาจจะจริง น่าจะจริง
แต่ในบางเรื่อง ความรักกลับเต็มไปด้วยเงื่อนไข… เงื่อนไขของสังคม
ทำไม ?
จูดิธ บัทเลอร์เขียนหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งในวงวิชาการชื่อ Gender Trouble ความหมายของชื่อเรื่องแสดงให้เห็นถึงความครุ่นคิดที่ว่าทำไมนะ ‘เพศ’ มันถึงได้มีความสลักสำคัญนัก ทำไมมันถึงได้เป็นปัญหา และก่อให้เกิดความยุ่งยากทั้งกายและใจให้แก่ผู้คน ปัญหาที่ว่าก็ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ แต่มันทำให้ถึงขนาดผู้คนเกลียดชังและลุกขึ้นมาทำร้ายกันได้
แนวคิดพื้นฐานที่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงวิชาการแล้ว คือการแบ่งแยกเพศ (sex) ออกจากเพศสถานะ (gender) พูดง่ายๆ ก็คือเพศในความหมายกว้างๆ มันมีความซับซ้อนมากไปกว่าการแบ่งแยกโดยลักษณะทางกายภาพที่จำกัดเพียงแค่ชายหญิง แต่ว่าเพศในความหมายของ gender มีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างซับซ้อนขึ้นไปและไม่มีความจำเป็นต้องผูกติดอยู่กับลักษณะทางกายภาพอีกต่อไป
อะไรทำให้เราเป็นผู้หญิง อะไรทำให้เราเป็นผู้ชาย สิ่งที่มากำหนดไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพหรือเรือนร่างของเรา แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่มากำกับ ‘ความเป็นหญิง’ หรือ ‘ความเป็นชาย’ ของเราอีกต่อหนึ่ง ตรงนี้นี่เองคือเพศทางสังคมที่นักคิดทั้งหลายพยายามพูดถึง
เมื่อเป็นผู้หญิงแล้ว ก็ต้องใส่กระโปรง พูดจาอ่อนหวาน นุ่มนวล สยบยอม เติบโตเพื่อไปเป็นเมียและแม่ที่น่ารักแสนดี ในขณะที่ผู้ชายก็ใส่กางเกง เป็นเพศที่ถูกกำหนดให้แข็งแรง ดุดัน เป็นผู้นำของครอบครัว และแน่นอนว่าเพศจึงกลายเป็นสิ่งที่มากำหนด ‘ความรัก’ ด้วย คือต้องรักเพศตรงข้ามเท่านั้นจึงจะถือว่าถูกต้องตามมาตรฐานที่สังคมขีดไว้
และแน่ล่ะมาตรฐานเหล่านั้นก็ถูกนำมาทาบทับและตัดสินผู้คนในสังคมว่าได้มาตรฐานหรือตกมาตรฐาน
ทั้งที่จริงๆ แล้ว มนุษย์อย่างเราๆ เต็มไปด้วยความซับซ้อน มนุษย์เราไม่ได้ผลิตจากโรงงานเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน หากแต่เต็มไปด้วยความหลากหลายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนย่อมไม่ได้มีลักษณะแบบหญิงๆ ตามอุดมคติ อาจจะไม่ได้ผอม สวยงาม อ่อนหวาน หรืออยากจะมีปลายทางเป็นเมียและอยู่กับบ้าน ในขณะเดียวกันผู้ชายหลายคนก็ย่อมไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง ไม่ได้เป็นช่างซ่อมบ้าน ไม่ได้เป็นพ่อบ้านที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำครอบครัวได้ตลอดเวลา เหมือนกับที่ชายและหญิงจำนวนมากไม่ได้มีความรักไปตามมาตรฐานของสังคม
มาตรฐานที่เพิ่งสร้างและไม่มีความคงเส้นคงวาแต่อย่างใด
ตัวตนและความรู้สึกของคน จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแยกเป็นเพียงแค่สอง เกินกว่าจะนิยามให้เป็นเพียงสิ่งที่ตรงข้ามและเคียงคู่กัน
ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนสองเพศ
สังคมไทยเองก็เหมือนกัน ดูเหมือนว่าเราจะรักกันได้อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่เรามักมีคำว่า ‘แต่’ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
เช่นถ้ามีใครสักคนหนึ่งเป็นเกย์ (คือมีความรักที่ต่างไปจากมาตรฐานของสังคม) ก็จะมีคำพูดทำนองว่า จะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี ซึ่งฟังดูดี แต่ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะในแง่หนึ่งก็หมายความว่าถ้าคุณผิดมาตรฐานหนึ่งของสังคม คุณก็ควรจะมีคุณสมบัติบางอย่าง (การเป็นคนดี) มาทำให้สังคมไทยยอมรับคุณได้ ในนัยนี้แปลว่า สังคมเราไม่ได้ยอมรับอย่างแท้จริงหรอก
ถ้าเราลองมองดูว่า ‘ความรัก’ หรือตัวตน จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่สังคมไม่น่าจะต้องมากำหนดอะไรมากมาย เพราะเราจะรักใคร หรือเราจะเป็นอย่างไร ได้มาตรฐานความเป็นชายหรือหญิงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก่อความเดือดให้กับใคร ก็ไม่น่าจะต้องเอามากะเกณฑ์ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า
ทุกอย่างมันจบลงได้ ถ้าเรามองกันในฐานะมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ไม่ได้เป็นเพียงผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือคนแก่ แต่มองกันในฐานะคนๆ หนึ่ง (person) และตัดสินกันในฐานะบุคคลเหมือนๆ กัน
แค่นี้เราก็คงจะเข้าใจกันมากขึ้น ยอมรับกันได้มากขึ้น ก้าวก่ายและเกลียดชังกันน้อยลง
แด่ผู้ที่จากไป เพียงเพราะพวกเขารักกัน
แต่เราย่อมไม่สูญสิ้นซึ่งความรัก
และที่ใดมีรักย่อมมีความหวัง
ความหวังที่ว่าความรักจะไม่นำพามาซึ่งความเกลียดชังอีกต่อไป
จาก Pulse, The MATTER ถึง Pulse, Orlando
June, 2016
May Their Souls Rest In Peace