“ย้ายประเทศกันเถอะ” ประโยคนี้ที่ไม่ได้เป็นคำฟุ้งฝันลอยๆ ที่คอยตัดพ้อถึงคุณภาพชีวิตในประเทศบ้านเกิด แต่กลายเป็นประโยคที่จุดชนวนให้ผู้คนจำนวนเกือบล้าน ลุกขึ้นมาสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตที่ต่างแดน ในกลุ่นบนเฟซบุ๊กในชื่อเดียวกันนี้ (ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปแล้ว) มีผู้คนมาตั้งคำถามถึงการทำงานในประเทศต่างๆ และผู้มีประสบการณ์มาคอยแนะนำแนวทางกันตั้งแต่ การเรียน การขอวีซ่า ไปจนถึงการใช้ชีวิตในต่างแดน
ด้วยข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศ คอยป้อนให้กับสมาชิกในกลุ่มอยู่ตลอดเวลา นอกจากเรื่องของสวัสดิการ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ต่างของไปในแต่ละประเทศแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าข้อมูลนี้มีประโยชน์ไม่แพ้กัน คือ วัฒนธรรมการทำงานในประเทศนั้นๆ ซึ่งอาจบอกได้ว่าที่ไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับเราได้ง่ายขึ้น
ตอนเราเลือกสมัครงานที่ไหนสักที่ เราเลือกจากปัจจัยตรงหน้าที่เรามองเห็นในตอนนั้น ความน่าเชื่อถือ สายงาน ตำแหน่ง รายได้ ตอนเราไปสัมภาษณ์ เรามักจะสังเกตบรรยากาศ ผู้คน ในออฟฟิศนั้นเพื่อตอบว่าเราเองเหมาะกับที่นี่ไหม แต่มองด้วยตาแล้ว assume ว่ามันเวิร์คมันไม่อาจเท่ากับความความเป็นจริง เมื่อเราเข้าไปแล้ว เราโอเคกับทุกอย่าง หน้าที่การงาน ตำแหน่ง เงินเดือน แต่บรรยากาศของจริงดันไม่เหมือนกับที่คิดไว้
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั้งเรื่องวัฒนธรรม รูปแบบการทำงาน อย่างเช่น ที่นี่ชอบทำงานให้หนักเข้าไว้ ถึงจะดูเป็นคนขยัน แต่เราชอบทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า ที่นี่ชอบคนที่มี Multi-Tasking แต่เราอยากทำงานตัวเองให้ดีก็พอแล้ว หรือเป็นเรื่องส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่นี่ เราอยากพักผ่อนในเย็นวันศุกร์ แต่โดนคะยั้นคะยอทุกสัปดาห์ให้ไปปาร์ตี้แบบพร้อมหน้า ล้วนแล้วแต่สร้างความลำบากใจในการทำงานทั้งสิ้น
วัฒนธรรมการทำงาน นอกจากแตกต่างกันไปในเรื่องรายละเอียดตามแต่ละองค์กรแล้ว ในแต่ละประเทศ ก็จะมีความแตกต่างที่สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้คนตามไปด้วย เราอาจได้ยินมาบ้างว่า บางประเทศทำงานกันหนัก เคร่งครัดระเบียบวินัย บางประเทศทำงานกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ บางประเทศปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียมเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือน filter ที่คอยจับคู่เรากับงานที่ใช่ได้ง่ายยิ่งขึ้น
รู้เท่าทันรูปแบบการทำงานของผู้คนแต่ละประเทศก่อนจะไปลงมือทำงานกับพวกเขาตัวเป็นๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดี ที่ช่วยให้เราเตรียมพร้อมและไม่เกิด culture shock ในภายหลัง เราเลยรวบรวมวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละประเทศ จากคนไทยที่ไปทำงานต่างแดน จากกลุ่มยอดฮิต “ย้ายประเทศกันเถอะ” (ที่กำลังเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ) ให้เราได้เห็นโลกการทำงานในหลากหลายมุมโลก หลากหลายวัฒนธรรม ให้ทุกคนได้นำข้อมูลที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นนี้ ไปประกอบการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้
เวลาและความรับผิดชอบ
“อเมริกา เวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้เรากลัวการมาสาย เราจะรู้สึกเฟลมาก ถ้าเราสาย 5 นาทีแล้วเพื่อนเราวิ่งหัวหมุนอยู่ ถูกปลูกฝังให้เรารักเพื่อนร่วมงาน แบบ you cannot let the team down. และต้อง flexible เสมอ เพราะตารางงานจะมาไม่เคยเหมือนกันทุกสัปดาห์
ความรับผิดชอบสูงมาก อย่างเราอยู่ไทย เรามีจะหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนต่างกัน แต่ที่นี่ ทุกคนต้อง ability to move around เช่น จะขึ้นมายืนจุดนี้ เราต้องเติมเต็มได้ทุกที่ เราต้องคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ หิมะถล่ม พายุเข้า ก็คือทำงาน เล่นก็คือเล่น แต่พอถึงเวลา service ทุกคนจะเน้นหน้าที่ของตัวเองก่อน แต่การทำงานจะรับส่งกันดีมาก มีการสื่อสารกันตลอดการเอาอาหารออก การรอกันและกัน คือถ้าคนไหนไม่สนใจทีม คือจะเป็นจุดอ่อนทันที่”
มีน
เชฟ Four Seasons Hotel Houston
เท็กซัส สหรัฐอเมริกา
เพราะเราทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน
“ผมอาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้ 10 ปีแล้วครับ จุดเด่นในการทำงานที่ผมประทับใจมากๆ เลยของที่นี่ก็คือ fairness เพราะคุณทำงานเท่าไหร่ คุณได้เงินเท่านั้น ทำงานต่อสัปดาห์คือ 38-40 ชั่วโมงเกินนี้ก็ต้องจ่ายเพิ่ม
กฏหมายที่นี่ให้ความคุ้มครองพนักงานที่ทำงานในแต่ละบริษัทอย่างเคร่งครัดมาก ค่าแรงขั้นต่ำ $19.50 ต่อชั่วโมง โดยค่าแรงขั้นต่ำจะต่างกันไปในแต่ละรัฐ และถ้าเป็นวันหยุด public holiday พนักงานจะได้ค่าแรงเพิ่มถึง 2.25 เท่า สำหรับใครที่ทำช่วง weekends ก็จะได้ค่าแรงเพิ่งขึ้นต่อชั่วโมงเช่นกัน ถ้านายจ้างคุณไม่จ่ายเงินตามค่าแรงขั้นต่ำ คุณแค่เข้าไปรายงานที่เว็บไซต์ ทางบริษัทสามารถถูกปรับได้มากถึง 6 หมื่นดอลลาร์เลย
ต่อมา fairness ด้านสุขภาพกายและจิตใจ พนักงานทุกคนควรได้สวัสดิการ holiday 4 สัปดาห์ต่อปี ถ้าใช้ไม่หมดสามารถทบไปใช้ต่อได้ในปีถัดไปหรือเบิกคืนเป็นเงินได้
รวมถึงความเคารพให้เกียรติกันในการทำงาน เราสามารถพูดได้อย่างเปิดกว้างมาก เช่น ผมมองว่าไอเดียบางอย่างที่หัวหน้าผมเสนอขึ้นมาอาจจะมีไอเดียบางอย่างที่ดีกว่า หัวหน้าจะเปิดทางให้เราได้แสดงความคิดเห็นและยอมนำไปปรับใช้ ถ้าทุกคนมองเห็นว่าดีกว่า แม้แต่ในการประชุม ทุกคนยินดีที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน
เราอาจจะเคยเห็นในบ้านเราที่ลูกค้าปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะด่าทอ ใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามพนักงานเหมือนเค้าไม่ใช่คน แต่คนเหล่านั้นทำกับพนักงานที่นี่ไม่ได้ เพราะเค้ามีกฏหมายคุ้มครองอยู่ด้วย ลูกค้าที่นี่ไม่ใช่พระเจ้า ถ้าลูกค้าประพฤติไม่เหมาะสม เราก็สามารถตักเตือนได้ แค่ลูกค้ามาแตะเนื้อต้องตัวเรา เราก็สามารถเตือนได้แล้ว ถ้าหนักหน่อยก็ฟ้องได้ด้วย
ที่ผมพูดมาทั้งหมดข้างต้นอาจจะสรุปได้อย่างง่ายๆคือ ความเท่าเทียม แค่นั้นเองครับ เราทำงานหนักเราสมควรได้รับรางวัลตรงนี้
ถ้าถามผมว่าแตกต่างยังไงจากที่ไทย มันต่างกันเหมือนยืนอยู่บนตึกที่สูงมากๆ แล้วมองไม่เห็นตีนตึกอะไรแบบนั้นเลย พวกเราเองก็รู้ดีว่าอาชีพบริการที่ไทยโดนย่ำยีมากแค่ไหน ล่าสุดก็น้องพนักงานคริสปี้ครีมที่โดนลูกค้าด่าเหยียดเพศจนถึงกับผลักกันล้มไป เอาแค่นี้แหละครับให้เห็นภาพความแตกต่างแบบชัดเจน”
นรุตม์ ทิพย์สุภา
ผู้จัดการร้านอาหารญี่ปุ่น
เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
Work hard Play harder
“ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารนานาชาติ มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ (NCCU) หรือ เจิ้งต้าที่คนไต้หวันเรียกกัน และเป็นนักศึกษาฝึกงาน สังกัดทีม Regional Marketing Research ของบริษัทโซเชียลมีเดียโซลูชัน ที่กำลังขยายฐานธุรกิจมาประเทศไทย และก็กำลังเริ่มทำ YouTube ถ่ายทอดมุมมองการใช้ชีวิตนักเรียนไทยทำงานในไต้หวันในมุมต่างๆ ทางช่อง YouTube Cherrytale
ก่อนมาที่นี่ เคยทำงานเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการ และ Social media Communication Manager ให้กับธนาคารแห่งหนึ่ง
Working culture ของคนไต้หวัน คือ คนขยัน ทำงานหนัก และทำงานเป็นระบบขั้นตอน แต่ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่า Strict เป๊ะจนเครียดเท่าบริษัทญี่ปุ่น และเนื่องจากบริษัทที่เชอรี่ทำอยู่ ถือว่าเป็นบริษัทสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ เลยคิดว่าคนไต้หวันที่ทำงานด้วยและคนชาติอื่นในทีม ก็จะเป็นสไตล์คนรุ่นใหม่หน่อยคือ Work hard, Play harder ทำงานหนักนะแต่ต้องเอ็นจอยไลฟ์ และไม่ค่อยกลับบ้านเกินเวลากันมาก
โดยรวมเรามองว่าการทำงานคล้ายกับที่ไทย ไม่ต้องปรับตัวด้านการทำงานมาก มีแค่เรื่องเดียวคือเรื่องภาษาที่ต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน บางที่ก็จะรับคนที่พูดจีนได้เก่งๆแล้วเลย ถ้าเราพูดจีนไม่ได้ ได้แต่อังกฤษตัวเลือกก็อาจจะน้อยลง
คนไต้หวันชอบนอนกลางวัน ส่วนมากจะพกข้าวกล่องจากบ้านมากินที่ออฟฟิศ และฟุบหลับกับโต๊ะ ช่วงพักกลางวันหลังกินเสร็จ ต่างจากมนุษย์ออฟฟิศไทยที่เวลาพักกลางวัน เรื่องกินเราต้องจริงจัง ออกไปกินร้านอาหารข้างนอก เดินไปตลาดซื้อของกินจุ๊บจิ๊บ ขนม ไส้กรอก ลูกชิ้น ขนมโตเกียวที่ไต้หวันจะไม่ค่อยมีแบบนั้น บางออฟฟิศถึงกับปิดไฟช่วงพักกลางวันเพื่อให้พนักงานบริษัทได้นอนพักฟุบกับโต๊ะแบบจริงๆจังไปเลย
และจริงจังกับงานเลี้ยงปีใหม่มาก งานจะจัดใหญ่มากๆ แต่ละบริษัทโดยส่วนมากจะจองห้องในโรงแรม เพื่อจัดงานและมีแจกของรางวัล ซึ่งของรางวัลให้เยอะมากแบบที่เรียกว่าได้กันเกือบครบทุกคน และรางวัลใหญ่มาก เช่นเงิน 20,000 NTD 10 รางวัล 10,000 NTD 10 รางวัล 5,000 NTD 10 รางวัล นอกจากนี้ก็ยังมีไอโฟน แอร์พอด เครื่องใช้ไฟฟ้า Dyson มากมายก่ายกอง สำหรับคนที่ไม่ได้ของรางวัลก็ยังมีเงินรางวัลปลอบใจโอนเข้าบัญชีเงินเดือนมาให้ตามตำแหน่งงานอีกด้วย”
นภัทร ไภษัชยกุล
นักศึกษาปริญญาโท
ไต้หวัน
ทุ่มเทให้กับ Well-being
“สไตล์การทำงานของทีมนี้จะค่อนข้างรีแลกซ์ ผู้จัดการทีมเป็นกันเอง และเขาจะเกรงใจเรามากๆ ช่วงไหนที่ workload งานเยอะ เขาจะถามก่อนว่าเรายังรับได้อีกแค่ไหน ต้องการเลื่อนเดดไลน์หรือเปล่า ทำงานนี้ได้ไหม หรือบางทีมีงานจากต่างแผนกมาขอให้เราช่วย เขาก็จะบอกเราว่าถ้าเรายุ่งมาก เรามีสิทธิปฏิเสธที่จะช่วยงานได้ พูดได้ว่าค่อนข้างแฟร์
บริษัทเราสปอนเซอร์ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้หลายอย่างโดยเฉพาะค่า work permit ตั๋วเครื่องบิน และที่พักชั่วคราว (6 อาทิตย์) ทำให้คลายกังวลไปได้บางส่วน เราไม่ต้องมาดิ้นรนหาที่พักเองจากไทย แต่จะมีนายจ้างน้อยรายมากที่จะสปอนเซอร์แบบนี้ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการมายุ่งยากเรื่องวีซ่าและเอกสารให้เสียเวลาและทรัพยากร
และที่นี่ไม่จำกัดอายุการสมัครงาน หากคุณมีความสามารถพอ มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เขาก็รับไว้ทำงาน ที่ทีมเราเคยมีนักแปลเยอรมันคนหนึ่งเข้ามาทำงาน เขาเป็นคุณลุงอายุก็ราวๆ รุ่นพ่อได้แล้ว แต่มาทำงานแปลและทดสอบเกมที่ต้องใช้สมาร์ตโฟน/แท็บเล็ต ทั้งๆ ที่แกยังใช้มือถือปุ่มกดอยู่
ส่วนตัวเรามองว่าการมาอยู่ที่นี่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราในเรื่องของการรีสกิลปรับทักษะเพื่อให้ทันต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน บางคนอายุ 40+ มีครอบครัวแล้วก็ยังสามารถเริ่มต้นทำงานในสายงานใหม่ได้จากการรีสกิล อย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่รู้สึกเคว้งแบบเวลาอ่านประกาศรับสมัครงานในไทยที่กำหนดเกณฑ์อายุในการสมัครงาน
ถ้าเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ก็จะค่อนข้างหัวก้าวหน้า เพราะเป็น multinational company มีพนักงานหลายเชื้อชาติจากทั่วโลก สนับสนุนความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับ work life balance และเวลาพักผ่อนของพนักงาน ทำงานเสร็จมีคุณภาพทันเดดไลน์ แล้วจะพักผ่อนสบายๆ ก็ได้
สิ่งที่ต่างจากไทยแรกๆ เลยคือเวลาเข้างาน ถ้าของบริษัทผมจะไม่บันทึกเวลาเข้างาน เพียงแต่กำหนด gap เวลาเข้างานไว้เฉยๆ ใครมาก่อนกลับก่อน ไม่มีใครมาจับผิดหรือประเมิน performance จากเวลาเข้างาน”
คณินทร์ ผ่องงามจิต
นักแปลและนักทดสอบเกม
ดับลิน ไอร์แลนด์
ทุ่มเทให้งาน ทุ่มเทให้ทีม
“อเมริกาทำงานเป็นทีม และเน้นความซื่อสัตย์มาก งานนี้เป็นงานหนักมากๆ ทหารตรวจเป็นระดับอนุบาลไปเลย เพราะพนักงานดับเพลิงเราช่วยทุกคน ใครบาดเจ็บช่วยหมด ไม่ว่าจะทหารตำรวจหรือแม้กระทั่งคนไร้บ้าน เงินเดือนของเขตแอลเอเริ่มต้นที่ $5000-$7000 (แสนห้า-สองแสนบาทไทย) ต่อเดือน แต่ตอนจอยซ์ทำงาน เพิ่งได้งานเเรกๆ เจอช่วงโควิดเลยได้เพิ่มพิเศษเป็นเดือนละ$10000-$12000 (3-5แสนบาทไทย)
ช่วงนั้นทำ 7 เดือนติดไม่มีวันหยุด แต่กว่าจะได้เป็นไม่ง่ายเลย ต้องเรียนอดทน ฝึกฝน ร้องไห้ออกกำลังกายทุกวัน ยากมาก ยาวนานมาก เพราะเราต้องทำงานที่ต้องลากคนอเมริกันตัวใหญ่ๆออกจากบ้านที่ไฟไหม้ แบกออกจากหน้าต่างบ้างบางที ละต้องเอาเค้าออกมาและตัวเราต้องก็รอดด้วย ชุดก็หนักเท่าตัวเราอีกคนแล้ว ไม่ง่ายเลย”
จอยซ์
พนักงานดับเพลิง พนักงานกู้ชีพฉุกเฉิน
แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เพราะทุกคนคือคนทำงานเหมือนกัน
“ที่นี่อายุงานไม่สำคัญ ให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่า หัวหน้าจึงเป็นเหมือนเป็นโค้ช ที่เราพูดคุยได้ทุกเรื่อง ถ้าเสนอทำแล้วอะไรที่ทำให้เราทำงานได้สะดวก และ ง่ายขึ้น ทีมหัวหน้าก็จะนำไปปรับใช้ ยังเป็นการสั่งงานจากบนสู่ล่าง แต่หัวหน้าทีมจะลงมาหน้าทำงาน ทำงานหน้างานกับลูกน้องด้วย พนักงานในองค์กรให้เกียรติกัน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่ค่อยมีการเมืองในทีม ใครเด็กใคร ให้ความสำคัญทุกคนเท่ากัน และให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลา ความมีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตัวเอง
เวลาพักระหว่างงานค่อนข้างเยอะ พอทำงานไป 1 – 1.5 ชั่วโมง จะให้พัก 5-10 นาที เพื่อ productivity ได้เปลี่ยนที่ทำงานทุกๆ 2 ชั่วโมง ไม่ต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ มี holiday ทุกๆ 5 อาทิตย์ / ปี สวัสดิการเต็มที่มาก ค่าจอดรถ บัตรลดราคาอาหารเราจ่าย 50% บริษัทจ่าย 50% และอื่นๆ อีกมาก สิ่งที่เห็นว่าการทำงานที่นี่ต่างจากไทยที่สุดคงจะเป็น ระบบ ที่ทันสมัย ง่าย ชัดเจน ทุกอย่างเป็นระบบ เป็น digital ไม่มีงานเอกสารวุ่นวาย”
Chalothorn Troller
พนักงานประจำบริษัท การท่าอากาศยานซูริค
สวิตเซอร์แลนด์
สังเกตได้เลยว่าวัฒนธรรมการทำงานในแต่ละประเทศ สะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตในวันธรรมดาด้วยเช่นกัน อย่าเพิ่งมองแต่รายได้และสวัสดิการอันเป็นเลิศ อย่าลืมเลือกพื้นที่ที่เหมาะกับเรา (อย่างน้อยในเบื้องต้นก็ยังดี) ให้การทำงานในโลกใหม่นั้น เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราตอบได้อย่างเต็มปากว่าทำไมเราถึงเลือกประเทศนี้