‘แสง’ เป็นพลังงานที่สำคัญต่อมนุษย์และสรรพสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่ในแง่ของการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่สำคัญไปถึงระดับจิตใจ และยังส่งผลให้เราเกิดภาวะทางอารมณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย
เคยสังเกตมั้ยว่าช่วงฤดูหนาวเราจะรู้สึกเศร้าซึมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เช่น ฟินแลนด์ ซึ่งพบว่าประชากรกว่า 40 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาทางอารมณ์ตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder หรือ SAD) และมีบางส่วนเกิดภาวะซึมเศร้ารุนแรงในช่วงต้นฤดูหนาว หรือที่เรียกว่า Winter Blues นั่นก็เพราะพวกเขาสัมผัสกับแสงน้อยลง ในขณะที่กลางคืนหรือความมืดยาวนานมากขึ้น
นอกจากนี้ เวลารู้สึกแย่ๆ เคยสังเกตมั้ยว่าแค่เดินออกไปข้างนอก อยู่ท่ามกลางแสงแดดสักพัก ก็กลับมารู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวากว่าเดิม ก็อย่างที่บอกแหละว่าแสงสำคัญต่อจิตใจเราจริงๆ
…แต่ก็ไม่ใช่ทุกแสงหรอกนะ
แสงที่ดีคือแสงธรรมชาติ
จากโฆษณาครีมกันแดดมากมายในจอทีวี เราจะเห็นว่าแสงแดดหรือ UV ต่างๆ คือตัวการร้ายทำลายผิวที่ควรหลีกเลี่ยงให้ไกล แน่นอนว่าการทาครีมกันแดดย่อมปลอดภัยที่สุดแล้ว โดยเฉพาะแสงแดดบ้านเราที่ทำให้ตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่าดาวพุธหรือประเทศไทยกันแน่ที่อยู่ถัดจากดวงอาทิตย์ แต่หากเราออกไปรับแสงแดดช่วงเช้าในปริมาณที่พอเหมาะ (ประมาณ 5-15 นาที) หรือเปิดผ้าม่านให้แสงแดดเข้ามาในห้องอย่างเพียงพอ เราจะได้รับ ‘วิตามินดี’ ที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง รวมถึงป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนด้วย
และอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า แสงมีอิทธิพลต่อภาวะทางอารมณ์ นั่นก็เพราะว่าแสงแดดช่วยเพิ่ม ‘เซโรโทนิน’ หรือสารเคมีในสมองที่หากมีน้อยเกินไป ก็จะส่งผลต่อการเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดูกาล ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะวิตกกังวลได้ ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง (BYU) ก็พบว่า แสงแดดส่งผลกระทบอย่างมากสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ และส่งผลกระทบมากกว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างน้ำฝนหรืออุณหูมิเสียอีก นอกจากนี้ รายงานจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์อิสฟาฮาน ประเทศอิหร่าน ยังพบอีกว่า ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดีมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะทางจิตมากกว่าผู้ที่มีวิตามินดีในระดับที่พอดี
อีกทั้ง แสงแดดยังช่วยให้เรื่องของการนอนหลับ แม้ว่าการนอนหลับจะเป็นเรื่องของช่วงเวลากลางคืน แต่การที่เราได้รับแสงแดดอย่างพอเหมาะ จะทำให้เราได้ปรับอารมณ์ ความรู้สึก และสัมผัสถึงการใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้อย่าง ‘อย่างชัดเจน’ มากขึ้น จนทำให้ช่วงเวลากลางคืนที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนนั้นชัดเจนตามไปด้วย เหมือนทำให้ร่างกายรู้ว่าตอนนี้คือกลางวันหรือกลางคืน เราควรจะตื่นมาใช้ชีวิตหรือพักผ่อนให้เต็มที่ ฉะนั้น สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ลองเปิดผ้าม่านหรือหน้าต่างให้แสงเข้าห้องอย่างเต็มที่ในเวลากลางวันอาจช่วยได้
เมื่อแสงสว่างคือสิทธิตามธรรมชาติ
หลายคนก็คงรู้สึกแหละว่าอยากให้แสงเข้ามาในบ้านเยอะๆ บางบ้านถึงกับยกกระจกสูงจรดเพดานเพื่อให้แสงแดดเข้ามาเยอะๆ แต่บางบ้าน—โดยเฉพาะในตัวเมืองที่หนาแน่น จะพบว่าหน้าต่างที่ควรจะมีแสงแดดสาดส่องเข้ามา กลับกลายเป็นเงาทมิฬของตึกสูงทอดยาวลงมาแทน เช่น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า หรือทางรถไฟฟ้า จนทำให้บรรยากาศในบ้านอึมครึมทั้งวันจนแทบจะแยกช่วงเวลาไม่ออก
ที่สหราชอาณาจักรจึงมีกฎหมายหนึ่งที่ชื่อ ‘Right to Light’ ว่าด้วย ‘สิทธิที่จะได้รับแสงธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทางกฎหมาย ที่ให้เจ้าของอาคารเพลิดเพลินกับแสงธรรมชาติที่ส่องผ่าน ‘ช่องรับ’ (โดยทั่วไปก็คือหน้าต่าง) แต่หากแสงที่ลอดผ่านถูกทำให้ลดลงด้วยการก่อสร้างหรือการพัฒนาใหม่ (รวมถึงส่วนต่อขยายของบ้านพักอื่นๆ) จนทำให้เกิดความรำคาญ หรือไม่ได้รับแสงอย่างเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เจ้าของอาคารจะสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้
โดยเกณฑ์เบื้องต้น เจ้าของอาคารนั้นจะต้องได้รับแสงธรรมชาติผ่านช่องรับอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี จึงจะเห็นว่าสมัยก่อนในใจกลางกรุงลอนดอน บริเวรณใกล้กับไชน่าทาวน์หรือโคเวนต์การ์เดน จะมีบ้านเรือนที่ติดป้าย ‘Ancient Light’ ที่แปลว่าแสงโบราณ เอาไว้อย่างเห็นได้ชัดตามหน้าต่างแต่ละบาน การออกแบบและก่อสร้างในสมัยช่วงต้นทศวรรษ 1930 อย่าง Broadcasting House จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ผู้คนประกาศใช้สิทธินี้ จนส่งผลให้การออกแบบมีความลาดเอียง ไม่สมมาตร เนื่องจากต้องการให้แสงธรรมชาติส่องผ่านอาคารไปยังบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออก
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสร้างบ้านขึ้นมาแล้วจะได้รับสิทธิดังกล่าวเสมอไป เพราะสิทธิที่จะได้รับแสงสว่างนั้นถูกประเมินเมื่อแสงที่ผ่านช่องรับหรือหน้าต่างถูกทำให้ลดลงเท่านั้น หรือการที่เราไปฟ้องร้องเพื่อนบ้านว่าเงาจากตึกของเขาทอดลงมาบังหน้าต่าง ไม่ได้หมายความว่าเพื่อนบ้านจะต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างนั้นทิ้ง เพราะศาลจะมีการคำนึงถึงปัจจัยอีกหลายประการ เช่น เพื่อนบ้านได้รับรู้สิทธิดังกล่าวก่อนจะทำการก่อนสร้างมั้ย มีความล่าช้าในการยื่นคำร้องหรือเปล่า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งก่อนสร้างนั้นด้วย
ส่วนประเทศไทยเอง ที่ผ่านมาก็ได้มีการร้องเรียนความเดือดร้อนในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่รับผิดชอบพิจารณา ‘รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม’ หรือ Environment Impact Assessment (EIA) ได้เสนอเกณฑ์ใหม่ โดยห้ามก่อสร้างตึกหรืออาคารสูงบดบังแสงแดดหรือทิศทางลมของชุมชนรอบด้าน แต่อาจจะเป็นไปได้ยากในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเหลือพื้นที่ว่างอยู่ไม่มากนัก ทำให้ผู้ก่อสร้างต้องใช้สอยพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการสร้างตึกที่มีความสูงมากขึ้น ทำให้เกณฑ์นี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บ้านจัดสรร หรืออาคารชุด เป็นต้น
จากแสงธรรมชาติสู่แสงจอ LED
จากโฆษณามากมายในจอทีวีที่บอกว่าแสงแดดทำร้ายผิว จริงๆ แล้ว Blue Light ที่มาจากหลอดไฟ LED หรือหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เรากำลังจ้องอยู่ ก็ไม่ใช่ย่อยๆ เหมือนกันนะ แต่เราก็พอจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าโทษของการดูทีวี เล่นมือถือ หรือจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นยังไง ซึ่งหลายคนก็ดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยการหาแว่นกรองแสงมาใส่ หรืองดการมองหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะหลีกเลี่ยงแสงสว่างดังกล่าวได้ จนได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อย่างในกรณีล่าสุด มีกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่ย่านทองหล่อได้เรียกร้องให้บริษัทรับทำป้าย LED รับผิดชอบต่อแสงสว่างที่สาดเข้ามาในบ้านช่วงเวลากลางคืน จนส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถพักผ่อนได้ ถึงขั้นมีอาการปวดหัว เวียนหัว เหม่อลอย ซึมเศร้า และนอนไม่เป็นเวลา แม้ทางบริษัทจะเยียวยาด้วยการให้ผ้าใบสีดำมาปิดไว้ที่หน้าต่าง แต่ก็ไม่สามารถบดบังแสงนั้นได้อย่างสนิท
‘มลพิษทางแสง’ นับว่าเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันในสังคมเท่าไหร่ แต่เชื่อว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้อยู่ไม่น้อย เพราะช่วงหลังๆ มานี้ป้ายโฆษณามีการปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้ป้ายโฆษณาไดโอดเปล่งแสง (Light-Emitting Diode) แม้สำนักงานเขตจะยืนยันว่าเป็นการสร้างความรำคาญแก่ชุมชน แต่หลายบริษัทก็เลือกที่จะชดใช้ค่าเสียหายในหลักพันถึงหลักหมื่น มากกว่าเอาป้ายที่สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านต่อเดือนออกไป แต่การมองว่าปริมาณแสงเท่าไหร่ถึงมากหรือน้อยเกินไปสำหรับการใช้ชีวิต แม้แต่กฎหมาย Right to Light ของสหราชอาณาจักรเองก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ ทำให้ปัญหามลพิษทางแสงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
แต่หากมองในแง่ของการรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน บริษัทรับทำป้าย LED ต่างๆ ต้องทำความเข้าใจว่าการได้รับแสงสว่างในช่วงเวลากลางคืนที่มากไปส่งผลต่อการพักผ่อนของมนุษย์ เพราะการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องควบคุมให้แสงมืดในระดับที่พอดี เพื่อให้นาฬิกาชีวิตภาพได้ปรับตัวเข้าสู่โหมดพักผ่อน แต่เมื่อถูกแสงจากข้างนอกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจะรู้สึกตื่นจนเหมือนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงกลางวัน และไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ แถมแสงจากป้าย LED ก็ไม่ใช่แสงฟุ้งที่เล็ดลอดเข้ามาอย่างไฟส่องถนน แต่เป็นแสงจ้าที่สาดเข้ามาในห้องนอนอย่างเต็มๆ จึงไม่แปลกหากผู้ร้องเรียนจะระบุว่าตนมีอาการซึมเศร้า เพราะการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและภาวะอื่นๆ ทางจิตใจได้
ถึงอย่างนั้น ทางบริษัทก็ยังคงมองในแง่ของเม็ดเงินเล็กน้อยที่เสียไปเพื่อให้เรื่องสงบ แลกกับการได้รับเม็ดเงินมหาศาลจากค่าโฆษณาเข้ากระเป๋าแทน แล้วเมื่อไหร่ถึงจะเข้าใจว่า ร่างกายของมนุษย์ต้องการแสงสว่างที่พอดี แต่ไม่ใช่แสงสว่างจากป้าย LED ขนาดยักษ์ที่สาดเข้ามา
อ้างอิงข้อมูลจาก