เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่ กทม.
การทำความเข้าใจคนไทยในภูมิภาคต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต วิธีคิด พฤติกรรม ไปจนถึงเหตุและผลต่างๆ ในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ จึงมีความสำคัญ
ในโอกาสที่ปี 2566 เป็นปีของการเลือกตั้งใหญ่ The MATTER จึงจัดทำรายการนอกBangkok พร้อมชักชวนให้ผู้คนมาพูดถึงการเมืองท้องถิ่นและ ‘ตระกูลการเมือง’ ในจังหวัดต่างๆ ที่หลายเรื่องอาจเป็นสิ่งที่คนซึ่งใช้ชีวิตและเติบโตอยู่ใน กทม. หรือเมืองใหญ่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อน
เราเปิด episode แรกของรายการนี้ ด้วยเรื่องราวของ ‘ตระกูลชิดชอบ’ ผู้ครองความยิ่งใหญ่ทั้งใน จ.บุรีรัมย์และระดับชาติ
โดยผู้ที่จะมาเล่าความเป็นมาเป็นไป ก็คืออาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีอะไรน่าสนใจบ้าง ขอเชิญชวนไปติดตามพร้อมๆ กัน
หมายเหตุ: ภาพครอบครัวชิดชอบ ที่ถูกนำมาใช้เป็นภาพปกของบทความนี้ นำมาจาก ‘หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพชัย ชิดชอบ’
ทำไมต้องบุรีรัมย์?
จ.บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่สำคัญทางการเมือง เพราะว่ามี ส.ส.ถึง 10 ที่นั่ง ก็เป็นจังหวัดที่เรียกว่าขนาดใหญ่ ใครได้ ส.ส.ทั้งจังหวัดก็ถือว่าได้โควตารัฐมนตรี 1 คนในระบบแบบไทยๆ ซึ่งจะจัดสรรโควตาตามจำนวน ส.ส.ในสังกัด ฉะนั้น จ.บุรีรัมย์ก็ถือว่าเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญที่แต่ละพรรคอยากได้ เพราะว่ามีไม่กี่จังหวัดที่มีขนาดใหญ่ประมาณนี้
ผมเคยทำวิจัยที่ จ.บุรีรัมย์ ตอนสมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ในหัวข้อเจ้าพ่อกับความรุนแรงในการเลือกตั้งไทยของไทย ซึ่ง จ.บุรีรัมย์เป็นหนึ่งใน 6 จังหวัดที่เลือกไปศึกษา แต่ละจังหวัดก็จะมีสภาพไม่เหมือนกัน อย่าง จ.บุรีรัมย์ คนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรมมีน้อย ภาคบริการยังมีน้อย ถ้าไปดูรายได้ครัวเรือน ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่ค่อยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงมากนัก
การเมืองใน จ.บุรีรัมย์ยุคหนึ่งเคยรุนแรง หลายคนอาจจะเกิดไม่ทัน เช่นระหว่างปี 2535-2539 การเลือกตั้งช่วงนั้น จ.บุรีรัมย์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกจับตามากที่สุดในประเทศ ถึงขั้นว่าต้องมีตำรวจ ตชด.ไปรักษาความปลอดภัยระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เอาทหารไปลงในคืนช่วงวันก่อนการเลือกตั้งที่เขาเรียกว่า ‘คืนหมาหอน’ เพราะเป็นวันที่จะซื้อเสียงโค้งสุดท้ายแล้ว และมีการปะทะกันดุเดือด
ตระกูลการเมือง ‘ชิดชอบ’
ถ้าเราพูดถึง จ.บุรีรัมย์ ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง ‘ตระกูลชิดชอบ’ คนรุ่นปัจจุบันอาจจะรู้จักตระกูลชิดชอบ จากคุณเนวิน ชิดชอบ และรู้จัก จ.บุรีรัมย์จากสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
เราสามารถใช้ตระกูลชิดชอบเป็นตัวเดินเรื่องของการเมือง จ.บุรีรัมย์ได้เลย ก็คือมองประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางการเมือง ผ่านการขึ้นลงของตระกูลชิดชอบ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพลที่สุด ครองตำแหน่ง ส.ส.มากที่สุดในจังหวัด ถ้าในภาษาปัจจุบัน เขาก็จะเรียกว่า ‘บ้านใหญ่’
ตระกูลชิดชอบเริ่มเข้ามาสู่การเมืองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2512 เมื่อ 50-60 ปีก่อน รุ่นแรกก็คือคุณชัย ชิดชอบ ซึ่งเป็นพ่อของคุณเนวินและคุณศักดิ์สยาม (ชิดชอบ) ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นเจนเนอเรชั่นสอง ส่วนเจนฯ แรกก็คือคุณชัยที่เป็น ส.ส. มาตั้งแต่ปี 2512 หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจรเริ่มผ่อนคลายทางการเมือง ภายหลังไม่มีรัฐธรรมนูญมาเป็นสิบปี ก็ยอมให้มีและจัดการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนั้นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคก็ลงสมัคร ส.ส.ได้ ที่เรียกว่า ส.ส.อิสระ’ ซึ่งคุณชัยก็เป็น ส.ส.อิสระ ซึ่ง ส.ส.ยุคนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบันก็คือคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
จากนั้นคุณชัยก็เล่นการเมืองต่อมาเรื่อยมา แต่ว่าสอบตกบ้าง-สอบได้บ้าง ไม่ได้ถึงกับว่ามีอิทธิพลมากนัก พร้อมกับทำงานการเมืองก็ทำธุรกิจไปด้วย ก็คือธุรกิจโรงโม่หิน (โรงโม่หินศิลาชัย) จริงๆ กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มใน จ.บุรีรัมย์ก็ทำธุรกิจคล้ายๆ กัน คือโรงโม่หินหรือรับเหมาก่อสร้าง
ตระกูลชิดชอบมาขยายอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จจริงๆ ตอนรุ่นคุณเนวิน พูดง่ายๆ เจนฯ 2 เป็นคนสร้าง ‘อาณาจักรทางการเมือง’ ให้ยิ่งใหญ่ บางตระกูลเจนฯ แรกประสบความสำเร็จ เจนฯ 2 แค่มารับช่วงต่อ แต่ของตระกูลชิดชอบ เจนฯ 2 เนี่ยแหละเป็นคนมาทำให้ตระกูลชิดชอบมาเป็นอาณาจักรทางการเมืองที่แท้จริง
เนวิน ชิดชอบ
การเมืองใน จ.บุรีรัมย์สมัยก่อน ตอนที่คุณชัยเริ่มเล่นการเมืองใหม่ๆ มันยังมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม แล้วไม่มีใครผูกขาดได้ เหมือนเขาแบ่งโซนกันไปเลย แต่ละกลุ่มการเมืองก็ว่า ฉันเอาโซนนี้ ไม่ต้องมายุ่งกัน แต่ละกลุ่มก็มีฐานเสียงเฉพาะของตัวเอง แบ่ง ส.ส.กันไป กลุ่มนี้มี ส.ส. 2 คน กลุ่มนี้ ส.ส. 3 คน เรียกว่า ‘ไม่เหยียบตาปลากัน’
พอเป็นแบบนี้การเมืองก็ไม่ได้ดุเดือดมาก ยุคแรกๆ ต่างคนต่างอยู่ในโซนของตัวเอง จุดเปลี่ยนก็คือตอนที่คุณชัยเริ่มดันลูกชายตัวเองให้มาสืบอำนาจทางการเมืองต่อ
ลักษณะของ ‘ตระกูลการเมือง’ เขาต้องสืบทอดอำนาจผ่านลูกผ่านหลานผ่านเครือญาติ มันก็เหมือนธุรกิจครอบครัวอย่างหนึ่ง ก็คือ family business เพียงแต่ว่าอันนี้มันเป็น family politics ก็สืบทอดอำนาจผ่านทางลูก เพราะว่าเป็นคนที่ไว้ใจที่สุด
คุณเนวินก็ถูกดันให้มาเล่นการเมืองตั้งแต่ยังหนุ่ม เป็น ส.จ. (สมาชิกสภาจังหวัด) ตั้งแต่อายุ 27 ปี ถือว่าเด็กมาก แถมไม่ได้เป็น ส.จ.เฉยๆ แต่เป็นถึง ‘ประธานสภาจังหวัด’ ตอนนั้นก็เป็นข่าวใหญ่นะ เพราะถือว่าเป็นประธานสภาจังหวัดที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ จึงเริ่มเฉิดฉายและโดนจับตา
จากระดับท้องถิ่นค่อยขยับมาสู่ระดับชาติ คือในปี 2531 คุณเนวินได้เป็น ส.ส. และหลังจากนั้นแกก็มีชื่อเสียงจากการแสดงบทบาทในสภา เป็น ส.ส.ที่ทำการบ้าน ไม่รู้เรื่องไหน ไปคุยกับนักข่าว-นักวิชาการ ขอความรู้ และอภิปรายโดยมีข้อมูลประกอบ ฝีปากกล้า
แล้วชื่อเสียงของแกมาโดดเด่นตอนที่อภิปรายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีคุณชวนเป็นนายกฯ กรณี สปก.4-01 โดยอภิปรายคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ โครงการนี้มันเป็นของรัฐบาลที่จะเอาที่ดินไปแจกคนจนเพื่อให้มีที่ดินทำกินของตัวเอง เป็นความตั้งใจดีนะ แต่ไปค้นพบว่าโครงการนี้มีการคอร์รัปชั่นเยอะแยะมากมาย คนที่ได้ที่ดินไปไม่ใช่คนจน กลายเป็นเศรษฐีเจ้าที่ดินหรือคนในพรรคการเมืองเอง มันเลยกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว
คุณเนวินก็ไปอภิปรายในสภา จนกระทั่งรัฐบาล ปชป.ต้องยุบสภา พูดง่ายๆ คือทำให้รัฐบาลล่มเลย เพราะประเด็น สปก.4-10 คุณเนวินก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา และในช่วงนั้นเองก็เริ่มให้น้องชาย (ศักดิ์สยาม) มาลง ส.ส.ด้วย ให้ภรรยา (กรุณา ชิดชอบ) มาลง ส.ส.ด้วย จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในช่วงนั้น
การเลือกตั้งปี 2538 และปี 2539 มีคนตระกูลชิดชอบอยู่ในสภา 3-4 คน ก็เริ่มมีความเป็น ‘ตระกูลการเมือง’ ใน จ.บุรีรัมย์ มาถึงจุดที่ตระกูลชิดชอบครองอำนาจได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัด
วิธีขึ้นสู่อำนาจ
ส่วนใหญ่มันไม่ได้พิสดาร วิธีที่จะชนะการเลือกตั้งโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ..นี่เรากำลังพูดถึงการเมืองนอก กทม. ซึ่งภาพการแข่งขันเป็นอีกแบบ เพราะการพัฒนามันเป็นอีกแบบ คน กทม.ส่วนใหญ่มีความเป็นปัจเจก เพราะมีความสะดวกสบายหมดแล้ว นักการเมืองไม่ต้องไปตัดถนน สร้างบ่อน้ำ ไม่ต้องสัญญาว่าจะสร้างโรงเรียน-โรงพยาบาล
แต่คนต่างจังหวัดมันไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย แม้แต่โครงสร้างพื้นฐานปัจจัยสี่ต่างๆ เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ตรงนี้รัฐยังไม่ได้ดูแลคนในท้องถิ่นมาก พวกตระกูลการเมืองหรือสมัยก่อนมีอีกคำหนึ่งคือ ‘เจ้าพ่อ’ หรือผู้มีอิทธิพล ก็มาเติมเต็มตรงนี้
คนเหล่านี้ซึ่งเขาเป็นนักธุรกิจ เป็นคนที่มีทรัพยากรเยอะ แล้วอยากมาเล่นการเมือง เขาก็รู้ว่าวิธีชนะได้ ได้คะแนนเสียงเยอะๆ ก็ต้องแบบสร้าง ‘ระบบอุปถัมภ์’ ดูแลประชาชน ถ้าดูแลประชาชนได้อย่างดี ประชาชนรู้สึกว่าเราเป็นที่พึ่ง เมื่อถึงฤดูเลือกตั้ง ประชาชนก็จะมาหย่อนบัตรให้เรา เป็นการตอบแทน ผู้ให้-ผู้รับ
ฉะนั้นตระกูลการเมืองเหล่านี้ รวมถึงตระกูลชิดชอบก็เริ่มสร้างสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอุปถัมภ์ขึ้นมาในการดูแลชาวบ้าน งานบุญ งานบวช งานศพ งานแต่ง ก็ต้องเจอหรืออย่างน้อยมีพวงหรีด มีซอง ใครไม่มีงานทำ ช่วยหางาน พ่อแม่เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ก็ช่วยฝากฝัง ช่วยลัดคิว ทุกอย่าง
แต่มันต้องมี ‘ตัวกลาง’ เวลานักการเมืองจะสร้างระบบอุปถัมภ์ เพราะต่อให้คุณเนวิน คุณบรรหาร (ศิลปอาชา) หรือกำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) ตัวคนเดียวไม่มีทางไปดูแลชาวบ้าน รับเรื่อง ช่วยเหลือคนในจังหวัดได้หมดหรอก ก็ต้องมีตัวกลาง ที่ภาษาการเมืองเราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘หัวคะแนน’ คือคนที่คอยเป็นมือไม้ คอยช่วยนักการเมืองในการที่ไปดูชาวบ้านดูแล ซึ่งมีทั้งผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน บางทีเป็นครูก็ได้ หรืออาจจะเป็นพระก็มีนะ ก็คือจะเป็นใครก็ได้ที่คนในชุมชนเขาให้ความเคารพนับถือ
ระบบหัวคะแนนแบบ ‘ขายตรง’
ทีนี้ใครสร้างระบบหัวคะแนนได้กว้างขวางที่สุด เหนียวแน่น และหัวคะแนนทำงานเก่ง ซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย หาเสียงให้เก่งด้วย ซึ่งบริบทยุคนั้นมันก็รวมถึงวิธีการที่มัน ‘สีเทา-สีดำ’ ด้วยนะ มันไม่ได้มีแต่ ‘สีขาว’ อย่างเดียวแบบไปช่วยเหลือชาวบ้าน มีเรื่องของการจ่ายเงินหรือใช้อิทธิพลข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม หัวคะแนนก็มีหน้าที่หลายอย่าง ใช้ทั้งไม้นวมไม้แข็ง เพื่อให้ได้มาในชัยชนะในการเลือกตั้ง
ทุกตระกูลก็ทำแบบนี้ ทุกบ้านใหญ่ก็ทำคล้ายกัน เพียงแต่ว่าตระกูลชิดชอบ สร้างระบบหัวคะแนนที่ค่อนข้างเป็นระบบมาก ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงระบบ ‘ขายตรง’ แบบ Amway สมมุติผมเป็นผู้สมัครเป็นนักการเมือง ผมก็มีลูกน้องข้างกาย ที่เป็นคนที่ไว้ใจที่สุด และเป็นระดับอาวุโสหน่อย 4-5 คน ลูกข่ายที่รอบตัวเรา แต่ละคนต้องไปสร้างเซลล์ ก็คือหัวคะแนนหลักไปหาหัวคะแนนรอง ไปสร้างทีมอีก 10-20 คน และหัวคะแนนรองก็ไปหาหัวคะแนนลงไปอีกเป็นเซลล์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็เป็นเหมือนโครงข่ายพีระมิด
พอเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้เนี่ย เขาสามารถคำนวณคะแนนได้ล่วงหน้าเลย ด้วยความมั่นใจว่าเขตนี้เขาชนะแน่ เขารู้ละ ว่าจะได้ประมาณกี่คะแนนเสียง
สมัยนั้น พรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็ง ฉะนั้นการแข่งขันเชิงนโยบายไม่มี ทุกพรรคเราไปเอานโยบายมากางจะพบว่าเหมือนกันหมด ก็คือลอกๆ กันมา ไม่มีความต่างเชิงนโยบาย เราไปโทษชาวบ้านไม่ได้ว่าทำไมเขาไม่เลือกที่นโยบาย ก็มันไม่มีนโยบายให้เขาเลือก เลือกพรรคไหนไปก็เหมือนกัน ฉะนั้นเขาก็ต้องเลือกด้วยการดูอย่างอื่นที่มันเป็นรูปธรรมมากกว่า คือ ‘ผลประโยชน์ที่มันจับต้องได้’
ไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ เราจะเอาคะแนนเสียงไปแลกให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มันจะดีกับเรามากที่สุด เมื่อเขายังขาดปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้และรัฐไม่ได้ดูแลเขา เขาไปเลือกนักการเมืองที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้มากที่สุด
ก้าวสู่ระดับชาติ
ช่วงนั้น ทรัพยากรของตระกูลชิดชอบก็มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าคุณเนวิน ด้วยความเป็น ส.ส.ที่มีบทบาทมาก และเริ่มสร้างอาณาจักรของตัวเอง แกก็ไปช่วยให้นักการเมืองจังหวัดรอบๆ ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่แค่ในจังหวัดตัวเองเท่านั้น จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ ที่อื่นๆ ก็เริ่มเป็น ‘มุ้งการเมือง’ ที่สำคัญขึ้นมา ทำให้คุณเนวินก็ได้เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 30 กว่า ในสมัยรัฐบาลพรรคชาติไทยของคุณบรรหาร ถึงขั้นเป็น รมช.คลังเลย หลังจากนั้นก็ได้เป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง
การได้เป็นรัฐมนตรีนานๆ มันก็สั่งสมทรัพยากรมากขึ้น มีเงินมาใช้ในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี
นักการเมืองไม่มีใครอยากไปเป็นฝ่ายค้าน ทุกคนอยากเป็นรัฐบาล และทุกคนไม่มีใครอยากเป็น ส.ส.ธรรมดา แต่คุณจะเป็นรัฐมนตรีได้เมื่อเริ่มสร้างกลุ่มของตัวเอง ที่เขาเรียกว่า ‘มุ้งการเมือง’ ก็คือกลุ่มย่อยในพรรค
ในพรรคมันจะมีหลายกลุ่มใช่ไหม ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่หน่อย มี ส.ส. ในสังกัด 20-30 คน หัวหน้าพรรคก็ต้องเกรงใจ เวลาจัดสรร ครม. ก็ต้องได้โควตารัฐมนตรีอย่างน้อย 2-3 ที่นั่ง คุณเนวินก็เริ่มสถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้ามุ้งการเมืองและสามารถต่อรองตำแหน่งทางการเมืองได้ ได้เป็นรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง และเอาทรัพยากรที่ได้จากการเมืองระดับชาติ มาหล่อเลี้ยงฐานเสียงในจังหวัดให้เข้มแข็ง
วิบากกรรม ‘ยี่ห้อยร้อยยี่สิบ’
แต่ในช่วงที่คุณเนวินมีชื่อเสียงขึ้นมา ถึงขั้นได้เป็น รมช.คลังสมัยรัฐบาลคุณบรรหาร ก็เริ่มมีกระแสที่ไม่พอใจ หมั่นไส้ โดยเฉพาะก็คือ คน กทม. สื่อ ชนชั้นกลาง นักวิชาการไม่ค่อยชอบ เพราะรู้สึกว่าตำแหน่งนี้ มันควรจะเป็น technocrat นักเศรษฐศาสตร์ หรือคนมีความรู้ด้านการคลัง
ตอนนั้นยังมีคนดูถูกพวก ‘นักการเมืองบ้านนอก’ อยู่ว่า ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ประสบการณ์ก็ไม่มี มาดูแลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศเลยนะ จนในที่สุดก็มีการบีบจนคุณเนวินต้องลาออกจากการเป็น รมช.คลัง แล้วก็เกิดคำที่เรียกว่า นักการเมืองบ้านนอกเนี่ย เป็นพวกนักการเมืองที่ ‘ยี้’ ไม่มีคุณภาพ เป็นศัพท์ขึ้นมาในเชิงเหยียด
นอกจากนั้นยังมีมรสุมลูกอื่นๆ เข้ามาอีก ก่อนการเลือกตั้งปี 2538 ใน จ.บุรีรัมย์ ตำรวจนำกำลังไปบุกค้นบ้านของหัวคะแนนนักการเมืองคนหนึ่ง อ้างว่าจะมีการเตรียมเงินจะไปซื้อเสียง ปรากฏพบหลักฐานเป็นเงินสดจำนวน 10 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นกองๆ เอาแบงก์ร้อยกับแบงก์ยี่สิบเย็บติดกันเป็นปึก แล้วก็มีโปสเตอร์ แผ่นพับ หาเสียง พร้อมกับรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนใน จ.บุรีรัมย์แนบติดไปด้วย ภายหลังพบว่าบ้านหลังนั้นคือหัวคะแนนของคุณเนวิน ก็เป็นข่าวใหญ่มาก ตำรวจที่นำกำลังไปจับครั้งนั้น คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยในปัจจุบัน
แม้ว่าในกรณีนี้ ภายหลังศาลจะตัดสินแล้วว่าคุณเนวินไม่มีความผิด แต่ทั้งสื่อและสังคมก็พิพากษาไปแล้วว่าเป็นการเตรียมการซื้อเสียงแน่ๆ และคุณเนวินก็ได้ฉายาจากสื่อมวลชนว่า ‘ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ’ ซึ่งกลายเป็นฉายาในเชิง bully ที่ติดตัวแกมายาวนาน
ช่วงนั้นเจอมรสุมหลายลูก แกแทบหาพรรคลงสมัครไม่ได้ จนไปลงสมัครได้ในพรรคเล็กพรรคหนึ่ง (พรรคเอกภาพ) ปรากฏว่าก็ยังชนะถล่มทลาย และคนในตระกูลแกก็ชนะเลือกตั้งใน จ.บุรีรัมย์ทุกคน แม้จะมีเรื่องอื้อฉาวในหน้าสื่อ คุณเนวินจึงบอกว่า “ผมดูแลชาวบ้าน ดูแลฐานเสียงของผม ดูแลคนในพื้นที่ดีมาโดยตลอด คน กทม.ไม่ชอบผมยังไง หรือมีอคติกับผม แต่ชาวบ้านเขาก็รักผม” ฉะนั้นแกก็พ้นวิกฤตช่วงนั้นมาได้
จุดเปลี่ยนสำคัญ
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่เกิดการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งเปลี่ยนการเมืองไทยไปเลย เพราะคนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาตั้งใจออกแบบมาเพื่อสกัดพวกเจ้าพ่อ-บ้านใหญ่ และอยากจะเปลี่ยนการเมืองไทย ให้มันเป็นการแข่งขันของพรรคการเมือง โดยเอานโยบายมาสู้กัน ให้ชาวบ้านเลือกเพราะนโยบาย ไม่ใช่ว่าเราไปเลือกเพราะตระกูลนี้อุปถัมภ์เรา ทำให้พวกเจ้าพ่อก็ต้องดิ้นรนพอสมควรในการที่จะอยู่รอดภายใต้กติกาใหม่ เพราะมันเป็นกติกาที่มาบีบเขา ไม่ให้เขาหาเสียงได้ง่ายๆ ทำงานการเมืองได้ง่ายๆ เช่น การกำหนดคุณสมบัติว่า คนจะเป็น ส.ส.ต้องมีวุฒิปริญญาตรีขั้นต่ำ ทีนี้เขาก็รู้ผู้สมัครต่างจังหวัดทั้งหลายไม่มีใครจบปริญญาตรีหรอก และก็มีกลไกอีกหลายอย่าง กกต.ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นองค์กรอิสระที่แจกใบเหลือง-ใบแดงได้ถ้าพบหลักฐานเรื่องการซื้อเสียง การใช้อิทธิพลข่มขู่
คุณเนวินและตระกูลชิดชอบ ‘ปรับตัว’ ตลอด ทำให้อยู่รอดจนมาถึงปัจจุบัน ก็คือเขารู้ว่ากติกาเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน กระแสคนในสังคมเปลี่ยน เขาจะปรับตลอด ทำให้อยู่ข้างผู้ชนะตลอด แล้วก็อยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน
อย่างตอนนั้น เขารู้แล้วว่ากระแสพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาแรงมาก เป็นพรรคตั้งขึ้นมาใหม่ อยู่ดีๆ ในการเลือกตั้งปี 2544 ส่งคนมาลงสมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเรียกว่า ‘กระดูกคนละเบอร์’ ฝั่งผู้สมัครของคุณเนวินเข้มแข็งกว่า แต่ว่า ทรท.สู้ด้วยนโยบาย ปรากฏว่า ได้ ส.ส.มาเกินครึ่งของจังหวัด ตรงนี้คุณเนวินรู้แล้วว่าการเมืองมันเปลี่ยน เขาไม่ได้กำลังสู้กับเจ้าพ่อที่เขาเคยสู้แล้ว เขากำลังสู้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่คนนิยม มีกระแสฟีเวอร์ และขายนโยบายเป็นหลัก แกเลยปรับตัวย้ายครอบครัวแกไปเข้า ทรท.เลย ก็ไปอยู่กับคุณทักษิณ (ชินวัตร) ไม่ต้องแข่งแล้ว สบายแล้ว วิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย
ในการเลือกตั้งปี 2548 คุณเนวินก็ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะ ส.ส.บุรีรัมย์ยกจังหวัด และกลายเป็นกลุ่มการเมืองเดียวของจังหวัด
กำเนิด ‘พรรคภูมิใจไทย’
พอคุณเนวินพอย้ายเข้าไปอยู่ ทรท. ก็เป็นมือขวาคุณทักษิณ มีบทบาทเยอะมาก ได้รับความไว้วางใจมาก แต่สุดท้ายเป็นคนที่มาหักหลังคุณทักษิณเสียเอง หลังจากมีวิกฤตการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ถึงขั้นที่กลุ่มเสื้อเหลืองเข้าไปปิดสนามบินในปี 2551 จนทำให้ในที่สุดพรรคการเมืองฝั่งคุณทักษิณ (พรรคพลังประชาชน) โดนตัดสินยุบพรรค และทั้งคุณสมัคร (สุนทรเวช) และสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ก็หลุดออกจากตำแหน่งนายกฯ ทั้งคู่
เป็นช่วงวิกฤตมากและวุ่นวายมาก คุณเนวินตัดสินใจย้ายขั้วออกจากลุ่มคุณทักษิณ ไปเป็นกลุ่มการเมืองอิสระ ชื่อ ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ ที่ต่อมาจะเป็น ‘พรรคภูมิใจไทย’ แล้วไปหนุน ปชป. ให้คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ได้เป็นนายกฯ
มันเลยเป็นที่มาของวลีเด็ดที่คนอาจจะเคยเห็น เอามาทำมีมกันเยอะๆ “มันจบแล้วครับนาย” เป็นประโยคที่คุณเนวินสื่อไปถึงคุณทักษิณ
จากนั้นคุณเนวินและกลุ่มพวกพ้องก็ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และเป็นศัตรูกับฝั่งคุณทักษิณมาโดยตลอด และด้วยเวลาอันรวดเร็ว ก็กลายมาเป็นพรรคอันดับสามของประเทศ ในการเลือกตั้งปี 2562 พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 ให้ได้เป็นนายกฯ
กีฬากับการเมือง
จ.บุรีรัมย์เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ ในการผนวก ‘กีฬา’ กับ ‘การเมือง’ เข้าด้วยกัน แล้วใช้กระแสฟีเวอร์ในเรื่องทีมฟุตบอล (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) มาส่งต่อให้กลายเป็นคะแนนนิยมทางการเมือง
คือตั้งแต่หลังปี 2548 ตระกูลชิดชอบก็แข็งแรง เป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุด ครอง จ.บุรีรัมย์ได้แล้ว แต่คุณเนวินก็มาเผชิญวิบากกรรมอีก เพราะโดนตัดสิทธิทางการเมือง ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) แกก็เลยบอกว่าจะอำลาทางการเมืองและก็หันไปทำทีมฟุตบอลอย่างจริงจัง
คุณเนวินก็ไปทำทีมฟุตบอลจนประสบความสำเร็จ โดยใช้เครือข่าย ทีมงาน หัวคะแนน ทีมงานการเมืองในจังหวัดนี่แหละ มาช่วยทำทีมฟุตบอลด้วย แล้วก็กลายเป็นโมเดลที่จังหวัดอื่นๆ ทำตามกัน เราก็จะเห็นว่าประธานสโมสรฟุตบอล ส่วนใหญ่ทั้งหมดในไทยลีกก็คือ ‘บ้านใหญ่’ ของจังหวัดนั้นๆ เพราะว่าพอคุณทำทีมประสบความสำเร็จ มันมีฐานแฟนคลับ และถือขั้นได้แชมป์เลย
คุณเนวินยังพูดเลย “ผุ้คนรังเกียจเดียดฉันท์ผมตอนเป็นนักการเมือง พอตอนนี้ผมมาเป็นประธานสโมสร ทำทีมได้แชมป์ ทุกคนมองผมเป็นฮีโร่ของจังหวัด ผมการเป็นลุงเนวินของเด็กๆ” กลายเป็นแบรนด์ใหม่ ที่ต่อไปยังคะแนนนิยมทางการเมืองด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้
ส่งท้าย
โดยสรุป ‘ชิดชอบ’ ก็เป็นตระกูลการเมืองที่น่าสนใจ เป็นตระกูลเจ้าพ่อที่ปรับตัวเก่ง แล้วใช้ทั้งการเมืองอุปถัมภ์แบบเก่า ใช้ทักษะการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ รวมถึงรู้กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น ใช้การกีฬาเข้ามา มีส่วนในการเสริมการเมือง จนทำให้ไม่ล้มหายตายจากไป
คือมันไม่ใช่ทุกตระกูลการเมืองจะแบบอยู่ยั้งยืนยง หรือประสบความสำเร็จนะ ที่ล้มหายตายจากไปแล้วก็เยอะ แต่ว่าตระกูลชิดชอบยังเป็นตระกูลที่แข็งแรงอยู่ และปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ปรับเข้าหากติกาใหม่ เกิดกระแสเสื้อแดง-เสื้อเหลืองฉันก็อยู่รอดได้ เกิดการรัฐประหารฉันก็ปรับตัวได้