“บ้านใหญ่เป็นผลผลิตความบิดเบี้ยวของรัฐราชการไทย”
คือข้อสรุปของอาจารย์โอฬาร ถิ่นบางเตียว จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ต่อการถือกำเนิดขึ้นของตระกูลการเมือง หรือที่สื่อมวลชนมักเรียกกันว่า ‘บ้านใหญ่’ ที่เข้ามาใช้อิทธิพลและทรัพยากรส่วนตัว คอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านแทนราชการ เกิดเป็นบุญคุณต้องมาคอยทดแทนในวาระโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูเลือกตั้ง
หนึ่งในบ้านใหญ่ที่มีชื่อเสียงจนอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับก็คือ ‘ตระกูลคุณปลื้ม’ นำโดย กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม แห่ง จ.ชลบุรี ที่ อ.โอฬารเล่าประวัติของคนตระกูลนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านรายการนอกBangkok
ขอชวนไปติดตามกันดู
บ้านใหญ่ จ.ชลบุรี
พื้นฐานการเมืองท้องถิ่นใน จ.ชลบุรี มันต้องเล่าไปพร้อมๆ กับพัฒนาการเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของภูมิภาคตะวันออก ในภูมิภาคนี้มีอยู่ทั้งหมด 7 จังหวัด จ.ชลบุรีเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดมี ส.ส.ถึง 10 คนด้วยกัน และเป็นจังหวัดที่มีฐานการพัฒนามากที่สุด
อาจพูดได้ว่าเป็นจังหวัดที่แบกรับประเทศที่หนักหน่วงจนเกินไป คือมีทั้ง ‘อุตสาหกรรม’ ‘การท่องเที่ยว’ ชั้นนำระดับโลกอย่างพัทยา หรือแม้แต่การ ‘เกษตรกรรม’
พอมีฐานการพัฒนาประเทศเยอะมากเนี่ยมันทำให้ทิศทางการบริหารที่ลงมาจากส่วนกลางในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ช่วงบุกเบิกป่าปลูกมันปลูกอ้อย อำนาจการเมืองเนี่ยจะอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ‘ตระกูลเนื่องจำนงค์’ หรือ ‘ตระกูลสิงโตทอง’
พอมาถึงยุคที่ พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน กทม.เข้าสู่ต่างจังหวัด การเกิดขึ้นของ Eastern Seaboard และการท่องเที่ยวที่เริ่มก่อตัว มันทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในป่าเขาย้ายเข้ามาสู่ชายฝั่ง ทำให้กลุ่มท้องถิ่นชายฝั่งเริ่มมีบทบาทอำนาจทางการเมือง เลยทำให้ จ.ชลบุรีมีพลวัตของตระกูลการเมืองท้องถิ่น
ต้องยอมรับว่าในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา ตระกูลที่มีอิทธิพลสูงสุดทางการเมืองในชลบุรีก็คือ ‘ตระกูลคุณปลื้ม’ ผมทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายปี สรุปได้ว่าตั้งแต่ กำนันเป๊าะ–สมชาย คุณปลื้ม มีอำนาจสูงสุด เลยทำให้ จ.ชลบุรีเป็นรูปแบบการเมืองขั้วเดียว หรือเรียกว่าการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’
บ้านใหญ่เป็น keyword สำคัญในการอธิบายรูปแบบการเมืองท้องถิ่น มีนัยยะซ่อนอยู่ก็คือบ้านที่ดูแลคนได้ บ้านที่อบอุ่น บ้านที่ทุกคนเข้าไปแล้วจะได้รับการแก้ปัญหา เป็นที่พึ่งให้ ข้าราชการเมื่อก่อนใครย้ายมาก็ต้องไปรายงานตัวที่บ้านใหญ่ แสดงให้เห็นว่ามันมีอำนาจมากนะ ตอนที่กำนันเป๊าะยังมีชีวิตอยู่เนี่ยใครจะเป็น ส.ส. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จะต้องไปขอวีซ่าจากที่นั่นก่อน
ซึ่งน่าสนใจมากว่าทำไมคนอย่างสมชาย คุณปลื้มจึงกลายเป็น keyman สำหรับการเมืองท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ก็ยังมีรูปแบบบางอย่างที่ทำให้คนในแวดวงการเมืองถือเอาเป็นแบบแผนการปฏิบัติอยู่
ผลผลิตจากกลไกรัฐที่บิดเบี้ยว
เวลาเราพูดถึงกำนันเป๊าะมักจะอธิบายถึงตัวบุคคลว่า เขาเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกแบบไหน แต่ผมก่อนจะพูดถึงตัวบุคคล อยากจะบอกว่า กำนันเป๊าะเนี่ยเป็น ‘ผลผลิตความบิดเบี้ยวของรัฐราชการไทย’ ความบิดเบี้ยวนี้มันลงตัวบางอย่างกับวิถีวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดคนที่เป็นที่พึ่งหวังของคนในชุมชน
หนึ่ง คือประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาระบบราชการและกลไกของรัฐ แต่กลไกของรัฐไม่ตอบสนองเขา
สอง ปัญหาเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่มีเครดิตหรือสลิปเงินเดือน เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้เงินก็หยิบยืมใครไม่ได้ ซึ่งโครงสร้างที่บิดเบี้ยวเหล่านี้มันดูแลประชาชนไม่ได้ ประชาชนจึงต้องเบียดเสียดตัวเอง หาตัวกลางที่จะทำให้เขาเข้าถึงกลไกอำนาจของรัฐและการพึ่งพิงในทางเศรษฐกิจ
จากที่เคยสัมภาษณ์ชาวบ้าน ในอดีต เวลารถยนต์หรือทรัพย์สินของชาวบ้านหายไปแจ้งตำรวจใช้เวลานานไปจนถึงว่าทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าไปแจ้งกำนันเป๊าะ เขาสามารถเอาของกลับคืนมาให้ได้
หรือประชาชนจะจัดกิจกรรมอะไร ถ้าไปเข้าบ้านใหญ่คือได้เงินสนับสนุนกลับมาแน่นอน วันหนึ่งๆ กำนันเป๊าะใช้เงินเป็นหลักแสนที่ใช้ในการดูแลคน หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นวิธีการแบบอุปถัมภ์ แต่ความลักลั่นในสังคมผลักให้คนต้องไปพึ่งพิงจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ-เชื่อมั่น
เส้นทางชีวิต ‘กำนันเป๊าะ’
บุคลิกนักเลงแบบโบราณที่พูดจริงทำจริง ถือสัจจะ มีอะไรก็ช่วยเหลือ รักบ้านเกิดอย่างกำนันเป๊าะ ภูมิหลังของเขาคือลูกคนมีตังค์นะ มีใจนักเลง เวลาชาวบ้านเดือดร้อนก็มาขอพึ่งพิงเขา จนชาวบ้านให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและขอให้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
กระบวนการการสะสมทุนในทางสังคมเกิดขึ้นแล้ว ก็คือชาวบ้านเชื่อมั่นในตัว ‘นายเป๊าะ’ ให้เป็น ‘ผู้ใหญ่เป๊าะ’ ไปจนถึง ‘กำนันเป๊าะ’ เมื่อผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวบ้านก็นำไปสู่การอิงแอบแนบชิดกับกลไกของรัฐได้แล้ว พอมีกลไกของรัฐเข้ามาก็ทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้ตระกูลการเมืองท้องถิ่นผูกติดกับระบบเศรษฐกิจแบบตัดกันไม่ขาด จะมีที่ไหนที่จะเอาเงินไปแจกคนวันเป็นหมื่นๆ ถ้าคุณไม่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง
กำนันเป๊าะเป็นคนที่สู้ชีวิต เคยขับรถสองแถวหรือเป็นกระเป๋ารถเมล์ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็พยายามจะอธิบายว่าตนร่ำรวยมาจากการทำประมง คือเมื่อเริ่มเข้าสู่การเมือง มีโอกาสได้รู้จักนักการเมืองในกัมพูชาเลยได้คอนเน็กชั่นในการเอาเรือเข้าไปทำประมง คือมีเรือของตัวเองด้วยแล้วก็เก็บค่าต๋งกับเรือลำอื่นที่เข้าไปทำประมงในกัมพูชา เลยเริ่มมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น
ธรรมชาติของการเมืองไทย เวลาจะเลือกตั้ง ส.ส.จะมีการวิ่งเต้นหานักการเมืองท้องถิ่นให้ช่วย ในช่วงนั้นราวปี 2517 – 2518 นักการเมืองใน กทม.ก็วิ่งเข้าหากำนันเป๊าะ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในฐานะหัวคะแนนระดับชาติ กระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคมและอดีตนายกฯ ยังเคยขอความช่วยเหลือจากกำนันเป๊าะเลยนะ หยอดคำหวานว่า “ถึงเป็นเจ้าพ่อก็รัก”
วิถีการเมืองแบบ ‘กินแบ่ง’
คอนเซปต์ที่ชอบมาก มาจากหนังสือ 60 ปีกำนันเป๊าะ ก็คือกำนันเป๊าะบอกว่า ตัวเองเป็นนักธุรกิจกึ่งนักเลง “ผมไม่กินรวบ ผมต้องแจกจ่ายให้เพื่อนฝูง”
มันขัดแย้งกับการทำธุรกิจในความรับรู้ของเรา เช่นถ้าจะทำธุรกิจก็ต้องการจะรวยคนเดียว กูไม่แจกใคร กินรวบ แต่กำนันเป๊าะบอกไม่ได้ ธุรกิจของเขาต้องแบ่ง เช่น บุหรี่ส่งให้คนนี้ไปขาย เหล้าให้คนนั้นไปขาย พอทุกคนได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มันก็เกิด ‘ใยแมงมุมแห่งเครือข่ายอำนาจ’ พรรคพวกที่ได้รับผลประโยชน์ก็จะไม่กล้าหักกับเขา เพราะมีบุญคุณต่อกัน หรือไม่ก็ขยายผลประโยชน์ลงไปสู่เครือญาติตัวเองได้อีกต่อ ก็จะเป็นการขยายเครือข่ายออกไปได้อีก
เรื่องความขัดแย้ง กำนันเป๊าะก็มีวิธีการจัดการเพราะเข้าใจดีว่า ความขัดแย้งสามารถแก้ได้ด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ ต่างกับยุคก่อนอย่างสมัยเสี่ยจิว–จุมพล สุขภารังสี (ถูกยิงเสียชีวิตปี 2524), เสี่ยฮวด–พิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร (ถูกยิงเสียชีวิตปี 2532) หรือสมัยการทำเหมืองแร่พลวง ทุกคนอยู่คอนเซปต์เดียวกันคือ ‘กินรวบ’ ทำให้หักกันไปกันมา ซึ่งกำนันเป๊าะรู้สึกว่ามันไม่ได้ละ ถ้าจะไปต่อเนี่ยก็จำเป็นต้องมีพวก และพวกต้องไว้วางใจได้ด้วย
นำไปสู่วิธีคิด ‘กินแบ่ง’
คาแรกเตอร์อันโดดเด่น
มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะพูดมาก คือคาแรกเตอร์ส่วนตัวของกำนันเป๊าะ
เขาเคยเป็นพรีเซนเตอร์เบียร์ ร้องเพลงออกเทป เป็นพระเอกลิเก และเป็นพระเอกหนังถึง 2 เรื่องเลยนะ หนึ่งในนั้นคือเรื่องเหนือนักเลง ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาเอง ในหนังพยายามสะท้อนภาพกำนันเป๊าะที่เล่นเป็นตัวเอง และมีสมบัติ เมทนี พระเอกชื่อดังสมัยนั้นเล่นเป็นนายตำรวจ เป็นภาพสะท้อนอำนาจ 2 ฝั่ง คือราชการและประชาชนในระบบการเมืองท้องถิ่น โดยสมบัติจะมองว่ากำนันเป็นเพียงผู้มีอิทธิพลแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านถึงเคารพเขา แต่เมื่อได้รู้จักคลุกคลีกันมากขึ้นก็เข้าใจว่ากำนันเป๊าะคือผู้สะสมทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่องก็คือดูแลชาวบ้าน มันน่าสนใจมากที่มิติความเป็นศิลปินของกำนันเป๊าะถูกนำมาใช้ในทางการเมือง
นอกจากนี้ในเรื่องสไตล์การแต่งตัวของเขานั้นยังขับเน้นให้โดดเด่นเสริมบารมีตัวเอง สไตล์ที่โดดเด่นคือใส่สร้อยคอ 2 เส้น เส้นหนึ่งใหญ่ เส้นหนึ่งเส้น ที่ก็ยิ่งสร้างภาพจำไปอีก
แต่ภาพลักษณ์ ‘เจ้าพ่อตะวันออก’ ส่วนหนึ่งมาจากสื่อด้วย ในช่วงนั้น 20-30 ปีก่อน เมื่อเกิดอะไรขึ้นในภาคตะวันออก สื่อก็จะพูดถึงกำนันเป๊าะ ผมเองก็เคยอย่างนั้นจนพอได้ทำวิจัยจริงๆ ถึงพบว่าไม่ใช่ ภาคตะวันออกมีเจ้าพ่อทุกจังหวัดเลย แต่กำนันเป๊าะเป็นเบอร์หนึ่งของภาค
การเมืองชลบุรี ยุคหลังกำนันเป๊าะ
แม้จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2562 แต่กำนันเป๊าะก็ทิ้งมรดกทางการเมืองไว้มากมาย เพราะเป็นเวลา 30-40 ปีที่การเมืองใน จ.ชลบุรีมารวมศูนย์อยู่ที่ ‘บ้านใหญ่บางแสน’ ก็คือตระกูลคุณปลื้ม การพัฒนาในช่วงทศวรรษ 2540 ที่เริ่มมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น หลายคนคิดว่าอาจจะมีปัญหาเยอะ แต่หลังปี 2540 เนี่ยกำนันเป๊าะได้เป็นประธานกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด มันทำให้การพัฒนาทุกจังหวัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พอมี อบจ. อบต. ขึ้นมาก็สามารถเอาพรรคพวกลงไปได้อีก ให้ลูกเป็น ส.ส. เป็น อบจ. แต่เก้าอี้ทั้งท้องถิ่น-ระดับชาติ มันมีตั้งร้อย 30 กว่าที่นั่ง เลยกระจายไปสู่ตระกูลอื่นๆ ยิ่งส่งเสริมบารมีกำนันเป๊าะเข้าไปอีก
ปัญหาก็คือ หลังกำนันเป๊าะเสียชีวิตไปก็มีบ้านใหญ่อื่นๆ ขึ้นมาแข่ง เช่น เสี่ยเฮ้ง–สุชาติ ชมกลิ่น
คือปัญหาของคุณปลื้ม ยืนยันได้ว่าไม่ได้มาจากคนในตระกูลที่ภาพลักษณ์ดีมาก คุณสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.หลายสมัย, คุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลแสนสุข จ.ชลบุรี และคุณวิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ.และ ส.ส.ชลบุรี แต่ละคนไม่ได้มีโปรไฟล์เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นนักเลงเลย แต่คนรอบข้างที่มีทั้งดีและไม่ดีต่างหาก
อีกปัจจัยคือการจัดสรรผลประโยชน์ ที่มีการแบ่งกันไม่ลงตัว เช่นที่สุชาติกับสนธยาเคยมีปัญหากัน จนมีการดึงตัวคนของบ้านใหญ่ออกมา ไปดูได้เลยผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรีในกลุ่มของสุชาติ ก็คือคนที่แยกตัวจากบ้านใหญ่ เช่น ตระกูลสิงห์โตทอง
หลังจากกำนันเป๊าะเสียชีวิต โครงสร้างมันเริ่มสั่นคลอนเพราะการเมืองแบบนี้ต้องอาศัย ‘บารมีส่วนตัว’ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรื่องนี้มันถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกไม่ได้ ถึงแม้ว่าลูกจะมีภาพลักษณ์ดี แต่ก็ไม่มีบารมีเท่า